ผู้เขียน หัวข้อ: แดนโหดแอนตาร์กติกา-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1172 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
กระแสลมกระโชกที่พัดกระหน่ำในควีนมอดแลนด์ ทำให้ทีมนักปีนเขาใจเด็ดเผชิญกับความท้าทายยิ่งใหญ่กว่าที่คาดคิดไว้

                เสียงอื้ออึงด้านนอกเต็นท์ฟังเหมือนเสียงแผ่นดินไหวมากกว่าเสียงลม  ผมห่อตัวตามสัญชาตญาณ ซุกแน่นอยู่ใน ถุงนอน ผมเคยเผชิญสายลมหฤโหดมาก่อน ทั้งเสียงคำรามของกระแสลมกรดยามค่ำคืนในเทือกเขาหิมาลัย และเสียงกราดเกรี้ยวน่าพรั่นพรึงของพายุในภูมิภาคปาตาโกเนีย  แต่คราวนี้หนักหนาสาหัสกว่า พื้นดินสะเทือนเมื่อกระแสลมอีกระลอกเคลื่อนผ่านเต็นท์ที่ผมผูกไว้ระหว่างหินก้อนใหญ่สองก้อนในดินแดนรกร้างห่างไกลลึกเข้าไปในเทือกเขาโวลทาทของแอนตาร์กติกา ส่วนเพื่อนร่วมทีมอีกสามคนของผมนอนคุดคู้อยู่ใกล้กัน ณ ที่แห่งนี้ เมื่อภูมิศาสตร์จับมือกับแรงโน้มถ่วง ก่อให้เกิดลมพัดลงลาดเขาอันทรงพลัง ซึ่งเป็นกระแสอากาศเย็นหนาแน่นที่พัดผ่านช่องเขา ในลักษณะเดียวกับหิมะถล่มที่ถาโถมลงสู่ท้องทะเล

                กระแสลมระลอกใหม่พัดกระโชก เสาเต็นท์เอนลู่เข้ามาด้านใน ผ้าใบเต็นท์พังยวบลงมาทับถุงนอนผม ชั่วขณะหนึ่ง ผมได้ยินเสียงตะเข็บปริขาดดังต่อเนื่องราวกับเสียงปืนกล ทันใดนั้น ผมก็กลิ้งหลุนๆ กระดอนขึ้นกลางอากาศพลิกหกคะเมนตีลังกา ลมหอบทั้งเต็นท์และผมไปกระแทกกับกำแพงหินที่ผมก่อขึ้นหยาบๆ ก่อนจะกลิ้งข้ามกำแพงหินนั้นไป หนังสือ อุปกรณ์ถ่ายภาพ และถุงเท้าสกปรกๆกระจัดกระจายไปทั่ว

                ลำคอและไหล่ของผมระบมไปหมด ผมคลานไปยังรอยขาดรอยหนึ่งของเต็นท์ คว้าผ้าใบแล้วฉีกให้รอยขาดกว้างขึ้น ฝุ่นทรายและเศษหิมะซัดเข้าตาตอนที่ผมยื่นศีรษะออกไปร้องตะโกนแข่งกับเสียงอื้ออึง

                “ช่วยด้วย!”

การบุกแอนตาร์กติกาของเราครั้งนี้เป็นความคิดของไมก์ ลีเบกกี นักโต้คลื่นและนักผจญภัยท้ามฤตยูวัย 40 ปี ผู้พิชิตยอดเขานับสิบๆแห่งทั่วโลกเป็นครั้งแรก เขาพูดถึงดินแดนที่รู้จักกันในนามควีนมอดแลนด์ว่า “ผมเคยไปมาแล้วครับ พอจะคุ้นเคยพื้นที่อยู่ คงฟันฝ่าไปได้ไม่ยาก”

                ลีเบกกียังรับช่างภาพนักปีนเขามากประสบการณ์ไปกับเราอีกสองคน คือ คีท แลดซินสกี และคอรี ริชาร์ดส์ เราวางแผนไว้ว่าจะหาบริเวณที่มียอดเขาซึ่งยังไม่มีใครปีนกระจุกอยู่หนาแน่นที่สุดในภูมิภาคนี้ แล้วพิชิตยอดเขาเป็นครั้งแรกให้ได้มากสุดเท่าที่ความกล้าบ้าบิ่นจะอำนวย

