ผู้เขียน หัวข้อ: Hiram Bingham กับหนึ่งศตวรรษของการพบ Machu Picchu แห่งอาณาจักรอินคา  (อ่าน 1112 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ในปีค.ศ. 1911 Hiram Bingham III นักประวัติศาสตร์อเมริกันแห่งมหาวิทยาลัย Yale วัย 36 ปี ได้เดินทางไปสำรวจเทือกเขา Andes ใน Peru เพื่อค้นหานคร Vilcambamba แห่งอาณาจักรอินคาที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า เป็นเมืองสุดท้ายของชาวอินคาภายใต้การปกครองของกษัตริย์ Titu Cusi ก่อนที่จะสาปสูญไปอย่างไร้ร่องรอย
       
        Bimgham ได้แรงจูงใจในการค้นหาเมืองนี้จากการอ่านประวัติศาสตร์ที่บาทหลวง Antonio de Calancha เขียนไว้ว่า เมื่อ Pizarro จับกษัตริย์ Atahualpa แห่งอาณาจักร Inca และสำเร็จโทษพระองค์ Pizzaro ได้แต่งตั้งราชบุตรชื่อ Manco ให้ขึ้นครองราชย์แทน และเข้าใจไปเองว่า Manco คงเป็นกษัตริย์หุ่นที่เชื่อฟังตนและจะสั่งให้ชาวอินคายินยอมในทุกเรื่องโดยไม่ขัดขวางหรือต่อต้านใดๆ แต่ Manco ฉลาด เมื่อถูกนายทัพสเปนกดดันมากขึ้นๆ พระองค์เสด็จหลบหนีออกจากเมือง Cuzco ไปรวบรวมชาวอินคา 200,000 คนให้เดินทัพกลับมายึดนคร Cuzco คืน แต่กองทัพอินคาสู้รบกับทหารสเปนไม่ได้ จึงต้องถอยกลับไปตั้งทัพอยู่ในหุบเขา และออกโจมตีเป็นครั้งคราว แต่ในที่สุดก็ต้องถอยทัพหนีขึ้นเหนือไปตั้งหลักอยู่ที่เมือง Vilcambamba ซึ่งมีภูเขาและแม่น้ำเป็นกำแพงเมืองล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน เพราะเส้นทางที่จะเข้าโจมตีเมืองยากลำบากมาก ดังนั้น Manco จึงทรงคิดว่า คงไม่มีทหารผิวขาวคนใดติดตามได้อีก แต่ทหารสเปนคนหนึ่งที่ได้หลบซ่อนอยู่กับชาวอินคา ได้ลอบสังหาร Manco เมื่อไร้กษัตริย์ นักรบอินคาก็ไร้กำลังใจ มีผลให้กองทัพสเปนเข้ายึดเมืองนี้ได้ และเมืองก็ได้สาบสูญไปจากแผนที่โลกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
       
        ปริศนาที่ค้างคาใจ Bingham มากคือ เมืองทั้งเมืองจะหายไปอย่างไร้ร่องรอยได้อย่างไร เขาคิดว่าอย่างน้อยจะต้องมีซากที่เป็นร่องรอยของอาคารหรือศาสนสถานบ้าง ดังนั้น ในปี 1906 Bingham จึงเดินทางไปทวีปอเมริกาใต้เพื่อค้นหาเมืองนี้ และก็ได้ถามผู้คนตลอดทางว่า ได้เห็นซากอาคารปรักหักพังในป่าหรือบนภูเขาใดบ้าง คำตอบที่ได้รับมีทั้งที่จริงและไม่จริง แต่ในที่สุด Bingham ก็ต้องเดินทางกลับ เพราะไม่พบ Vilcambamba เมืองในฝัน
       
        อีก 5 ปีต่อมา Bingham ได้เดินทางไปค้นหาเมืองลับแลนี้อีก ตามโครงการสำรวจค้นหาอารยธรรมอินคาที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย Yale และ National Geographic Society ของอเมริกา และเดินทางถึงเมือง Cuzco ที่ถูกสเปนยึดครองได้ในปี 1533 จากที่นั่น Bingham ได้เดินทางต่อถึงเมือง Aguas Calientes เพื่อข้ามแม่น้ำ Urubamba ที่คดเคี้ยวไปตามทิวเขาที่ซับซ้อน และได้พบว่าบริเวณสองข้างทางมีทิวทัศน์ที่สวยงามเป็นทิวเขาที่สูงเทียมเมฆ ส่วนหุบผาหินแกรนิตทั้งสองข้างทาง ซึ่งบางตอนสูงถึง 300 เมตร บรรยากาศในบริเวณลุ่มแม่น้ำ Urubamba ฉ่ำชื้น เพราะมีหมอกหนา Bingham ได้สอบถามชาวบ้านในบริเวณนั้น ว่าเคยเห็นซากอาคารปรักหักพัง ณ ที่ใดบ้าง และชาวบ้านก็ตอบว่า ใกล้ยอดเขาชื่อ Huayna Picchu ซึ่งอยู่ไกลจาก Cuzco ประมาณ 96 กิโลเมตร มีซากอาคารโบราณที่ถูกเถาวัลย์ป่าปกคลุมเต็ม
       
