ผู้เขียน หัวข้อ: ยลสุดยอดภูมิทัศน์ กับ 4 พื้นที่ในกรุงเทพฯ  (อ่าน 943 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนคงได้ยินข่าวที่น่ายินดีว่า กรุงเทพฯของเราได้รับรางวัลภูมิทัศน์ดีเด่น จากการประกวด 2011 Asian Townscape
       
       สำหรับการจัดการประกวดรางวัล 2011 Asian Townscape Awards นี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Living Environment and Urban Revival เป็นรางวัลที่มอบแก่เมืองหรือโครงการที่เป็นต้นแบบในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปกับการ พัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

       ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกเมืองหรือโครงการ ที่สร้างสมดุลระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมความปลอดภัยในชีวิต การให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรม ความสอดคล้องระหว่างภูมิทัศน์ของเมืองและรูปแบบการดำเนินชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ของเมืองหรือโครงการ และการเป็นต้นแบบของเมืองหรือโครงการต่างๆ ในอนาคต
       
       โดยในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้นำเสนอโครงการ "The Living Bangkok Heritage" ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่ที่เห็นเป็นรูปธรรมในบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ครอบคลุม 4 พื้นที่ ได้แก่ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์, สวนสันติชัยปราการ, สวนนาคราภิรมย์ และสนามหลวง
       
       จากการตัดสินปรากฏว่า โครงการ "The Living Bangkok Heritage" ที่กรุงเทพมหานครส่งเข้าประกวดได้รับรางวัล The Awarding Ceremony of the 2011 Asian Townscape Awards จาก UN-HABITAT Fukuoka ร่วมกับ 3 เมือง ได้แก่ เมืองเซจู และโปฮัง ประเทศเกาหลี และเมืองคุมาโมโต ประเทศญี่ปุ่น

       ในวันนี้ฉันจึงขอพาไปยลอีกครั้ง ดูซิว่า4สถานที่เหล่านี้ มีบรรยากาศแสนสวยอย่างไรบ้าง โดยเริ่มกันที่ “ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์” ตั้งอยู่บริเวณมุมถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนมหาไชย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2532 บนสถานที่เดิมของศาลาเฉลิมไทย ที่หมดสัญญาเช่าพื้นที่ไปเมื่อ พ.ศ.2530
       
       โดยสร้างเป็นลานกว้าง เปิดโล่ง และสวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและสร้างความร่มรื่น พื้นลานทั้งหมดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ปูด้วยหินแกรนิต จัดเป็นที่นั่งพักผ่อน มีรั้วรอบบริเวณเป็นรั้วเตี้ย กรุกระเบื้องปรุเคลือบสี มีเสาประทีป และกระถางต้นไม้สลับกัน บริเวณพื้นลานจัดเป็นสวนปลูกไม้ดอกไม้ประดับ
       
       ภายในยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 3 นอกจากนี้ ยังมีการจัดสร้างพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อพระราชพิธีต้อนรับราชอาคันตุกะ และศาลาราย สำหรับข้าราชการแขกผู้มีเกียรติเฝ้ารับเสด็จและร่วมพิธีจำนวน 3 หลัง

       เมื่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ และได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าไปพักผ่อนหย่อนใจในสวนสาธารณะ และในพ.ศ.2535 ได้พระราชทานนามว่า “ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์” ตามพระนามกรมของรัชกาลที่ 3
       
       ซึ่งจากการปรับปรุงภูมิทัศน์แห่งนี้ ทำให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพของวัดราชนัดดารามวรวิหาร ซึ่งเป็นที่ตั้งของโลหะปราสาท ป้อมมหากาฬ และพระบรมบรรพต หรือภูเขาทอง วัดสระเกศ ได้อย่างชัดเจน จนถือได้ว่า “ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์” เป็นจุดชมวิวที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯเลยทีเดียว

       สถานที่ต่อไป คือ “สวนสันติชัยปราการ” ตั้งอยู่ที่ช่วงปลายถนนพระอาทิตย์ จัดสร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลสมัย เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยภายในบริเวณสวนมี “พระที่นั่งสันติชัยปราการ” ที่มีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติมาประดับไว้ พร้อมกับท่ารับเสด็จขึ้นลงเรือพระที่นั่ง เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นที่จัดพระราชประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา
       
       นอกจากนี้สิ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของสวนแห่งนี้ก็คือ “ป้อมพระสุเมรุ” โบราณสถานที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็น 1 ใน 14 ป้อมที่สร้างขึ้นป้องกันข้าศึกตามกำแพงพระนครชั้นนอก และเป็น 1 ใน 2 ป้อมที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน คือ ป้อมมหากาฬ ใกล้สะพานผ่านฟ้า และป้อมพระสุเมรุ แห่งนี้นี่เอง

       สำหรับภูมิทัศน์ของสวนแห่งนี้ ด้านหนึ่งเปิดโล่งยาวขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถมองเห็นวิวสะพานพระราม 8 ได้อย่างชัดเจนสวยงาม ส่วนอีกด้านหนึ่งอยู่ติดกับถนนพระอาทิตย์ ถนนสายเล็กๆ แต่สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมที่ดูโบราณและร้านรวงที่น่ารักมากมาย
       
