แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - science

หน้า: 1 [2] 3 4 ... 12
18
“สตาร์บัคส์” อีกหนึ่งร้านกาแฟยักษ์ใหญ่ระดับโลก และเชื่อว่าต้องเป็นแบรนด์กาแฟในดวงใจของใครหลายๆ คน ทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่าตั้งแต่ปี 1987 มา สตาร์บัคส์มีการปิดสาขาใหม่เฉลี่ย 2 สาขา/วัน และยังมีความลับของสตาร์บัคส์อีกหลายอย่างที่คุณอาจะไม่เคยรู้

1. สตาร์บัคส์มีเมนูลับด้วยนะ

ด้วยเทรนด์ของเชนร้านอาหารในประเทศสหรัฐอเมริกา (ร้านอาหารที่มีสาขา) ส่วนใหญ่จะมี “เมนูลับ” เป็นของตัวเองทั้งสิ้น เช่น ร้าน In-n-Out burger, Jamba Juice และ Chipotle สตาร์บัคส์จึงต้องเพิ่มเมนูลับให้กับแบรนด์ตัวเองบ้าง เป็นทั้งเครื่องดื่มกาแฟสูตรพิเศษ รวมไปถึงเมนูแปลกๆ อย่าง Cotton Candy Frappuccino และ Chocolate Pumpkin Latte นับว่าเป็นเมนูที่สร้างความว้าวได้เหมือนกัน

2. คุณสามารถสั่งเครื่องดื่มแบบ “ช็อต” ได้

หากเคยมองไปที่เมนูของสตาร์บัคส์แล้ว อาจจะเห็นแค่ว่าทางร้านมีเครื่องดื่มเพียงแค่ 3 ขนาดที่ระบุไว้ นั่นคือ Tall (12 ออนซ์), Grande (16 ออนซ์) และ Venti (20 ออนซ์) แต่คุณรู้หรือไม่ว่าทางสตาร์บัคส์มีอีกหนึ่งขนาดที่ไม่ได้ระบุไว้ในเมนูก็คือขนาดแบบช็อต (8 ออนซ์) นั่นเอง ซึ่งขนาดนี้ไม่ใช่เพียงแค่ราคาถูกกว่าขนาดอื่นเท่านั้น แต่ยังได้เครื่องดื่มที่เข้มข้นอีกด้วย เหมาะสำหรับคนที่ต้องการความรวดเร็วและราคาเบาๆ

3. ที่มาของชื่อ “สตาร์บัคส์”

สตาร์บัคส์เป็นชื่อที่ตั้งตามตัวละครจาก Moby Dick (โมบี้ ดิ๊ก) เป็นหนังสือที่โด่งดังมากในปี 1851 ผลงานโดย Herman Melville ซึ่งชื่อสตาร์บัคส์เป็นชื่อของหัวหน้าคู่หนุ่มสาวที่แล่นเรือ Pequod ซึ่งแต่เดิมผู้ก่อตั้งสตาร์บัคส์เคยได้พิจารณาจะตั้งเป็นชื่อ "Pequod" ด้วย

4. ใช้แต่โต๊ะกลมเท่านั้น

การจัดร้านก็เป็นอีกหัวใจหลักสำคัญของสตาร์บัคส์ หลายสิ่งหลายอย่างเขาต้องมั่นใจได้ว่าลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่ดีจริงๆ กลับไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่ร้านสตาร์บัคส์ส่วนใหญ่จะมีแต่ “โต๊ะกลม” นั่นเป็นเรื่องของความรู้สึก เพราะเหตุผลที่ว่าโต๊ะกลมจะให้ความรู้สึกเหงาเวลาดื่มกาแฟคนเดียวน้อยลง

5. สตาร์บัคส์แจกกากกาแฟแบบฟรีๆ

เชื่อว่ามีน้อยคนนักที่จะรู้เรื่องนี้ ซึ่งสตาร์บัคส์จะมีโครงการที่ว่า “Grounds For Your Garden” เพียงแค่ไปติดต่อร้านสตาร์บัคส์ในพื้นที่เพื่อของรับกากกาแฟที่พวกเขาใช้แล้ว โดยจะให้ในขนาด 5 ปอนด์ สามารถนำไปทำสวนได้อย่างสบาย ใช้ได้ทั้งกับพืชสวน และเป็นปุ๋ยหมัก ซึ่งกากกาแฟจะมีไนโตรเจนประมาณ 1.45% อีกทั้งยังมีแมกนีเซียม แคลเซียม โพแทสเซียม และแร่ธาตุอื่นๆ โครงการนี้ยังเป็นการช่วยลดขยะได้อีกด้วย

