แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 653
136
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 2/2567 ว่า วาระพิจารณาในที่ประชุมวันนี้ ได้ติดตามผลการขับเคลื่อนนโยบายของ สธ. โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน หรือ ควิกวิน (Quick Win) เพื่อประเมินผลนโยบายไตรมาส 2 กลางปี (Midyear Success) ส่วนประเด็นที่น่าสนใจอื่น ได้แก่
1.ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีการกำจัดไขมันทรานส์ออกจากอุตสาหกรรมอาหารจนได้รับการรับรอง ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ และเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสุขภาพของประชาชน

2.ที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการผลิตพยาบาลเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลน โดยสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) และสภาการพยาบาล ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วนในการผลิตพยาบาลใน 2 ปี 6 เดือน โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2568 เนื่องจากปัจจุบันตัวเลขความขาดแคลนพยาบาลอยู่ประมาณ 50,000 คน ทั้งนี้ การผลิตพยาบาลในโครงการดังกล่าวจะใช้วิธีการออกหลักสูตรเร่งรัดที่ได้มาตรฐาน ใช้เวลาศึกษา 2 ปี 6 เดือน ซึ่งรับผู้ที่จบปริญญาตรีทุกสาขาแล้วไปต่อยอดให้เป็นพยาบาล แต่หากเป็นสาขาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็จะเป็นต้นทุนที่ดี อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการ แต่ให้ข้อสังเกตเรื่องของกระบวนการผลิตหลักสูตรและการรับรอง ไปจนถึงเรื่องของงบประมาณ จึงมอบหมายให้ สบช. ไปผู้ดูแลโครงการและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

3.กรณีที่มีข้อเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาอนุมัติยารักษาโรคจิตเวชชนิดฉีด (LONG ACTING ANTIPSYCHOTIC INJECTABLE) สำหรับผู้ป่วยกลุ่มที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรง (Serious Mental Illness: SMI) ที่ไม่ยอมรับประทานยา ซึ่งมีจำนวน 42,000 คน แยกเป็นระดับ V1 ที่ทำร้ายตัวเอง และ V4 ที่ทำร้ายสังคม เบื้องต้นให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป มีสำรองยาไว้ใช้ได้ราว 3 เดือน แต่ด้วยยาตัวนี้ยังเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงยังไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพภาครัฐ ที่ประชุมจึงมีมติให้นำเสนอยาตัวนี้เข้าสู่ขั้นตอนเพื่อบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่วนระหว่างที่มีการพิจารณาให้เสนอเข้าสู่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อใช้เงื่อนไขเชิงนโยบาย พิจารณาใช้งบประมาณอุดหนุนมาจัดหาให้ผู้ป่วยใช้ก่อน

4.การขับเคลื่อนงานในไตรมาสที่ 2 ในโครงการพาหมอไปหาประชาชน ที่ดำเนินการตั้งแต่ วันที่ 14 ม.ค. รวม 16 จังหวัด ให้การดูแลประชาชน 70,683 ราย, โครงการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ที่จะเริ่มเปิดโครงการในวันที่ 29 ก.พ.นี้ โดยจะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งจะมีงานที่วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และเชิญ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีวิกฤติพยาบาลขาดแคลน ณ ขณะนี้คืออะไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า วิกฤตที่เจอคือ ความขาดแคลนพยาบาลในการดูแลประชาชน อย่างแพทย์ 1 คน ต้องมีพยาบาลอย่างน้อย 4 คน แต่พยาบาลเรามีสัดส่วนดูแลประชาชนเฉลี่ยเพียง 1 ต่อ 300 กว่าคน มีเพียงบางพื้นที่อยู่ 1 ต่อ 700 คน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเฉลี่ยยังขาดแคลนอยู่ 51,420 คน นี่คือเฉพาะภาครัฐ ไม่ได้รวมเอกชน จึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องผลิตเพิ่ม แม้ที่ผ่านมาจะประสานภาคเอกชนที่ผลิตว่า จบมาแล้วจะดึงเข้าระบบกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ยังไม่พอ

“การขาดแคลนพยาบาล และปัญหาการกระจายกำลังคนด้านบริการสุขภาพตามภูมิภาคนั้น สัดส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ 1 ต่อ 343 ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุสัดส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อประชากรที่ 1 ต่อ 270 คน โดยไทยมีปัญหาการกระจายกำลังคนด้านสุขภาพในส่วนภูมิภาค 42 จังหวัดที่มีสัดส่วนมากกว่า 1 ต่อ 400 และมี 15 จังหวัดที่มีสัดส่วนมากกว่า 1 ต่อ 500 โดยสัดส่วนประชากรต่อพยาบาลสูงสุดใน 5 จังหวัดแรก คือ 1.หนองบัวลำภู สัดส่วน 1 ต่อ 712 คน 2.บึงกาฬ สัดส่วน 1 ต่อ 608 คน 3.เพชรบูรณ์ สัดส่วน 1 ต่อ 572 4.กำแพงเพชร สัดส่วน 1 ต่อ 571 และ 5.ศรีสะเกษ สัดส่วน 1 ต่อ 569” นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า ไม่เพียงแต่เรื่องการผลิตพยาบาล ยังมีอีกโครงการที่ล่าสุด ครม.มีมติเห็นชอบผลิตทีมหมอครอบครัว ซึ่งเป็นการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ 9 สาขา หรือ 9 หมอ ลงไปในหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น แพทย์เวชศาสตร์ฯ พยาบาล ทันตแพทย์ชุมชน เภสัชกรชุมชน แพทย์แผนไทย ผู้ช่วยทันตแพทย์ ผู้ช่วยพยาบาล นักจัดการฉุกเฉินชุมชน และนักวิชาการสาธารณสุข โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี เมื่อผลิตครบจะมีคนเข้าสู่ระบบราว 6.2 หมื่นคน

ผู้สื่อข่าวถามกรณีจะสร้างแรงจูงใจคนมาเรียนทีมหมอครอบครัว โดยเฉพาะแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่ผ่านมาคนเรียนน้อย นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องนี้เราให้ความสำคัญ ได้วางแนวทางเพื่อรองรับให้กับแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการบริการปฐมภูมิ ซึ่งมีหลายแนวทาง ยกตัวอย่าง เมื่อเร็วๆ นี้ ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้ปรับแก้หลักเกณฑ์วิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้สอดคล้อง รวมถึงการเพิ่มเงินค่าตอบแทนพิเศษ หรือ พ.ต.ส. จาก 10,000 บาท เพิ่มเป็น 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน

“สธ.กำลังเสนอเรื่องอายุงาน อย่างหากเรียนเพื่อไปปฏิบัติงานหน่วยบริการปฐมภูมิจริง เราจะทำความตกลงกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่า จะเริ่มนับอายุงานตั้งแต่เริ่มเรียน ขณะนี้กำลังเจรจาอยู่ แต่เวลาจ่ายค่าตอบแทนไม่ได้จ่ายขณะเรียน ต้องทำงานก่อน แต่นับอายุงานย้อนหลังให้ ซึ่งเป็นสวัสดิภาพ สวัสดิการต่างๆ ได้ ที่สำคัญคือการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับเนื้องาน เช่น สามารถจัดเม็ดเงินลงไปลักษณะเหมาจ่ายรายหัวแบบแยกเรื่องของบริการผู้ป่วยนอก หรือส่งเสริมสุขภาพเฉพาะปฐมภูมิได้หรือไม่ นี่เป็นข้อเสนอที่กำลังหารือกันอยู่” นพ.ชลน่านกล่าว

มติชน
21 กุมภาพันธ์ 2567

137
เป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างมาก หลังจากที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ ว่า สธ.จ่อเปิดโอกาสให้ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทุกสาขา สามารถมาเรียนพยาบาล 2 ปีครึ่ง แก้ไขปัญหา “พยาบาล” ขาดแคลนนั้น
 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ “ไม่ใช่หมอบ่น-aggressivenotdoctor” โพสต์ข้อความระบุว่า “ว่าด้วยพยบ 2.5ปี”

พร้อมกับแนบแชตที่พยาบาลรายหนึ่ง เข้ามาทักข้อความหาเพจ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ที่เจอนักศึกษาพยาบาลที่เรียนลักษณะนี้ มาฝึกงานในโรงพยาบาลที่เธออยู่ โดยระบุว่า

อยากเล่าเรื่องนี้มาก แต่ไม่อยากเม้นในโพสต์เพราะเดี๋ยวคนที่ทำงานจำได้ค่ะ

พูดไปจะหาว่าดราม่ามั้ย จะบอกว่ามีมหาลัยนึงเปิดหลักสูตรนี้แล้วค่ะ น้องเป็นรุ่น 1 เลย แต่ยังเรียนไม่จบ เพราะหลักสูตรเพิ่งเปิดใหม่ๆ
มาฝึกงานวอร์ดเรา…น้องแทบไม่มีความรู้ในหัวเลย ต้องมาสอนกันใหม่หมด ยาอะไรก็ไม่รู้จักสักตัวคนหน้างานก็สอนยาก ไม่ใช่ว่าไม่ยาก

สอน…แต่ถ้าน้องไม่มีองค์ความรู้ประมาณนึง จะไปกล้าให้น้องทำหัตถการกับคนไข้ได้ยังไงความเสี่ยงก็เยอะ แล้วน้องไม่มี

อาจารย์มาคุมด้วย พยาบาลในวอร์ดเองก็งานล้น จะมานั่งจ้ำจี้จ้ำไชสอนเด็กที่ไม่รู้พื้นฐานอะไรเลยมันก็ยาก

พอมาเจอกันอีกที่น้องก็มาฝึกปี 3 คราวนี้น้องบอกว่ารอบนี้ผ่านห้องคลอดมาแล้ว แต่รับเด็กไม่เป็น ไม่รู้ว่าเด็กคลอดแล้วต้องตรวจเด็กยังไง ไม่รู้ว่าต้องตรวจเด็กด้วยซ้ำ แค่ไปให้พี่พยาบาลจับมือเอาเด็กออกมา แล้วเค้าก็ให้ผ่านๆ ไปก่อน

เนี่ยแหละเลยคิด ว่าเราจะกล้าฝากชีวิตคนไข้ไว้กับพยาบาลหลักสูตรนี้จริงๆ เหรอ?

มติชน
22 กพ 2567

138
โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และพื้นที่อื่นๆ เผชิญความยากลำบากในการรองรับผู้ป่วยในวันนี้ หลังแพทย์ฝึกหัดหลายพันคนผละงานประท้วงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 คัดค้านแผนรับนักศึกษาแพทย์เพิ่มอีก 2,000 คนตั้งแต่ปีหน้า จากปัจจุบันที่รับปีละประมาณ 3,000 คน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์

สมาคมการแพทย์เกาหลีเตือนว่า การรับสมัครแพทย์เพิ่ม ทำให้งบประมาณโครงการประกับสุขภาพแห่งชาติตึงตัว และจำนวนแพทย์ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนหมอเฉพาะทาง

แหล่งข่าวในวงการแพทย์ระบุว่า การที่แพทย์ฝึกหัดลาออกพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความวิตกกังวลเรื่องภาวะสุญญากาศในการบริการด้านสุขภาพ ขณะนี้โรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงโซลจำนวน 5 แห่งต้องลดคิวผ่าตัดลงถึง 50%

สำนักข่าวยอนฮัป รายงานว่า ความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับรัฐบาลเกาหลีใต้ในประเด็นดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น หลังทางการเกาหลีใต้ประกาศว่าจะขอหมายจับแกนนำที่ยุยงให้แพทย์ฝึกหัด และแพทย์ประจำบ้านแห่ลาออกทั่วประเทศ
พัค มินซู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเกาหลีใต้ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ช่วงกลางคืนของวันพุธ (21 ก.พ.67) มีแพทย์ฝึกหัดยื่นใบลาออกแล้ว 9,275 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 74.4% ของแพทย์ฝึกหัดทั้งหมดประมาณ 13,000 คน โดยในจำนวนดังกล่าว 8,024 คนไม่ไปทำงานแล้ว

พัคระบุว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ได้สั่งให้แพทย์ฝึกหัดกว่า 6,000 คนกลับมาทำงาน และจนถึงขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ได้รับคำร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการพร้อมใจกันลาออกของแพทย์ฝึกหัดแล้ว 150 ครั้ง

พัคได้เรียกร้องให้เหล่าแพทย์ฝึกหัดเข้าร่วมเจรจากับรัฐบาลเพื่อหาทางออกร่วมกัน และขอให้แพทย์ฝึกหัด “จดจำเอาไว้ว่าผู้ป่วยกำลังรอคอยอยู่”

Bangkokbiznews
22 กพ 2567

139
ปัญหาสังคมผู้สูงวัยของญี่ปุ่นกระทบกับเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้จะเห็นข่าวผู้สูงวัยของญี่ปุ่นยังคงทำงานอยู่ในตลาดแรงงาน และแนวโน้มจะมากขึ้นด้วย โดยมีหลายเหตุผลตั้งแต่ความพึงพอใจอยากจะทำงานต่อไป และเหตุผลจำเป็นทางชีวิตที่ยังต้องทำงานหารายได้เพื่อเลี้ยงดูตัวเอง บางคนถึงกับยังต้องช่วยเหลือครอบครัว ทำให้ตอนนี้ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่อายุเกิน 65 ปี ขึ้นไป สมัครงานเพิ่มขึ้นในตำแหน่งที่พอจะทำได้ในวัยนี้

แต่ในบางธุรกิจก็ต้องการแรงงานในแบบที่เป็นคนหนุ่มสาว หรือวัยทำงานนั่นเอง

ก่อนหน้านี้ด้วยวัฒนธรรมองค์กรของญี่ปุ่นค่อนข้างไม่เปิดรับแรงงานต่างชาติเท่าที่ควร แต่หลายปีมานี้หลังจากปัญหาขาดแคลนแรงงานเริ่มหนักขึ้น ทำให้หันมาเปิดรับแรงงานต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันบริษัทและสถานที่ต่างๆ ที่จ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น 6.7% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 318,775 แห่ง เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

แต่ก็ยังมีบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องยื่นขอล้มละลายจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน

รายงานที่ออกโดย Tokyo Shōkō Research เปิดเผยว่า จำนวนบริษัทในญี่ปุ่นที่ล้มละลายในปี 2566 เพิ่มขึ้น 35.2% คิดเป็น 8,690 แห่ง และหนี้สินรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 ล้านล้านเยน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น

ถ้ามองแบบใกล้ๆ ตัวเลย ร้านซูชิ ที่ถือเป็นอาหารโดดเด่นระดับซอฟท์พาวเวอร์ของญี่ปุ่นเองก็ปิดตัวเพิ่มขึ้น ทั้งสถานการณ์เงินเฟ้อ ขาดแคลนแรงงาน ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น

ข้อมูลจาก Tokyo Shōkō Research ระบุว่า การล้มละลายมากสุดอยู่ในอุตสาหกรรมบริการ คือยื่นขอล้มละลาย 2,940 แห่ง เพิ่มขึ้น 41.6 % ส่วนอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งกำลังเผชิญสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานและราคาวัสดุที่พุ่งสูงขึ้น แจ้งล้มละลาย 1,693 แห่ง เพิ่มขึ้น 41.7 %

ถัดมาคืออุตสาหกรรมการผลิตมี 977 แห่ง เพิ่มขึ้น 35.3 % เนื่องจากได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้น
ภาพรวมจำนวนบริษัทในญี่ปุ่นที่ล้มละลายเนื่องจากขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าเมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมีบริษัทที่ล้มละลายเพราะปัญหานี้ 158 แห่ง ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่การสำรวจครั้งแรกในปี 2556 นอกจากนี้ยังมีการล้มละลาย เพราะค่าแรงที่เพิ่มขึ้นด้วย

จากผลสำรวจนี้จะเห็นว่า การเพิ่มค่าจ้างเพื่อรักษาทรัพยากรมนุษย์และการรักษาสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีกำลังกลายเป็นความท้าทายที่สำคัญของฝ่ายบริหารของหลาบริษัท ซึ่งปีที่่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งใช้วิธีเพิ่มค่าตอบแทนและเพิ่มโบนัสเพื่อดึงบุคลากรไว้กับองค์กร

แต่สภาพที่ปฏิเสธไม่ได้คือ วันนี้ปัญหาสังคมสูงวัยของญี่ปุ่นที่ทำให้ขาดแคลนแรงงาน และญี่ปุ่นก็ต้องปรับตัวยอมเปิดรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น

