ผู้เขียน หัวข้อ: King of the Kings (บทความ ดร.วิษณุ เครืองาม) :ขอจงทรงพระเจริญ  (อ่าน 1882 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
King of the Kings (บทความ ดร.วิษณุ เครืองาม)
บทความ (part of it)
 
 
ในฐานะที่ทำงานอยู่ในทำเนียบรัฐบาลโดยหน้าที่ต่างๆกันถึง 15   ปี ผมขอยืนยันว่าพระองค์ทรงมีมาตรฐานเดียวโดยตลอด จะต่างกันก็ที่โอกาส เช่น คณะรัฐมนตรีบางคณะเข้ามาในช่วงที่ทรงพระประชวร บางคณะมีราชการงานเมืองต้องเข้าเฝ้าฯ ขอ พระราชทานมหากรุณาบ่อยหรือห่างตามเหตุการณ์
 
          ในการมีพระราชดำริ พระราชดำรัส และการทรงงานใดๆ ไม่มีเลยสักเรื่องที่จะแสดงว่าทรงรับเอาประโยชน์ส่วนพระองค์แม้พสกนิกรจะเต็มใจถวาย
 
          สมัยจอมพลถนอมเป็นนายกฯ คราวหนึ่งประจวบโอกาสครองราชย์ครอบ 25 ปี (พ.ศ. 2514) รัฐบาลจะสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และถาวรวัตถุใหญ่โต “ ที่สุดในประเทศ ” ถวาย รับสั่งว่า “สิ้นเปลืองและไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน สร้างถนนกันรถติดดีกว่า”  นี่คือที่มาของ “ถนนรัชดาภิเษก”
 
          สมัยคุณบรรหารเป็นนายกฯ เคยกราบบังคมทูลว่า จะสร้างทาวเวอร์หรือหอคอยสูงใหญ่ข้างสะพานพระราม 9 ใช้เป็นหอดูวิว หอโทรคมนาคม และเฉลิมพระเกียรติ รับสั่งว่า “เทคโนโลยีสมัยนี้ไม่ต้องสร้างหอโทรคมนาคมและเปลืองเงินเปล่าๆ ”
 
          นายกฯคนหนึ่งเคยกราบบังคมทูลถามว่า   ที่พระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ หน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น ตอนพลบค่ำคนมักมาจุดประทัดแก้บน   บางทีก็ยิง ปืนสนั่นหวั่นไหว ดังรบกวนมาถึงสวนจิตรฯ หรือไม่ รับสั่งว่า “อยู่ที่หลักการว่าทำอย่างนั้นผิดกฎหมายไหม ถ้าผิดก็ต้องห้าม แต่ถ้าเป็นเสรีภาพก็ต้องปล่อยไป รำคาญหนวกหูก็ต้องทน อย่าใช้มาตรฐานสวนจิตรฯ หรือทำเนียบรัฐบาลมาตัดสิน ”
 
          สมัยนายกฯทักษิณ เคยกราบบังคมทูลว่า
            เมื่อประทับรักษาพระองค์ที่วังไกลกังวลอย่างนี้ รัฐบาลจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักพระราชวังปรับปรุงวังไกลกังวล ให้สะดวกสบายสมกับที่จะใช้เป็นที่ประทับยาวนาน รวมทั้งจะปรับปรุงโรงพยาบาลหัวหินให้ทันสมัยพร้อมทุกประการ
            รับสั่งว่า  การปรับปรุงโรงพยาบาลเป็นประโยชน์แก่ทุกคนถ้ามีงบก็ควรทำ แต่การปรับปรุงวังไกลกังวลเป็นเรื่องพระสำราญ “ แค่นี้ก็พออยู่พอเพียงแล้ว ”
 
 
            รัฐบาลหลายคณะ เคยออกกฎหมายที่มุ่งจะเฉลิมพระเกียรติเช่นมีคำว่า “ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ”
            มีพระราชกระแสให้รัฐบาลนำกลับไปปรับปรุงเพราะ   “ ไม่อาจทรงสถาปนาพระองค์เองได้ ”  เช่นเดียวกับที่ใน พ.ศ. 2512   ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ในร่างพระราชบัญญัติยศทหารซึ่งถวายพระยศ ทางทหารเป็น จอมพล จนร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไปเองในที่สุด
 
          รัชกาลนี้ทรงลงพระปรมาภิไธยตรากฎหมายมาแล้ว ทั้งที่เป็นพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกานับหมื่นฉบับ ทรงวินิจฉัยฎีกานักโทษ ฎีการ้องทุกข์ขอพระราชทานความเป็นธรรมอีกหลายพันราย บางรายขอพระราชทานยืมเงิน บางรายขอความเป็นธรรมเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย
 
