ผู้เขียน หัวข้อ: ความรู้ที่ถูกจองจำ: หนังสือต้องห้ามในราชวงศ์ชิง  (อ่าน 1951 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
“หนังสือ มิใช่เป็นเพียงสิ่งบรรจุข้อมูลข่าวสารความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษย์ และแฝงคุณค่าสำคัญบางอย่างอยู่ในอักขรวิธี เมื่อรัฐต้องการสร้างกลไกควบคุมอุดมการณ์บางอย่าง จึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า หนังสือต้องห้าม”
       
       รศ.ดร.พัชนี ตั้งยืนตรง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเรื่องก่อนเข้าสู่การประชุมวิชาการในหัวข้อ “เหตุเกิดราชวงศ์ชิง” (9 ก.ค. 2554) ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องประชุมประกอบหุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายใต้ความร่วมมือของโครงการจีนศึกษา ศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และ โครงการปริญญาโทวัฒนธรรมศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
       
       สำหรับราชวงศ์ชิง (แมนจู) ที่สามารถครองแผ่นดินจีนอยู่ได้นานถึง 200 กว่าปี (พ.ศ.2187-2406) โดยชนเผ่าชาติพันธุ์อื่นที่ชาวจีนฮั่นขนานนามว่า “อนารยชน” นั้น ผู้ปกครองแมนจูจึงจำต้องใช้กลวิธีบางประการมาสยบชาวจีนฮั่น ทั้งนี้งานศึกษาหลายชิ้นระบุว่า กษัตริย์แมนจูใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ กล่าวคือ สำหรับผู้ที่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามก็สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ แต่หากใครแข็งขืน ก็จะต้องโทษรุนแรง ดังกรณีตัวอย่างการโกนผมครึ่งหัวแล้วไว้ผมเปีย เมื่อราชวงศ์ชิงสถาปนาอำนาจ บุรุษเพศมีทางเลือก 2 ทางคือ จะยอมให้ตัดผมครึ่งกบาล หรือจะให้ตัดศีรษะ
       
       นอกจากไม้แข็งและไม้นวมอันเป็นเครื่องมือที่ใช้อย่างกว้างขวาง ยังมีอีกไม้หนึ่งที่ รศ.พัชนี สนใจศึกษา นั่นก็คือองค์ความรู้ หรือ “หนังสือ”
       
       รศ.พัชนีชี้ว่า รัฐทั้งหลายจะมีเสถียรภาพอยู่ได้ต้องใช้กลไกหนึ่งคือ การปราบปราม โดยกลไกการปราบปรามนี้ ยังแบ่งเป็นการปราบปรามด้วยกำลัง และการปราบปราบด้านอุดมการณ์ สำหรับหนังสือต้องห้ามเป็นกลไกทางอุดมการณ์ที่ราชวงศ์ต่าง ๆ ของจีนให้ความสำคัญ ดังเช่นราชวงศ์ฉิน (ก่อนค.ศ. 221-202 ปี) ที่มีการเผาตำรา สังหารบัณฑิตขงจื่อ เพื่อควบคุมความคิดประชาชนให้สยบใต้อำนาจจักรพรรดิ ขณะที่ราชวงศ์ชิง รศ.พัชนีพบว่า มีการควบคุมหนังสือต้องห้ามมากที่สุด จึงอาจกล่าวได้ว่า หนังสือบางประเภทที่รัฐเห็นว่าทรงพลานุภาพสั่นสะเทือนเสถียรภาพของรัฐ ก็จำต้องคุมให้อยู่หมัด
       
