ผู้เขียน หัวข้อ: เบื้องหลัง พรบคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข  (อ่าน 2158 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
เบื้องหลัง พรบคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข


นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ (พ.บ., ประสาทศัลยศาสตร์., น.บ.)


http://www.medicalprogress-cme.com/Voice/VoiceV9N10.pdf


มาจาก :- Medical Progress CME / October 2010

http://www.medicalprogress-cme.com/index.asp




ณ เวลานี้ ข่าวเรื่องการพยายามผ่าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่ถูกรณรงค์โดยมูลนิธิ เพื่อผู้บริโภคมีแพทย์น้อยคนนักที่จะไม่ทราบเรื่องนี้ เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ฟางเส้นสุดท้ายของความอดทนของ บุคลากรสาธารณสุขหลายภาคส่วนหมดลงทันที และก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็คงนึกไม่ถึงเช่นกันว่าบุคลากรสาธารณสุขโดย เฉพาะกลุ่มแพทย์ที่แต่ไหนแต่ไรมาเปรียบเหมือนลูกไก่ในกำมือในสายตาของ มูลนิธิ กลับกระโดดออกมาต่อต้านร่างกฎหมายนี้อย่างถึงที่สุด บุคลากรที่ไม่เคยรวมตัวกัน กลับสามารถรวมตัวกันได้ (แม้จะยังไม่เหนียวแน่นอย่างถึงที่สุด) และแสดงพลังออกมาให้เห็น สุภาษิตที่ว่า “รวมกันเราอยู่
แยกกันเราตาย” หรือ “สามัคคีคือพลัง” ดูจะใช้ได้ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้

ตลอด สามปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเข้าไปรับรู้เรื่องการร่างกฎหมายนี้ตั้งแต่แรกๆ และมีส่วนเข้าไปร่วมร่างและชี้แจงต่อผู้เกี่ยวข้องทั้ง สวรส. สช. สปสช. คณะกรรมาธิการสาธารณสุขของรัฐสภา คณะกรรมการกฤษฎีกา หลายต่อหลายครั้ง ไม่น่าจะต่ำกว่าห้าสิบครั้ง เรียกว่าไปจนเบื่อ ความรู้สึกกระตือรือร้นในการพยายามให้กฎหมายออกมามีหน้าตาดี ทำงานได้

กลายเป็นท้อแท้และสิ้นหวังกับกฎหมายนี้ หลายคนถามว่าทำไมกฎหมายถึงมีหน้าตาแบบนี้


แรกปฏิสนธิ

วัน แรกที่ถูกตามตัวทางโทรศัพท์จากกระทรวงสาธารณสุขให้ไปดำเนินการในการจัดทำ ร่างกฎหมายโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนและผู้ให้บริการสาธารณสุข ให้สามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการฟ้องร้อง ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีพื้นฐานหรือความรู้ในการร่างกฎหมายมาก่อนแม้จะจบปริญญาทางด้าน กฎหมายมา แต่ในการเรียนการสอนไม่เคยมีตำรา หรือวิชาใดที่พูดถึง “เทคนิคและหลักเกณฑ์การร่างกฎหมาย” ความรู้สึกแรกคือหนักใจและไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ แต่ไม่ลองไม่รู้

คณะ กรรมการที่ตั้งขึ้นมามีทั้งตัวแทนจากสภาทนายความ แพทยสภา อัยการ วันแรกที่เจอหน้าคณะกรรมการ ความรู้สึกแรกคือเราอ่อนอาวุโสที่สุด บางคนเป็นผู้อาวุโสจากสภาทนายความ (ซึ่งภายหลังมีส่วนในการว่าความเอาผิดอดีตนายกรัฐมนตรี) บางคนเคยเป็น สนช. สสร. ในการร่างรัฐธรรมนูญ หลายคนมีตำแหน่งเป็นทางการที่ค่อนข้างใหญ่โตในองค์กรของตนเอง