                เรารออยู่ห้าวันระหว่างที่พายุโหมกระหน่ำที่ตั้งแคมป์ กระทั่งวันที่หก เราจึงขนสัมภาระขึ้นเครื่องบินดีซี-3 เมื่อเครื่องบินอยู่กลางอากาศ เราทั้งสี่ออกันอยู่ข้างหน้าเพื่อมองผ่านหน้าต่างห้องนักบิน หมู่หินดำทะมึนทอดยาวไปสุดขอบฟ้า เมื่อเราบินเข้าไปใกล้ขึ้น สิ่งที่ตอนแรกดูเหมือนกำแพงหินขนาดใหญ่กลับกลายเป็นแนวเทือกเขาต่อเนื่องกัน               หน้าผาสูงชันและหมวดหินยอดแหลมปรากฏให้เห็น แท่งหินแลดูคุ้นตา เพราะเป็นยอดเดียวกับที่ลีเบกกีถ่ายภาพไว้เมื่อหลายปีก่อน เราพบเป้าหมายแล้ว

หนึ่งชั่วโมงต่อมา เรายืนเหนือธารน้ำแข็งขณะที่เครื่องบินทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าอีกครั้ง ในอีกห้าสัปดาห์ถัดจากนี้สิ่งเดียวที่เชื่อมโยงพวกเรากับอารยธรรมภายนอกคือโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม เราหยิบพลั่วและเลื่อยมาสร้างแคมป์จากหิมะที่จับตัวเป็นก้อน กระทั่งบ่ายแก่ๆ เราก็ก่อกำแพงวงกลมความสูง 1.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 10 เมตรเสร็จ จากนั้นเราก็เตรียมตัวเข้านอน

                ที่นี่มียอดเขาน่าปีนอยู่มากมาย เช่น หมู่พีระมิดหินที่เราเรียกกันเล่นๆว่า ป้อมปราการ หน้าผาหินสูงกว่า 900 เมตรที่ผงาดอยู่เหนือผืนน้ำแข็งซึ่งเราเรียกว่า หัวเรือ และผนังหินทรงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ที่เราเรียกว่า ใบเรือ แต่ก่อนจะเสร็จสิ้นการเดินทางสองสัปดาห์ เราเห็นตรงกันว่า เป้าหมายแรกที่ต้องพิชิตให้ได้คือยอดเรียวแหลมที่อยู่ด้านหลังแคมป์พอดิบพอดี

                ยอดเขาหินที่ผ่านการกัดเซาะของสายลมจนดูเหมือนฟันซี่ใหญ่นี้ไร้หิมะปกคลุม ผาหินเหนือแคมป์ของเราซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เต็มไปด้วยวงรูปก้นหอยสีแดงและรูพรุนไม่รู้ที่มา ผาทางด้านซ้ายหันไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านรับลม ลักษณะเป็นสีเทาเหมือนหินอ่อนและมนเรียบ ผาทั้งสองด้านบรรจบกันเป็นแท่งหินยอดแหลม ยื่นตรงไปทางทิศเหนือ เราได้แต่คาดเดาว่าแท่งหินนี้มีความสูงจากฐานถึงยอดเท่าไร บางทีอาจสูงไม่ต่ำกว่า 600 เมตร

                ขณะยืนอยู่ใต้เงื้อมเงาแท่งหินนี้ ผมรู้สึกตื่นเต้นจนเลือดสูบฉีดไปทั่วร่าง เรามาเพื่อสิ่งนี้ มาเพื่อโอกาสที่จะได้พิชิตยอดเขาในดินแดนสุดขอบโลกแห่งนี้เป็นครั้งแรก กระนั้น เราได้เห็นฤทธิ์เดชของลมพัดลงลาดเขาบนพื้นราบมาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าลมนี้พัดมาอีกระหว่างที่เรากำลังปีนป่ายอยู่บนผาหิน แน่ละว่าลีเบกกีอยากเริ่มปีนทันที

