ผู้เขียน หัวข้อ: เขื่อนแรกของประเทศไทยดำริในสมัย ร.๕! เสร็จเมื่อ ร.๙ เสด็จไปประทับแรมขณะสร้าง!  (อ่าน 307 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
เขื่อนแห่งแรกของประเทศไทยก็คือ “เขื่อนเจ้าพระยา” เป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่สร้างขวางลำน้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท อยู่ในโครงการ “เจ้าพระยาใหญ่”ในสมัย ร.๕ เพื่อป้องกันน้ำท่วมน้ำหลากในฤดูฝน และ ขาดน้ำในฤดูแล้ง เป็นผลต่อการเกษตรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จนเมื่อโลกเกิดขาดแคลนอาหาร องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติจึงสนับสนุนให้ธนาคารโลกปล่อยเงินกู้มาสร้าง เพื่อให้พื้นที่ ๗.๕ ล้านไร่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้มีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนอาหารของโลก

ทั้งนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้ศึกษาการควบคุมภาวะน้ำท่วมน้ำหลากในพื้นที่ราบลุ่มตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา และจัดการชลประทานสำหรับพื้นที่ทำการเกษตร ในปี ๒๔๔๕ คณะสำรวจของนาย เย โฮมัน วันเดอร์ไฮเด ผู้เชี่ยวชาญการชลประทานชาวฮอลันดา ซึ่งเข้ารับราชการเป็นอธิบดีกรมคลองคนแรก ได้เสนอให้มีการวางระบบแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ให้มีปริมาณกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี เรียกว่า “โครงการเจ้าพระยาใหญ่” โดยให้สร้างเขื่อนขวางลำน้ำเจ้าพระยาขึ้นที่อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท แต่ในขณะนั้นประเทศไทยอยู่ในช่วงเร่งปรับปรุงประเทศในหลายด้าน ไม่มีงบประมาณพอที่จะทำโครงการใหญ่ขนาดนี้ได้

จนในสมัยรัชกาลที่ ๙ จึงมีการนำโครงการเจ้าพระยาใหญ่ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง และเสนอโครงการต่อธนาคารโลกในปี ๒๔๙๒ ขอกู้เงินจำนวน ๑๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับในปี ๒๔๙๑ ได้เกิดการขาดแคลนอาหารไปทั่วโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงสนับสนุนโครงการเจ้าพระยาใหญ่อย่างเต็มที่ ธนาคารโลกได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาว่าจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ผลสำรวจเป็นที่พอใจมาก ธนาคารโลกจึงอนุมัติ และเริ่มจัดซื้อที่ดิน ประกวดราคา จนลงมือก่อสร้างได้ในปี ๒๔๙๕

ในปี ๒๔๙๘ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ๔ ภาคของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และพระบรมราชินีนาถ ในวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๙๘ ในหมายกำหนดการเยี่ยมภาคกลาง ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จโดยเครื่องบินจากสนามบินดอนเมือง มุ่งไปสนามบินตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ก่อนลงสู่สนามบิน เครื่องบินพระที่นั่งได้นำเสด็จชมภูมิประเทศบริเวณต้นน้ำเจ้าพระยาและบึงบอระเพ็ดเป็นเวลาพอสมควร

จากสนามบินตาคลี ได้ประทับรถยนต์พระที่นั่งผ่านซุ้มถวายพระพรของจังหวัดนครสวรรค์และชัยนาทท่ามกลางการเฝ้ารับเสด็จของประชาชนตลอดเส้นทางอย่างแน่นขนัด หลังจากที่ทรงทักทายประชาชนแล้วได้เสด็จประทับเรือเร็วจากท่าศาลากลางจังหวัดไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร “โครงการส่งน้ำบรมธาตุ” ของกรมชลประทาน จน ๑๔.๐๐ น.จึงเสด็จไปทอดพระเนตรการก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยา ถึงเวลา ๑๘.๐๐ น.จึงเสด็จประทับแรม ณ บริเวณสร้างเขื่อน
ต่อมาในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดเขื่อนแห่งนี้ ทรงมีพระราชดำรัสว่า

