หมวดหมู่ทั่วไป > ห้องพักผ่อนรวม (Common Room)

เมื่ออายุขัยของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 70.3 ปี !?

(1/1)

story:
 คนเราเกิดมาไม่มีใครจะมีชีวิตเป็นอมตะนิรันดร์กาล การเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นวัฏจักรที่มนุษย์ไม่สามารถจะหนีพ้นความจริงนี้ได้ ซึ่งกฎเกณฑ์ธรรมชาติเช่นนี้ได้มีมานานหลายภพหลายชาติแล้ว ดังนั้นสุดท้ายมนุษย์เราก็ต้องเลือกโรคภัยไข้เจ็บโรคใดโรคหนึ่งก่อนที่จะเสียชีวิตอยู่ดี
       
        เพียงแต่ว่ามนุษย์จะมีสติเพียงใดที่จะทำให้ชีวิตตัวเองอยู่อย่างมีความสุขมากที่สุดในทุกๆวันที่ได้ในยามที่มีชีวิตอยู่ ทำความดีให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เสียชาติเกิด และไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรต่างหาก
       
        วันก่อนได้คุยกับคุณหมอเขียว หรือนายใจเพชร กล้าจน นักวิชาการสาธารณสุข ระดับชำนาญการ โรงพยาบาลอำนาจเจริญ แพทย์ทางเลือกวิถีพุทธ ถึงวิธีคิดว่าหนทางแพทย์ทางเลือกวิถีธรรมว่า การรักษามีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยมีความสุขในทุกๆวันที่มีชีวิตอยู่ จะมีความสำคัญมากกว่าให้อยู่ได้นานๆแต่มีความทุกข์ ถ้าเราเอาชนะความกลัวการเสียชีวิต เอาชนะความโกรธ เอาชนะความโลภ และเอาชนะความหลง เราก็จะสามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ในทุกๆวันอย่างมีความสุข พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น และคนที่มีความสุขมากที่สุดก็กลับจะกลายเป็นคนที่อยู่ได้นานกว่าคนอื่นที่มีแต่ความทุกข์
       
        ด้วยเหตุผลนี้ชาวสันติอโศกจึงมักจะเปลี่ยนชื่อและนามสกุลใหม่ เพื่อเตือนสติของตัวเองในเรื่องความตายบ้าง ลดละกิเลสบ้าง การไม่ยึดติดบ้าง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการแสวงหาความสุขทางจิตใจมากกว่าในเรื่อง ทรัพย์สินเงินทอง รูปร่าง หรือ ยศถาบรรดาศักดิ์ อื่นใด
       
        หันมามองดูข้อมูลความเป็นไปของโลกใบนี้ว่ามนุษย์มีอายุยืนยาวเพียงไหน?
       
       ปรากฏว่าองค์การสหประชาชาติได้จัดทำข้อมูลสำรวจอายุขัยของชนแต่ละชาติช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2548 – 2553 จาก 194 ประเทศทั่วโลก พบตัวเลขที่น่าสนใจบางประการดังนี้
       
        10 อันดับแรกที่ประชากรของชนชาติที่มีอายุยืนมากที่สุดในโลกได้แก่ อันดับที่ 1 ได้แก่ ญี่ปุ่น มีอายุขัย เฉลี่ย 82.6 ปี, อันดับที่ 2 ได้แก่ ฮ่องกง มีอายุขัยเฉลี่ย 82.2 ปี, อันดับที่ 3 ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ มีอายุขัยเฉลี่ย 82.1 ปี, อันดับที่ 4 ได้แก่ อิสราเอล มีอายุขัยเฉลี่ย 82.0 ปี, อันดับที่ 5 ได้แก่ ไอซ์แลนด์ มีอายุขัยเฉลี่ย 81.8 ปี, อันดับที่ 6 ได้แก่ ออสเตรเลีย มีอายุขัยเฉลี่ย 81.2 ปี, อันดับที่ 7 สิงคโปร์ มีอายุขัยเฉลี่ย 81.0 ปี, อันดับที่ 8 ได้แก่ สเปน มีอายุขัยเฉลี่ย 80.9 ปี, อันดับที่ 9 ได้แก่ สวีเดน มีอายุขัยเฉลี่ย 80.9 ปี และอันดับที่สิบได้แก่ มาเก๊า มีอายุขัยเฉลี่ย 80.7 ปี
       
        สำหรับประชากรในประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกามีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่สุดในโลก และมีสวัสดิการดูแลประชากรของตัวเองเป็นอย่างดีนั้น พบว่า ชาวอเมริกันมีอายุเฉลี่ย 78.3 ปี อยู่ในลำดับที่ 36 ของโลก ในขณะที่ประชากรสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจอันดับที่ 2 ของโลก มีอายุเฉลี่ย 73.0 ปี อยู่ในลำดับที่ 80 ของโลก
       
        สำหรับคนไทยมีอายุเฉลี่ยอยู่ลำดับที่ 111 ของโลก โดยมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 70.3 ปี โดยผู้ชายไทยมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 66.5 ปี และหญิงไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 75.0 ปี
       
        สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธาณสุข พบว่าในปี 2552 คนไทยเสียชีวิต 1 ปี ประมาณ 393,916 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 620.76 คนต่อประชากร 100,000 คน โดยพบตัวเลขที่น่าสนใจดังนี้
       
       สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากที่สุดเป็นอันดับที่หนึ่งคือ มะเร็งและเนื้องอกทุกชนิด ถึง 56,058 คน มีอัตราการเสียชีวิตของคนไทย 88.34 คนต่อประชากร 100,000 คนซึ่งสูงขึ้นกว่าอัตราการตายเมื่อปี 2548 ที่มีอยู่ในระดับร้อยละ 81.4 คนต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.17 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด
       
        อันดับที่สอง คืออุบัติเหตุและการเป็นพิษมีอัตราการเสียชีวิต 55.63 คนต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 8.96 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด
       
       อันดับที่สาม คือโรคหัวใจมีอัตราการเสียชีวิต 28.96 คน ต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.66 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด
       
       อันดับที่สี่ คือโรคความดันเลือดสูงและโรคหลอดเลือดในสมอง มีอัตราการเสียชีวิต 24.66 คน ต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.97 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด
       
       อันดับที่ห้า ปอดอักเสบและโรคอื่นๆของปอด มีอัตราการเสียชีวิต 22.92 คน ต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.69 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด
       
       อันดับที่หก ไตอักเสบและกลุ่มอาการของไตพิการและไตพิการ มีอัตราการเสียชีวิต 20.79 คน ต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.34 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด
       
       อันดับที่เจ็ด โรคเกี่ยวกับตับและตับอ่อน มีอัตราการเสียชีวิต 13.49 คนต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.17 ของการเสียชีวิตทั้งหมด
       
       อันดับที่แปด การบาดเจ็บจากการฆ่าตัวตาย ถูกฆาตกรรม และอื่นๆ มีอัตราการเสียชีวิต 10.47 คน ต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 1.68 ของการเสียชีวิตทั้งหมด
       
       อันดับที่เก้า วัณโรคทุกชนิด มีอัตราการเสียชีวิต 7.20 คน ต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 1.16 ของการเสียชีวิตทั้งหมด
       
       อันดับที่สิบ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องเรื่องจากไวรัส (HIV) หรือ เอดส์ มีอัตราการเสียชีวิต 6.38 คน ต่อประชากร 100,000 คน หรือ คิดเป็นอัตราร้อยละ 1.03
       
       ในบรรดาโรคร้ายทั้งหลายเหล่านี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าโรคส่วนใหญ่จะมีเป็นอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างทรงตัว ยกเว้นโรคมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิด ซึ่งมีแนวโน้มเสียชีวิตสูงเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในขณะที่โรคเอดส์ก็มีอัตราการเสียชีวิตลดลงไปอย่างมากเช่นกัน
       