โจทย์ ตอนแรกคือ การจัดทำประมวลวิธีพิจารณาความที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องในมูลละเมิดและ อาญาทางด้านสาธารณสุข เมื่อประชุมกันก็ได้รับคำแนะนำจากผู้อาวุโสที่เคยมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายสบัญญัติ (ประมวลวิธีพิจารณาความ) เป็นเรื่องยุ่งยากและมักไม่ได้รับความเห็นชอบ ดังนั้นให้มุ่งไปในเรื่องกฎหมายอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง


ในขณะ เดียวกันนั้นเอง ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้กำลังจัดทำกฎหมายในลักษณะเดียวกันโดยใช้ชื่อ ว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” ซึ่งมี สวรส.เป็นแกนกลาง ส่วนคณะจัดทำมาจากภาคประชาชนเป็นส่วนใหญ่

ดังนั้นในช่วงแรกของการจัดทำจึงมีคณะทำงานอยู่สองชุด แต่จุดประสงค์คล้ายๆ กัน ระหว่าง นั้นก็มีการประชุมข้ามคณะกันเป็นบางครั้ง โดยทางฝั่งของกระทรวงสาธารณสุขจะมีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นแกนกลาง ฝ่ายของมูลนิธิจะมาใช้ที่ประชุมของ สวรส. หรือบางครั้งก็เป็น สช. เป็นหลัก ทำให้ดูเหมือนว่ามีจุดกำเนิดมาจากกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองร่าง (ซึ่งผู้เขียนก็เข้าใจเช่นนั้น) ระหว่างการประชุมเมื่อถึงมาตราสำคัญๆ ทางฝั่งมูลนิธิจะมีการนำผู้ที่เคยพบเห็นหน้าทางสื่อสาธารณะบ่อยๆ เข้ามาร่วมประชุม ซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่าไม่เหมาะสมเพราะผู้เข้าร่วมประชุมมักจะใช้อารมณ์ มากกว่าเหตุผลในการบีบให้ร่างเป็นไปตามความต้องการ


เนื้อหาของกฎหมาย


ร่างที่มาจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะ เน้นไปในเรื่องการเยียวยาผู้ป่วยในกรณีที่มีการกระทำทุรเวชปฏิบัติของแพทย์ และอาจมีการเยียวยาในกรณีเหตุการณ์สุดวิสัยแต่เป็นเรื่องรุนแรง เช่น น้ำคร่ำหลุดเข้ากระแสเลือด หรือแพ้ยารุนแรงโดยไม่ทราบมาก่อน

แนวทาง การยื่นคำขอคือการเพิ่มช่องทางให้เลือกรับเงินจากกองทุน และต้องยุติสิทธิในการฟ้องร้องทั้งหมดเมื่อผู้ฟ้องร้องได้รับเงิน เมื่อยื่นเรื่องรับเงินแล้วห้ามไปใช้ช่องทางศาลอีก เพราะต้องการส่งเสริมให้ใช้ช่องนี้เป็นหลัก แต่ก็ไม่ตัดสิทธิการฟ้อง เพียงแต่เมื่อฟ้องแล้วห้ามกลับมายื่นเรื่องขอรับเงินจากกองทุนอีก

การ พิสูจน์ว่าควรช่วยเหลือหรือไม่ ก็ดูว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบหรือไม่ (มิได้เรียกว่า ผู้เสียหาย) เพียงแต่ไม่เน้นการพิสูจน์ว่าใครเป็นคนทำผิด (พิสูจน์ผิดถูก แต่ไม่พิสูจน์ทราบคนกระทำ)


ส่วนร่างที่คลอดออกมาจาก สวรส. นั้นเน้นการเยียวยาให้รวมไปถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานแล้วแต่เกิดผลไม่พึง ประสงค์ เช่น ผ่าตัดช่องท้องที่มีพังผืดมากมายแล้วระหว่างผ่าตัดมีความเสียหายกับลำไส้ หรือท่อไต หรือการจ่ายเงินให้หากผ่าตัดแล้วมีการติดเชื้อ ซึ่งทางการแพทย์ไม่ได้เรียกว่าการกระทำให้เกิดความเสียหายแต่เรียกว่า “adverse effect” ซึ่งเกิดได้ภายใต้การรักษาตามมาตรฐาน

ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการคือ ร่าง นี้เปิดให้ผู้ที่เรียกตนเองว่าผู้เสียหายสามารถรับเงินแล้วไปฟ้องต่อได้อีก เมื่อฟ้องแล้วแพ้คดีไม่จำเป็นต้องคืนเงินและยังอาจได้รับเงินเพิ่มเติม ในกรณีที่ฟ้องแล้วชนะทางกองทุนก็ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติม ห้ามตัดสิทธิการฟ้องทุกรูปแบบ คดีอาญาก็ห้ามเว้น ถึงแม้จะทราบว่าแพทย์ไม่ได้เจตนา แต่ต้องคงไว้เพราะจะเป็นการรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งต้องเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยขยายอายุความทางแพ่งด้วยการฟ้องอาญา



ถึงเวลารวมร่างแปลงกายและปัญหาเรื่องประชาพิจารณ์

กฎหมาย ที่ได้ออกมาทั้งสองฉบับในที่สุดก็ถูกสั่งให้รวมกันเป็นร่างเดียวกันโดยคำ สั่งของรัฐมนตรีสาธารณสุขในขณะนั้น ทั้งนี้เพื่อให้กฎหมายออกเป็นฉบับเดียวในนามของกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ออก กฎหมาย เนื้อหาในกฎหมายทั้งสองมีหลายมาตราต่างกันแบบ “ขมิ้นกับปูน” เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการในสิ่งที่ขัดกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นการรวมร่างในชั้นกฤษฎีกาจึงเป็นเรื่องน่าเวียนหัว

ประเด็น เรื่องการประชาพิจารณ์นั้นเป็นที่โต้เถียงมาตลอดว่า กฎหมายนี้ของทางมูลนิธิผ่านการประชาพิจารณ์มาแล้ว ผู้เขียนยอมรับว่าไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายหรือข้อบังคับการทำประชาพิจารณ์ แต่สิ่งที่พบเห็นคือมีการจัดสัมมนาตามโรงแรมหรือสภาวิจัยแห่งชาติ (ตรงสถานีรถไฟฟ้า BTS พญาไท) เป็นครั้งคราว

สิ่งที่พบเห็นในขณะนั้น คือ ผู้ร่วมประชุมจะเป็นคนหน้าเดิม ทั้งจากกระทรวง แพทยสภาบางท่าน (ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นความบกพร่องของแพทยสภาที่ไม่สื่อเรื่องนี้ออก ไปให้กว้างขวางเหมือนกับที่สมาพันธ์วิชาชีพแพทย์หรือชมรมรพ.ศูนย์ ทำได้ในขณะนี้) ตัวแทนจากกระทรวงก็มีทั้งผู้เขียน (ซึ่งมีโอกาสพูดไม่มาก) และผู้หลักผู้ใหญ่บางท่านที่ทุ่มเทเวลาในการทำงานเพื่อช่วยเหลือเพื่อนแพทย์ และพยาบาล (แต่ติดขัดหลายอย่างที่ไม่อาจกล่าวได้)

