ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 11-16 ม.ค.2558  (อ่าน 767 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 11-16 ม.ค.2558
« เมื่อ: 24 มกราคม 2015, 12:47:14 »
1. สนช.ซักถาม “ป.ป.ช.-นิคม-สมศักดิ์” แล้ว ไร้เงา “ยิ่งลักษณ์” ด้าน สนช.ดัดหลัง ไม่ให้ตัวแทนแจง นัดลงมติถอดถอน 23 ม.ค.!

        หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้มีการแถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 8 ม.ค. และแถลงเปิดคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ม.ค. รวมทั้งกำหนดวันประชุมเพื่อซักถามนายนิคมกับ ป.ป.ช.และนายสมศักดิ์กับ ป.ป.ช.ในวันที่ 15 ม.ค. และซักถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์กับ ป.ป.ช.ในวันที่ 16 ม.ค.นั้น
       
        ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด(15 ม.ค.) ที่ประชุม สนช.เริ่มด้วยการซักถาม ป.ป.ช.และนายนิคมก่อน โดยถาม ป.ป.ช.8 คำถาม และถามนายนิคม 7 คำถาม เช่น ถาม ป.ป.ช.ว่า ป.ป.ช.ชี้มูลนายนิคมว่าใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ถามว่า การกระทำดังกล่าวสร้างความเสียหายให้แก่ใคร ซึ่งนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะตัวแทน ป.ป.ช.ตอบว่า การเปลี่ยนแปลงหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อที่มา ส.ว. ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว ทำให้ ส.ว.กลายเป็นสภาผัวเมียเหมือนเมื่อปี 2540 ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวนำไปสู่การต่อต้านจากสังคม จนมีประชาชนออกมาต่อต้านจำนวนมาก และทำให้เกิดการรัฐประหาร และว่า แม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถชี้วัดเป็นตัวเงินได้ แต่สร้างความเสียหายทางสังและการปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด และหลายประเทศกำลังคิดเรื่องการให้ชดใช้ค่าเสียหายทางสังคมจากการทุจริตหรือผ่านกฎหมายโดยไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายจนเกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่
       
        ด้านนายนิคมได้ตอบข้อซักถามของคณะ กมธ.ซักถามของ สนช.เรื่องตัดสิทธิผู้สงวนคำแปรญัตติ 57 คน และรวบรัดลงมติเพื่อผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.เพื่อให้ตัวเองได้สิทธิกลับมาลงสมัคร ส.ว.อีกครั้ง โดยถามกลับว่า การคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้ง ส.ว.ทั้งหมด ทำให้ประเทศล่มจมตรงไหน และว่า อย่าห่วงว่าวุฒิสภาจะเป็นสภาผัวเมีย เพราะสภาแห่งนี้ก็มีสามีภรรยา ทำไมไม่เห็นพูดบ้าง พร้อมยืนยันว่า การเป็นประธานการประชุมของตนไม่มีการรวบรัด แต่ดำเนินการประชุมตามข้อบังคับ
       
        เมื่อเสร็จสิ้นการซักถามนายนิคมแล้ว กมธ.ซักถามได้ซักถาม ป.ป.ช.และนายสมศักดิ์ต่อ โดยถาม ป.ป.ช.9 คำถาม และถามนายสมศักดิ์ 6 คำถาม ทั้งนี้ นายวิชา มหาคุณ ตัวแทนฝ่าย ป.ป.ช.ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการชี้มูลความผิดนายสมศักดิ์ว่า มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ เพราะนำร่างที่มีการจัดทำใหม่โดยมีเนื้อหาแตกต่างจากร่างเดิมมาให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา รวมทั้งมีการรวบรัด ปิดอภิปรายโดยไม่ฟังเสียงข้างน้อย ทำผิดข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการแปรญัตติ และใช้เสียงข้างมากทำลายเสียงข้างน้อย ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญและผิด พ.ร.บ. ป.ป.ช.ด้วย
       