       เมื่ออนารยชนอย่างแมนจู ขึ้นครองบัลลังก์มังกร ย่อมหวาดระแวงอำนาจเก่าคือทายาทแห่งราชวงศ์หมิงที่ถอยร่นมาอยู่ทางตอนใต้ เรียกว่า “หนานหมิง” จะหวนกลับมาทวงคืนอำนาจ และในการผนึกและรักษาอำนาจผู้ปกครองชิงได้ปฏิบัติการสร้างอัตลักษณ์ “จีน” ขึ้นใหม่ อันดับแรกคือ ปรับมโนทัศน์ให้แมนจูครองอำนาจโดยชอบธรรม จักรพรรดิแมนจูจึงไม่ลังเลที่จะรับวัฒนธรรมฮั่น เพื่อให้กลายเป็นโอรสสวรรค์อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ด้วยมีอาณาเขตกว้างใหญ่มากที่สุดยุคราชวงศ์หนึ่ง ครอบคลุมดินแดนของต่างชนชาติต่างวัฒนธรรมไกลไปทางตะวันตกถึงซินเจียงของชนชาติอุยกูร์ที่นับถือมุสลิมทั้งมีความใกล้ชิดกับชนชาติในเอเชียกลางมากกว่า และชนชาติทิเบตที่มีวัฒนธรรมแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เป็นต้น ดังนั้น จึงสร้างรัฐพหุชาติพันธุ์แห่งชาวฮั่นและไม่ใช่ฮั่น และรัฐพหุวัฒนธรรมของชุมชนขงจื่อและชุมชนที่ไม่ใช่ขงจื่อ ไม่ว่าจะนับถือขงจื่อ อิสลาม หรืออื่น ๆ ก็สามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้กฎหมายราชสำนักชิง ทั้งนี้ ขงจื่อให้คุณค่าแก่สถาบัน ทำให้จีนจีนปกครองด้วยระบบจักรพรรดิมาได้หลายพันปี
       
       ภายใต้กระบวนการครองบัลลังก์มังกรของราชวงศ์ชิง การควบคุมทางความคิดก็เป็นสิ่งที่มิอาจเลี่ยง ราชสำนักชิงปราบปรามหนังสือต้องห้ามด้วยการสั่งห้าม บ้างก็ทำลาย หรือไม่ก็ฟ้องร้องคดี โดยองค์ความรู้ที่ถูกพันธนาการเหล่านั้น ได้แก่ หนังสือที่อาจกระตุ้นความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ หนังสือที่เสนอแนวคิดต่อต้านอำนาจการปกครอง และเนื้อหาที่สั่นสะเทือนศีลธรรมอันดีงามของสังคม ดังเช่น หนังสือ “หนานซานจี๋” ของไต้หมิงซื่อ เขาเขียนประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิง ซึ่งกล่าวยกย่องหนานหมิง และการสังหารจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิงไว้ด้วย ทำให้ท้ายที่สุด ไต้หมิงซื่อถูกประหารชีวิต และลูกหลานญาติพี่น้องต่างต้องอาญาโทษฐานพัวพันกันทั่วหน้า
       
       นอกจากนั้นยังมีหนังสือในกลุ่มสี่ยอดวรรณกรรม “หงโหลวเมิ่ง” ฉบับพากย์ไทยใช้ชื่อเรื่อง “ความฝันในหอแดง” แปลโดยวรทัศน์ เดชจิตกร เล่าเรื่องความตกต่ำของขุนนางสะท้อนความเสื่อมทรามของสังคมศักดินาจีน เล่มนี้ก็จัดเป็นหนังสือต้องห้ามด้วย ยังมีเรื่อง “สุยหู่จ้วน” ฉบับพากย์ไทยมีชื่อ ได้แก่ “ซ้องกั๋ง: 108 ผู้กล้าหาญแห่งเขาเหลียงซาน” “ซ้องกั๋ง: วีรบุรุษเขาเหลียงซาน” ซึ่งสะท้อนให้เห็นเหล่าวีรบุรุษที่ถูกกดขี่ไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ไปรวมตัวกันบนเขาเหลียงซานปล้นสะดมไปช่วยคนจน เล่มนี้ก็กลายเป็นหนังสือต้องห้ามเพราะอาจเป็นแบบอย่างให้ปัญญาชนจีนหนีเข้าป่าซ่องสุมกำลังมาโจมตีราชสำนักได้
       