        Bingham รู้สึกเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เพราะเคยประสบความผิดหวังมามากต่อมากแล้ว แต่ก็ตัดสินใจเดินทางไปดู จึงจ้างพ่อลูก 2 คนชื่อ Melchior Artega และ Pablito Alvarez เป็นคนนำทางโดยสัญญาจะให้ค่าจ้างตามคุณค่าของวัตถุโบราณที่พบ Bingham เองมีนายทหารคนหนึ่งเป็นเพื่อนติดตามไปด้วย เพราะนักเดินทางคนอื่นๆ ในคณะไม่เชื่อคำบอกเล่าของชาวบ้าน
       
       สองนักสำรวจเดินตามคนนำทางไปนานประมาณ 45 นาที ได้ข้ามแม่น้ำ Urubamba โดยการคลานไปบนสะพานที่โยกเยก จากนั้นก็พยายามเดินขึ้นเขาด้วยความยากลำบาก เพราะเส้นทางแคบและชัน อีกทั้งมีเถาวัลย์รกระเกะระกะ เมื่อเวลาหลังเที่ยงวันเล็กน้อย หลังจากที่ได้เดินมาได้ระยะทางไกล 12 กิโลเมตร นักสำรวจทั้งสองพร้อมคนนำทาง ก็มาถึงกระท่อมร้างหลังหนึ่ง หลังจากที่ได้ดื่มน้ำเย็น และกินมันฝรั่งที่เผาสุกแล้ว คนนำทางผู้พ่อก็บอกว่าตัวซากปรักหักพังยังอยู่อีกไม่ไกล
       
       Bingham ไม่รู้สึกตื่นเต้นเลย เขาคิดว่าคนนำทางคงหมายถึงซากอาคาร 2-3 หลัง จึงหลบนั่งในที่ร่ม แล้วคนนำทางก็ให้ Pablito Alvarez วัย 11 ปี นำทางต่อให้ Bingham กับเพื่อนเดินตาม ยิ่งขึ้นสูงทางเดินยิ่งลำบาก Bingham อดสงสัยตลอดเวลาไม่ได้ว่า ใครจะอุตริมาสร้างอาคารในที่สูงเช่นนี้ แต่เมื่อปีนป่ายขึ้นถึงยอดเขา และมองลงไปบนที่ราบเบื้องล่างเล็กน้อยเขาก็แทบหยุดหายใจ เมื่อเห็นอาคารประมาณ 140 หลัง เรียงรายและเห็นป้อมปราการหินมากมาย เห็นขั้นบันไดเป็นชั้นๆ และเห็นเถาวัลย์ป่าปกคลุมอาคารอย่างไม่เป็นระเบียบ เพราะเมืองที่เห็นเป็นเมืองร้าง และสภาพกำแพงแสดงให้เห็นว่ามีอายุหลายศตวรรษ เพราะทรุดโทรมมาก จึงเป็นที่อยู่ของงูพิษ
       
       วันที่ Bingham เห็นเมืองลับแลบนยอดเขา คือวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ.1911 หลังจากที่ได้สำรวจสิ่งก่อสร้างอย่างหยาบๆ และถ่ายภาพ Bingham ก็ได้พบว่า ช่างก่อสร้างอาคารได้ยกหินก้อนใหญ่ที่หนัก 10-15 ตันมาเรียงต่อกันอย่างมั่นคง แข็งแรง และเรียบเนียน เพราะบริเวณรอยต่อระหว่างก้อนหินเรียบประสานสนิท อย่างที่ไม่เคยเห็นที่ใดมาก่อน ลักษณะโครงสร้างของอาคารคล้าย Temple of the Sun ที่เมือง Cuzco มาก ดังนั้น Bingham จึงคิดว่า สถานที่นี้คือ Temple of the Sun ด้วย แต่กำแพงวิหารที่ Cuzco ก็มิได้สวยเนียนเท่ากำแพงวิหารนี้
       