        ด้านนายสมศักดิ์ ซึ่งสัปดาห์ก่อนไม่ได้มาแถลงเปิดคดีถอดถอน แต่ครั้งนี้ตัดสินใจมาตอบข้อซักถามของ สนช.ด้วยตนเอง ได้ปฏิเสธเรื่องการปลอมแปลงเอกสารร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมอ้างว่า ก่อนบรรจุเข้าวาระการประชุม สามารถแก้ไขได้ เป็นขั้นตอนตามปกติ และว่า หากสมาชิกรัฐสภาเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นร่างปลอม ทำไมไม่ประท้วง ปล่อยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
       
        ส่วนการซักถาม ป.ป.ช.และ น.ส.ยิ่งลักษณ์เมื่อวันที่ 16 ม.ค.นั้น กมธ.ซักถาม สรุปว่าจะถาม ป.ป.ช.14 คำถาม และถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ 35 คำถาม ซึ่งลดลงจาก 60 คำถาม แต่ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งสัปดาห์ก่อนมาแถลงเปิดคดีถอดถอนด้วยตนเอง แต่คราวนี้กลับไม่มาตอบข้อซักถามของ สนช.ด้วยตนเอง โดยไม่แจ้งเหตุผล และส่งอดีตรัฐมนตรีพร้อมทนายความรวม 9 คนมาเป็นผู้ตอบข้อซักถามแทน เช่น นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ,นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฯลฯ แต่ สนช.ไม่อนุญาตให้ตัวแทนตอบข้อซักถามแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างไรก็ตาม สนช.พยายามให้โอกาสด้วยการให้ตัวแทนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ส่งมา โทรศัพท์ติดต่อให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาตอบข้อซักถามด้วยตนเอง แต่ตัวแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างว่า ไม่สามารถติดต่อได้
       
        สุดท้าย ได้ข้อยุติว่า คณะ กมธ.ซักถาม จะซักถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ แบบไม่ต้องการคำตอบ เพราะไม่ต้องการคำตอบจากตัวแทน แต่ตัวแทนสามารถนำข้อซักถามไปให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้ประกอบการแถลงปิดคดีได้ จากนั้นได้เริ่มซักถามฝ่าย ป.ป.ช.ก่อน เกี่ยวกับการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเหตุใดเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งแล้ว ป.ป.ช.จึงยังดำเนินการถอดถอนอยู่ ซึ่ง นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ตอบว่า เหตุที่ยังดำเนินการถอดถอน เนื่องจากยังมีโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และว่า ป.ป.ช.เคยมีหนังสือเตือน ครม.ยิ่งลักษณ์ถึง 2 ครั้งว่าไม่ควรดำเนินโครงการรับจำนำข้าว เพราะเปิดช่องทุจริต แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็นิ่งเฉย กระทั่งสร้างความเสียหายมากมายมหาศาล และทำให้ชาวนาฆ่าตัวตายไป 10 กว่าราย และล่าสุด ปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้ไปแจ้งความเอาผิดคู่สัญญาโครงการจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์แล้ว ข้อหาฉ้อโกง สร้างความเสียหาย 6.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตัวเลขปิดบัญชีการขาดทุนโครงการจำนำข้าวเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 พบว่าขาดทุนสะสม 5.18 แสนล้านบาท
       
        นายวิชา ยังยืนยันด้วยว่า ป.ป.ช.ไม่ได้เร่งรัดคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยใช้เวลาไต่สวนคดีนี้ถึง 1 ปี 10 เดือน ไม่ใช่ 21 วันตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ และตลอดเวลา 1 ปี 10 เดือนเป็นช่วงเวลายากลำบากที่สุดเพราะถูกปิดล้อมสำนักงาน ต้องหอบหิ้วสำนวนคดีติดตัวไปตลอด ป.ป.ช.ไม่เคยเจอคดีใดที่ลำบากและรุนแรงขนาดนี้ จะจดจำไว้ตลอดชีวิต นายวิชา ยังตอบข้อซักถามเรื่องการปรองดองด้วยว่า กระบวนการปรองดองกับการนำผู้ทำผิดมาลงโทษมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หากนำมารวมกันจะทำให้กลไกการปรองดองผิดเพี้ยน ในกระบวนการทางการเมืองการพิจารณาคดีต้องเป็นไปตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม กระบวนการก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงขนาดนี้ ชดใช้ทั้งชาติก็คงไม่หมด เพราะเอาภาษีของประชาชนไปละเลงให้เกิดผลประโยชน์ส่วนตน ไหลเข้ากระเป๋าของบุคคล หากจะให้ ป.ป.ช.ยุติก็เป็นการปรองดองที่ผิดวิธี
       
        สำหรับการซักถามฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ดำเนินไปโดยที่ไม่ต้องมีผู้ตอบ เพราะ กมธ.ซักถามต้องการคำตอบจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เท่านั้น ไม่ใช่ตัวแทน ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ สนช.กำหนดให้คู่กรณี คือ ป.ป.ช.และนายนิคม-นายสมศักดิ์ แถลงปิดคดีในวันที่ 21 ม.ค. ส่วน ป.ป.ช.และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดีวันที่ 22 ม.ค. พร้อมนัดประชุมลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนายนิคม-นายสมศักดิ์-น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 23 ม.ค. โดยการลงมติ จะใช้วิธีขานชื่อและเข้าคูหาลงคะแนนลับ
       
       2. สปช.มีมติล้มเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ก่อนชง รบ. ด้าน “บิ๊กตู่” ลั่น ยังไงก็ต้องเดินหน้า พร้อมขู่ห้ามม็อบ!

        เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ได้มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.เป็นประธาน เพื่อพิจารณารายงานการศึกษาเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ปฏิรูปพลังงานเป็นผู้เสนอ
       
        ทั้งนี้ นายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปพลังงาน แถลงผลการศึกษา โดยสรุปว่า มี 3 แนวทาง คือ 1.ให้กระทรวงพลังงานเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัสตามแผนงานในปัจจุบัน 2.ยกเลิกการใช้ระบบสัมปทาน และนำระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้ในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และ 3.ให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัส โดยให้กระทรวงพลังงานศึกษาและเตรียมการให้มีระบบแบ่งปันผลผลิตที่เหมาะกับศักยภาพของการผลิตปิโตรเลียมให้พร้อมไว้เพื่อเป็นทางเลือก แล้วให้รัฐบาลตัดสินใจในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งต่อๆ ไป ซึ่ง กมธ.ปฏิรูปพลังงานเห็นพ้องกัน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน จึงมีมติเสนอทางเลือกที่ 3 ต่อที่ประชุม สปช.เพื่อพิจารณาเสนอ ครม.ต่อไป
       
        หลังสมาชิก สปช.ใช้เวลาอภิปรายประมาณ 9 ชั่วโมง ได้มีการลงมติว่าจะเห็นด้วยกับวาระพิจารณาศึกษาเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่คณะ กมธ.ปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมากเสนอหรือไม่ ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วย 130 ต่อ 79 เสียง และงดออกเสียง 21 เสียง
       
        วันต่อมา(14 ม.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า ปาฏิหาริย์มีจริง ไม่เคยคิดมาก่อนว่า สปช.จะสามารถโหวตไม่เห็นด้วยกับรายงานของ กมธ.ปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมากที่มีข้อสรุปให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ได้ด้วยคะแนนเสียงขาดลอย และว่า ส่วนตัวแล้วภูมิใจอย่างยิ่ง เพราะได้มีส่วนร่วมมาตั้งแต่ปี 2551 ในฐานะกรรมาธิการตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ซึ่งเป็นหนึ่งในพลังสำคัญที่มีส่วนยับยั้งความพยายามในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ของรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว และว่า แม้หนทางการต่อสู้ร่วมกับภาคประชาชนเพื่อให้ปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะจะยังอยู่อีกยาวไกล แต่ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นถือเป็นก้าวที่สำคัญยิ่ง
       
        ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะ กมธ.วิสามัญกิจการ สปช.(วิป สปช.) แถลงว่า สปช.จะส่งรายงานที่ที่ประชุม สปช.มีมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมากที่เสนอให้รัฐบาลเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยระบบไทยแลนด์ทรีพลัส ให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป โดยหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) จะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ความเห็นของ สปช.เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ใช้ประกอบการพิจารณาว่าจะเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หรือจะต้องทบทวน
       
        ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ก็ส่งสัญญาณว่า รัฐบาลอาจไม่ทำตามมติของ สปช. โดยบอกว่า ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะทำอย่างไรต่อ แต่โดยทั่วไป รัฐบาลจะให้เกียรติ สปช. โดยรับรายงานมา หากทำไม่ได้ ก็ไม่ทำ หากทำได้ก็จะทำ ถ้าทำได้บางส่วนก็ทำบางส่วน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ แต่ทุกเรื่อง เพราะ สปช.อาจขาดข้อมูลบางอย่าง หรืออาจไม่ทราบว่ารัฐบาลทำอะไรไปบ้างแล้ว จะให้ชะลอคงไม่ได้แล้ว
       
        ด้านนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน และรองประธาน กมธ.ปฏิรูปพลังงาน บอกว่า ได้หารือกับนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เกี่ยวกับมติของ สปช.แล้ว ยืนยันว่า กระทรวงพลังงานจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบาย และพร้อมจะเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตามกรอบเดิมที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้จะรอให้ สปช.ส่งรายงานผลสรุปอย่างเป็นทางการมา เพื่อดูข้อเสนอต่างๆ แต่หลักการในปัจจุบันยังไม่เปลี่ยนแปลง
       
        ขณะที่นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก็ยืนยันเช่นกันว่า ขณะนี้การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังเป็นไปตามมติ ครม. โดยจะปิดรับข้อเสนอในวันที่ 18 ก.พ.2558 เช่นเดิม พร้อมยืนยันว่า การดำเนินการทั้งหมดไม่ได้เร่งรีบ เพราะเตรียมการมาตั้งแต่ปี 2553 ด้วยเหตุที่ไทยต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น แต่การจัดหาในประเทศเริ่มน้อยลง
       
        ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พูดถึงกรณีที่ สปช.มีมติให้ยกเลิกการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ว่า ไม่ใช่เรื่องเสียหาย และมีเวลาที่จะพิจารณา เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดโลกราคาลดต่ำลงมาก และอาจจะต่ำอีกนานพอสมควร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทยในการนำเข้า
       
       สำหรับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ม.ค. ได้ประกาศแล้วว่า ยังไงการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ก็ต้องเดินหน้าอยู่แล้ว โดยเป็นอำนาจของกระทรวงพลังงาน พร้อมย้ำว่า จะไม่ให้มีการเดินขบวนประท้วงการเปิดสัมปทานในครั้งนี้ “กระทรวงพลังงานเดินหน้าอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องเดิน แต่ไม่ใช่เดินในวันนี้ พรุ่งนี้ เพราะจะมีการเปิดสัมปทานในเดือน ก.พ. ส่วนบางกลุ่มที่จะออกมาเรียกร้องยืนยันว่าออกมาไม่ได้ ไม่ให้ออก”
       
        ผู้สื่อข่าวถามว่า จะทำอย่างไรกับกลุ่มที่เคยออกมาร้องเรียนก่อนหน้านี้ นายกฯ กล่าวว่า ทุกกลุ่ม รวมถึงไม่ให้มีการจัดเวทีระดมความเห็นด้วย หากไม่เห็นด้วยเมื่อมีการเสนอมา เราก็รับทราบ แต่กฎหมายเขียนว่าอย่างไร ก็ต้องว่าไปตามนั้น วันหน้าหากมีปัญหามา ไอ้พวกนี้ได้เข้ามารับผิดชอบด้วยหรือเปล่า สมมติว่าทำสัมปทานนี้ไม่ได้ อีก 6 ปีข้างหน้า มันไม่มีน้ำมันขึ้นมา ไอ้คนพวกนี้รับผิดชอบไหม
       
       3. กมธ.ยกร่างฯ เดินหน้าร่าง รธน.รายมาตรา เพิ่มอำนาจ ปชช.ยื่นศาล รธน.ฟันล้มล้างการ ปค. แต่ยกเลิก “โทษยุบพรรค”!

        สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้ประชุมหลายวันติดต่อกัน เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา หลังจากคณะอนุ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เป็นประธาน ได้เสนอร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่พิจารณาในเบื้องต้นมาแล้ว
       
        สำหรับประเด็นที่มีการปรับแก้จากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่น่าสนใจ ได้แก่ มาตรา 7 ซึ่งเดิมรัฐธรรมนูญ 2550 มีแค่วรรคหนึ่ง ที่ระบุว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้การกระทำหรือวินิจฉัยเป็นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แต่ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้เพิ่มวรรคสอง เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรในการวินิจฉัยชี้ขาด โดยระบุว่า “ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำหรือการวินิจฉัยกรณีใดตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนก็ได้ แต่สำหรับศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด ให้กระทำได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดีและเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด”
       
        นอกจากนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ได้มีการปรับแก้โดยเพิ่มอำนาจให้ประชาชนที่พบเห็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลกระทำการเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยชี้ขาดได้ ไม่ต้องร้องผ่านอัยการสูงสุด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโทษของบุคคลที่กระทำการเข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ หรือกระทำการเพื่อให้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น กมธ.ยกร่างฯ ได้ตัดคำว่า “พรรคการเมือง” ออก เนื่องจากผู้กระทำการ อาจเป็นบุคคลใดก็ได้ ซึ่งเมื่อตัดคำว่าพรรคการเมืองออก เท่ากับว่า ความผิดของพรรคการเมืองจะไม่มี จึงไม่มีโทษในส่วนของยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ส่วนบทลงโทษของการล้มล้างการปกครองหรือล้มรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร จะไปกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกต่อไป
       
        สำหรับมาตราที่ว่าด้วยเสรีภาพของสื่อมวลชนในการประกอบวิชาชีพนั้น กมธ.ยกร่างฯ ได้ปรับเพิ่มถ้อยคำเกี่ยวกับการห้ามครอบงำสื่อมวลชน ให้ครอบคลุมถึงผู้ถือหุ้นที่อาจเข้ามาผูกขาดการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร นอกจากนี้ยังห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน ไม่ว่าจะในนามตนเองหรือให้ผู้อื่นถือหุ้นแทน รวมทั้งห้ามรัฐให้เงินหรือทรัพย์สินเพื่ออุดหนุนกิจการสื่อมวลชนของเอกชน หรือซื้อโฆษณาสื่อมวลชน เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อการนั้น
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า มีบางคำบางเรื่องที่เป็นเรื่องใหม่ ได้ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกด้วย เช่น ในมาตราเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ที่ระบุว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน จะเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเพราะความแตกต่างเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ เพศสภาพ ฯลฯ ไม่ได้ ซึ่งคำว่า “เพศสภาพ” ไม่เคยถูกระบุในรัฐธรรมนูญมาก่อน ทำให้การคุ้มครองครอบคลุมทุกเพศที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด
       
        นอกจากนี้ในส่วนของเสรีภาพของบุคคล ที่บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยการพูด เขียน พิมพ์ โฆษณา ฯลฯ นั้น นอกจากจะครอบคลุมถึงสื่อในโลกออนไลน์แล้ว ยังมีการกำหนดเสรีภาพที่จะกระทำมิได้ว่ามีหลายประการ เช่น เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ฯลฯ แต่ประเด็นใหม่ก็คือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนาหรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ เพิ่มส่วนนี้ขึ้นมา เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้ถ้อยคำที่ทำให้เกิดการเกลียดชัง หรือที่เรียกว่า Hate Speech
       
        ทั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้อนุมัติเวลาออกอากาศโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยให้ กมธ.ยกร่างฯ ได้สื่อสารกับสังคม เพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของ กมธ.ยกร่างฯ รวมถึงความคืบหน้าของการยกร่างรัฐธรรมนูญทุกสัปดาห์ๆ ละ 1 วัน ผ่านรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 18.00-18.15 น. เริ่มออกอากาศวันแรก วันที่ 15 ม.ค.
       
