ผู้เขียน หัวข้อ: ช้างและคน ต้องอยู่'ร่วมกัน'  (อ่าน 1247 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ช้างและคน ต้องอยู่'ร่วมกัน'
« เมื่อ: 18 มกราคม 2012, 18:52:06 »
ปฏิญญาชายป่ากุยบุรี เมื่อ"ช้าง" และ"คน" ต้องอยู่ร่วมกัน

ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศภาคีสมาชิกตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีเป้าหมายสำคัญที่จะรักษาพื้นที่คุ้มครองหรือป่าอนุรักษ์ ให้มีไม่น้อยกว่า 18 เปอร์เซนต์ของพื้นที่ประเทศ ปัจจุบัน พื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่ยังคงเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นทั้งแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่า มีพื้นที่รวมกันเหลืออยู่ประมาณ 15 เปอร์เซนต์ของพื้นที่ประเทศ ตัวเลขนี้อาจดูมากพอและเป็นหลักประกันการคงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย

คำถามที่เกิดขึ้นต่อผืนป่าที่เหลืออยู่ในอุทยานแห่งชาติ และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีศักยภาพการรองรับทางระบบนิเวศเพียงพอหรือไม่ สำหรับการเป็นแหล่งอาศัยและแหล่งหากินของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่เป็นแกนหลักของระบบนิเวศ เช่น ช้างป่า

ข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับความถี่และจำนวนพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น เมื่อช้างป่าเริ่มออกมาหากินตามแนวพื้นที่เกษตรกรรมที่ปลูกประชิดป่าธรรมชาติ พื้นที่เกษตรกรรมเหล่านี้ ปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยว ทั้งพืชไร่ และพืชสวน ผลที่ตามมาคือ เมื่อช้างป่ากินและเหยียบย่ำพืชผลทางการเกษตร ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าจึงเริ่มต้น และเป็นที่มาของโศกนาฎกรรม

ประชากรช้างป่าในประเทศไทย ไม่ได้ลดลงอย่างที่หลายคนวิตก ตรงกันข้ามคือ ในพื้นที่คุ้มครองที่มีช้างป่าอยู่แล้ว ประชากรช้างมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในยุคที่กระแสอนุรักษ์เบ่งบานในหัวใจคน แต่ด้วยความบังเอิญหรือเป็นความโชคร้าย ที่พื้นที่ป่าคุ้มครองหลายแห่งที่ไม่มีช้างป่าอาศัยหากินในปัจจุบัน ไม่มีโอกาสที่จะมีช้างป่าในธรรมชาติได้ เนื่องจากว่า ผืนป่าที่เหลืออยู่ในประเทศไทย กระจายอยู่เป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย ทั้งยัง มีพื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรมขวางกั้น การเคลื่อนที่หากินไปมาหาสู่ระหว่างช้างป่าแต่ละฝูงเป็นไปได้ยาก ทฤษฎีที่ว่า ช้างป่ามีเส้นทางเดินหากินเป็นบริเวณกว้างไกลในพื้นที่ขนาดใหญ่ ได้ถูกเปลี่ยนไปแล้ว ในยุคของเมืองล้อมป่า และ พื้นที่เกษตรกรรมชอนไชเข้าไปทุกซอกหลืบร่องเขาตามชายขอบป่าในพื้นที่คุ้มครอง

สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี เช่นกัน ผืนป่าธรรมชาติขนาดใหญ่กว่า 3 ล้านไร่ ทอดตัวยาวแนวเหนือใต้ของเทือกเขาตะนาวศรี ผลการสำรวจต่อเนื่องยืนยันชัดเจนว่า ช้างป่ากุยบุรี และช้างป่าแก่งกระจาน เป็นฝูงช้างป่าที่แยกจากกันอย่างเด็ดขาด ไม่สามารถเดินไปมาหาสู่กันได้ และไม่มีการพบช้างป่าบริเวณตอนเหนือของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต่อเนื่องไปถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี และอุทยานแห่งชาติเตรียมประกาศไทยประจัน