          รายหนึ่งพ่อตายลูกชายบวชหน้าไฟให้พ่อ อยู่มาก็ไม่ยอมสึก แม่มีลูกชายคนเดียวทำหนังสือถวายฎีกาว่าเดือดร้อนหนัก ขอพระมหากรุณาให้ลูกสึกมาช่วยเลี้ยงแม่เถิด โปรดให้ตรวจสอบแล้วมีพระราชกระแสว่า แท้จริงแม่ไม่ได้อยากให้ลูกสึก แต่ปัญหาคือแม่ลำบากยากจน จึงโปรดให้กรมประชาสงเคราะห์เข้าไปช่วยดูแล สอนอาชีพให้และหาเครื่องมือทำมาหากินไปให้แม่ ลงท้ายแม่ก็ทำมาหากินได้ ส่วนลูกก็อยู่ไปจนเป็นสมภาร
 
 
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงสงเคราะห์ทั้งส่วนรวมและพระองค์เองเพื่อจะได้มีพระอนามัยดี ทรงงานเพื่อส่วนรวมต่อไป จึงทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ทรงเล่นคอมพิวเตอร์ ทรงฉายภาพ ทรงกีฬา ทรงวาดรูป ปั้นรูป ทรงงานไม้งานช่าง จะทรงจับงานด้านใดก็ทรงทำได้ดี
 
 
          ที่คนไม่ใคร่ทราบคือ ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษในเรื่องภาษาไทย การศึกษา ระบบสิ่งแวดล้อม การสาธารณสุข และพุทธศาสนา ส่วนที่ทรงพระปรีชาทางดิน น้ำ ระบบระบายน้ำ และการแก้ปัญหาจราจรนั้นเป็นที่ทราบทั่วไปอยู่แล้ว
 
 
          เมื่อครั้งยังเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผมเคยได้รับพระมหากรุณาพระราชทานคำแนะนำเรื่องการใช้ถ้อยคำภาษาไทยหลายหน 
            ครั้งหนึ่งได้ถวาย “ รายชื่อ ” บุคคลให้ทรงแต่งตั้ง รับสั่งถามว่า ตั้งกี่คน ผมกราบบังคมทูลว่าคนเดียว ตรัสว่าคนเดียวเรียกว่า “ ชื่อ ” ถ้า “ ราย ชื่อ ” ต้องหลายคน
 
 
            อีกคราวหนึ่ง มีหนังสือกราบบังคมทูลว่า   “ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมมาเพื่อทรงพิจารณา ” ทรงพระสรวลตรัสว่า “ ถ้าทูลเกล้าทูลกระหม่อมก็อยู่บน กระหม่อมยังไม่ถึงฉัน ถ้าจะให้ถึงฉัน ต้องทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายมาเพื่อทรงพิจารณา ”
 
          ในทางพระพุทธศาสนาก็ปรากฎว่าทรงรอบรู้ทั้งในทางปฎิบัติและปริยัติ ทรงรู้จักพระเป็นอันมาก เมื่อตรัสถึงเหตุการณ์ครั้งใดจะทรงย้อนไปถึงเรื่องราวครั้งเก่าก่อน เช่น   “ ครั้งสมเด็จพระสังฆราชยังเป็นพระญาณวราภรณ์ ” “ ครั้นเจ้าคุณประยุทธยังเป็นพระราชวรมุนี ” 
            และเคยตรัสเล่าเรื่องราวความเป็นอัคร ศาสนูปถัมภก ว่า ต้องทรงอุปถัมภ์ และคุ้มครองทุกศาสนา โดยไม่เลือกปฎิบัติ ทรงเล่าพระราชทานว่า ครั้งหนึ่งควีนจากประเทศหนึ่งทูลถามว่า พุทธศาสนาไม่มีพระเจ้าแล้วชาวพุทธนับถืออะไรกัน เหตุใดไม่ยกพระพุทธเจ้าเป็น god เสียเลย
            ได้ทรงตอบว่า พุทธศาสนานับถือ “ ธรรม ” เรานับถือธรรมยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าเสียอีก เพราะธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองโลก และได้ตรัสเล่าต่อไปว่า แม้ศาสนาอื่นก็ยังต้องทรงอุปถัมภ์ ฉะนั้นในฝ่ายพุทธศาสนาขอให้ทุกคนวางใจเถิดว่า จะเป็น เถรวาท มหายาน รามัญนิกาย มหานิกาย ธรรมยุต ก็ต้องทรงคุ้มครองและพระราชทานความเป็นธรรมเสมอกัน

.........................................