กระทรวงแรงงานญี่ปุ่น ระบุว่าจำนวนแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดพุ่งสูงกว่าระดับ 2 ล้านคนเป็นครั้งแรก โดยมีสัดส่วนแรงงานต่างชาติในงานภาคการก่อสร้าง การแพทย์ และสวัสดิการมากที่สุด

แรงงานต่างชาติที่มากที่สุดตอนนี้ เป็นแรงงานชาวเวียดนาม 518,364 คน รองลงมาคือจีน 397,918 คน ตามด้วยฟิลิปปินส์ 226,846 คน และเนปาล 145,587 คน

ในกรุงโตเกียวมีแรงงานต่างชาติมากที่สุดจำนวน 542,992 คน รองลงมาคือจังหวัดไอจิในภาคกลางมีแรงงานต่างชาติ 210,159 คน และโอซาก้ามีแรงงานต่างชาติ 146,384 คน

มองสถานการณ์ญี่ปุ่นแล้วย้อนมองมาที่ประเทศไทยก็อาจจะเห็นภาพที่อาจคล้ายกันได้ (ในส่วนของสังคมผู้สูงวัย) เพราะประเทศไทยใช้เวลาแค่ 19 ปี ก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ถือว่าใช้เวลาเร็วมากถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ

ตอนนี้ถ้าดูสัดส่วนของไทย เรามีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16%

ประชากรวัยทำงานของไทยปัจจุบันมีอยู่ 42.4 ล้านคน และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ประเมินกันว่าในอีกไม่ถึง 30 ปี แรงงานของไทย ที่มีอายุ 15-59 ปี ต่อประชากรทั้งหมด จะลดลงจาก 62% ในปี 2566 เหลือเพียง 50% ในปี 2593

เรื่องนี้ไม่ใช่เกิดแค่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาร่วมทั่วโลกที่ขาดแคลนแรงงานภาคการผลิต หลายอุตสาหกรรมสามารถผลิตต่อโดยอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนบางอุตสาหกรรมปรับไปใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และ AI มากขึ้น เพื่อทดแทนแรงงานที่หายไป

สำหรับประเทศไทยสถานการณ์ประเมินกันว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยแก้ปัญหาวิกฤติเกิดน้อยได้สำเร็จจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแน่นอน

WORKPOINT
19 กพ 2567

140
นายกฯ ตรวจเยี่ยมค่ายประจักษ์ศิลปาคม-รพ.รองรับผู้ป่วย 30 บาท รักษาทุกที่ เร่งแก้ปัญหาแพทย์สมองไหล เล็งพัฒนาเป็นโมเดลโรงพยาบาลทหารนำร่องที่อุดรฯ

เมื่อเวลา 08.45 น. วันที่ 19 ก.พ.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภารกิจวันที่สาม ในการลงพื้นที่อีสานเหนือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมด้วยนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เดินทางไปยังค่ายทหารประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ติดตามตรวจเยี่ยมและดูความเป็นอยู่ของกำลังพล

โดยนายกฯ ได้สอบถามถึงอายุอาคารที่อยู่อาศัยของกำลังพลที่ส่วนใหญ่เป็นอาคารไม้ และเก่าทรุดโทรม ซึ่งอาจจะต้องก่อสร้างอาคารใหม่เป็นที่พักสำหรับทหารชั้นประทวน หากกองทัพมีพื้นที่เพียงพอควรก่อสร้างเป็นลักษณะแฟลตชั้นเดียว หรือ สองชั้น มากกว่าอาคารตึกสูง เพราะค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างถูกกว่า

นายกฯ กล่าวว่า มาเยี่ยมที่อยู่อาศัยในค่ายทหารประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี เพราะตั้งใจที่จะช่วยปรับปรุงสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของทหารโดยรวมให้ดีขึ้นเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ทั้งนี้ บ้านพักหลายจุดก่อสร้างตั้งแต่ปี 2495 สภาพเก่า ชำรุดทรุดโทรมมาก และจำนวนไม่เพียงพอ ซึ่งเราควรจะดูแลชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นอย่างเท่าเทียม

การมาดูครั้งนี้รัฐบาลตั้งใจจะทดลองปรับปรุงที่พักอาศัยใหม่ ให้สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันมากขึ้น โดยจะทดลองปรับปรุงในพื้นที่ค่ายทหารต่างจังหวัดที่มีพื้นที่เยอะก่อน

จากนั้นนายกฯ เดินทางต่อไปที่โรงพยาบาลประจักษ์ศิลปาคม ติดตามการบริหารจัดการและการให้บริการรักษาทั้งกำลังพลและประชาชนทั่วไป ซึ่งกำลังพัฒนาโรงพยาบาลทหารให้สามารถรองรับผู้ป่วยและนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ได้ เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ป่วยในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข โดยมีผู้ป่วยที่มารอรับบริการรวมถึงญาติผู้ป่วยเข้ามาขอถ่ายรูปกับนายกฯ เป็นที่ระลึกจำนวนมาก

นายกฯ กล่าวว่า โรงพยาบาลทหารในค่ายประจักษ์ศิลปาคม และที่อื่นๆ สามารถพัฒนาให้รองรับกับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ได้ ซึ่งโรงพยาบาลทหารที่นี่ ดูแลประชาชนที่เป็นผู้ป่วยนอก คิดเป็นสัดส่วน 77% ต่อปี อัตราการรักษา แพทย์ 1 คน ต่อคนไข้ 14,000 คนต่อปี และยังมีรถโมบายออกพื้นที่ตรวจรักษาประชาชนในอุดรฯ จังหวัดใกล้เคียง และตามแนวชายแดนหนองคาย แต่ยังประสบปัญหาขาดบุคลากร ขาดอุปกรณ์ ขาดระบบไอที ขาดรถพยาบาลเคลื่อนที่ไม่พอ

ขณะเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์สังกัดกระทรวงกลาโหม ลาออกกันเยอะ เพราะไม่มีโอกาสเติบโต ไม่มีโอกาสบรรจุ อัตราเงินเดือนน้อยกว่าเงินสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทั้งหมดนี้ตนตั้งใจจะช่วยแก้ปัญหาให้โดยเร็วที่สุด และพัฒนาเป็นโมเดลโรงพยาบาลทหารนำร่องที่อุดรฯ และ rollout ไปในที่อื่นๆต่อไป


19 ก.พ.2567
ข่าวสด

141
เกาหลีใต้ สั่งแพทย์ฝึกหัด กลับมาทำหน้าที่ งัด กม.ขู่เล่นงาน หลังแห่ลาออก ประท้วงแผนเพิ่มโควต้า น.ศ.แพทย์

ระบบสาธารณสุขของเกาหลีใต้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์อันตึงเครียด โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้สั่งให้แพทย์ฝึกหัดกลับมาทำหน้าที่ของตนเอง พร้อมขู่จะดำเนินการทางกฎหมาย หลังจากเหล่าแพทย์ฝึกหัดและแพทย์ประจำบ้านนับพันคนที่ทำงานอยู่ใน 5 โรงพยาบาลใหญ่ในกรุงโซล พากันยื่นใบลาออกในวันจันทร์ที่ 19 ก.พ.นี้ และจะเริ่มไม่มาทำงานตั้งแต่เวลา 06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น เพื่อประท้วงแผนการปฏิรูปของรัฐบาล ที่มุ่งเพิ่มโควต้ารับนักศึกษาแพทย์เข้าโรงเรียนการแพทย์เพิ่มขึ้น ภายใต้ความมุ่งหวังส่วนหนึ่งที่จะผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุที่เติบโตอย่างเร็วรวดของประเทศ

แต่แผนการปฏิรูปดังกล่าวถูกต่อต้านอย่างหนักจากผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ในเกาหลีใต้ ที่มองว่าแผนการรับนักศึกษาแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะกระทบต่อคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ ขณะที่นักวิจารณ์ชี้ว่าการคัดค้าน เนื่องจากแพทย์ส่วนใหญ่กังวลว่าแผนปฏิรูปดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเงินเดือนและสถานะทางสังคมของพวกเขา

นายพัค มินซู รัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุขของเกาหลีใต้ แถลงต่อผู้สื่อข่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า รัฐบาลได้ออกคำสั่งให้แพทย์ฝึกหัดทุกคนในโรงพยาบาลฝึกอบรมทั่วประเทศ 221 แห่ง ปฏิบัติหน้าที่ในการให้การรักษาต่อไป พร้อมกล่าวว่า เราผิดหวังอย่างมากจากสถานการณ์เช่นนี้ที่แพทย์ฝึกหัดพากันปฏิเสธที่จะทำงาน และเราขอให้แพทย์ฝึกหัดยกเลิกการตัดสินใจที่จะลาออกและผละงาน

“ผมขอร้องให้แพทย์ฝึกหัดอย่าหันหลังให้กับคนไข้” นายพัคกล่าว และว่า รัฐบาลจะตรวจสอบโรงพยาบาลต่างๆ ให้ตรวจเช็กว่ามีแพทย์ที่ร่วมผละงานประท้วงด้วยหรือไม่

ด้านตำรวจเกาหลีใต้เตือนว่า อาจดำเนินการจับกุม “ผู้ยุยงปลุกปั่นสำคัญ” ให้มีการหยุดงาน

ทั้งนี้ เอเอฟพีรายงานว่า แผนการปฏิรูปดังกล่าวของรัฐบาลเกาหลีใต้ ตั้งเป้าจะเพิ่มโควต้ารับนักศึกษาเข้าโรงเรียนการแพทย์เพิ่มขึ้นถึง 65% ในปี 2025 ขณะที่สำนักข่าวยอนฮัปรายงานว่า รัฐบาลเกาหลีใต้มีแผนเพิ่มโควต้านักศึกษาเข้าโรงเรียนการแพทย์เพิ่มจำนวน 2,000 คน เริ่มในปีหน้า จากปัจจุบันที่รับอยู่แล้วปีละ 3,058 คน

การเพิ่มโควต้ารับนักศึกษาแพทย์ดังกล่าวของรัฐบาล ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากประชาชนในเกาหลีใต้ ที่ต้องเผชิญกับการรอคิวเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลต่างๆ เป็นเวลานาน โดยโพลสำรวจของ โคเรียน กัลลัพ เมื่อเร็วๆ นี้ ชี้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 75% เห็นด้วยกับการรับนักศึกษาแพทย์เพิ่ม ขณะที่ทางการระบุว่า เกาหลีใต้ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในประเทศต่ำที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน และการที่รัฐบาลพยายามผลักดันอย่างหนักให้ผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อรับมือกับการเป็นสังคมผู้สูงอายุที่เติบโตอย่างรวดเร็วของเกาหลีใต้

19 ก.พ 2567
มติชน

142
เปิดประสบการณ์ทีมแพทย์ในกาซา เมื่อพวกเขาต้องผ่าตัดผู้ป่วยโดยปราศจากยาชา หันหลังให้กับผู้ที่มีโรคเรื้อรัง และการรักษาบาดแผลเน่าเปื่อยด้วยยุทธภัณฑ์ทางการแพทย์อันจำกัด

“ด้วยความไม่เพียงพอของยาแก้ปวด เราต้องปล่อยให้ผู้ป่วยกรีดร้องเป็นชั่วโมง ๆ” แพทย์คนหนึ่งกล่าวกับบีบีซี

องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำจำกัดความสภาวะทางสาธารณสุขของกาซาว่า “เกินคำบรรยาย”

WHO ระบุว่า หากนับถึงวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา โรงพยาบาลในกาซายุติการให้บริการไปแล้ว 23 แห่ง ขณะที่โรงพยาบาลอีก 12 แห่งให้บริการได้เพียงบางส่วน และมีอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่ให้บริการได้อย่างจำกัดมาก ๆ

WHO กล่าวว่าการโจมตีทางอากาศและทรัพยากรที่มีไม่เพียงพอ ได้ “ขูดรีดระบบที่มีทรัพยากรไม่เพียงพออยู่แล้ว” ให้ยิ่งร่อยหรอลงไปอีก

กองกำลังป้องกันอิสราเอล (ไอดีเอฟ) กล่าวว่ากลุ่มติดอาวุธฮามาส “วางแผนใช้โรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์เพื่อดำเนินกิจกรรมก่อการร้ายอย่างเป็นระบบ”
ในแถลงการณ์ถึงบีบีซี กองกำลังป้องกันอิสราเอลระบุว่า กองกำลังฯ “ไม่ได้ ‘โจมตี’ โรงพยาบาล แต่บุกเข้าไปยังพื้นที่เฉพาะ… [เพื่อ]ทำลายโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ของฮามาส และจับกุมผู้ก่อการร้ายฮามาส โดยการกระทำทั้งหมดนั้นตั้งอยู่บนความระมัดระวังอย่างสูง”

กองกำลังฯ ระบุว่า พวกเขาอนุญาตให้มีความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเข้าไปในพื้นที่กาซา ซึ่งนั่นรวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ

ด้านหน่วยงานให้ความช่วยเหลือรวมไปถึง WHO กล่าวว่า พวกเขาถูก “ตั้งเงื่อนไขและปฏิเสธการเข้า[พื้นที่]บ่อยครั้ง”

สุดความสามารถของโรงพยาบาล
บุคคลกรณ์ทางสาธารณสุขหลายคนกล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลจำนวนมากให้กาซามีคนไข้เยอะกว่าที่จะรับรองไหว และเครื่องมือทางการแพทย์ก็มีไม่เพียงพอ มีรายงานจำนวนมากที่ระบุด้วยว่า โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกาซาให้บริการในอัตรามากกว่า 300% ของจำนวนเตียงที่มีเพื่อรองรับผู้ป่วย

โรงพยาบาลสนาม 4 แห่งได้ถูกตั้งขึ้นในกาซา โดยมีจำนวนเตียงรวมกัน 305 เตียง ตามข้อมูลจาก WHO

เมื่อวันอาทิตย์ (18 ก.พ.) ที่ผ่านมา WHO รายงานว่า โรงพยาบาลนาสเซอร์ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกาซา เป็นโรงพยาบาลล่าสุดที่ไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ หลังจากถูกโจมตีโดยกองกำลังของอิสราเอล

กองกำลังป้องกันอิสราเอลกล่าวเมื่อคืนวันศุกร์ (16 ก.พ.) ว่ากองกำลังฯ พบอาวุธจำนวนหนึ่งที่โรงพยาบาลดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบยาซึ่งมีชื่อและภาพของตัวประกันแปะอยู่ด้วย นอกจากนี้ ไอดีเอฟยังระบุว่าได้จับกุม “ผู้ก่อการร้ายนับร้อย ๆ คน” ที่หลบซ่อนอยู่ที่นั่น

ไอดีเอฟบอกกับบีบีซีก่อนหน้านี้ว่า “ฮามาสยังคงทำให้ประชากรที่เปราะบางที่สุดของกาซาอยู่ในอันตรายร้ายแรงอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้โรงพยาบาลเป็นแหล่งก่อการร้ายอย่างไร้ความสำนึกคิดถึงผู้อื่น”

บุคลากรที่โรงพยาบาลใกล้ ๆ กล่าวว่า ปฏิบัติการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลนาสเซอร์ทำให้พวกเขามีความเครียดมากขึ้น ยูเซฟ อัล-อักกาด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาซายูโรเปียน ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองข่าน ยูนิส ให้คำจำกัดความสถานการณ์ปัจจุบันว่า “เลวร้ายที่สุดตั้งแต่ที่เราเผชิญหน้ากับสงครามมา”

“ก่อนหน้านี้สถานการณ์ก็รุนแรงอยู่แล้ว คุณคิดว่ามันจะเป็นยังไงล่ะเมื่อเราต้องรับ[ผู้ป่วย]อีกหลายพันคน ที่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานแล้วมาอยู่ตามโถงทางเดินและพื้นที่สาธารณะ”

เขากล่าวว่าโรงพยาบาลมีเตียงไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการการรักษา ดังนั้นบุคลากรของโรงพยาบาลจึงเอาผ้ามาปูบนแผ่นเหล็กหรือไม้ และต้องให้ “ผู้ป่วยจำนวนมากนอนอยู่บนพื้นโดยไม่มีอะไรเลย”

แพทย์อื่น ๆ ทั่วฉนวนกาซาอธิบายสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน “ถ้าหากมีใครบางคนเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันหรือมีปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวกับหัวใจ เราก็จับพวกเขานอนบนพื้นและเริ่มรักษากันตรงนั้น” ดร.มาร์วาน อัล-ฮามส์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมาร์เทอร์ โมฮัมเหม็ด ยูซุฟ อัล-นัจญาร์ กล่าว

