ผู้เขียน หัวข้อ: 8 อัปยศ ฟุตบอลโลก  (อ่าน 762 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
8 อัปยศ ฟุตบอลโลก
« เมื่อ: 15 มิถุนายน 2014, 22:35:40 »
ย้อนรอยเหตุการณ์สุดฉาวโฉ่บนเวทีลูกหนังระดับโลก

มหกรรมลูกหนังแห่งมวลมนุษยชาติกำลังเปิดม่านอีกครั้งที่กรุงริโอ ดิ จาเนโร ท่ามกลางเสียงเชียร์ และความหวังของแฟนบอลทั่วโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตั้งแต่ไหนแต่ไร ทุ่งหญ้าแห่งความฝันนี้ได้สร้างตำนานเอาไว้ในความทรงจำของผู้คนมากมาย

การแจ้งเกิดของ "ไข่มุกดำ" เปเล่ ที่ช่วยให้บราซิลเถลิงแชมป์โลกครั้งแรก

รอยเท้าของมาราโดน่าที่หลบผู้เล่นของอังกฤษ 6 คน เข้าไปทำประตูจนได้รับขนานนามว่า "ประตูแห่งศตวรรษ".พอๆ กับรอยมือของ "หัตถ์พระเจ้า" ที่เกิดขึ้นในเกมเดียวกัน

ความสำเร็จของโททัลฟุตบอล และสามทหารเสือดัตซ์ "กุลลิท - แวน บาสเท่น - ไรด์การ์ท" หลังหมดยุคนักเตะเทวดา โยฮัน ครัฟฟ์ แต่ก็ยังอกหักกับบอลโลก

ลูกยิงนกของเทพบุตรเปียทอง โรแบร์โต้ บาจโจ้ ที่ส่งบราซิลเป็นแชมป์ที่สหรัฐอเมริกา

ความมหัศจรรย์ของซินเนอดีน ซีดาน นำทัพขุนพล "เลส เบลอส์" คว้าชัยในฟรองซ์ '98 ก่อนจะช็อกโลกด้วยการตกรอบแรกในฟุตบอลโลกครั้งต่อมา ก่อนที่ "ซิซู" จะมาใช้หัวโขกมาเตรัซซี่โดนใบแดงไล่ออกในรอบชิงชนะเลิศเมื่อปี 2006

กระทั่ง ภาพที่ หลุยส์ ซัวเรซ กระโดดตบบอลออกจากเส้นประตู หรือ ฟาน บอมเมล กระโดดถีบยอดอก ชาบี อลองโซ่ ในรอบชิงชนะเลิศเมื่อปี 2010 ก็ถูกถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของรอยยิ้ม และน้ำตาที่เกิดขึ้นผ่านบอลลูกกลมๆ "ในสนาม" ที่เหล่าคอบอลยังติดตา แต่ก็ยังมีเหตุการณ์ข้างสนาม หรือเหตุการณ์คาบเกี่ยวกับการแข่งขันอยู่ในฟุตบอลโลกด้วย เรื่องราวที่คัดสรรมาเล่าในครั้งนี้ จึงเป็นการมอง "ด้านมืด" ของฟุตบอลโลก ผ่าน 8 เหตุการณ์สำคัญในฟุตบอลโลก นับแต่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 เรื่อยมา ซึ่งบางเรื่องก็ไม่น่าเกิดขึ้นเลย บางเรื่องหลายชาติก็อยากจะลืมๆ มันไปเสีย

"คว่ำบาตร" ทีมแพ้สงคราม

ฟุตบอลโลก 1950 เป็นการเปิดศึกฟุตบอลโลกอีกครั้ง หลังจากที่ต้องหยุดพักยาวถึง 12 ปี เพราะภัยพิบัติจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสงครามส่งผลให้ทั้งทีมชาติเยอรมัน และญี่ปุ่น ในฐานะประเทศกลุ่มอักษะ "โดนแบน" ไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่รอบคัดเลือก

ขณะที่อิตาลียังสามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ในฐานะแชมป์เก่า และไม่จำเป็นต้องลงทำการแข่งขันในรอบคัดเลือก แต่กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพโซเวียต เช็คโกสโลวาเกีย ฮังการี และโปแลนด์ กลับปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการแข่งขันเสียเองตั้งแต่ในรอบคัดเลือก ซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้ อิตาลีสิ้นสุดเส้นทางป้องกันตำแหน่งแชมป์แค่เพียงรอบแรกเท่านั้นหลังถูกสวีเดนถลุงไป 2-0