       จากที่สูง Bingham ได้เห็นหมู่อาคารถูกแบ่งเป็นกลุ่มๆ บางอาคารทำด้วยหินแกรนิตขาว บางอาคารมีกำแพง 3 ด้าน และด้านที่ 4 เปิดให้แสงอาทิตย์ส่องผ่าน กำแพงของอาคารหนึ่งมีหน้าต่าง 3 บาน ซึ่งจะปล่อยให้แสงอาทิตย์ผ่านในวันที่ 21 มิถุนายน และ 21 ธันวาคมของทุกปี เหมือนดังที่กษัตริย์ Manco ได้เคยบัญชาให้สร้างวังที่มีหน้าต่าง 3 บาน หลังจากที่ได้สำรวจจนเต็มที่แล้ว Bingham ได้ขนโบราณวัตถุหลายชิ้นกลับไปเก็บที่พิพิธภัณฑ์แห่งมหาวิทยาลัย Yale
       
       ปริศนาเมืองลับแลจึงมีมากมาย ว่าใครเป็นคนสร้าง สร้างเมื่อใด สร้างเพื่ออะไร สร้างได้อย่างไร และผู้คนหายไปไหน เพราะอะไรจึงทิ้งเมือง และชาวเมืองทำเกษตรกรรมกันอย่างไร จึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
       
       ในการตอบคำถามเหล่านี้ ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ในปี 1532 ทหารสเปน 200 คน ภายใต้การนำของนายพล Francisco Pizarro และนักบวช 3 คน ได้เดินทางด้วยเรือถึงตอนเหนือของเปรูในปัจจุบัน อีกสองปีต่อมา กองทัพล่าอาณานิคมนี้ได้ทำลายอาณาจักรและอารยธรรมอินคา ที่เจริญรุ่งเรืองมานานร่วมพันปีในทวีปอเมริกาใต้จนหมดสิ้น
       
       ในอดีตก่อนที่กองทัพสเปนจะบุกยึด อาณาจักรอินคามีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่าอาณาจักรโรมัน เพราะมีพื้นที่ครอบคลุมเปรู โบลิเวีย โคลัมเบีย ชิลี เอกวาดอร์ และบางส่วนของอาร์เจนตินา ดังนั้นภูมิประเทศของอาณาจักรจึงมีความหลากหลายมาก เช่น มีเทือกเขาแอนดิสที่สูงจรดเมฆ มีทะเลทรายที่แห้งแล้ง และบางส่วนเป็นป่าทึบ แม้จะไม่รู้จักใช้ล้อในการคมนาคมและขนส่ง แต่ชาวอินคามีตัวลาม่า (llama) ที่มีรูปร่างคล้ายอูฐแต่ไม่มีโหนกกลางหลัง เป็นสัตว์บรรทุกสัมภาระข้ามภูเขา และแม้อาณาจักรจะมีทองคำมากมหาศาล แต่ก็ไม่มีภาษาเขียนที่แสดงความเป็นอารยะของอาณาจักรเลย
       
       ถึงกระนั้น อินคาก็รู้จักทำเกษตรกรรม และมีวัฒนธรรมทั้งการเมืองและการศาสนาจนเริ่มเป็นปึกแผ่นราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยมี Cuzco เป็นทั้งเมืองหลวงและศูนย์กลางการปกครอง ชาวอินคาเรียกอาณาจักรของตนว่า Tawantinsuyu ซึ่งแปลว่า จตุรอาณาจักร เพราะประกอบด้วยอาณาจักรเล็กๆ สี่อาณาจักรที่ต่างก็มีผู้สำเร็จราชการประจำเพื่อทำหน้าที่ดูแลหัวหน้าลำดับรองๆ ลงไป
       
       ชาวอินคามีเทคโนโลยีก่อสร้างที่สูงมาก ดังจะเห็นได้จากหินที่ใช้ทำกำแพงเมือง ทุกก้อนได้รับการสกัดจนเรียบ จึงวางซ้อนกันได้สนิท ส่วนกำแพงตึกที่มีความสำคัญก็มักทาเป็นสีทองหรือสีเงิน
       
