ผู้เขียน หัวข้อ: ผูกรักด้วยจิตอาสาดูแลคนพิการที่ “นายายอาม”  (อ่าน 1179 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
เสียงรถมอเตอร์ไซค์ ต่อที่นั่งด้านข้างแบบพ่วง ออกเดินทางทั้งที่ฟ้ายังไม่เริ่มสาง พร้อมผู้โดยสารขาประจำ และเสียงรถมอเตอร์ไซค์คันเดิมก็วิ่งกลับมาบนเส้นทางเดิมในยามเย็น พร้อมกับผู้โดยสารคนเดิม ถือภาพประทับใจของใครหลายคน ที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ามานานแรมปี หลายคนเห็นความหวัง ความรัก และการต่อสู้ในแววตาคู่นั้น ที่กว่าจะมีวันนี้ได้ ต้องต่อสู้กับความสิ้นหวังและเจ็บปวด จากอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงของชีวิตที่พลิกผันจากคนปกติกลายเป็นคนพิการ มานานกว่า 9 ปี
   
       ด้วยอุบัติเหตุ ถูกแผงเหล็กขนาดใหญ่ทับแผ่นหลัง ทำให้ "ดำรงค์ กลีบแก้ว" กลายเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหว ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ใครๆ ก็บอกว่ารอดยาก แต่ด้วยความรักและจิตใจที่มุ่งมั่นของน้อย-บุญไทย กลีบแก้ว แกนนำเครือข่ายจิตอาสา ผู้เป็นภรรยาที่ยืนหยัดต่อสู้กับอาการพิการทางการเคลื่อนไหวของสามีอย่างไม่ย่อท้อ จึงทำให้พี่ดำรงค์อาการดีขึ้นเรื่อยๆ
       
       “เมื่อเขาป่วย เราก็ต้องลาออกจากงานมาดูแล ต้องพลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ ตอนนั้นหมอก็บอกว่าอาการ รอด 50 ต่อ 50 แต่ก็ไม่คิดจะทิ้งเขาไปไหน เพราะเรายึดมั่นในการมีสามีเดียว ภรรยาเดียว แล้วเราก็มีลูกด้วยกัน 2 คน ที่ต้องช่วยกันดูแล ” น้อย เล่าพร้อมกับยิ้มกว้าง
       
       หลังดูแลสามีด้วยตัวเองเป็นระยะนานหลายปี ในปี 2553 พื้นที่ อ.นายายอาม จ.จันทบุรี ได้เกิดโครงการพัฒนาระบบการดูแลคนพิการโดยใช้ครอบครัวและชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมการสร้างจิตอาสาดูแลคนพิการ โดยมีอาสาสมัครในชุมชน ผู้บริหารส่วนท้องถิ่นทั้งอำเภอและตำบล และนักวิจัยด้านการดูแลคนพิการและพัฒนาร่วมมือกัน โดยมีสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ให้การสนับสนุน ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อดูแลสุขภาพคนพิการที่บ้านให้คนพิการได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม มีชุมชนเป็นแนวร่วมภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ ตามที่คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 2550 กำหนด พี่น้อยจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวและทำงานเป็นเครือข่ายจิตอาสาดูแลคนพิการนับแต่นั้นเป็นต้นมา
       
       น้อย เล่าถึงการทำงานในฐานะอาสาสมัครจิตอาสาดูแลคนพิการ ว่า เมื่อดูแลสามีได้ก็ต้องดูแลคนอื่นได้ ดังนั้น เมื่อเข้าร่วมโครงการ เป็นอาสาสมัครจิตอาสาแล้วก็ได้เข้าอบรมการดูแลผู้พิการ จากนักวิชาการ และแพทย์ ได้ออกไปเยี่ยมคนพิการในพื้นที่ในความรับผิดชอบ คือหมู่บ้านคลองชาก โดยสิ่งสำคัญของการเป็นอาสาสมัคร คือ ใจมาก่อนเป็นอันดับแรก
       
