ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 2-8 มี.ค.2557  (อ่าน 902 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9782
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 2-8 มี.ค.2557
« เมื่อ: 24 มีนาคม 2014, 01:14:11 »
1. ทบ. แจ้งจับ “โกตี๋” หมิ่นสถาบัน-แยกดินแดน ขณะที่ มทบ.33 แจ้งจับ “เพชรวรรต” แยก ปท. ด้าน กปปส. ดีเดย์ปฏิรูปจันทร์นี้!

       ความคืบหน้ากรณีที่มีคนเสื้อแดงชูป้ายต้องการแยกประเทศ โดยเขียนข้อความว่า “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกประเทศเป็นประเทศล้านนา” และมีการนำป้ายข้อความดังกล่าวไปติดในบางจังหวัด ขณะที่คนเสื้อแดงที่ จ.เชียงใหม่ มีการนำแถบป้ายที่เขียนข้อความว่า “สปป.ล้านนา” มาคาดหัวระหว่างรอต้อนรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ ที่เดินทางไปเชียงใหม่เมื่อวันที่ 28 ก.พ. พร้อมให้สัมภาษณ์ยอมรับกับสื่อมวลชนว่าต้องการแยกประเทศเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนล้านนา ร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ต้องสั่งการให้แม่ทัพภาคที่ 3 แจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำการดังกล่าว
       
       ต่อมา เมื่อวันที่ 3 มี.ค. พ.อ.โภคา จอกลอย หัวหน้ากองข่าว มณฑลทหารบก(มทบ.) ที่ 33 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ และ พ.ท.สันโดษ ดงปารี หัวหน้านายทหารพระธรรมนูญ มทบ.33 ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สภ.แม่ปิง ให้ดำเนินคดีอาญากับนายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ตามความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 113 ,114 กรณีมีการนำป้ายข้อความ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกประเทศเป็นประเทศล้านนา” ไปติดตั้งที่สะพานข้ามแยกดอนจั่น ต.ท่าศาลา อ.เมืองเชียงใหม่ และป้ายผ้าข้อความ “สปป.ล้านนา” ที่ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงนำมาโพกหัว ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารได้นำหลักฐานเป็นภาพถ่ายข้อความขอแยกเป็นประเทศล้านนา และ “สปป.ล้านนา” รวมถึงคำให้สัมภาษณ์ของนายเพชรวรรต เกี่ยวกับความคิดเรื่อง สปป.ล้านนาและการแยกเป็นประเทศล้านนาที่คิดมานานกว่า 6 เดือนแล้ว มามอบให้ตำรวจเพื่อประกอบการแจ้งความดำเนินคดีด้วย
       
       ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดงต่างออกมายืนยันว่า ไม่มีความคิดแบ่งแยกประเทศ พร้อมอ้างว่า คำว่า “สปป.ล้านนา” หมายถึง สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยล้านนา ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ ก็ย้ำว่า รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนให้มีการแบ่งแยกดินแดน พร้อมชี้ หากมีการตรวจสอบ ต้องตรวจสอบทุกกลุ่มทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ไม่ให้อีกฝ่ายเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ
       
       ด้านนายเพชรวรรต ได้นำแกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 กว่า 20 คน เปิดแถลงข่าวอ้างว่า แนวคิดแบ่งแยกการปกครอง เกิดจากความน้อยเนื้อต่ำใจของคนเสื้อแดงกว่า 80% ที่ไม่พอใจการบังคับใช้กฎหมายไม่เท่าเทียมกัน และเป็นการสะท้อนความอารมณ์และความรู้สึกเท่านั้น พร้อมยืนยัน กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ไม่ได้เป็นผู้เสนอแยกประเทศและไม่เกี่ยวข้องกับ สปป.ล้านนา
       