       สังคมอินคามีการแบ่งชั้นวรรณะ คนที่มีวรรณะต่ำจะทำเกษตรกรรม และต้องนำผลิตผลที่ได้ไปถวายกษัตริย์ เพราะประชาชนไร้การศึกษา ดังนั้นการทำบัญชีถวายราชบรรณาการจึงเป็นภาระหนัก เพราะไม่มีภาษาเขียน ดังนั้นจึงใช้วิธีบันทึกโดยการผูกเชือกเป็นปมๆ เรียก quipu และให้ปมอยู่ไกลหรือใกล้กันตามปริมาณการนับ คนที่จะอ่านและเข้าใจความหมายของ quipu ต้องได้รับการฝึกฝนจากนักบวชอินคาเท่านั้น ระบบการนับที่แตกต่างจากระบบตัวเลขของชาวยุโรปนี้ทำให้ทหารสเปนเมื่อเห็นเชือก quipu ไม่รู้ความหมายและความสำคัญของ quipu เลย และกว่าจะรู้ quipu จำนวนมากมายก็ถูกเผาทำลายไปเรียบร้อย ส่วนเชือก quipu ที่เหลืออยู่ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก็ไม่ได้ช่วยให้นักวิชาการตอบได้ว่า ชาวอินคาสร้างระบบปมขึ้นใช้ในการนับเลขอย่างไร
       
       ระบบการคมนาคมของชาวอินคามีถนนหนทางที่เชื่อมโยงระหว่างนคร Cuzco กับบรรดาหัวเมืองใหญ่น้อยทั่วราชอาณาจักร รวมเป็นระยะทางยาวกว่า 25,000 กิโลเมตร สภาพของถนนขึ้นกับสภาพของภูมิประเทศที่ถนนตัดผ่าน ถนนบางสายถูกตัดเป็นขั้นบันได บางสายมีสะพาน ถนนสายสำคัญมักมีที่พักข้างทางสำหรับคนที่สัญจรได้แวะพักผ่อน นอกจากนี้ชาวอินคาก็มักใช้ chaski (นักวิ่งรับจ้าง) เป็นบุรุษไปรษณีย์ทำหน้าที่ส่งข่าวและสิ่งของถึงกัน
       
       อารยธรรมที่สูงยิ่งของชาวอินคาได้ทำให้อาณาจักรเจริญรุ่งเรืองจนกษัตริย์อินคาสามารถปกครองชนเผ่าอื่นที่ล้าหลังกว่าได้หมด แล้วได้ออกกฎหมายบังคับไม่ให้คนใต้ปกครองสวมเสื้อผ้าและเครื่องประดับเหมือนกษัตริย์อินคา หรือพระราชวงศ์ขั้นสูง และห้ามการติดต่อระหว่างคนต่างวรรณะ ความเจริญทางเศรษฐกิจทำให้กองทัพอินคามีกำลังทางทหารเข้มแข็ง และเมื่อใดที่กองทัพอินคาชนะกองทัพของชนกลุ่มด้อยกว่า ก็จะยึดทรัพย์สมบัติของผู้ปราชัย จากนั้นแม่ทัพอินคาจะตั้งคนที่เชื่อฟังกษัตริย์อินคาทุกเรื่องเป็นหัวหน้าใหม่ และเวลาบุกโจมตีชนเผ่าอื่น กษัตริย์อินคามักเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองให้ยอมจำนนก่อน หากเจ้าเมืองยินยอมก็จะได้ศักดินาและทรัพย์สมบัติเป็นรางวัล และจะได้รับแต่งตั้งให้ปกครองเมืองนั้นๆ ต่อไป โดยรับนโยบายทุกเรื่องจากกษัตริย์อินคา ส่วนเจ้าเมืองที่กระด้างกระเดื่องก็จะถูกฆ่า และเพื่อป้องกันบรรดาเจ้าเมืองเหล่านี้ไม่ให้คิดกบฏ กษัตริย์อินคาได้ออกกฎหมายให้บุตรของเจ้าเมืองขึ้นทุกคนไปรับการศึกษาที่ Cuzco ซึ่งมีข้อดีสองประการ คือ ประการแรก เด็กที่ได้รับการฝึกสอนโดยอาจารย์อินคา จะซึมซับและเลื่อมใสในวัฒนธรรมอินคา แล้วจะนำลัทธิและความคิดอินคาไปปกครองบ้านเกิดเมืองนอนของตนต่อไป ประการที่สอง คือ ทายาทของเจ้าเมืองขึ้นเหล่านี้ จริงๆ ก็คือตัวประกันมิให้บิดาตั้งตัวเป็นกบฏ
       