       สอดคล้องกับปัทมา รัตนาธรรม หรือปู พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลนายายอาม ในฐานะผู้ร่วมวิจัยโครงการฯ เล่าถึงที่มาโครงการฯว่า สืบเนื่องจากปี 2549 ที่โรงพยาบาลนายายอาม จัดอบรมกายภาพบำบัดให้กับคนในชุมชน ซึ่งภายหลังจากอบรมแล้วพบว่าชาวบ้านที่เข้าอบรมไม่ได้นำความรู้ไปใช้ต่อ จึงคิดหาวิธีว่าจะทำแบบไหนให้ความรู้ไม่หายไป โดยในปี 2551 จึงเกิดโครงการพัฒนาอาสาสมัครดูแลคนพิการ ขึ้นในพื้นที่ ต.นายายอาม ซึ่งเกิดผลดีกับคนในชุมชนที่ช่วยกันดูแลคนพิการ จากนั้นเมื่อปี 2553 ได้มีการขยายพื้นที่ทำงานออกไปเป็นครอบคลุม 6 ตำบลใน อ.นายายอาม โดยมี สสพ.และ สปสช.เป็นผู้สนับสนุนโครงการ
   
       “หลักการทำงานที่ผ่านมา จะเอาข้อมูลในชุมชนมาวิเคราะห์ว่าเกิดปัญหาอะไรบ้าง จากนั้นก็หาวิธีในการแก้ไข ซึ่งพบว่าคนพิการไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร เราจึงแก้ปัญหาด้วยการอบรมจิตอาสาให้คนในชุมชนและครอบครัวซึ่งเป็นฐานสำคัญช่วยดูแลคนพิการ และถือว่ามีความใกล้ชิดกับคนพิการมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นกำลังใจที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้อาการของคนพิการดีขึ้น” ปู กล่าว
       
       ปู สะท้อนต่อว่า การทำงานที่ผ่านมาเริ่มเห็นผลมากขึ้นเรื่อยๆ และยังแนะหลักการเบื้องต้นในการดูแลคนพิการในครอบครัวว่า ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่า คนในครอบครัวมีความพิการทางด้านใด เช่น พิการทางกาย ต้องดูแลโดยการให้ทานยา ทำกายภาพบำบัด หรือถ้ามีความพิการทางสติปัญหา ก็ต้องดูแลโดยให้ความรู้ที่เหมาะกับเขา ต่อมาก็ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิทางสังคมว่าสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอะไรบ้าง ซึ่งทุกอย่างที่ว่ามานั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่คนในครอบครัวจะต้องช่วยดูแล เช่นเดียวกับที่พี่น้อยดูแลพี่ดำรงค์ ผู้เป็นสามีอย่างดี
       
       หลัง ดำรงค์ ออกจากโรงพยาบาล พี่น้อย บอกว่า พี่ดำรงค์ นั่งไม่ได้ จึงพาไปรักษาที่วัด ก็ฝึกให้นั่งพิงเสาทุกๆ วัน เราก็ทำงานที่วัด ล้างถ้วย ชาม กวาดลานวัด ทำความสะอาดห้องน้ำ และดูแลสามีไปด้วย ส่วนลูกอีก 2 คนฝากให้ญาติช่วยดูแล หลังอยู่ที่วัดมานานกว่า 8 เดือน ก็รู้สึกเกรงใจที่วัด จึงพาสามีกลับมาอยู่ที่บ้าน และตอนที่ออกจากวัดพี่ดำรงค์ก็นั่งได้แล้ว เมื่อมาอยู่บ้านพี่น้อยได้ดัดแปลงอุปกรณ์ในบ้าน โดยเอาเชือกพาดไว้กับขื่อที่อยู่ใกล้ๆ กับเตียง เพื่อเอาไว้ให้พี่ดำรงค์จับเชือกพยุงตัวเมื่อต้องการลุกจากเตียง จากนั้นก็ลากวีลแชร์ไปวางไว้ด้านหลังเพื่อให้นั่งได้พอดี
       
       “เชื่อว่า ที่เขาแข็งแรงขึ้น เพราะเขาก็มีกำลังใจ กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญมาก ยาอะไรก็ไม่ดีเท่ายาใจ และควรมองโลกในแง่ดี คิดบวกเข้าไว้ และสุดท้ายต้องมีความหวัง พี่ดำรงเขาวางเป้าหมายว่าต้องเดินให้ได้” น้อยพูด พร้อมกับนัยน์ตาที่เป็นประกาย
       