“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมในพิธีเปิดเขื่อนเจ้าพระยาในวันนี้ ประเทศของเราเป็นประเทศกสิกรรม ทั้งข้าวก็เป็นอาหารหลักของประชาชนพลเมือง การอยู่ดีกินดีของอาณาประชาราษฎร์และความ สมบูรณ์มั่งคั่งของประเทศยังต้องอาศัยอยู่กับการเพาะปลูกเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าวในภาคกลางนี้ รัฐบาลของเราทุกยุคทุกสมัย ดังที่นายกรัฐมนตรีแถลงมา ได้เล็งเห็นความสำคัญและสนใจในการทำนุบำรุงประเทศ โดยการที่จะสร้างโครงการชลประทานเพื่อส่งเสริมช่วยการเพาะปลูกและการทำนาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น จึงเป็นที่น่ายินดียิ่งนักที่เขื่อนเจ้าพระยาอันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการชลประทานที่ได้ดำริกันมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นอันก่อสร้างสำเร็จลงได้ในปัจจุบัน

ทั้งนี้เป็นหลักพยานอันหนึ่งถึงความเพียรพยายาม ที่จะดำเนินการอันจะก่อประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติอันดีของคนไทย ตามคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรีนั้น ก็เห็นได้แล้วว่า ความสำเร็จของเขื่อนเจ้าพระยาได้ส่งผลให้แก่พื้นที่นาทั้งสองฝั่งในระยะเริ่มแรกแล้วเพียงไร ข้าพเจ้าขออนุโมทนาด้วย และขอบรรดาท่านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการนี้จงได้รับคำชมเชยทั่วกัน”

เขื่อนเจ้าพระยาได้สร้างคุณประโยชน์ คือ
๑. ส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรลุ่มน้ำเจ้าพระยาตตอนล่างรวม ๗.๕ ล้านไร่
๒. ผลิตไฟฟ้าพลังสะอาดได้ ๖๒.๗๕ ล้านหน่วยต่อปี
๓. ระบายน้ำด้านท้ายเขื่อนลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อการอุปโภค บริโภค อุสาหกรรม ในจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี
   กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
๔. ช่วยควบคุมปริมาณน้ำเสียและน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำลำคลอต่างๆในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
๕. รักษาระดับน้ำให้เหมาะสมกับการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา
๖. ควบคุมและป้องกันอุทกภัยในแม่น้ำเจ้าพระยา

เขื่อนเจ้าพระยามีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว ๒๓๗.๕๐ เมตร สูง ๑๖.๕ เมตร มีช่องระบายน้ำขนาดกว้าง ๑๒.๕๐ เมตร ๑๖ ช่อง ด้านขวาของเขื่อนมีช่องทางสำหรับล่องซุงและบันไดปลา พร้อมทั้งช่องให้เรือใหญ่ผ่าน บนสันเขื่อนยังเป็นสะพานกว้าง ๗ เมตร รับรถน้ำหนักบรรทุกได้ไม่เกิน ๒๐ ตัน พร้อมทางเท้าอีก ๒ เมตร ทั้งยังมีตอหม้อสำหรับรองรับการสร้างทางรถไฟในอนาคตด้วย

ทุกวันนี้บริเวณเขื่อนเจ้าพระยายังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์สวยงาม เป็นตลาดปลาน้ำจืดและแหล่งขายสินค้า OTOP โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์นี้ มีนกเป็ดน้ำนับหมื่นตัวมาชุนุมหากินอยู่ในแม่น้ำบริเวณเหนือเขื่อน และทางเขื่อนยังมีบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยวด้วย

8 ก.พ. 2564 โดย: โรม บุนนาค
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000012431
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 กุมภาพันธ์ 2021, 12:09:41 โดย story »