       สำหรับการหารายได้นั้น เจ้าเมืองอินคาจัดเก็บภาษีวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปจากผู้ประกอบธุรกิจ ชายอินคาที่แข็งแรงทุกคนต้องเสียสละเวลาทำงานเกษตรกรรมหรือปศุสัตว์เพื่อรัฐ โดยคนเหล่านี้จะได้รับอาหารและเบียร์ข้าวโพดที่ชาวอินคาเรียกว่า chicka เป็นค่าตอบแทน ส่วนสตรีสวยที่ชาวอินคาเรียกว่า mamakuna จะถูกนำตัวมากักขังในวังให้ทอผ้า ต้มเบียร์ และรับใช้ ในพิธีศาสนา และให้นักบวชอินคามีสิทธิควบคุมเสรีภาพในการสมรสและการตั้งครรภ์ของสตรีกลุ่มนี้กับกษัตริย์อินคาและพระราชวงศ์จนตลอดชีวิตของนาง
       
       ชาวอินคามีความเชื่อว่าดวงอาทิตย์เป็นผู้ให้กำเนิดเผ่าพันธุ์ของตน นอกจากดวงอาทิตย์แล้ว ก็ยังนับถือดวงจันทร์ ดาว และโลกด้วย แม้แต่ ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ ชาวอินคาก็เชื่อว่ามีเทพเจ้าประทับอยู่เป็นประจำ ซึ่งชาวอินคาต้องแสดงความนับถือโดยการนำสิ่งของ เช่น ตุ๊กตาปั้น เบียร์ ใบโกโก้ หรือชีวิต ไปถวาย ดังนั้นชาวอินคาจึงมีประเพณีฆ่าตัวลาม่าหรือคนเพื่อถวายเป็นเทพบูชา แม้โดยทั่วไปการฆ่าคนจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดา แต่สำหรับชาวอินคา การฆ่าบูชายัญ คือเหตุการณ์สำคัญที่ต้องมีพิธีเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ ซึ่งผู้ถูกบูชายัญจะถูกนำตัวขึ้นสู่ยอดเขาสูงที่ศักดิ์สิทธิ์ หลังจากถูกมอมยาจนสิ้นสติแล้วก็จะถูกสังหารด้วยการใช้ก้อนหินทุบกะโหลกศีรษะจนแหลก จากนั้นศพก็ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าแพร แล้วนำไปวางทิ้งบนยอดเขาให้อยู่ในความดูแลขององค์เทพแห่งภูเขาชั่วนิจนิรันดร์
       
       ปริศนาที่นักโบราณคดีค้างคาใจอีกหนึ่งปัญหา คือ เหตุใดกองทัพสเปนซึ่งมีทหารไม่ถึง 200 คน จึงสามารถพิชิตอาณาจักรอินคาที่ทรงอำนาจได้อย่างง่ายดาย คำตอบคือ อาณาจักรนี้ล่มสลายเพราะคนเผ่าอินคาไม่มีเทคโนโลยีที่สูงพอจะสู้รบกับกองทัพสเปน และชาวเมืองถูกโรคทรพิษระบาดคุกคาม นอกจากนี้อาณาจักรอินคาก็มิได้มีระบบสืบสันตติวงศ์ที่มีประสิทธิภาพ เพราะเวลากองทัพสเปนยกพลประชิดเมือง Cuzco กษัตริย์ Huayna Capac แห่งอาณาจักรอินคาเพิ่งสิ้นพระชนม์ และองค์มกุฏราชกุมารก็ได้สิ้นพระชนม์ตาม ด้วยโรคทรพิษที่ทหารสเปนนำมาแพร่ ดังนั้นเมื่อ Pizarro จับราชบุตร Atahualpa เป็นตัวประกัน และฆ่าพระองค์โดยใช้เชือกรัดพระศอ ราชบัลลังก์อินคาจึงไร้ผู้สืบทอดบัลลังก์ทันที
       