จากแผ่นดินไหวใหญ่ถึงสมรภูมิซานติอาโก้

ก่อนการแข่งขันจะเริ่ม 2 ปี ชิลีเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 1962 ต้องพบกับอุปสรรคใหญ่ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน และสนามที่จะใช้จัดการแข่งขันหลายสนามได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนเกือบถูกฟีฟ่ายกเลิกสิทธิการเป็นเจ้าภาพ อย่างไรก็ตาม สนามต่างๆ ก็ได้ถูกซ่อมแซมเรียบร้อยทันเวลา และนัดที่ถูกกล่าวถึงในแง่ลบมากที่สุดตลอดกาลก็อยู่ในฟุตบอลโลกหนนี้เอง

นัดนั้นเป็นเกมระหว่าง ชิลี กับ อิตาลี ในรอบแบ่งกลุ่ม ภายหลังถูกขนานนามว่าเป็น "Battle of Santiago" ที่ทั้งน่าเกลียด ดุร้าย และน่าอดสู โดยผู้เล่นทั้งสองฝ่ายต่างตั้งหน้าตั้งตา "เล่นคน" มากกว่าจะมุ่งมั่นกับเกม จนนักเตะอิตาลีถูกไล่ออกไป 2 คน และแม้ว่าจะเป็นฝ่ายเจ้าบ้านที่เอาชนะไปได้ 2-0 ก็ตาม แต่หลังจบเกมก็ต้องอาศัยกำลังตำรวจมาอารักขานักเตะอิตาลีออกจากสนาม

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะบทความจากสื่อมวลชนอิตาลีที่จุดประกายความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศขึ้นมาก่อนหน้านี้ ทำให้เกมนี้เต็มไปด้วยความตึงเครียดตั้งแต่ผู้ตัดสินเป่านกหวีดเริ่มเกมเลยทีเดียว

ราชันฟ้าขาวในเงารัฐบาลทหาร

ก่อนหน้าที่อาร์เจนติน่าจะรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 1978 ขุนพลฟ้าขาวเคยทำได้ดีที่สุดเพียงตำแหน่งรองแชมป์ ทว่าในปี 1976 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองขึ้น เมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดีหญิง อิซาเบลล่า เปรอง ถูกรัฐประหารโดย นายพลฮอร์เก้ วิเดลา

เมื่อทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองไว้เบ็ดเสร็จ ท่ามกลางการข่มขู่ คุกคาม และกวาดล้างประชาชนฝ่ายปฏิปักษ์ เสียงประท้วงจากนานาชาติก็เริ่มดังขึ้น การจัดการแข่งขันจึงมิอาจดำเนินไปด้วยราบรื่นนัก เห็นได้จากการที่ประธานจัดการแข่งขันคนแรกถูกลอบสังหาร และโยฮันส์ ครัฟฟ์ นักเตะทีมชาติฮอลแลนด์ประกาศถอนตัว อีกทั้งยังคงมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่โดยตลอด

แต่ถึงกระนั้น อาร์เจนตินาก็สามารถเอาชนะฮอลแลนด์ในรอบชิงชนะเลิศช่วงต่อเวลาพิเศษ 3-1 คว้าแชมป์โลกครั้งแรกได้สำเร็จ ซึ่งก็เท่ากับไปช่วยค้ำจุนระบอบทหารเอาไว้ได้อีกระยะหนึ่ง


เยอรมัน "ฮั้ว" ออสเตรีย แอลจีเรียเลยปิ๋ว

ฟุตบอลโลกปี 1982 กลายเป็น "นัดอัปยศ" ที่สุดนัดหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกที่ผ่านมาในเกมนัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม ระหว่างเยอรมันตะวันตกกับออสเตรีย แม้จะไม่มีหลักฐานเด่นชัดว่าทั้ง 2 ทีมตกลงผลการแข่งขันไว้ล่วงหน้า แต่พฤติกรรมในสนามบ่งบอกเช่นนั้น

ความปราชัยต่อแอลจีเรีย 1-2 ในเกมแรก ทำให้เยอรมันตะวันตกตกที่นั่งลำบาก เพราะจะต้องเอาชนะออสเตรียในนัดสุดท้ายให้ได้เท่านั้น ขณะที่ออสเตรียต้องประคองตัวไม่ให้แพ้ถึง 4 ประตู จึงจะกอดคอกันเข้ารอบ และผลก็เป็นอย่างนั้น เยอรมันตะวันตกชนะออสเตรียได้ 1-0 ส่งผลให้แอลจีเรียตกรอบ