ผืนป่าที่เหลืออยู่ มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงขัน วางตัวสลับคล้ายฟันปลา ลำธารตามร่องหุบเขาทอดตัวเป็นสายสั้นๆ ภูมิประเทศที่ว่านี้ ไม่ได้เอื้อให้ช้างป่าเดินหากินได้อย่างสบายใจ งานวิจัยหลายชิ้นให้ผลในทางตรงกันคือ ช้างป่าจะเคลื่อนย้ายหากินโดยไม่ไกลจากแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร ไม่รวมกิจกรรมมนุษย์ที่เกิดขึ้นในป่าทั้งการเก็บหาของป่า ลักลอบล่าสัตว์ป่าและตัดไม้ ที่ล้วนเป็นการรบกวนโดยตรงและเป็นภัยคุกคามการหากินของช้างป่าในป่าลึก แรงบีบคั้นได้เกิดขึ้นโดยตรงต่อวิถีการเคลื่อนย้ายหากินของช้างป่า พฤติกรรมช้างป่าเช่นที่เป็นในอดีตได้เปลี่ยนไป ทฤษฎีในตำราหลายเล่มอาจต้องทบทวน

พื้นที่เกษตรกรรมที่ชายป่า ปลูกประชิด ล้อมป่า จนแลดูเหมือนเป็นเกาะสีเขียวกลางทะเลทรายของพืชเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว เช่น สับปะรด อ้อย และอีกมากมายตามกระแสการส่งเสริมของภาครัฐ เมื่อเกิดผลผลิต กลิ่นของผลไม้เชิงเดี่ยวเหล่านี้ช่างหอมหวน ยั่วยวน ดึงดูดให้ช้างป่าออกมาตามกลิ่นที่หลายครั้ง พวกมันไม่รู้จักมาก่อน
ช้างป่าเป็นสัตว์สังคม มีการสอนถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น รู้ถึงแหล่งน้ำและแหล่งอาหารที่ควรจะไปหากิน พื้นที่ชายป่ามีความลาดชันน้อย มีอาหารรออยู่ข้างหน้า นี่คือ อีกสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า
เมื่อช้างป่าเริ่มออกมาที่ชายป่ามากขึ้น ผู้คนได้พบเห็น บันทึกภาพได้ จากที่ไม่เคยพบช้างงาหรือเห็นได้ยากแสนยากในป่าลึก เมื่อช้างออกมาที่ชายป่า พื้นที่เปิดโล่ง ไม่ใช่เรื่องยากในการบันทึกภาพ และสื่อสารกันอย่างรวดเร็วในยุคโลกไร้พรมแดน สิ่งที่ตามมาก็คือ กระบวนการล่าช้างเอางา ได้กลับคืนมาในพื้นที่คุ้มครองกุยบุรี และแก่งกระจาน ในเมื่อความต้องการยังคงมีอยู่

วันนี้(17ม.ค.) เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ในประเทศที่ประสบปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ปัญหานี้ยากที่จะจัดการให้จบลง เพราะเมื่อจัดการได้ดีในพื้นที่หนึ่ง ช้างป่าจะเคลื่อนตัวอีกพื้นที่หนึ่ง จากข้อจำกัดที่ได้กล่าวถึง สิ่งที่ทำได้คือ การบรรเทาปัญหาเพื่อให้คนกับช้างป่าอยู่ร่วมกันได้

คน กับ ช้างป่า อยู่ร่วมกันที่ป่ากุยบุรี

"กุยบุรีโมเดล" ได้รับการพูดถึงในวงกว้าง ในเรื่องการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ที่เคยรุนแรงในทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบัน ความรุนแรงและกลิ่นแห่งความเกลียดชังช้างป่าที่คลุ้งโชยในอดีต ได้เปลี่ยนเป็นอำเภอรักช้างป่า หมู่บ้านคนอยู่ร่วมกับช้าง ชุมชนและชาวไร่มีได้รายเสริมจากกิจกรรมท่องเที่ยวชมช้างป่า แม้ว่า สถานการณ์ช้างป่าออกมาหากินในไร่สับปะรดที่ชายป่า ไม่ได้หมดไปอย่างสิ้นเชิง แต่ระดับความรุนแรงได้ลดน้อยลงจนอยู่ในระดับที่ชาวไร่สามารถยอมรับได้