       สาเหตุการพ่ายแพ้อีกหนึ่งประเด็น คือ ชาวอินคามีเทคโนโลยีชั้นต่ำ เช่น หอกและธนูในการต่อสู้ ทำให้ทหารอินคา 6,000 คนไม่สามารถต่อสู้กับปืนของทหารสเปนได้ ดังนั้นชาวอินคานับพันจึงถูกทหารสเปนสังหารอย่างเลือดเย็น และเมื่อกองทัพสเปนบุกยึดนคร Cuzco ได้แล้ว นายพล Pizarro ก็ได้ผูกสัมพันธไมตรีกับบรรดาหัวหน้าเมืองขึ้นต่างๆ ในอาณาจักร โดยแสดงให้เจ้าเมืองเหล่านั้นเห็นว่าตนคือผู้ปลดแอกและให้เสรีภาพ เหตุผลเหล่านี้มีส่วนทำให้สเปนเข้าครอบครองอาณาจักรอินคาได้อย่างง่ายดายนานถึง 300 ปี การปกครองที่ทารุณของสเปนได้ทำให้ชาวอินคาพลัดพรากและล้มตายไปมากมาย จนในที่สุดก็สิ้นเผ่าพันธุ์
       
       ความสนใจในอารยธรรมอินคาเกิดขึ้นในวันที่ 9 สิงหาคม 1911 เมื่อ Hiram Bingham III แห่งโครงการสำรวจประเทศเปรูของมหาวิทยาลัย Yale ได้พบเมืองร้าง Machu Picchu ที่ซ่อนอยู่บนยอดเขาที่ระดับสูง 2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล (Machu Picchu แปลว่า ยอดเขาที่เก่าแก่) นครลับแลนี้ตั้งอยู่ระหว่างภูเขา Machu Picchu กับ Huayna Picchu และเป็น ศาสนสถานสำคัญที่อยู่เหนือหุบเขาศักดิ์สิทธิ์ประมาณ 610 เมตร
       
       ความจริงการพบนคร Machu Picchu ของ Bingham เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เพราะเดิม Bingham ตั้งใจจะค้นหาเมือง Vilcambamba อันเป็นเมืองที่ชาวสเปนได้บันทึกว่าเป็นที่ที่กษัตริย์แห่งอาณาจักรอินคาได้ประทับหลบซ่อนอยู่หลังจากที่กองทัพของพระองค์พ่ายแพ้กองทัพสเปน การได้เห็น Machu Picchu แทน Vilcambamba จึงทำให้ Bingham ตกตะลึง เพราะแม้แต่กองทัพสเปนซึ่งได้ครอบครองอาณาจักรอินคามานานร่วม 300 ปี ก็ไม่เคยรู้ว่าชาวอินคาได้สร้างเมืองสวยงามเมืองหนึ่งบนยอดเขาสูงนี้
       
       Bingham เชื่อว่า Machu Picchu คือนคร Vilcambamba ที่ทหารสเปนได้ทำลายจนราบเรียบในปี 1572 แต่ ณ วันนี้ นักประวัติศาสตร์อินคาได้แสดงหลักฐานให้โลกประจักษ์แล้วว่า เมือง Vilcambamba ตัวจริงอยู่ที่ Espiritu Pampa
       
       Hiram Bingham เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.1875 ที่ Honolulu ในรัฐฮาวาย หลังจากที่บิดามารดาได้อพยพจากอเมริกามาฮาวายได้ไม่นาน บรรพบุรุษของตระกูลนี้มีชื่อเสียงในการเป็นนักเดินเรือที่ได้เคยเดินเรืออ้อมแหลม Cape Horn ในทวีปอเมริกาใต้ไปยังเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก เพราะปู่และพ่อเป็นนักบวชสอนศาสนา Hiram จึงใช้ชีวิตในวัยเด็กภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวดมาก
       
       เมื่ออายุ 19 ปี Bingham ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Yale เพราะมีความสามารถเป็นนักพูดจึงได้เข้าร่วมทีมโต้วาทีของมหาวิทยาลัย ครั้นเมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี Bingham ได้เดินทางกลับฮาวาย เพื่อทำงานเป็นนักบวชนิกาย Protestant แห่งโบสถ์ Palama หลังจากการทำงานไม่นาน Bingham ได้ตกหลุมรักกับ Alfreda Mitchell ผู้มีฐานะดี Bingham จึงลาออกจากงานนักบวช เพื่อรวบรวมเงินมาแต่งงาน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ได้สมัครเรียนปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ของทวีปอเมริกาใต้ที่มหาวิทยาลัย California ที่ Berkeley ด้วย เมื่อสำเร็จการศึกษา Bingham ได้เข้าพิธีสมรสกับ Mitchell แล้วสมัครเรียนต่อระดับดุษฎีบัณฑิตที่มหาวิทยาลัย Harvard จนสำเร็จปริญญาเอกเมื่ออายุ 30 ปี จากนั้นได้ทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Princeton แต่ Bingham ไม่ชอบชีวิตอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนัก
       