Wed, 2015-01-21
http://www.positioningmag.com/content/59200

19
แนวทางและวิธีการจัดการขยะในกรุงเทพฯ ล่าสุดผู้บริหารระดับสูง กทม.รับลูกสภากทม. เตรียมออกนโยบายการแปรสภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าขยะ ขณะเดียวกันก็เดินหน้าก่อสร้างเตาเผาขยะเพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า พร้อมแนวทางร่วมมือทั้ง 50 เขต รณรงค์การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางโดยเริ่มที่ตลาดสด
       
       ปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร จัดสรรงบประมาณในการจัดการขยะเป็นงบประมาณที่สูงสุดหากเทียบกับงบในส่วนอื่น อีกทั้งค่าจัดเก็บขยะตามบ้านเรือนหลังละ20 บาทต่อเดือน กทม. ก็ได้กลับมาเพียง 400 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยมาก จึงจำเป็นต้องไปดึงภาษีจากส่วนอื่นมาใช้ในการจัดการขยะ

        จุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าแนวทางการจัดการปัญหาขยะของกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับนโยบายในการจัดการขยะมาอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดไว้ในแผนการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556-2560 ในการทำให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งสีเขียว จะเห็นว่าที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมและรณรงค์การลดและคัดแยกขยะจากต้นตอแหล่งกำเนิด
       แนวโน้มขยะกทม. เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
       แต่จากข้อมูลการจัดเก็บขยะ กลับพบว่ากรุงเทพฯ มีขยะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2557 มีปริมาณมูลฝอยเก็บขนได้ประมาณ 12,500 ตัน/วัน ซึ่งต่ำกว่าข้อมูลการศึกษาของ JBIC (Japan Bank For International Cooperation) ที่คาดการณ์ว่าในปี 2557 จะมีขยะเกิดขึ้น 13,425 ตัน/วัน
       อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าใกล้เคียงกับความเป็นจริงเมื่อเทียบกับประชากรในกรุงเทพมหานครกว่า 10 ล้านคน ซึ่งแต่ละคนนั้นผลิตขยะคนละ 1.5 กิโลกรัม/วัน เราจึงมีความพยายามที่จะต้องสร้างจิตสำนึกและช่วยกันลดขยะตั้งแต่ต้นทางให้มากขึ้น
       จึงจะต้องมีการแก้ปัญหาที่ต้นทางไม่ใช่ปลายทางด้วยการแนะนำให้ประชาชนลด ปริมาณขยะ ด้วยการนำสิ่งของใช้แล้วมารีไซเคิลใหม่ รวมถึงในอนาคตจะมีการสร้างศูนย์การเรียนรู้รีไซเคิลขยะให้ประชาชนศึกษาวิธี จัดการขยะในบ้าน
       ทั้งนี้ ในแต่ละวันเมื่อมีการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่แล้วจะเหลือขยะประมาณ 9,900 ตัน/วัน โดยจะนำไปไว้ที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร 3 แห่ง ซึ่งได้กำจัดด้วย 2 วิธี คือ 1.หมักทำปุ๋ย (Compost) ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช จำนวน 1,200 ตัน/วัน คิดเป็น 13% จากขยะทั้งหมด 2.ฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะประมาณ 7,500 ตัน/วัน หรือ 87% โดยศูนย์ที่อ่อนนุชนำไปฝังกลบ 2,800 ตัน/วัน ศูนย์ที่หนองแขมนำไปฝังกลบ 3,500 ตัน/วัน และศูนย์ที่สายไหมนำไปฝังกลบ 2,400 ตัน/วัน นอกจากนี้ ในส่วนของขยะติดเชื้อที่มีประมาณ 30 ตัน/วัน จะมีการทำลายทุกวัน ส่วนขยะอันตราย อาทิ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย จะทำลายทุก 15 วัน

