ผู้เขียน หัวข้อ: สมัยแอนโทรโปซีน(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1619 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
คำว่า “แอนโทรโปซีน”  เกิดขึ้นเมื่อราวสิบปีก่อนโดยพอล ครูตเซน  นักเคมีชาวดัตช์  วัน หนึ่งครูตเซนซึ่งได้รับรางวัลโนเบลร่วมจากการค้นพบผลกระทบของสารประกอบที่ ทำลายโอโซนในบรรยากาศ นั่งอยู่ในการประชุมทางวิทยาศาสตร์ครั้งหนึ่ง ประธานการประชุมอ้างถึงแต่สมัยโฮโลซีนที่เริ่มต้นขึ้นตอนปลายสมัยน้ำแข็งสุด ท้ายเมื่อ 11,500 ปีก่อน  และดำเนินต่อมาจนทุกวันนี้ อย่างน้อยก็ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่  “พอเถอะครับ”  ครูตเซนเล่าว่า เขาพูดโพล่งออกมา “เราไม่ได้อยู่ในสมัยโฮโลซีนอีกต่อไปแล้ว เราอยู่ในสมัยแอนโทรโปซีนต่างหาก”

            จากนั้นเป็นต้นมา  แอนโทรโปซีนก็เป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์   เนื่องจากผลกระทบที่มนุษย์กระทำต่อโลกเห็นได้ชัดขึ้นมาก  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชากรโลกเพิ่มขึ้นจนถึงเกือบ 7,000 ล้านคน  “รูปแบบการเพิ่มประชากรโลก ในศตวรรษที่ยี่สิบมีลักษณะทวีคูณเหมือนแบคทีเรียมากกว่าไพรเมต”  อี. โอ. วิลสัน นักชีววิทยา เขียนไว้อย่างนั้น วิลสันคำนวณว่า มวลชีวภาพรวมของมนุษย์ทั้งหมดมีปริมาณมากกว่าของสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดใดๆที่เคย อาศัยอยู่บนโลกถึง 100 เท่าแล้ว

            ในปี 2002 เมื่อครูตเซนอรรถาธิบายเรื่องแอนโทรโปซีนในวารสาร เนเจอร์ แนวคิดนี้ก็กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักวิจัยสาขาต่างๆแทบจะในทันที   ไม่ช้าคำคำนี้ก็ปรากฏให้เห็นตามสื่อสิ่งพิมพ์ด้านวิทยาศาสตร์ พอถึง ปี 2007 คณะกรรมการลำดับชั้นหินของสมาคมธรณีวิทยาแห่งลอนดอนก็ตกลงที่จะพิจารณาเรื่องนี้ในฐานะประเด็นปัญหาทางธรณีวิทยา โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าแอนโทรโปซีนมีคุณลักษณะตามบรรทัดฐานที่ใช้กำหนดสมัยใหม่ได้หรือไม่  ในแวดวงวิชาการด้านธรณีวิทยา  คำว่าสมัย (epoch) หมายถึงช่วงเวลาที่ค่อนข้างสั้น แม้อาจกินเวลายาวนานหลายสิบล้านปีก็ตาม  ขอบ เขตระหว่างสมัยต่างๆนั้นกำหนดโดยการเปลี่ยนแปลงที่ทิ้งหลักฐานไว้ในชั้นหิน ตะกอน เช่น การปรากฏตัวของจุลชีพชนิดหนึ่งที่มักกลายเป็นฟอสซิล  หรือการสาบสูญไปของจุลชีพอีกชนิดหนึ่ง เป็นต้น  แน่นอนว่าหลักฐานทางธรณีวิทยาของยุคปัจจุบันยังไม่ปรากฏให้เห็นในชั้นหิน  ดังนั้นคำถามก็คือเมื่อถึงเวลานั้น ผลกระทบของมนุษย์จะแสดงให้เห็น “นัยสำคัญทางลำดับชั้นหินวิทยา” หรือไม่  คำตอบของนักธรณีวิทยากลุ่มนี้คือ “ใช่”  แม้เหตุผลอาจไม่เป็นอย่างที่เราคิดก็ตาม

