ผู้เขียน หัวข้อ: 3 บทเรียนจากน้องน้ำ ยิ่งวิกฤตยิ่งผูกพัน  (อ่าน 3408 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
- 3 บทเรียนจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่
       - แนะใช้โอกาสพัฒนาองค์ความรู้ สร้างคุณค่า HR
       - มุ่งหน้าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
       - ย้ำต้องรู้จักสร้างเครือข่าย และการให้
       
       เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติได้จัดกิจกรรม Productivity Talk Special ซึ่งเป็นงานเสวนาในหัวข้อ HR Practice After Csisis : แลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวปฎิบัติในการบริหารจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์หลังภาวะวิกฤตน้ำท่วม จาก 3 วิทยากรที่นำทั้งหลักการที่เป็นทฤษฎีและสิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่มาแบ่งป้น “ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์” เรียบเรียงผลกระทบและการเรียนรู้ทั้ง 3 บทเรียนมานำเสนอ
       
       พัฒนาองค์ความรู้
       สร้างคุณค่า HR
       
       ภิญญาดา ประสานจิตร ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ชัยบูรณ์ บราเดอร์ส จำกัด เล่าว่า แม้ว่าน้ำจะไม่ท่วมบริษัทฯ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี เพราะตั้งอยู่บนที่ดอนและได้ประโยชน์จากพื้นที่ด้านข้างซึ่งเป็นที่นา และความบังเอิญจากการสร้างบ่อน้ำใหญ่เพื่อสำรองน้ำใช้หากเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้ง การนำหลักการและความรู้จากพระราชดำรัสของในหลวงมาใช้ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำแก้มลิง คันกั้นน้ำ น้ำดันน้ำ ฯลฯ
       
       “น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้ได้ความรู้ใหม่มากมาย เช่น คลองต่างๆ การจัดการกับน้ำ ซึ่งพยายามจะสร้างเป็น story ให้เกิดขึ้นในองค์กรของเราให้ได้ เพื่อใช้ต่อไปในอนาคต”
       
       ส่วนการสื่อสารกับพนักงานทำอย่างฉับไวเพราะเป็นช่วงเวลาของโอกาสที่จะทำให้ได้ใจ และมีการเปิดบริษัทเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือพนักงานและครอบครัว โดยคิดว่าพนักงานเหมือนคนในครอบครัว และครอบครัวเขาคือแขกที่ต้องดูแลนอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม “Afternoon talk” ให้ข้อมูลข่าวสาร สร้างความผูกพันเมื่อพนักงานทุกข์องค์กรทุกข์ด้วย ให้พนักงานรักและอยากช่วยเหลือองค์กร โดยมีการยืดหยุ่นในเรื่องเวลาในการทำงาน ทำให้มีพนักงานอาสาและได้ข้อมูลจริงในพื้นที่น้ำท่วมมาช่วยในการบริหารอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันตัวก่อนที่น้ำจะมาถึง
       
       แต่บริษัทฯ ได้รับผลกระทบทางอ้อมเพราะลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานอยู่ในนิคมต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือพนักงานเป็นเรื่องที่มาก่อนสำหรับ HR ดังนั้น เรื่องสวัสดิการสงเคราะห์โดยใช้เงินประมาณ 5 ล้าบาทเพื่อให้กู้ยืมขึ้นอยู่กับอายุงานโดยไม่เสียดอกเบี้ย และเลือกลำดับจากคนดีก่อน เพราะต้องการส่งเสริมให้คนในองค์กรเป็นคนดี นอกจากนี้ ยังอำนวยความสะดวกจัดการในเรื่องต่างๆ ให้พนักงานที่เดือดร้อน เช่น การติดต่อธนาคารเพื่อขอชะลอการชำระหนี้ หรือสามารถทำงานที่บ้าน ทำให้เกิด Chiyaboon Brothers Group Communication Network เพราะมีเป้าหมายให้พนักงานมีความสุขและทำงานเป็นทีม และผู้บริหารยังสามารถสั่งการได้โดยไม่ต้องมาที่สำนักงาน เป็นนวัตกรรมการทำงานแบบใหม่ที่เกิดขึ้น
       
       เพราะฉะนั้น HR ไม่ได้มองถึงการทำงานและการใช้เครื่องมือแบบเดิมๆ แต่มองสิ่งใหม่ๆ ด้วย เช่น การใช้เครื่องมือสื่อสาร การใช้ไอที มาพัฒนาคนให้เติบโตได้ เพราะในอนาคตการมีบุคลากรที่มีคุณภาพเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้นเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งข้อคิดของ HR คือเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ต้องพยายามดึงเป็นองค์ความรู้เพื่อให้เรามีคุณค่า และอยู่ในใจของคนในองค์กร
       
       เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
       
       สราวุฒิ พันธุชงค์ Department Manager บริษัท เอ็นโอเค พรีซิชั่นคอมโพเนนท์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า บริษัทฯ ถูกน้ำท่วมอย่างหนักเนื่องจากอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ได้รับผลกระทบมากประเมินความเสียหายเบื้องต้น 1,000 กว่าล้านบาท ในส่วนของ HR แม้ว่าทั้งเดือนตุลาคมพนักงานไม่ได้ทำงานแต่บริษัทฯ จ่ายเงินเดือนเต็ม100% ส่วนเดือนพฤศจิกายนจ่าย 75% และให้พนักงานออฟฟิศประมาณ 30 คนมาทำงาน โดยย้ายออฟฟิศชั่วคราวไปอยู่ที่ชลบุรี
       