        ตั้งเป้าลดขยะฝังกลบเหลือ 50 %
       ล่าสุด กทม.วางเป้าหมายลดขยะที่จะนำไปฝังกลบให้ได้ และเหลือนำไปฝังกลบเพียง 50% ในอีก 18 ปีข้างหน้า จึงมีโครงการก่อสร้างโรงงานเตาเผาพลังงานความร้อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 300 ตัน/วัน ที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม ซึ่งมีกำหนดเสร็จในปี 2558 การก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้การคัดแยกขยะขนาด 300 ตัน/วัน และโรงงานหมักปุ๋ยขนาด 600 ตัน/วันที่ศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุช การศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างโรงงานเตาเผาพลังงานความร้อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 2,000 ตันที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม และเดินระบบโรงงานแปรรูปวัสดุก่อสร้างขนาด 500 ตัน/วันที่อ่อนนุช
       ขณะเดียวกันวิธีการจัดเก็บขยะนั้น กทม.มีนโยบายให้ทุกเขตจัดเก็บขยะทุกวันในถนนสายหลัก ในเวลา 20.00-05.00 น. และให้เก็บให้เสร็จก่อน 06.00 น. ทั้งนี้ จะมีจุดที่เป็นจุดอับ ซึ่งรถขยะของสำนักงานเขตไม่สามารถเข้าถึงได้ ประมาณ 300 ชุมชน โดยชุมชนเหล่านี้ได้ตั้งเจ้าหน้าที่อาสาชักลากขยะ ทำหน้าที่ นำขยะออกจากชุมชนมาไว้ในจุดที่รถขยะของกทม.เข้าถึง
       นอกจากนี้ แนวทางสร้างสรรค์ กรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครสีเขียว ยังได้เดินหน้าแผนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในปี 2558 ให้เป็นไปตามเป้าหมายและนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติมอีก 5,000 ไร่ ในช่วงดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 โดยขอให้สำรวจพื้นที่ใต้ทางด่วน และบริเวณจุดขึ้นลงทางด่วนในเขตที่จะสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ รวมถึงประสานงานกับกรรมการหมู่บ้านจัดสรรต่างๆ เพื่อเข้าไปดำเนินการปรับปรุงพื้นที่สวนสาธารณะส่วนกลางในหมู่บ้านที่ปล่อยรกร้างไม่มีผู้ดูแล อีกทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่เขตชั้นในให้มากขึ้น เน้นทำสวนแนวตั้งหรือสวนดาดฟ้าอาคารสูงต่างๆ โดยประสานกับเจ้าของอาคาร คอนโด อาคารชุด

เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่โรงกำจัดขยะมูลฝอย เขตสายไหม พล.ต.ท.ธีระศักดิ์ ง่วนบรรจง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภากทม. เป็นประธานประชุมติดตามนโยบายโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยท่าแร้ง (สายไหม) และการแก้ไขปัญหาขยะของสำนักสิ่งแวดล้อม โดยมีสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

        ยุทธศาสตร์เพิ่มมูลค่าขยะ
       กทม.ต้องมีการแก้ปัญหาที่ต้นทางไม่ใช่ปลายทางด้วยการแนะนำให้ประชาชนลด ปริมาณขยะ ด้วยการนำสิ่งของใช้แล้วมารีไซเคิลใหม่ รวมถึงในอนาคตจะมีการสร้างศูนย์การเรียนรู้รีไซเคิลขยะให้ประชาชนศึกษาวิธี จัดการขยะในบ้าน
       พล.ต.ท.ธีระศักดิ์ ง่วนบรรจง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภากทม. บอกว่า ขณะนี้เสนอให้กทม.เน้นนโยบายการแปรสภาพเพิ่มมูลค่าของขยะ ซึ่งขณะนี้โรงกำจัดขยะหนองแขมได้เริ่มก่อสร้างเตาเผาขยะเพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ส่วนโรงกำจัดขยะหนองแขมและอ่อนนุช ได้มีโครงการนำขยะพวกวัชพืชกิ่งไม้มาทำปุ๋ยอินทรีย์ สามารถผลิตได้วันละ 100 ตันต่อวัน แต่จากรายงานพบว่ายังผลิตได้ไม่ถึงเป้าเนื่องจากปริมาณกิ่งไม้ยังมีไม่มากพอ จึงแนะนำให้เจ้าหน้าที่ไปสร้างความเข้าใจกับประชาชนเมื่อตัดกิ่งไม้ต้นไม้ไม่ควรนำมาเผาทิ้ง แต่ให้แจ้งมายังกทม.เพื่อจะได้เข้าไปบริการจัดเก็บให้ ซึ่งปุ๋ยที่ได้จะนำมาใช้ตามสวนสาธารณะของกทม. ทำให้ประหยัดงบได้หลายสิบล้านบาทต่อปี ซึ่งในอนาคตเห็นว่าการแปรสภาพขยะมาเพิ่มมูลค่าเป็นแนวทางที่จะช่วยประหยัดงบ ประมาณได้ ทั้งนี้จะนำข้อมูลไปหารือกับส.ก. เพื่อผลักดันเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมให้สอดคล้องรัฐบาลต่อไป
       พร้อมกันนี้ได้เสนอแนวทางให้ 50 เขต ร่วมรณรงค์การคัดแยกขยะที่เกิดจากตลาดสดต่างๆ โดยทาง กทม.จัดนำถังขยะไว้บริการเพื่อคัดแยกขยะแต่ละประเภท และเสนอให้ดูแลสวัสดิการสุขภาพของเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับขยะ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีในการทำงาน นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้กทม.กำหนดนโยบายจัดตั้งโรงงานหรือธนาคารขยะ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนคัดแยกขยะแล้วนำมารีไซเคิลขายให้กับธนาคาร เพื่อเป็นรายได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปริมาณขยะอีกทางหนึ่ง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    20 มกราคม 2558