                  วิธี การที่ชัดเจนที่สุดที่มนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงโลกอาจเป็นการสร้างเมือง ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากแหล่งรวมวัสดุที่มนุษย์สร้างขึ้นที่แผ่ขยายออก ไปอย่างไพศาล ทั้งเหล็ก กระจก ปูน และอิฐ ทว่าเมืองส่วนใหญ่กลับขาดคุณลักษณะของการดำรงอยู่อย่างยาวนาน ด้วยเหตุผลง่ายๆว่าเมืองเหล่านั้นสร้างบนดิน  และเมื่ออยู่บนดินพลังแห่งการสึกกร่อนตามธรรมชาติก็มีแนวโน้มที่จะเอาชนะกระบวนการสะสมตัวของตะกอนได้   ดัง นั้นเมื่อพิจารณาจากมุมมองทางธรณีวิทยาแล้ว ผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุดของมนุษย์ในภูมิทัศน์ทุกวันนี้อาจเป็นสิ่งที่ไม่ จีรังยั่งยืนที่สุดก็ได้

            มนุษย์ ยังเปลี่ยนโฉมหน้าโลกผ่านกิจกรรมทางการเกษตรด้วย ทุกวันนี้พื้นดินที่ปราศจากน้ำแข็งราวร้อยละ 38 ของโลกกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่ด้านนี้ก็เช่นกัน ผลกระทบที่ดูเหมือนมีนัยสำคัญที่สุดในปัจจุบัน อย่างมากที่สุดก็คงทิ้งร่องรอยไว้เพียงบางเบาเท่านั้น นักธรณีวิทยาในอนาคตน่าจะอนุมานขนาดของอุตสาหกรรมเกษตรในศตวรรษที่ยี่สิบ เอ็ดจากบันทึกเรณูพืชสีเหมือนๆกัน ทั้งข้าวโพด ข้าวสาลี และถั่วเหลือง ซึ่งมาแทนที่เรณูพืชอันหลากหลายของป่าดิบชื้นหรือทุ่งหญ้าแพรรี

            การ ตัดไม้ทำลายป่าของโลกจะส่งสัญญาณเข้ารหัสอย่างน้อยสองประการไปถึงนักลำดับ ชั้นหินวิทยาในอนาคต ถึงแม้การถอดรหัสสัญญาณแรกอาจไม่ใช่เรื่องง่าย   ดินปริมาณมหาศาลที่สึกกร่อนหรือถูกกัดเซาะจากพื้นที่ไร้หน้าดิน  ทำ ให้การทับถมของตะกอนเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ของโลก แต่ขณะเดียวกัน เขื่อนที่สร้างกั้นแม่น้ำสายหลักส่วนใหญ่ของโลกได้สกัดกั้นตะกอนบางส่วนที่ ควรไหลลงสู่ทะเลเอาไว้  สัญญาณที่สองของการตัดไม้ ทำลายป่าน่าจะแปลความหมายได้ง่ายกว่า การสูญเสียถิ่นอาศัยในป่าคือสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการสูญพันธุ์ตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของ 500 ล้านปีที่ผ่านมาหลายร้อยหรืออาจจะหลายพันเท่า

            บางทีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดจากมุมมองของนักธรณีวิทยาอาจเป็นสิ่งที่เรามองแทบไม่เห็น นั่นคือ   การเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบบรรยากาศ   การ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์นั้นไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และในระยะสั้นก็ไม่มีอันตรายใดๆ แต่ภาวะโลกร้อนอาจทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงถึงระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นใน รอบหลายล้านปีได้ไม่ยาก  พืชและสัตว์บางชนิดได้อพยพโยกย้ายถิ่นกระจายพันธุ์เข้าใกล้ขั้วโลกทั้งสองด้าน และการเคลื่อนย้ายดังกล่าว  จะทิ้งร่องรอยไว้ในบันทึกหรือหลักฐานทางฟอสซิล    พืชและสัตว์บางชนิดอาจไม่สามารถเอาชีวิตรอดจากภาวะโลกร้อนได้  ในขณะเดียวกัน อุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจทำให้ระดับทะเลเพิ่มขึ้นถึงหกเมตรหรือมากกว่าได้ในที่สุด

