ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 8-14 พ.ย.2557  (อ่าน 936 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 8-14 พ.ย.2557
« เมื่อ: 15 พฤศจิกายน 2014, 19:07:54 »
 1. “ในหลวง” ถุงเนื้อเยื่อบนผนังลำไส้ใหญ่อักเสบอีก คณะแพทย์ถวายพระโอสถปฏิชีวนะขนานใหม่ พระอาการทั่วไปดีขึ้น!

        เมื่อวันที่ 13 พ.ย. สำนักพระราชวัง ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉบับที่ 9 ว่า คณะแพทย์รายงานการรักษาพระอาการอักเสบของถุงเนื้อเยื่อบนผนังของพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) เพิ่มเติมว่า การถวายพระโอสถปฏิชีวนะรักษา ทำให้พระปรอท (ไข้) ลดลง และพระอาการทั่วไปดีขึ้น จึงได้หยุดถวายพระโอสถ ต่อมาปรากฏว่า มีพระปรอท (ไข้) อีก และมีพระอาการเจ็บพระนาภี (ท้อง) หายพระทัยเร็วขึ้น การเต้นของพระทัยเร็วขึ้น และมีพระบังคนหนัก (อุจจาระ) เหลว การถวายตรวจด้วยเอกซเรย์ที่พระอุระ (อก) ปรากฏว่าพระปับผาสะ (ปอด) ปกติ จึงถวายตรวจพระโลหิตด้วยวิธีพิเศษซ้ำ และถวายตรวจพระนาภี (ท้อง) โดยคลื่นเสียง และโดยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แสดงว่ามีอาการอักเสบของถุงเนื้อเยื่อบนผนังพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) อีก คณะแพทย์จึงถวายน้ำเกลือ พระโอสถปฏิชีวนะขนานใหม่ทางหลอดพระโลหิต ซึ่งทำให้พระปรอท (ไข้) ลดลง และพระอาการทั่วไปดีขึ้น
       
       อนึ่ง คณะแพทย์ได้อธิบายว่า การอักเสบของถุงเนื้อเยื่อบนผนังพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวนั้น คราวนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าครั้งที่แล้วมา คณะแพทย์จึงขอพระราชทานถวายพระโอสถปฏิชีวนะต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่าครั้งก่อน
       
       2. สนช.มีมติเลื่อนถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” ไปเป็น 28 พ.ย. ด้าน ป.ป.ช.ชง สนช.ถอดอีก 38 ส.ว. พบ 2 สปช.-1 สนช.โดนด้วย!

        เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อพิจารณาว่าจะมีการเลื่อนพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีละเลยไม่ระงับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวตามที่ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ร้องขอหรือไม่ โดยที่ประชุม สนช.ได้มีการเชิญนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ,นายสมหมาย กู้ทรัพย์ และนายเอนก คำชุ่ม ทีมทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาชี้แจงเหตุผลที่ขอให้เลื่อนประชุมถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย
       
        ทั้งนี้ นายพรเพชร ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการของ สนช.ที่ผ่านมาว่า ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้ สนช.เมื่อวันที่ 14 ต.ค. จากนั้น สนช.ได้แจกสำเนาการถอดถอนให้สมาชิกทราบในวันที่ 28 ต.ค. ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ประสานไปยังนายนรวิชญ์ ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับทราบแล้ว แต่นายนรวิชญ์ แจ้งว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ จึงยังไม่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเรื่องนี้ สนช.จึงได้ส่งเอกสารประกอบการพิจารณาของ สนช.ไปที่บ้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยมีผู้เซ็นรับเอกสารถึง 2 ครั้งเมื่อวันที่ 29 ต.ค.และ 7 พ.ย.
       
        ด้านนายเอนก ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยกข้อบังคับการประชุม สนช.ข้อที่ 149 และ 150 ว่า สนช.ต้องส่งรายงานและสำนวนของ ป.ป.ช.ให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบไม่น้อยกว่า 15 วันนับจากวันประชุมนัดแรกคือวันที่ 12 พ.ย. และว่า หนังสือจากประธาน สนช.ส่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์วันที่ 7 พ.ย. หากนับถึงวันที่ 12 พ.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมีเวลาเตรียมตัวแค่ 5 วันเท่านั้น ทั้งที่ข้อกล่าวหาที่ สนช.แจ้งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทราบ มีเนื้อหาประมาณ 100 กว่าหน้า ซึ่งพวกตนเพิ่งได้รับเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ยังไม่มีโอกาสได้ดู จึงขอเลื่อนการประชุมออกไปก่อน
       
        จากนั้นนายพรเพชร ได้เปิดให้สมาชิกซักถามข้อสงสัยกับทีมทนายความ โดยมีผู้ถามว่า แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะอยู่ต่างประเทศ แต่ เหตุใดทีมทนายความไม่โทรศัพท์แจ้งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทราบข่าวเรื่องการประชุมถอดถอน ก็สามารถสั่งการมายังทีมทนายความได้ทันที เพราะการถอดถอนนี้ ประชาชนทั่วประเทศทราบมานานแล้วว่าจะมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมวันที่ 12 พ.ย.
       