20
ระวัง ! ตู้เย็นทำลายคุณค่าผัก & ผลไม้ ฟังดูแล้วทะแม่งๆ ใช่ไหม
 
ปกติแล้วเรารู้เพียงว่า เมื่อซื้อผักผลไม้มาแล้ว ดูเหมือนวิธีที่เราคิดว่าดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด คือนำของทุกอย่างเก็บไว้ในตู้เย็น แต่เชื่อไหมว่า ตู้เย็นที่ให้ความเย็นมากเกินไป กลับกลายเป็นที่ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับการเก็บผักผลไม้สดบางชนิด
 
Zoe Wilson กับ Vanessa Hattersley สองนักกำหนดอาหารกล่าวว่า การยืดอายุผักผลไม้และรักษาคุณค่าทางอาหารให้ได้ครบถ้วนนั้น จำเป็นต้องรู้หลักการเก็บรักษาง่ายๆ บางอย่างด้วยเช่นกัน
 
พริกหวาน
จัดว่าเป็นผักคู่ครัวที่มักซื้อติดบ้านไว้เสมอ มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก เพราะมีวิตามินซีและเบตา–แคโรทีนสูงมาก โดยเฉพาะพริกแดงยังมีไลโคปีนสูงด้วย Hattersley เตือนว่า “หากพริกหวานของคุณเริ่มเหี่ยว อย่าเพิ่งโยนทิ้ง ให้หั่นเป็นชิ้นใหญ่ๆ แล้วใส่ในหม้อซุป สตู หรือสปาเกตตีซอสเนื้อ”
 
ส่วน Wilson ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “พริกหวานเป็นผักที่ไวต่อความเย็นเช่นเดียวกับถั่วและพริกขี้หนู เพื่อป้องกันไม่ให้พริกหวานได้รับความเย็นจัดจนกลายเป็นน้ำแข็งและนิ่มเละจนใช้ไม่ได้ ให้เก็บไว้ในตู้เย็นบริเวณที่ไม่เย็นจัดหรือมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณอื่น”
 
ผักสลัด
ระวังอย่าเก็บผักสลัดในที่เย็นจัดเป็นอันขาด ยิ่งผักมีใบเขียวเข้มมากเท่าใด คุณค่าทางอาหารยิ่งสูงขึ้นเพียงนั้น และมีคุณค่าทางอาหารที่หลากหลายแตกต่างกันในแต่ละชนิด เช่น ผักโขมอุดมไปด้วยวิตามินซี เอ และแมงกานีส ขณะที่วอเตอร์เครสมีวิตามินซีและเอสูง ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งพลังงานที่มีคุณค่าทางอาหารมาก เพราะเชื่อกันว่ามีสรรพคุณในการต่อต้านมะเร็ง
 
ผักสลัดประเภทผักกาดหอม ต้องเก็บในถุงพลาสติก มีรู แล้วเก็บในลิ้นชักตู้เย็น โดยวางไว้บนสุดเสมอ หากเอาของอื่นไปทับจะทำให้ผักกาดหอมช้ำเละอย่างรวดเร็ว
 
Hattersley ย้ำว่า ให้บริโภคผักสลัดที่ราดด้วยน้ำสลัดที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบด้วย เพราะ “น้ำมันช่วยให้ร่างกายของคุณดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น”
 
สมุนไพร
การเติมสมุนไพรสับละเอียดสักหนึ่งหรือสองช้อนโต๊ะลงในอาหารจานโปรด นอกจากช่วยชูรสทั้งกลิ่นและรสชาติให้อาหารจานนั้นหอมน่ารับประทานขึ้นมาในทันทีแล้ว ยังให้คุณประโยชน์อย่างเอกอุทั้งในแง่เสริมภูมิคุ้มกันและการย่อยอาหาร
 
สมุนไพรจัดว่ามีราคาแพงไม่เบา โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าต้องซื้อมาหนึ่งกำมือแล้วใช้เพียงหนึ่งหรือสองก้าน ที่เหลือโยนทิ้งไป ดังนั้น คุณจะกลายเป็นคนใช้เงินอย่างคุ้มค่าแน่นอน ถ้ารู้วิธีเก็บหรือยืดอายุสมุนไพรเหล่านี้ เพียงใส่ไว้ในถุงพลาสติกที่มีรูระบายอากาศโดยรอบ
 