       นอกจากนี้สวนสันติฯ ยังถูกใช้เป็นสถานเอนกประสงค์ที่ได้ประโยชน์ใช้สอย ทั้งด้านการพักผ่อนหย่อนใจ การศึกษาและการอนุรักษ์ ออกกำลังกาย เช่น การเต้นแอโรบิค รำมวยจีน อีกทั้งยังสามารถเป็นสถานที่จัดงานของท้องถิ่นและรัฐบาล ได้ด้วย เช่น งานลอยกระทง งานสงกรานต์ เป็นต้น

       เรามาต่ออารมณ์ที่สถานที่ต่อไปคือ “สวนนาคราภิรมย์” ได้ดำเนินการรื้อถอนอาคารของกรมการค้าภายในเดิมและองค์การคลังสินค้า มาปรับภูมิทัศน์ให้เป็นพื้นที่โล่งสีเขียว ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท้ายพระบรมมหาราชวัง ริมถนนมหาราชให้เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ริมแม่น้ำ
       
       เมื่อสร้างแล้วเสร็จในพ.ศ.2552 ได้ขอพระราชทานนามสวนสาธารณะแห่งนี้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯว่า “สวนนาคราภิรมย์” อันหมายความว่า สวนเป็นที่น่ารื่นรมย์ยิ่งของชาวพระนคร

       ภายในสวนนาคราภิรมย์แห่งนี้ มีการจัดตกแต่งภูมิทัศน์ที่สวยงามด้วยแมกไม้นานาพรรณ และลานกิจกรรมอเนกประสงค์ เพื่อให้ชาวกรุงเทพฯได้มาพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ เพิ่มสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่เมืองและสร้างทัศนียภาพอันงดงามทางสายตาแก่ผู้พบเห็น
       
       สวนนาคราภิรมย์ถูกออกแบบให้เป็นสวนเปิดโล่งเปิดมุมมองอันสวยงามริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่สามารถมองเห็นความสง่างามของสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ มองเห็นความงามของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระบรมมหาราชวังในฝั่งพระนคร และภาพความสวยงามของพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม พระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตาราม ตลอดจนอาคารราชนาวิกสภา ที่ดูสวยงามโดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี

       มาถึงสถานที่สุดยอดทิวทัศน์อีกแห่งของกรุงเทพฯเราก็คือ “สนามหลวง” หรือที่คนเก่าคนแก่คุ้นเคยกันในชื่อของ “ทุ่งพระเมรุ” สร้างมาตั้งแต่ครั้นสมัยรัชกาลที่ 1 เดิมเคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีออกพระเมรุส่งเสด็จองค์สมมุติเทพและพระบรมวงศ์ชั้นสูงคืนสู่สวรรคาลัย และประกอบพระราชพิธีสำคัญของพระนคร
       
       ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาท้องสนามหลวงแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงมาโดยตลอด เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ปรับรูปลักษณ์ของท้องสนามหลวง ให้เป็นวงรีสวยงามดังเช่นจัตุรัสเมืองในเมืองหลวงสำคัญๆของประเทศยุโรป และทรงให้ปลูกต้นมะขามเรียงคู่เป็น 2 แถวโดยรอบเพื่อความร่มรื่นสวยงาม และสื่อถึงความน่าเกรงขาม

       จนมาในรัชสมัยรัชกาลปัจจุบัน ได้มีการปิดสนามหลวงชั่วคราว เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. 2553 ถึงกลายมาเป็นสนามหลวงโฉมใหม่เมื่อ 9 สิงหาคม 2554 ที่มีภูมิทัศน์สดใส โดยคืนพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกหญ้านวลน้อย และยังประดับไม้พุ่มไม้ดอกเพื่อความสดชื่นสวยงาม
       
       ในยามค่ำคืนก็สว่างไสวไปด้วยระบบไฟฟ้าที่มีการจัดระเบียบสายไฟลงใต้ดินทั้งหมด พร้อมติดตั้งเสาไฟไล่ระดับเพิ่มแสงสว่างทั่วบริเวณสนามหลวง และยังได้มีการทำการกำหนดสัดส่วนการใช้ประโยชน์พื้นที่สนามหลวงอย่างชัดเจนด้วย

       นอกจากนี้หากมองจากบริเวณท้องสนามหลวง ยังสามารถชมทิวทัศน์ของวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังได้อย่างงดงามอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามค่ำคืน และเยื้องๆไปทางด้านข้างยังสามารถมองเห็นอาคารของกระทรวงกลาโหม ซึ่งสร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรปในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ดูสวยงามคลาสสิกมากทีเดียว
       
       และนี่คือ 4 สถานที่สุดยอดภูมิทัศน์ของเมือง ที่สามารถคว้ารางวัล Asian Townscape ประจำปี 2011 มาได้ ใครยังไม่เคยสัมผัสบรรยากาศแบบนี้ ต้องลอง!

ASTVผู้จัดการออนไลน์    20 มีนาคม 2555