        ด้านนายนรวิชญ์ ชี้แจงโดยอ้างว่า การให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับทราบวาระถอดถอนจากรายงานข่าวของสื่อ ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะต้องได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการโดยตรงจาก สนช.ตามข้อบังคับเท่านั้น พร้อมยืนยันว่า การขอเลื่อนประชุมถอดถอนครั้งนี้ ไม่ได้เจตนาประวิงเวลาแต่อย่างใด
       
        หลังการอภิปรายซักถามเสร็จสิ้น นายพรเพชร ได้ขอมติจากที่ประชุมว่าจะให้เลื่อนการพิจารณานัดแรกเพื่อกำหนดวันแถลงเปิดคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 167 ต่อ 16 ให้เลื่อนการประชุมนัดแรกออกไป โดยมีผู้งดออกเสียง 7 เสียง จากนั้นที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่นายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช.เสนอว่า มติวิป สนช.ให้เลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นวันที่ 28 พ.ย. นายพรเพชร ยังแจ้งด้วยว่า เมื่อเลื่อนการพิจารณาออกไปแล้ว ขอให้ผู้ถูกกล่าวหาไปตรวจเอสารและคัดสำนวนจำนวน 3,870 หน้า ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ในเวลาราชการ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สมาชิกที่ประสงค์จะเสนอญัตติซักถาม เสนอญัตติได้ก่อนถึงวันประชุม 28 พ.ย.
       
       ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวเลขขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวด้วย โดยเมื่อวันที่ 13 พ.ย.นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว ได้สรุปผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวและประกันราคาข้าว 15 โครงการ ตั้งแต่ปี 2547 ถึงวันที่ 22 พ.ค.2557 ก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะเข้ามาบริหารประเทศ พบว่า มียอดขาดทุนอยู่ที่ 6.82 แสนล้านบาท โดยแยกเป็นโครงการตั้งแต่ปี 2547-2554 จำนวน 11 โครงการ ขาดทุน 1.63 แสนล้านบาท และโครงการจำนำข้าว 4 โครงการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขาดทุน 5.18 แสนล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้จะเสนอผลการปิดบัญชีไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ต่อไป
       
       สำหรับคดีถอดถอนนั้น นอกจากคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ป.ป.ช.ยังได้มีมติส่งสำนวนให้ สนช.พิจารณาถอดถอนสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) อีก 38 คน ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ประกอบด้วย นายประสิทธิ์ โพธสุธน ,นายสมชาติ พรรณพัฒน์ ,พล.ต.ต. องอาจ สุวรรณสิงห์ ,นายดิเรก ถึงฝั่ง ,นายประวัติ ทองสมบูรณ์ ,นายกฤช อาทิตย์แก้ว ,นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ,พล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ ,นายโสภณ ศรีมาเหล็ก ,นายภิญโญ สายนุ้ย ,นายต่วนอับดุลเล๊าะ ดาโอ๊ะมารียอ ,นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ ,นายสุเมธ ศรีพงษ์ ,พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ ,นายสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล ,นายพีระ มานะทัศน์
       
       พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ ,นายประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์ ,พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ ,นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ,ผศ.วรวิทย์ บารู ,นายสุโข วุฑฒิโชติ ,นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ,นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล ,นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ,นายรักพงษ์ ณ อุบล ,นายบวรศักดิ์ คณาเสน ,นายจตุรงค์ ธีระกนก ,นายสุริยา ปันจอร์ ,นายถนอม ส่งเสริม ,นายบุญส่ง โควาวิสารัช ,นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ,นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ,นายวรวิทย์ วงษ์สุวรรณ์ ,นางภารดี จงสุขธนามณี ,พล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน ,นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร และนายวิทยา อินาลา
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบรรดา 38 ส.ว.นี้ มีผู้ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) อยู่ในขณะนี้ด้วย 2 คน คือ นายดิเรก ถึงฝั่ง และ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ และมีผู้ที่ดำรงตำแหน่ง สนช.อยู่ 1 คน คือ พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์
       
       ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นนทบุรี หลังรู้ว่าเป็น 1 ใน 38 ส.ว.ที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้ สนช.ถอดถอน ก็รีบออกมาพูดทำนองขู่ว่า “ก่อนหน้านี้ผมได้คุยกับกลุ่ม ส.ว.ที่ถูกชี้มูล เห็นตรงกันว่า ถ้า สนช.มีมติถอดถอนก็ต้องมีการพูดอะไรกันพอสมควร จะต้องถูกฟ้องต่อศาลยุติธรรมกันทั่วประเทศ เพราะ ส.ว.มีอยู่ทั่วประเทศ แต่ถ้า สนช.ไม่ถอดถอนเรื่องก็จบ เรามั่นใจในความบริสุทธิ์”
       
       3. “สมบัติ” เบียดชนะ “ปู่ชัย” นั่ง ปธ.ปฏิรูปการเมือง-“ทองฉัตร” สาย ปตท.นั่ง ปธ.ปฏิรูปพลังงาน ด้าน กมธ.ยกร่างฯ เชิญทุกกลุ่มเสนอแนวคิด!

        ความคืบหน้าการคัดสรรสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เข้าไปนั่งในคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญประจำ สปช. หรือ กมธ.ปฏิรูป 18 คณะ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ประชุม สปช.ได้พิจารณาและรับรองรายชื่อ สปช.ที่เป็น กมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 คณะแล้ว จากนั้นได้ให้แต่ละคณะประชุมเพื่อเลือกประธานและรองประธาน ผลปรากฏว่า 1.คณะ กมธ.ปฏิรูปการเมือง มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน 2.คณะ กมธ.ปฏิรูปกีฬา มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นประธาน 3.คณะ กมธ.ปฏิรูปค่านิยม ศิลปวัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา มีนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธาน 4.คณะ กมธ.ปฏิรูปวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา มีนายศักดิ์รินทร์ ภูมิรัตน เป็นประธาน 5.คณะ กมธ.ปฏิรูปการแรงงาน มี พล.ท.เดช ปุญญบาล เป็นประธาน
       
        6.คณะ กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค มี น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เป็นประธาน 7.คณะ กมธ.ปฏิรูปการศึกษา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นประธาน 8. คณะ กมธ.ปฏิรูปป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีนายประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธาน 9.คณะ กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง มีนายสมชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน 10.คณะ กมธ.ปฏิรูปการท้องถิ่น มีนายพงศ์โพยม วาศภูติ เป็นประธาน 11.คณะ กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน มีนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ เป็นประธาน
       
       12. คณะ กมธ.ปฏิรูปพลังงาน มีนายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ เป็นประธาน 13.คณะ กมธ.ปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ มีนายเกริกไกร จีระแพทย์ เป็นประธาน 14.คณะ กมธ.ปฏิรูปสาธารณสุข มีนางพรพันธุ์ บุณยรัตนพันธุ์ เป็นประธาน 15.คณะ กมธ.ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนายปราโมทย์ ไม้กลัด เป็นประธาน 16.คณะ กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ มีนายจุมพล รอดคำดี เป็นประธาน 17.คณะ กมธ.ปฏิรูปสังคมชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส มีนายอำพล จินดาวัฒนะ เป็นประธาน และ 18. คณะ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า การเลือกประธานคณะ กมธ.บางคณะมีการแข่งขันกันแบบสูสี เช่น คณะ กมธ.ปฏิรูปการเมือง ที่แข่งขันกันระหว่างนายชัย ชิดชอบ กับนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ โดยคะแนนของทั้งสองผลัดกันนำ ผลัดกันตาม กระทั่งคะแนนเสมอกันที่ 12 : 12 คะแนน ต้องลุ้นคะแนนกันในใบสุดท้าย ปรากฏว่า นายสมบัติชนะไป 13 : 12 คะแนน ได้เป็นประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง ส่วนนายชัยเป็นประธานที่ปรึกษาคณะ กมธ.แทน
       
       ขณะที่การเลือกประธานคณะ กมธ.ปฏิรูปพลังงาน ก็มีการแข่งขันระหว่างนายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ กับนายอลงกรณ์ พลบุตร ผลปรากฏว่า นายทองฉัตรชนะนายอลงกรณ์ด้วยคะแนน 17 : 10 คะแนน โดยคะแนนที่สนับสนุนนายทองฉัตรมาจาก กมธ.ที่เป็นกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับ ปตท.เนื่องจากนายทองฉัตรเคยเป็นอดีตผู้ว่าการ ปตท.มาก่อน ส่วนคะแนนสนับสนุนนายอลงกรณ์มาจากกลุ่มเอ็นจีโอและ สปช.ซึ่งมีสัดส่วนที่น้อยกว่าใน กมธ.
       
       ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปช.ในฐานะโฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยว่า กมธ.จะส่งหนังสือถึงพรรคการเมืองและกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองให้ส่งตัวแทนฝ่ายละ 5 คน มาเสนอความเห็นและแนวคิดต่างๆ ต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในหัวข้อ “จะยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรเพื่อให้สังคมไทยมีอนาคตทีดี” ระหว่างวันที่ 17-25 พ.ย. “กมธ.ทุกคนพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกกลุ่มทุกพรรค ก่อนนำข้อมูลที่ได้ไปสังเคราะห์เพื่อเป็นแนวทางยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป”
       
       ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สปช.ในฐานะโฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ว่า ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ได้พิจารณากรอบแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว โดยแบ่งเป็น 4 ภาค คือ ภาค 1 พระมหากษัตริย์ และประชาชน ภาค 2 ผู้นำทางการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง ภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯ ได้เห็นชอบให้ตั้งคณะอนุ กมธ.ด้านเนื้อหา 10 คณะ เพื่อรับผิดชอบการยกร่างฯ ในแต่ละภาค พร้อมเชื่อว่า จะมีความคิดเห็นตกผลึก จนสามารถนำมาสู่การเริ่มยกร่างรัฐธรรมนูญได้ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. เป็นต้นไป โดยจะมีเวลา 120 วันในการยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 เม.ย.2558 คาดว่าจะนำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในวันที่ 4 ก.ย.2558
       
       4. “สมยศ” เด้งฟ้าผ่า “ผบช.ก.-ผู้การกองปราบฯ” อ้างมีงานสำคัญให้ทำ!

        เมื่อวันที่ 11 พ.ย. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้ลงนามคำสั่งย้าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(ผบช.ก.) และ พล.ต.ต.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากตำแหน่งเดิม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ ผบ.ตร.มอบหมายจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง มีผลตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.เป็นต้นไป โดยให้ไปรายงานตัวที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติภายในวันที่ 12 พ.ย.เวลา 10.00น. พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร.รักษาราชการแทน ผบช.ก.
       
        ทั้งที่ คำสั่งดังกล่าวระบุเหตุผลในการย้าย ผบช.ก.และรอง ผบช.ก.แค่ว่า “เพื่อให้การปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 และ 72 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และข้อ 8(1) แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติราชการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552”
       
        ทั้งนี้ มีรายงานว่า พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ และ พล.ต.ต.โกวิทย์ ล้วนเป็นเพื่อนร่วมรุ่น นรต.31 กับ พล.ต.อ.สมยศ โดย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ดำรงตำแหน่ง ผบช.ก.ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมา มีความพยายามย้าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์มาหลายครั้งก่อนหน้านี้ แต่ไม่สำเร็จ โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
       
        วันต่อมา(12 พ.ย.) พล.ต.อ.สมยศ ยังคงเผยเหตุผลที่ย้าย พล.ต.ท.พงษ์พัฒน์ และ พล.ต.ต.โกวิทย์ แบบไม่ชัดเจนว่า ตนมีงานสำคัญที่ต้องมอบให้ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ และ พล.ต.ต.โกวิทย์ ปฏิบัติ จึงมีคำสั่งให้มาช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีอะไรนอกเหนือจากงานสำคัญที่จะมอบหมายให้ เพราะทั้งสองคนเป็นคนมีความรู้ความสามารถ และว่า ที่ให้ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร.รักษาราชการแทน ผบช.ก. ก็เป็นไปตามขั้นตอนการบริหารราชการ เนื่องจาก พล.ต.ท.ประวุฒิ เป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. กำกับดูแลกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางอยู่แล้ว
       
       อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ตลอดทั้งวันที่ 12 พ.ย. พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ และ พล.ต.ต.โกวิทย์ ไม่ได้เดินทางมาที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และไม่พบว่าได้เดินทางเข้ารายงานตัวที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามคำสั่ง ผบ.ตร. เมื่อสื่อมวลชนโทรศัพท์ไปสอบถาม พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ปรากฏว่าตำรวจติดตามเป็นผู้รับสาย และบอกเพียงว่า พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ รับทราบเรื่องคำสั่งย้ายแล้ว และไม่ขอพูดหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ
       