       Bingham ได้มีโอกาสเดินทางไปสำรวจทวีปอเมริกาใต้เป็นครั้งแรกที่ประเทศ Venezuela และ Colombia เมื่อกลับจากการสำรวจ เขาก็ได้ย้ายไปเป็นอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Yale และได้เลื่อนตำแหน่งจนเป็นศาสตราจารย์ในอีก 8 ปีต่อมา
       
       ในปี 1908 ประธานาธิบดี Roosevelt ได้แต่งตั้งให้ Bingham เป็นกรรมการเข้าร่วมประชุม Pan American Scientific Congress ที่เมือง Santiago ใน Chile ในการเดินทางครั้งนั้น Bingham ได้เห็นซากปรักหักพังที่ Buenos Aires และ Lima ด้วย และเมื่อได้เห็นซากอาคารของชาวอินคาที่ Choqquequirau ความประทับใจมากทำให้ Bingham หันมาสนใจที่จะค้นหาเมืองสุดท้ายที่ชาวอินคาอาศัยอยู่ก่อนที่อาณาจักรจะล่มสลาย
       
       เมื่อได้พบ Machu Picchu แล้ว Bingham ก็ได้เดินทางไป Peru อีกสองครั้งในปี 1912 และ 1914 พอดีเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง Bingham จึงเข้ารับราชการทหาร และเมื่อสงครามสงบก็ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการรัฐ Connecticut ในปี 1924 และได้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อสมัครเป็นวุฒิสมาชิกในปี 1926 เขาดำรงตำแหน่งนี้จนถึงปี 1933
       
       ถึงจะมีอาชีพหลายรูปแบบ แต่ Bingham ก็มักตอบใครต่อใครว่า อาชีพนักสำรวจเป็นอาชีพที่เขาโปรดปรานมากที่สุด
       
       หลังจากที่รับราชการในตำแหน่งวุฒิสมาชิกจนครบวาระแล้ว Bingham ได้ใช้ชีวิตบั้นปลายของตนในการสมาคมกับสังคมชั้นสูง จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1956 ที่กรุง Washington D.C. สิริอายุ 81 ปี
       
       สำหรับการตอบคำถามที่ว่า Machu Picchu กลายเป็นเมืองร้างได้อย่างไร นักประวัติศาสตร์ได้พบว่า Machu Picchu ได้ถูกสร้างขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 เพื่อเป็นที่พำนักของนักบวช พระราชวงศ์ คนงาน และสตรีจำนวนประมาณ 1,000 คน ลักษณะอาคารและสิ่งก่อสร้างใน Machu Picchu แสดงให้เห็นว่า เมืองถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับทำเกษตรกรรม และอีกส่วนหนึ่งเป็นสถานปกครอง ความโดดเด่นของเมืองคือตำแหน่งของอาคารต่างๆ ถูกจัดวางอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติโดยรอบ ขนาดของอาคารแสดงว่า ในยุคนั้นมีผู้คนอาศัยประมาณ 1,000 คน อาศัยอยู่ในเมืองนี้ และบ้านคนชั้นต่ำจะอยู่ชั้นล่างๆ แต่บ้านชนชั้นสูงจะอยู่ชั้นสูงขึ้นไป บางบ้านไม่มีหลังคา เพื่อให้นักบวชได้สังเกตดูดวงอาทิตย์ และดาวต่างๆ บนท้องฟ้า การรู้จักทำพื้นที่เพาะปลูกเป็นขั้นๆ ตามไหล่เขา แสดงให้เห็นว่าชาวอินคามีความรู้และความสามารถด้านเกษตรกรรมและนิเวศวิทยาเป็นอย่างดี เพราะในเมืองมีสะพาน ท่อระบายน้ำ อุโมงค์ และหอคอยให้ทหารได้สอดแนมดูข้าศึกจากระยะไกลด้วย Bingham เชื่อว่า Machu Picchu คือพระราชฐานสำหรับพักผ่อนของ Pachacute ผู้เป็นกษัตริย์พระองค์แรกแห่งอาณาจักรอินคา การวิเคราะห์โครงกระดูก 174 ชุดที่ขุดได้ ทำให้เขารู้ว่าโครงกระดูก 150 ชุดเป็นของสตรี ดังนั้น Bingham จึงสันนิษฐานว่าเมื่อกองทัพสเปนรุกฆาต กษัตริย์อินคาได้นำสตรีหลายคนมาหลบซ่อนที่ Machu Picchu เพื่อให้เหล่านางทำพิธีสวดมนต์ภาวนาของความช่วยเหลือจากเทพเจ้า และบนบานให้เทพเจ้าสาปแช่งผู้บุกรุก แต่คำอธิษฐานทั้งหลายมิเป็นผล Machu Picchu ยังเป็นที่หลบซ่อนอยู่อีก 40 ปี จนสตรีเหล่านั้นมีอายุมากขึ้นๆ และได้ล้มตายไปจนหมด
       
