ผู้เขียน หัวข้อ: จดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน  (อ่าน 1820 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด

สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย
30 กันยายน 2553
เรื่อง ขอให้คว่ำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการด้านสาธารณสุขพ.ศ. .... ฉบับรัฐบาล
เรียน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน
     เนื่องจากขณะนี้ มีร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....  6ร่าง (ไม่นับรวมร่างของท่านสส.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะและพวก ที่ได้ถอนร่างพ.ร.บ.นี้ออกจากระเบียบวาระแล้ว)ถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมนี้
      พวกเราที่เป็นบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่ดูแลรักษาสุขภาพและชีวิตของประชาชนไทยทั้งประเทศ ที่ได้อ่านพ.ร.บ.นี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับของรัฐบาล ที่เสนอเข้าสู่สภาโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี )อย่างละเอียดและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ทุกมาตราแล้ว มีความเห็นตรงกันว่า พ.ร.บ.นี้มีการกล่าวนี้ เขียนวัตถุประสงค์อย่างสวยงามและน่าเชื่อถือว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและระบบบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข
    แต่ถ้าไปอ่านรายละเอียดในเนื้อหาครบทุกมาตราแล้ว จะเห็นได้ว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับของรัฐบาลนี้ก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างมากมายมหาศาล ต่อประชาชนและระบบบริการสาธารณสุขอย่างแน่นอน พวกเราซึ่งต่างคนต่างก็แสดงความไม่เห็นด้วย และต้องการให้รัฐบาลถอนร่างพ.ร.บ.นี้ ออกมาทำประชาพิจารณ์ก่อน เพื่อรับฟังความคิดเห็นทั้งฝ่ายประชาชนทั่วไป (ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะที่เป็นผู้เสนอร่างกฎหมาย 10,000 รายชื่อ ฉบับของน.ส.สารี อ๋องสมหวังและคณะ) และความเห็นจากบริกรสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อให้พ.ร.บ.นี้ก่อให้เกิดผลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และไม่ทำลายระบบบริการสาธารณสุขให้มากไปกว่านี้
        แต่รัฐมนตรีสาธารณสุขและนายกรัฐมนตรีก็มิได้นำพา กับการเรียกร้องของพวกเรา กลุ่มบริกรสาธารณสุข แต่เปิดหูฟังเฉพาะพวก NGO สาธารณสุขที่เสนอร่างพ.ร.บ.นี้ฝ่ายเดียว  ที่ต้องการผลักดันให้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว เพื่อให้สภาฯรับหลักการร่างพ.ร.บ.นี้ โดยอ้างว่า ให้ไปแก้ไขในวาระที่ 2
        แต่พวกเราคือกลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขหลายส่วน ที่ได้อ่านพ.ร.บ.นี้ และได้มองเห็นผลร้ายที่จะเกิดจากพ.ร.บ.ฉบับร่างของรัฐบาล จึงได้พยายามคัดค้านและเสนอรัฐบาลให้ถอนร่างพ.ร.บ.นี้ มาทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนให้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล พวกเราจึงได้รวมกลุ่มกันจัดตั้ง สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท) ขึ้น ซึ่งเป็นการรวมตัวกันเพื่อต่อสู้เพื่อไม่ให้เกิดการตราพระราชบัญญัติ ที่จะก่อให้เกิดหายนะต่อวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย ทั้งนี้ เราไม่เชื่อว่าการแก้ไขพ.ร.บ.นี้ในวาระที่ 2 จะสามารถแก้ไขพ.ร.บ.นี้ ให้เกิดเป็นผลดีแก่ประชาชนตามที่กลุ่ม NGO และนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวอ้าง เพราะถ้าดูจากพฤติกรรมของรัฐมนตรีคนนี้แล้ว จะเห็นว่าเราไม่สามารถจะแก้ไขพ.ร.บ.นี้ได้ในวาระที่ 2 ตามที่ NGO และนายจุรินทร์ฯกล่าวอ้าง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้คือ
1.   ในการที่ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขและ คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.เหล่านี้จากหลายส่วน ที่ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ กับคณะกรรมการกฤษฎีกา หลายประเด็น หลายวาระ แม้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ท้วงติง และมีมติให้แก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับของกระทรวงสาธารณสุขแล้วหลายเรื่องหลายครั้ง (ตามบันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องที่ 740-741/2552)  แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็มิได้นำพากับมติของคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่ประการใด กลับแก้ไขมติของคณะกรรมการกฤษฎีกากลับคืนไปเหมือนเดิม(คือไม่เชื่อตามมติคณะกรรมการกฤษฎีกา)
