ผู้เขียน หัวข้อ: วัดระดับ บจ. ต้านโกง กติกาคัดธุรกิจสะอาด  (อ่าน 768 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
 เมื่อพิจารณาแง่ดีของความไม่ดีจากระบบและนักการเมืองที่ขาดจิตสำนึกการทำหน้าที่เพื่อสร้างคุณค่าและแก้ปัญหาอย่างถูกต้องเป็นธรรมจนเกิดความเสียหายต่อทรัพยากรและงบประมาณจำนวนมหาศาล
       สังคมได้เห็นชัดเป็นที่ประจักษ์ว่ามีรากเหง้ามาจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่แพร่เชื้อลุกลามไปทุกวงการ ผู้นำในวงการธุรกิจจึงเริ่มตื่นตัวรณรงค์และสร้างกฎกติกาให้เกิดความใฝ่ดี มีธรรมาภิบาล (CG) ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอยู่ในผู้นำองค์กรที่มีหลักยึดประกอบกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR นั่นเอง
       เราได้เห็นบทบาทสร้างสรรค์สังคมจากหลายสถาบันแสดงบทบาทอย่างมีนัยสำคัญที่น่าชื่นชม ดังที่ ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการและผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD ได้กล่าวย้ำต่อการประชุมกรรมการบริษัทระดับนานาชาติที่เกาะแฮมมิลตัน เมื่อเร็วๆ นี้ว่า
       “การทุจริตคอร์รัปชันได้กลายมาเป็นปัญหาที่แก้ยาก และเป็นตัวขัดขวางการแข่งขัน ทำลายความสมดุลในตลาด ทำลายการคิดค้นนวัตกรรมของภาคธุรกิจ และเป็นภัยคุกคามการเพิ่มมูลค่าในระบบเศรษฐกิจ”
       ดร.บัณฑิต ชี้ว่าการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจังกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และมีพัฒนาการมากขึ้น ทั้งในระดับประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ต่างกำลังเร่งออกกฎหมายใหม่ๆ เพื่อพยายามแก้ปัญหานี้ให้มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม

ระดับความคืบหน้าบริษัทจดทะเบียนในการต่อต้านคอร์รัปชั่น

5 --- ขยายผลการต่อต้านคอร์รัปชั่นไปยังพันธมิตรและคู่ค้า
4 --- ผ่านการประเมินและได้ใบรับรองจาก IOD
3 --- วางระบบป้องกันการคอร์รัปชั่น
2 --- เข้าร่วมองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น
1 --- กรรมการบริษัทประกาศจะต่อต้านคอร์รัปชั่น
0 --- ไม่ดำเนินการ


       ในประเทศไทยในยุคหลังรัฐประหารด้วยการจัดการวิธีพิเศษเฉพาะกิจ ก็หวังว่าจะมีการออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาให้จริงจังขึ้น
       ขณะที่ภาคธุรกิจได้มีพัฒนาการของกลไกและกลยุทธ์ขยับตัวไปด้วยกฎกติกาที่ยืนยันเจตนารมณ์ในเรื่องนี้ที่สามารถตอบโจทย์ทางการตลาดและการลงทุนที่กระแสโลกต้องการคบค้ากับ “ธุรกิจที่สะอาด” มีคุณสมบัติ ESG คือการดำเนินธุรกิจจะตระหนักในคุณค่าสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และ การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance)
       น่ายินดีที่สังคมไทยได้เห็นบทบาทของกลไกสำคัญด้านการพัฒนาตลาดทุน คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ล่าสุดได้ประกาศการจัดทำดัชนีวัดความคืบหน้าในการร่วมแก้ไขปัญหาทำการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีกว่า 500 บริษัท โดยจัดเป็น 5 ระดับ จาก 0-5 คะแนน
       ข้อมูลนี้จะเปิดเผยในเวปไซต์ของ ก.ล.ต.โดยแยกเป็นรายอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่จัดทำและเผยแพร่โดยบริษัทหลักทรัพย์ก็จะระบุระดับคะแนนความคืบหน้าในการร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของบริษัทจดทะเบียนนั้นด้วย เพื่อให้นักลงทุนใช้เป็นข้อมูลพิจารณาตัดสินใจลงทุนในแง่คุณสมบัติด้านธรรมาภิบาลซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของกิจการ
       จากข้อมูลในเวปไซต์ของ IOD ได้เปิดเผยว่าปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ได้รับการรับรองในการเป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริตมี 19 บริษัท ซึ่ง ก.ล.ต.จัดให้อยู่ในกลุ่มคะแนนระดับ 4 ของดัชนีชี้วัดความคืบหน้าในการต่อต้านคอร์รัปชัน
       ตัวอย่างชื่อบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ เอส แอนด์ พี ซินดิเคท, สมบูรณ์แอ็ดวานซ์ฯ, ปูนซิเมนต์ไทย, ไทยออยล์, พีทีที โกลบอล เคมิคอล, ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ทิสโก้ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป, บางจากฯ เป็นต้น

       ชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการ ก.ล.ต.ยืนยันว่าจะพยายามผลักดันให้หน่วยงานในกำกับทั้งบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมได้คะแนนในระดับ 4 ภายในเดือนมีนาคม 2558 เพื่อให้เป็นธุรกิจต้นแบบ
       พร้อมกันนั้นยังจะขอความร่วมมือให้หน่วยงานเหล่านี้และกองทุนต่างๆ มีการวางกติกาการลงทุนให้เป็นระบบว่า “ต่อไปนี้จะไม่ลงทุนในบริษัทที่ได้คะแนนต่ำกว่า 3 คือ ไม่มีรูปธรรมในทางปฏิบัติ หรือไม่มีระบบป้องกันการคอร์รัปชัน”

       ขณะเดียวกัน ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ก็ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการองค์กรมีประชุมเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ศกนี้ เห็นชอบยกให้กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นองค์กรต้นแบบในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันอีกด้วย
       เหตุผลก็คือ ทั้ง 2 หน่วยงานนี้ได้ประกาศจุดยืนเดินหน้าการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในองค์กร ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการเร่งด่วน 8 ข้อที่ได้เสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไป และมีท่าทีตอบรับการแก้ปัญหา
       มาตรการทั้ง 8 แบ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ทันที โดยประกาศเป็นนโยบายของรัฐ เช่น เป็นผู้นำในการสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านคอรัปชัน กำหนดให้มีมาตรฐานที่โปร่งใสในกระบวนการให้บริการของรัฐ และการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในรัฐวิสาหกิจ
       อีก 4 มาตรการต้องแก้ด้วยกฎหมาย เช่น แก้ปัญหาการเรียกสินบนในการออกใบอนุญาต การแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่ต้นตอ การสร้างมาตรการทางกฎหมายในการติดตามและจับกุมลงโทษคนทุจริต
       
       ข้อคิด...
       ปรากฎการณ์ข้างต้นนี้ให้ข้อคิดได้ว่า ในภาวะที่สังคมโลกกำลังเผชิญกับปัญหาด้านต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สังคมก็คาดหวังให้ผู้บริหารกิจการมีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยความสมัครใจ
       หลายกิจการหลายผลิตภัณฑ์จึงได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคที่เชื่อมั่นในกระบวนการผลิตที่เน้นคุณภาพที่มุ่งความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
       ขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่ก็ยังมุ่งแสวงหากำไร และผลประโยชน์ให้มากที่สุด โดยไม่มีจิตสำนึกเชิงคุณธรรมต่อสังคมและผู้เกี่ยวข้อง กิจการแบบนี้มักสนใจวิธีการที่ต้นทุนต่ำและหวังผลในระยะสั้น ไม่หวังรอผลดีในระยะยาว และไม่คิดถึงความยั่งยืน
       การวิ่งเต้นและร่วมมือกับนักการเมืองและรวมทั้งข้าราชการที่ขาดจิตสำนึกเพื่อประโยชน์สาธารณะก็จะมาจากนักธุรกิจที่ขาดหลักยึดด้านธรรมาภิบาล ซึ่งจริงๆ แล้วก็เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยง
       ต่อไปเมื่อกติกาใหม่ที่ ก.ล.ต.เตรียมผลักดันให้เกิดขึ้นกับระบบของบริษัทจัดการลงทุนที่จะไม่ลงทุนในกิจการที่มีคะแนนต่ำกว่าระดับ 3
       นี่แสดงว่าสัญญาณเตือนของกติกาใหม่ของโลกที่ใฝ่ดีจะส่งแรงกระเพื่อมสู่ตลาดทุนไทยอีกระดับหนึ่งแล้ว
       suwatmgr@gmail.com

ASTVผู้จัดการออนไลน์    22 กรกฎาคม 2557