คณะกรรมการการเมืองแห่งฮามาสเป็นคนแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐในกาซา ในบางกรณี ผู้อำนวยการเหล่านี้ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนที่ฮามาสจะเข้ามาปกครองพื้นที่ฉนวนกาซา

ยาและทรัพยากร
แพทย์จำนวนหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาเผชิญหน้ากับความยากลำบากเมื่อต้องทำงานในภาวะที่มีทรัพยากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ “เราหาออกซิเจนไม่ได้สักหยด” แพทย์คนหนึ่งบอกกับบีบีซี

“เราไม่มียาชา สิ่งจำเป็นสำหรับห้องไอซียู ยาค่าเชื้อ และล่าสุดคือยาแก้ปวด” ดร.อัล-อักกาด กล่าว “มีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีบาดแผลไฟลวกสาหัส… เราไม่มียาแก้ปวดที่เหมาะสมให้กับพวกเขา”

แพทย์คนหนึ่งยืนยันว่า มีการผ่าตัดเกิดขึ้นจริงโดยปราศจากยาชา ทีมงานของ WHO คนหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาพบกับเด็กหญิงวัย 7 ขวบคนหนึ่ง ณ โรงพยาบาลกาซายูโรเปียน ที่มีแผลไฟลวกมากถึง 75% ของร่างกาย แต่ก็ไม่ได้รับยาแก้ปวดเพราะยามีจำกัด

ดร.โมฮัมเหม็ด ซัลฮา รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลอัล-ออว์ดา ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกาซา กล่าวว่า ผู้คนถูกพาตัวมารักษาด้วยลาหรือม้า

“หายนะเกิดขึ้นเมื่อแผลของผู้ป่วยเริ่มเน่า เนื่องจากบาดแผลเหล่านี้เปิดมาแล้วกว่าสองถึงสามสัปดาห์” เขากล่าว

ดร.ซัลฮา กล่าวว่า แพทย์จำนวนหนึ่งต้องผ่าตัดด้วยไฟฉายคาดหัวเนื่องจากทรัพยากรไฟฟ้าที่ขาดแคลน

บุคลากรต้องแยกจากครอบครัว
WHO ระบุว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ราว 20,000 คนอยู่ในกาซา ทว่าบุคลากรเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ “เนื่องจากพวกเขาต้องพยายามเอาชีวิตรอดและดูแลครอบครัวตัวเอง”

ดร.อัล-อักกาด กล่าวว่า ตัวเลขบุคลากรและอาสาสมัครในโรงพยาบาลของเขาเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คนที่พลัดถิ่นมาจากพื้นที่อื่นได้อาสาเข้ามาช่วยเหลือ แต่เขากล่าวว่านั่นก็ยังไม่พอเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยและรูปแบบของการเจ็บป่วยที่หลากหลาย

หลังการทิ้งระเบิด เขากล่าวว่าผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจะเดินทางมาที่โรงพยาบาล “ด้วยสภาพราวกับคอฟตา” ซึ่งหมายถึงอาหารชนิดหนึ่งที่ทำมาจากเนื้อบด

“คน ๆ เดียวกันมาด้วยอาการบาดเจ็บทางสมอง กระดูกซี่โครงและแขนขาหัก และบางครั้งก็สูญเสียดวงตา… ทุกการบาดเจ็บที่คุณจะจินตนาการได้ คุณจะได้เห็นมันที่โรงพยาบาลของเรา”

เขาเล่าว่า มีผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 5 คนในการดูแลรักษา เนื่องจากผู้ป่วยคนดังกล่าวบาดเจ็บหนักในหลายส่วนมาก

แพทย์จำนวนหนึ่งที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ต้องแยกจากครอบครัวของพวกเขา

“ครอบครัวของผมไม่ได้อยู่กับผมมามากกว่าสามเดือนแล้ว และผมอยากจะโอบกอดพวกเขาเหลือเกิน” ดร.ซัลฮา ผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทางตอนเหนือ ขณะที่ครอบครัวได้ลี้ภัยไปอยู่ทางตอนใต้แล้ว กล่าว

“สิ่งปลอบประโลมใจผมคือการที่ผมได้อยู่ที่นี่เพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ผู้หญิง และคนสูงอายุ ให้ได้รับบริการทางสาธารณสุขและช่วยชีวิตพวกเขา”

ไม่มีพื้นที่สำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง
แพทย์หลายคนกล่าวกับบีบีซีว่า ผู้คนในกาซาที่มีโรคเรื้อรังต้อง “จ่ายด้วยราคามหาศาล”

“พูดตรง ๆ คือเราไม่มีเตียงจะรองรับพวกเขา หรือติดตามอาการกับพวกเขาได้” ดร.อัล-อักกาด กล่าว

“ใครก็ตามที่ต้องฟอกไตสี่ครั้งต่อสัปดาห์ก่อหน้านี้ ตอนนี้พวกเขาได้ฟอกไตสัปดาห์ละครั้ง ถ้าคนคนนี้เคยได้ฟอกไต 16 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตอนนี้เขาจะได้ฟอกไต 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์”

ผู้หญิงบางคนต้องคลอดลูกในเต็นท์โดยไร้ซึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขณะที่โรงพยาบาลที่ให้บริการการผดุงครรภ์ระบุว่า พวกเขาไม่สามารถรองรับคนป่วยได้มากกว่านี้แล้ว

“ในแผนกหนึ่งมีคนตาย ขณะที่อีกแผนกหนึ่งมีเด็กเกิดใหม่ เด็กเกิดขึ้นมาใหม่แต่ไม่มีนมให้พวกเขา โรงพยาบาลจะเตรียมนมหนึ่งกล่องให้กับเด็กทุกคน” ดร.ซัลฮา กล่าว

ผู้คนเดินทางมายังโรงพยาบาลพร้อมกับโรคต่าง ๆ ที่แพร่ระบาดได้ในภาวะที่มีผู้คนแออัดและไม่สะอาด

“มีภาวะเจ็บป่วยเกิดขึ้น แล้วเราก็หาที่ที่จะรักษาโรคเหล่านี้ไม่ได้” อาบู คาลิล วัย 54 ปี ผู้ที่พลัดถิ่นมายังเมืองราฟาห์ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกาซา กล่าว

“เราต้องออกเดินทางกันตั้งแต่รุ่งเช้าเพื่อไปเข้าแถว และบางครั้งคุณจะพบกับผู้คนราว 100 คน ที่มาก่อนคุณ คุณอาจต้องกลับบ้านมือเปล่า”

รายงานเพิ่มเติมโดย มูอัธ อัล คาทิบ

BBC News ไทย
19 กพ 2567

143
ทำงานมาถึง 28 ปี แต่ยังได้เงินเดือนไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท เป็นเสียงสะท้อนที่ น.ส.อภิสราธรณ์ พันธ์พหลเวช ผู้ประสานงานกลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค เล่าให้ “The Coverage” ฟัง

ด้วยการทำงานที่เป็น ‘ผู้สนับสนุน’ ในระบบสุขภาพ มีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบซับซ้อน ทั้งต้องอ่านออเดอร์ของแพทย์ให้ได้ จำชื่อยาทั้งฉีด ยาเม็ด คำนวณโดสยา ต้องจัดยาอย่างรวดเร็ว แม่นยำ เข็นถาดอาหารให้ผู้ป่วยใน (OP) บางครั้งต้องเข็นผ้า และชุดเปื้อนเลือดส่งซัก แต่ในขณะเดียวกัน ภาระงานที่ต้องแบกรับไม่สอดคล้องกับ ‘เงิน และสวัสดิการ’ ที่ได้

ทำให้กลุ่มลูกจ้าง และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ตัดสินใจส่งตัวแทน ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนร่วม 20 คน เดินหน้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นหนังสือติดตามการขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการของลูกจ้าง และ พกส. ใน 6 ประเด็นสำคัญ

ประกอบด้วย
1. ให้กำหนดระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง คือ
1.1 ให้ลูกจ้างรายวัน รายคาบ และจ้างเหมา เป็นลูกจ้างรายเดือน และลูกจ้างรายเดือนเป็น พกส.
1.2 ให้ พกส. ทุกสายงาน ได้ปรับเป็นพนักงานราชการ

2. ให้ พกส. ได้รับค่าตอบแทนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา โดยให้มีการปรับเพิ่มจากฐานเงินเดือนเดิม 3,000 บาท

อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถดำเนินการได้ ขอให้ปรับเพิ่มค่าตอบแทนแบบขั้นบันได คืออายุงาน 3-5 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 20%, อายุงาน 6-10 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 40%, อายุงาน 11-15 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 60%, อายุงาน 16-20 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 80%, อายุงาน 21-25 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 100%, โดยปรับเพิ่มจากฐานเงินเดือนในปัจจุบัน และนับอายุงานตั้งแต่เป็นลูกจ้างชั่วคราว ในกรณีอายุงานเศษ 6 เดือนขึ้นให้ปรับเป็น 1 ปี และคิดปรับเพิ่มเงินเดือนจากยอดเงิน 3,000 บาท

3. ให้การปรับเพิ่มเงินเดือนประจำปี ให้มีการปรับเพิ่มปีละ 2 ครั้ง และแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 2.5%

4. ขอพิจารณาสวัสดิการของ พกส. เพิ่มเติม คือ 4.1 ขอสวัสดิการเทียบเท่าลูกจ้างประจำ 4.2 ยกเลิกสัญญาจ้างจากเดิม 4 ปี  60 ปี (เปลี่ยนจากการต่อสัญญาจ้างเดิม 4 ปี/ครั้ง เป็นทำงานต่อได้จนเกษียณอายุราชการ)

5. ความคืบหน้าของการบรรจุข้าราชการ พกส. 63 สายงาน (Back Office) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา

6. พิจารณาค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษให้สำหรับพนักงานขับรถยนต์ที่ปฏิบัติงานยามวิกาล (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://www.thecoverage.info/news/content/6212)

สำหรับความพยายามที่จะเรียกร้องความก้าวหน้านี้ น.ส.อภิสราธรณ์ บอกว่า จริงๆ แล้วมีการเริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 โดยในขณะนั้นเป็นการขอให้มีการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ เนื่องจากเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนตำแหน่งจากลูกจ้างประจำเป็น พกส. โดยเธอขยายความเพิ่มเติมว่า การถูกเปลี่ยนตำแหน่งมาเป็น พกส. นั้น ควรจะมีความก้าวหน้าในสายงาน แต่กลับกันสวัสดิการที่ได้รับเหมือนถอยหลังลงคลอง

"พี่เองจบปริญญาตรี จบมาก็คาดหวังว่าทำไปเถอะ อยู่ในพื้นที่บ้านเรา หวังจะได้บรรจุเป็นลูกจ้างประจำ แต่ก็ถูกยุบ พวกพี่ถูกลอยแพไหม? ไม่มีใครรับผิดชอบตรงนี้เลย"

น.ส.อภิสราธรณ์ กล่าวว่าเธอ และเพื่อนร่วมอาชีพต้องอยู่กันแบบนี้มาเกือบ 20 ปี บนฐานเงินเดือนที่ไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ยังต้องต่อสัญญาการทำงานทุกๆ 4 ปีด้วย พร้อมกับเปรียบเทียบด้วยว่า ในอายุงาน 20 ปี หากเป็นลูกจ้างประจำจะมีเงินเดือนอยู่ราว 2-3 หมื่นบาท และมีสวัสดิการที่เทียบเท่าข้าราชการทุกอย่าง ยกเว้นเงินเดือนที่ได้น้อยกว่า

แม้ว่าที่ผ่านมา ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 จะมีการพูดถึงการบรรจุกรณีพิเศษ แต่ก็ดูไม่เห็นวี่แวว เนื่องจากได้รับคำตอบว่าไม่สามารถทำได้ และยังมีจุดที่เธอมองว่าย้อนแย้งอยู่ เพราะมีการบรรจุตำแหน่งข้าราชการ ในกลุ่มวิชาชีพราว 4.5 หมื่นอัตรา

“ผู้บังคับบัญชาหลายคนยังอยากได้ตำแหน่งชำนาญการพิเศษ (ซี8) เพราะก็ต้องการความก้าวหน้าทั้งที่เงินเดือนเขาอาจจะ 4-5 หมื่นกว่าบาท แล้วพวกพี่ล่ะ? เพื่อนพี่อายุงาน 28 ปี เงินเดือน 1.3 หมื่นบาท”

นอกจากนี้ เมื่อเดือน พ.ย. 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการให้มีการปรับเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่อยู่ที่ 1.8 หมื่นบาท จาก 1.5 หมื่นบาทใน 2 ปีงบประมาณ ได้แก่ ปีงบประมาณ 2567 และปีงบประมาณ 2568

จากข้อมูลข้างต้น น.ส.อภิสราธรณ์ บอกว่าเธอยินดีด้วย แต่ก็อยากให้มีคนกลับมาดูกลุ่มลูกจ้าง และ พกส. บ้าง พร้อมกับอธิบายต่อไปอีกว่า ด้วยจำนวนเงินที่ได้รับยังส่งผลกระทบถึงตอนเกษียณ โดยจะได้เงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคมประมาณเดือนละ 3,000-4,000 บาทเท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็น 6 ประเด็นข้างต้นที่ต้องการเรียกร้อง ซึ่งเธอบอกว่าภายใต้ข้อเรียกร้องนั้น มีสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดอยู่ 2 เรื่อง คือการปรับเพิ่มจากฐานเงินเดือน 3,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงการประเมินงาน และขึ้นเงินเดือนปีละ 2 ครั้ง

“พี่อยากจะขอเงินให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ ข้าว น้ำมันก็แพง พวกพี่อยู่ไม่ได้ เมื่ออยู่ไม่ไหวก็ต้องมาเรียกร้อง และยังให้มีความไม่เท่าเทียมด้วย เพราะกลุ่มพวกพี่จะมีการประเมินผลงานประมาณ 2 ครั้งต่อปี ขึ้นเงินเดือนให้พวกพี่ครั้งเดียว แต่กลุ่มข้าราชการประเมิน 2 ครั้ง ขึ้นเงินเดือน 2 รอบ”

แล้วแบบนี้จะไปถึงดาวอังคารเมื่อไหร่? เธอตั้งคำถามทิ้งท้าย

The Coverage • Insight • 19 กุมภาพันธ์ 2567

144
การไปรับการดูแลรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการได้ “ทุกที่” ไม่ว่าจะเป็นสังกัดรัฐ หรือเอกชน ไม่ว่าจะโรงพยาบาล หรือคลินิก ตลอดจนร้านขายยา เพียงแค่พกบัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แถมส่งต่อได้ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว

ขณะเดียวกัน หน่วยบริการยังสามารถเบิกจ่ายค่าบริการจาก “สปสช.” หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ภายใน 3 วัน จากเดิมที่ต้อง 15 หรือ 30 วันแล้วแต่รอบส่งของโรงพยาบาล ซึ่งบางแห่งอาจยาวนานถึง 1 ปี

เหล่านี้เกิดขึ้นจริงได้เพียงแค่เกิดการ “เชื่อมข้อมูล” กันระหว่างหน่วยบริการ ภายใต้นโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

แน่นอนว่าผู้มีบทบาทนำในการขับเคลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ให้เห็นเป็นรูปธรรมคือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่อีกด้านหน่วยงานที่จะขาดไปไม่ได้เลย เพราะเปรียบเสมือน “หัวใจ” ของระบบบริการ ก็คือ สปสช.  ซึ่งกุมเม็ดเงินกว่า 2 แสนล้านบาทในการสนับสนุนเงินเพื่อดูแลสุขภาพคนสิทธิบัตรทองกว่า 47 ล้านคน

เพื่อสำรวจบทบาทการเชื่อมข้อมูลของ สปสช. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่สะดุด และการสร้างความมั่นใจให้กับหน่วยบริการได้ว่าเงินจะไปถึงเร็วที่สุด “The Coverage” มีโอกาสได้พูดคุยกับ ประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. ถึงเรื่องราวดังกล่าวซึ่งอยู่ในอีกหน้าเหรียญของ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ

การเชื่อมข้อมูลภายใต้ 30 บาทรักษาทุกที่
ก่อนจะไปเข้าไปถึงเรื่องราวนั้นที่เป็นประเด็นหลัก ประเทือง บอกว่าทุกคนจำเป็นต้องรู้ภูมิหลังของเรื่องนี้ก่อน เพื่อให้เข้าใจคำที่พูดง่ายแต่เข้าใจได้ยาก อย่างการเชื่อมโยงข้อมูลของ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ซึ่งจะทำให้เห็นตำแหน่งแห่งที่ของ สปสช. ชัดขึ้น

