ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ชี้แพทย์ขาด แต่ไม่มีเงินจ้าง  (อ่าน 2111 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
สธ.ชี้แพทย์ขาด แต่ไม่มีเงินจ้าง
« เมื่อ: 15 กุมภาพันธ์ 2012, 23:02:49 »


ข่าววันที่ 14 ก.พ.บอกว่านพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์ แต่ไม่มีตำแหน่งบรรจุจากกพ.

http://www.komchadluek.net/detail/20120214/122986/%E0%B8%AA%E0%B8%98.%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87!.html 

   ผู้เขียนอ่านข่าวนี้แล้วก็คงต้องยืมสำนวนนิยายจีนมากล่าวว่า “ประชาชนชาวไทยและผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข  ได้ทราบข่าวนี้แล้วก็ได้แต่อึ้งกิมกี่ จะหัวเราะก็มิออก จะร่ำไห้ก็มิได้”

  แต่หลังจากหายตกตะลึงจนพูดไม่ออกแล้ว ก็ต้องตั้งสติกลับคืนมา ว่าเหตุการณ์เช่นนี้มันเกิดขึ้นทุกปี  ที่จะมีนักศึกษาสายการแพทย์และสาธารณสุขทั้งมวลเรียนจบ และพร้อมจะไปทำงานรับใช้ประชาชนทั่วประเทศ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขบังคับให้ไปใช้ทุน ทั้งๆที่มีนักศึกษาบางส่วนที่ได้ทุนจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชนบท” ส่วนนักศึกษาปกติต่างก็อาศัยเงินพ่อแม่ส่งให้เรียนทั้งนั้น

  แต่เอาเถอะ วันนี้จะพักไม่พูดถึงการบังคับใช้ทุน

  แต่จะพูดถึงว่า กระทรวงสาธารณสุขมีผู้บริหารที่ ขอโทษเถอะ ขอใช้คำว่า “ห่วยแตกหรือไม่เอาไหน” มานาน โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ กล่าวคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขถูกเปลี่ยนตัวบ่อยมาก ในช่วง 10ปีมานี้ ถูกเปลี่ยนไปหลายสิบคน
รัฐมนตรีเหล่านี้ พอมานั่ง “ว่าการ”กระทรวงสธ. ก็จะ “จับต้นชนปลายไม่ติด” เนื่องจากการบริหารกระทรวงที่ใหญ่มาก มีบุคลากรหลายแสนคน มีภาระงานในการรับผิดชอบในการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน 65 ล้านคน  แต่ไม่มีเงินงบประมาณแผ่นดินมารองรับการทำงาน ต้องไปขอรับเงินงบประมาณมาจากองค์กรอิสระนอกเหนือการบังคับบัญชาของรัฐมนตรี รัฐมนตรีต้อง “เชื่อฟังและทำตามมติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งเสียงข้างมากเป็นของคนกลุ่มอื่นที่ “ยึดอำนาจในการบล็อกโหวต” มาเป็นเวลา 10ปีแล้ว ฉะนั้นรัฐมนตรีก็งงว่า หน้าที่ของตูมันคืออะไร กว่าจะเรียนรู้ หรือรู้ทัน”กลุ่มบริหารองค์กรอิสระ”ที่ว่านี้ ก็ถึงเวลาต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี (เป็นคำสารภาพของนายวิทยา แก้วภราดัย อดีตรมว.สธ.ที่กล่าวต่อมวลหมู่บุคลากรสาธารณสุข ณ ห้องประชุมรพ.มหาราชนครศรีธรรมราช )

  ส่วนปลัดกระทรวงสาธารณสุขแต่ละคน ต่างก็ขยันทำงานแต่เพียงส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับตนเองคือ “คอยประจบเอาใจรัฐมนตรี” ปลัดกระทรวงคนปัจจุบัน เคยบอกกับเพื่อนว่า “กูยังไม่เข้มแข็ง” ไม่กล้าแสดงความเห็นอะไรที่จะเป็นการบอกกล่าวให้รัฐมนตรีแก้ไขปัญหาต่างๆ   ทั้งนี้กลัวว่าจะไม่ถูกใจรัฐมนตรี เพราะมีปัญหามาก  จึงต้อง “ซุกซ่อนปัญหาไว้ ไม่ให้รัฐมนตรีรู้” เพราะกลัวว่าจะถูกปลดออกจากตำแหน่งเนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาได้

