ผู้เขียน หัวข้อ: คนไทยฮิต “ผ่าคลอด” โดยไม่จำเป็น ค่าใช้จ่ายสูง ย้ำคลอดธรรมชาติปลอดภัย  (อ่าน 524 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
ราชวิทยาลัยสูติฯ ห่วงคนไทยฮิต “ผ่าคลอด” โดยไม่จำเป็น พบแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยันคลอดธรรมชาติปลอดภัยกว่า ราคาถูกกว่า ย้ำ เป็นวิธีคลอดลำดับแรกเสมอ
       
       รศ.นพ.เอกชัย โควาวิสารัช นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรม สาขาสูตินรีเวชกรรม กลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี และ ประธานอนุกรรมการกิจการพิเศษ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันหญิงตั้งครรภ์นิยมผ่าท้องทำคลอด เห็นได้จากอัตราการผ่าท้องทำคลอดในโรงพยาบาลรัฐที่พุ่งสูงขึ้น โดยอยู่ร้อยละ 35 - 40 ของการคลอดทั้งหมด ส่วนโรงพยาบาลเอกชนร้อยละ 70 - 80 ของการคลอดทั้งหมด องค์กรอนามัยโลกได้กำหนดอัตราผ่าท้องทำคลอดที่เหมาะสมไว้ที่ร้อยละ 15 ของการคลอดทั้งหมด ดังนั้น หากอัตราผ่าท้องทำคลอดมากกว่าองค์การอนามัยโลกกำหนดย่อมไม่ได้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น ทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงมีการดำเนินการแบบบูรณาการเพื่อที่จะลดอัตราผ่าท้องทำคลอดที่พุ่งสูง ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องมีอัตรามากขนาดนี้
       
       รศ.นพ.เอกชัย กล่าวอีกว่า การผ่าท้องทำคลอดกลายเป็นค่านิยมที่หญิงตั้งครรภ์มักจะขอให้สูตินรีแพทย์ทำคลอดด้วยวิธีนี้ ประกอบกับช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะมีข่าวคนดัง หรือดารา ออกข่าวการผ่าท้องทำคลอดอยู่เนืองๆ ซึ่งมีผลในการชักจูงให้ประชาชน คิดว่า การผ่าท้องทำคลอดเป็นสิ่งปกติ แม้แต่คนดังก็ยังเลือกคลอดด้วยวิธีนี้ ประกอบกับหลายคนมักคิดว่า คลอดด้วยวิธีธรรมชาติจะเจ็บปวด และอาจอันตราย โดยเข้าใจว่าผ่าคลอดปลอดภัย แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เลย หนำซ้ำค่าใช้จ่ายในการผ่าคลอดยังมีราคาแพงกว่าคลอดปกติ ทั้งที่เราไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายขนาดนี้ และที่เสี่ยง คือ การผ่าท้องทำคลอดมีอันตรายต่อแม่มากกว่าการคลอดทางช่องคลอด เพียงแต่ว่าอันตรายเหล่านั้นพบน้อยในปัจจุบัน เนื่องจากการแพทย์พัฒนาขึ้นมาก ดังนั้น การคลอดทางช่องคลอดเป็นวิธีการคลอดลำดับแรกเสมอ แต่หากมีข้อบ่งชี้คือ มีความจำเป็นแล้วจึงเลือกการผ่าท้องทำคลอด มิใช่ว่าจะเลือกคลอดโดยวิธีไหนก็ได้ตามที่แม่หรือครอบครัวต้องการ
       
