ผู้เขียน หัวข้อ: คนไทยอาจไม่ได้กินเผ็ด ยุโรปไม่เคยมีมันฝรั่ง และเรื่องราวที่มากกว่าฝอยทอง  (อ่าน 1304 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
แต่ก่อนแต่ไรคนไทยอาจไม่ได้กินเผ็ด


เราอาจไม่เคยกินส้มตำกันมาก่อนเพราะมะละกอไม่ได้เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชีย

ฝรั่งมังค่าอาจเพิ่งเคยได้ลิ้มรส เฟรนช์ฟราย และเริ่มจิบอิงลิชเบรคฟาสต์  เมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้

เพราะมันฝรั่ง มะเขือเทศ ฟักทอง ใบชา กาแฟ โกโก้ วานิลลา ยาสูบ  เพิ่งจะถูกขนข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังยุโรปช่วงหลัง ค.ศ. 1500
ฯลฯ

ความรับรู้เกี่ยวกับอาหารการกินของผู้ฟังอภิปรายดูจะตีลังกากลับตาลปัตรกันไปหลายรอบเมื่อได้ฟังอภิปราย "โปรตุเกส-อยุธยา และลัทธิอาณานิคมตะวันตก" ที่อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ  อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำมาเล่าสู่กันฟังในงานสัมมนา "500 ปี ความสัมพันธ์สยามประเทศไทย กับโปรตุเกส และชาติตะวันตกในอุษาคเนย์ 2054-2554" ณ หอประชุมใหญ่ อาคาร 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา

โปรตุเกส... จักรวรรดินิยมทางทะเลรายแรก

สุธาชัยกล่าวเริ่มต้นว่า โปรตุเกสเป็นจักรวรรดินิยมทางทะเลรายแรก เป็นเจ้าแรกที่เข้ามารุกราน เป็นมหาอำนาจทางการค้า โปรตุเกสยังเป็นชาติแรกที่ใช้นโยบาย "เรือปืน" ในการผูกขาดทางการค้า โดยแรงจูงใจที่ทำให้เข้ามาในเอเชียของคือเครื่องเทศ

"ปัจจัยเกื้อหนุนดังกล่าวคือความก้าวหน้าของการประดิษฐ์เรือ ที่เลิกใช้การพายแต่หันมาใช้ใบเรือหลายๆใบ ทำให้เรือสามารถแล่นได้ด้วยลม และที่ก้าวหน้ายิ่งไปกว่านั้นคือการติดปืนใหญ่ในเรือ ซึ่งเข้าใจว่าโปรตุเกสน่าจะเป็นชาติแรก ทำให้เกิดนโยบายเรือปืนซึ่งสอดคล้องกับการคุมอำนาจของโปรตุเกส"

ส่วนในเรื่องของการเดินเรือนั้น สุธาชัยกล่าวว่า จากเส้นทางการเดินเรือของวาสโก ดา กามา แสดงให้เห็นว่าได้มีการวางแผนเอาไว้อย่างดี เป็นการเดินเรือที่สอดคล้องกับกระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่โปรตุเกสจะได้ทำการสำรวจเรื่องนี้ไว้ก่อนแล้วเก็บเอาไว้เป็นความลับ

แล้วการมาถึงของโปรตุเกสได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไรบ้าง...

สุธาชัยกล่าวต่อไปว่า การเข้ามายังเอเชียของโปรตุเกสนั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสามเรื่องใหญ่ๆด้วยกัน หนึ่งคือก่อให้เกิดการปฏิวัติทางความรู้ในเชิงภูมิศาสตร์ สองคือก่อให้เกิดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และสาม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและอาหารการกิน

ประเด็นแรก ภูมิศาสตร์โลกในสมัยกลางนั้นเป็น "ภูมิศาสตร์จินตนาการ" ...

"จินตภาพเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของโลกในอินเดียสมัยนั้นไม่มีความชัดเจนเลย คำอธิบายโลกในสมัยกลางนั้นอธิบายว่า โลกมีกรุงเยรูซาเล็มเป็นศูนย์กลาง มีสวนอีเด็นของพระเจ้าอยู่ทางตะวันออก มีช่องแคบยิบรอลตาร์อยู่ทางตะวันตก เพราะฉะนั้นความรู้ทางภูมิศาสตร์ในสมัยกลางนั้นไม่มีเอเชียและไม่มีดินแดนอื่นๆ"

"ส่วนอินเดียนั้นเป็นเพียงจินตภาพลางๆ ในความเห็นของคนยุโรปสมัยกลางนั้น อินเดียไม่ได้อยู่ทางตะวันออก แต่อยู่ทางใต้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าภูมิศาสตร์สมัยกลางของยุโรปนั้นมันคลุมเครือและเป็นจินตนาการอย่างมาก"

จนกระทั่งสมัยสงครามครูเสดถึงเริ่มมีการขยายความรู้ หนังสือของมาร์โค โปโลทำให้เอเชียเริ่มมีตัวตน

"การค้นพบโลกใหม่ของโปรตุเกสทำให้เกิดการเปลี่ยนโลกทัศน์ทางภูมิศาสตร์ แผนที่กลายเป็นแผนที่แบบใหม่ที่ดูเหมือนจริงมากขึ้น ความเข้าใจภูมิศาสตร์แบบปัจจุบันเป็นเรื่องใหม่ การเดินทางไปเอเชียของโปรตุเกสเปลี่ยนจากภูมิศาสตร์แบบจินตภาพไปเป็นภูมิศาสตร์แบบ
เรียลลิสติก (สัจนิยม) นี่คือการเปลี่ยนที่สำคัญมากในเชิงความรู้" สุธาชัยกล่าว

สอง ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์เป็นผลมาจากการสำรวจทางทะเล

"เมื่อเราพูดถึงวิทยาศาสตร์เรามักจะพูดถึงการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ พูดถึงกาลิเลโอ นิวตัน แต่มันมีรากฐานความรู้มาก่อนหน้านั้นซึ่งโปรตุเกสเข้ามามีส่วนร่วม ยกตัวอย่างเช่น โทเม ปิเรส ซึ่งเป็นเภสัชกร การที่ปิเรสเดินทางมาเอเชียนั้นก็เพื่อมารวบรวมความรู้เรื่องพืชและยาในอินเดีย ส่วนดูอาเต ปาเชโก เปอเรรา (Duarte Pacheco Pereira ) เป็นนายทหารเรือที่เดินทางมายังเอเชีย เปอเรราได้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับการเดินเรือที่เขาได้มาจากการสังเกตและทดลองในเอเชีย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก แต่หนังสือเล่มนี้กว่าจะได้พิมพ์ก็ต่อมาอีกนาน เพราโปรตุเกสกลัวว่าความรู้จะรั่วไหล

แพทย์โปรตุเกสคนหนึ่งเดินทางมายังอินเดียและเขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเป็นหนังสือที่รวบเรื่องผัก ผลไม้ เครื่องยาในอินเดียทั้งหมดเอาไว้ หนังสือเล่มนี้เป็นพื้นฐานของวิชาพฤกษศาสตร์และเภสัชศาสตร์ในสมัยต่อมา"

สรุปแล้วเราจะเห็นได้ว่า โปรตุเกสก่อให้เกิดความก้าวหน้าในเรื่องคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์การเดินเรือ รวมถึงความรู้กระแสแม่เหล็กโลก กระแสน้ำในมหาสมุทร รวมทั้งวิธีการศึกษาโดยการสังเกต ทดลอง ซึ่งเป็นวิธีทางวิทยาศาสตร์แบบใหม่ รวมทั้งการพัฒนาวิชาพฤกษศาสตร์และเภสัชศาสตร์สมัยใหม่

อันเราอาจกล่าวได้ว่า

"ความรู้เหล่านี้ เราเป็นหนี้ นักเดินทางและนักค้นคว้าชาวโปรตุเกส"

สาม เรื่องการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและอาหาร

อาหารการกินของโลกสมัยก่อน ค.ศ. 1500 ไม่ได้เป็นแบบปัจจุบันแต่อย่างใด เราอาจจะนึกไม่ถึงว่าได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในเรื่องของอาหารการกิน สิ่งใหม่ที่เข้ามาในชีวิตของชาวยุโรปคือเครื่องเทศจากเอเชีย คือมันฝรั่ง มะเขือเทศ ฟักทอง ใบชา กาแฟ โกโก้ วานิลลา ยาสูบ

"เราแทบจะจินตนาการไม่ได้เลยว่า อังกฤษในสมัยกลางนี่เขากินอะไรกัน กินเนื้อต้มกับเกลือเหรอ (หัวเราะ) เราจะเห็นว่าอาหารทั้งหมดมาจากดินแดนอื่นๆ มาจากโลกใหม่ทั้งนั้น สิ่งใหม่ๆเหล่านี้ถูกนำเข้ามาโดยโปรตุเกสกับสเปน อันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตทั้งหมดของชาวโปรตุเกส"

