ผู้เขียน หัวข้อ: เช็กบิลเก็บภาษีรพ.เอกชน การประเมินภาษีโรงเรือนไม่มีมาตรฐาน ทำกทม.เสียหายรายได้หด-สั่งสังคายนา  (อ่าน 1032 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 7 ส.ค. 55 ที่ประชุมคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 โดยมีนายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตห้วยขวางประธานคณะกรรมการฯเป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาการจัดสรรงบประมาณในส่วนของสำนักงานเขตเป็นวันที่ 2 โดยมีเขตสวนหลวง เข้าชี้แจงเป็นเขตแรก ทั้งนี้ในที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะกรณีการจัดเก็บภาษีโรงเรือนของอาคารประเภทเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และอาคารที่มีการเปิดให้เช่าทั้งรายวันและรายเดือนในอาคารเดียวกัน เพื่อให้การจัดเก็บรายได้ของ กทม. ครอบคลุมมาก ทั้งนี้นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท กรรมการวิสามัญ กล่าวว่า การเก็บภาษีโรงเรือน ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน ที่มีการเก็บค่าบริการห้องสำหรับผู้ป่วยในราคาที่สูงมาก ในขณะที่ กทม.จัดเก็บโดยใช้ราคาประเมินที่ต่ำ เช่น ราคาห้องบางโรงพยาบาลเก็บคืนละ 2,000–3,000 บาท แต่แจ้งแค่ห้องละ 500–600 บาท ทั้งนี้กรณีดังกล่าวเคยมีคำพิพากษาของศาลตัดสินไว้แล้วว่า กทม.จะใช้ราคาจากค่าเช่าจริง ซึ่งจะทำให้ กทม.ได้รับภาษีกลับมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งปัจจุบัน โรงพยาบาลเอกชน เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องมีการรายงานงบดุลของบริษัทฯ ต่อตลาด ที่แยกเป็นรายได้จากค่าห้องมีข้อมูลที่ชัดเจนอยู่แล้วที่เขตฯ สามารถนำมาเป็นฐานในการจัดเก็บภาษี เรื่องนี้ตนเห็นว่า กทม.ถูกเอาเปรียบ เพราะบริษัทที่ทำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งมีผลกำไรสูงมาก เช่น บางแห่งผลกำไรปีละเป็นพันล้าน แต่เสียภาษีแค่ 12 ล้านบาท บางแห่งกำไรปีละ 300–400 ล้านบาท เสียภาษีปีละ 18 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้ก็เป็นข้อบกพร่องในการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่ทำให้ กทม.ไม่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ทำให้เสียรายได้ปีละ 400-500 ล้านบาท เห็นควรว่าควรจะมีเกณฑ์กำหนดให้เป็นมาตรฐานที่จะใช้ในการจัดเก็บให้เกิดประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานครให้มากที่สุด

ด้านนายกฤษฎา กลันทานนท์ ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักฯได้มีหนังสือถึงสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตให้ส่งรายละเอียดการประเมินภาษีของโรงพยาบาลในพื้นที่รายงานมายัง กองรายได้ สำนักการคลัง เพื่อจะได้ตรวจสอบว่ามีการประเมินที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากในส่วนของค่าห้องของโรงพยาบาลนั้น แต่ละแห่งจะมีค่าส่วนลดให้กับลูกค้า ไม่เท่ากัน บางแห่งให้ส่วนลด 20 เปอร์เซ็นต์ บางแห่ง 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางสำนักฯได้ให้แนวทางไปว่า นอกจากการรับรองในส่วนของราคาค่าห้องที่ออกหนังสือรับรองโดยผู้บริหารโรงพยาบาลแล้วนั้น จะต้องมีหนังสือรับรองจากทางผู้สอบบัญชีด้วย เพื่อให้เป็นฐานการประเมิน และทางสำนักฯเตรียมพิจารณาหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อกำหนดเป็นฐานในการประเมินให้กับเจ้าหน้าที่ ให้การจัดเก็บภาษีของ กทม.ได้ตรงตามความเป็นจริงและเกิดประโยชน์ต่อ กทม.ต่อไป.