        ด้าน พล.ต.อ.สมยศ หลังออกคำสั่งย้าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ และ พล.ต.ต.โกวิทย์ แล้ว ก็ได้เรียกประชุมตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อมอบนโยบายการปฏิบัติงานในวันศุกร์ที่ 14 พ.ย. คาดว่าเหตุที่เรียกประชุม เนื่องจากเกรงว่าคำสั่งย้าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพราะกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางถือเป็นหน่วยงานสำคัญ ดูแลตำรวจทั้งกองปราบปราม ตำรวจทางหลวง ตำรวจท่องเที่ยว เป็นต้น อีกทั้ง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์เป็น ผบช.ก.มาหลายปี การโดนคำสั่งย้ายฟ้าผ่าครั้งนี้ อาจทำให้ลูกน้องเกิดความระส่ำระสาย โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ใกล้แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับรอง ผบก.-สารวัตร ประจำปี ที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากมีคำสั่งย้าย ผบช.ก.และรอง ผบช.ก.แบบฟ้าผ่าได้แค่ 3 วัน พล.ต.อ.สมยศ ก็มีคำสั่งย้ายฟ้าผ่าตำรวจระดับสูงอีก 2 นาย คือ พล.ต.ต.ชัยทัต บุญขำ ผู้บังคับการปราบปราม และ พ.ต.อ.อัครวุฒิ์ หลิมรัตน์ ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม โดยให้ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติเช่นกัน โดยขาดจากตำแหน่งเดิม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ ผบ.ตร.มอบหมายจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง มีผลตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.เป็นต้นไป และให้ไปรายงานตัวที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติภายในวันเดียวกัน(14 พ.ย.) เวลา 16.00น.
       
       5. อัยการสูงสุด สั่งฟ้อง “สรยุทธ-บ.ไร่ส้ม” แล้ว คดียักยอกค่าโฆษณา อสมท 138 ล้าน!

        เมื่อวันที่ 12 พ.ย. นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนางสันทนี ดิษยบุตร รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงความคืบหน้าการพิจารณาพยานหลักฐานของคณะทำงานร่วมระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) คดีที่ นางพิชชาภา หรือชนาภา เอี่ยมสะอาด หรือบุญโต เจ้าหน้าที่ธุรการระดับ 5 สำนักกลยุทธ์การตลาด บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ,นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม จำกัด, บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และ น.ส.มณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่บริษัท ไร่ส้มฯ ผู้ถูกกล่าวหา ตามความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 8, 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และ 91 กรณีนายสรยุทธ กระทำการโฆษณาเกินเวลาขณะจัดรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท ระหว่างปี 2548-2549 โดยไม่ชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้แก่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นเงินทั้งสิ้น 138,790,000 บาท
       
        ทั้งนี้ นายวันชัย เผยว่า คดีนี้ หลังจากอัยการสูงสุด(อสส.) ได้รับสำนวน ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดแล้ว ต่อมาวันที่ 5 ก.ย. 2556 อัยการสูงสุดได้แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ เพื่อให้คณะทำงานอัยการและ ป.ป.ช. ร่วมกันรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์นั้น ขณะนี้คณะทำงานผู้แทนทั้งฝ่ายอัยการและ ป.ป.ช. รวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว รวมทั้งเสนออัยการสูงสุดแล้ว เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 รายได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา จึงจะมอบให้คณะทำงานผู้แทนของอัยการสูงสุดนำความเห็นไปประชุมร่วมกับคณะทำงาน ป.ป.ช.อีกครั้งก่อน เพื่อให้ได้ข้อยุติในการฟ้องคดีต่อไปโดยเร็ว เชื่อว่าคณะทำงาน ป.ป.ช.จะไม่มีความเห็นต่างจากนี้ เนื่องจากในการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.ก็สรุปความผิดผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 รายตามที่กล่าวมา หากที่ประชุมได้ข้อยุติเรียบร้อยแล้ว เมื่อจะมีการฟ้องคดี สำนักงานอัยการสูงสุดจะมอบให้อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 2 รับผิดชอบต่อไป
       
        สำหรับอัตราโทษในความผิดดังกล่าว นางสันทนี ดิษยบุตร รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 6 ฐานเป็นพนักงานเรียกรับสินบน โทษจำคุก 5-20 ปี หรือตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท, มาตรา 8 ฐานเป็นพนักงานใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต โทษจำคุก 5-20 ปี หรือตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 11 ฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท ส่วนนายสรยุทธเมื่อไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หากพบว่ากระทำผิดจริง ก็ต้องรับโทษ 2 ใน 3
       
       6. ศาลสมุทรสาคร พิพากษาประหารชีวิต “ครรชิต” อดีต ส.ส.ปชป.คดีฆ่านายก อบจ. ต้องนอนคุก หลังวืดประกัน!

        เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ศาลจังหวัดสมุทรสาคร ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่ นายครรชิต ทับสุวรรณ อดีต ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ตกเป็นผู้ต้องหาฆ่านายอุดร ไกรวัตนุสสรณ์ หรือนายกตุ่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) สมุทรสาคร เสียชีวิตบริเวณหน้าห้องน้ำชาย ภายในปั๊มน้ำมัน ปตท.สาขาคลองครุ ต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2554
       
        สำหรับบรรยากาศที่ศาลก่อนถึงเวลานัดฟังคำพิพากษา ปรากฏว่า นายครรชิตเดินทางมาศาลพร้อมครอบครัว โดยมีมวลชนกว่า 50 คนมาให้กำลังใจ ขณะที่นายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ หรือเฮียม้อ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บิดานายอุดร ก็เดินทางมาศาลพร้อมครอบครัว โดยมีมวลชนมาให้กำลังใจเช่นกัน
       
        ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานและการสืบพยานแล้วเห็นว่า จำเลยมีพฤติกรรมใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายโดยไม่มีเหตุอันควร และยังใช้อาวุธปืนข่มขู่พยาน พร้อมทั้งไม่มีใบพกพาอาวุธปืนในที่สาธารณะ จึงพิพากษาลงโทษประหารชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 298 วรรค 4 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ,มาตรา 390 ข่มขู่ผู้อื่นให้เกิดความกลัว ,มาตรา 392 ยิงปืนโดยไม่มีเหตุอันควรในที่สาธารณะ และมาตรา 371 พกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร พร้อมทั้งให้จำเลยจ่ายเงินชดเชยและค่าสินไหมทดแทนให้นางพอใจ ไกรวัตนุสสรณ์ มารดานายอุดร ,ภรรยา ,บุตร-ธิดานายอุดร และนายมณฑล น้องชายนายอุดร ที่เป็นโจทก์ร่วมรวม 5 คน เป็นเงิน 13.3 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
       
        หลังฟังคำพิพากษา มีรายงานว่า นายครรชิตอยู่ในอาการนิ่งสงบ ขณะที่นายมณฑล บิดานายอุดร กล่าวว่า ครอบครัวไกรวัตนุสสรณ์ได้รับความเป็นธรรม ผู้ที่กระทำผิดได้รับโทษตามกฎหมาย ส่วนเรื่องศพของนายอุดร ที่ยังคงตั้งไว้ที่วัดเจษฎารามนั้น คาดว่าปีหน้าคงจะดำเนินการตามพิธีกรรมให้เรียบร้อย
       
        ด้านนางทัศนีย์ ทับสุวรรณ มารดานายครรชิต ได้ให้ทนายความยื่นหลักทรัพย์ 1.4 ล้านบาท เพื่อขอประกันตัวนายครรชิต ด้านศาลจังหวัดสมุทรสาครได้ส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นผู้พิจารณา ซึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวนายครรชิตไปคุมขังที่เรือนจำสมุทรสาคร
       
        อนึ่ง มีรายงานว่า ปมสังหารนายอุดรครั้งนี้ อาจมาจากเรื่องชู้สาว และการหมิ่นศักดิ์ศรีของลูกผู้ชาย โดยเริ่มจากหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นหน้าห้องของนายอุดร ต่อมาตัดสินใจลาออกจากงาน และได้ไปรู้จักกับนายครรชิต จำเลยในคดีนี้ ถึงขั้นมีลูกด้วยกัน หลังจากนั้น เมื่อนายอุดรและนายครรชิตเจอหน้ากันครั้งใด จะมีคำพูดเยาะเย้ยถากถางให้ไปตรวจดีเอ็นเอแทบทุกครั้ง คาดว่า วันเกิดเหตุ เมื่อทั้งคู่มาเจอกันที่ปั๊มน้ำมัน อาจมีการพูดจาถากถางกันอีกครั้ง ทำให้นายครรชิตไม่พอใจ ชักปืนออกมารัวยิงนายอุดรนับสิบนัดด้วยความโกรธแค้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 พฤศจิกายน 2557