       หมอเขียว หรือนายใจเพชร กล้าจน ได้มีการเก็บสถิติผู้ป่วยที่มารักษาจำนวน 1,397 คน หลังจากที่ใช้เทคนิคการดูแลสุขภาพแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักการแพทย์วิถีพุทธ ภายใน 5 วัน ผู้ป่วยมีอาการของความเจ็บป่วยลดน้อยลง จำนวน 1,291 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น โรคหรือกาการที่แพทย์แผนปัจจุบันวินิจฉัยว่าเป็นโรคเรื้อรัง ต้องตายหรือรักษาไม่หาย เช่น มะเร็ง เนื้องอก เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ภูมิแพ้ เกาต์ รูมาตอยด์ ปวดตามข้อ ปวดตึง เมื่อยตามร่างกาย โรคทางเดินกระเพาะอาหารลำไส้เรื้อรัง อ่อนเพลียอ่อนล้า หน้ามืดวิงเวียนปวดศีรษะเรื้อรัง ภูมิต้านทานลด และการอักเสบเรื้อรังตามอวัยวะต่างๆเป็นต้น
       
       ในจำนวนดังกล่าว มีผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 117 คน ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงคิดเป็นร้อยละ 88 ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจำนวน 158 คน ระดับความดันโลหิตสูงลดลง คิดเป็นร้อยละ 73.78 ผู้ป่วยมะเร็ง 111 คน อาการเจ็บป่วยทุเลาลง 85.59 โดยใยจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเหล่านี้หลังจากเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตพบว่ามีผลตรวจร่างกายไม่พบมะเร็งและกลับมาปกติต่อเนื่องกัน 6 เดือนขึ้นไปจำนวนร้อยละ 22.25 และเป็นจำนวนที่มีชีวิตอยู่ด้วยอาการไม่สบายจากพิษของมะเร็งลดน้อยลง หรือยืดอายุออกไปได้มากกว่าการคาดการณ์ของแพทย์แผนปัจจุบันร้อยละ 63.07 และมีอาการไม่ทุเลาร้อยละ 14.41 ในขณะที่ผู้ป่วยโรคหัวใจ อาการเจ็บป่วยทุเลาลงร้อยละ 75
       
       ทั้งนี้คุณหมอเขียว ได้มียา 9 เม็ด ซึ่งเป็นเทคนิค 9 ข้อ ในการดำเนินชีวิตดังนี้
       
       1. ดื่มน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็น คลอโรฟิลล์สดจากธรรมชาติ
       
       2. การทำ “กัวซา” หรือขูดพิษ ขูดลม ซึ่งเป็นแพทย์ดั้งเดิมของชาวไทยภูเขา ชาวจีน พม่าลาว เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย ฯลฯ มีประสิทธิภาพในการเอาพิษออกจากร่างกายโดยระบายพลังงานที่เป็นพิษจากเลือด ที่ถูกกระตุ้นให้เคลื่อนขึ้นมาระบายพิษที่ผิวหนัง
       
       3. การสวนล้างลำไส้ใหญ่ (ดีทอกซ์) ด้วยสมุนไพรที่เหมาะสม
       
       4. การแช่มือ แช่เท้า ในน้ำสมุนไพร เสริมกลไกของร่างกายธรรมชาติ เสริมกลไกตามธรรมชาติของร่างกายที่มีการขับพิษจำนวนมากออทางมือทางเท้าอยู่แล้ว
       
       5. การพอก ทา หยอด ประคบ อาบด้วยสมุนไพรที่ถูกกันกับร่างกายของเรา คือ เมื่อใช้แล้วต้องรู้สึกสบาย
       
       6. การออกกำลังกาย กดจุดลมปราณ โยคะ การบริหารที่ถูกต้อง
       
       7. การรับประทานอาหารปรับสมดุลร่างกาย เพิ่มการรับประทานผัก ผลไม้ ปรุงอาหารด้วยความร้อนต่ำ อาหารควรมีรสกลางๆไม่จัด ลด ละ เลิก พวกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม และอาหารแปรรูป เคี้ยวอาหารให้ละเอียดที่สุดและกลืนให้ลง
       
       8. ใช้ธรรมะทำใจให้สบาย ผ่อนคลายความเครียด รู้จักการปล่อยวาง
       
       9. รู้เพียรรู้พักให้พอดี
       
       สุดท้ายนี้จะฝากได้ว่าหมอเขียวเคยเล่าให้ฟังว่า สุขภาพจะดีได้สำคัญต้องเริ่มจากที่จิตใจที่ดีเสียก่อน และจิตใจถือเป็นหัวใจหลักต่อสุขภาพที่สำคัญที่สุด !!!

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    17 กุมภาพันธ์ 2555

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version