ผู้เขียน หัวข้อ: ใครว่าเด็กเมืองไม่ขาดโอกาส/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน  (อ่าน 1551 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เวลาเราพูดถึงเรื่องการขาดโอกาสของเด็ก ส่วนใหญ่เรามักจะนึกถึงเด็กชนบท เด็กที่อยู่ห่างไกล ซึ่งล้วนแล้วแต่มุ่งเป้าไปกลุ่มเด็กที่ขาดแคลนเรื่องเงินทุนซะมากกว่า ดังนั้น เราจึงมักมองข้ามเด็กเมือง เพราะคิดว่าเด็กเมืองคือเด็กที่ได้รับโอกาสมากกว่าเด็กชนบท
       
       มองแบบผิวเผินก็อาจจะจริง เพราะเด็กเมืองเข้าถึงความสะดวกสบายทางด้านวัตถุ เทคโนโลยี แหล่งทุน หรือนวัตกรรมใหม่ได้ง่ายกว่า แต่นั่นก็คือการมอง “โอกาส” โดยการใช้วัตถุหรือเงินเป็นตัวตั้ง
       
       แต่ถ้าเราเปลี่ยนวิถีการมอง “โอกาส” โดยใช้วิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง เราจะพบว่าเด็กเมืองขาดโอกาสในหลายสิ่งอย่างมากมายเหลือเกิน บางด้านขาดโอกาสมากกว่าเด็กชนบทเสียอีก
       
       เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาดิฉันและทีมงานนิตยสาร Mother&Care ได้ไปบริจาคหนังสือในโครงการทอดผ้าป่าหนังสือดีสำหรับเด็กที่โรงเรียนบ้าน หนองคุย ตั้งอยู่ในตำบลกองดิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งต้องจัดว่าเป็นโรงเรียนในชนบท โดยมีเด็ก ๆ จากโรงเรียนวัดเขาน้อย ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงมาร่วมกิจกรรมด้วย เพราะทีมงานนอกจากไปทำกิจกรรมบุญ ก็ได้ไปทำกิจกรรมวันเด็กกับเด็ก ๆ ทั้งสองโรงเรียนที่นั่นด้วย
       
       ขณะที่กำลังดำเนินกิจกรรมไป ด้วยความสุขใจ ภาพเบื้องหน้าทำให้ดิฉันฉุกคิดสะกิดใจว่า เด็กเหล่านี้ช่างมีความสุขเหลือเกิน อะไรบ้างหนอทำให้เด็กๆ เหล่านี้เต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มเปื้อนหน้าได้ขนาดนี้
       
       หนึ่ง สัมผัสกับธรรมชาติ ภาพ รอยยิ้มของเด็กๆ ที่วิ่งเล่นกลางทุ่งหญ้าที่แสนกว้างใหญ่ แม้จะแห้งแล้ง แต่ก็มีพื้นที่ให้พวกเขาได้วิ่งเล่นได้อย่างสนุกสนานมีชีวิตชีวา อาคารเรียนก็มีเพียงสองชั้น สองอาคารติดกัน
       
       ขณะที่เด็กเมืองสุดแสนจะหาพื้นที่วิ่งเล่นได้ยากเต็มที หันไปทางไหนก็เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นตึกสูง อาคารเรียน แม้จะมีกองดินทราย แต่ก็มีไว้เพื่อการก่อสร้างภายในโรงเรียนตลอดเวลา อย่าว่าแต่พื้นที่วิ่งเล่นเลย พื้นสนามหญ้า หรือต้นไม้ก็แทบไม่มี จะมีให้เห็นก็เป็นต้นไม้ในกระถางวางไว้ตามระเบียงเป็นจุดๆ เท่านั้น
       
       โรงเรียนไหนให้ความสำคัญหน่อยก็มีสนามหญ้าเพื่อให้เด็กได้เล่นกีฬา แต่นั่นหมายความว่าสนามที่ว่านั่นต้องแบ่งให้นักเรียนระดับร้อยระดับพันคน ไว้ใช้ในวิชาพลศึกษา ซึ่งต้องแบ่งกันใช้ สลับกันเล่น หนึ่งสนามก็จะเล่นกีฬาทุกชนิดในสนามเดียวกัน บางแห่งก็ต้องแบ่งพื้นที่ไว้ให้สำหรับจอดรถอีกต่างหาก