ก่อนจะขยายความต่อไปว่า เดิมในทุกโรงพยาบาลจะมีการเก็บข้อมูลการดูแลรักษาของผู้ป่วยในแต่ละครั้งที่มารับบริการไว้ เช่น ลักษณะของโรคที่เป็น แพ้ยาอะไร มีโรคประจำตัวอะไรไหม ฯลฯ รวมถึงข้อมูลสำคัญอย่างด้านการเงิน ครุภัณฑ์ หรือกระทั่งชุดผู้ป่วยที่พร้อมใช้งาน และรอซักรีด ผ่านการจดบันทึกลงกระดาษ หรือเอกสารต่างๆ และใช้การจัดเก็บในชั้นวางหรือตู้ใส่เอกสารทั่วไป

แต่ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น ก็มีการปรับมาใช้สิ่งที่เรียกว่า “ระบบข้อมูลของโรงพยาบาล” (Health Information System หรือ HIS) พูดให้เข้าใจง่าย ระบบนี้เปรียบเสมือนตู้เก็บเอกสารขนาดใหญ่ที่ถูกย่อขนาดเอามาใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์ โดยบทบาทหน้าที่เหมือนเดิม ใช้จัดเก็บข้อมูลต่างๆ ในโรงพยาบาล เพียงแค่เปลี่ยนจากกระดาษเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ดี จุดสำคัญก็คือ ระบบ HIS นี้ที่อยู่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ไม่มีที่ไหนเหมือนกันเลย 20 โรงพยาบาล ก็จะมีระบบแบบนี้ 20 ระบบ รวมถึงเป็นไปแบบต่างคนต่างทำของตนเอง และด้วยข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยเป็นข้อมูลที่สำคัญ โรงพยาบาลจึงมักทำระบบดังกล่าวให้เป็นระบบปิด ไม่มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตภายนอก เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลเหล่านี้โดยกังวลว่าอาจจะถูกแฮ็ก โดนไวรัส หรืออะไรต่างๆ ที่ทำให้ระบบล่ม

“เพราะทันทีที่ระบบล่มนั่นหมายถึงทั้งโรงพยาบาลจะหยุดนิ่งหมด ไม่สามารถให้บริการคนไข้ได้ เพราะจะดูประวัติคนไข้อะไรต่างๆ ไม่ได้เลย”

ประเทือง บอกต่อไปว่า เหล่านี้คือภาพระบบข้อมูลของโรงพยาบาลที่ผ่านมา ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นจาก 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ก็คือ การที่ สธ. ทำให้ทุกโรงพยาบาลสังกัด สธ. ในประเทศไทยเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนข้อมูลจากระบบ HIS ระหว่างกัน ผ่าน “หมอพร้อม” เข้าสู่ระบบคลาวด์ (Cloud) หรือระบบจัดเก็บข้อมูลหมอพร้อม ซึ่งเป็นของ สธ. ส่วนโรงพยาบาลนอกสังกัด สธ. เช่น โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) อาจจะใช้อีกระบบหรือแพลตฟอร์มการเชื่อมข้อมูลหนึ่ง มีชื่อว่า “Health Link” โดยข้อมูลจะถูกจัดเก็บเข้าสู่ระบบคลาวด์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

กระนั้นไม่ใช่ว่าจะเชื่อม “ข้อมูลทุกอย่าง” ของโรงพยาบาลเหล่านั้นเข้าหากัน แต่เป็นการเลือกเอาข้อมูลที่ “จำเป็นต่อการรักษา” เท่านั้น เช่น ประวัติการรักษาผู้ป่วย ซึ่งในกระบวนการนี้จะมีการกำหนดว่าข้อมูลอะไรบ้างที่แต่ละโรงพยาบาลจะเชื่อมกัน โดยเรียกว่า ชุดข้อมูลมาตรฐานสำหรับแลกเปลี่ยนกัน (Standard Data Set)

เพราะสิ่งนี้จะทำให้ทุกโรงพยาบาลรับรู้ข้อมูลผู้ป่วยที่เดินเข้ามารับบริการร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในกรณีที่ผู้ป่วยย้ายถิ่นฐานแบบข้ามจังหวัด เพื่อไปทำงานหรืออยู่อาศัย แต่ไม่มีการย้ายทะเบียนบ้านไปจังหวัดนั้นๆ ให้สามารถรับการดูแลรักษาได้โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว หรือเสียเวลาไปกับการตรวจสอบสิทธิว่าเดิมอยู่ที่โรงพยาบาลไหน และมีประวัติการรักษาอะไรมาแล้วบ้าง

“จริงๆ ผมใช้คำว่าโรงพยาบาลให้เข้าใจง่ายนะ เพราะใน 30 บาทรักษาทุกที่ที่เราเชื่อมข้อมูลที่ว่ากับทุกหน่วยบริการ ทั้งโรงพยาบาล คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตแพทย์ ร้านยา คลินิกแล็บ ฯลฯ เพื่อให้ตอบโจทย์ว่าประชาชนสิทธิบัตรทองต้องไปได้ทุกที่ และให้ผู้ให้บริการมีสิทธิที่จะดูประวัติคนไข้หากเขายินยอม เพื่อประโยชน์ในการรักษา”

สปสช. ยกเครื่อง ‘ระบบ IT’
คำอธิบายข้างต้นน่าจะทำให้พอเห็นภาพแล้วว่า 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ที่บอกว่าเชื่อมข้อมูล ข้อมูลนั้นคืออะไร ทำไมทำให้ประชาชนสามารถไปรับบริการทุกที่ได้ แต่นั่นเป็นเพียงในฝั่งของ “การให้การดูแลรักษา” เท่านั้น

ทว่า อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การเชื่อมข้อมูลเพื่อ “เบิกจ่าย” ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สปสช. เพราะแน่นอนว่าการรับบริการที่สะดวกขึ้นจะทำให้มีประชาชนเข้าถึงมากขึ้น หากระบบเบิกจ่ายยังเป็นแบบเดิมอาจยังไม่สอดคล้องเท่าไหร่นัก ยิ่งมีร้านยา คลินิกต่างๆ ของภาคเอกชน ซึ่งต้องการความมั่นใจว่าถ้ามาร่วมให้บริการแล้วจะได้รับเงินแน่ๆ ยิ่งต้องทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว

ที่ผ่านมาจนกระทั่งตอนนี้ (ในโรงพยาบาลที่ยังไม่ใช่พื้นที่นำร่อง) การเบิกจ่ายของหน่วยบริการจะมีการส่งข้อมูลกับ สปสช. เพื่อเบิกจ่ายอยู่แล้ว โดยใช้โปรแกรม E-claim ของ สปสช. ซึ่งหน่วยบริการจะคีย์ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับเบิกจ่าย เช่น การให้บริการดูแลรักษา “ส่ง” มาที่ สปสช. ผ่านระบบ API ตามที่โรงพยาบาลสะดวก

แต่ใน 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ประเทือง บอกว่า สปสช. ได้ปรับให้การส่งข้อมูลที่จำเป็นสำหรับเบิกจ่ายลดน้อยลง เอาเฉพาะที่จำเป็น แต่ยังคงมาตรฐานเหมือนเดิม รวมถึงทำให้เกิดการ “เชื่อม” ข้อมูลจริงๆ คือหน่วยบริการไม่ต้องคีย์ข้อมูลเบิกจ่ายอีกต่อไป ทุกอย่างเมื่อให้บริการจบยืนยันตัวตนหลังรับบริการแล้ว ข้อมูลการรับบริการจะถูกเชื่อมมาที่ สปสช. อัตโนมัติแบบเรียลไทม์เลย

“ในส่วนนี้ลดภาระงานของหน่วยบริการได้เยอะมาก เมื่อก่อนหน่วยบริการต้องใช้คนเยอะมากในการนำข้อมูลจากระบบ HIS ของโรงพยาบาลตัวเองเพื่อมาทำข้อมูลเบิกจ่ายกับ สปสช. ยิ่งโรงพยาบาลใหญ่ๆ ด้วยอาจใช้คนถึง 25 คน”

ดังนั้นด้วยการไหลมาของข้อมูลการเบิกจ่ายจากหน่วยบริการที่เร็วและมากขึ้นกว่าเดิม ประเทือง บอกว่า สปสช. จึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศที่เรียกได้ว่า “ยกเครื่อง” ใหม่ เริ่มจากการปรับระบบ API ให้สามารถรองรับการส่งข้อมูลได้มากขึ้น 

“ถ้าเปรียบเหมือนถนนเป็นท่อส่งข้อมูล สิ่งที่เราทำก็คือขยายจาก 4 เลน เป็น 8 เลน และแยกชัดเลยว่าฝั่งนี้สำหรับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ส่วนระบบสำหรับเจ้าหน้าที่ภายในแยกเป็นอีกส่วน” ประเทือง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

นอกจากนี้ เพื่อรองรับปริมาณข้อมูลปริมาณมหาศาลต่อวัน สปสช. ยังทำระบบเชื่อมข้อมูลดังกล่าวสำรองไว้อีก 2 ระบบ สำหรับกรณีที่ระบบหลักมีปัญหาแล้วไม่สามารถใช้ได้ และคอยช่วยแบ่งเบาระบบหลักหากมีการส่งข้อมูลมากเกินไปในช่วงเวลาเร่งด่วนที่คนไปใช้บริการที่โรงพยาบาลเยอะ

รวมถึงการเช่าระบบคลาวด์ของภาคเอกชนด้วยอีกหนึ่งคลาวด์ เพื่อช่วยสนับสนุนระบบคลาวด์เดิมของ สปสช. ที่ใช้อยู่ ซึ่งได้มาจากคลาวด์กลางของภาครัฐ (GDCC)

“จากเดิมที่ข้อมูลเข้ามาที่ สปสช. ที่เราเคยมอนิเตอร์คือ มีการทำธุรกรรมระหว่างหน่วยบริการทั่วประเทศกับ สปสช. คือวันละ 1 ล้านครั้ง แต่พอปรับระบบเป็นการเชื่อมข้อมูล ผมประเมินคือน่าจะเพิ่มอีกเท่าตัว คือ 2 ล้านครั้ง นั่นคือข้อมูลธุรกรรมที่จะไหลมาในแต่ละวันที่ สปสช.”

ที่สำคัญที่สุด ประเทือง กล่าวว่าคือการยกระดับระบบความปลอดทางไซเบอร์ (Cyber Security)  เป็นขั้นสูงสุด ถ้าอธิบายให้เป็นรูปธรรมก็คือ การเสริมกำแพงให้มี 5 ชั้น ถ้าจะมีใครเจาะเข้ามาก็ต้องผ่านทั้งหมดนี้ให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาแค่ชั้นแรกก็โดนจัดการแล้ว แต่แน่นอนว่าที่ทำขนาดนี้เพราะอยากให้ทุกคนมั่นใจว่าข้อมูลที่มาที่ สปสช. ปลอดภัยแน่นอน

ไม่เพียงเท่านั้นในด้านความปลอดภัย สปสช. ยังมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการด้านความปลอดภัยของข้อมูล (Cyber Security Operation Centre หรือ CSOC) ที่มีเจ้าหน้าที่เกือบ 15 คน จัดเวรเวียนกันคอยมอนิเตอร์ข้อมูลการเบิกจ่ายที่ถูกส่งมาที่ สปสช. ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูว่ามีความผิดปกติตรงจุดไหนหรือไม่อย่างไร เช่นเดียวกับศูนย์ข้อมูล (Data Center) หรือระบบคลาวด์โดยทั่วไป

ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อไปว่า แม้ สปสช. จะมอนิเตอร์เพื่อนำข้อมูลไปบริหารจัดการเงินเป็นหลัก แต่หากข้อมูลการรับบริการที่ได้มาสามารถใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่นได้ด้วย สปสช. ก็พร้อมจะดำเนินการ เช่น ในกรณีที่พบว่ามีข้อมูลการเข้ารับบริการที่มีโอกาสเป็นการ Shopping Around จะมีการส่งสัญญาณไปยังโรงพยาบาลให้ระวัง และตรวจสอบให้ละเอียดยิ่งขึ้น

ตลอดจนมีทำงานร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เพื่อพัฒนาในเรื่องคุณภาพการให้บริการ เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ที่มีความเสี่ยงจะเป็น Shopping Around แล้วไม่ใช่ ก็แสดงว่าการที่ผู้ป่วยต้องไปรับการรักษาที่หน่วยบริการบ่อยๆ อาจมีปัญหาเรื่องคุณภาพของบริการ ซึ่ง สปสช. ก็จะส่งสัญญาณให้ สสจ. และ สสอ. เพื่อจะได้ลงไปกำกับติดตามได้ทันท่วงที

ความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบครั้งใหญ่
การพลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบข้อมูลเหล่านั้นของ สปสช. ยังได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเชิงระบบเบิกจ่ายอีกด้วย นั่นก็คือ สปสช. ปรับระบบเบิกจ่ายเป็นรูปแบบ Per visits พร้อมกับการโอนเงินให้หน่วยบริการภายใน 3 วัน ตามที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ได้กล่าวรับปากที่ประชุมนัดแรกของคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติไว้

ประเทือง อธิบายว่า สำหรับใน 3 วันนั้นสิ่งที่ สปสช. ทำคือเมื่อข้อมูลการเบิกจ่ายจากหน่วยบริการถูกส่งมาที่คลาวด์ของ สปสช. ธุรกรรมทุกรายการทั้งหมด 100% จะถูกนำไปประมวลผล และส่งไปสู่ฝ่ายตรวจสอบก่อนจ่ายที่จะทำงานวันต่อวัน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตั้งฎีกาเบิกจ่ายส่งให้ผู้บริหารอนุมัติ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วก็ทำการโอนเงินไปให้หน่วยบริการเลย

“3 วันนั้นไม่ใช่ตัวเลขลอยๆ แต่คำนวณมาแล้ว และได้ทดลองเอาตัวเลข 72 ชั่วโมงตั้งเลยว่าแต่ละกระบวนการจะใช้กี่ชั่วโมง เพื่อแบ่งการรับผิดชอบให้ชัด”

ในขั้นตอนสุดท้าย สปสช. ยังให้หน่วยบริการสมัครเข้าร่วมไลน์สำหรับแจ้งเตือนของ สปสช. ที่เมื่อเงินโอนเข้าบัญชีหน่วยบริการแล้ว จะมีการแจ้งเตือนผ่านไลน์ทันที หน่วยบริการไม่ต้องไปนั่งเช็กอะไรทั้งสิ้น

“โดยสรุปคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สุดของ สปสช. คือเราจ่ายเงินทุกวันยกเว้นวันเสาร์ - อาทิตย์ คำว่า 3 วันหรือ 72 ชั่วโมง คือมันเป็นรอบของมัน สมมติส่งมาวันนี้ อีก 3 วันได้รับ ส่งข้อมูลมาพรุ่งนี้ อีก 3 วันได้รับ เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นระบบของเราต้องเชื่อมต่อกันแบบ Seamless (ไร้ร้อยต่อ) มากๆ ไม่งั้นเราจะไม่มีทางทำแบบนี้ได้เลย

“เราทำงานเป็นวินาทีแล้วตอนนี้ เพื่อให้เงินมันจ่ายได้ทัน จากเดิมทำเดือนละครั้งครึ่งเดือนครั้ง ท่านเลขาฯ บางทีต้องอนุมัติเงินทีตอนกลางคืนเลยนะ เพื่อให้วันรุ่งขึ้นเงินโอนเข้าบัญชีโรงพยาบาล”

“หลายคนบอกว่าเราโม้รึป่าว ของเขายังไม่ได้เลยภายใน 3 วัน ก็คงต้องบอกว่าที่หน่วยบริการอาจต้องเช็กว่าเพราะอินเตอร์เน็ตหน่วยบริการรึเปล่า หรือเซิฟเวอร์ หรือความเร็วของคอมพิวเตอร์ของเขารึเปล่า เพราะเรามีการมอนิเตอร์ระบบตลอด และตอนนี้ใช้เวลาไม่เกิน 1 วินาทีเท่านั้นที่จะสามารถเชื่อมข้อมูลเข้าสู่ระบบ สปสช. ได้”

