ผู้เขียน หัวข้อ: นักจิตวิทยาแนะ "อย่าตัดสินใจเรื่องสำคัญเวลาหิว"  (อ่าน 318 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
คำคมที่ว่า "กองทัพต้องเดินด้วยท้อง" ไม่ห่างไกลจากความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปมากนัก เพราะความหิวเป็นแรงขับให้คนเรามีพฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการตัดสินใจด้วย

ทีมนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยดันดี (University of Dundee) ของสกอตแลนด์ เผยผลการศึกษาล่าสุดในวารสาร Psychonomic Bulletin and Review โดยระบุถึงพฤติกรรมการตัดสินใจของคนเราในขณะที่กำลังหิวว่า อาการท้องร้องและความอยากอาหารจะทำให้คนผู้นั้นมีแนวโน้ม "โดดตะครุบ" หรือยอมรับผลประโยชน์เฉพาะหน้าในทันที แม้ว่ามันจะน้อยกว่าผลตอบแทนที่ควรจะได้ในภายหลังอยู่มากก็ตาม

รายงานวิจัยดังกล่าวชี้ว่า ความหิวส่งผลกระทบทางจิตวิทยาอย่างสูงต่อการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ แม้แต่เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาหาร เช่นการตัดสินใจซื้อบ้าน รถยนต์ ทรัพย์สินมีค่า หรือการเจรจาข้อตกลงทางธุรกิจ

มีการทดลองให้อาสาสมัคร 2 กลุ่ม เลือกว่าจะรับสิทธิดาวน์โหลดเพลงทางออนไลน์ได้ฟรีในแบบไหนดี โดยอาสาสมัครกลุ่มแรกที่อดอาหารมาเป็นเวลา 10 ชั่วโมง เลือกที่จะรับสิทธินั้นในทันที แม้จะดาวน์โหลดเพลงได้เป็นจำนวนน้อยกว่า ในขณะที่อาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเพิ่งรับประทานอาหารมา เลือกรับสิทธิแบบที่ดาวน์โหลดเพลงได้เป็นจำนวนมากกว่า แม้จะยังดาวน์โหลดไม่ได้ทันทีและต้องรอนานสักหน่อยก็ตาม

เพื่อการตัดสินใจที่ดี ควรหาของกินรองท้องให้อิ่มเสียก่อน

ดร. เบนจามิน วินเซนต์ ผู้นำทีมวิจัยอธิบายว่า "สำหรับคนที่หิวโหยแล้ว การรีบกินอาหารเพียงเล็กน้อยที่อยู่ตรงหน้าทันที แทนที่จะรอต่อไปเพื่อได้กินอาหารปริมาณมากกว่า ถือว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ในการตัดสินใจเรื่องสำคัญที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาหาร พฤติกรรมเช่นนี้จะทำให้พวกเขาเสียผลประโยชน์ที่พึงได้"

"ความหิวทำให้คนเราเลือกหนทางที่จะได้รับการเติมเต็ม หรือได้รับการตอบสนองความต้องการในทันที หากคุณยังไม่มีอาหารตกถึงท้อง แต่ต้องไปเจรจาเรื่องสินเชื่อกับธนาคาร หรือต่อรองกับตัวแทนประกันภัย มีแนวโน้มว่าคุณจะใจเร็วด่วนได้เลือกสิ่งที่ให้แต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า แทนที่จะเลือกผลตอบแทนที่ดีกว่าและมากกว่าในระยะยาว"

ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยในปี 2011 ที่ชี้ว่า ความหิวมีผลต่อการตัดสินใจในเรื่องสำคัญเป็นอย่างมาก โดยพบว่าผู้พิพากษาที่นั่งบัลลังก์ตัดสินกรณีนักโทษขอปล่อยตัวโดยทำทัณฑ์บนนั้น หากตัดสินคดีในช่วงเช้าและช่วงบ่ายหลังจากมื้ออาหารได้ไม่นาน ผู้พิพากษาที่ท้องอิ่มมีแนวโน้มจะลดหย่อนผ่อนโทษให้กับผู้กระทำผิดมากกว่า ส่วนผู้พิพากษาซึ่งตัดสินคดีในช่วงเวลาที่ห่างจากมื้ออาหารและน่าจะหิวมากที่สุดนั้นตรงกันข้าม

18 กันยายน 2019
https://www.bbc.com/thai/features-49738835