       ทั้งนี้ นอกจากทหารจะแจ้งความดำเนินคดีนายเพชรวรรตแล้ว ทางกองทัพบกยังได้ให้นายทหารพระธรรมนูญเข้าแจ้งความดำเนินคดีนายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำคนเสื้อแดง จ.ปทุมธานี กรณีนำแผ่นป้ายขอแบ่งแยกดินแดนมาติดบนสะพานลอยบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ และกรณีพูดหมิ่นสถาบันบนเวทีและวิทยุ โดยได้แจ้งความดำเนินคดีในหลายท้องที่
       
       ด้านนายวุฒิพงษ์ ได้เดินทางมาเข้าพบ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ภายในห้องทำงานเมื่อวันที่ 7 มี.ค. โดยไม่ให้ผู้สื่อข่าวบันทึกภาพแต่อย่างใด จากนั้นได้เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน ก่อนออกมาบอกว่า ป้ายที่ตนนำไปติดที่ต่างๆ ที่เขียนว่า “อยู่กันด้วยความสามัคคีไม่ได้ ก็แบ่งแยกกันอยู่ มึงกับกูแยกแผ่นดินกันเลย” นั้น เป็นการแสดงความรู้สึกในฐานะคนเสื้อแดงคนหนึ่ง เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ยืนเลือกข้าง ไม่ออกมาปกป้องผู้บังคับบัญชาของตัวเอง คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ ที่โดนนายสุเทพที่ถูกตั้งข้อหากบฏดำเนินการต่างๆ นานา
       
       ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ประธานคณะกรรมการกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบเอาผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องรวม 13 คน เช่น นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำคนเสื้อแดงอีกหลายคน ฯลฯ ฐานกระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 113 และ 114 มีพฤติกรรมเข้าข่ายกบฏ มีโทษถึงประหารชีวิต และผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากที่ผ่านมา มีแกนนำคนเสื้อแดงขึ้นเวทีปราศรัยยุยงแบ่งแยกประเทศ อีกทั้งนายจารุพงศ์และนายณัฐวุฒิยังประกาศรับข้อเสนอของแกนนำคนเสื้อแดงที่ขึ้นเวทีเพื่อไปดำเนินการ ไม่ได้มีการยับยั้งการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดง ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับรู้เรื่องมาโดยตลอด มีหน้าที่ป้องกัน กลับออกมาปกป้อง และไม่ตั้งกรรมการสอบสวน ไม่ปลดบุคคลทั้งสองออกจากรัฐมนตรี ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และว่า นอกจากยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.แล้ว สัปดาห์หน้าจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่า การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายจารุพงศ์ และนายณัฐวุฒิ เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ เนื่องจากมีพฤติกรรมแบ่งแยกดินแดนออกเป็นสองส่วน และยุยงให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง
       
       ส่วนความเคลื่อนไหวของ กปปส.ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการนั้น ได้ประกาศเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.เป็นต้นไป ด้วยการเปิดเวทีภาควิชาการ เสวนาระดมสมอง 6 หัวข้อ ได้แก่ แก้ความยากจน ลดความเหลือมล้ำ ,แก้ทุจริต คอร์รัปชัน ,การกระจายอำนาจ ,การปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ,การปฏิรูปการเมือง การเลือกตั้ง และพรรคการเมือง และการปฏิรูประบบราชการ เมื่อได้ข้อสรุปจากเวทีวิชาการแล้ว จะนำข้อสรุปส่งต่อให้เวทีสมัชชาปฏิรูปดำเนินการต่อ เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ก่อนนำข้อเสนอทั้งหมดส่งให้สภาประชาชนต่อไป
       
       2. ศาล ปค.สูงสุด ชี้ “ยิ่งลักษณ์” สั่งย้าย “ถวิล” ไม่ชอบ สั่งคืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ภายใน 45 วัน!

       เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีที่นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ กรณีออกคำสั่งสำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2554 ให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการสำนักนายกฯ และออกประกาศสำนักนายกฯ ลงวันที่ 30 ก.ย.2554 ให้นายถวิลพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักเลขาธิการนายกฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม
       
       สำหรับคดีนี้ ศาลปกครองกลางได้พิพากษาเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2555 เพิกถอนคำสั่งสำนักนายกฯ ดังกล่าว พร้อมให้คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แก่นายถวิล แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด
       
       ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจสอบข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้ว ฟังได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้มอบหมายงานให้นายถวิลปฏิบัติ ตามที่ได้อ้างถึงความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนในการมีคำสั่งแต่งตั้งนายถวิลดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำแต่อย่างใด รวมทั้งเหตุผลที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างไว้ในคำให้การที่ยื่นต่อศาลปกครองกลาง และที่อ้างเพิ่มเติมในคำอุทธรณ์และคำชี้แจงที่ได้ยื่นต่ศาลปกครองสูงสุด ก็มิได้เป็นไปตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างเช่นกัน
       
       นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุด ยังเห็นว่า แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการประจำ จะมีอำนาจดุลพินิจในการสับเปลี่ยนการทำหน้าที่ของข้าราชการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามแนวนโยบายรัฐบาล แต่การใช้อำนาจดุลพินิจดังกล่าว นอกจากต้องอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายแล้ว ยังต้องมีเหตุผลรองรับที่มีอยู่จริงและอธิบายได้ แต่กรณีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายถวิลปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพ หรือมีข้อบกพร่อง หรือไม่สนองนโยบายของรัฐบาล จนเป็นผลให้ต้องโอนย้ายได้ตามความเหมาะสม เท่ากับว่าฝ่ายบริหารได้ใช้อำนาจดุลพินิจในการโอนย้ายนายถวิลโดยไม่มีเหตุผลรองรับ จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ เป็นเหตุให้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการโอนย้ายนายถวิล จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.แก่นายถวิลภายใน 45 วันนับแต่วันมีคำพิพากษา
       
       ด้านนายถวิล กล่าวหลังฟังคำพิพากษาว่า ตนต่อสู้คดีนี้มานานถึง 2 ปี 6 เดือน ซึ่งไม่ใช่สู้เพื่อตัวเอง แต่สู้เพื่อความยุติธรรม และวันนี้ถือว่าได้รับความกรุณาจากศาลแล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการฟ้องนายกฯ ในคดีแพ่งและอาญาหรือไม่ นายถวิล บอกว่า ยังไม่มีความคิดเช่นนั้น แต่ก็ยังมีสิทธิยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ หากนายถวิลได้ตำแหน่งเลขาธิการ สมช.คืน จะครบอายุเกษียณราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้
       
       ด้านนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ บอกว่า รัฐบาลน้อมรับและปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฯ ด้วยการให้นายถวิลกลับไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. อย่างไรก็ตาม นายสุรนันทน์อ้างว่า การออกคำสั่งย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้นายถวิลพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ในช่วงที่ผ่านมา คือ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ในปัจจุบัน คือ พล.ทภราดร พัฒนถาบุตร ดังนั้นต้องพิจารณาโอนย้าย พล.ท.ภราดร ให้ไปดำรงตำแหน่งที่เหมาะสมและไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่นกัน
       
       ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา บอกว่า เมื่อศาลปกครองพิพากษาให้นายกฯ คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ให้นายถวิล เนื่องจากนายกฯ ใช้อำนาจโยกย้ายนายถวิลโดยไม่ชอบ ดังนั้น ตนพร้อมด้วย ส.ว. 1 ใน 10 ของ ส.ว. เท่าที่มีอยู่ จะยื่นเรื่องให้ประธานวุฒิสภา ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 91 ให้วินิจฉัยสถานภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 ,182(7) ,268 ,266(2) (3) หรือไม่ เนื่องจากก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตัวเองและผู้อื่นในการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล
       
       3. กกต. ส่งศาล รธน.ชี้ต้องออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ 28 เขตหรือไม่ ด้าน กปปส.ส่งศาลฯ วินิจฉัย รบ.พ้นสภาพรักษาการ!

       หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้จัดประชุมรับฟังความเห็นการจัดการเลือกตั้งใน 14 จังหวัดภาคใต้ที่มีปัญหาเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ จ.สงขลา โดยเชิญตัวแทนพรรคการเมืองและผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ มาสะท้อนปัญหา ปรากฏว่า ได้ข้อสรุป 5 ข้อ คือ 1.ผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการพร้อมสนับสนุนการเลือกตั้ง 2.ที่ประชุมไม่เห็นด้วยที่จะจัดการเลือกตั้ง ส.ส.พร้อมการเลือกตั้ง ส.ว.ในวันที่ 30 มี.ค. เพราะเกรงจะกระทบต่อความสำเร็จในการเลือกตั้ง 3.การจัดการเลือกตั้งส่วนที่เสียไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ.จะจัดลงคะแนนเลือกตั้งใหม่พร้อมกันใน 3 จังหวัด คือ ยะลา ,ปัตตานี และนราธิวาส ในวันที่ 5 เม.ย. 4.สำหรับการเลือกตั้งส่วนที่เสียไปเมื่อวันที่ 26 ม.ค.และ 2 ก.พ.ใน 6 จังหวัด คือ สตูล ,ชุมพร ,นครศรีธรรมราช ,ระนอง ,ภูเก็ต และพังงา จะจัดลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 27 เม.ย. และ 5.สำหรับ 28 เขตใน 8 จังหวัดที่ยังไม่สามารถรับสมัครได้ ต้องรอคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ย้ำว่า ข้อสรุปที่ได้ไม่ถือเป็นมติใดๆ โดยจะนำเสนอที่ประชุม กกต.ในวันที่ 11 มี.ค.เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
       
       ทั้งนี้ กกต.ได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งใน 28 เขต 8 จังหวัดแล้วเมื่อวันที่ 4 มี.ค. โดยถามศาลรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็น คือ 1.การเลือกตั้ง 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัครและไม่มีการจัดการเลือกตั้ง หาก กกต.จะออกประกาศรับสมัครเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 และ 236 ประกอบมาตรา 93 วรรคหก สามารถทำได้หรือไม่ 2. หาก กกต.ไม่มีอำนาจออกประกาศ จะต้องกระทำโดยการตรา พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ฏ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบโดยเฉพาะของนายกฯ ที่ต้องนำความกราบบังคมทูลและสนองพระบรมราชโองการในการตรา พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 และ 187 ใช่หรือไม่ และ 3.หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าจะต้องมีการตรา พ.ร.ฎ.เพื่อรับสมัครเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขต การตรา พ.ร.ฎ.จะสามารถกำหนดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่เฉพาะ 28 เขต หรือจะต้องตรา พ.ร.ฎ. กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ในทุกเขตเลือกตั้ง จึงจะชอบด้วยหลักการของการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง ที่กำหนดว่าการเลือกตั้งทั่วไปภายหลังจากยุบสภาฯ จะต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
       
       ส่วนกรณีที่มีผู้ร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะนั้น ล่าสุด นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการ ในฐานะโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติให้ยื่นคำร้องของนายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หลังพบว่าคำร้องมีมูลใน 5 ประเด็น เช่น การจัดเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง 28 เขตที่ภาคใต้ หากมีการจัดเลือกตั้ง ก็จะทำให้มีวันเลือกตั้ง 2 วัน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ,การเปิดรับสมัคร ส.ส.ไม่เที่ยงธรรม มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัครโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ,การนับคะแนนเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ในทุกเขตที่สามารถเลือกตั้งได้ ทำให้ผู้ที่จะมาลงคะแนนเลือกตั้งในวันหลัง ทราบผลการเลือกตั้งแล้วก่อนการลงคะแนน ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้เกิดความไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ทำให้การลงคะแนนเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับ
       
       ด้านแกนนำ กปปส.ได้ส่งทนายความไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยว่า สถานภาพของรัฐบาลสิ้นสุดลงแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 ,172 ,180(2) ,181 หรือไม่ เนื่องจากไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ภายใน 30 วันนับจากวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. ซึ่งครบกำหนดเมื่อวันที่ 4 มี.ค. และไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ จึงขอให้ศาลฯ ชี้เพื่อเปิดช่องทางการบริหารประเทศให้มีนายกฯ คนกลางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7
       