Wilson อธิบายว่า สมุนไพรมีความบอบบางมาก โดยเฉพาะชนิดที่มีใบอ่อนนุ่มเป็นพิเศษอย่างผักชี สมุนไพรเกือบทั้งหมดต้องเก็บในตู้เย็น ยกเว้นโหระพาที่เก็บนอกตู้เย็น โดยแช่น้ำทั้งกิ่งในแก้วน้ำทรงสูง แล้ววางในครัวบริเวณที่เย็นเป็นพิเศษ “คุณยืดอายุสมุนไพรได้ด้วยการตัดแยกกิ่งให้มีความยาวพอประมาณ แล้วใส่ในถุงพลาสติกที่มีซิปล็อก จากนั้นนำไปไว้ในช่องแช่แข็งหรือฟรีซเซอร์”
 
ถั่วเปลือกแข็งและเมล็ดธัญพืช
ทั้งถั่วเปลือกแข็งและเมล็ดธัญพืชได้ชื่อว่าเป็นอาหารว่างชั้นเลิศที่นอกจากอุดมด้วยไขมันดีที่เป็นแหล่งพลังงานแสนวิเศษแล้ว ยังมีวิตามินนานาชนิดที่คุณควรเพิ่มลงในจานสลัดหรืออาหารเช้าประเภทซีเรียล
 
Wilson กล่าวว่า การเก็บถั่วเปลือกแข็งและเมล็ดธัญพืชเหล่านี้ไว้ในโหลแก้วแล้ววางไว้บนชั้นนั้น อาจแลดูสวยงามและเหมาะสมดีแล้ว แต่เมื่อโดนแสง มันกลับอายุสั้นลงมาก “หากเก็บในตู้เย็น จะอยู่ได้นานราว 4 เดือน และอาจนานถึง 6 เดือนด้วยซ้ำถ้าเก็บในช่องแช่แข็ง โดยเหตุที่ถั่วเปลือกแข็งและเมล็ดธัญพืชมีไขมันสูง จึงมีกลิ่นเหม็นหืนได้ง่าย ดังนั้น ถ้าบริโภคในสภาพสดใหม่ รสชาติย่อมดีขึ้นมากเลยทีเดียว”
 
อโวคาโด
เป็นผลไม้ที่เมื่อสุกแล้วมีเนื้อแสนนุ่มและรสมันอร่อย นอกจากมีการยืนยันแล้วว่า อโวคาโดช่วยปกป้องหัวใจรวมทั้งทำให้ความดันโลหิตลดลง ยังอุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว กากใย วิตามินซีและอี
 
วิธีบ่มให้อโวคาโดสุกทำได้ไม่ยาก เพียงใส่ไว้ในถุงกระดาษสีน้ำตาล “คุณเร่งให้สุกเร็วขึ้นได้ด้วยการนำกล้วยหอมหนึ่งผลใส่ลงไปในถุงด้วย” Hattersley แนะนำ “เมื่อสุกแล้ว เราเก็บอโวคาโดในตู้เย็นได้อีกสองวัน”
 
ให้เลือกซื้ออโวคาโดเนื้อแน่นสีเขียวหรือม่วงอมดำ ซึ่งแก่จัดและจะสุกในอีกสองสามวัน เพื่อให้นำมาใช้งานได้ในสภาพที่สุกกำลังดีนั่นเอง เลือกผลที่ไม่มีตำหนิใดๆ รวมทั้งเปลือกไม่ปริแยกด้วย
 
กะหล่ำปลี
กะหล่ำปลีได้รับการยกย่องว่าเป็นยาครอบจักรวาล ช่วยรักษาโรคต่างๆ มาตั้งแต่ยุคโรมัน เพราะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและกากใย จึงช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและรักษาอาการติดเชื้อต่างๆ
 
Wilson เปิดเผยว่า “ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นบริเวณที่เย็นจัดที่สุด กะหล่ำปลีจะอยู่ได้นานถึงหนึ่งเดือน หากบริโภคกะหล่ำปลีเพียงวันละครึ่งถ้วย คุณจะได้รับวิตามินเคเต็มร้อยเลยทีเดียว ซึ่งดีต่อสุขภาพกระดูกของคุณมาก”
 
กะหล่ำปลีแดงมีวิตามินซีสูงกว่ากะหล่ำปลีสีเขียวถึง 6–8 เท่า
 
มะเขือยาวและแตงกวา
Hattersley บอกว่า “ผักทั้งสองชนิดนี้ไม่ชอบความเย็น ให้วางไว้บนชั้นในครัวก็เพียงพอแล้ว แต่ต้องระวังอย่าวางไว้ใกล้กับกล้วยและมะเขือเทศ ซึ่งเวลาสุกแล้วจะส่งกลิ่นฉุนออกมา ทำให้มะเขือเทศและแตงกวาดูดกลิ่นเข้าไปด้วย”
 