ป่ากุยบุรีอาจเป็นที่เดียวที่เรียกได้ว่า ที่นี่คือบ้านและแหล่งอาหารพระราชทานสำหรับสัตว์ป่า ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชดำริให้ฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมที่บุกรุกป่าอัน
มิชอบด้วยกฎหมายบนพื้นที่กว่า 18,000 ไร่ ให้กลับมาเป็นบ้านและแหล่งอาหารสำหรับช้างป่า และสัตว์ป่าอื่นๆ
แรงแห่งความทุ่มเทจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น จากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่เริ่มตั้งโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปี พ.ศ. 2541 ดำเนินการควบคู่ไปบนเส้นทางแห่งความสมดุลเพื่อประโยชน์ของสัตว์ป่า และผู้คน ทั้งการฟื้นฟูสภาพป่า สร้างแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และการส่งเสริมอาชีพ ปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนชายป่าให้กลับมารักและหวงแหนช้างป่า

นี่คือ สาระสำคัญ ที่ถือเป็นจุดแข็งของจัดการสถานการณ์ระหว่างคนกับช้างป่าบนพื้นที่แห่งนี้ นั่นคือ ความร่วมมือร่วมใจ ประสานงาน สื่อสาร แบ่งปันข้อมูล และยอมรับต่อแนวทางการจัดการร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ชุมชนท้องถิ่น และการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่งต่างน้อมนำแนวพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 มากำหนดเป็นยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และจัดการสถานการณ์

"ช้างควรอยู่ในป่า  เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างให้เพียงพอ การปฏิบัติคือให้ไปสร้างอาหารในป่าเป็นแปลงเล็กๆ  และกระจาย กรณีช้างออกมาที่ชายป่า  ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างบ้าง"

การดำเนินการที่ได้ผล คือ "ทำให้ในป่านั้นมีอาหารช้างให้เพียงพอ" ด้วยกิจกรรมการปรับปรุงแหล่งอาหารสัตว์ป่า

1. การทำทุ่งหญ้าอาหารช้างป่า กระจายเป็นแปลงขนาด 50 – 200 ไร่ จำนวน 10 แปลง ในพื้นที่
เขตฟื้นฟูสภาพป่าธรรมชาติ เพื่อดึงดูดใจให้ช้างป่าไม่ออกไปหากินในพื้นที่เกษตรกรรมที่บริเวณชายป่า
การดำเนินการที่เกิดขึ้นได้ใช้ข้อมูลจากงานวิจัยนิเวศวิทยาของช้างป่าในผืนป่าตะวันออก ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน พบว่าช้างป่าชอบกินพืชในวงศ์หญ้ามากกว่าพืชป่าอื่นๆ พืชเกษตร เมล็ดพืช ดิน หิน และอื่นๆ ผลการวิเคราะห์กองมูลของช้างป่า พบว่าหญ้าเป็นส่วนประกอบมากกว่าร้อยละ 90 ในกลุ่มของลูกช้างโต ช้างวัยรุ่น และร้อยละ 87 ในกลุ่มของช้างตัวเต็มวัย ที่ป่ากุยบุรี ได้ทำแปลงหญ้าในเขตพื้นที่ฟื้นฟูสภาพป่าธรรมชาติ โครงการพระราชดำริฯ ซึ่งสถานภาพของพื้นที่เป็นที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ การดำเนินการโดยปลูกหญ้าปศุสัตว์จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ผลดำเนินการเป็นไป