       4. “พระพรหมสุธี” ถูกปลดพ้นกรรมการ มส.- ถูกพักหน้าที่เจ้าอาวาสวัดสระเกศ เหตุใช้จ่ายงบจัดพิธีศพ “สมเด็จเกี่ยว” ไม่โปร่งใส!

        เมื่อวันที่ 15 ม.ค. นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เผยว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้มีพระบัญชาให้พระพรหมสุธี(เสนาะ ปญญาวชิโร) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ออกจากตำแหน่งกรรมการ มส.ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.เป็นต้นไป โดยตนได้ลงนามสนองพระบัญชาดังกล่าวแล้ว
       
        นายสุวพันธุ์ เผยด้วยว่า พระบัญชาให้พระพรหมสุธีออกจากกรรมการ มส.ครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่ประชุมกรรมการ มส.ได้พิจารณารายงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่ตรวจสอบงบประมาณจัดงานพระราชทานเพลิงสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จำนวน 67 ล้านบาท
       
        มีรายงานว่า พระพรหมสุธีถูกร้องเรียนกล่าวหาหลายเรื่อง นอกจากเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณจัดงานพระราชทานเพลิงสมเด็จเกี่ยวจำนวน 67 ล้านบาทที่ สตง.ตรวจสอบแล้ว ยังมีการร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ตรวจสอบการอนุมัติการใช้จ่ายงบประมาณนี้ด้วย รวมทั้งร้องเรียนให้ตรวจสอบทรัพย์สินของพระพรหมสุธี ที่มีการกล่าวหาว่ามีจำนวนมากผิดปกติ ซึ่งกรรมการ มส.ก็ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ด้วย
       
        ทั้งนี้ นอกจากพระพรหมสุธีจะถูกปลดออกจากกรรมการ มส.แล้ว ยังถูกพักการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ด้วย โดยนายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(มส.) เผยว่า พระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา ในฐานะเจ้าคณะจังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในบัญชาตั้งพระพรหมสิทธิ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ขึ้นเป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ แทนพระพรหมสุธีที่ถูกพักการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ส่วนการจะปลดออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส หากจะปลด ต้องเสนอเรื่องให้ มส.เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ
       
       5. ตำรวจรวบ “ร.ต.ท.เชาวรินธร์” อดีต ส.ส.เพื่อไทย ฐานฉ้อโกงเงิน บ.บีพีซี ของกัมพูชา 11 ล้าน!

        เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสนามบินสุวรรณภูมิ และตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.ดุสิต ได้ร่วมกันจับกุม ร.ต.ท.เชาวรินธร์ ลัทธศักย์ศิริ (หรือชื่อเดิม เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ) อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคเพื่อไทย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ข้อหาฉ้อโกงและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยจับกุมได้ขณะ ร.ต.ท.เชาวรินธร์ กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศ ก่อนนำตัวไปสอบสวนที่ สน.ดุสิต
       
        ด้านนายพิทักษ์ ศรีนวกุล ตัวแทนบริษัท บีพีซี ประเทศกัมพูชา ในฐานะผู้เสียหาย ได้เดินทางมาที่ สน.ดุสิต พร้อมเผยว่า คดีนี้ เป็นการแฮกอีเมล์แล้วเปลี่ยนแบบฟอร์ม ชื่อ เลขบัญชี และธนาคารที่บริษัท บีพีซี จะโอนเงินค่าซื้อปูนซีเมนต์ให้บริษัททีพีไอของประเทศไทย แต่เมื่อบริษัทได้โอนเงิน 11 ล้านบาทเข้าบัญชี พบว่าโอนเข้าผิดบัญชี จึงแจ้งความที่ สน.ดุสิต เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจึงทราบว่า บัญชีที่โอนเข้าไป เป็นบัญชีของสมาคมวัฒนธรรมไทยจีนที่มี ร.ต.ท.เชาวรินธร์ เป็นกรรมการ และมีการเบิกเงินออกไป ซึ่ง ร.ต.ท.เชาวรินธร์ แจ้งว่า ได้รับเงินจริง แต่ไม่ทราบว่าเงินมาจากไหน เพราะมีคนมาทำบุญกับสมาคมฯจำนวนมาก และได้นำเงินไปใช้แล้ว พร้อมบอกว่า หากเป็นเงินที่โอนมาผิดจริง ก็จะคืนเงินให้
       
