ผู้เขียน หัวข้อ: ตามหาหมู่ภมรยอดผึ้ง-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 939 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
อนาคตของพืชผลราวหนึ่งในสามของโลกฝากไว้กับชะตากรรมของหมู่ภมรที่กำลังถูกคุกคามจากศัตรูผู้น่าพรั่นพรึง

ภราดาแอดัมคงรู้แก่ใจดีว่า ตนเริ่มเลี้ยงผึ้งในช่วงเวลาอับโชค ตอนนั้นคือปี 1915 และท่านยังเป็นเพียงพระนวกะวัย 16 ปีที่อารามบักฟาสต์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ  แม้ว่าการตายยกรังอย่างรวดเร็วของผึ้งจะมีบันทึกไว้หลายศตวรรษแล้ว แต่หายนะที่นักบวชหนุ่มเผชิญอยู่ขณะนั้นยังไม่เคยปรากฏมาก่อน โรคลึกลับได้กวาดล้างโรงเลี้ยงผึ้งเกือบทุกแห่งบนเกาะไอล์ออฟไวต์

ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็สามารถเชื่อมโยงโรคลึกลับกับไวรัสที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ทว่าผลการวิจัยมาช้าเกินกว่าจะช่วยผึ้งสีน้ำตาลแก่พันธุ์พื้นเมืองของอังกฤษเอาไว้ได้ รวงผึ้งที่เหลือรอดเกือบทั้งหมดเป็นผึ้งลูกผสมซึ่งเกิดจากผึ้งสายพันธุ์พื้นเมืองกับนางพญาผึ้งต่างถิ่น ความแข็งแกร่งที่เหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัดนี้จุดประกายให้ภราดาแอดัมคิดพัฒนาสายพันธุ์ผึ้งที่ต้านทานโรคได้ดี

ในปี 1950 หลังจากเตรียมการมานานหลายปี ในที่สุดภราดาแอดัมก็สบโอกาส เขาจะใช้เวลาตลอด 37 ปีหลังจากนั้นขับรถคันเก่าซอมซ่อของอารามตระเวนไปทั่วยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เพื่อเสาะหาและรวบรวมนางพญาผึ้งกว่า 1,500 ตัว ซึ่งมีตั้งแต่ผึ้งสุดขยันจากตอนเหนือของตุรกี ผึ้งสายพันธุ์ผสมหลากหลายบนเกาะครีต ผึ้งสายพันธุ์โดดเดี่ยวจากโอเอซิสต่างๆในทะเลทรายสะฮารา ผึ้งสีนิลแห่งโมร็อกโก ผึ้งสีส้มตัวกะจิริดจากแม่น้ำไนล์ ไปจนถึงผึ้งที่เชื่อว่าเยือกเย็นรักสงบที่สุดจากภูเขาคิลิมันจาโร ก่อนจะนำผึ้งต่างแดนเหล่านี้ไปยังโรงเลี้ยงผึ้งที่ตั้งอยู่กลางทุ่งมัวร์ห่างไกลจากผึ้งอื่นๆที่มียีนไม่พึงประสงค์ เขาทำการผสมพันธุ์ผึ้งนับครั้งไม่ถ้วนในสภาพแวดล้อมอันโดดเดี่ยวและเป็นธรรมชาติ จนเกิดเป็นผึ้งบักฟาสต์ (Buckfast bee) ซึ่งได้รับการขนานนามอย่างรวดเร็วว่า ยอดผึ้งหรือซูเปอร์บี (superbee) ผึ้งสีน้ำตาลที่ทรหดอดทนนี้ไม่ค่อยต่อย ขยันเป็นเลิศ และทนทานต่อโรคที่ภายหลังเรียกกันว่า โรคไอล์ออฟไวต์ พอถึงทศวรรษ 1980 ผึ้งบักฟาสต์ก็ส่งขายไปทั่วโลก

แต่แล้วหมู่ภมรก็ตกอยู่ในอันตรายอีกครั้ง เมื่อไรเอเชีย Varroa destructor เจ้าของชื่อที่สื่อถึงการทำลายล้างรุกรานเข้าสู่ยุโรปและสหรัฐฯ “มีเพียงเผ่าพันธุ์หรือสายพันธุ์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมต้านทานโรคได้อย่างแท้จริงเท่านั้น” ที่จะเป็น “คำตอบสุดท้ายสำหรับภัยคุกคามนี้” ภราดาแอดัมประกาศเมื่อปี 1991 แต่ยังไม่ทันที่เขาจะลงมือเริ่มงาน คุณพ่ออธิการของอารามบักฟาสต์ซึ่งเห็นว่าชื่อเสียงขจรขจายของภราดาแอดัมขัดแย้งกับบทบาทความเป็นนักบวช จึงปลดเขาออกจากหน้าที่คนเลี้ยงผึ้ง ภราดาแอดัมตรอมใจตายในปี 1996

ในระหว่างนั้น สถานการณ์ในแวดวงคนเลี้ยงผึ้งมีแต่จะเลวร้ายลง ในปี 2007 รายงานเกี่ยวกับ “ปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย” (colony collapse disorder) หรือการตายอย่างรวดเร็วและรุนแรงของผึ้งทั้งคอโลนี จู่ๆก็ปรากฏขึ้นราวดอกเห็ดทั่วทวีปยุโรปและอเมริกา รายงานข่าวเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ภัยคุกคามต่อเกษตรกรรมทั่วโลก” และ “มหันตภัยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบนโลกใบนี้” จะว่าไปพาดหัวข่าวก็ฟังดูสมเหตุสมผล เพราะการถ่ายเรณูด้วยแมลงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลงานของผึ้งมีความสำคัญยิ่งต่อแหล่งอาหารถึงราวหนึ่งในสามของโลก