       แต่นักวิชาการหลายคนไม่เชื่อในคำอธิบายนี้
       
       ในวารสาร Time ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2004 นักโบราณคดีอเมริกันชื่อ Richard Burger แห่งมหาวิทยาลัย Yale ก็มีความคิดเห็นสอดคล้องกับ Bingham ว่า Machu Picchu มิใช่ศาสนสถาน แต่เป็นพระราชฐานสำหรับพักผ่อนพระอิริยาบถของกษัตริย์แห่งอินคาและพระราชวงศ์
       
       Burger ได้ข้อสรุปนี้จากหลักฐานที่ John Howland Rowe ได้พบเมื่อ 15 ปีก่อนนี้ว่า พระบรมวงศานุวงศ์ของกษัตริย์ Pachacute ได้เคยฟ้องร้องต่อศาลเปรูขอกรรมสิทธิ์เหนือ Machu Picchu คืนจากรัฐบาล เอกสารการฟ้องร้องนี้ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งเมือง Cuzco
       
       การติดตามวิเคราะห์ข้อมูลประเด็นนี้ทำให้ Burger ได้ข้อสรุปใหม่ว่า Machu Picchu เคยเป็นแหล่งพำนักของจิตรกรและศิลปินมากมาย โครงสร้างของกะโหลกศีรษะที่พบได้ช่วยให้ Burger รู้ว่า ช่างประจำราชสำนักได้มาจากคนหลายเผ่า และมีจำนวนสตรีต่อบุรุษในอัตราส่วน 3:2 สตรีบางคนมิใช่สาวพรหมจารี เพราะหลายคนมีร่องรอยของการตั้งครรภ์ เพราะเหตุว่าการจะให้ Machu Picchu ดำรงสภาพเป็นพระราชฐานที่สูงเทียมเมฆ ต้องใช้งบประมาณเงินและกำลังคนมาก ดังนั้นหลังจากที่กษัตริย์ Atahualpa สิ้นพระชนม์แล้ว 80 ปี ชาวเมืองอินคาจึงพากันอพยพทิ้งเมืองไปอย่างถาวร
       
       แต่นักประวิติศาสตร์อีกหลายคนคิดว่า คงได้เกิดโรคระบาดอย่างรุนแรง ในอาณาจักรหรือชาวเมือง Machu Picchu ถูกชนเผ่าอื่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จนหมด
       
       ปริศนาการละทิ้ง Machu Picchu จึงยังคงมีต่อไปเพื่อให้คนที่สนใจได้ไปเยือน
       
       ในปี 1983 องค์การ UNESCO ได้ประกาศยกย่อง Machu Picchu เป็นมรดกโลกที่สำคัญ
       ทุกวันนี้ Machu Picchu คือสัญลักษณ์ของ Peru ที่มีนักท่องเที่ยวไปเยือนวันละประมาณ 2,000 คน
       
       ส่วนการอ้างที่ว่า Bingham มิได้พบ Machu Picchu นั้น นักประวัติศาสตร์บางคนอ้างว่า Augustine Lizarraga ผู้เป็นชาวนาชาวเปรูคนหนึ่งได้พบเมืองลับแลนี้ก่อนในปี 1902 เพราะเขาได้เขียนชื่อของเขาด้วยถ่านดำบนกำแพงอาคารที่ Machu Picchu แต่ Lizarraga มิได้รายงานสิ่งที่เขาพบให้ใครรู้ ดังนั้นเครดิตการพบ Machu Picchu จึงตกเป็นของ Bingham แต่ผู้เดียว
       
       ปีนี้เป็นปีครบหนึ่งศตวรรษแห่งการพบ Machu Picchu และมหาวิทยาลัย Yale ได้ประกาศคืนสมบัติทุกชิ้นที่ขุดพบที่ Machu Picchu แก่รัฐบาลเปรู
       
       อ่านเพิ่มเติมจาก The Conquest of the Incas โดย J. Hemming (London, 1970)

โดย สุทัศน์ ยกส้าน    6 เมษายน 2555
manager.co.th