2.   แม้แพทยสภาซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ตามบทบัญญัติในพ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมพ.ศ. 2525ม.6อนุ 6) และมีวัตถุประสงค์ตามม.7 (5)คือให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ) จะได้มีความเห็นขอให้แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณามาตรฐานการประกอบวิชาชีพ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบตามที่แพทยสภาเสนอ กระทรวงสาธารณสุขก็ไปแก้กลับตามที่ NGO เสนอ
3.   แม้จะมีการท้วงติงจากแพทยสมาคม กพ. กพร. กระทรวงการคลัง และผู้แทนหน่วยงานที่เป็นอนุกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ร่วมกับกฤษฎีกา ในบันทึกที่ 740-741/2552 ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ว่า สามารถขยายมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ครอบคลุมช่วยเหลือประชาชนทุกคนในประเทศไทยได้ แต่กระทรวงสาธารณสุขก็มิได้นำพา
4.   แม้ทางสผพท.และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ จะได้ร้องขอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับของรัฐบาลออกมาจากระเบียบวาระการประชุมสภาก่อน โดยขอให้ทำประชาพิจารณ์ในระดับชาติ นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้สนใจที่จะรับฟัง และดำเนินการให้เหมาะสม แต่มอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการแทน
5.   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่ดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษของแพทยสภา ได้กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาว่า ถ้ามีคนสามารถไปรวบรวมรายชื่อบุคลากรสาธารณสุขได้ว่า มีคน 80% ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับ
ความเสียหายฯฉบับรัฐบาลแล้ว ก็จะยอมถอนร่างพ.ร.บ.นี้ ออกจากระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
6.   นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังได้ยืนยันมติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2553 ว่า ไม่สามารถขยายความครอบคลุมการช่วยเหลือประชาชนตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ได้ แม้จะมีความเห็นจากนักวิชาการด้านกฎหมายและด้านการแพทย์และสาธารณสุขหลายท่าน รวมทั้งกรรมาธิการสาธารณสุขของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะให้ความเห็นและให้คำแนะนำว่าสามารถทำได้ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ก็มิได้สนใจจะพิจารณาใหม่
7.    สืบเนื่องจากข้อ 5 คณะกรรมการแพทยสภาจึงได้แต่งตั้งกรรมการ 68 คน จาก 9 องค์กรของผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งอสม.และประชาชน ให้แยกย้ายกันไปทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศ และจากประชาชนผู้ที่จะมีผลกระทบจากพ.ร.บ.นี้  เพื่อจะได้นำมติมาเสนอต่อรัฐมนตรี ซึ่งยังไม่ครบถ้วนและยังอยู่ในระหว่างดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ยังไม่ได้สรุปผลทั้งหมดต่อรัฐมนตรีและสาธารณชนท่าวไป
 อนึ่งในการดำเนินการนี้ได้ประมาณหมื่นคนเศษ พบว่า ผู้ร่วมรับฟังข้อคิดเห็นของพ.ร.บ.นี้ฉบับร่างของรัฐบาล มากกว่า 90% ต่างแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับร่างของรัฐบาล และต้องการให้ถอนร่างพ.ร.บ.นี้ออกมาจากระเบียบวาระการประชุมสภา
8.   นายจุรินทร์ฯ กลับไม่รอฟังผลการทำประชาพิจารณ์ของแพทยสภา แต่สั่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯมาพิจารณาพ.ร.บ.นี้ โดยมีวัตถุประสงค์แอบแฝงคือตามใจ NGO เพราะตั้งกรรมการสมานฉันท์ โดยมี NGO และกลุ่มผู้สนับสนุนร่างกฎหมายนี้มากกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการ โดยเลือกที่จะเชิญแพทย์ที่มีแนวโน้มจะยอมทำตามความต้องการของงรัฐมนตรี เช่นโรงเรียนแพทย์รามาฯ และยกเว้น แพทย์ที่แสดงตนคัดค้านพ.ร.บ.นี้ ไม่ให้เป็นกรรมการ ฉะนั้น แพทย์ที่ไม่เห็นด้วยจึงใช้สิทธิในการเดินออกจากห้องประชุม เพราะเห็นว่าจะประชุมไปก็คงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เนื่องจากเป็นเสียงส่วนน้อยจาการมีอคติของนายจุรินทร์ฯ
