ผู้เขียน หัวข้อ: “ผ้าย้อมมะเกลือ” และ "ผ้านึ่งสมุนไพร” ภูมิปัญญาพื้นถิ่น จากสมุนไพรพื้นบ้าน  (อ่าน 747 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด
ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ได้มาจากจากธรรมชาติ เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์เป็นอย่างมาก ความรู้ที่ได้จากการคิดค้นและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นนั้น ก่อให้เกิดประโยชน์และสามารถนำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และที่ชุมชนบ้านอารึ แห่งอำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ ก็ยังได้มีการสืบทอดภูมิปัญญา “ผ้าย้อมมะเกลือ” และ “นึ่งผ้าด้วยสมุนไพร” ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่นำความมหัศจรรย์ของธรรมชาติมาใช้เป็นวัตถุดิบ
       
       “ผ้าย้อมมะเกลือ” เป็นวิธีการย้อมผ้าเพื่อให้ได้สีดำ โดยจะนำผ้าชนิดใดก็ได้ไม่ว่าจะเป็น ผ้าไหม ผ้าแพร ผ้าฝ้าย มาย้อมกับมะเกลือจนเกิดเป็นผ้าสีดำ โดยเป็นวิธีการที่ไม่ยากและให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีอีกด้วย

       ก่อนที่จะไปรู้วิธีในการย้อมผ้า ก็จะขอทำความรู้จัก “มะเกลือ” วัตถุดิบในการย้อมผ้าจากธรรมชาติกันก่อน มะเกลือเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ พบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ จัดเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง ซึ่งผลของมะเกลือนั้นมีสรรพคุณเป็นทั้งยาขับพยาธิที่คนไทยรู้จักและใช้กันมานาน และผลมะเกลือนั้น ก็คือวัตถุดิบที่ถูกนำมาใช้ในการย้อมผ้าให้เป็นสีดำนั้นเอง
       
       ขั้นตอนในการย้อมผ้าด้วยมะเกลือนั้นไม่ยากแต่ต้องใช้เวลา โดยพี่สุขใจ สุคุ้ม มัคคุเทศก์ประจำโฮมสเตย์หมู่บ้านอาลึ ได้เป็นผู้อธิบายถึงขั้นตอนในการย้อมให้ฟังว่า “วัตถุดิบหลักในการย้อมผ้านั้น คือลูกมะเกลือ โดยสมัยก่อนมักจะมีการนิยมเก็บลูกมะเกลือที่จะนำมาย้อมผ้า ในช่วงเดือนตุลาคม –พฤศจิกายน เพราะช่วงนั้นผลมะเกลือจะมียางมาก โดยในยางของมะเกลือนั้น คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผ้าเป็นสีดำ เพราะหลักวิทยาศาสตร์ได้บอกไว้ว่า ในยางนี้มีสารไดออสไพรอลไดกลูโคไซด์ (diospyrol-diglucoside) เมื่อสัมผัสกับอากาศเมื่อไรจะเป็นสีดำ”

       สุขใจเล่าต่อว่า ที่บ้านอาลึนั้นมักจะนำมะเกลือมาตำใน “ครกกระเดื่อง” หรือ ”ครกไม้ขุด” ตามวิธีชาวบ้าน โดยจะตำให้ละเอียดพอประมาณและนำไปผสมกับน้ำ ในอัตราส่วน 10 ครกต่อน้ำ 1กะละมัง แล้วก็จะนำผ้าที่ต้องการย้อมสีมาย้อม ในขั้นตอนนี้ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะน้ำย้อมจากมะเกลือเป็นพิษต่อประสาทตา
       
       และสีที่ได้จากน้ำย้อมยังติดง่ายและติดทนนานอีกด้วย จึงต้องใส่ถุงมือและเสื้อผ้าที่สามารถเลอะเทอะได้ การย้อมผ้าด้วยมะเกลือนั้นไม่ยากแต่ต้องใช้เวลานาน เพราะสีผ้าจะไม่ติดในครั้งเดียว หากย้อมเสร็จหนึ่งครั้งก็ต้องนำไปผึ่งแดดและนำมาย้อมใหม่ ย้อมน้ำแรกๆ มีสีเหลือง แต่เมื่อตากให้แห้งจะมีสีเขียว และจะต้องทำวิธีนี้วนไปวนมาซ้ำๆ กัน 5-6 ครั้ง ก็จะได้สีดำสนิทตามที่ต้องการ ซึ่งถ้าสีติดกับเนื้อผ้าดีแล้วผ้าก็จะไม่ตกสี และหากเป็นผ้าแพรแล้วก็จะดำมันสวยงามไม่ต้องพึ่งสารเคมี

       อีกทั้งที่ชุมชนบ้านอาลึแห่งนี้ ยังมีอีกหนึ่งภูมิปัญญา คือการ “นึ่งผ้าด้วยสมุนไพร” ซึ่งเป็นวิธีการถนอมผ้าที่ได้ใช้มาตั้งแต่อดีต โดยจะเป็นขั้นตอนที่ทำให้ผ้านั้นเงางามขึ้น และเป็นอีกหนึ่งวิธีในการป้องกันผ้าจากแมลง เพราะสมัยก่อนนั้นแมลงจะชอบมาแทะเสื้อผ้า กลิ่นของสมุนไพรที่ได้จากการนึ่งนั้น สามารถที่จะกันแมลงได้
       
       ขั้นตอนนั้นก็ไม่ได้ยากอะไร วัตถุดิบที่ใช้ก็หาได้ง่ายจากธรรมชาติ อาทิ ลูกตะครอง หัวขมิ้นชัน หัวว่านเปราะหอม ใบเล็บครุฑ โดยจะนำวัตถุดิบแต่ละชนิดมาสับเสร็จแล้วโขลกให้ละเอียดแยกน้ำและกาก หลังจากนั้นนำผ้าที่ต้องการมาแช่น้ำสมุนไพร และไปคลุกกับส่วนที่เป็นกากสมุนไพร นำมาใส่ที่นึ่งหรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่าหวด และใช้เวลานึ่งประมาณ 1ชั่วโมง จากนั้นนำผ้าออกมาผึ่งลมให้แห้ง ก็จะได้ผ้าที่มีกลิ่นหอมติดอยู่ในใยผ้า

       ผ้าย้อมมะเกลือและการนึ่งผ้าด้วยสมุนไพร จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ควรค่าแก่การสืบทอดและเผยแพร่ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่จะหลีกเลี่ยงสารเคมี ธรรมชาตินั้นมหัศจรรย์ยังมีอะไรอีกมากมายที่ไม่ต้องพึ่งสารเคมี

ASTVผู้จัดการออนไลน์    20 กรกฎาคม 2557