       รศ.นพ.เอกชัย กล่าวว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการผ่าท้องทำคลอดในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับในสหรัฐอเมริกา และจากการรวบรวมข้อมูลอัตราการผ่าคลอดในโรงพยาบาลตติยภูมิ 4 แห่ง คือ รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รพ.รามาธิบดี รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ และรพ.สงขลานครินทร์ เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2552 - 2555 พบว่า จำนวนการคลอดรวมใน รพ.4 แห่งเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในแต่ละปี โดยอัตราการผ่าท้องทำคลอดเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ทุกปีจากร้อยละ 38 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 40.5 ในปี 2555 และเมื่อพิจารณาข้อบ่งชี้ในการผ่าท้องทำคลอด พบว่า เคยผ่าท้องทำคลอดในครรภ์ก่อนเป็นข้อบ่งชี้ที่พบบ่อยที่สุดในทุก รพ. ส่วนข้อบ่งชี้ของการผ่าท้องทำคลอดปฐมภูมิ คือ ไม่เคยผ่าท้องทำคลอดมาก่อน พบว่ามีการผิดสัดส่วนของส่วนนำทารกกับเชิงกรานของมารดา
       
       “ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจนในการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าท้องทำคลอด ส่วนใหญ่ข้อมูลเป็นแบบรายงานประจำปีของแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งอาจยังไม่ครอบคลุม ไม่ครบถวน และไม่เห็นภาพรวมของการผ่าท้องทำคลอดของประเทศไทย ดังนั้น เพื่อให้ข้อมูลเกิดความน่าเชื่อถือ และสามารถนำไปวางแผนการดำเนินงานด้านสูติกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรมีการกำหนดหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ และการคลอดที่ชัดเจน รวมทั้งควรมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ เป็นปัจจุบัน และเป็นฐานข้อมูลสำคัญเพื่อวางแผนการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นต่อไป” รศ.นพ.เอกชัย กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกี่ยวกับความรู้เรื่องนี้ รศ.นพ.เอกชัย ได้เขียนบทความเรื่อง การผ่าท้องทำคลอดลงในหนังสือ Thailand Medical Service Profile ซึ่งเป็นหนังสือของกรมการแพทย์ที่ได้เขียนถึงปัญหาสาธารณสุขของไทยอย่างสมบูรณ์ และได้เขียนหนังสือเรื่อง คลอดอย่างไร คลอดเองหรือผ่าคลอด

โดย MGR Online       26 กรกฎาคม 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
5 ข้ออันตรายจากการ “ผ่าคลอด”
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 29 กรกฎาคม 2017, 19:38:45 »
5 ข้ออันตรายจากการ “ผ่าคลอด” ทั้งภาวะแทรกซ้อนจากยาสลบ เสียเลือดมากกว่าคลอดธรรมชาติ ติดเชื้อง่าย เสี่ยงผ่าตัดถูกอวัยวะอื่น เจ็บแผลนานกว่า ย้ำการคลอดควรเป็นกระบวนตามธรรมชาติ ผ่าตัดกรณีมีความจำเป็น
       
       จากกรณี รศ.นพ.เอกชัย โควาวิสารัช นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรม สาขาสูตินรีเวชกรรม กลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ในฐานะประธานอนุกรรมการกิจการพิเศษ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่า อัตราการผ่าคลอดของไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งกลายเป็นค่านิยมใหม่ทั้งที่ไม่จำเป็น เนื่องจากการผ่าคลอดมีอันตรายมากกว่าทางช่องคลอด
       
       รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนบทความเรื่อง “จะคลอดธรรมชาติ หรือ ผ่าคลอดดีนะ?” ในเว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล โดยระบุว่า แม้จะยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การผ่าตัดคลอดในปัจจุบันมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่ไม่ได้หมายความว่า การผ่าตัดคลอดจะไม่มีอันตรายอะไรเลย และเมื่อเปรียบเทียบกับการคลอดทางช่องคลอดแล้ว การผ่าตัดคลอดก็ยังคงมีอันตรายมากกว่าการคลอดทางช่องคลอดอยู่ดี โดยอันตรายจากการผ่าตัดคลอดเมื่อเปรียบเทียบกับการคลอดทางช่องคลอดที่ควรทราบมีหลายประการ ได้แก่
       