       ขณะที่พรรคเพื่อไทยเริ่มปฏิบัติการยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว โดยผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดย นายสุนัย จุลพงศธร และ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ได้นำรายชื่อประชาชน 2 หมื่นชื่อยื่นต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช รักษาการประธานวุฒิสภา เพื่อถอดถอน 6 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย นายจรูญ อินทจาร ,นายจรัญ ภักดีธนากุล ,นายนุรักษ์ มาประณีต ,นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ,นายเฉลิมพล เอกอุรุ และนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ โดยอ้างว่าตุลาการทั้ง 6 คนมีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และ 197 และฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีมีมติรับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ,มาตรา 291 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.โดยไม่มีอำนาจ และวินิจฉัยนอกเหนืออำนาจหน้าที่ ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ 2 มาตรฐาน
       
       4. กกต. ไฟเขียว รบ.ใช้งบกลางอีก 2 หมื่นล้านจ่ายชาวนา พร้อมขีดเส้น ต้องคืนเงินภายใน พ.ค.!

       ความคืบหน้าหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) อนุมัติให้รัฐบาลนำเงินจากงบกลางจำนวน 712 ล้านบาทไปจ่ายชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ซึ่งเป็นชาวนาล็อตสุดท้าย จำนวน 3,971 ราย ได้ เนื่องจากเงินจำนวนดังกล่าวเป็นงบกลางที่มีการกันเงินเบิกจ่าย 1 ปีมาก่อนหน้านี้แล้ว ขณะที่รัฐบาลดูเหมือนได้ใจ ทำเรื่องขอให้ กกต.อนุมัติงบกลางอีก 20,000 ล้านบาท เพื่อไปจ่ายชาวนาอีกนั้น
       
        ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ประชุม กกต.ได้มีมติอนุมัติให้ ครม.ใช้งบกลาง 20,000 ล้านเพื่อไปจ่ายชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวได้ ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นเงินยืมทดรองราชการ พร้อมยืนยัน จะไม่กระทบกับงบกลางที่เหลืออยู่ 67,000 ล้านบาท เพราะรัฐบาลชี้แจงว่าจะสามารถขายข้าวได้เป็นเวลา 3 เดือน มูลค่า 24,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินที่ขออนุมัติไป และจะนำมาจ่ายคืนงบกลางภายในเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าขณะนั้นรัฐบาลจะยังคงรักษาการอยู่ จึงไม่ผูกพันรัฐบาลชุดต่อไป และไม่เข้าข่ายเป็นการได้เปรียบเสียเปรียบในการหาเสียงเลือกตั้ง
       
        ทั้งนี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เผยว่า เงิน 20,000 ล้านดังกล่าว จะเป็นการชำระหนี้ให้แก่ชาวนาที่มีใบประทวนภายในเดือน พ.ย.2556 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลจะประกาศยุบสภา โดยยังมีหนี้ที่รัฐบาลค้างชำระชาวนาที่มีใบประทวนของเดือน ธ.ค.2556 -ก.พ.2557 อีก 90,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องไปหาเงินจากแหล่งอื่น ไม่สามารถจะมาขอยืมงบกลางได้อีก
       
        นายสมชัย ยังเผยด้วยว่า ระยะเวลาที่ให้รัฐบาลคืนเงินยืมจากงบกลาง 20,000 ล้านภายในวันที่ 31 พ.ค.นั้น กกต.เป็นผู้ยื่นเงื่อนไขเอง หลังจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พยายามยื่นเงื่อนไขขอคืนงบกลางในเดือน ก.ย. กกต.จึงได้ถามกลับไปว่า รัฐบาลยอมที่จะให้การจัดการเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จไปถึงเดือน ก.ย.หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวถามนายสมชัยว่า หากรัฐบาลไม่สามารถขายข้าวได้เดือนละ 8,000 ล้านบาท และไม่สามารถใช้คืนงบกลางภายในสิ้นเดือน พ.ค.ได้ กกต.ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยในฐานะเป็นผู้อนุมัติเงินหรือไม่ นายสมชัย บอกว่า ขณะนี้ต้องคิดว่าให้รัฐบาลขายข้าวให้ได้ก่อน แต่ถ้าขายไม่ได้ค่อยมาคิดว่าจะทำอย่างไร และว่า ที่ กกต.อนุมัติไป ก็ไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น เพียงแค่คิดว่าขณะนี้ชาวนาเดือดร้อนมาก จำเป็นต้องมีเงินไปชำระหนี้
       
        ด้านนายยรรยง พวงราช รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คาดว่า งบกลาง 20,000 ล้านดังกล่าว จะจัดสรรถึงมือชาวนาภายใน 1 สัปดาห์ และว่า เมื่อรวมกับเงินระบายข้าวเฉลี่ยเดือนละ 10,000 ล้านบาท จะทำให้รัฐบาลมีเงินจ่ายค่าข้าวให้ชาวนาตามลำดับใบประทวนตั้งแต่เดือน ธ.ค.2556 ส่วนกรณีที่ กกต.ยื่นเงื่อนไขให้รัฐบาลส่งเงินคืนภายในเดือน พ.ค.นั้น นายยรรยง ยืนยันว่า ไม่มีปัญหา เพราะกระทรวงพาณิชย์มีการระบายข้าวเฉลี่ยเดือนละ 10,000 ล้านบาทอยู่แล้ว และว่า หลังเดือน เม.ย.เป็นต้นไป แนวโน้มการระบายข้าวจะมีมากขึ้น จึงสามารถคืนเงินได้มากกว่าเดือนละ 10,000 ล้านบาทแน่นอน โดยมาจากทั้งการเปิดประมูลขายและการขายทั่วไป
       
        ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ได้ออกมาเตือนรัฐบาลกรณีจะใช้งบกลาง 20,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินจำนำข้าวว่า งบดังกล่าวเป็นเงินราชการ ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ต้องทำสัญญากับกระทรวงการคลัง ซึ่งก่อนลงนามสัญญา ต้องไตร่ตรองให้ดีว่า กระทรวงพาณิชย์สามารถระบายข้าวให้ได้เงินมาใช้คืนงบกลางได้ทันวันที่ 31 พ.ค.นี้หรือไม่ และว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องคิดคือ เงินที่ได้จากการระบายข้าวจะต้องนำมาใช้คืนงบกลาง จะนำไปชำระหนี้ชาวนาที่เหลือตามใบประทวนตั้งแต่เดือน ธ.ค.2556 -ก.พ.2557 รวมเงินประมาณ 9 หมื่นล้านบาทไม่ได้
       
        ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ชาวนาขอให้อัยการยื่นฟ้องดำเนินคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่จ่ายเงินค่าจำนำข้าวนั้น เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการ ได้นำชาวนา 22 ราย ซึ่งเป็นชาวนาใน จ.กาญจนบุรี ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันชำระเงินตามสัญญาในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 2,700 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
       
       ทั้งนี้ นายปรเมศวร์ บอกว่า มีชาวนาขอให้ช่วยยื่นฟ้องคดี 500-600 ราย แต่ขอยื่นชุดแรกก่อน 22 ราย เหตุที่ฟ้องต่อศาลปกครอง แทนที่จะฟ้องต่อศาลแพ่ง เนื่องจากเห็นว่าเข้าลักษณะสัญญาทางปกครอง พร้อมยืนยัน การที่อัยการช่วยชาวนายื่นฟ้อง จะไม่เป็นเรื่องขัดกันกับที่อัยการต้องทำหน้าที่ว่าความแก้ต่างให้หน่วยงานรัฐ เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการตั้งปณิธานอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.ดูแลคดีตามกฎหมาย 2.ดูแลผลประโยชน์ของรัฐ และ 3.คุ้มครองสิทธิของประชาชน
       
