ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ยัน “พยาบาล” ไม่ใช่จำเลยรถพยาบาลมุกดาหารเกิดอุบัติเหตุ เร่งดูแลตามขั้นตอน  (อ่าน 1068 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
 สธ. ยัน “พยาบาล” ไม่ใช่จำเลยเคสรถพยาบาลมุกดาหารประสบอุบัติเหตุ ชี้ได้รับการเยียวยาตาม ม.41 สปสช. ได้ เผยจากการสอบสวนเป็นเหตุสุดวิสัย อยู่ระหว่างเจรจาค่าเสียหายจากประกันภัย

จากกรณีเฟซบุ๊กเพจ “สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย” เปิดเผยถึงเหตุการณ์ “พยาบาล” ร้องเรียนว่าตกเป็นจำเลยหลังรถพยาบาล รพ.มุกดาหารเกิดอุบัติเหตุหลังจากส่งต่อผู้ป่วย โดยระบุว่า ไม่ได้รับการดูอลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

วันนี้ (13 ส.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า จากการตรวจสอบยืนยันว่า พยาบาลทั้ง 2 ท่านไม่เข้าข่ายเป็นจำเลย แต่ถือว่าได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ โดย 1 รายบาดเจ็บไม่สาหัส ส่วนอีกรายบาดเจ็บสาหัส ซึ่งกรณีเหล่านี้สามารถได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมาตรา 44 ปลดล็อกหลังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ท้วงติงว่า ไม่สามารถใช้เงินช่วยเหลือผู้ให้บริการได้ ซึ่งหลักเกณฑ์การเยียวยาหากเสียชีวิตหรือทุพพลภาพได้รับสูงสุด 4 แสนบาท สูญเสียอวัยวะหรือพิการสูงสุด 2.4 แสนบาท บาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่องสูงสุด 1 แสนบาท ขั้นตอนคือทำเรื่องไปยัง สปสช. สาขาในพื้นที่นั้นๆ แต่ต้องใช้เวลานาน 1 - 2 เดือน
“คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของ รพ.มุกดาหาร พบว่า อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากเหตุสุดวิสัยของคนขับรถ และอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องประกัน ซึ่งมาตรการเรื่องความปลอดภัยนั้น สธ.สั่งให้รถพยาบาลของ รพ. ในสังกัดทุกแห่งต้องทำประกันชั้น 1 ทั้งหมด พร้อมทั้งติดจีพีเอส เพื่อติดตามความเร็วในการขับรถ รวมทั้งคนขับต้องผ่านการฝึกอบรมด้วย อย่างไรก็ตาม สธ. อยู่ระหว่างพยายามเยียวยาบุคลากรที่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งนอกจากการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 แล้ว ยังควรให้มีการเยียวยาที่ได้รับอัตราจำนวนเงินมากขึ้น ขณะนี้กำลังการือว่าจะทำเป็นประกาศกระทรวงฯ หรือบรรจุร่วมใน พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบทางการแพทย์ พ.ศ. ...” ปลัด สธ. กล่าว

รศ.คลินิก พญ.วารุณี จินารัตน์ ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 10 กล่าวว่า อุบัติเหตุรถพยาบาล รพ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2560 เวลา 01.03 น. ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 6 ราย ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง สรุปข้อเท็จจริงเบื้องต้น พบว่า เป็นเหตุสุดวิสัยและตอนนี้ ขั้นตอนการดำเนินการอยู่ระหว่างนัดเจรจาเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน ซึ่งทางโรงพยาบาลต้นสังกัดได้เบิกเงินช่วยเหลือทำขวัญเบื้องต้นคนละ 5,000 บาท ส่วนค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นเบิกจาก พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และ โรงพยาบาลมุกดาหาร ได้ให้การดูแลรักษาตั้งแต่วันเกิดเหตุ โดยให้การดูแลรักษาต่อเนื่องจนกว่าจะหายดีและสามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ ส่วนเงินค่าเสียหายที่ทำให้ได้รับการบาดเจ็บและเสียชีวิต เรียกร้องจากประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 1 (ประกันชั้น 1) โดยอยู่ระหว่างนัดเจรจาเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่อหน้าเจ้าพนักงานเจ้าของคดี ที่ สภ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ระหว่างผู้เสียหาย และเจ้าของบริษัทประกันภัย ผู้คุ้มครองรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2560 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2560 และครั้งที่ 3 วันที่ 17 ส.ค. 2560 ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานสอบสวน โดยในชั้นนี้ยังไม่มีการดำเนินการส่งฟ้องร้องใดๆ และยังไม่มีผู้ตกเป็นจำเลยทางคดี ทั้งหมดคาดว่าจะได้ข้อยุติโดยเร็ว ส่วนกรณีพยาบาลผู้ประสบเหตุที่พักรักษาตัวและทำให้ขาดรายได้ ทางโรงพยาบาลต้นสังกัดให้ยืมเงินช่วยเหลือเบื้องต้น จำนวน 15,000 บาท และจะพิจารณาให้การช่วยเหลือต่อไปหลังจากที่ได้ข้อยุติจากการเจรจาเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัย เรียบร้อยแล้ว

นพ.ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) มุกดาหาร กล่าวว่า การดำเนินการตามมาตรการองค์กรความปลอดภัยทางถนน ซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดได้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด ทั้งการติดตั้งระบบจีพีเอส พร้อมกริ่งสัญญาณควบคุมความเร็วรถ การติดตั้งกล้องบันทึกภาพหน้ารถและห้องคนขับ การอบรมฟื้นฟูทักษะพนักงานขับรถพยาบาลในหลักสูตร Ambulance safety การจัดทำประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 1 โดยให้รถพยาบาลทุกคันติดจีพีเอส และกล้องตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ กำกับให้ทำประกันภัยภาคสมัครใจภาคสมัครใจ ประเภท 1 ทุกคัน 100% การอบรมฟื้นฟูทักษะพนักงานขับรถรายเก่า รายใหม่ 100% และให้ทุกโรงพยาบาลจัดเวรพนักงานขับรถเป็นเวร 8 ชั่วโมง มีการกำกับผลการปฏิบัติเรื่องความเร็วรถพยาบาลในที่ประชุมคณะกรรมการวางแผนและประเมินผลระดับจังหวัด (กวป.) พบว่า เมื่อช่วงต้นปีงบประมาณผลคือรถทุกคันใช้ความเร็วเกิน 80 กม./ชม. จึงกำหนดมาตรการเพิ่มเติมโดยติดตั้งกริ่งสัญญาณเตือนความเร็วเกินกำหนดให้รถพยาบาลทุกคัน และเชื่อมฐาน GPS กับขนส่งจังหวัดให้ช่วย monitor ความเร็วพร้อมออกจดหมายเตือนถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลจากสำนักงานขนส่งจังหวัด

13 ส.ค. 2560 17:26:00   โดย: MGR Online