ผู้เขียน หัวข้อ: เยเมน ดินแดนบนปากเหวแห่งความล่มสลาย(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1298 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ในช่วงการปฏิวัติของชาวอาหรับ  หรือที่รู้จักกันในนาม “การเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิของอาหรับ” (Arab Spring) ที่เปิดฉากขึ้นในอียิปต์  ประเทศอื่นๆในตะวันออกกลางเผชิญความรุนแรงมากกว่าเยเมนนัก ไม่ว่าจะเป็นประเทศลิเบียของอดีตเผด็จการผู้ล่วงลับ มูอัมมาร์ กัดดาฟี หรือซีเรียของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซัด  ที่กำลังเผชิญกับสงครามกลางเมือง ทว่าประเทศที่มีประชากร 24 ล้านคนนี้กลับก้าวผ่านการปฏิวัติของมวลชนเข้าสู่สภาวการณ์ที่สุ่มเสี่ยงขั้นวิกฤติ กล่าวคือ ทางเหนือสุดของประเทศ  กลุ่มอัลฮูษีย์ (al Houthis) ขบวนการทางการเมืองของมุสลิมนิกายชีอะฮ์ อยู่เบื้องหลังการก่อความไม่สงบต่อต้านรัฐบาลเยเมนมานานถึง 6 ปี และปัจจุบันครองอำนาจเหนือดินแดนกว้างใหญ่ดังกล่าว แม้กลุ่มผู้นำได้ส่งสัญญาณว่าต้องการเข้าร่วมการเจรจาในระดับชาติแล้วก็ตาม ขณะที่ทางตอนใต้สุด ในเมืองเอเดนและเขตโดยรอบตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มอัลฮิรอก (al Hirak) ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ

ส่วนทางตะวันออกของเมืองเอเดน กลุ่มอัลกออิดะห์แห่งคาบสมุทรอาหรับหรือเอคิวเอพี (al Qaeda in the Arabian Peninsula: AQAP) ทำการปลุกระดมด้วยการก่อการร้ายและความรุนแรง เอคิวเอพีซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2009 จากการรวมตัวกันของกลุ่มอัลกออิดะห์ในเยเมนและซาอุดีอาระเบีย เริ่มเข้มแข็งและมีอำนาจมากขึ้นในช่วงการลุกฮือต่อต้านที่สร้างความระส่ำระสายไปทั่วเยเมนในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน ปี 2011

หลังเหตุการณ์ประท้วงที่ขยายวงกว้างไปทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีอาลี อับดุลลอฮ์ ซาเลย์ ลาออกจากตำแหน่ง   สหรัฐฯและกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียเพิ่มแรงกดดันจนกระทั่งผู้นำที่ฐานอำนาจเริ่มสั่นคลอนยอมก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  ยามที่รัฐนาวาแตกเป็นเสี่ยง กองทัพเกิดการแตกแยกและขาดขวัญกำลังใจ กลุ่มอัลกออิดะห์เริ่มสรรหาแนวร่วมสายเลือดใหม่ที่พร้อมจะต่อกรกับกองทัพเยเมนที่มีสหรัฐฯหนุนหลัง พอถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2011 กลุ่มอัลกออิดะห์ก็ขับไล่กองกำลังรัฐบาลออกจากซินญิบาร์ เมืองหลวงของจังหวัดอับยานที่มีแนวเทือกเขายาว 240 กิโลเมตรเป็นฐานที่มั่น และแนวชายฝั่งทะเลอาหรับเป็นจุดยุทธศาสตร์

ในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้อพยพมากกว่า 130,000 คนจากจังหวัดอับยานหลั่งไหลไปยังเมืองเอเดน ขณะที่กลุ่มเอคิวเอพี หัวรุนแรงเข้าควบคุมพื้นที่บางส่วนของสามจังหวัดและโจมตีภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งรวมถึงจังหวัดฮัดรอเมาต์ทางตะวันออกที่อุดมไปด้วยน้ำมัน และกรุงซานา เมืองหลวงของประเทศ