การสัมมนาในสายตา ของผู้เขียนโดยเฉพาะที่เกิดขึ้นที่สภาวิจัยแห่งชาติ เป็นการสัมมนาหรือการประชาพิจารณ์ที่น่ากระอักกระอ่วนชนิดที่หากไม่ถูก บังคับหรือขอร้องให้ไปก็ไม่อยากไป นอกจากจะเสียเวลาแล้วยังอาจโดนเชือดคาเวทีง่ายๆ เพราะผู้ร่วมประชุมส่วนใหญ่มีความรู้เรื่องการร่างกฎหมายน้อยมาก หลายท่านเป็นชาวบ้านที่ยังไม่เคยอ่านกฎหมายนี้ทั้งฉบับ เพียงแต่รับทราบว่าจะมีกฎหมายที่ให้เงินเมื่อเกิดความไม่พอใจในผลการรักษา หลายท่านเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีในการเข้าไปรับการรักษา ซึ่งอาจมีทั้งที่ถูกและผิด แต่สิ่งที่อยู่ในใจของผู้ร่วมสัมมนาคือ ความรู้สึกเป็นลบต่อบุคลากรทางการแพทย์ ราวกับว่ากำลังจะออกกฎหมายเพื่อประหัตประหารหรือจัดการโจรในชุดขาว ทำให้ระยะหลังผู้เขียนได้แต่ไปเซ็นชื่อแล้วเดินออก เพราะประธานไม่เปิดโอกาสมากนัก คนที่ขึ้นเวทีส่วนใหญ่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะให้ใครพูดได้มากได้น้อย

แต่ ไม่ว่าอย่างไรสิ่งที่รู้สึกคือแบบนี้ไม่น่าเรียกประชาพิจารณ์ (ยกเว้นกฎหมายบัญญัติไว้ว่าใช่) แต่น่าจะเรียกว่าการสัมมนาในกลุ่มที่เป็นฝ่ายเดียวกับตน แต่มีการเชิญคนนอกเข้ามาร่วมเพื่อให้ดูว่ามีสีอื่นเข้าไปปะปน

ประธาน ในที่ประชุมหลายครั้งเป็นคนที่มีชื่อเสียง แต่เกือบทุกครั้งจะมาแค่เปิดประชุมแล้วไปงานอื่นต่อแต่ออกมาให้สัมภาษณ์ภาย หลังเป็นเรื่องเป็นราว ราวกับว่าอยู่รับฟังทุกความเห็นในห้องประชุม บางครั้งการจัดประชาพิจารณ์หรือรับฟังความเห็นก็จัดขึ้นโดยอาจารย์ มหาวิทยาลัยการเมืองที่ติดแม่น้ำซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับมูลนิธิ

ประเด็น เรื่องการประชาพิจารณ์นั้น ผู้เขียนไม่ทราบว่ากฎหมายเขียนไว้อย่างไร แต่สิ่งที่เห็นคือเป็นการสัมมนาในกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กันไม่ทางตรงก็ ทางอ้อม รู้จักกันมาก่อน บางครั้งมีการประชุมกันไปมาระหว่างหน่วยงานของแต่ละคนมีการรับเบี้ยประชุม กันไปมา คนในกลุ่มหลายคนได้รับการผลักดันให้ไปมีตำแหน่งในแต่ละหน่วยงานของแต่ละ กลุ่ม เช่น กทช. สภาวิจัยฯ สสส. สวรส. สช. ลักษณะนี้ไม่น่าจะเรียกว่า ประชาพิจารณ์ที่ควรเป็นกลาง และกลุ่มตัวอย่างน่าจะกว้างขวางกว่านี้มาก รวมทั้งไม่ควรมีความสัมพันธ์ในลักษณะนี้มาก่อน



ห้องประชุมติดแม่น้ำเจ้าพระยาทิวทัศน์ดี แต่บรรยากาศเครียด

ที่ สำนักงานกฤษฎีกา มีการตั้งคณะกรรมการเป็นกรณีพิเศษเพื่อพิจารณากฎหมายฉบับนี้ โดยมีอดีตประธานศาลฎีกาเป็นประธาน มีอดีตอัยการสูงสุด มีผู้พิพากษาศาลสูง มีอาจารย์แพทย์ที่มีคุณวุฒิทั้งทางด้านนิติเวชและกฎหมาย มาเป็นองค์ประชุม มีการเชิญตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข สปสช. อัยการ สำนักงานไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาท กระทรวงยุติธรรม มาเป็นหลัก ที่เหลือเข้ามาร่วมเป็นครั้งคราว แต่ระยะหลัง (ใช้เวลาเป็นปี) ตัวแทนแพทยสภาไม่ได้เข้ามา นัยว่าไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของท่านประธาน อีกทั้งมีภารกิจที่สำคัญอื่น