       1. การผ่าตัดคลอดจะทำได้ คุณแม่ต้องได้รับยาระงับความรู้สึกหรือยาสลบ ซึ่งบางครั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น การมีความดันโลหิตลดต่ำลงทันทีจากการบล็อกหลัง การสำลักน้ำหรืออาหารเข้าไปในหลอดลมจากการดมยาสลบ นอกจากปัญหาที่แม่แล้ว ลูกที่คลอดออกมาจากแม่ที่ได้รับยาสลบอาจเกิดการขาดออกซิเจนและตัวเขียวได้
       
       2. การผ่าคลอดต้องใช้มีดกรีดทั้งที่หน้าท้องและมดลูกเป็นแผลขนาดใหญ่ ทุกครั้งที่กรีดมีด
       จะมีการเสียเลือดจำนวนไม่น้อยตามมา ในขณะที่การคลอดทางช่องคลอดมีแผลที่ช่องคลอดเพียงเล็กน้อยและเสียเลือดน้อยกว่ากันมาก ถ้าคุณแม่ที่มีปัญหาเลือดจางอยู่แล้ว ถ้าต้องรับการผ่าคลอดอาจเกิดอันตรายได้ง่าย
       
       3. การผ่าตัดคลอดมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าการคลอดทางช่องคลอด และมักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงในช่องท้อง บางรายอาจเสียชีวิตได้ 4. การผ่าตัดคลอดมีโอกาสลงมีดไปโดนอวัยวะอื่น เช่น ลำไส้หรือ กระเพาะปัสสาวะได้ โดยเฉพาะในรายที่เป็นการผ่าตัดคลอดท้องหลังซึ่งการผ่าตัดครั้งแรกมีพังผืดในช่องท้องค่อนข้างมาก และ 5. การผ่าตัดคลอดจะทำให้คุณแม่เจ็บแผลหลังคลอดมากและนานกว่าการคลอดทางช่องคลอด บางคนผ่ามา 3 - 5 วันแล้วยังเดินไม่ค่อยไหว ให้ลูกกินนมแม่ยังไม่ได้เพราะปวดแผลก็มี แต่ถ้าคลอดทางช่องคลอดหลังคลอดวันเดียวก็เดินได้แล้ว
       
       เคยผ่าคลอดแล้วต้องผ่าอีกหรือไม่นั้น รศ.นพ.วิทยา ระบุในบทความว่า ภายหลังการผ่าตัดคลอด มดลูกของคุณแม่จะมีแผลที่เกิดจากการผ่าตัด ซึ่งจะทำให้มดลูกไม่แข็งแรง คล้ายแก้วที่เคยร้าวและใช้กาวเชื่อมติดไว้ เมื่อมีการตั้งท้องครั้งใหม่มดลูกของคุณแม่อาจแตกได้ตอนใกล้ๆ คลอดหรือตอนเจ็บท้องคลอด ดังนั้น คุณหมอส่วนมากจึงมักแนะนำให้คุณแม่ที่เคยผ่าคลอดมาแล้วรับการผ่าตัดคลอดซ้ำ โดยการผ่าตัดครั้งหลังนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้คุณแม่เจ็บท้องก่อน มีคุณแม่บางรายที่เคยผ่าตัดคลอดมาก่อนและคุณหมอแนะนำให้คลอดทางช่องคลอดได้ รายเช่นนี้คุณหมอต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างละเอียดว่าต้องไม่เสี่ยงต่อการแตกของมดลูก เช่น ลูกต้องตัวไม่ใหญ่มาก แม่มีแรงเบ่งดี เป็นต้น ในขณะดูแลคุณแม่ตอนเจ็บท้องคลอดก็ต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถดูแลคุณแม่อย่างดี มีอุปกรณ์ดูแลพร้อมเพรียงและถ้าจำเป็นสามารถผ่าตัดคลอดได้ทันที
       
       “การคลอดเป็นขบวนการตามธรรมชาติ จึงควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ การผ่าตัดคลอดโดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่เพียงพอ อาจทำให้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์เสี่ยงอันตรายโดยไม่จำเป็นได้ ขอให้คุณแม่คลอดลูกโดย “ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย” กันทุกคนนะครับ" รศ.นพ.วิทยา ระบุในบทความ

โดย MGR Online       27 กรกฎาคม 2560