ผู้เขียน หัวข้อ: ดูกันจะจะ!! เปิดผลสำรวจ ธุรกิจไหนปรับ "เงินเดือนสูง" ใครจ่าย "โบนัสหนัก"?  (อ่าน 1430 ครั้ง)

single

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 17
    • ดูรายละเอียด
ผลสำรวจแนวโน้มทรัพยากรบุคคลจาก ทาวเวอร์ส วัทสัน เรื่องแนวโน้มและประเด็นท้าทายด้านทรัพยากรบุคคลในประเทศไทยปี 2554 หรือ 2011 Flash Survey Result : HR Trends and Challenging Issues in Thailand 2011 ที่เผยแพร่ออกมาเพื่อสำรวจประเด็นด้านทรัพยากรบุคคลใน 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ การปรับขึ้นเงินเดือน การจ่ายโบนัสตามผลงาน และอัตราการเข้า-ออกของพนักงานตามรายอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการสำรวจข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2553-2554 และคาดการณ์แนวโน้มด้านทรัพยากรบุคคลตามรายอุตสาหกรรมของปี 2555

พบว่าในเรื่องการปรับขึ้นเงินเดือน ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย มีการปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป นับตั้งแต่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเมื่อปี 2552 โดยภาพรวมอุตสาหกรรมทั่วไปในประเทศไทยยังมีการปรับอัตราเงินเดือนแก่พนักงานเพิ่มขึ้นทุกปีในอัตราเฉลี่ย 5.7-6.2% ระหว่างปี 2553-2555

ส่วนในปี 2555 นี้ ทาวเวอร์ส วัทสันคาดการณ์ว่าจะมี 3 อุตสาหกรรมหลักที่จะปรับอัตราเงินเดือนแก่พนักงานสูงสุดเรียงตามลำดับ ได้แก่
อุตสาหกรรมการผลิต 7.1%
อุตสาหกรรมการบริการทาง การเงิน 6.5% และ
อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค 6.4%

ขณะที่ภาพรวมการปรับฐานเงินเดือนของทุกอุตสาหกรรมในปี 2555 มีค่าเฉลี่ยที่ 6.2%

ด้านการจ่ายโบนัสแก่พนักงานแปรผันตามผลงาน หรือ variable bonus ซึ่งหลายบริษัทนิยมนำมาใช้เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและผูกใจพนักงานมากขึ้น เป็นการจ่ายโบนัสที่บางบริษัทใช้ทดแทนและเพิ่มเติมจากการจ่ายโบนัสแบบเก่า หรือ fixed bonus โดยผลสำรวจพบว่าภาพรวมการจ่ายโบนัสแปรผันตามผลงานของพนักงานและผลประกอบการของบริษัทในอุตสาหกรรมทั่วไประหว่างปี 2554-2555 มีค่ากลางที่ 3.4 เดือน หรือคิดเป็น 28.3% ของฐานเงินเดือนทั้งปี

โดยในปี 2554 มี 3 อุตสาหกรรมที่จ่ายโบนัสแปรผันตามผลงานมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 5.5 เดือน อุตสาหกรรมการจัดการสินทรัพย์ 4.8 เดือน และธุรกิจประกัน 3 เดือน ขณะที่ในปี 2555 ทั้ง 3 อุตสาหกรรมดังกล่าวยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่มีการจ่ายโบนัสแปรผันตามผลงานสูงสุด โดยมีการคาดการณ์การจ่ายโบนัสตามผลงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 5.6 เดือน อุตสาหกรรมการจัดการสินทรัพย์ 4.8 เดือน ขณะที่ธุรกิจประกันจ่ายโบนัสตามผลงานในปี 2555 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเป็น 3.4 เดือน

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจด้านอัตราการเข้า-ออกของพนักงาน หรือ staff turnover ยังพบว่า แนวโน้มอัตราการเข้า-ออกของพนักงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยตลอด 8 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลงทุกปี โดยในปีที่ผ่านมามีอัตราการเข้า-ออกของพนักงานในภาพรวมของทุกอุตสาหกรรมอยู่ที่ 7.6% และอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเข้า-ออกของพนักงานสูงสุดคือ อุตสาหกรรมสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค ที่มีอัตราเฉลี่ย 11.1% ตามมาด้วยอุตสาหกรรมด้านการประกัน 10.1% และธุรกิจบริการทางการเงิน 8.6% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ยังพบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเข้า-ออกของพนักงานต่ำสุดคือ 4.2% ในปี 2554 และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปีต่อปี อัตราการเข้า-ออกของพนักงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศไทยในปี 2554 ยังลดลง เมื่อเทียบกับปี 2553 ที่มีอัตราการเข้า-ออกของพนักงานอยู่ที่ 4.4% ด้วย

นอกจากนี้ ในการสำรวจดังกล่าวของทาวเวอร์ส วัทสัน ยังได้ศึกษาถึงผลกระทบจากนโยบายเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ และค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับผู้จบการศึกษาปริญญาตรีของรัฐบาลชุดปัจจุบันไว้ด้วย

โดยผลสำรวจจากความคิดเห็นของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในเรื่องนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำพบว่า 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่เห็นด้วย และมีความกังวลต่อนโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยส่วนใหญ่เป็นกังวลว่านโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบในทางลบต่อธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี

ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต 68% อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค 44% อุตสาหกรรมยานยนต์ 39% และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 37%

อีกทั้ง 62% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังระบุว่า นโยบายนี้จะทำให้กำไรของธุรกิจลดลง และอีก 38% มองว่าจะทำให้การจ้างงานลดลง ผู้ตอบแบบ สอบถามอีก 69% บอกว่าจะเป็นภาระต่อการทำกำไรของธุรกิจ ขณะที่ตัวแทนธุรกิจที่ตอบแบบสอบถามเหล่านี้ 84% ควบคุมต้นทุนจากการดูเรื่องต้นทุนแรงงาน 84% และจากการควบคุมต้นทุนด้านการจัดซื้อและขายสินค้าและบริการ 68%

ส่วนในระยะยาว หลายบริษัทให้ความเห็นว่า ธุรกิจจำเป็นต้องมีมาตรการรับมือกับนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ภายหลังนโยบายนี้มีผลบังคับใช้ด้วยการใช้เครื่องมือหรือเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานคน 37% หรือด้วยการเพิ่มราคาสินค้าและผลิตภัณฑ์ 33% รวมถึงการพิจารณาเรื่องการลดกำลังแรงงาน 28% นอกเหนือจากมาตรการอื่น ๆ ที่จะนำมาใช้ อาทิ การลดกำลังการผลิต 6% การย้ายไปประกอบกิจการในประเทศเพื่อนบ้าน 3% การใช้แรงงานข้ามชาติ 3% หรือแม้กระทั่งการปิดกิจการ 2%

นับว่าในปี 2555 ประเด็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ และการดำเนินการภายหลังนโยบายภาครัฐมีผลบังคับใช้จะเป็นเรื่องที่ท้าทายต่องานบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งหลายธุรกิจและอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์รับกับความเปลี่ยนแปลงต่อไป

ประชาชาติธุรกิจ 11 มกราคม พ.ศ. 2555