บรรยากาศวันแรกก็เคร่งเครียดแล้วเพราะเนื้อหาของสองร่างต่างกันมากจนการรวมให้เป็นเนื้อเดียวกันทำได้ยาก แค่ ชื่อกฎหมายก็ต้องเรียกว่า “ทะเลาะ”กันแล้ว เพราะทางมูลนิธิยืนยันว่า เขาและคนไข้ทั่วประเทศเป็นผู้เสียหายอันเกิดจากการกระทำของบุคลากร (ทำให้ผู้เขียนนึกในใจว่า เราเป็นแพทย์หรือเป็นโจรที่มีเจตนามาดร้ายประชาชนคนไทย)

บาง มาตราทางคณะกรรมการก็เห็นด้วยกับเรา (แต่น้อยมากๆๆ แสดงว่าคนส่วนใหญ่มองบุคลากรสาธารณสุขในภาพลบ) หลายมาตราคณะกรรมการก็ไม่เห็นด้วยกับทางมูลนิธิ

แต่สิ่งที่รู้สึกตลอดระยะเวลาเป็นปีที่สำนักงานกฤษฎีกาคือ นี่น่าจะเป็นการโต้วาทีระหว่างตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขกับมูลนิธิโดยตรง แทนที่จะเป็นการโต้วาทีระหว่างบุคลากรกับประชาชนทั่วประเทศ เพราะตลอดเวลาทางมูลนิธิทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าเขาเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ ยิ่งกว่าสส.ที่เป็นเฉพาะเขตที่ได้รับเลือกตั้ง

หลาย ครั้งก็มีการโต้เถียงกับท่านประธานอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องการไกล่เกลี่ยที่ตัวแทนมูลนิธิยืนยันหนักแน่นว่า “ไม่ต้องมี ไม่ต้องไกล่เกลี่ยใดๆ เพราะกฎหมายนี้เขียนเพื่อจ่ายเงิน ห้ามมาต่อรองราคา” แต่ ท่านประธานยืนยันหนักแน่นว่า “.....ปาก เพราะไม่ได้บังคับให้มาไกล่เกลี่ย คุณไม่อยากไกล่เกลี่ยก็ไม่ต้อง แต่ประชาชนคนอื่นอาจต้องการ ไม่ต้องมาพูดแทน อีกทั้งในกระบวนการทางศาลปกติก็มีการบังคับให้ไกล่เกลี่ยทุกรายอยู่แล้ว” วันนั้นเล่นเอาบรรยากาศอึมครึมเพราะนานๆ จะเห็นท่านประธานฟิวส์ขาด จนระยะหลังเลขาธิการมูลนิธิต้องเข้ามาคุมเกมเองเวลาพิจารณามาตราสำคัญๆ เช่น สิทธิการฟ้องต่อ

ประเด็นที่นับเป็นเรื่องร้อนอีกอย่างคือ “การระงับคดีอาญา” ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้เขียนต้องการมาก แต่ดูเหมือนว่ามีน้อยคนมากที่สนับสนุน ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าแพทย์ที่เข้าไปช่วยผู้ป่วยด้วยเจตนาสุจริตแล้วเกิดพลาด พลั้งต้องมีสิทธิถูกฟ้องอาญาได้ ตัวแทนแพทยสภาถกประเด็นเรื่องนี้อย่างหนักจนแทบจะเรียกได้ว่าเกิดอาการไม่ กินเส้นกัน ที่น่าเสียใจคือคณะกรรมการที่เป็นแพทย์ก็เห็นด้วยว่าแพทย์ที่มีเจตนาไปช่วย ผู้ป่วยย่อมสามารถถูกฟ้องได้ ให้ไปแก้ต่างในศาล “หลายคนในนั้นมองว่าการขึ้นไปแก้ต่างในฐานะจำเลยในศาลเป็นเรื่องปกติที่สุด แล้วหากแน่ใจว่าตนไม่ผิดเดี๋ยวศาลก็ยกฟ้องเอง” ฟังแล้วท้อใจมาก