กระเทียม
Wilson แนะเคล็ดลับว่า ให้เก็บในหม้อดินเผาใบเล็ก ๆ ที่ทำให้กระเทียมเย็น และอยู่ได้นานขึ้น ไม่จำเป็นต้องเก็บในตู้เย็น
 
ผลไม้เมืองร้อน
Wilson กล่าวว่า “มะละกอ สับปะรด มะม่วง เลมอน และมะนาว ล้วนเป็นผลไม้ที่ไวต่อความเย็น ตู้เย็นทำให้ผลไม้เหล่านี้เน่าเร็วขึ้น ให้วางในถาดผลไม้แล้วตั้งบนโต๊ะจะดีที่สุด”
 
 
ที่มา: นิตยสาร GoodHealth
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว

Submitted by Darunee Sae-liew on Tue, 11/25/2014
http://www.gotomanager.com/content/%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B8%95%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81-%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89

21
เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีประสบการณ์ที่ว่า จู่ๆ เกิดนึกอยากอาหารบางประเภทขึ้นมาอย่างติดหมัด ถึงขนาดลงทุนขับรถระยะทางไกลไปยังร้านสะดวกซื้อที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง เพื่อซื้อคุกกี้ยี่ห้อที่เจาะจงต้องมีช็อกโกแลตและครีมสอดไส้อย่างที่ชอบเท่านั้น
 
พฤติกรรมความอยากอาหารนี้ จัดว่ามีความเป็นสากลที่เกิดได้กับทุกคน โดยเฉพาะคุณสาวๆ อายุระหว่าง 18–35 ปี ซึ่งมีงานวิจัยระบุว่า ทุกคนยอมรับว่าในรอบปีที่ผ่านมา ต่างมีประสบการณ์อยากอาหารอะไรสักอย่างหนึ่งมาแล้วทั่วหน้า
 
เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์และนักกำหนดอาหาร ได้เปิดเผยกลไกที่ทำให้เกิดความรู้สึกอยากอาหาร และค้นพบวิธีควบคุมความอยาก ทั้งที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้นและในระยะยาวได้ด้วย
 
ความอยาก (อาหาร) คืออะไร
Marcia Pelchat, Ph.D., แห่ง Monell Chemical Senses Center ที่ฟิลาเดลเฟีย อธิบายว่า “นักวิจัยส่วนใหญ่ให้นิยามความอยากว่า เป็นความปรารถนาอย่างรุนแรงที่จะบริโภคอาหารนั้นๆ ให้ได้ จนเกือบจะเรียกว่าเป็นความหมกมุ่นก็ว่าได้ คือจะคิดถึงอาหารนั้นๆ อยู่ตลอดเวลา”
 
เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า มันไม่ใช่ความหิว “เมื่อคุณรู้สึกหิว อาจมีอาหารที่ชอบเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่อาหารที่บริโภคอาจมีความหลากหลายกว่า ขณะที่ความอยากมีความจำหรือความคาดหวังในอาหารนั้นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง และทำให้คุณพึงพอใจในเวลานั้น เช่น คุกกี้ยี่ห้อโปรดที่ต้องมีช็อกโกแลตและครีมสอดไส้อย่างที่เคยบริโภคเท่านั้น”
 
ที่สำคัญ ความอยากไม่ใช่การส่งสัญญาณความต้องการอาหารชนิดหนึ่งชนิดใด “แต่เป็นประสบการณ์เชิงจิตวิทยา”
 
ความอยากมาจากไหน
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเห็นพ้องกันว่า ความอยากเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ความจำ และการตอบสนองโดยสัญชาตญาณต่อสิ่งที่ได้บริโภคไปเมื่อไม่นานมานี้ ผลการศึกษาหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ความอยากและยาเสพติด ล้วนก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อสมองบริเวณเดียวกัน นั่นคือ hippocampus, caudate และ insula
 
Lauren Slayton, R.D., ผู้ก่อตั้งสถาบัน Foodtrainers ที่นิวยอร์กซิตี้ และผู้เขียนหนังสือ The Little Book of Thin กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณรู้สึกอยากอาหารที่ทำให้คุณมีประสบการณ์แห่งความสุขขึ้นอีก
 
สอดคล้องกับที่ Pelchat ชี้ว่า ไม่มีใครอยากอาหารที่ไม่เคยบริโภคมาก่อน คุณต้องเคยเรียนรู้มาแล้วว่า อาหารนั้นๆ รสชาติเป็นอย่างไร จึงเกิดความรู้สึกอยากบริโภคอีกในภายหลัง
 