ประเทือง กล่าวว่า ความท้าทายต่อไปของระบบเบิกจ่าย สปสช. คือจะทำให้กระบวนการตั้งแต่รับข้อมูลมาจนโอนเงินให้หน่วยบริการจบภายใน 24 ชั่วโมงได้ไหม หรือที่ท้าทายแบบสุดๆ เลยคือการทำให้มันเร็วเหมือนควักเงินสดให้เลย

“เหล่านี้จะท้าทาย สปสช. แน่ๆ ในอนาคตไม่วันใดก็วันหนึ่ง ซึ่งถ้าถามว่ามีการเตรียมความพร้อมถึงขนาดนั้นไหม ถ้าในเชิงโครงสร้างของระบบข้อมูลสารสนเทศมีความพร้อม แต่สิ่งที่ต้องไปถามความพร้อมคือกระบวนการภายในในการเบิกจ่ายของ สปสช. ต่างหาก ซึ่งตอนนี้เราลดมาเหลือ 7 ขั้นตอนแล้วจากกว่า 10 ขั้นตอน ถ้าจะโอนให้เร็วกว่านี้ ขั้นตอนพวกนี้ก็ต้อง lean กว่านี้ หรืออีกทางนึงจะต้องใช้ระบบ AI มาช่วยเพราะไม่งั้นไม่มีทางเลยที่จะทำได้

“ไม่ใช่แค่ สปสช. อย่างเดียว แต่ฝั่งของโรงพยาบาลจะพร้อมไหม ถ้าไปสู่จุดนั้น เพราะถ้าทำได้จริง Work load ที่สุดน่าจะเป็นฝ่ายการเงิน เพราะต้องทำบัญชีโดยมีธุรกรรมที่เกิดขึ้นทุกวัน หรือกระทั่งทุกนาที”

เชื่อมข้อมูลไม่จำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มเดียว
จะเห็นได้ว่าการเชื่อมข้อมูลในฝั่ง “การให้บริการรักษา” ภายใต้ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เชื่อมข้อมูลสุขภาพมีอยู่ 2 แพลตฟอร์มหลักๆ คือ หมอพร้อม ของ สธ. ซึ่งมีแอปฯ ที่ใช้ชื่อเดียวกันเป็นสื่อกลางให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลทางสุขภาพส่วนของตนเอง (Personal Health Record หรือ PHR) เช่น ประวัติการรักษา และHealth link ของ ดีอีเอส ที่กำลังทำงานร่วมกับแอปฯ เป๋าตัง เพื่อใช้เป็นสื่อกลางให้ประชาชนเช่นเดียวกับหมอพร้อม

จึงอาจทำให้หลายคนสงสัยว่าเมื่อไม่ได้เป็นแพลตฟอร์มเดียวทั้งประเทศจะเกิดปัญหาไหมในการเชื่อมข้อมูลไหม จะกระทบต่อการเบิกจ่ายรึเปล่า ในข้อสงสัยนี้ ประเทือง อธิบายว่า ไม่ว่าจะมีกี่แพลตฟอร์มก็สามารถเชื่อมกันโดยไม่มีปัญหา โดยเฉพาะกับ สปสช. ที่เป็นฝั่ง “การเบิกจ่าย” เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถทำให้เกิดขึ้นได้

“ประเทศไทยเราไม่ได้ล็อกว่าต้องเป็นแพลตฟอร์มเดียว โรงพยาบาลเองมีเป็น 1,000 แห่ง ระบบเก็บข้อมูลของโรงพยาบาลเองก็ไม่ได้ใช้แบบเดียวกัน แต่ถามว่ามันเชื่อมกันได้ไหม เทคโนโลยีตอนนี้ทำให้เชื่อมกันได้ แค่ต้องกำหนดมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน เตรียมเรื่องทรัพยากรหรือคลาวด์ และ Cyber Security

“ฝั่ง สปสช. นโยบายของท่านเลขาฯ คือเรายินดีเชื่อมกับทุกแพลตฟอร์มในการเชื่อมข้อมูล เพราะว่าการเชื่อมข้อมูลเหล่านี้ ทั้งประชาชน หน่วยบริการ เจ้าหน้าที่ และ สปสช. ทุกคนต่างได้ประโยชน์หมด

ประเทือง กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สปสช. ก็กำลังพยายามทำการเชื่อมระบบคลาวด์ของตนเองกับทั้ง หมอพร้อม และ Heath link โดยตรง เพราะในบางกรณี สปสช. ก็ต้องการข้อมูลบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเพื่อประกอบการเบิกจ่าย

“สำหรับ สธ. แม้ สปสช. จะยังไม่ได้เชื่อมข้อมูลเข้ากับหมอพร้อมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษาบางอย่าง แต่ส่วนที่เชื่อมกันแล้วก็มี คือเพื่อสนับสนุนการนัดหมายหาหมอสำหรับประชาชนบางคนที่มือถือเขาโทรเข้า-ออกได้อย่างเดียว เพราะ สปสช. เองมี สายด่วน สปสช. 1330 ที่เปิด 24 ชม. ซึ่งถ้าเชื่อมโยงข้อมูลข้อของหมอพร้อมเราก็จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มากขึ้น อีกส่วนคือได้มีการเชื่อมกับศูนย์กลางด้านการเงินของโรงพยาบาลสังกัด สธ. หรือ Financial Data Hub (FDH) เรียบร้อยแล้ว

“ด้าน Health link เราก็กำลังทำงานร่วมกันในการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อประกอบการเบิกจ่ายกันอยู่ เพราะ กทม. เขาใช้ระบบนี้ และทาง ผู้ว่าฯ กทม. เขาจะไม่ได้รอรัฐบาลประกาศให้ กทม. เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่จะทำ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ แล้วคอยเริ่ม แต่เขาจะทำก่อนเลย ซึ่งตอนนี้ในเชิงเทคนิคกำลังพูดคุยพิจารณากันอยู่ว่า 1 มี.ค. นี้ จะเริ่มบางส่วนใน กทม. ได้ไหม”

นี่คือการปฏิรูประบบข้อมูลสุขภาพระดับประเทศ
การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ครั้งนี้ ในสายตาของ ประเทือง เขามองเห็นว่านี่คือการปฏิรูประบบข้อมูลสุขภาพครั้งสำคัญของประเทศ โดยขยายความเพิ่มเติมว่า “เพราะเป็นการเชื่อมข้อมูลให้ข้อมูลทุกอย่างมันไหลไปโดยไร้รอยต่อมากที่สุด และจะเห็นว่าเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน และทำให้ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับบริการ หรือการเบิกจ่ายเปลี่ยนไปเร็วมาก”

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นใน สปสช. ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาแค่ 3 เดือน หลัง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ประกาศนโยบาย โดย เขา เผยว่า สปสช. ได้เริ่มเดินหน้าในเรื่องระบบข้อมูลมาก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 เพราะเป็นทิศทางที่ สปสช. มองเห็นว่าควรจะมุ่งไป ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้เสนอวิสัยทัศน์นี้ตอนที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกเลขาธิการที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการด้วย

“ยกตัวอย่างเช่น ตอนนั้น (ต้นปี 2566) เราเริ่มเดินหน้าเรื่อง Cyber Security แล้ว รวมถึงการเช่าระบบคลาวด์ของเอกชนมาเพิ่ม พอมีนโยบายของทางรัฐบาลมา มันก็กลายเป็นสอดประสานกันพอดี เพราะไม่งั้นตอนที่เราจะขยายพื้นที่นำร่องไปเรื่อยๆ เราไม่มีทางทำทันถ้าไม่เตรียมล่วงหน้า เนื่องจากมันจะขยายแบบเร็วมากจนครบหมดทั่วประเทศ

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกอย่างที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้ล้วนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายพอสมควร แต่ก็ต้องบอกว่ามันเป็นเหตุเป็นผลกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ส่วนระบบคลาวด์ที่เช่าของเอกชนก็ไม่ได้แพงมากถ้าเทียบกับการทำเซิฟเวอร์ขึ้นมาเอง แต่ก็จำเป็นต้องมีการพิจารณาค่าใช้จ่ายโดยรวมอย่างรัดกุม เพราะสิ่งหนึ่งที่อาจต้องคำนึงถึงก็คือค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุงให้ระบบที่เกิดขึ้นดำเนินต่อไปได้ระยะยาวและยั่งยืน”

ประโยชน์เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย
ประเทือง อธิบายถึงประโยชน์ของการเชื่อมข้อมูลภายใต้ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ว่า ในฝั่งของประชาชน คือ การทำให้ประชาชนสามารถรับรู้ประวัติการรักษาของตนเองได้ รวมถึงคุณภาพการให้บริการที่ประชาชนได้รับจะดีขึ้นด้วย เพราะเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษากันเรียบร้อยแล้ว เช่น ถ้าผู้ป่วยได้รับการส่งต่อรักษา จะไม่มีการให้ยาออกฤทธิ์คล้ายกันซ้ำกันจนทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะยาตีกัน

ในส่วนหน่วยบริการ บุคลากรทางการแพทย์ก็สามารถเห็นประวัติข้อมูลของผู้ป่วย ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับผู้ป่วย ลดภาระงานเอกสารให้กับโรงพยาบาล เอื้อต่อการบริหารจัดการเงินของหน่วยบริการเกิดสภาพคล่องมากขึ้น ตลอดจนสามารถตรวจสอบการ Shopping Around ขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง สธ. ก็ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น สามารถควบคุมและพัฒนาคุณภาพบริการของหน่วยบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประเทือง กล่าวต่อไปว่า สปสช. ก็สามารถประเมินผลและกำกับติดตามได้ดีขึ้นด้วย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบหรือตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที เพราะเดิมข้อมูลจะมาทุก 15 หรือ 30 วัน แต่ปัจจุบันมาทุกวัน ทำให้สามารถนำข้อมูลมาพิจารณาได้ว่าถ้าจะปรับเกณฑ์ หรือเงื่อนไขเบิกจ่ายควรจะเป็นไปอย่างไร เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ได้รับจะเพียงพอหรือไม่ อะไรต่างๆ

“ผมคิดว่าภาพข้างหน้า ถ้าเชื่อมในลักษณะแบบนี้ ประโยชน์ของประเทศคือ เราจะมี Big data ของประเทศ ที่รัฐบาลสามารถใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้เลย เช่น ในเชิงเศรษฐกิจ สมมติภาคธุรกิจเขาเห็นแล้วว่าต่อไปคนไข้ สปสช. ใช้ยาพาราวันละ 1 ล้านเม็ด ถ้าบริษัทหรือนักลงทุนเห็นจำนวนการใช้ก็อาจจะไปตั้งโรงงานก็ได้ เพื่อพัฒนาให้ยามีคุณภาพและราคาถูกลง เราก็จะลดงบประมาณรายจ่ายของประเทศได้มากขึ้น เพราะเราซื้อยาถูกลง แล้วถามว่าเงินส่วนต่างจะเอาไปไหน สปสช. ก็สามารถเอาไปขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมโรคได้มากขึ้นอีก

“จะเห็นว่ามันเป็นวงจรประโยชน์ที่เกิดจากการแค่เชื่อมข้อมูลเพียงอย่างเดียว เพียงแต่ว่าจะเป็นมุมไหนในการใช้เท่านั้นเอง ผมเชื่อว่ามันมีหลายมิติมากที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เผลอๆ ข้อมูลก้อนนี้มีผลต่อหลายกระทรวงเลยด้วยซ้ำไป เพียงแต่ยืนคนละมุมคนละภารกิจเท่านั้น”

 ในตอนท้าย ประเทือง ฝากถึงหน่วยบริการถึงสิ่งที่ควรต้องเตรียมเพื่อให้ได้รับเงินรวดเร็วภายใน 3 วันว่า 1. การทำให้ข้อมูลการรับบริการของผู้ป่วยมีความถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด เพื่อให้ข้อมูลถูกเชื่อมมาที่ สปสช. และดำเนินการตรวจสอบต่อไปได้ เพราะถ้าข้อมูลมาไม่ครบไม่มีความสมบูรณ์ก็จะไม่สามารถเชื่อมมาได้ เช่น ลืมบันทึกข้อมูลการวินิจฉัยเข้าระบบ เป็นอาทิ จากที่บริการนั้นโรงพยาบาลจะได้รับเงินเร็วก็อาจจะช้าลง

2. โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการอาจต้องหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบันทึกข้อมูลสุขภาพแต่ละส่วนแบบอัตโนมัติ เพื่อทำให้ข้อมูลมีความสมบูรณ์และลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการบันทึกโดยใช้เจ้าหน้าที่ เช่น เครื่องวัดน้ำหนักและส่วนสูงอิเล็กทรอนิกส์ที่แค่เสียบบัตรประชาชน จากนั้นผู้ป่วยขึ้นไปยืนบนเครื่อง ข้อมูลที่ได้จะเชื่อมเข้าสู่ระบบ HIS ของโรงพยาบาลอัตโนมัติ หรือเครื่องมือที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ (IOT) เพื่อส่งข้อมูลไปยังโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ

3. โรงพยาบาลอาจต้องสื่อสารและให้คำแนะนำกับประชาชนว่ากลุ่มโรคแบบไหนที่สามารถไปรับบริการที่หน่วยนวัตกรรมสาธารณสุขวิถีใหม่ที่ สปสช. เพิ่มเข้ามาในระบบได้ ไม่ว่าจะเป็น ร้านยา คลินิกเวชกรรม ฯลฯ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชน และเป็นการจัดกลุ่มโรคได้ชัดว่าผู้ป่วยกลุ่มโรคไหนที่จำเป็นต้องมารับบริการที่โรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยลดความแออัดภายในโรงพยาบาลไปได้อีกมาก
“ผมคิดว่าดีที่สุดคือ เมื่อบริการเสร็จให้ข้อมูลสมบูรณ์ด้วย ไม่ต้องมีคนมานั่งตรวจสอบและบันทึกข้อมูลทีหลัง อันนั้นเป็นภาระกับหน่วยบริการแน่นอน แล้วคนที่มาบันทึกทีหลังก็อาจไม่รู้ด้วยเหตุการณ์ตอนตรวจวินิจฉัยเป็นยังไง เกิดบันทึกผิดอีกจะยิ่งทำให้ช้า”

The Coverage • Interview • 19 กุมภาพันธ์ 2567

145
ประกาศ สปสช. หน่วยบริการนวัตกรรม 3 ปรเภทคลินิก มีผลบังคับใช้แล้ว รองรับ 30 บาท รักษาทุกที่ มีผลย้อนหลังวันเริ่มนโยบายตั้งแต่ 7 ม.ค. 67

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ สปสช. ได้ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยเพิ่ม “หน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่” หรือหน่วยบริการนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการให้กับประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ไม่ว่าสิทธิบัตรทองจะอยู่ที่ไหนก็สามารถใช้บริการได้ ประกอบด้วย

1. ร้านยาชุมชนอบอุ่น ดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ปรึกษาเภสัชกรและรับยา
2. คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น รับบริการทำแผล ล้างตา ล้างจมูก เปลี่ยนสายให้อาหาร ฉีดยาตามแผนการรักษาของแพทย์ ตรวจรักษาโรคเบื้องต้น 32 กลุ่มอาการ เช่น เป็นไข้ตัวร้อน ปวดศีรษะ ปวดท้อง เป็นต้น
3. คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น ตรวจแล็บ 22 รายการตามใบสั่งตรวจจากแพทย์
4. คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น บริการฟื้นฟูผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง สมองได้รับบาดเจ็บ กระดูกสะโพกหัก โดย รพ.ที่ให้การรักษาส่งตัวผู้ป่วยไปรับบริการที่คลินิกฯ
5. คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟูลออไรด์
6. คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น ให้บริการตรวจรักษาโรคแบบผู้ป่วยนอก
7.คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น นวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการรักษา

ทั้งนี้ เพื่อให้การบริการผู้ใช้สิทธิบัตรทองของหน่วยบริการนวัตกรรมข้างต้นนี้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการได้ สปสช. ได้มีการออกประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขสำหรับบริการด้านนวัตกรรมตามประเภทของหน่วยบริการนวัตกรรมที่เข้าร่วม

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า เดิมทีในส่วนของ ร้านยา คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น และคลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น สปสช. ได้ออกประกาศไว้แล้ว ซึ่งบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ใน 4 รายการนี้ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวได้ประกาศใช้ในจังหวัดนำร่อง เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 จึงได้มีการออกประกาศฯ ในส่วนของคลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น และคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่นเพิ่มเติม ซึ่งทั้ง 3 รายการนี้ ให้บริการเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนำร่องก่อน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้มีการเผยแพร่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 โดยจะมีผลย้อนหลังวันที่ 7 มกราคม 2567 ที่เป็นวันเริ่มต้นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่