เราต้องยอบรับว่าเด็กเมืองในทุก วันนี้ โตมากับตึก โตมากับซีเมนต์ เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ที่ต้องการพัฒนาโรงเรียน ก็จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างอาคารเรียน หรือตึกสมัยใหม่ เพื่อรองรับสารพัดนวัตกรรม แล้วบอกว่านั่นคือการพัฒนาของโรงเรียนนั้นๆ พอได้งบประมาณก็สร้างตึกหรือซื้อวัตถุมากกว่าที่จะลงทุนในเรื่องพื้นที่ใน การให้เด็กได้มีโอกาสวิ่งเล่นตามวัย ได้สัมผัสกับวิถีธรรมชาติ
       
       สอง อากาศ ต้อง ยอมรับว่าอากาศที่หายใจเข้าไประหว่างเด็กเมืองและเด็กชนบทก็แตกต่างกัน ทั้งปริมาณและคุณภาพ เด็กชนบทมีโอกาสได้หายใจรับอากาศออกซิเจนที่บริสุทธิ์ได้มากกว่า ยิ่งชนบทห่างไกลมากแค่ไหน หรือพื้นที่ที่ยังคงความเป็นวิถีชีวิตชนบทแบบธรรมชาติมากเท่าไร ก็ยิ่งหายใจได้เต็มปอดมากเท่านั้น
       
       ต่างจากเด็กเมืองที่ต้องอยู่กับมลพิษทุกวี่วัน ทั้งบนท้องถนน สถานที่สาธารณะ หรือแม้แต่บริเวณแถวบ้าน ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงในเรื่องของสารพิษ ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซต์ หรือแม้กระทั่งสารก่อภูมิแพ้ที่กำลังกลายเป็นปัญหาอย่างมากของเด็กเมืองที่ เป็นโรคภูมิแพ้จำนวนมาก
       
       สาม ทักษะการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง เด็กชนบทสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดีกว่า บางคนพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นด้วย เด็กตัวเล็กตัวน้อยทั้งในวัยอนุบาลและวัยประถมต่างช่วยกันถือน้ำเดินเสริฟ์ ผู้ใหญ่ที่มาร่วมงาน หรือมีหน้าที่ได้รับมอบหมายก็สามารถทำได้ โดยมีผู้ใหญ่ยืนมองอย่างใกล้ชิด
       
       ต่างจากเด็กเมืองที่พ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่มักจะทำให้เด็กมากกว่า ไม่ปล่อยให้เด็กทำเอง จนกลายเป็นนิสัยติดตัวไปจนโต
       
       สี่ วิถีความเป็นชุมชน ภาพเบื้องหน้าในวันงานสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในระดับชุมชนมีความน่ารัก และยังมีความเข้มแข็งอยู่มาก แต่ละบ้านรู้จักกันและช่วยเหลือกัน
       
       ในขณะที่เด็กเมืองจะเป็นประเภทต่างคนต่างอยู่ แม้จะอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกันขนาดไหน หรืออยู่หมู่บ้านเดียวกัน บางครั้งอาจไม่เคยคุยกันด้วยซ้ำไป เด็กเมืองจึงขาดโอกาสในการเรียนรู้ในการแบ่งปันน้ำใจให้กับผู้อื่น หรือการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
       
       นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ที่ชี้ให้เห็นถึง “โอกาส” ว่าไม่ใช่เพียงแค่เด็กชนบทที่ขาดโอกาสเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วเด็กเมืองก็ขาดโอกาสมากมาย
       
       อยู่ที่มุมมองของคนเราด้วยว่า…ใช้สายตาประเภทไหนในการวัด

ASTVผู้จัดการออนไลน์    18 มกราคม 2554