โดยที่หลังจากทำประตูได้ตั้งแต่ต้นเกม ทั้ง 2 ทีมก็แทบจะเดินเล่น ส่งบอลไปมาอยู่กลางสนาม โดยไม่คิดจะทำประตูกันเลย ท่ามกลางเสียงโห่ของผู้ชมตลอดการแข่งขัน ถึงขนาดแฟนบอลแอลจีเรียบางกลุ่มนำธงชาติของทั้งสองทีมมาเผาประณาม จากการแข่งขันนัดนี้ ทำให้ฟีฟ่าต้องออกมาตรการใหม่ กำหนดให้การแข่งขันนัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่มต่อจากนี้ไป ทุกคู่จะต้องลงเตะในวันและเวลาเดียวกัน

ตกรอบ = จบชีวิต

ในสายตาของเปเล่ ทีมชาติโคลัมเบียชุดลุบฟุตบอลโลกปี 1994 นี้คือ ทีมเต็งแชมป์ทีมหนึ่ง หากแต่ผลงานจริงกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะแมตซ์ที่ 2 โคลัมเบียพ่ายเจ้าภาพสหรัฐอเมริกาไป 2-1 จากการสกัดเข้าประตูตัวเองของ อันเดรียส เอสโคบาร์ ทำให้โคลัมเบียตกรอบแรกไปอย่างรวดเร็ว

หลังจากนั้นเพียง 10 วัน (ขณะฟุตบอลโลกยังแข่งไม่จบ) เขาก็ถูกกระหน่ำยิงจนเสียชีวิตที่บ้านเกิด โดยมือปืนได้ตะโกนคำว่า Gol (Goal-ในภาษาอังกฤษ) พร้อมไปด้วยขณะยิงแต่ละนัด เบื้องต้นสันนิษฐานกันว่าความตายของกองหลังทีมชาติโคมลัมเบียรายนี้ น่าจะเกิดจากความไม่พอใจของมาเฟียยาเสพติดที่ต้องเสียพนันก้อนใหญ่อันเนื่องมาจากความผิดพลาดในสนามของเขา

แต่เมื่อจับกุมมือปืนได้ มือปืนกลับสารภาพว่า ตัดสินใจยิงเอสโคบาร์ตามลำพังด้วยความโกรธแค้นชั่ววูบที่เขายิงเข้าประตูตัวเอง ไม่ได้มีผู้บงการสั่งฆ่าแต่อย่างใด

ทีมแพ้ คนไม่แพ้

เกมอันอื้อฉาวในทัวร์นาเมนต์ที่มีเจ้าภาพร่วมครั้งแรก และครั้งแรกที่ฟุตบอลโลกเกิดขึ้นบนทวีปเอเชียในปี 2002 คือ เกมรอบสองระหว่างอิตาลีกับเกาหลีใต้ ซึ่งตลอดทั้งเกม กรรมการเป่าเข้าข้างเจ้าภาพร่วมชนิดค่อนข้างน่าเกลียด โดยเฉพาะการช่วยให้เจ้าภาพร่วมรอดพ้นการเสียจุดโทษในช่วงต่อเวลาพิเศษ กระทั่งเกาหลีใต้มาได้ Golden Goal จาก อาห์น จุง ฮวาน ทำให้ขุนพลโสมแดงเอาชนะอิตาลีไปได้อย่างเหลือเชื่อด้วยสกอร์ 2-1 ผ่านเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศในที่สุด

แต่หลังเกม ปฏิกริยาจากฝั่งอิตาลีเป็นไปอย่างดุเดือด โดยเฉพาะประธานสโมสรเปรูจาต้นสังกัดของอาห์น จุง ฮวาน ผู้ยอมรับตัวเองว่ามีอุดมการณ์ชาตินิยมอย่างเข้มข้น ถึงกับประกาศไล่เขาพ้นจากความเป็นผู้เล่นของสโมสร โทษฐานที่เป็นผู้ยิงประตูชัยเหนือทีมชาติของตนนั่นเอง

กองเชียร์กางเกงใน

เกมการแข่งขันระหว่างฮอลแลนด์กับไอเวอรี่โคสต์ในฟุตบอลโลกปี 2006 ซึ่งอัศวินสีส้มเอาชนะไปได้ 2-1 นั้น กองเชียร์ฮอลแลนด์กว่า 1,000 คน ไม่สามารถจะสวมกางเกงเข้าชมเกมได้ หรือพูดง่ายๆ คือ ต้องชมเกมทั้งๆ ที่สวมใส่แค่กางเกงใน เพราะกางเกงกองเชียร์ที่พากันใส่เข้าไปในสนามมีตราสัญลักษณ์เบียร์ท้องถิ่นติดอยู่ ซึ่งเบียร์ท้องถิ่นดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของการแข่งขัน