อย่างหน้าพอใจ ในปี พ.ศ. 2551 – 2553 พบว่ามีช้างป่ามาหากินในทุ่งหญ้าต่อเนื่องทุกวัน จนเป็นโอกาสให้มีการพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวชมช้างป่าโดยอำเภอกุยบุรี เกิดรายได้เสริมให้กับชุมชนท้องถิ่น การติดตามผลความถี่การใช้ประโยชน์ทุ่งหญ้าของช้างป่าและกระทิงที่ป่ากุยบุรี ในปี พ.ศ. 2554 ระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม ในช่วงที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง ขาดน้ำฝนและความชื้นตามธรรมชาติหล่อเลี้ยงทุ่งหญ้าให้เขียวสด พบว่า ช้างป่ายังคงออกมาใช้ประโยชน์หากินในแปลงหญ้า K1 – K10 ในเวลากลางวันระหว่างเวลาประมาณ 15.00 – 18.00 น. พบว่า มีการใช้ประโยชน์เฉลี่ย 12.8 ครั้งต่อเดือน

2. การกำจัดวัชพืชและพืชต่างถิ่น ได้แก่ ต้นผกากรอง แมงลักคา และสาบเสือ ในบริเวณทุ่งหญ้า เพื่อเป็นการลดการกระจาย การคุกคาม และการครอบครองพื้นที่ในทุ่งหญ้า ซึ่งพืชต่างถิ่นเหล่านี้จะแย่งน้ำความชื้น และอาหาร ส่งผลให้ผลผลิตของหญ้าสดลดลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของช้างป่า และสัตว์กินพืชอื่นๆ ที่มาใช้ประโยชน์ทุ่งหญ้า การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามแนวทางของการจัดการพืชต่างถิ่น ในโปรแกรมงานว่าด้วยพื้นที่คุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวิภาพ ที่กำหนดให้มีการป้องกัน ควบคุม และกำจัดพืชเหล่านี้ออกไปจากพื้นที่

3. การทำโป่งเทียม บริเวณทุ่งหญ้า เพื่อเสริมแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับสัตว์ป่า ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบของน้ำหนักตัวของสัตว์แค่ประมาณร้อยละ 5 แต่ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ได้แก่ Ca แคลเซี่ยม   P ฟอสฟอรัส
K  โปแตสเซียม  CI โซเดียม  Mg แมกนีเซียม  S กำมะถัน การดำเนินการได้เปิดหน้าดินขนาด 4 X 4 เมตร
ที่ชายขอบทุ่งหญ้าติดกับป่าธรรมชาติ เลือกบริเวณที่เป็นดินเหนียวปนดินร่วน ขุดดินลึกประมาณ 45-60 เซนติเมตร เตรียมแคลเซียมคาร์บอเนต หรือ เกลือสมุทร(เม็ด) 150 กิโลกรัม แร่ธาตุผสมสำหรับปศุสัตว์ 500 กรัม โดยแบ่งชั้นการโรยเกลือเม็ดและแร่ธาตุเป็น 3 ชั้นในสัดส่วนเท่าๆ กัน แต่ละชั้นใช้ดินกลมคลุกเคล้าให้ทั่ว ที่ชั้นบนสุดบริเวณหน้าดินหลังจากคลุกเคล้าเกลือเม็ดและแร่ธาตุจนทั่วแล้ว ใช้ดินกลบแต่งพื้นที่บริเวณ
ปากโป่งให้เนียนกลมกลืนธรรมชาติ ซึ่งการติดตามผลจำนวนครั้งที่ช้างป่าและสัตว์ป่าอื่นๆ ออกมาใช้ประโยชน์ในโป่งเทียมตัวอย่าง ในพื้นที่แปลงหญ้า K1 ระหว่างเดือนกรกฎาคม  - กันยายน 2554 พบว่า
ช้างป่าใช้ประโยชน์เฉลี่ย 34.33 ครั้งต่อเดือน กระทิงใช้ประโยชน์เฉลี่ย 18.33 ครั้ง ต่อเดือน และสัตว์ป่าอื่นๆ ใช้ประโยชน์เฉลี่ย 6 ครั้งต่อเดือน และแปลงหญ้า K10 พบว่า ช้างป่าใช้ประโยชน์เฉลี่ย 24 ครั้งต่อเดือน กระทิงใช้ประโยชน์เฉลี่ย 28 ครั้งต่อเดือน และสัตว์ป่าอื่นๆ  ใช้ประโยชน์เฉลี่ย 1.5 ครั้งต่อเดือน ในเบื้องต้นการติดตามผลพบว่าหลังจากทำโป่งเทียมช้างป่าและสัตว์กินพืชอื่นๆ มาใช้ประโยชน์มีความถี่สูงในช่วงเดือนแรก และลดลงตามลำดับในช่วงเดือนที่สองถึงสี่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเสริมแร่ธาตุและปรับปรุงโป่งเทียมในเดือนที่ห้า ขณะนี้การพัฒนาการทำโป่งเทียมที่กุยบุรี ได้มีการเก็บตัวอย่างดินจากโป่งธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่เขตฟื้นฟูสภาพป่าธรรมชาติ ส่งวิเคราะห์สัดส่วนและปริมาณของแร่ธาตุต่างๆ ในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำผล
ที่ได้รับมาปรับปรุงส่วนผสมแร่ธาตุเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดของสัตว์ป่า