“สปสช. ขอแจ้งให้ทราบว่าบริการในหน่วยบริการนวัตกรรมทั้ง 7 ประเภท ขณะนี้ได้มีประกาศฯ รองรับการให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหน่วยบริการนวัตกรรมที่อยู่ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส สามารถให้บริการประชาชนตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ภายใต้สิทธิประโยชน์บริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้แล้ว" นพ.จเด็จกล่าว

นพ.จเด็จกล่าวว่า ขณะที่ประชาชนที่อยู่ในจังหวัด 4 นี้ ก็สามารถเข้ารับบริการตามความสะดวกได้ ไม่แต่เฉพาะด้านการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ที่ร้านยา คลินิกการพยาบาล และคลินิกเทคนิคการแพทย์ ตามสิทธิประโยชน์บริการของหน่วยบริการ ไม่ว่าจะเป็นบริการยาเม็ดคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย และตรวจการตั้งครรภ์ เป็นต้น สำหรับประกาศฯ ที่ออกมานี้ ยังมีผลรองรับการขยายนโยบายไป 8 จังหวัดในเดือนมีนาคมนี้ รวมถึงทั้งประเทศด้วย

ทั้งนี้ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2567 เผยแพร่ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย

1. ประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับบริการนวัตกรรมด้านทันตกรรม พ.ศ. 2567
ดาวน์โหลดประกาศ : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/18276.pdf

2. ประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับบริการนวัตกรรมด้านเวชกรรม พ.ศ. 2567 :
ดาวน์โหลดประกาศ : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/18277.pdf

3. ประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับบริการนวัตกรรมด้านการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2567
ดาวน์โหลดประกาศ : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/18278.pdf

12 ก.พ. 2567 ผู้จัดการออนไลน์

146
4 เครือข่ายสถานพยาบาล ร่อนหนังสือถึง "ชลน่าน" แจงยิบ รพ.สธ. โรงเรียนแพทย์ คลินิกชุมชนอบอุ่น การเงินติดลบ ยิ่งบริการ สปสช.ยิ่งหักเงินเข้าเนื้อ เหตุจ่ายต่ำกว่าต้นทุนจริง ทั้งที่ได้งบเพิ่มขึ้นทุกปี จี้หยุดใช้โมเดล 5 กลับมาเป็นโมเดล 2 แนะใช้เงินกองทุนรายได้สูงต่ำจ่าย จัดหางบชดเชย ไม่ใช่ผลักภาระให้ รพ. ย้ำ สปสช.ต้องมาเป็นลูกหนี้ รพ. ไม่ใช่ให้ รพ.ติดหนี้ สปสช.

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผอ.รพ.นพรัตนราชธานี ในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป พญ.นันทวัน ชอุ่มทอง นายกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ลงนามร่วมกันออกหนังสือเรื่อง ข้อเท็จจริงและข้อเสนอประกอบการแก้ปัญหาเรื้อรังจากการบริหารจัดการของ สปสช. ในระบบหลักประกันสุขภาพ ลงวันที่ 8 ก.พ. เพื่อเสนอต่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีใจความโดยสรุปว่า

เครือข่ายสถานพยาบาลฯ ขอเรียนข้อเท้จจริงและข้อเสนอประกอบการแก้ปัญหาเรื้อรังจากการบริหารจัดการของ สปสช. ในระบบหลักประกันสุขภาพ ดังนี้

1.ในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิใน กทม. สปสช.เขต13 และ อปสข.เขต13 มีการปรับระบบบริการที่ผิดพลาดจากโมเดล 2 เป็นโมเดล 5 ในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งเป้นรูปแบบที่เบี่ยงไปจากหลักการเดิมของระบบปฐมภูมิ ที่ส่งเสริมให้คลินิกชุมชนอบอุ่นเป็นหน่วยบริการใกล้บ้านใกล้ใจ ลดศักยภาพการบริการ โดยจำกัดรายการใน Fee Schedule ส่งผลกระทบให้มีมูลค่าการบริการเกินกว่าการบริการเกือบ 300 ล้านบาท เช่น สปสช.จ่ายบริการชดเชยค่าบริการผู้ป่วยนอกแก่คลินิกชุมชนอบอุ่น เพียงร้อยละ 57 ของค่าบริการจริง ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 ปรากฎว่ามีการจ่ายค่าบริการในไตรมาสแรกเกินกว่า ร้อยละ 50 ของงบประมาณ ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะมีปัญหาเช่นเดียวกับปี 2566 ทางเครือข่ายฯ มีข้อเสนอดังนี้

- หยุดใช้โมเดล 5 ใน กทม.โดยเร็ว และกลับไปใช้โมเดล 2 แนะนำให้มีการจัดสรรงบประมาณค่าบริการผู้ป่วยนอกเพิ่มเติมให้เพียงพอสำหรับการบริการใน 3 ไรมาส ที่เหลือของปีงบประมาณ 2567 และจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ในอัตราปกติ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะขยายการบริหารที่มีลักษณะคล้ายโมเดล 5 ออกไปนอก กทม.

- ปรับกลไการกำกับและดูแลในสถานการณ์ที่มีการประเมินวงเงินหรือการบริหารงบประมาณไม่เป็นไปตามแผน หากผลการเบิกค่าบริการปลายปีเพิ่มมากเกินวงเงินงบเป็นผลจากการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ต้องมีกลไกด้านจัดการงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อเยียวยาสถานพยาบาล

2.ในระบบบริการสุขภาพในภูมิภาค ซึ่งดำเนินการโดยสถานบริการของ สธ. เกือบร้อยละ 100 นั้น ปรากฏปัญหาโดยสังเขปจากการบริหารของ สปสช.มาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

- ค่าบริการเหมาจ่ายรายหัวที่ สปสช. จ่ายให้ต่ำกว่าต้นทุนอย่างมาก เมื่อปี 2561 มีการศึกษาต้นทุนในหน่วยบริการ รพ.ศูนย์ และ รพ.ทั่วไปของ สธ. พบว่าต้นทุนบริการผู้ป่วยในอยู่ที่ 13,142 บาท ต่อ 1AdjRW ขณะที่ สปสช.ยังคงจ่ายในอัตรา 8,350 บาท ต่อ 1AdjRW หรือ ร้อยละ 63 ของต้นทุนบริการมาตลอดในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการปรับเพิ่มอัตราจ่ายให้หน่วยบริการ แม้ สปสช.จะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี

- ในปีงบประมาณ 2566 สปสช. คาดการณ์บริการผู้ป่วยในต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เพราะในสถานการณ์วิกฤตโควิด ผู้ป่วยถูกเลื่อนจำนวนมาก มีผู้ป่วยตกค้างจำนวนมาก เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ยอดบริการผู้ป่วยในจึงปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก สปสช.ไม่เคยมีการประสานกับหน่วยบริการในการประเมินฉากทัศน์การบริการร่วมกัน จึงส่งผลให้การประมาณการในด้านการบริการ และงบประมาณไม่เท่าทันกับสถานการณ์จริง สปสช.ใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ โดยการดึงเงินค่าบริการผู้ป่วยในกลับจาก รพ.ของ สธ. 710 แห่ง รวมเป็นเงินกว่า 2,200 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการจ่ายค่าบริการเพียง 7,678 บาทต่อ 1AdjRW หรือ คิดเป็น ร้อยละ 58 ของต้นทุน รพ.ที่ให้บริการจำนวนมาก กลับถูกหักเงินคืนมากขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อการจ่ายค่าบริการต่ำกว่าทุน ทำให้หน่วยบริการต่างๆ ประสบปัญหาวิกฤตการเงิน เห็นได้จาก รพ.เอกชนหนีออกจากระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่ง รพ.เอกชนมีบทบาทสำคัญในระบบบริการสุขภาพเช่นกัน ดังปรากฏจากสถานการณ์วิกฤตโควิด หากปล่อยทิ้งไว้เช่นนี้ ในอนาคตจะกระทบต่อบริการประชาชน หน่วยบริการจะไม่สามารถจัดหาอัตรากำลังหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัย

- สปสช.ปรับเพิ่มขึ้นตอนที่ไม่จำเป็นในการเรียกข้อมูลจากหน่วยบริการ กำหนดให้ส่งข้อมูลทางคลินิก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลค่าใช้จ่าย นอกจากจะเป็นภาระแก่เจ้าหน้าที่ ยังเป็นการสุ่มเสี่ยงจต่อกฎหมาย PDPA หรือเพิ่มขั้นตอนการยืนยันตัวตน ซ้ำเติมสถานการณ์ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ของหน่วยบริการ

- สปสช. ประกาศอัตราเบิกจ่าย โดยไม่เคยมีการตกลงร่วมกับหน่อยบริการ สปสช.ไม่คำนึงถึงต้นทุนที่ รพ.แต่ละระดับที่แตกต่างกัน ไม่เคยคำนึงถึง Stakeholder ในระบบบริการ ดังปรากฏในหลายรายการที่หน่วยบริการไม่สามารถจัดหาได้

ทางเครือข่ายสถานพยาบาลฯ มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1) ใช้เงินกองทุนรายได้สูง(ต่ำ)กว่ารายจ่ายสะสม เนื่องจากเป็นการให้บริการเกินเป้าหมายจริง
2) ค่ารักษาส่วนที่เกินจากการประมาณการ สปสช.ควรแสดงความรับผิดชอบและมีมาตรการในการจัดหางบประมาณมาชดเชยให้หน่วยบริการ มิใช่ผลักภาระให้หน่วยบริการดังที่เคยปฏิบัติมาเป็นประจำ
3) สปสช.ต้องลงบัญชีเป็นลูกหนี้ของ รพ.จากเงินที่เคยเรียกคืน ไม่ใช่ลงบัญชีว่า รพ.เป็นลูกหนี้ของ สปสช. ดังเช่นปัจจุบัน
4) สปสช.ต้องลดขั้นตอนและลดการกำหนดข้อมูลที่มากเกินความจำเป็น รวมทั้งลดขั้นตอนเหลือเท่าที่จำเป็น เพื่อลดภาระของหน่วยบริการและลดการส่งชุดข้อมูลหลายระบบ รพ.ทุกแห่งจัดส่งข้อมูลผ่าน สธ.เท่านั้น

3.สนับสนุนและขอให้เร่งรัดจัดตั้งเครือข่ายสถานพยาบาล หรือ Provider Board ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจริง เพื่อให้เกิดความเป็นะรรมกับทุกฝ่าย เพื่อการอภิบาลระบบสุขภาพของประเทศ ให้มีความโปร่งใสและธำรงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปได้ มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกองงทุนและหน่วยบริการ ใช้ข้อมูลการบริการจริงในการคำนวณวงเงินงบประมาณ บนหลักความสมเหตุผลทางการแพทย์ ร่วมไปกับความสมเหตุสมผลทางการเงิน ไม่ถ่ายโอนความเสี่ยงโดยเฉพาะความเสี่ยงทางการเงินไปให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างไม่มีธรรมาภิบาลหรือสมเหตุสมผล หรือไม่ผ่านการตกลงร่วมกัน

8 ก.พ. 2567  ผู้จัดการออนไลน์

147
ตัวแทนผู้ให้บริการทางการแพทย์ทั่วประเทศและตัวแทนเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ UHosNet ทนแบกรับความกดดันสภาพปัญหาการให้บริการประชาชนไม่ไหว บุกยื่นหนังสือ “หมอชลน่าน” เจ้ากระทรวงฯเร่งเคลียร์ปัญหาการบริหารงานผิดพลาดของ สปสช.ด่วน ก่อนระบบบริการสาธารณสุขล่ม กระทบต่อประชาชนผู้ป่วยที่ใช้บริการ

เป็นเรื่องใหญ่และน่าสนใจเพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยมีส่วนได้เสียโดยตรง แต่กลับได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนค่อนข้างน้อย กรณีการเข้ายื่นหนังสือต่อนายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมาของตัวแทนผู้ให้บริการทางการแพทย์ทั่วประเทศ นำโดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป นพ.เกรียงไกร นามไธสง ประธานชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ และ พญ.นันทวัน ชอุ่มทอง นายกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น เพื่อให้ข้อมูลปัญหาการบริหารงานของ สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในหลายประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของบรรดาแพทย์ผู้ให้บริการรักษาผู้ป่วยและหลายกรณีที่ส่งผลกระทบต่อคนป่วยที่ได้รับยาและเวชภัณฑ์ราคาถูก คุณภาพต่ำ ทำให้ประชาชนเสียผลประโยชน์อันควรได้รับจากบริการสวัสดิการของรัฐ

โดยปัญหาอันเนื่องมาจากการบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ที่ยื่นถึงมือเจ้ากระทรวงฯในวันนั้น สรุปโดยสังเขป ประกอบด้วย

1. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายค่าบริการผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาลต่ำกว่าต้นทุนค่ารักษาพยาบาล 2. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายค่าบริการผู้ป่วยในให้แก่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ต่ำกว่าค่าบริการที่เคยตกลงไว้ในปี 2566 เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตโควิดในช่วงปี 2563-2565 ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากตกค้างจากการผ่าตัด บางโรคมีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ยอดบริการผู้ป่วยสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่องในปี 2566 แต่ด้วยการบริหารงานที่ผิดพลาดของ สปสช. ที่คาดการณ์บริการผู้ป่วยในปี 2566 ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก จึงทำให้วงเงินงบประมาณผู้ป่วยในไม่เพียงพอ

ทาง สปสช.จึงใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการดึงเงินค่าบริการผู้ป่วยในที่จ่ายแก่โรงพยาบาลแล้วในอัตราที่ตกลงกันไว้แต่แรก (อัตรา 8.350 บาทต่อ 1 AdjRW) กลับจากโรงพยาบาล 710 แห่ง รวมเป็นเงินกว่า 2,200 ล้านบาท โดยปรับอัตราจ่ายที่ลดต่ำลงเป็น 7,678 บาทต่อ 1 AdjRW โรงพยาบาลที่ถูกหักคืนสูงสุดคือโรงพยาบาลอุดรธานี จำนวนกว่า 69 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าโรงพยาบาลใดยิ่งให้บริการประชาชนมาก จะถูกหักเงินคืนมากขึ้น

3. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปรับเพิ่มขั้นตอนในการเรียกเก็บ โดยมีการกำหนดให้เพิ่มข้อมูลที่นอกเหนือข้อมูลค่าใช้จ่าย เช่น มีการกำหนดให้เพิ่มข้อมูลสำคัญทางคลินิกต่างๆ ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่โรงพยาบาลเก็บรักษาไว้

4. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประกาศอัตราเบิกจ่ายโดยไม่ได้มีการตกลงร่วมกับสถานพยาบาลและไม่คำนึงถึงต้นทุนที่โรงพยาบาลแต่ละระดับจะสามารถจัดหาซื้ออุปกรณ์ในราคาที่เหมาะสม ทำให้หากโรงพยาบาลจัดซื้อวัสดุและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ในราคาที่สูงกว่าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดแม้ว่าจะเป็นวัสดุครุภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง เหมาะแก่การให้บริการและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่า แต่หากราคาเกินที่กำหนดก็ไม่สามารถเบิกได้เต็มจำนวน ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

5. เมื่อการจ่ายค่าบริการต่ำกว่าต้นทุนมากและต่อเนื่อง ทำให้โรงพยาบาลต่างๆประสบปัญหาวิกฤตการเงินในอนาคตสุดท้ายจะกระทบต่อการบริการที่ให้แก่ประชาชน

มีรายงานว่า ทางคณะตัวแทนผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่เข้ายื่นหนังสือได้เสนอสภาพปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งเรื้อรังมานานจากการบริหารจัดการของสำนักงาน สปสช. และพร้อมกันนั้นได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาจากชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปหลายประการ เช่น ขอให้มีการจัดตั้ง Provider board เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายในการตกลงร่วมกันในการบริหารการเบิกจ่าย ค่ารักษาพยาบาลและธำรงระบบสุขภาพของประเทศไทยให้มีความโปร่งใสและยั่งยืน, ขอให้มีการลดขั้นตอนและลดการกำหนดข้อมูลที่มากเกินไปและไม่จำเป็นในการเรียกเก็บ เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ยังได้ยื่นหนังสือขอให้ สปสช.ชำระค่ารักษาพยาบาลที่ค้างชำระให้แก่โรงพยาบาลในเครือข่าย ซึ่งทาง สปสช.ยังคงติดค้างอยู่หลายโรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช (จำนวนเงินที่ค้างชำระจ่ายถึงปัจจุบัน 460 ล้านบาท) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นต้น

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของ สปสช. ส่งผลกระทบถึงการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนของสถานให้บริการต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลในเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ สถานบริการสังกัดหน่วยงานรัฐ รวมไปถึงสถานบริการภาคเอกชนเป็นอย่างมาก คงจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดกันต่อไปว่าภายหลังจากผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะได้รับทราบปัญหา จะมีแนวทางในการแก้ปัญหาสอดคล้องกับข้อเสนอแนะมากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องกระทำอย่างเร่งด่วน

ที่สำคัญ ต้องเร่งส่งเสริมให้มีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาลต่างๆ สถานบริการ ทั้งภาครัฐและเอกชน กับ สปสช.เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้เข้ารับบริการเหมือนที่ผ่านมา

19 ก.พ. 2567  ผู้จัดการออนไลน์

148
5 เครือข่ายสถานพยาบาล ระดมพลยื่นหนังสือ "ชลน่าน" ขอตั้ง Provider Board ทบทวนระบบบริหารจัดการ สปสช. หลังพบบิดเบี้ยว เมินผู้ให้บริการ ทำ รพ.-คลินิกเอกชนหนีหาย ค้างจ่ายโรงเรียนแพทย์ปี 66 มากกว่าพันล้านบาท หวั่นปี 67 ซ้ำรอยเดิม ลั่นทนมา 10 ปีต้องถึงเวลาเปลี่ยน อย่าเอาการเงินนำบริการ ด้านคลินิกจี้หางบประมาณมาจ่าย

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายสถานพยาบาล 5 สถาบัน ได้แก่ ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) เดินทางมายื่นหนังสือถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เรียกร้องให้มีการจัดตั้ง Provider Board เพื่อจรรโลงระบบสุขภาพไทยให้ยั่งยืน และขอให้ทบทวนระบบบริหารจัดการของ สปสช. เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเบิกจ่ายที่ต่ำกว่าต้นทุน และเกิดการค้างจ่ายเงินจำนวนมาก โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เป็นตัวแทน รมว.สธ.มารับหนังสือเนื่องจากยังติดภารกิจประชุม ครม.