 ที่จริงแล้วบุคลากรสาธารณสุขร้องเรียนไปว่า  ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขมีเพียง 3 ปัญหา ซึ่งถ้าแก้ไขได้ก็จะทำให้การบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขสำหรับประชาชน ที่ผู้เขียนมีส่วนรับทราบมาตลอด และได้บอกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงมาตลอด 10 ปีมานี้ แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไขจนสำเร็จเลย 

ปัญหาเหล่านี้มีดังนี้คือ

1.ขาดงบประมาณที่เหมาะสม

  รพ.เป็นหนี้ค่ายา บางแห่งถึงกับขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่เห็นว่ารัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงจะแก้ไขอะไร อาคารสถานที่ไม่เพียงพอ ผู้ป่วยนอนตามระเบียง หน้าห้องส้วม ผู้ป่วยรอแน่นโรงพยาบาลทุกวัน กระทรวงสธ.ไม่มีงบประมาณมาจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ต้องไปขอจากสปสช. เป็นกระทรวงที่แปลกประหลาดกระทรวงเดียวในประเทศไทย ที่ไม่มีเงินไว้จ่ายให้บุคลากรของตัวเอง

แก้ไขปัญหาตรงนี้ง่ายมากๆ กระทรวงสาธารณสุขควรมีงบประมาณในการทำงานเอง
สปสช.มีหน้าที่“ซื้อบริการ” ก็ควรจ่าย “ค่าบริการให้ครบ” ไม่มีหน้าที่มา “จัดบริการต่างๆเอง”

2.ขาดบุคลากรที่เหมาะสมเพียงพอที่จะรองรับภาระงาน

  บุคลากรทางการแพทย์ไม่มีตำแหน่งบรรจุ ต้องเป็นลูกจ้าง เพราะกพ.ไม่อนุมัติตำแหน่ง ผู้เขียนเคยไปอภิปรายในการประชุมประจำปีของกระทรวงสาธารณสุข ในที่ประชุมประมาณ 1,000 คน บุคลากรมากกว่า 95% บอกว่าควรแยกการบริหารบุคคลออกจาก กพ. เนื่องจาก กพ.ไม่มีตำแหน่ง เพราะ กพ.ไม่เข้าใจว่า งานของบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงาน 24 ชั่วโมง ตลอด 365 +1 วัน จึงกำหนดตำแหน่งไม่พอรองรับงาน ทำให้เป็นภาระของกระทรวงที่ต้องจ้างบุคลากรมาช่วยเป็นจำนวนแสนคน และลูกจ้างก็ขาดความก้าวหน้าในการทำงาน จะริออกเสมอๆ ทำให้ต้อง “ฝึก”คนใหม่อยู่ตลอด พอเก่งก็ลาออกไปอยู่เอกชน สธ.ก็ต้องฝึกคนใหม่อยู่ร่ำไป

แก้ปัญหาง่ายมาก แยกการบริหารงานบุคคลออกจากกพ.

3.ขาดมาตรฐานทางการแพทย์ ทำให้ประชาชนเสียหายและฟ้องร้อง

  สำหรับการขาดมาตรฐานทางการแพทย์ก็เพราะกระทรวงสาธารณสุข ไม่สามารถดำเนินการ “ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม(และมีความสามารถ)ในการดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้นได้เอง ทำให้จำนวนผู้ป่วยมากเกินกำลังบุคลากรที่น้อย ขาดงบประมาณทำให้ขาดเครื่องมือ เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม บุคลากรต้องรีบเร่งทำงาน จึงเสี่ยงต่อการผิดพลาด และความเสียหาย
 ปัญหานี้ก็แก้ง่ายมาก
 ถ้ารัฐมนตรีและปลัดกระทรวงทำไม่ได้  นายกรัฐมนตรีต้องหาคนใหม่ที่มีความสามารถมาทำแทน ทันที ไม่มีเวลาเหลือให้ประชาชนเสียหายต่อไปอีกแล้ว
 
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
 15 ก.พ.55