Pelchat ยังกล่าวต่อไปว่า นอกจากอาหารอร่อยถูกปากที่ทำให้อยากบริโภคอีก ความเคยชินจากการบริโภคอาหารซ้ำๆ ต่อเนื่องกัน ก็ทำให้คุณอยากอาหารได้เช่นกัน เห็นได้จากการทดลองให้กลุ่มตัวอย่าง “บริโภคอาหารเหลวน่าเบื่อ” ติดต่อกัน 5 วัน เธอประหลาดใจที่พวกเขาอยากอาหารน่าเบื่อนี้อีก และซื้อติดมือกลับมาอีก 6 กล่อง เป็นการยืนยันว่า “บางครั้งการที่คุณนึกอยากอาหารชนิดนั้นๆ ไม่ได้เป็นเพราะคุณติดใจในรสชาติความอร่อย แต่เป็นเพราะคุณเคยชินกับการได้บริโภคอาหารนั้นๆ เช่น การที่คุณเคยชินกับการบริโภคข้าวโอ๊ตเป็นอาหารเช้าทุกวันนั่นเอง”
 
ความอยากอาหารยังเกิดขึ้น เมื่อคุณถูกจำกัดอาหาร หรือถูกห้ามบริโภคอาหารนั้นๆ ซึ่ง Pelchat และนักวิจัยคนอื่นๆ เปิดเผยผลการวิจัยว่า คนมักอยากในรสชาติของอาหารที่ถูกห้ามบริโภค เช่น ห้ามกลุ่มตัวอย่างบริโภคช็อกโกแลตรสโปรดเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ พวกเขานอกจากจะอยากบริโภคช็อกโกแลตรสนั้น ยังรู้สึกหงุดหงิดด้วย ทั้งที่บริโภคอาหารอื่นๆ ได้เต็มที่ และไม่ขาดสารอาหารด้วย
 
วิธีควบคุมความอยาก (อาหาร)
ผลการศึกษาของศูนย์  Jean Mayer USDA Human Nutrition Research Center on Aging  แห่งมหาวิทยาลัยทัฟต์ ระบุว่า ร้อยละ 94 ของกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่า ยังรู้สึกอยากอาหารระหว่างเข้าคอร์สควบคุมอาหารอย่างเข้มงวดนาน 6 เดือนแต่พวกเขายังสามารถลดน้ำหนักตัวได้ ด้วยการเรียนรู้ที่จะควบคุมความอยาก
 
Slayton กล่าวว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่คุณจัดการกับความรู้สึกกระวนกระวายใจ เมื่อเกิดความอยากอาหารได้ดีเพียงใด
 
Evan Forman, Ph.D., ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเดร็กเซล และผู้เชี่ยวชาญด้านความอยากอาหารแห่ง Lab for Innovations in Health–Related Behavior Change สรุปว่า เทคนิคการควบคุมความอยากอาหาร มีลักษณะเฉพาะตัวพอๆ กับความอยากอาหาร คุณจึงต้องลองผิดลองถูก เพื่อหาวิธีที่เหมาะกับตนเองให้ได้
 
“เทคนิคที่แตกต่างย่อมเหมาะกับแต่ละคน คุณจึงต้องหาวิธีที่ดีที่สุดให้กับตนเองให้ได้”
 
ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งแนะนำว่า ให้คุณเล่นเกมอะไรสักอย่างหนึ่งก่อนจะถูกความอยากอาหารครอบงำ แล้วคุณจะต่อต้านความอยากได้ดีขึ้น นั่นคือ คุณต้องตัดสินใจว่า จะต่อสู้กับความอยาก หรือจะยอมแพ้ แล้วรีบปฏิบัติตามความอยากโดยทันที ซึ่งถ้าคุณทำอย่างถูกต้องเหมาะสม จะเลือกวิธีใดก็ไม่ผิดกติกา
 
ที่มา : นิตยสาร Shape
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว


Submitted by Darunee Sae-liew on Tue, 01/20/2015
http://www.gotomanager.com/content/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81-%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%94

22
“การศึกษาต้องเริ่มต้นด้วยความสำคัญของนักเรียน และจบด้วยความสำคัญของนักเรียน” คำกล่าวของดร.ป๋วย อึ๊งภาภรณ์ ที่เคยกล่าวไว้ บ่งบอกถึงความสำคัญของผู้เรียนเป็นหลัก การศึกษานับว่ามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาบุคลากรตลอดจนไปถึงเป็นพื้นฐานของการพัฒนา ส่วนอื่นๆ เพราะไม่ว่าจะทำการพัฒนาส่วนใดต้องเริ่มมาจากการพัฒนาคนเสียก่อน
การพัฒนาคนสามารถทำได้หลายๆ รูปแบบ อย่างที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาคนคือการให้การศึกษา ดังนั้นการพัฒนาประเทศต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาคนโดยต้องคำนึงถึงการศึกษาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของไอทีครองเมืองนี้
 