       ด้าน ดำรงค์ ร่วมเล่าว่า ถ้าวันนั้น ไม่มีภรรยา เขาคงตายไปแล้ว ตลอดเวลา 9 ปีที่ผ่านมาภรรยาดูแลเขาดีมาก เหมือนภรรยาเป็นผู้ให้ชีวิตใหม่ แต่ก็ยอมรับว่าเคยคิดฆ่าตัวตาย
       “ผมเคยท้อแท้ สิ้นหวังในชีวิต จนถึงขั้นอยากตาย เพราะว่าไม่รู้จะอยู่ไปทำไม เดินก็ไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ ทำงานไม่ได้ เป็นภาระให้ครอบครัว แต่เมื่อเห็นหน้าภรรยา เห็นหน้าลูก ก็ทำให้ผมฮึดสู้ขึ้นมาอีกครั้ง ประกอบกับบางครั้งก็มีทีมอาสาสมัครที่เป็นจิตอาสาเข้ามาเยี่ยม ถามสารทุกข์สุขดิบ ให้การรักษาร่วมพูดคุย จนทำให้ผมรู้ว่า ชีวิตของเรายังมีค่านะ เรายังมีลมหายใจ ยังทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้มากมาย ตอนนี้ผมจึงตั้งเป้าในชีวิตว่า ผมต้องเดินให้ได้” ดำรงค์พูดด้วยเสียงหนักแน่น
       
       ดำรงค์ เล่าต่อว่า หลังอาการดีขึ้นตามลำดับ จึงหันมาทำอาชีพขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รายได้ไม่มาก 200-300 ต่อวัน ช่วยแบ่งเบาภาระของภรรยาได้ เป็นชีวิตที่เรียบง่ายแต่เต็มปี่ยมไปด้วยความสุข

อบรมจิตอาสา
       เรื่องราวความผูกพันระหว่างคนในครอบครัวยังไม่จบเพียงเท่านี้ ขวัญ-จิรพรรณ โพธิ์ทอง ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาระบบการดูแลคนพิการโดยใช้ครอบครัวและชุมชนเป็นฐาน ร่วมสะท้อนว่า แม่ได้ป่วยเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหว จากบทบาทผู้ประสานงาน เมื่อกลับบ้านที่ จ.สุพรรณบุรี พี่ขวัญสวมบทเป็นพยาบาลดูแลแม่ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่นเดียวที่แม่เคยดูแลตอนยังเด็ก
       
       “ไม่ใช่ว่าไม่เสียใจนะที่แม่ป่วย แต่ในความเสียใจตรงนี้ เราก็ดีใจที่มีโอกาสได้ดูแลแม่ ตอนที่แม่ป่วย แม่บอกว่าจะเอาเขาไว้ทำไม ในเมื่อแม่ไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว เราก็เดินเข้าไปกอดแม่ และบอกว่า แม่ไม่ต้องทำอะไร แค่แม่นั่งอยู่เฉยๆ แบบนี้ แค่เห็นหน้าแม่ เราก็มีความสุขแล้ว เพราะแม่คือกำลังใจ คือทุกอย่างของลูก พอแม่เขาฟังเขาก็ถามว่า จริงเหรอ เราก็บอกว่าจริงสิแม่” ขวัญ เล่าพร้อมกับน้ำตาคลอ
       
       พอแม่ป่วย ขวัญ บอกว่า ต้องปรับบ้านใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเตียงนอนก็ปรับให้เท่าขนาดวีลแชร์ที่แม่จะขึ้นไปนอนได้อย่างไม่ลำบาก ห้องน้ำก็ปรับให้เท่ากับแม่ ทั้งกระจก และฝักบัว ต้องทำให้ง่ายต่อการทำธุระของแม่ ถ้วย จาน ชาม แก้วน้ำ ก็เปลี่ยนเป็นพลาสติกหมด เพื่อปรับให้เข้ากับแม่
       
       ทุกคนบนโลกใบนี้ ล้วนต้องการกำลังใจในการดำเนินชีวิต ดังนั้นไม่ว่าเราจะเป็นคนพิการ หรือคนทั่วไป สิ่งสำคัญที่เราไม่ควรลืมเติมเต็มให้ชีวิตก็คือ กำลังใจ รวมถึงความมีค่าในความเป็นคน คนทุกคนมีจุดนี้เท่าเทียมกัน ดังนั้น อย่าลืมให้กำลังใจกับคนที่อยู่รอบข้างและคนที่คุณรัก


ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 กันยายน 2554