4. การทำฝายชะลอความชุ่มชื้น ให้กับผืนดิน เนื่องจากลำห้วยต่างๆ ในเขตฟื้นฟูสภาพป่าธรรมชาติ
เป็นลำห้วยตามฤดูการ การทำฝายชะลอความชุ่มชื้น จึงเป็นการช่วยชะลอการไหลและแห้งของ
น้ำผิวดินหลังจากฝนตกครั้งใหญ่ในแต่ละรอบปี โดยพบว่าฝายเหล่านี้สามารถช่วยชะลอและกักเก็บน้ำได้ประมาณ 3 เดือน หลังจากที่ฝนตกจนน้ำฉ่ำในชั้นใต้ดินและไหลบ่าไปตามลำธาร "กรณีช้างป่าออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า" ด้วยกิจกรรมเฝ้าระวังช้างป่า

1. สำรวจพื้นที่เกษตรกรรมชายป่า ในบริเวนที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากกรณีช้างป่าออกหากินในพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อรู้ถึงขนาดพื้นที่ ผู้เป็นเจ้าของ ผู้ที่เฝ้าไร่ ชนิดพืชที่ปลูก ที่อยู่สำหรับติดต่อ พิกัดและรูปร่างของที่ดินในแต่ละแปลง และนำเข้าข้อมูลต่างๆ ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลหลักในการวางแผนจัดการ

2. เกิดบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่างอุทยานแห่งชาติกุยบุรีและชาวไร่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ในการให้การสนับสนุนและติดตามการเฝ้าระวังช้างป่าและผลักดันช้างป่ากลับเข้าสู่ป่าธรรมชาติ โดยมีเกษตรกรกว่า 150 ราย ที่มีพื้นที่เกษตรกรรมติดแนวเขตป่าธรรมชาติและเขตป่าฟื้นฟูสภาพป่าธรรมชาติ ยอมรับและลงนามในบันทึกข้อตกลง ภายใต้สักขีพยานจากผู้แทนภาครัฐระดับพื้นที่จำนวน 50 คน ร่วมในพิธี โดยมีนายบุญลือ พูลนิล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ในขณะนั้น นายมนตรี ปาน้อยนนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 1 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และนายเงิน คงมั่น รองนายก อบต. หาดขาม ทำหน้าที่แทนนายกอบต. ลงนามให้การรับรองในแต่ละบันทึกข้อตกลงร่วมกับเกษตรกรแต่ละราย

3. อุทยานแห่งชาติกุยบุรีจัดตั้งเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจ สนับสนุนชาวไร่ในการเฝ้าระวังช้างป่า ตามบันทึกข้อตกลง และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กระชับยิ่งขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กับเกษตรกรในพื้นที่

4. ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์และนามบัตรโทรศัพท์สายด่วน เพื่อให้เกษตรกรโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือและแจ้งความเสียหายที่เกิดขึ้นไปยังเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังช้างป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อให้การสนับสนุนและบันทึกเหตุการณ์ไว้เป็นหลักฐาน

5. สนธิกำลังเฝ้าระวัง และผลักดันช้างป่ากลับสู่ป่าธรรมชาติ ในกรณีที่ช้างป่าฝูงใหญ่ 20 -30 ตัว เคลื่อนที่หากินสู่พื้นที่เกษตรกรรม จึงเป็นการยากที่เกษตรกรและเจ้าหน้าชุดเฝ้าระวังช้างป่าจะร่วมกันเฝ้าระวังและผลัดดันช้างป่ากลับสู่ป่าธรรมชาติ ในพื้นที่ป่ากุยบุรี จะมีการร่วมมือสนธิกำลังจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ชุดประสานงานโครงการพระราชดำริฯ (ร.11 พัน.3 ร.อ.) หน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 145 โครงการอนุรักษ์ช้างป่า WWF ประเทศไทย และเกษตรกรในพื้นที่ ร่วมกันผลักดันให้ช้างป่ากับสู่ป่าธรรมชาติ ไปหากินในบริเวณทุ่งหญ้าที่ได้ทำไว้เพื่อเป็นอาหารสำหรับช้างป่า

"ให้ความปลอดภัยกับช้างป่าและสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นในพื้นที่ป่าลึก" ด้วยกิจกรรมการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และสนธิกำลังลาดตระเวนป้องกันการลักลอบล่าสัตว์ป่า

1. ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีการทบทวนทักษะยุทธวิธีประจำปี และการตระเวนต่อเนื่องในพื้นที่ต่างๆ ในขอบเขตความรับผิดชอบของชุดปฏิบัติการทั้ง 3 ชุด ที่อุทยานฯ จัดตั้งขึ้น โดยมีการบันทึกข้อมูลและสรุปผลตามระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (MIST) และนำผลที่ได้รับมาวางแผนในการลาดตระเวนปกป้องพื้นที่ได้อย่างรัดกุม

2. สนธิกำลังในการลาดตระเวนร่วม เพื่อป้องปรามกลุ่มที่เข้ามาล่าสัตว์ป่า ตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกพื้นที่ และเก็บหาของป่า โดยเป็นความร่วมมือระหว่างอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ชุดประสานงานโครงการพระราชดำริฯ
(ร.11 พัน.3 ร.อ.) หน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 145 และ WWF ประเทศไทย แต่ละเดือนแผนการลาดตระเวนอย่างต่อเนื่องเดือนละ 4 วัน 3 คืน

ผลการลาดตระเวนตามปกติและการสนธิกำลังลาดตระเวนร่วม ในปี 2554 พบว่า มีจำนวนครั้งในการลาดตระเวน 183  ครั้ง รวมจำนวนวัน 224 วัน ลาดตระเวนโดยเท้า 724.74 กม.  ลาดตระเวนโดยรถยนต์ 1,794.81 กม. รวมระยะทางการลาดตระเวนทั้งหมด  2,519.55 กิโลเมตร

ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และแนวพระราชดำรัสในการจัดการสถานการณ์ระหว่างคนกับช้างป่าเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ได้เป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจที่ช่วยให้ทุกฝ่ายได้จับมือ ร่วมกันเดินไปสู่หลักชัยที่เป็นหนึ่งเดียว วันนี้สถานการณ์ระหว่างคนกับช้างป่าที่ป่ากุยบุรี ได้คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น บนวิถีการจัดการที่ถูกต้องและชัดเจนภายใต้การสนับสนุนเชิงนโยบายอย่างดียิ่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

กว่าทศวรรษที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง บทพิสูจน์ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อมีการสำรวจการรับรู้ของเกษตรกรชายป่า 150 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่โครงการ พบว่า