       หนังสือต้องห้ามอันดับต่อๆมา ได้แก่ หนังสือ “ซีเซียงจี้” หรือ “บันทึกหอตะวันตก” จารีตที่ชายจีนโดยทั่วไปถือปฏิบัติกันคือ การสอบจองหงวนและการแต่งงาน แต่วรรณกรรมเรื่องนี้แสดงเสรีภาพทางความรักอันขัดต่อขนบเดิม ทางการเกรงว่าหนุ่มสาวจะนำมาเป็นแบบอย่างและทำลายความสงบเรียบร้อยของสังคม ส่วนอีกเล่มอันเป็นที่รู้จักกันดีก็คือ “โย่วผู่ถวน” (หรือ อาสนะแห่งเลือดเนื้อ) ฉบับพากย์ไทยมีชื่อว่า “บัณฑิตก่อนเที่ยงคืน” แปลโดยชลันธร และยังถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อ Sex and Zen เรื่องนี้ถูกห้ามเพราะราชสำนักเห็นว่าทำลายศีลธรรมอันดีงามของสังคมและเป็นอันตรายต่อสถาบันครอบครัว และ “จินผิงเหมย” ฉบับพากย์ไทยมีชื่อว่า “บุปผาในกุณฑีทอง” แปลโดยยาขอบ เรื่องนี้สะท้อนภาพสังคมหย่อนยานในสมัยราชวงศ์หมิง มีการบรรยายบทสังวาสอย่างพิสดาร ก็ถูกสั่งกลายเป็นหนังสือต้องห้าม เพราะเกรงจะทำลายศีลธรรมอันดีงามเช่นกัน
       
       โทษทัณฑ์สำหรับผู้เขียน ผู้จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองก็แตกต่างกันไป มีตั้งแต่ ประหารชีวิต จำคุก ปลดจากตำแหน่ง โบย เนรเทศ คดีที่เกิดจากหนังสือต้องห้าม รศ.พัชนี เรียกว่า “อาชญาทางภาษา” ในสมัยจักรพรรดคังซี หย่งเจิ้ง และเฉียนหลง ดำเนินนโยบายหนังสือต้องห้ามแรงที่สุด มี“อาชญาทางภาษา”มากถึง 70 กว่าคดี สำหรับบางคนที่ต้องโทษประหารแม้เสียชีวิตไปแล้ว ศพก็ถูกขุดขึ้นมาทำลาย และครอบครัวต้องเป็นผู้รับราชอาชญาแทน
       
       อย่างไรก็ดี ราชวงศ์ชิงก็มีกลไกรวบรวมหนังสือที่ “ไม่ต้องห้าม” จัดออกเป็น 4 หมวด ได้แก่ ปรัชญาขงจื่อ ประวัติศาสตร์ ปรัชญาสำนักอื่น ๆ และหมวดเบ็ดเตล็ด เรียกว่า ประมวลสาส์นสี่พระคลัง รศ.พัชนีชี้ว่า กลไกประมวลสาส์นนี้ทำหน้าที่ควบคุมทางความคิดโดยปลูกสร้างทัศนคติให้เอื้อแก่การปกครองของรัฐ
       
       ความสำเร็จในการครองบัลลังก์มังกรของชาวแมนจูโดยทำให้ชาวฮั่นยอมสยบอยู่ได้นั้น เกิดมาจากการสร้างกลไกทางการเมืองและวัฒนธรรม ทั้งนี้ “หนังสือ” หรือองค์ความรู้ เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งสำหรับการครองอำนาจ จึงอาจกล่าวได้ว่า ...“อำนาจ ก็คือการผูกขาดความรู้ด้วยนั่นเอง” รศ.พัชนีทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ.

ชัยพร พยาครุฑ    ASTV online 16 กันยายน 2554