ผู้เขียน หัวข้อ: วิจัยชี้ชาวเปรูกิน “ป๊อปคอร์น” ตั้งแต่ก่อนคริสศักราช 4,700 ปี  (อ่าน 1144 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
งานวิจัยใหม่ชี้มนุษย์โบราณที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทางตอนเหนือของเปรูนั้นกิน “ป๊อปคอร์น” ตั้งแต่ก่อนคริสตศักราชมา 4,700 ปี นานกว่าหลักฐานที่เคยพบที่อเมริกาใต้กว่าพันปี
       
       จากรายงานของบีบีซีนิวส์ นักวิจัยได้พบซังข้าวโพดบริเวณโบราณสถานในปาเรโดนส์ (Paredones) และฮัวซา เปียตา (Huaca Prieta) ทางตอนเหนือของเปรู ซึ่งชี้ว่าผู้ที่เคยอาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวใช้ข้าวโพดเพื่อผลิตแป้งและทำป๊อปคอร์น โดยนักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Natural History Museum) ในวอชิงตัน สหรัฐฯ ระบุด้วยว่าเป็นซังข้าวโพดที่เก่าแก่ที่สุดที่ถูกค้นพบและมีอายุย้อนกลับถึงเมื่อ 4,700 ปีก่อนคริสตศักราช ซึ่งเก่ากว่าที่เคยพบในอเมริกาใต้กว่าพันปี
       
       ทางด้าน โดโลเรส ไปเปอร์โน (Dolores Piperno) ภัณฑรักษ์ทางด้านโบราณคดีโลกยุคใหม่ จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาสมิทโซเนียน (Smithsonian Museum of Natural History) ในวอชิงตัน ดีซี กล่าวว่า ข้าวโพดถูกนำมาใช้เลี้ยงภายในครัวเรือนเป็นครั้งแรกที่เม็กซิโกเมื่อราว 9,000 ปีก่อน
       
       ไปเปอร์โนและทีมวิจัยของเธอได้เผยแพร่งานวิจัยลงวารสารโพรซีดิงส์ออฟเดอะเนชันนัลอะคาเดมีออฟไซน์ (Proceedings of the National Academy of Sciences) หรือพีเอ็นเอเอส (PNAS) ที่เผยให้เห็นว่า เพียงไม่กี่พันปีต่อมาข้าวโพดก็ไปถึงอเมริกาใต้ และก็มีวิวัฒนาการจนมีสายพันธุ์ที่หลากหลายและกลายเป็นพืชประจำถิ่นในภูมิภาคแห่งเทือกเขาแอนดีส
       
       “หลักฐานที่พบยังชี้ว่าในหลายพื้นที่ข้าวโพดไปถึงก่อนที่จะมีการผลิตเครื่องปั้นดินเผา และในการใช้ข้าวโพดเป็นอาหารในยุคแรกๆ นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีเครื่องปั้นดินเผา” ไปเปอร์โนกล่าว และบอกด้วยว่าในช่วงเวลานั้นข้าวโพดยังไม่ได้เป็นส่วนสำคัญในอาหารการกินของคนยุคโบราณ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    23 มกราคม 2555