9.   การที่นายจุรินทร์และพวก NGO และหมอบางส่วน ต้องการผลักดันให้เกิดพ.ร.บ.ฉบับนี้ ส่อว่าต้องการมีผลประโยชน์จากการมีส่วนมาบริหารกองทุนที่จะตบทรัพย์จากโรงพยาบาลทั้งของรัฐบาลและเอกชน โดยได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 50 ของพ.ร.บ.คุ้มครองฯฉบับร่างของรัฐบาลให้ NGO มาเป็นกรรมการ 6 ใน 11 คน กรรมการที่เหลือก็คงตั้งมาจากปลัดกระทรวงและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นเด็กใต้บังคับบัญชาที่รัฐมนตรีสั่งซ้ายหันขวาหันได้ตามใจ จึงเป็นการกำหนดตัวผู้ทำงานร่างระเบียบและกำหนดผู้จะมาเป็นกรรมการถาวรชุดแรกได้เลย เป็นการบ่งชี้ถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ร่างพ.ร.บ.และผู้ผลักดันให้เกิดกฎหมาย ซึ่งก็มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เช่นเป็นผู้ร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ แล้วก็มาเป็นเลขาธิการ ร่างพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ แล้วก็มาเป็นเลขาธิการ ร่างพ.ร.บ.สสส. แล้วก็มาเป็นกรรมการ รวมทั้ง NGO สาธารณสุขแต่ละคน ต่างก็มาเป็นกรรมการองค์กรต่างๆเหล่านั้นไขว้กันไปมาหลายองค์กร และเชื่อได้ว่า พวกกลุ่มคนเหล่านี้ ก็จะมาเป็นกรรมการในคณะกรรมการตามพ.ร.บ.ใหม่นี้ ตามที่กำหนดไว้แล้วในมาตรา50 ในพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้เป็นแน่แท้ เรียกว่า ต้องการได้รับผลประโยชน์จากกองทุนตามพ.ร.บ.ใหม่นี้ มากกว่าที่จะดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนตามที่กล่าวอ้าง
10.   สผพท.จึงได้รวบรวมรายชื่อประชาชนได้มากกว่า 20,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากกบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... และได้เสนอต่อท่านรองประธานรัฐสภาแล้ว เพื่อให้นำร่างพ.ร.บ.ของเราเข้าประกบร่างพ.ร.บ.ของรัฐบาล เพื่อให้พวกเราประชาชนในกลุ่มนี้ มีสิทธิไปเป็นกรรมาธิการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ทั้ง 7 ฉบับนี้ ให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม NGO อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
   แต่ทำไมกลุ่ม NGO จึงไม่ต้องการกฎหมายที่ดี เป็นธรรม และจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป แก่บุคลากรสาธารณสุข และงบประมาณแผ่นดินจากเงินภาษีประชาชน จะเห็นได้ว่ากลุ่ม NGO อ้างประชาชนนี้ พยายามกดดันรัฐมนตรีและรัฐบาลทุกวิถีทาง ที่จะให้รีบเร่งนำพ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอย่างเร่งด่วน ทำไมจะออกกฎหมายทั้งทีจะต้องรีบเร่งกันถึงขนาดไม่ยอมฟังเสียงทักท้วงอะไร จากบริกรสาธารณสุข  รัฐบาลต้องตอบคำถามพวกเรา ว่า ทำไมต้องรีบเร่งขนาดนี้ รัฐบาลไม่ฟังเสียงพวกเรา ซึ่งมีมากกว่า 10,000 รายชื่อ มากกว่ากลุ่ม NGO ที่เสนอกฎหมาย รัฐบาลอยากจะมีผลประโยชน์จากกองทุนนี้เหมือนกลุ่ม NGO หรือไม่?
  พวกเราเห็นว่ารัฐบาลมีอคติ และเข้าข้าง NGO แต่ไม่ฟังเสียงข้าราชการและบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานรักษาสุขภาพและรักษาชีวิตประชาชน  เราจึงต้องร้องเรียนมายังผู้แทนราษฎรทุกท่าน โปรดพิจารณาคำร้องขอของเราว่า

1.   ขอให้ “คว่ำ” ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....  ถ้ารัฐบาลยังดันทุรังเอาเข้าพิจารณาใน
สภาผู้แทนตามการกดดันของ NGOสาธารณสุข และขอให้การพิจารณานี้เป็นการพิจารณาโดยเปิดเผย และถ่ายทอดให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับฟัง เพื่อประชาชนจะได้รับทราบว่า สส.คนไหนบ้างที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ   และรักษาความสามัคคีและสมานฉันท์ของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่รัฐบาลพูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง  พวกเราจะได้พิจารณาเลือกตั้งกลับเข้าสภาฯอีกครั้ง เพื่อจะมาทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนส่วนรวมของประเทศ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มอย่างที่รัฐบาลชุดนี้กำลังดำเนินการอยู่
2.   ขอให้รอพิจารณาร่างพ.ร.บ.ของพวกเราที่ได้เสนอต่อสภาผู้แทนแล้ว
3.   ขอให้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในสภาฯ แทนพวกเราด้วยว่า ระบบการแพทย์และสาธารณสุขในปัจจุบันนี้ของกระทรวงสาธารณสุขนั้นขาดทั้งคนทำงาน ขาดเงินงบประมาณในการตรวจรักษาประชาชน จนโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงินและมีงบดุลติดลบ ขาดเตียง ขาดยา และขาดเวชภัณฑ์ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งการขาดแคลนเหล่านี้เป็นสาเหตุหลัก ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการรักษาผู้ป่วยอย่างที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้ป่วยและบริกรสาธารณสุขมีความเสี่ยงต่อความเสียหาย แต่แทนที่รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะไม่พยายายามแก้ไขความขาดแคลนเหล่านี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ปลอดภัย เพื่อป้องกันความเสียหายให้แก่ประชาชน แต่รัฐมนตรีกลับลอยตัวเหนือปัญหาเหล่านี้ โดยกลับจะออกกฎหมายมาลงโทษแก่บริกรสาธารณสุขฝ่ายเดียว สมควรไว้วางใจให้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่?
ขอแสดงความนับถือ
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสผพท.