ผู้เขียน หัวข้อ: ความเหลื่อมล้ำของประชาชนไทยในการได้รับสิทธิในการดูแลสุขภาพ  (อ่าน 1814 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
ความเหลื่อมล้ำของประชาชนไทยในการได้รับสิทธิในการดูแลสุขภาพ
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ในพ.ศ. 2545 ประเทศไทยได้เกิดระบบ “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ได้ให้สิทธิในการดูแลรักษาสุขภาพแก่ประชาชนประมาณ 47 ล้านคน ที่ยังต้องจ่ายเงินของตนเองทุกครั้งในการไปตรวจรักษาสุขภาพที่โรงพยาบาลหรือสถานบริการของรัฐบาล ในขณะที่ประชาชนอีกประมาณ 10 ล้านคน มีสิทธิรับการรักษาพยาบาลผ่านกองทุนประกันสังคม และประชาชนอีก 6 ล้านคน มีสิทธิในการรับการรักษาพยาบาลโดยได้รับการคุ้มครองจากระบบสวัสดิการข้าราชการ
  ในยุคแรกของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ประชาชน 20 ล้านคนที่ยากจน มีสิทธิไปรับบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบให้แก่โรงพยาบาล แต่ประชาชนอีก 27 ล้านคนที่ไม่ยากจน ต้องจ่ายเงินให้โรงพยาบาลครั้งละ 30 บาท ในการไปโรงพยาบาล 1 ครั้ง ทำให้รัฐบาลและประชาชนเรียกโครงการนี้ว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” และประชาชนกลุ่มนี้จะได้รับบัตรทองในการแสดงตนเพื่อรับสิทธิการรักษาพยาบาลตามโครงการนี้
  ต่อมาในปีพ.ศ. 2547(1) โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับเพิ่มราคาค่ายาและค่าบริการทางการแพทย์ที่จะเรียกเก็บจากผู้ป่วยที่ไปรับการตรวจร่างกายและรับรักษาในโรงพยาบาล สาเหตุจากงบประมาณที่ได้รับจากสปสช.นั้นไม่เพียงพอในการจัดบริการแก่ประชาชน แต่อัตราค่าบริการที่เพิ่มขึ้นนั้น โรงพยาบาลจะเรียกเก็บได้เต็มราคาจากผู้ป่วยกลุ่มประกันสังคมและผู้ป่วยกลุ่มข้าราชการและครอบครัวเท่านั้น แต่ประชาชนกลุ่มบัตรทองนั้น สปสช.จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามราคากลางที่สปสช.เป็นฝ่ายกำหนด ซึ่งไม่เท่ากับราคาต้นทุนบวกราคาค่าบริหารจัดการ และค่าซ่อมแซม (maintenance ) อาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ หรือการจัดหาเวชภัณฑ์ต่างๆเพื่อผู้ป่วย  ประกอบกับการพัฒนาเรื่องยาและเทคโยโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้โรงพยาบาลขาดเงินที่จะจัดหาและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆให้ทันสมัย ส่งผลต่อคุณภาพการบริการผู้ป่วยให้ไม่เหมาะสมตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
   ต่อมาในปีพ.ศ. 2550 นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ได้ประกาศยกเลิกการเก็บเงิน 30 บาท โดยอ้างว่า เสียเวลาลงบัญชี แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ประชาชนมาโรงพยาบาลมาขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนไม่ต้องรับหน้าที่จ่ายเงินเลย จึงมาโรงพยาบาลมากขึ้น (2) ในปีพ.ศ. 2545 มีประชาชนไปโรงพยาบาล 117.5   ล้านครั้งและมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี จนถึง  126.8 ล้านครั้ง  ในปีพ.ศ. 2549 แต่จำนวนประชาชนไปโรงพยาบาลมากขึ้นเป็น  140 ล้านครั้ง ในปีพ.ศ. 2550และเพิ่มเป็น 200 ล้านครั้งในปีพ.ศ. 2552(3)
     ประชาชนที่ถูกแบ่งแยกเป็นกลุ่มบัตรทอง จึงกลายเป็นประชาชนกลุ่มเดียวในประเทศไทยที่มีสิทธิพิเศษเหนือประชาชนกลุ่มอื่นในการไปรับการตรวจรักษาโรคจากโรงพยาบาลของรัฐบาล โดยไม่ต้องจ่ายเงินของตนเลย แต่ใช้เงินจากภาษีของประชาชนทุกคน ในขณะที่ประชาชนกลุ่มข้าราชการเสียประโยชน์จากการทำงานราชการเงินเดือนน้อย จึงจะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล และประชาชนกลุ่มผู้ประกันตนนั้น ต้องจ่ายเงินของตนเองทุกเดือนเข้าสมทบกับกองทุน จึงจะได้สิทธิไปรับการรักษาสุขภาพ
   นอกจากประชาชนกลุ่มบัตรทองจะได้รับการบริการด้านสุขภาพอย่างครอบคลุมมากกว่าประชาชนกลุ่มอื่นแล้ว  ยังมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ถ้าได้รับความเสียหายจากการไปรับบริการสาธารณสุข ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้กำหนดไว้ว่า ถ้าผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการไปรับบริการสาธารณสุข ให้สามารถร้องขอเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้
    โดยเงินช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น มีที่มาจากเงินจำนวน  1 % ของจำนวนเงินงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่สปสช.ได้รับมาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งในปัจจุบัน เงินช่วยเหลือเบื้องต้นนี้มีจำนวนประมาณปีละมากกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นจนมากกว่าปีละ 120,000 ล้านบาทต่อปี
   ส่วนประชาชนอีก 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และกลุ่มข้าราชการและครอบครัว จะไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองถ้าเกิดความเสียหายจากการไปรับการรักษาจากโรงพยาบาลแต่อย่างใด นับเป็นการถูกเลือกปฏิบัติให้ “ด้อยโอกาส”กว่าประชาชนกลุ่มบัตรทองอีกอย่างหนึ่ง
   ต่อมามีประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความเสียหายจากการไปโรงพยาบาล และได้รับความช่วยเหลือตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว แต่เห็นว่าเงินช่วยเหลือที่ได้รับจากสปสช.นั้นมีจำนวนน้อยเกินไป ไม่สามารถช่วยเหลือให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ตามสมควร เนื่องจากสปสช.ได้กำหนดเพดานขั้นสูงสุดของการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไว้เพียง 200,000 บาท ทั้งๆที่มีเงินตามมาตรา 41 นั้นมีจำนวนมากมายหลายพันล้านบาท แต่สปสช.จ่ายให้แก่ผู้เสียหายเพียงปีละไม่ถึง 100 ล้านบาท
   ประชาชนที่รวมตัวเป็นเครือข่ายผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข จึงได้พยายามที่จะหาทางให้ได้รับเงินเพิ่มขึ้น โดยได้ร่วมมือกับองค์กรเอกชนคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข หรือที่เรารู้จักกันดีในนามเอ็นจีโอ (NGO) ด้านสาธารณสุข ซึ่งส่วนมากก็เป็นกรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่แล้ว ไปร่วมกันเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในยุคคมช.คือนพ.มงคล ณ สงขลา ซึ่งได้สั่งให้กระทรวงสาธารณสุขไปร่างกฎหมายเพื่อตั้งกองทุนมาชดเชยผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยที่เลขานุการรัฐมนตรีมงคลก็คือ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนผลักดันการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... โดยข้าราชการประจำที่รับผิดชอบในการยกร่างก็คืออธิบดีกรมสนับสนุนบริการสาธารณสุขในยุคนั้น และผู้อำนวยการกองประกอบโรคศิลปะในขณะนั้น
    การร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... นั้นจึงเริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2550 ซึ่งต่อมาได้มีผู้แทนราษฎรหลายพรรค ตั้งแต่พรรคพลังประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ ต่างก็ยื่นร่างพ.ร.บ.นี้เช่นเดียวกับเอ็นจีโอสาธารณสุข และรัฐบาลโดยการยกร่างของกระทรวงสาธารณสุข
        ซึ่งก่อนที่รัฐบาลจะยื่นร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณารับรองเป็นกฎหมายนั้น รัฐบาลได้ส่งร่างพ.ร.บ.ให้ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของรัฐบาล คือคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้พิจารณาเป็นองค์คณะ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนองค์กรต่างๆ ต่างก็ได้เสนอข้อคิดเห็น เริ่มจากชื่อพ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหาย ว่าก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่สร้างสรรค์ ขอให้แก้เป็น พ.ร.บ.เสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุขพ.ศ. ... แทน รวมทั้งเสนอว่า ไม่ควรตั้งกองทุนใหม่ แต่ควรขยายความครอบคลุมของมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ให้ขยายความช่วยเหลือไปยังประชาชนกลุ่มผู้ประกันตน และกลุ่มข้าราชการได้ รวมทั้งแพทยสภา แพทยสมาคม ต่างก็เสนอขอแก้ไข เนื้อหาในมาตราต่างๆ เพื่อให้เกิดความถูกต้องชอบธรรม และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แก้ไขบางอย่างตามที่สภาวิชาชีพเสนอ เช่นในแง่ของสัดส่วนกรรมการที่พิจารณาการจ่ายเงินชดเชย
  แต่เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... นี้ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ตามบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 740-741/2552 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 นั้น ได้ส่งคืนมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มีการแก้ไขใหม่ โดยไม่ได้ทำตามคำแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งชื่อของพ.ร.บ.และสัดส่วนกรรมการ และการตั้งกองทุนใหม่ แต่ได้กำหนดให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นผู้บริหารจัดการกองทุน และไม่ขยายความช่วยเหลือไปยังประชาชนกลุ่มประกันสังคมและกลุ่มข้าราชการ และรมว.สธ.ได้ยื่นร่างพ.ร.บ.ฉบับของกระทรวงสาธารณสุขผ่านความเห็นชอบของครม. โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ยื่นร่างพ.ร.บ.ฉบับของรัฐบาลเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และขอให้ประธานสภาส่งเข้าพิจารณาเป็นวาระด่วน
  กระทรวงสาธารณสุขได้อ้างว่ามีการทำประชาพิจารณ์ 2 ครั้ง โดยมีประชาชนร่วมรับฟังไม่ถึง 500 คน โดยที่บุคลากรสาธารณสุขแทบทั้งหมดซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากพ.ร.บ.นี้  ไม่ได้รับทราบเนื้อหาของพ.ร.บ.นี้หรือได้เข้าร่วมทำประชาพิจารณ์แต่อย่างใด แต่เมื่อแพทย์บางคนได้เริ่มอ่านพ.ร.บ.นี้ ก็พบว่า พ.ร.บ.นี้จะก่อให้เกิดการฟ้องร้องเพิ่มมากขึ้น และพ.ร.บ.นี้ได้เพิ่มภาระรับผิดชอบแก่บุคลากรทางการแพทย์แต่เพียงฝ่ายเดียวเกือบ 100% ที่จะต้องเป็นฝ่าย “ให้ความคุ้มครองประชาชนและมีภาระรับผิด โดยไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80(2)”  ในขณะที่ประชาชนผู้เจ็บป่วยนั้นจะได้รับความคุ้มครองและสิทธิในการร้องเรียน/ฟ้องร้องเพิ่มขึ้นอย่างมากมายหลายขั้นตอน และยังมีการขยายเวลาการฟ้องร้องไปมากกว่า 10 ปีหลังการรักษา เนื่องจากกำหนดว่าประชาชนฟ้องได้ภายใน 10 ปีหลังจากที่ประชาชน “รับรู้” ถึงความเสียหาย
  บุคลากรทางการแพทย์จึงเริ่มออกมาคัดค้านพ.ร.บ.นี้ ว่าก่อให้เกิดความไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรม และจะไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง แต่จะมีผลประโยชน์แอบแฝงแก่ผู้เขียนกฎหมายเอ็นจีโอ ที่จะมาแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุน จึงได้เสนอแนวทางแก้ไขมาตรา 41 แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ขยายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ครอบคลุมประชาชนไทยทุกคน
   แต่ในวันที่ 13 กันยายน 2553 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ลงมติว่า สปสช.จะไม่ขยายความครอบคลุมมาตรา 41 ไปยังประชาชนชทุกคน แต่อ้างว่าการเร่งให้มีการพิจารณาพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ จะได้ผลดีและรวดเร็วกว่าการขยายมาตรา 41

   ฉะนั้น ประชาชนกลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และกลุ่มข้าราชการจึงเป็นผู้ “ด้อยโอกาส” ที่สุดในสังคมไทย เพราะนอกจากจะไม่ได้รับสิทธิในการดูแลรักษาสุขภาพเท่ากับผู้ที่มีบัตรทองแล้ว ยังไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 อีกด้วย
   สาเหตุที่ประชาชนแต่ละกลุ่ม ไม่ได้รับความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในการได้รับสิทธิการได้รับบริการสาธารณสุขนั้น เกิดจากการที่สปสช.เลือกปฏิบัติต่อประชาชนกลุ่มต่างๆดังนี้คือ
   1.ประชาชนบัตรทอง ได้รับการดูแลรักษาสุขภาพอย่างครบวงจร เริ่มจากการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจร่างกายก่อนมีอาการเจ็บป่วย เพื่อคัดกรองว่าจะเป็นโรคหรือไม่ ตรวจรักษาเมื่อเจ็บป่วย รวมทั้งได้รับการฟื้นฟูสภาพหลังเจ็บป่วย โดยประชาชนกลุ่มนี้มีประมาณ 47 ล้านคน
   2. ประชาชนกลุ่มข้าราชการ ได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ทำงานเอกชน ถ้ามีคุณวุฒิเท่ากัน จึงถือได้ว่า เสียประโยชน์จากการหารายได้เป็นตัวเงิน เพื่อจะได้รับการดูแลรักษาเมื่อเจ็บป่วย แต่ต่อมารัฐบาลเริ่มกล่าวหาว่า พวกข้าราชการใช้เงินค่ารักษาพยาบาลมากเกินไป จนตกถึงค่าหัวปีละมากกว่า 60,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเป็นค่ารักษาข้าราชการคนละประมาณ 11,000 บาทต่อคนต่อปี นับว่าสูงกว่าประชาชนบัตรทองที่รัฐบาลจ่ายงบประมาณแก่ประชาชนแค่ 2,400 บาทต่อคนต่อปี
โดยมีการค้นพบว่า มีการทุจริตในการซื้อยาและเบิกจ่ายยา ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องหาตัวคนที่ทำผิด มาลงโทษตามกฎหมาย
    3.ประชาชนกลุ่มประกันสังคมเป็นผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากที่สุดก็คือกลุ่มผู้ประกันตน ที่เป็นคนขยันทำงาน ในการไปสมัครทำงานเป็นลูกจ้างของเอกชน เพื่อทำงานหาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว แต่ถูกบังคับด้วยพ.ร.บ.ประกันสังคมให้ต้องจ่ายเงินสมทบเข้าสู่กองทุนประกันสังคมทุกเดือน เพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งสิทธิในการรักษาสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยเท่านั้น ไม่รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจคัดกรองก่อนมีอาการเจ็บป่วย และการรักษาเมื่อเจ็บป่วยนั้น ก็ถูกจำกัดแค่บางโรคเท่านั้น สรุปก็คือกลุ่มผู้ประกันตนส่วนหนึ่งเป็นคนจน เพราะมีรายได้น้อย แต่ต้องจ่ายเงินของตนเองร่วมกับนายจ้างฝ่ายละ 5% ของเงินเดือนลูกจ้าง ส่วนรัฐบาลจ่ายเพียง 2.75 % โดยที่คณะกรรมการแพทย์ของกองทุนประกันสังคมนั้น ได้สร้างหลักเกณฑ์กำหนดว่า โรคใดบ้างจึงจะเบิกเงินค่ารักษาจากกองทุนประกันสังคมได้
   ทำให้ประชาชนกลุ่มประกันสังคมนี้ เป็นผู้ด้อยโอกาสที่สุดในการได้รับการบริการสุขภาพ คือต้องจ่ายเงินตนเอง แต่กลับได้รับสิทธิน้อยกว่ากลุ่มประชาชนอื่นๆทุกกลุ่ม ไม่ว่าในแง่ของสิทธิในการรับบริการสาธารณสุข หรือในแง่ของการช่วยเหลือเมื่อเกิดความเสียหายในการรักษา
   แต่ในปัจจุบันนี้ ยังมีประชาชนกลุ่มต่างด้าวตามชายแดน ที่ไม่มีบัตรประชาชนไทย ซึ่งมาทำงานรับจ้างโดยไม่ถูกกฎหมาย เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องมารักษาโดยไม่มีเงินค่ารักษา ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งตามชายแดนขาดงบประมาณในการจัดหายาและเวชภัณฑ์ต่างๆในการรักษาประชาชนทั่วไป ทางรัฐบาลจึงได้จัดงบประมาณบัตรทอง สำหรับคนต่างด้าวเหล่านี้ด้วย
   จึงเห็นได้ว่า ระบบการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนไทยในระบบประกันสังคมนั้น ทำให้ประชาชนกลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้รับสิทธิในการดูแลรักษาสุขภาพน้อยกว่าประชาชนกลุ่มอื่นๆที่เป็นประชาชนไทย ที่ต้องเสียภาษีให้แก่ประเทศชาติ และยังน้อยกว่าประชาชนที่ยังไม่ได้เป็นประชาชนไทย ที่ได้รับสิทธิบัตรทองอีกด้วย โดยนายจ้างของกลุ่มผู้ประกันตน ก็ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าดูแลรักษาสุขภาพให้แก่ลูกจ้างของตนแทนรัฐบาลอีกด้วย
  ตอนนี้ มีข่าวว่า จะมีการรวมกองทุนในการรักษาสุขภาพใน 3 ระบบ เป็นกองทุนเดียวกัน โดยที่ผู้เสนอคือสำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข ที่จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานบริหารกองทุน และเสนอให้นพ.พงษ์พิสุทธ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุขเป็นเลขาธิการ (3)
    จึงอยากจะเรียกร้องนายกรัฐมนตรีว่า การจะมานั่งเป็นประธานในการรวมกองทุนสุขภาพนั้น จะต้องให้ทีมงานของท่านค้นหาข้อมูลที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ ว่าการดูแลสุขภาพของประชาชนไทยนั้น ได้ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาค และไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนไทยทั้งประเทศอย่างไรบ้าง ไม่ควรจะฟังแต่การายงานของเลขานุการคณะกรรมการ ซึ่งอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่ได้ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง
   การจะรวมกองทุนสวัสดิการข้าราชการกับกองทุนหลักประกันสุขภาพและกองทุนประกันสังคมนั้น นายกรัฐมนตรีต้องเปิดหู เปิดตา และเปิดใจ รับรู้ รับฟัง และก็ต้องคิดพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า ควรจะทำอย่างไร จึงจะก่อให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกกลุ่มโดยทั่วหน้ากัน
    รัฐบาลควรแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนในการได้รับการประกันสุขภาพให้เหมือนๆกัน ตามหลักความยุติธรรมและไม่เลือกปฏิบัติที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำแก่ประชาชนเพิ่มขึ้นอีกเลย
เอกสารอ้างอิง 1.อัตราค่าบริการของสถานบริการสาธารณสุขในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2547 ฉบับปรับปรุง ISBN : 974-92516-4-8
                      2.การสำรวจเกี่ยวกับอนามัยและสวัสดิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2549
                      3.เอกสารประกอบการบรรยายของพอ.(พิเศษ) นพ.กิฎาพล วัฒนกุล กรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานสปสช. บรรยายที่จังหวัดสงขลา วันที่ 16 ก.ค. 2553