                กลยุทธ์ของเราคือให้ริชาร์ดส์ ลีเบกกี และผมขึงเชือกไว้กับจุดพักแรมบนชะง่อนหิน ณ ความสูงราวสองในสามของทางขึ้น ขณะที่แลดซินสกีถ่ายภาพเราจากด้านล่าง แต่กระแสลมเป็นอุปสรรคทุกย่างก้าว ทำให้ต้องใช้เวลาถึงสองสัปดาห์กว่าจะปีนขึ้นไปถึงชะง่อนหิน

                สามวันต่อมา เราคืบหน้าไปด้วยอัตราเร็วคงที่ โดยเดินหน้าขึงเชือกกับหน้าผาแล้วกลับมานอนที่ชะง่อนหินทุกคืน แต่เรารู้ดีว่าที่โล่งแจ้งเช่นนี้มีความเสี่ยงเพียงใดหากกระแสลมอันเกรี้ยวกราดหวนกลับมา ตลอดทศวรรษของการปีนเขาผมไม่เคยเสียเต็นท์ให้พายุมาก่อน แต่การเดินทางครั้งนี้ เราเสียเต็นท์ไปแล้วสามหลัง สองหลังแรกถูกหิมะกลบฝัง ส่วนหลังที่สามพลิกคว่ำโดยมีผมติดอยู่ข้างใน ลีเบกกีช่วยดึงผมออกมาจากเต็นท์ที่พังยับเยินหลังจากได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือ ตอนนั้นเขาถึงกับดึงพลางหัวเราะไปพลาง

                เช้าวันรุ่งขึ้น ถึงคราวผมต้องเป็นผู้นำในการปีน เมื่อผมปีนเชือกขึ้นไปยังจุดที่เราหยุดค้างไว้ ตำแหน่งของชะง่อนหินตรงนั้นทำให้ผมห้อยต่องแต่งอยู่เหนือพื้นดินราว 500 เมตร ลีเบกกีใช้เชือกรัดผมเข้ากับอุปกรณ์ เผื่อผมพลัดตกลงไปเขาจะได้ดึงเชือกไว้ ผมลองขยับไปตามหน้าผาหินที่ตั้งชันเพื่อหาแง่หินที่นิ้วมือซึ่งสวมถุงมือจะจับได้ถนัด ถ้าอยากขึ้นไปถึงยอดเขา ผมต้องข้ามส่วนที่โล่งที่สุดของแท่งหินนี้ไปให้ได้เสียก่อน

                “คอยดูผมไว้ด้วยนะ ตรงนี้เริ่มดูแปลกๆพิกล” ผมตะโกนลงไปบอกลีเบกกีขณะเอื้อมไปยังรอยแยกที่ดูจะปีนง่ายกว่า ทันใดนั้น กระแสลมกดเกิดพัดผ่านมา กระชากเชือกที่เชื่อมเราไว้ เราจึงได้เรียนรู้ว่า กระแสลมพัดลงลาดเขาฉับพลันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ในวันที่อากาศแจ่มใสที่สุด ผมข่มความสงสัยไว้ ปล่อยให้รอยแยกในหน้าผานำทางผมผ่านแง่หินและข้ามผาหินที่ดูไม่น่าจะข้ามได้ ปีนสูงขึ้นไปสู่ท้องฟ้าเบื้องบน

                ด้านบนสุดของยอดเขาเรียวบางซึ่งต่อมาเราเรียกว่า หอคอยเบอร์ทา นี้เป็นหินทรงดอกเห็ดขนาดพอๆกับโต๊ะกลางชุดรับแขก พอขึ้นไปยืนบนส่วนยอดก็เห็นเต็นท์ของผมเป็นจุดสีเหลืองเล็กๆอยู่ไกลลิบ ท้องฟ้าเบื้องบนมีเมฆปกคลุมลมสงบอย่างไม่คาดฝัน ทุกอย่างในแดนธรรมชาติอันห่างไกลนี้ ไม่ว่าจะเป็นธารน้ำแข็ง หมู่เสาหิน หรือระยะห่างระหว่างธรณีสัณฐานต่างๆ ล้วนพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เราคาดคิดไว้มาก กระนั้น เราทั้งสี่ก็เผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้โดยลำพัง

เรื่องโดย เฟรดดี วิลคินสัน
กันยายน