และสำหรับสยาม โปรตุเกสได้นำเอาของหวานอย่าง ฝอยทอง ทองหยอด ลูกชุบเข้ามา (ส่วน "ทองหยิบ" นั้นเป็นนวัตกรรมของเราเอง) ขนมฝรั่งกุฎีจีน สิ่งที่โปรตุเกสนำเข้ามาคือการทำขนมด้วยไข่และแป้ง ซึ่งไม่ใช่ลักษณะการทำขนมดั้งเดิมของสยามที่ทำขนมด้วยแป้งข้าวเจ้าเป็นหลัก

"เมื่อกี้เราตั้งคำถามกับยุโรป ตอนนี้ผมจะมาตั้งคำถามกับไทยเราบ้าง พืชพันธุ์ต่างๆอย่าง พริก (piri-piri) นั้นเป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกากลาง เผลอๆไม่ใช่พืชพื้นเมืองของเอเชีย หรือหากว่าเป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียก็ไม่ใช่พืชพื้นเมืองของไทย เราอาจจะนึกไม่ถึงว่าครั้งหนึ่งในอดีต เราอาจจะไม่ได้กินเผ็ดอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน พริกถูกนำเข้ามาในฐานะที่เป็นพืชสวน ไม่ใช่พืชป่า มีข้อสันนิษฐานว่า โปรตุเกสนั่นแหละที่เป็นคนนำเอาพริก (piri-piri)เข้ามาในสังคมไทยจนถูกกลืนให้กลายเป็นไทย จนทุกวันนี้คนโปรตุเกสอาจนึกไม่ถึงว่าคนไทยจะกินเผ็ดแบบนี้"

"มะละกอไม่ได้เป็นพืชพื้นเมืองของสยามหรือเอเชีย น่าตื่นเต้นนะครับว่าเราไม่เคยกินส้มตำกันมาก่อน มะละกอเป็นพืชพื้นเมืองของเม็กซิโก ยังเป็นไปได้ว่าโปรตุเกสและสเปนเป็นผู้นำไปเผยแพร่ทั่วโลก ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามะละกอเข้ามาในไทยได้อย่างไร แล้วสุดท้ายเป็นพืชประจำชาติของประเทศลาวไปได้อย่างไร (หัวเราะ) เราลองจินตภาพถึงสังคมไทยที่ไม่มีพริกและมะละกอดูสิ"

ส่วนผลไม้ต่างๆนั้น...

"ทั้งฝรั่ง สับปะรด น้อยหน่าซึ่งเนี่ยภาษาโปรตุเกสเรียกว่า annona ก็อปปี้คำกันมาเลย พวกนี้มาจากอเมริกาทั้งนั้น

แต่ก่อนไทยเราไม่มีส้ม ส้มโอ องุ่น พวกนี้มาจากเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อก่อนคำว่า "ส้ม" ในภาษาไทยเดิมหมายถึงสิ่งที่เปรี้ยวๆอย่างเช่นส้มมะขาม คำว่า "สีส้ม" ก็ไม่มี เรามีแต่สีแสด หรือไม่ก็สีแดงไปเลย จินตภาพเกี่ยวกับส้มหรือสีส้มเป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ถูกนำเข้ามาทั้งนั้น"

"สรุปแล้วผมคิดว่าการปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงเรื่องอาหารและพืชพันธุ์นั้นเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญมากที่ทำให้โฉมหน้าของสังคมเปลี่ยนไป ยุโรปและเอเชีย ดังนั้น ถ้าเราจะฉลอง 500 ปีความสัมพันธ์โปรตุเกส-ไทย เราน่าจะฉลองเรื่องการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญและเป็นใจกลางของความเป็นจริงมากกว่าความสัมพันธ์ทางการเมือง ซึ่งมีน้อยมาก โปรตุเกสไม่ได้สนใจที่จะติดต่ออยุธยามากขนาดนั้นเพราะอยุธยาไม่มีเครื่องเทศ

แล้วผมอยากจะบอกว่าตอนที่สยามทำสงครามกับพม่านั้น โปรตุเกสเลือกที่จะช่วยพม่า ไม่ได้เลือกช่วยสยามนะครับ"

มติชนออนไลน์  28 มกราคม พ.ศ. 2555