ผู้เขียน หัวข้อ: พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย บ่งบอกความเป็นไทยในผืนธง  (อ่าน 1089 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
แค่คนไทยได้เข้าใจคำว่า "ไทย" ผ่านเรื่องราวของ "ธงชาติ" นั่นคือทั้งหมดที่พฤฒิพล ประชุมผล คาดหวังจากการลงทุนลงแรงสร้างพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย

"ธงชาติไทย" เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย บ่งบอกถึงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีในความเป็นไทยซึ่งมีความหมายแสดง ความเป็นเอกราช อธิปไตยของชาติ รวมทั้งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่...คนไทยจำนวนไม่น้อยที่เกิดบนแผ่นดินไทย ถือบัตรประชาชนคนไทย เห็นธงชาติไทยอัญเชิญขึ้นเสากันเกือบทุกวัน กลับไม่รู้ประวัติความเป็นมาของธงชาติไทย ธงของชาติตนเองว่ามีที่มาอย่างไร

 ด้วยความต้องการที่จะผลักดันให้ "ธงชาติไทย" คงความหมายถึงความรักชาติยังคงอยู่ในจิตใจของลูกหลานไทยภายภาคหน้า ทำให้ พฤฒิพล ประชุมผล นักธุรกิจวัย 45 ปี ตัดสินใจก่อตั้ง "พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย" เพื่อให้คนไทยเข้าใจในประวัติความเป็นมาของธงชาติไทยอย่างถูกต้อง รวมถึงเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดความรู้สึกรักชาติ กตัญญูต่อแผ่นดินเกิด และปรารถนาที่จะทำประโยชน์ทดแทนคุณแผ่นดิน ผ่านเรื่องราวความเป็นมาของ "ธงชาติ"

 เพื่อเติมเต็มความฝันที่จะได้เห็นคนไทยได้มี "พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย" เป็นสถานที่สำหรับบ่งบอกความเป็นชาติ และความเป็นเอกราชผ่านผืนธง พฤฒิพล จึงตัดสินใจกู้เงินจากธนาคาร เพื่อมาสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย จนสำเร็จเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชาติ ที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาของธงชาติไทย พร้อมจัดเก็บสิ่งของและวัตถุชิ้นเอกที่เกี่ยวเนื่องกับธงชาติไทยให้คนไทยได้เรียนรู้และชื่นชม

 "ผมเรียนจบทางด้านการตลาดจากอเมริกา แล้วก็มาเปิดบริษัทเอ็ม-มิกซ์ จำกัด ธุรกิจหลักๆ คือทำขนมไทย Amazing Thai Desserts เป็นขนมไทยโบราณบรรจุกล่อง ส่งขายที่ คิง เพาเวอร์ ที่เดียว นั่นเป็นเรื่องธุรกิจที่ต้องทำเพื่อเลี้ยงตัว ส่วนตัวพิพิธภัณฑ์จริงๆ แล้วทำมานานมาก ตอนแรกใช้ตัวบ้านหลังเก่าที่คุณพ่อสร้างไว้ ไม่มีห้องจัดแสดง คือเก็บของไว้ในกล่อง เวลาคนมาชมก็ค่อยนำออกมาอธิบาย มันลำบากมาก จนกระทั่งปี 2545 เลยคิดว่าจะสร้างตัวตึกพิพิธภัณฑ์แต่ยังไม่กล้ากู้ธนาคาร จนกระทั่งปี 2548 ตัดสินใจว่า...สู้ตาย ก็เริ่มลุย เอาที่ดินของแม่ค้ำประกันกู้แบงค์มา 5 ล้าน ผ่อนส่งนาน 15 ปี และก็สร้างพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทยจนสำเร็จ"

 นอกจากตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายในการ "ตามล่า" หาวัตถุจัดแสดงที่เป็น "ชิ้นเอก" จากทั่วโลก เพื่อเติมเต็มข้อมูลความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของธงชาติไทยให้สมบูรณ์ เป็นอีกภารกิจที่ต้องทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ และที่สำคัญ "กำลังทรัพย์"

 "ที่ต้องใช้เงินเยอะก็คือ วัตถุชิ้นเอกที่นำมาจัดแสดง บางชิ้นก็หลายแสน เช่นธงช้างผืนสมบูรณ์ ธงสยามแดงขาว 5 ริ้ว พ.ศ.2459 ซึ่งเหลือผืนเดียวในโลก ผมต้องจ่ายให้พิพิธภัณฑ์ในอเมริกาถึงแสนสองหมื่นบาท หนังสือพ.ร.บ.ธงเล่มแรกของสยามก็เล่มละสี่หมื่นห้า รวมๆ แล้ว ก็เป็นเงินหลักล้านน่ะครับ"