เครือข่ายสถานพยาบาลร้องระบบ สปสช.บิดเบี้ยว

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ประเทศไทย (UHosNet) กล่าวว่า ระบบสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ การจะทำให้ระบบยั่งยืนต้องมีคนที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วม เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการตามที่ควรเป็น ที่ผ่านมามีการทักท้วงภายในเป็นระยะ เพราะระบบ สปสช.ค่อนข้างบิดเบี้ยว ไม่มีการคำนึงถึงผู้มีส่วนร่วม โดยเฉพาะสถานพยาบาลทั้งใน กทม.และภูมิภาค ถ้าเปรียบกับตอนโควิด รพ.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยออกแบบระบบ แล้วคนจ่ายเงินตามหลังก็ตามนั้นก็ผ่านวิกฤตมาได้ แต่ระบบปกติมีตรงนี้ไม่ครบถ้วน ทำให้สถานประกอบการภาคเอกชนหนีหายไปเยอะ แต่ภาครัฐหนีไม่ได้ อย่าง รพ.เอกชนในระบบบัตรทองแทบไม่เหลือแล้ว เหลือแต่ รพ.เอกชนเล็กๆ ซึ่งถามจากนายกสมาคม รพ.เอกชน บอกว่ามีเพียง 20-30 รพ.ทั่วประเทศที่ต้องพึ่งพาเพื่อไปลด Fix Cost ซึ่งถ้าเราขาดพวกนี้ก็ทำให้ดำเนินการไม่ได้

"คนที่อยู่ในระบบ ซึ่งอัตราค่าบริการต่างๆ ไม่เป็นธรรม เราต้องการความเป็นธรรมและยุติธรรม จึงเดินทางมาวันนี้ เพื่อขอให้ รมว.สธ.นำเรื่องนี้ไปพิจารณา ทั้งนี้ ยืนยันว่า ระบบบริหารจัดการของ สปสช.ต้องแก้โดยด่วน ส่วนจะรูปแบบใด รมว.สธ.ที่มองภาพกว้างของระบบ จะเป็นหัวโต๊ะทำให้มันดีขึ้นกว่าปัจจุบัน" รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวและว่า เราจึงมายื่นข้อเรียกร้อง 2 ประการ คือ 1. ทบทวนการบริหารจัดการของ สปสช. เรื่องของกองทุน และ 2.เราสนับสนุนให้มีตัวแทนเครือข่ายสถานพยาบาลหรือ Provider Board เพื่อจรรโลงระบบสุขภาพของประเทศไทย

ค้างจ่ายงบประมาณกว่าพันล้านบาท

ถามว่าการค้างจ่ายค่าบริการทำให้ขาดทุนมากน้อยแค่ไหน รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 ในส่วนของโรงเรียนแพทย์ ขาดทุนในส่วนของผู้ป่วยในค่อนข้างเยอะ แต่เราก็ทน แต่ระบบผู้ป่วยนอก มูลค่ารวมกันพันกว่าล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้รวบรวมครบทุกสมาชิก ส่วนปีงบประมาณ 2567 ก็คงไม่แคล้วถ้ายังดำเนินการแบบนี้ จึงต้องออกมาเรียกร้องตรงนี้

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า รพ.สังกัด สธ.ในภูมิภาคทั้ง 12 เขตสุขภาพ เรื่องขาดทุนเท่าไรนั้น ต้องมามองว่าต้นทุนเท่าไร อัตราที่ สปสช.จัดสรรให้ รพ.ต่ำกว่าต้นทุนค่อนข้างมาก อย่างผู้ป่วยใน เรามีการศึกษาต้นทุนจากนักวิจัย พบว่า รพ.สังกัด สธ.ต้นทุน 1 หน่วยบริการประมาณ 1.3 หมื่นบาท แต่ สปสช.กำหนดให้จ่าย 8,350 บาทต่อหน่วย ถามว่าขาดทุนเท่าไรย้อนหลังเท่าไรก็ต้องคำนวณ เพราะเรามีการเคลียร์ว่ามีให้จ่ายเท่าไรเราก็รับเท่านั้นมาตลอด

ถามว่า สปสช.เคยชี้แจงหรือไม่ว่าทำไมจึงจัดสรรต่ำกว่าค่อนข้างมาก นพ.อนุกูลกล่าวว่า เข้าใจว่า สปสช.มีข้อจำกัดส่วนหนึ่งด้วยงบประมาณได้มาเท่านี้ และบริหารด้วยงบเท่าที่มี จึงเกิดสภาวะจ่ายต่ำกว่าต้นทุน

เมื่อถามว่ากองทุนย่อย สปสช.ทำให้เกิดผลกระทบและขาดงบประมาณหรือไม่ นพ.อนุกูลกล่าวว่า มีผลเยอะ ถ้ากรณีแบ่งเป็นกองทุนย่อย เพราะเป็นลักษณะของการเงินนำบริการ แต่หลักขององค์การอนามัยโลก (WHO) จริงๆ ที่ยึดถือใช้กันคือ บริการที่จำเป็นต่อประชาชนนำก่อน แล้วการเงินมาสนับสนุน หลักการคือตรงนั้นไม่ใช่เอาการเงิน (Financial) นำ

ชงตั้ง Provider Board

ถามว่าทางออกของการมี Provider Board จะช่วยอย่างไร รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันถ้าไปดูกรรมการของ สปสช.ไม่ว่าชุดใหญ่ชุดเล็ก จะมีองค์ประกอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Steakholder) แต่ไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริง กรรมการแต่ละชุดมีข้อมูลการตัดสินใจไม่กี่นาที ตัวเลขหลายอย่างผิดไปจากความเป็นจริง บางครั้ง 50% หรือ 80% ทำให้การดำเนินการไม่สามารถดำเนินการไปได้ จึงอยากมีตัวแทนของเราเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งถ้าดูการประกาศของ สปสช. จริงๆ ต้องออกตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ คือ ก่อน ต.ค. ไม่ใช่มาออกช่วงหลังปีใหม่ ถ้าวางแผนดีต้องออกก่อนต้นปีงบประมาณจะได้เตรียมตัวและไปได้

จี้เพิ่มงบประมาณบรรเทาเดือดร้อน

พญ.นันทวัน ชอุ่มทอง นายกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กล่าวว่า เรารับผลกระทบเดือดร้อนจำนวนมาก ถึงพากันมาเรียกร้องให้ สปสช.ช่วยจ่ายเงินให้แก่คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ทำงานไปแล้วในปีงบประมาณ 2566 แต่จ่ายมาครึ่งเดียว ส่วนปีงบประมาณ 2567 งบประมาณไม่เพียงพอ เพียงไตรมาสแรก 3 เดือน งบประมาณถูกใช้เกินครึ่งแล้ว คาดว่าไม่ถึง 6 เดือนงบประมาณของปี 2567 ก็จะหมดลง ส่วนการตรวจสอบอยากให้เกิการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของ สปสช.ย้อนหลัง ทั้ง กทม.และต่างจังหวัด เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้รับข้อมูลใดๆ จาก สปสช.เลย ทั้งที่เราขอตรวจสอบมาตลอด อีกประการคือ Provider Board ทีมที่เข้ามาต้องเป็นคนกลางและควรจะมีการแยกฝ่ายบริการออกจากการเงินเพื่อความโปร่งใสยุติธรรม สำคัญคือหัวใจของปัญหา เงินในระบบไม่เพียงพอจริงๆ กับภาระที่ดูแลประชาชนอยุ่ รวมถึง สปสช.มีการบริหารงานที่ทำให้เกิดความเสี่ยง ให้ผู้อยู่ในระบบเกิดความเดือดร้อน เราต้องแก้ที่รากเหง้าปัญหา คือถ้าเงินไม่พอก็ควรสนับสนุนงบประมาณมาให้คลินิกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ถามว่าต้องของบประมาณจากรัฐบาลมากขึ้นหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า 1.งบประมาณขาขึ้นที่ สปสช.ต้องนำข้อมูลจริงไปขอ 2.ต้องกลับมานั่งดูว่าจะวางระบบอย่างไร ไม่ใช่เรื่องเงินเรื่องเดียว เพราะจะเกี่ยวพันกันหมด จึงอยากให้มีการทบทวน ผู้ให้บริการทนมานานมาก เรายืนยันไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาช แต่เราสู้มาจนถึงทุกวันนี้จึงต้องมาแสดงพลังให้เห็น ท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับระบบจะได้กลับไปพิจารณา แต่จะเป็นอย่างไรก็ต้องว่าอีกที

จ่อยื่นเรื่องถึงซูเปอร์สุขภาพช่วยแก้ไข

ถามว่าหากการเรียกร้องยังไม่เป็นผล ระบบจะทนได้อีกกี่ปีแล้วจะทนไม่ได้อีก รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า คงไม่มีคำตอบ ณ วันนี้ หน่วยบริการเราคำนึงถึงประชาชน และคิดว่าผู้ใหญ่ของบ้านเมือง โดยเฉพาะ รมว.สธ.และนายกรัฐมนตรี ไม่ทิ้งเรื่องนี้ไว้แน่ๆ ถ้าภาคบริการสาธารณสุขทรุดไป จะไม่มีใครมาปกป้องด้านสุขภาพอีก หากโควิดกลับมางวดหน้าจะมีแต่คนหนี แต่ที่ทนอยู่ เราไม่ได้อยู่เพราะเงิน แต่ต้องมีไว้เพื่อพัฒนาหน่วยงาน หลายอย่างขึ้นราคาไปเยอะ แล้วระบบจะทำอย่างไร ต้องให้ซูเปอร์บอร์ด (คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ) พิจารณา เราอาจจะมีข้อเสนอ แต่คงเป้นมุมมองมุมหนึ่งในระบบที่จะอภิบาลไปให้ต่อเนื่อง

ถามว่าจะทำหนังสือถึงซูเปอร์บอร์ดด้วยหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า เราคงไม่หยุดยั้งที่จะดำเนินการ แต่จะรูปแบบไหนก็พูดตรงๆ ด้วยความ Professional ทุกอย่างสันติและเราเองคำนึงถึงผู้รับผลประโยชน์ ทุกคนถูกสอนให้ดูแลคนไข้ ฉะนั้นเราก็ต้องทน แต่ความทนก็มีขีดจำกัดก็ได้สะท้อน ไม่ได้สะท้อนไปที่ประชาชน แต่สะท้อนกลับไปที่ผู้บริหารที่จะดูเชิงระบบ

อย่าให้ 30 บาทเป็นผู้ป่วยชั้นสอง

ถามว่า สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้คนไข้ เพิ่มภาระงานหรือเพิ่มค่าใช้จ่ายหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า เพิ่มทั้งสองอย่าง คือ สปสช.งานหลักคือเพื่อประชาชน แต่ส่วนหนึ่งควรมองผู้ร่วมงานถ้ายังมองเราเป็นผู้ร่วมงาน สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นจะแก้ปัญหาร่วมกันอย่างไรท่าน รมว.สธ.จะดำเนินการ เพราะมันหลายครั้งแล้ว ถึงต้องมาถึงตัวพ่อ

ถามว่าถ้าไม่ได้แก้ไขเลยจะกระทบ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ด้วยหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า จะมีหน่วยบริการที่หนีหายจากระบบ เช่น คลินิกเอกชนออกไปแน่ๆ ก็จะเหลือร่อยหลอ แต่ รพ.รัฐหนีไม่ได้ เราไม่อยากให้มองผู้ป่วย 30 บาทเป็นผู้ป่วยชั้นสอง เราให้ความสำคัญกับผู้ป่วยทุกกองทุน แต่ไม่อยากให้เกิดสภาพนั้น เช่น รพ.ต้องออกนโยบายระมัดระวังเวลามีคนไข้ 30 บาท ภาพนั้นไม่ควรจะมี

เชื่อ "ชลน่าน" แก้ปัญหาได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าเป็นการบริหารงานที่ผิดพลาดหรือเข้าข่ายล้มเหลวหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า อยากให้นักข่าวเป็นผู้ตอบ เพราะตนไม่มีสิทธิบอกว่าล้มเหลวหรือไม่ล้มเหลว แต่บอกแค่ว่าต้องทบทวนการบริหารจัดการจะเหมาะกว่า เพราะเราไม่ได้มีหน้าที่ไปตัดสิน เราแค่บอกข้อเท็จจริงให้รู้

ถามถึงกรอบระยะเวลาจะให้แล้วเสร็จเมื่อไร ถ้าไม่เป็นไปตามกรอบจะมีการยกระดับ รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า เราก็จะทวนถามจาก รมว.สธ.เป็นระยะ เพราะหลายอย่างต้องดำเนินการ อย่างน้อยเชิงนโยบาย ซึ่งกระบวนการระบบมันซับซ้อนเรายอมรับได้ที่จะแก้ไขช้า เพราะเรารับมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ที่มากคือความเชื่อมั่น เราเชื่อมั่นท่านว่าจะดำเนินการได้

เมื่อถามว่าหากไม่ได้รับการแก้ไขครั้งนี้ จะไปหานายกฯ หรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ขอไม่ตอบ อย่างไรก็ตาม คงต้องถามท่านรัฐมนตรีเป็นระยะ การแก้ไขช้าเราเข้าใจ เพราะเราก็ทนรับมาเป็น 10 ปีแล้ว

ทั้งนี้ หลังจาก นพ.โอภาส และ นพ.จเด็จ รับหนังสือแล้ว ได้มีการเชิญตัวแทนเครือข่ายสถานพยาบาลขึ้นไปยังห้องประชุมชั้น 2 เพื่อหารือร่วมกัน ระหว่างรอ นพ.ชลน่านมาร่วมประชุมต่อไป

13 ก.พ. 2567  ผู้จัดการออนไลน์


149
ผมนั้นสอนด้านวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง ที่คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ดังนั้นการวิเคราะห์ต้นทุนทางการแพทย์ ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ การพยากรณ์ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ เป็นหัวข้อที่ผมสอนครับ

ผมอ่านจดหมายของชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป แล้วเห็นด้วยว่าการจ่ายเงินของ สปสช. นั้นมีปัญหาจริงอย่างที่ ชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอครับ

แต่สิ่งที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ไม่กล้าจะเขียนลงไปตรงๆ ในจดหมายคือ