       ส่วนการให้ความช่วยเหลือพนักงานเริ่มจากการให้สิ่งของยังชีพโดยสำรวจความต้องการก่อน เช่น ถุงดำ สุขาเคลื่อนที่ ฯลฯ และใช้ช่องทางสื่อสารทั้งโทรศัพท์มือถือและโซเชียลมีเดียกับพนักงาน แต่ในส่วนของโรงงานที่ต้องมีการเข้าไปดูเครื่องจักรที่ถูกน้ำท่วม มีการให้ “เงินพิเศษ” คือ “ค่านั่งเรือ” 700 บาทเพราะต้องใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมง “ค่านอนค้าง” 300 บาท เพราะต้องอยู่โดยไม่มีน้ำและไฟฟ้า และ “ค่าดำน้ำ (เน่า)”ที่สูงระดับอก 1,000 บาท กับพนักงานที่ติดต่อมาได้ 30 คน มีวิศวกรผู้หญิงอาสามาด้วยเพราะต้องการช่วยบริษัท
       
       ในส่วนของ HR กับการสร้างความผูกพันมีความลึกซึ้งเพราะไม่ต้องเรียกร้อง แต่ได้ใจ ซึ่งเป็นการพัฒนางานของเอชอาร์ที่ละเอียดอ่อนขึ้น ต่างจากอดีตแรงงานสัมพันธ์คือการสร้างความสัมพันธ์แค่รู้สึกดี เพราะฉะนั้น ในการบริหารจัดการองค์ความรู้ก็เช่นกัน HR ควรทำ เช่น การรวบรวมองค์ความรู้เรื่องการป้องกันน้ำท่วม การรวบรวมบทเรียนขององค์กรที่รอดพ้นวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 มาได้โดยไม่ต้องลดจำนวนพนักงาน HR ควรจะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ให้ได้ด้วยการลุกขึ้นมาทำเรื่องเหล่านี้ จึงจะเป็น HR จะทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะมีมากขึ้นในอนาคต
       
       สร้างเครือข่าย รู้จักให้
       
       ภูชิสส์ ศรีเจริญ นายกสมาคมนักฝึกอบรมแห่งประเทศไทย เล่าว่า ผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้งานฝึกอบรมหดหายไปถึง 75% เนื่องจากในช่วงปลายปีเป็นช่วงที่มีงานมาก เช่นเดียวกับธุรกิจจ้างเหมาแรงงาน ซึ่งเป็นปัญหามากเนื่องจากผู้ว่าจ้างมักจะยกเลิกสัญญาในช่วงที่เกิดอุทกภัย เช่น พนักงานพีซีประมาณ 3,000 คน ที่บริษัทจ้างเหมาต้องรับภาระจ่ายเงินเดือน 75% ต้องปรับเปลี่ยนให้ไปทำงานอื่นที่ใกล้เคียงคือกลุ่มที่ใช้เสียงได้ดีให้ทำ Tele Sale ของบริษัทประกันภัย กับกลุ่มที่พิมพ์ดีดคล่องมารับจ้างทำเฟซบุ๊ก เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ในระดับหนึ่ง
       
       แต่ต้องสื่อสารให้พนักงานเข้าใจและสมัครใจ สซึ่งการที่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้รวดเร็ว ส่วนสำคัญหนึ่งมาจากการมีเครือข่ายซึ่ง HR เรียนรู้ว่าเป็นข้อดีอย่างยิ่ง เพราะการสร้างเครือข่ายนอกจากใน HR ด้วยกันองซึ่งจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และองค์ความรู้ นอกจากนี้ ยังต้องตระหนักว่าการให้และรู้จักเปลี่ยนแนวคิดใหม่จะทำให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิม
       
       3 S - 3 CEO
       
       ดร.เบญจวรรณ บุญใจเพชร ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์พัฒนาบุคลากรทางธุรกิจ ย้ำว่า การสร้างความผูกพันขององค์กรเป็นการทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้จับต้องได้ ถ้าพนักงานมีความผูกพันกับองค์กรจะมี 3 S คือ Say การพูดถึงองค์กรในทางที่ดี ยิ่งในช่วงภาวะวิกฤตองค์กรยิ่งต้องการรักษาภาพลักษณ์ ถ้าผูกพันจะพูดดี Stay การอยู่กับองค์กรแบบทุ่มเท และตั้งใจอย่างจริงจัง และ Strive แรงอึดหรือสมรรถนะในการทำงานที่มีมากมายให้กับองค์กรโดยไม่เหน็ดเหนื่อย
       
       ดังนั้น การเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสในการสร้างความรักความผูกพันของพนักงานให้เพิ่มขึ้นองค์กรจึงเป็นสิ่งที่ HR ควรจะทำส่วนการจะผลักดันผู้บริหารให้ทำตามในเรื่องใดนั้น สราวุฒิ พันธุชงค์ Department Manager บริษัท เอ็นโอเค พรีซิชั่นคอมโพเนนท์ (ประเทศไทย) จำกัด แนะนำว่า HR ต้องรู้จักผู้บริหารของตนเองว่าเป็นอย่างไร เขาแบ่งผู้บริหารเป็น 3 ประเภทคือ

1.ซีอีโอ 1.0 คือ เถ้าแก่ที่มองแต่ Profit หรือผลกำไร กับ Productivity หรือผลงานที่ได้ออกมา

2.ซีอีโอ 2.0 คือ คนที่มีความรู้ รู้หลักการ และทฤษฎีต่างๆ ในการบริหาร และ

3.ซีอีโอ 3.0 คือ คนที่มองเรื่องจิตวิญญาณ

ดังนั้น HR ต้องมองให้ออก และทำอย่างมีกลยุทธ์

ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์    22 ธันวาคม 2554