        ซึ่งต่อมา พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียก ร.ต.ท.เชาวรินธร์ ถึง 2 ครั้งเพื่อมาให้ปากคำ แต่ ร.ต.ท.เชาวรินธร์บ่ายเบี่ยงไม่ยอมมา อ้างว่าติดภารกิจ สุดท้ายเจ้าหน้าที่จึงออกหมายจับ กระทั่งจับกุมได้ในที่สุด
       
        ทั้งนี้ หลังสอบปากคำ ร.ต.ท.เชาวรินธร์ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยยอมรับว่าได้รับเงินมาจริง แต่ไม่รู้ว่าเป็นเงินของใคร และนำเงินที่ได้มาไปทำบุญสร้างเจ้าแม่กวนอิมใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว หลังสอบปากคำ พนักงานสอบสวนได้นำตัว ร.ต.ท.เชาวรินธร์ ไปขอศาลฝากขัง ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขัง จากนั้น พ.ต.อรรคริน ลัทธศักย์ศิริ บุตรชาย ร.ต.ท.เชาวรินธร์ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) มูลค่า 6 แสนบาท พร้อมเงินสดอีก 4 แสนบาท รวมมูลค่า 1 ล้านบาท ขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว แต่ห้ามผู้ต้องหาเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังถูกตำรวจจับกุม และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ร.ต.ท.เชาวรินธร์ ได้เกิดอาการวูบ จนถูกหามส่งโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 14 ม.ค. แต่ยังสามารถพูดคุยกับผู้สื่อข่าวได้ โดยเผยว่า วันที่ถูกจับกุม กำลังจะเดินทางไปส่งลูกสาวเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ แต่ถูกตำรวจจับกุมก่อน เมื่อไม่สามารถเดินทางไปส่งลูกสาวได้จึงเครียด นอนไม่หลับ ประกอบกับตนทำบอลลูนเส้นเลือดหัวใจมา 4 เส้น จึงทำให้หน้ามืด
       
       ร.ต.ท.เชาวรินธร์ ยังพูดถึงการต่อสู้คดี โดยยืนยันว่า ตนไม่ได้แฮกข้อมูลตามที่ถูกกล่าวหา เพราะในชีวิตยังไม่เคยเปิดคอมพิวเตอร์เลย โทรศัพท์ก็ใช้รุ่นธรรมดามาก ส่วนเงินที่บอกว่าฉ้อโกงนั้น คิดว่าเป็นเงินที่คนบริจาคมาเพื่อสมทบทุนสร้างเจ้าแม่กวนอิมสูง 84 เมตร บนยอดเขาแก่นจันทร์ ใน จ.ราชบุรี ซึ่งใช้งบประมาณ 2,500 ล้านบาท “ถือว่าใครโอนมาก็มีเจตนาร่วมบริจาค จู่ๆ ก็จะมาขอคืนอ้างโอนผิด ซึ่งการโอนเงินจะต้องโอนตามบัญชี เลขบัญชี แล้วจะผิดได้อย่างไร ถ้าโอนผิด ก็ต้องรีบไปแจ้งความที่กัมพูชา แต่จู่ๆ จะมาให้คืนเงิน เราทำไม่ได้ ต่อไปถ้ามีคนโอนเงินมาเป็นพันล้าน ไม่ต้องคืนหมดเหรอ”


ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 มกราคม 2558