• คุณภาพชีวิตของครอบครัวเกษตรกรส่วนใหญ่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา
• ปัญหาสำคัญที่สุด 3 เรื่องที่ส่งผลต่อการทำการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ ได้แก่ 1) ปริมาณน้ำ
ไม่เพียงพอ 2) ขาดแคลนทุนทรัพย์ และ 3) สัตว์ออกมาทำลายพืชไร่
• เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบมากจากปัญหาช้างป่าออกมาทำลายพืชไร่ คิดเป็นสัดส่วนที่น้อย คือ 13.3 เปอร์เซ็นต์ จากการทำการเกษตรในภาพรวม
• ปัญหาช้างป่าในพื้นที่ยังคงเป็นเรื่องการออกมาทำลายพื้นที่เกษตรกรรม แต่ไม่มีการทำร้ายชีวิตหรือทำให้เกษตรกรได้รับบาดเจ็บ

• ผลผลิตของเกษตรกรได้รับความเสียหายสูงสุด คือ เสียหายประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่เพาะปลูก
โดยคิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ ของการทำการเกษตรในภาพรวม
• แม้ว่าช้างป่าจะเป็นปัญหาส่วนหนึ่งในการทำการเกษตร แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าไม่มีเกษตรกร
ที่คิดฆ่าช้างป่าหรือต้องการให้ย้ายช้างป่าออกไปจากพื้นที่
• มีเกษตรกรสูงถึง 66.2 เปอร์เซ็นต์ ที่ยินดีสนับสนุนเวลาและแรงงาน 16.2 เปอร์เซ็นต์ พร้อมบริจาคเงินช่วยเหลือ และ 15.6 เปอร์เซ็นต์ ที่ยินดีสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือการทำงาน เพื่อช่วยเหลือชุมชนตัวเองในเรื่องการอนุรักษ์และบรรเทาจัดการสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า

ขณะที่ผลการติดตามสถานการณ์ช้างป่าออกมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรม พบว่า จำนวนครั้งที่ช้างป่าออกมาหากินหรือทำลายพื้นที่เกษตรกรรม ระหว่างเดือนมกราคม – ธันวาคม พ.ศ. 2554 มีจำนวนทั้งสิ้น 157 ครั้ง และเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันของปี พ.ศ. 2553 พบว่ามีจำนวนครั้งเพิ่มขึ้น 12.9 เปอร์เซนต์ (157 ครั้ง
ปี 2554 VS 139 ครั้ง ปี 2553) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกับฐานข้อมูลที่มีการบันทึกจำนวนครั้งไว้สูงถึง 332 ครั้ง
ในปี พ.ศ. 2548 พบว่า จำนวนครั้งมีการลดลงถึง 52.71 เปอร์เซนต์ (332 ครั้ง ปี 2548 VS 128 ครั้ง ปี 2554)
 ตัวเลขการเพิ่มขึ้น 12.9 เปอร์เซนต์ ของสถิติการออกมาหากินของช้างป่าในพื้นที่เกษตรกรรม ในปี 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2553 ตัวเลขนี้ไม่ได้เป็นที่นิ่งนอนใจสำหรับทุกฝ่ายในพื้นที่ ต่างรู้ว่า

การจัดการสถานการณ์คนกับช้างป่าที่ป่ากุยกำลังเผชิญกับความท้าทายอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก นั่นคือ ในพื้นที่กุยบุรีได้ประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องเข้าเป็นปีที่ 3 การบำรุงรักษาทุ่งหญ้าที่ทำไว้ จะอาศัยเพียงความชุ่มชื้นจากฝนตามธรรมชาติและน้ำค้างในค่ำคืนอีกต่อไปไม่ได้ ความถี่และปริมาณน้ำฝนที่ตกน้อยลงทุกขณะ เป็นโจทย์ข้อสำคัญที่ต้องมีคำตอบ

ผลจากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ยืนยันอย่างชัดเจนว่า ช้างป่ากลุ่มใหญ่ได้เคลื่อนที่หากินสู่พื้นที่ชายป่าด้านเหนือติดกับพื้นที่เกษตรกรรมในท้องที่อำเภอปราณบุรี ที่ซึ่งชาวไร่ในพื้นที่นั้นไม่ได้มีพันธะสัญญาตามข้อตกลงร่วม เนื่องจากทุ่งหญ้าในเขตฟื้นฟูสภาพป่าธรรมชาติ แหล่งอาศัยและแหล่งอาหารพระราชทานที่สำคัญบริเวณใจกลางพื้นที่โครงการพระราชดำริฯ แห้งเหี่ยว ขาดความอุดมสมบูรณ์ การบำรุงรักษาทุ่งหญ้าประจำปีเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ภาพรวมการทำการเกษตรในพื้นที่ย่านนั้น ยังรอการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดิน ขณะที่เจ้าของไร่คือนายทุนกลุ่มใหญ่ ที่วางมาตรการป้องกันช้างเข้าไร่ ด้วยการใช้รั้วไฟฟ้า ที่มีแหล่งพลังงานจากเครื่องปั่นไฟดีเซล กำลังไฟมหาศาล และแล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้น ในพื้นที่ที่ไม่เคยมีช้างตายจากความขัดแย้งมาก่อน นั่นคือ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ช้างพลายอายุประมาณ 20 ปี ต้องล้มตายอย่างทรมาน จากการถูกไฟฟ้าซ็อต ด้วยกำลังไฟ 800 โวลท์ นี่คือความโหดร้ายอีกบท กลิ่นของโศกนาฏกรรม ที่อาจจะเริ่มต้นอีกครั้ง

วันนี้ทุกฝ่ายในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไม่ได้นิ่งเฉยเพื่อตั้งรับกับปัญหาที่กำลังคืบคลานเข้ามา ทว่าภายใต้จุดแข็งที่มีอยู่ คือ ต้นทุนทางสังคมอันยิ่งใหญ่ การประชุมระดับจังหวัดหลายครั้ง รวมถึงครั้งสำคัญในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554 และ การระดมสมองในภาคสนามที่ชายป่ากุยบุรี ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554 คือจุดเปลี่ยนในทางสร้างสรรค์อีกครั้ง กับมาตรการรูปธรรมได้เกิดขึ้นในการตั้งรับและจัดการเชิงรุกกับโจทย์ข้อยากที่กำลังเผชิญ

"การใช้รถขนส่งน้ำเพื่อบำรุงรักษาทุ่งหญ้าต้องใช้งบประมาณสูงมาก แต่ถ้าไม่มีทางเลือก เราก็ต้องทำ เพื่อให้ช้างมีอาหารกินตามธรรมชาติ และคนกับช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้" วีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าฯจ.ประจวบคีรีขันธ์
ยืนยันเจตนารมณ์ที่ชัดเจน

ขณะที่แนวทางการจัดการระยะยาว คือ การขุดคูกันช้าง บริเวณชายป่าต่อเนื่องพื้นที่เกษตรกรรม ที่คูกันช้างนี้ กำหนดขึ้นบนฐานแนวคิด ที่ต้องไม่เป็นเพียงแค่เครื่องมือขวางกั้นการหากินของช้างป่าเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม แต่ต้องเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการสร้างอาหารสำหรับช้างป่า และเป็นกักเก็บน้ำเพิ่มเติมสำหรับช้างป่าและเกษตรกรด้วยเช่นกัน ความคิดนี้ได้รับการยอมรับด้วยหลักของเหตุและผล องค์ความรู้ระดับพื้นที่ผสมผสานหลักวิชาการ ก่อเกิดปฏิญญาที่ชายป่ากุยบุรี “คูกันช้าง ป้องกันช่วยเหลือช้างป่าและคน”

วายุพงศ์ จิตร์วิจักษณ์ ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์ช้างป่า WWF ประเทศไทย
กรุงเทพธุรกิจ 17 มกราคม 2555