        ด้านนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.ได้ส่งตัวแทนยื่นหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด ขอให้อัยการอย่ารับแก้ต่างให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กับพวก ทั้งคดีแพ่งและอาญา เนื่องจากอัยการรับช่วยเหลือชาวนาแล้ว ก็ไม่ควรแก้ต่างให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กับพวก เพราะเป็นคู่กรณีกับประชาชน
       
        ทั้งนี้ นอกจากชาวนาจะฟ้องดำเนินคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านอัยการแล้ว ชาวนาอีกส่วนยังได้ร่วมกับหลวงปู่พุทธะอิสระ เข้าแจ้งความที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 มี.ค. เพื่อดำเนินคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ และผู้เกี่ยวข้องรวม 9 คน ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนกรณีไม่จ่ายค่าจำนำข้าวให้ชาวนา รวมทั้งเข้าแจ้งความต่อตำรวจกองปราบปรามเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ในข้อหาเดียวกัน
       
        ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 27 ก.พ. โดยส่งทนายไปรับทราบข้อกล่าวหาแทนนั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เข้ายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ขอคัดสำเนาเอกสารพยานหลักฐานต่างๆ แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยอ้างว่า เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองไม่ปกติ และรักษาการนายกฯ ติดภารกิจตรวจราชการที่ต่างจังหวัด จึงให้ตัวแทนมาคัดสำเนาฯ แทน หาก ป.ป.ช.อนุญาตจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากจะถึงกำหนดที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องมาชี้แจงข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช.ในวันที่ 14 มี.ค.นี้แล้ว และว่า หาก ป.ป.ช.มีมติอนุญาต ตนจะมาคัดลอกสำเนาในวันที่ 10 หรือ 11 มี.ค.นี้
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า วันเดียวกัน(4 มี.ค.) คนร้ายได้ลอบปาระเบิดใส่สำนักงาน ป.ป.ช.สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี โดยระเบิดตกบริเวณสนามหญ้าด้านหลังสำนักงาน โชคดีไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. พูดถึงเหตุระเบิดดังกล่าวว่า ป.ป.ช.ถูกคุกคามมาตลอด เป็นเรื่องที่ใครก็รู้ว่ามีสาเหตุจากอะไร แต่ ป.ป.ช.ไม่เสียขวัญ ยังเดินหน้าทำงานต่อไป นายวิชา ยังเผยด้วยว่า ป.ป.ช.ได้มีมติอนุญาตให้ทนายความเข้าตรวจพยานหลักฐานแทนรักษาการนายกฯ แล้ว แต่ต้องไม่มีการกระทบกระทั่งหรือข่มขู่คุกคาม ป.ป.ช.เป็นอันขาด “ถ้ามีการข่มขู่คุกคาม ป.ป.ช. เราจะยุติการเอื้อเฟื้อ เพราะปกติท่านต้องมาด้วยตัวเอง แต่นี่เราอนุญาตให้ทนายความเข้ามาคัดลอกสำนวนพยานหลักฐานแทน เพราะท่านอ้างว่ากลัวการข่มขู่คุกคาม เราก็กลัวเหมือนกัน ท่านขออนุญาตไม่มาได้ เราก็ขออนุญาตไม่ให้ได้ถ้ามีการคุกคาม”
       
        ด้านอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย นายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ ไม่พอใจการทำหน้าที่ของนายวิชา จึงได้นำรายชื่อประชาชน 2 หมื่นชื่อ ยื่นต่อรักษาการประธานวุฒิสภา เพื่อถอดถอนนายวิชาออกจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 248 โดยอ้างว่านายวิชาวางตัวไม่เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ 2 มาตรฐานกรณีพิจารณาโครงการประกันราคาข้าวสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ต่างจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์
       
        ทั้งนี้ เริ่มมีสัญญาณจากคนรอบข้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้วว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์อาจจะขอเลื่อนการชี้แจงข้อกล่าวหาคดีทุจริตจำนำข้าวในวันที่ 14 มี.ค.ออกไปก่อน โดยอ้างว่ามีเอกสารจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำยืนยันจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยบอกเพียงว่า ขอปรึกษาทีมกฎหมายก่อน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 มีนาคม 2557