            เนิ่น นานหลังจากรถรา เมืองน้อยใหญ่ และโรงงานของเรากลายเป็นฝุ่นธุลี ผลกระทบของการเผาไหม้ถ่านหินและน้ำมันหลายพันล้านตันน่าจะเห็นได้อย่าง ชัดเจน ขณะที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้โลกร้อนขึ้น มันได้ชำแรกแทรกซึมลงสู่ห้วงมหาสมุทรต่างๆ พร้อมกับทำให้เกิดภาวะเป็นกรดขึ้นด้วย ณ ช่วงใดช่วงหนึ่งภายในศตวรรษนี้ ท้องทะเล และมหาสมุทรอาจเป็นกรดจนถึงจุดที่ปะการังไม่สามารถสร้างโครงสร้างหินปูนหรือ แนวปะการังได้ และคงทิ้งร่องรอยไว้เป็น “ช่องว่างของแนวปะการัง” (reef gap) ในบันทึกทางธรณีวิทยา ช่องว่างของแนวปะการังที่ว่านี้เป็นหลักฐานสำคัญ   ที่ พบในการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ทั้งห้าครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งหลังสุดเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยเมื่อ 65 ล้านปีก่อน ตอนปลายยุคครีเทเชียส ชนิดพันธุ์ที่สูญสิ้นไปไม่ได้มีเพียงไดโนเสาร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยอยู่ในทะเล เช่น เพลซิโอซอร์ สัตว์เลื้อยคลานบินได้อย่างเทอโรซอร์ และสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังที่เรียกว่าแอมโมไนต์ด้วย ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นตรงกันว่า นับตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้นแป็นต้นมา ความรุนแรงของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับกับมหาสมุทรในปัจจุบันนับว่าหนัก หน่วงยากจะหายุคใดเสมอเหมือน สำหรับนักธรณีวิทยาในอนาคตแล้ว ผลกระทบที่เราสร้างอาจดูฉับพลันและล้ำลึกไม่ต่างจากที่ดาวเคราะห์น้อยเคย สร้างไว้

                  หากเรากำลังก้าวเข้าสู่สมัยใหม่จริงๆ แล้วสมัยที่ว่านี้เริ่มต้นเมื่อไรกันแน่  ผลกระทบที่เกิดจากมนุษย์เพิ่มสูงจนถึงระดับที่มีนัยสำคัญทางธรณีวิทยาตั้งแต่เมื่อไรกันเล่า  ครูตเซนผู้เปิดประเด็นเสนอว่า  สมัยแอนโทรโปซีนเริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สิบแปดซึ่งเป็นช่วงที่หลักฐานจากแกนน้ำแข็งชี้ว่า  ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากนั้น  นัก วิทยาศาสตร์คนอื่นๆเห็นว่าจุดเริ่มต้นของสมัยใหม่เปิดฉากขึ้นตอนกลางศตวรรษ ที่ยี่สิบ เมื่ออัตราการเพิ่มประชากรและการบริโภคทรัพยากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

            ครูตเซนบอกว่าคุณูปการที่แท้จริงของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่การแก้ไขปรับปรุงตำราทางธรณีวิทยา   เป้าหมายของเขากว้างกว่านั้น   ครูตเซนอยากให้เราพุ่งความสนใจไปยังผลกระทบจากการกระทำในภาพรวมของเรา  และช่วยกันคิดว่าเราอาจจะยังพอหาหนทางเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งเลวร้ายที่สุดได้อย่างไร  เขาทิ้งท้ายว่า  “ผมหวังว่า ‘แอนโทรโปซีน’ จะเป็นคำเตือนที่ส่งไปยังโลกครับ”

มีนาคม 2554