ถึงวันนี้ สหรัฐฯทุ่มเงินไปหลายร้อยล้านดอลลาห์สหรัฐในการติดอาวุธและฝึกกองกำลังรักษาความปลอดภัยกลางของเยเมนเพื่อต่อกรกับกลุ่มอัลกออิดะห์ ตลอดจนการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายที่เป็นกลุ่มแกนนำ

นอกจากเผชิญภัยคุกคามจากกลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนแล้ว อาบิด รอบบ์ มันศูร์ ฮาดีย์ อดีตรองประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2012 สำหรับช่วง 2 ปีของการเปลี่ยนผ่าน ยังเผชิญกับปัญหาภายในประเทศที่หนักหน่วง ด้วยรายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัวต่อปีเพียง 1,140 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เยเมนเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในโลกอาหรับ นอกจากนี้ ผู้อพยพชาวโซมาเลียที่สิ้นหวังอีกกว่าครึ่งล้านคนยังเพิ่มภาระให้เศรษฐกิจของประเทศที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ทรัพยากรน้ำของเยเมนเริ่มเหือดแห้ง ขณะที่น้ำมันคาดว่าจะหมดลงราวปี 2022 ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในวัยหนุ่มสาวและกำลังขยายตัว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคนหนุ่มสาวที่ตกงานย่อมเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของประเทศ ประธานาธิบดีฮาดีย์เดินหมากอย่างกล้าได้กล้าเสียเพื่อควบคุมกองทัพ ลิดรอนอำนาจของนักการเมืองที่โยงใยกับตระกูลซาเลย์ และเริ่มการเจรจาระดับชาติเพื่อสร้างสังคมที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีสิทธิมีเสียง กระนั้นอำนาจของเขาก็ยังไม่มั่นคงนัก

 

ทว่าเยเมนหาได้ตกต่ำเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไร ปโตเลมี นักภูมิศาสตร์กรีก-โรมัน เคยขนานนามดินแดนแถบนี้ว่า ยูเดอมอน อาระเบีย (Eudaimon Arabia) หรือ “อาหรับสำราญ” (Happy Arabia) เขายังประหลาดใจกับเสถียรภาพและความมั่งคั่งที่ได้พบเห็น ผู้ปกครองแคว้นซาบาในยุคก่อนอิสลามได้แผ่จักรวรรดิไปทั่วจะงอยแอฟริกา (Horn of Africa) และในศตวรรษที่สองได้ก่อสร้างสิ่งมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรม อาทิ ปราสาทกัมดาน (Palace of Ghumdan) สูงเสียดฟ้า

หลังจากศาสนาอิสลามแผ่มายังภูมิภาคนี้ในต้นศตวรรษที่เจ็ด หรือราวปี ค.ศ. 630-639 ดินแดนอาหรับสำราญประสบกับความผันผวนระหว่างช่วงเวลาแห่งความสมานฉันท์กับความแตกร้าวรุนแรง ในศตวรรษที่สิบเก้า ชาวออตโตมันจากทางเหนือ ตามมาด้วยชาวอังกฤษจากทางใต้ พยายามแผ่อำนาจยึดครองดินแดน แต่กลับแตกพ่ายไปเพราะกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ต่อต้านอย่างเข้มแข็ง อีกทั้งได้อานิสงส์จากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเยเมนซึ่งประกอบด้วยหุบเขาแคบๆ เทือกเขาสูงชัน และเอ็มป์ทีควอร์เตอร์ (Empty Quarter) หรือผืนทะเลทรายอันโหดร้ายทารุณที่สุดแห่งหนึ่งในโลกตลอดแนวพรมแดนที่ติดกับซาอุดีอาระเบีย