ภายใต้ระบบลิขสิทธิ์ที่ทวีความเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ เป็นผลให้ฟีฟ่าตัดสินใจแบนการสวมใส่กางเกงที่มีตราสัญลักษณ์เบียร์ท้องถิ่นติดอยู่ เนื่องจากถือเป็นคู่แข่งทางธุรกิจของ Budweiser ผลิตภัณฑ์เบียร์ที่ทุ่มเงินมหาศาลเพื่อให้ได้เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของฟุตบอลโลกคราวนี้ ฟีฟ่าให้ความเห็นว่านี่เป็นการตลาดแบบซุ่มโจมตี ขณะที่แฟนบอลก็มองว่าฟีฟ่ากำลังพรากเสรีภาพในการที่จะเลือกสวมใส่เสื้อผ้าแบบใดก็ได้เข้าสนามไป

ท้องถิ่นเกือบสิ้นลาย

ก่อนฟุตบอลโลกครั้งแรกบนดินแดนแอฟริกาจะมาถึงในปี 2010 หลายเสียงต่างพากันวิจารณ์ถึง "วูวูเซลา" แตรเป่าเชียร์กีฬาที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวแอฟริกาใต้ โดยเสนอให้แบน ห้ามมิให้นำมาใช้เชียร์ในสนามอย่างเด็ดขาด ด้วยหลายๆ เหตุผลที่แตกต่างออกไป เช่น เสียงแบบประหลาดๆ และดังมากๆ ของมันถือเป็นการรบกวนผู้ชมด้วยกันเอง กระทั่งนักฟุตบอลที่กำลังลงแข่งขัน ฯลฯ ทว่าที่สุด ฟีฟ่าก็ไม่ได้แบนวูวูเซลา โดยปกป้องว่านี่คือวัฒนธรรมพื้นเมือง เป็นสิ่งที่สมควรจะได้รับการยอมรับด้วย

0 0 0 0 0

สิ่งที่เรายังบอกไม่ได้คือ "หลัง" จากฟุตบอลโลกครั้งนี้ผ่านพ้นไป จะมีเหตุการณ์แง่ลบด้านใดบ้างให้แฟนบอลหยิบมาพูดถึงวิพากษ์วิจารณ์กัน เหมือนอย่างเรื่องราวข้างต้นหรือไม่ ทว่าที่บอกได้แน่ๆ ขณะนี้ ก็คือ "ก่อน" ที่มหกรรมฟุตบอลโลกครั้งนี้จะเริ่มต้นขึ้นหลายปี ในประเทศบราซิลกลับเต็มไปด้วยการเดินขบวนประท้วงของประชาชนต่อการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งนี้ ซึ่งปรากฎการณ์ระดับนี้ไม่น่าจะเคยเกิดขึ้นกับฟุตบอลโลกครั้งใดมาก่อน ไม่ว่าจะจัดขึ้นที่ใดก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังมีสถานการณ์ยุ่งเหยิง-วุ่นวายเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะๆ ในหลายเมืองที่ถูกใช้เป็นสนามแข่งขัน ขณะที่บางเมืองก็ยังคงเต็มไปด้วยปัญหาอาชญากรรม อันเนื่องมาจากธุรกิจใต้ดิน อย่าง ขบวนการค้ายาเสพติด และมีสถิติคดีฆาตกรรมที่พุ่งสูงจนน่าตกใจ

ผลการสำรวจล่าสุดในปี 2014 โดยสำนักวิจัยที่ได้รับการยอมรับสูงของอเมริกาอย่าง Pew Research อาจใช้สะท้อนปรากฎการณ์ข้างต้นได้บ้าง นั่นคือ ชาวบราซิลกว่า 6 ใน 10 (หรือ 61 เปอร์เซ็นต์) เห็นว่าการได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะเท่ากับต้องไปลดงบประมาณด้านการศึกษา สาธารณสุข และบริการสาธารณะด้านอื่นๆ ลง ขณะที่มีเพียง 34 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มองต่างออกไป คือ เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดีกับประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจ

.......................................................

กรุงเทพธุรกิจ  12 มิถุนายน 2557
โดย : ณัฐกร วิทิตานนท์