  นอกจาก ธงช้างเผือก ธงชาติสยามผืนเก่าดั้งเดิมสำหรับรับเสด็จรัชกาลที่ 5 ธงแดงขาวห้าริ้วต้นแบบธงไตรรงค์ปีพ.ศ.2459 ผืนเก่าแก่ที่หลงเหลือผืนสุดท้ายในโลก และธงไตรรงค์ ที่พิมพ์คำว่า SIAM บนหัวธง และหนังสือ "Flags of Maritime Nations" ซึ่งเป็นเอกสารทางราชการของกองทัพเรืออเมริกา พิมพ์โดยสภาคองเกรส ปีพ.ศ.2425 ซึ่งถือเป็นเอกสารสำคัญที่พิมพ์รูปธงชาติสยามที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ

 รวมไปถึงหนังสือสำคัญที่สุดของประเทศสยามเกี่ยวกับธงชาติ คือ "พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.110" ซึ่งถือเป็นกฎหมายธงเล่มแรกของสยาม รวมถึงวัตถุชิ้นเอกอื่นๆ อีกมากมาย

 แม้สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้พฤฒิพลต้องใช้เงินทุนส่วนตัวอย่างมหาศาลเกินกำลังที่มี โดยไม่ทำให้เกิด "รายได้" กลับมาแต่อย่างใด แต่ก็ไม่ทำให้ย่อท้อหรือหมดกำลังใจ เพราะรู้ว่าสิ่งที่กำลังทำมีคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและแผ่นดินที่เกิด

 "ในส่วนของธุรกิจส่วนตัวก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็อดตายและก็โดนแบงค์ยึดที่ดินของแม่แน่ใช่ไม๊ครับ ส่วนนั้นก็ยังทำอยู่เพื่อเลี้ยงชีวิตและเลี้ยงพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่เราก็แบ่งว่าอะไรคือธุรกิจอะไรคือความกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด เพราะฉะนั้นในส่วนของพิพิธภัณฑ์จึงไม่มีการหารายได้ครับ ไม่ได้เก็บค่าเข้าชม ไม่ได้ขายของในนามพิพิธภัณฑ์ด้วย เพื่อนๆ นักอนุรักษ์ถึงว่าผมบ้า (หัวเราะ) แต่ผมไม่อยากให้คนคิดว่าผมทำพิพิธภัณฑ์เพราะอยากสร้างรายได้จากตรงนี้ ผมทำเพราะอยากมอบให้แผ่นดิน จริงๆ มันลำบากครับ ถ้าไม่บ้าพอยืนยันว่าทำไม่ได้ เพราะการที่เราเอาเงินจากธุรกิจมาเลี้ยงพิพิธภัณฑ์ทำให้ไม่มีเงินเก็บ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็เสียวหัวใจ ใช้แค่ประกันสังคม ไม่มีโอกาสเข้าโรงพยาบาลดีๆ เพราะเราต้องเอาเงินมาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟเวลาคนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ แต่มีความสุข เพราะได้ทำประโยชน์ให้คนไทย และประเทศไทยที่เราอยู่"

 เพียงแค่คนไทยได้เข้าใจคำว่า "ไทย" ผ่านเรื่องราวของ "ธงชาติ" นั่นคือทั้งหมดที่พฤฒิพลคาดหวังจากการลงทุนลงแรงสร้างพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย

 "บางทีเราเห็นครูบาอาจารย์สอนเรื่องธงชาติไทยแต่ข้อมูลผิด ผมฟังมาบ่อยมาก มันน่าละอายใจนะ อยากให้ทุกคนที่เข้ามากลับไปเล่าเรื่องประวัติธงชาติไทยอย่างถูกต้อง อยากให้คนไทยได้รู้ว่าเราอยู่ได้เพราะเรามีชาติ ผมอยากเห็นคนไทยกลับมามองความเป็นชาติมากขึ้น"
............
พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย ตั้งอยู่เลขที่ 15 ซอยลาดพร้าว 13 เปิดให้เข้าชมทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่ 10.00 น. กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถนัดหมายเพื่อเข้าชมในวันอื่นๆ พร้อมฟังบรรยาย ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2939 9920 ดูพิพิธภัณฑ์ออน์ไลน์ได้ที่ www.thaiflag.org และ www.siamflag.org

โดย : ชาธิป สุวรรณทอง
กรุงเทพธุรกิจ   12 มกราคม 2555