ส่วน ตัวผู้เขียนน่าจะเป็นคนแรกที่หยิบยกคำว่า “ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” หรือ “Gross negligence” มาใช้ในคดีทางการแพทย์เพราะในต่างประเทศก็มีบัญญัติคำนี้

แต่ ณ เวลานั้นส่วนใหญ่เห็นว่ากฎหมายไทยไม่มีคำนี้ มีแต่ “ประมาท” หรือ “ordinary negligence” เท่านั้น เมื่อแพทย์ประมาทก็ต้องโดนฟ้องได้ (แต่ ณ เวลาที่พิมพ์บทความนี้คือ เดือนสิงหาคม พ.ศ.2553 ประเทศไทยมีบัญญัติคำว่า ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไว้แล้วในกฎหมายอย่างน้อยสองฉบับคือ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ

ซึ่ง ผู้เขียนคิดว่าน่าจะถึงเวลาหยิบยกคำๆ นี้มาใช้บัญญัติเรื่องความรับผิดทางอาญาอันมีมูลเหตุมาจากการรักษาพยาบาล ให้แยกความผิดออกเป็นสองฐานคือ ประมาทธรรมดาและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ได้แล้ว)

อีกประเด็นที่ถกเถียงกันหนักคือการรับเงินแล้วฟ้องต่อได้หรือไม่ได้ ที่สุดแล้วก็ออกมาค่อนไปทางความต้องการของมูลนิธิ

ประเด็น เรื่องสัดส่วนคณะกรรมการเป็นอีกประเด็นที่เราแพ้คนของมูลนิธิ เพราะท่านประธานมองเรื่องนี้ในลักษณะเสียงข้างมาก และคนของมูลนิธิก็ยืนยันว่าไม่ต้องมีสภาวิชาชีพหรือแพทย์เฉพาะทางมาตัดสิน แต่ให้ใช้เสียงข้างมาก (ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ผู้เขียนไม่เข้าใจว่า ทำไมตอนนี้ทางมูลนิธิถึงเปลี่ยนคำพูดว่าไม่ติดใจเรื่องสัดส่วนคณะกรรมการ บอกว่ายินยอมให้ไปแก้ในชั้นกรรมาธิการ แต่ในห้องประชุมกฤษฎีกากลับคัดค้านอย่างมาก)



ลูกที่พ่อจำไม่ได้

ที่ สุดแล้วกฎหมายนี้ก็คลอดออกจากคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เปลี่ยนชื่อเป็น “พ.ร.บ.สร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข” กฎหมายทั้งฉบับออกมาในลักษณะที่พ่อจำหน้าลูกไม่ได้ว่านี่ใช่ลูกเราหรือเปล่า

หลายมาตราขัดกันเอง หลายมาตราจะส่งผลเสียต่อระบบสาธารณสุขอย่างรุนแรง เกิดการกลายพันธุ์ (mutation) อย่างมากชนิดที่อาจจะเป็นมะเร็งร้ายที่กัดกินระบบสาธารณสุขในระยะยาว จนหากใครเป็นพ่ออาจเกิดความรู้สึกอยากทำ criminal abortion เป็นแน่

ถึง ที่สุด ณ ขณะนี้กว่าที่บทความนี้จะตีพิมพ์ คงพอเห็นทางออกกันบ้างแล้วจากการรวมกลุ่มกันของบุคลากรหลายวิชาชีพมาจัดตั้ง และทำงานร่วมกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยไม่ต้องอาศัยมูลนิธิเพื่อผู้ บริโภคหรือกระทรวงสาธารณสุข

ในอนาคตเชื่อว่าหากยังรวมตัวกัน อย่างเหนียวแน่นอยู่คงได้เห็นกฎหมายที่บัญญัติให้คุ้มครองบุคลากรสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานอย่างสุจริตตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 80(2) บัญญัติไว้