ด้วยเงินที่ สปสช. จ่ายและไม่เคยจ่ายเพิ่มขึ้นให้เลยนั้น ทำให้ประชาชนขาดโอกาสในการรักษาทางการแพทย์ที่ทันสมัยและไม่สามารถเข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทำให้การรักษาได้ผลดีขึ้นได้

อัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ (Medical inflation rate) เป็นสิ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์สูงเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี บริษัทที่รับทำประกันสุขภาพเลยจำเป็นต้องปรับเพิ่มราคาเบี้ยประกันสุขภาพกันทุกๆ ปี ปีละประมาณ 5-6% ครับ แต่ สปสช. ไม่เคยจ่าย Adjusted RW สำหรับผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นเลยมาหลายปีแล้ว

เงินเฟ้อทางการแพทย์นั้นสูงกว่าเงินเฟ้อของเศรษฐกิจโดยทั่วไปมากครับ เพราะการแพทย์มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ดีขึ้นตลอดเวลาเพื่อช่วยยืดชีวิตมนุษย์ให้ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โรคที่เคยรักษาไม่ได้ในอดีต ก็มียาใหม่ๆ มีเครื่องมือใหม่ๆ ที่ช่วยรักษาให้ดีขึ้นมาโดยตลอด ทำให้คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น แต่ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์สูงขึ้นครับ

ปัญหาคือ สปสช. ไม่ขึ้นอัตราการจ่ายให้กับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป อันเป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิ/ตติยภูมิ เลยมาหลายปี แล้วที่จ่ายก็จ่ายกดราคาให้ต่ำกว่าผลการศึกษาวิจัยต้นทุน แล้วจะให้โรงพยาบาลเหล่านี้เอาเงินจากไหนมาพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมทางการแพทย์ใดๆ ให้กับประชาชน

อย่าลืมไปว่าโรงพยาบาลศูนย์นั้นเป็นโรงพยาบาลปลายทางที่รับส่งต่อผู้ป่วยหนักๆ ที่โรงพยาบาลชุมชนจากทั่วราชอาณาจักรส่งต่อเข้ามาเพราะว่ารักษาไม่ได้แล้ว แต่เงินที่จ่ายให้โรงพยาบาลปลายทางที่ต้องรักษาโรคยากๆ โรคหนักๆ กลับไม่เพิ่มขึ้นมานานมาก ซ้ำยังถูกกดราคาไม่จ่ายเต็มตามต้นทุนที่ควรจ่าย

โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ก็ต้องวิ่งดิ้นรนหามหาเศรษฐี และเกจิอาจารย์ ให้ท่านช่วยบริจาค ถึงมีเงินพอมาซื้อยาใหม่ๆ เครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ๆ เพื่อมารักษาประชาชน ถ้าโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปที่พื้นที่ไหน มีผู้อำนวยการเก่งๆ และเป็นที่ศรัทธาของประชาชนก็พอจะหาเงินอย่างนี้มาได้ครับ แต่ก็ไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปจะมีมหาเศรษฐีและเกจิอาจารย์ท่านมาช่วยทุกโรงพยาบาลนะครับ

แต่ สปสช. ก็ชอบที่จะประกาศบังคับให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และแม้กระทั่งโรงพยาบาลชุมนุมให้บริการทางการแพทย์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้จ่ายเงินให้เพิ่มขึ้นแต่ประการใด อัตราการจ่ายไม่เพิ่มขึ้น แต่จะบังคับให้มีบริการดีใหม่ๆ เพิ่มขึ้น แล้วก็จะอ้างว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ นั้นต้องคุ้มค่าก่อนต้องไปให้ HITAP โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ อันเป็นหน่วยงานของตระกูล ส. เป็นคนศึกษามาก่อน

ปัญหาคืออยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงบ้างก็ดี โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี จะชอบได้หน้า แต่ไม่ชอบจ่ายเงินนั้น แล้วโรงพยาบาลผู้เป็น service provider จะไปหาเงินมาจากไหนเพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ เข้ามาใช้

ผมเคยได้รับการแต่งตั้งจากนายกแพทยสภา ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าใช้จ่ายกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) เพื่อการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน เมื่อปี พ.ศ.2560 โดยมี
1. ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธาน
2. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร กรรมการและเลขานุการ
3. นายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ กรรมการ
4. แพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการ
5. แพทย์หญิงอรพรรณ เมธาดิลกกุล กรรมการ
6. แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข กรรมการ
7. พลอากาศตรีนายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ กรรมการ
8. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา กรรมการ
9. ศาสตราจารย์นายแพทย์รณชัย คงสกนธ์ กรรมการ
10. อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ กรรมการ

ทั้งนี้การใช้กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Disease related group: DRG) ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการจ่ายเงินแบบเหมารวมตามกลุ่มโรค เช่น เป็นกลุ่มโรคหัวใจมาจ่ายเงินให้เท่านั้นเท่านี้ อาจจะมีปรับนิดหน่อยตามน้ำหนักสัมพัทธ์ (Relative weight : RW) ตามความหนักเบา ซับซ้อนของโรคและจำนวนวันนอน

ผลการศึกษาเมื่อหกปีก่อนทำให้ทราบว่า

ประการแรก การตั้งราคากลาง DRG ไม่ได้ทำอย่างถูกหลักวิชาการบัญชี สปสช. ตั้งคณะกรรมการที่ตนเองเลือกเองมาตั้งราคากลาง DRG และเปลี่ยนราคากลางดังกล่าวเองทุกปีตามอำเภอใจ ไม่มีที่ใดในโลกที่ราคากลางกำหนดโดยผู้ซื้อแล้วมัดมือชกซื้อของในราคาที่ตัวเองต้องการ จะกดราคาลงไปอย่างไรก็ได้ โรงพยาบาลของรัฐจะเจ๊งเท่าไหร่ก็ทำได้

ประการที่สอง การตั้งราคากลาง DRG แล้วไม่ทำตามราคากลาง กล่าวคือพอเบิกไปมากๆ สปสช. ก็หน้าหนาพอทีจะชักดาบโดยการเกลี่ยเอาราคากลางทั้งหมดมารวมกัน แล้วบอกว่ามีงบประมาณรวมเท่านี้หรือ Global budget แล้วก็จับหารยาวจ่ายเท่าที่มีเงิน กดราคากลางลงไปอีก โรงพยาบาลของรัฐ ถ้าไม่เจ๊งวันนี้ด้วยมือของ สปสช. แล้วจะไปเจ๊งวันไหน? มีที่ไหนในโลกที่เมื่อผู้ซื้อ ได้ตกลงราคากับผู้ขาย แต่เมื่อผู้ซื้อมีเงินไม่เพียงพอโดยหลักการคือผู้ซื้อจะต้องมีสถานะเป็นหนี้ผู้ขาย แต่นี่กลับตีหัวและกดราคาของคนขายลงไปแล้วชักดาบ

ประการที่สาม สปสช. ตั้งกฎเกณฑ์ก้าวล่วงเข้าไปยังมาตรฐานการแพทย์และการรักษา ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ของแพทยสภา เป็นการละเมิดและทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายและตัวเองไม่ได้มีอำนาจ เช่น หากแพทย์จะใส่ท่อช่วยหายใจคนไข้แล้วโรงพยาบาลจะเบิกเงินได้ก็ต่อเมื่อมีผลการตรวจแก๊สในเลือด หรือ blood gas ก่อน คำถามคือคนไข้พะงาบๆ จนตัวเขียว เล็บเขียว หน้าเขียวแล้ว ยังไม่เจาะเลือดตรวจดู blood gas ถ้าหมอใส่ท่อช่วยหายใจจะเบิกเงิน สปสช. ไม่ได้ และถ้าไม่มี blood gas สปสช. ไม่ให้เบิกเงิน ก็ควรให้ สปสช. มาถอดท่อช่วยหายใจของคนไข้ออกไปเอง การตั้งกฎเกณฑ์ในการเบิกจ่าย DRG แบบนี้ทำให้เกิดการวินิจฉัยเกินความจำเป็น (Over diagnosis) และทำให้หมดเปลืองยิ่งกว่าเก่า เป็นการตั้งกฎเกณฑ์โดย สปสช. ผู้ไม่เคยรักษาคนไข้มานานมากแล้วและก่อให้เกิดความเสียหายต่อมาตรฐานการรักษาพยาบาลของไทย

ประการที่สี่ สปสช. ยังเรียกร้องข้อมูลต่างๆ ที่โรงพยาบาลต้องกรอกข้อมูลการรักษา รหัสโรค รหัสยา เพื่อเบิกเงิน การทำหน้าที่นี้ของ สปสช. ทำหน้าที่เหมือนพัสดุที่ต้องตรวจรับการจัดซื้อ ต้องดูข้อมูลว่าได้จัดซื้อมาตรงตามที่ต้องการหรือไม่แล้วจึงจะจ่ายเงิน และถ้าส่งข้อมูลให้ช้า สปสช. ก็จะตัดหนี้ออกไปและไม่จ่ายเงิน สปสช. มีสถานะเป็นลูกหนี้ ตามหลักการบัญชี การที่เจ้าหนี้เรียกเก็บเงินช้า ลูกหนี้ไม่มีสิทธิในการไม่จ่าย ลูกหนี้จะชักดาบเช่นนี้ไม่ได้

ประการที่ห้า สปสช. นั้นโดยความเป็นจริงแล้วต้องเป็นลูกหนี้การค้าของโรงพยาบาล เพราะตกลงราคาไม่อย่างแต่ไม่ยอมจ่ายตามราคา DRG ที่ตกลงไว้ แต่โรงพยาบาลของรัฐก็หน้าบาง ไม่กล้าที่จะลงบัญชีว่า สปสช. เป็นลูกหนี้การค้าที่เบี้ยวหนี้ DRG อันที่จริงโรงพยาบาลของรัฐต้องรวมตัวกันไปฟ้องศาลปกครอง ว่า สปสช. เบี้ยวหนี้หน่วยงานของรัฐก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชน ทำให้คุณภาพมาตรฐานการรักษาพยาบาลของคนไทยตกต่ำลง ทำให้โรงพยาบาลของรัฐขาดทุน แต่กระทรวงสาธารณสุขตกอยู่ในสภาพของสองนคราสาธารณสุข ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขเอง จำนวนมากตัวรับราชการในกระทรวงสาธารณสุข แต่ใจนั้นเป็นขี้ข้าตระกูล ส. และ สปสช. ด้วยหวังว่าเมื่อตัวเองเกษียณอายุราชการแล้วจะได้ไปเป็นที่ปรึกษาหรือผู้บริหารของตระกูล ส. ต่อไป ทำให้ปัญหานี้ไม่เคยไปถึงศาลปกครอง และไม่แม้กระทั่งจะมีการลงบัญชีว่า สปสช. เป็นลูกหนี้การค้าค้างจ่าย หรือเป็นหนี้สูญ แต่อย่างใด (อ่านได้จากบทความ เมื่อ สปสช. ชักดาบไม่จ่ายหนี้โรงพยาบาลของรัฐ : ปัญหา DRG ที่พี่ตูนจะต้องก้าวคนละก้าวอีกสักกี่ครั้ง? https://mgronline.com/daily/detail/9600000115874)

ขณะนี้ปี พ.ศ. 2567 สปสช. ก็ไม่ได้ปรับอัตราการจ่ายของ Adjusted RW มาเลยเป็นเวลาเนิ่นนาน มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาต้นทุนโดยตีพิมพ์ใน สรรพสาร สมสส. (HISPA (Healthcare Information System Standards and Processing Administration) Compendium) ฉบับ 1, กรกฎาคม 2566 โดยเป็นการศึกษาของสวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) หน่วยงานตระกูล ส. เครือข่ายพรรคพวกของ สปสช. เอง ก็ยังจ่ายในอัตราที่ต่ำกว่าผลการศึกษานี้เป็นอันมาก

หากสปสช. ไม่จ่ายเพิ่มให้เลยในส่วนของ Adjusted RW เช่นนี้ ประชาชนจะไม่ได้รับบริการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น ที่ทันสมัยขึ้น และยืดชีวิตประชาชน ตลอดจนทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

การที่โรงพยาบาลจะใช้นวัตกรรมทางการแพทย์และเทคโนโลยีในการรักษาให้ประชาชนได้ดีขึ้นนั้นจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สิ่งที่สปสช. ทำนี้เท่ากับบีบบังคับให้ประชาชนได้รับแต่บริการทางการแพทย์ที่ล้าหลัง ไม่ทันสมัย ทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการรักษาที่ดีขึ้น

นี่คือสิ่งที่ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ควรต้องกล้าบอกความจริงกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจสภาพปัญหา

ขอย้ำอีกครั้งว่าโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี แม้แต่โอกาสในการมีชีวิตอยู่ต่อเพราะได้เข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย

สิ่งที่ สปสช. และรัฐบาลต้องบอกประชาชนตรงๆ คือการร่วมจ่าย คนมีมากจ่ายเพื่อให้โรงพยาบาลอยู่ได้พอมีกำไร และนำผลกำไรนั้นไปช่วยเหลือคนที่ยากจนได้เข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย

โลกนี้ไม่เท่าเทียม ไม่เท่ากัน มีแต่พวกคอมมิวนิสต์เท่านั้นที่จะเรียกร้องของฟรีเท่าๆ กัน คนที่มีมากกว่าต้องเสียเงินมากกว่าบ้าง เพื่อเป็นผู้ให้กับคนยากจนด้วย สังคมถึงจะอยู่ได้และไปด้วยกันได้

15 ก.พ. 2567  โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
https://mgronline.com/daily/detail/9670000013886

150
รมว.สาธารณสุข เปิดศูนย์การเรียนรู้สิระ บุณยะรัตเวช รพ.ปากช่องนานา จ.นครราชสีมา สำหรับบุคลากรศึกษาค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมทางการแพทย์ สร้างความเชี่ยวชาญการแพทย์เฉพาะด้าน เพิ่มประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน    พร้อมเปิดโครงการตรวจหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองบริเวณคอด้วยคลื่นความถี่สูง 

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดศูนย์การศูนย์การเรียนรู้สิระ บุณยะรัตเวช โรงพยาบาลปากช่องนานา จังหวัดนครราชสีมา และโครงการตรวจหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองบริเวณคอด้วยคลื่นความถี่สูง โดยมี ศาตราจารย์ เกียรติคุณ นายแพทย์สิระ บุณยะรัตเวช ประธานมูลนิธิสายใยชนบท นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ร่วมงาน

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้สิระ บุณยะรัตนเวช เกิดขึ้นจากแนวคิดของนายแพทย์สิระ บุณยะรัตเวช ที่ต้องการให้มีสถานที่ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ เป็นศูนย์กลางสำหรับแพทย์ทุกสาขาได้เข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม โดยมูลนิธิสายใยชนบทได้สนับสนุนเงินจำนวน 200,000 บาท ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ฯ และโรงพยาบาลปากช่องนานาสนับสนุนสถานที่ ซึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่บุคลากรทางการแพทย์จะได้มีโอกาสในการเรียนรู้พัฒนาศักยภาพตนเอง รวมถึงสร้างประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ด้านสุขภาพ ทั้งการรักษา การป้องกันและการส่งเสริมสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ

“ตลอดระยะเวลาการทำงานของอาจารย์ นายแพทย์สิระ บุณยะรัตเวช ท่านได้มอบโอกาสให้นักเรียนในต่างจังหวัดได้เข้าถึงการศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ และยังมีรูปแบบในการเพิ่มทักษะความสามารถของบุคลากร ด้วยการให้ออกตรวจรักษาในพื้นที่ชนบทห่างไกล ให้ได้ใช้ความรู้ความสามารถภายใต้สถานการณ์ที่จำกัด เกิดประโยชน์ในการพัฒนาแพทย์ชนบทต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน” นายแพทย์ชลน่านกล่าว

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานเปิดโครงการตรวจหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองบริเวณคอด้วยคลื่นความถี่สูง (Carotid duplex ultrasound : CDU ) ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของ มูลนิธิเพื่อนแพทย์เพื่อคุณธรรม มูลนิธิสายใยชนบท โรงพยาบาลปากช่องนานา และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ให้บริการตรวจคัดกรองแก่ผู้ป่วยและผู้ที่มีความเสี่ยงในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 10 - 11 กุมภาพันธ์ 2567 จำนวน 330 คน เพื่อป้องกันและลดการเกิดความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ระดับสูงที่ได้มาตรฐาน

10 February 2024
https://www.hfocus.org/content/2024/02/29727

หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 653