นักวิจัยผึ้งซึ่งหลายคนได้แรงบันดาลใจจากภราดาแอดัม เร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่านี่ไม่ใช่ปัญหาเดียวอย่างที่คิดกันในตอนแรก หากเป็นการผสมผสานกันของปัญหาแมลงรบกวน เชื้อโรค การสูญเสียถิ่นอาศัย และสารเคมีเป็นพิษ โดยมีไรสกุล Varroa เป็นองค์ประกอบสำคัญ ทุกวันนี้ ผู้เลี้ยงผึ้งรายใหญ่ส่วนมากใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อกำจัดไร ซึ่งอย่างดีที่สุดก็เป็นได้แค่วิธีแก้ปัญหาแบบชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี นักวิจัยผึ้งจำนวนหนึ่งหันกลับไปใช้วิธีของภราดาแอดัม นั่นคือการสร้างยอดผึ้งรุ่นใหม่ เพียงแต่ในครั้งนี้เป็นการใช้เครื่องไม้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยกว่า ซึ่งรวมถึงการดัดแปรพันธุกรรม ขณะที่บางส่วนเลือกหนทางตรงกันข้ามซึ่งเป็นธรรมชาติยิ่งกว่าวิธีของภราดาแอดัมเสียอีก กล่าวคือ ไม่ใช้สารเคมี ไม่ก้าวก่ายดัดแปลง แค่ปล่อยให้ผึ้งวิวัฒน์ไปตามวิถีทางของตนเอง!

เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาแมลงศัตรูพืชมักหันไปพึ่งยาฆ่าแมลง ที่ผ่านมาบริษัทเคมีภัณฑ์หลายแห่งค้นพบยาฆ่าไรที่ได้ผลมากกว่าสิบขนาน สารเคมีเหล่านี้ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ไม่มีนักวิจัยผึ้ง เกษตรกร ผู้เลี้ยงผึ้งเชิงพาณิชย์ หรือกระทั่งคนเลี้ยงผึ้งเป็นงานอดิเรกที่ผมได้พูดคุยด้วยแม้แต่คนเดียว พอใจกับการใส่สารพิษลงไปในรวงผึ้ง นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังรายงานว่า ไรสกุล Varroa หลายชนิดดื้อยาฆ่าไรที่วางขายอยู่ในท้องตลาดแล้ว

บริษัทบีโอโลจิกส์ (Beeologics) ในเครือมอนซานโต บรรษัทเกษตรและเคมีภัณฑ์ข้ามชาติ มองเห็นวิธีที่แตกต่างและน่าจะปลอดสารพิษด้วยการใช้อาร์เอ็นเอไอ (Ribonucleic acid interference: RNAi) โมเลกุลอาร์เอ็นเอในเซลล์เป็นตัวนำข้อมูลจากยีนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโมเลกุลดีเอ็นเอไปยังระบบกลไกของเซลล์ที่ผลิตโปรตีนอันเป็นองค์ประกอบทางเคมีสำคัญต่อชีวิต โปรตีนแต่ละชนิดมีองค์ประกอบเฉพาะ เช่นเดียวกับอาร์เอ็นเอและยีนที่เกี่ยวเนื่อง ในกระบวนการแทรกแซง (interference) อาร์เอ็นเอ สารที่ออกแบบมาให้โจมตีสิ่งผิดปกติในอาร์เอ็นเอจะพุ่งเป้าไปที่เซลล์นั้นๆ การทำลายอาร์เอ็นเอในลักษณะดังกล่าวเป็นการตัดความเชื่อมโยงระหว่างยีนกับโปรตีนในยีน วิธีการของบีโอโลจิกส์จะเลี้ยงผึ้งด้วยน้ำเชื่อมที่มีส่วนผสมของอาร์เอ็นเอไอซึ่งจะพุ่งเป้าเล่นงานอาร์เอ็นเอของไรอีกทอดหนึ่ง ในทางทฤษฎีสารละลายน้ำเชื่อมนี้จะไม่ส่งผลต่อผึ้ง แต่เมื่อไรดูดเลือดจากผึ้งก็จะได้รับอาร์เอ็นเอไอ และนั่นควรจะส่งผลต่อไร

มาร์ลา สปีแวก นักวิจัยด้านผึ้งจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตาแย้งว่า  ปัญหาคืออาร์เอ็นเอไอยังเป็นเครื่องมือเพื่อวัตถุประสงค์เดียว  “หากคุณพุ่งเป้าไปที่เรื่องเรื่องเดียว [อย่างกรณีนี้คืออาร์เอ็นเอของไร] สิ่งมีชีวิตจะหาวิธีหลีกเลี่ยงได้เสมอ” เธอเห็นว่า หากต้องการจัดการกับปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลายอย่างได้ผล ถึงที่สุดแล้วเราต้องมีผึ้งที่ “สุขภาพดีกว่า แข็งแรงกว่า” เป็นสายพันธุ์ที่รับมือกับไรและโรคได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากมนุษย์

เรื่องโดย ชาร์ลส์ ซี. แมนน์
พฤกษภาคม 2558