ซาเลย์ นายทหารที่เรียนมาน้อย แต่มากเล่ห์ เป็นผู้นำคนล่าสุดที่พยายามสยบเยเมน เมื่อขึ้นสู่อำนาจในปี 1978 เขาปกครองเยเมนเหนือ อีก 12 ปีต่อมา ประธานาธิบดีผู้นี้ก็ได้บัญชาการการควบรวมเยเมนเหนือและเยเมนใต้เข้าด้วยกัน เขาผูกสัมพันธ์กับชีคหรือหัวหน้าเผ่าต่างๆ รวมทั้งผู้นำศาสนาอิสลาม ซื้อความจงรักภักดีด้วยสินบนและการอุปถัมภ์ค้ำจุน เขายังสร้างความสนิทชิดเชื้อกับซัดดัม ฮุสเซน และหลังเหตุวินาศกรรมในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 9 กันยายน ปี 2001 (9/11) ซาเลย์ก็หันไปผูกมิตรกับสหรัฐฯ เขาส่งคนในครอบครัวไปประจำในกองทัพและหน่วยสืบราชการลับ อีกทั้งปล่อยให้การคอร์รัปชันแทรกซึมเข้าสู่ทุกอณูชีวิตของเยเมน หลังเผชิญการประท้วงในประเทศและแรงกดดันรอบด้าน ในที่สุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2012 ซาเลย์ก็ยอมสละอำนาจ โดยลงนามในข้อตกลงแบ่งอำนาจระหว่างพรรคของเขากับพรรคร่วมฝ่ายค้านอีก 5 พรรค และมีการให้คำรับรองว่า ซาเลย์ สมาชิกในครอบครัว และกองกำลังรักษาความปลอดภัยจะไม่ถูก “เช็คบิล” หรือดำเนินคดีในภายหลัง

ตามประเพณีดั้งเดิมของเยเมน การรวมตัวอย่างเหนียวแน่นใกล้ชิดของชนเผ่าต่างๆ เป็นเสมือนรัฐอิสระภายในรัฐ โดยมีทั้งคลังอาวุธและระบบศาลยุติธรรมคู่ขนานที่ตัดสินคดีความทุกเรื่อง ตั้งแต่ข้อพิพาทในทรัพย์สินไปจนถึงฆาตกรรม ซาเลย์ได้รับแรงสนับสนุนจากการผูกมิตรกับชีคอับดุลลอฮ์ อัล อาห์มาร์ ผู้เป็น “ชีคแห่งชีคทั้งมวล” เขาคือผู้นำเผ่าฮะชีดที่ทรงอิทธิพลหนึ่งในสองกลุ่มชาติพันธุ์หลักของเยเมน เคียงคู่ไปกับเผ่าบากิล

ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา การศึกษา การขยายตัวของเมือง และการเข้าถึงโลกภายนอก ล้วนส่งผลให้อิทธิพลของความเป็นเผ่าลดน้อยลง สมาชิกเผ่าจำนวนมากไม่ยอมรับอำนาจของชีคสูงสุดโดยไร้ข้อโต้แย้งอีกต่อไป ขณะที่เสียงเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011 หลังจากชีคอัล อาห์มาร์ ผู้พ่อเสียชีวิต บุตรชายหลายคนของเขาได้ลุกขึ้นต่อต้านซาเลย์  หลังเกิดเหตุการสังหารหมู่ผู้ประท้วง กองกำลังปกป้องสาธารณรัฐและกองกำลังติดอาวุธของชนเผ่าต่างๆหันมาต่อสู้กันด้วยอาวุธหนักกลางกรุงซานา ส่งสัญญาณถึงจุดเริ่มต้นแห่งการล่มสลายของซาเลย์

ท่ามกลางความท้าทายที่รุนแรงทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น สังคมแบบไหนกันเล่าที่จะหยั่งรากลงในเยเมน จะเป็นชาติสมัยใหม่ที่ก่อร่าง สร้างขึ้นบนหลักนิติธรรม หรือรัฐที่เป็นอนาธิปไตยยิ่งกว่าเดิม แตกร้าวเพราะความขัดแย้งระหว่างเผ่า ชาติพันธุ์ และศาสนา รวมทั้งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของโลกตะวันตกกันแน่

กันยายน 2555