ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ติวเข้มแพทย์-พยาบาล แม่นยำรักษาโรคมือเท้าปาก  (อ่าน 1015 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
สธ.จัดอบรมเสริมทักษะกุมารแพทย์ แพทย์ทั่วไป พยาบาลผู้ป่วยนอก พยาบาลควบคุมโรคติดเชื้อ และพยาบาลไอซียูทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เรื่องแนวทางการตรวจวินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยโรคมือเท้าปากแบบครบวงจร...

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการอบรมแพทย์ กุมารแพทย์ พยาบาลผู้ป่วยนอก พยาบาลควบคุมโรคติดเชื้อ พยาบาลประจำหอผู้ป่วยไอซียูเด็กของโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 550 คน เรื่องแนวทางการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมือเท้าปากแบบครบวงจร เพื่อฟื้นฟูทักษะในการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาโรคดังกล่าว ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รักษาชีวิตของผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด

นายวิทยา กล่าวว่า โรคมือเท้าปากที่กำลังเป็นปัญหาในขณะนี้ ถือว่าเป็นสาธารณภัยด้านการแพทย์ และสาธารณสุขอย่างหนึ่ง ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่มกราคมถึง 22 กรกฎาคม 2555 พบผู้ป่วยสะสม 16,860 ราย เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กช่วงอายุต่ำกว่า 5 ปี เชื้อไวรัสที่พบมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งแสดงอาการตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ ขณะนี้ได้ตั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคนี้พร้อมให้คำปรึกษาแพทย์รัฐและเอกชนทั่วประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง

นายวิทยา กล่าวต่อว่า โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มีการรักษาที่จำเพาะ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงสาธารณสุข เน้นการป้องกันไม่ให้ป่วยและให้การรักษาอย่างดีที่สุด เนื่องจากโรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ เป็นโรคที่วงการแพทย์ไทยรู้จักดี แต่ละปีพบผู้ป่วยหลักหมื่นแต่เสียชีวิตน้อยมาก มั่นใจว่าหากแพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องและให้การรักษาตามมาตรฐาน จะลดการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ จึงได้มอบให้กรมการแพทย์จัดอบรมเสริมทักษะให้แพทย์ กุมารแพทย์ พยาบาล เป็นกรณีพิเศษ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในระบบของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

ด้านแพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก สามารถหายเองได้ภายใน 5-7 วัน มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 1-2 ที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ภาวะขาดน้ำ จากการที่กินอาหารและน้ำไม่ได้ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น การรักษาที่สำคัญคือการรักษาตามอาการ ได้แก่ ให้ยาลดไข้กระตุ้น ให้ผู้ป่วยทานอาหาร แต่ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถทานอาหารได้หรือทานได้น้อย ให้อาหารเหลวหรืออาหารที่มีอุณหภูมิต่ำ เช่น ไอศกรีม น้ำผลไม้ หรือให้น้ำใบบัวบกช่วยลดการอักเสบ เป็นต้น

ทั้งนี้ ขอย้ำเตือนประชาชน อย่าซื้อยาให้เด็กที่ป่วยกินเอง โดยเฉพาะยาผสมสเตียรอยด์ ช่วงแรกจะรู้สึกว่าอาการดีขึ้น แต่ภายหลังมีผลเสียมากเพราะยาจะกดภูมิคุ้มกันโรคในร่างกาย เชื้อโรคจะทำลายอวัยวะได้มากขึ้น ทำให้อาการทรุดหนักจนอาจเสียชีวิตได้ กลุ่มเด็กที่มีโอกาสเสี่ยงพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เช่น มีโรคประจำตัว หอบหืด โรคเลือดจาง โรคหัวใจ เด็กน้ำหนักตัวน้อย เด็กคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น หากป่วยรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมให้ประวัติการเจ็บป่วยกับแพทย์ผู้รักษา เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนรุนแรงจนอาจเสียชีวิต ดังนั้น ขอให้ผู้ปกครองสังเกตอาการผิดปกติเด็กอย่างใกล้ชิด หากสงสัยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก หรือมีไข้สูงมากกว่า  2 วัน ร่วมกับอาเจียน หรือหอบเหนื่อย ซึมหรือชัก กล้ามเนื้อกระตุก หรืออาการแย่ลง ควรรีบไปพบแพทย์แม้จะไม่มีผื่นขึ้นก็ตาม.

โดย: ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์