การศึกษาถือว่าเป็นหัวใจและเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาคน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ คำที่กล่าวไว้ว่า “กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” อาจจะช้าไปด้วยซ้ำ เพราะคนเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ก่อนที่จะถึงวัยเด็ก เรียนระดับประถม  มัธยม และอุดมศึกษา ทั้งที่ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการศึกษามาโดยตลอด
 
จากยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 1 จนถึงฉบับที่ 11 ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2555–2558) และยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญของแผนพัฒนาฉบับในปัจจุบัน ก็คือการพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน ที่มีเป้าหมายให้จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 12 ปี
 
เวลาเกือบ 15 ปีแล้ว ตั้งแต่ประเทศไทยได้เริ่มมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ โดยมี พ.ร.บ.ปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2542 เป็นหลักสำคัญ แต่เมื่อเวลาผ่านมากว่า 1 ทศวรรษ ปัจจุบันอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 2 ของการปฏิรูป (2552-2561) ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม ทั้งจากคะแนนสอบวัดผลมาตรฐานกลาง (โอเนต) ที่เด็กไทยได้ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นวิชาสากล ที่เป็นตัวชี้วัดศักยภาพเด็กไทยในระดับนานาชาติ
 
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  ได้เปิดเผยผลการศึกษาระบบการศึกษาไทย ภายหลังการปฏิรูปครั้งใหญ่ที่ผ่านมา พบว่ายังมีปัญหาอีกหลายประการ ทั้งในระดับหลักสูตร บุคลากรทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นครูหรือผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น
 
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้เคยกล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาชำแหละโครงสร้างการศึกษาไทย  “ก ข ค ง ข้อนี้ไม่มีคำตอบ...หากคุณไม่เริ่มตั้งคำถาม” เมื่อปีที่แล้วว่า ระบบการศึกษาไทยเป็นระบบเดียวที่ใช้กับเด็กเยาวชนทั้งประเทศ เปรียบได้กับรองเท้าเบอร์เดียวที่หวังจะให้ทุกคนสวมใส่ โดยไม่คำนึงถึงความเหลื่อมล้ำ และความแตกต่างตามบริบทสังคม
 
ขณะที่กระบวนการสอนยังติดอยู่กับกรอบ ไม่ยืดหยุ่น ทั้งหลักสูตร วิธีสอน และการวัดผล จึงถือเป็นความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย ซึ่งจะทำให้มีเด็กและเยาวชนที่พร้อมจะหลุดออกจากระบบการศึกษาจนกลายเป็นปัญหาสังคมฉุดรั้งให้ความพยายามยกระดับคุณภาพการศึกษาไม่ประสบความสำเร็จ”  ซึ่งล้วนเป็นสิ่งสะท้อนของภาพที่เป็นจริง
“เด็กไทยเรียนหนักที่สุดในโลก” เป็นคำพูดที่ไม่ผิดไปจากความเป็นจริงนัก ในขณะที่อีกหลายประเทศในเอเชียก็มีค่านิยมในการศึกษาเป็นไปในทางเดียวกัน คือให้เวลากับชั่วโมงเรียนค่อนข้างมาก ทั้งในโรงเรียนและการไปกวดวิชากับติวเตอร์ภายนอก โดยมีจุดมุ่งหวังเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศให้ได้
 
World Economic Forum ได้ออกรายงานประจำปีการเปรียบเทียบขีดความสามารถในการแข่งขันได้ของประเทศต่างๆ ที่เลือกมาศึกษารวม 144 ประเทศ รายงานนี้ ชื่อว่า “Global Competitive Report 2014-2015” โดยสรุปปรากฏว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่เป็นอันดับที่ 31 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ตามหลังสิงคโปร์ซึ่งอยู่อันดับ 2 ของโลก และมาเลเซีย อันดับ 20
 
แต่ในทางกลับกัน ตัวชี้วัดด้านการศึกษา ปี 2557 คุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยอยู่ที่ อันดับ 7 ของอาเซียน (ปี 2556 อยู่อันดับ 6) และคุณภาพของระบบอุดมศึกษา อยู่ที่อันดับ 8 และทั้งการศึกษาพื้นฐานและอุดมศึกษาของไทยอยู่อันดับต่ำกว่าลาว ขณะที่อุดมศึกษาไทยอยู่ต่ำกว่าทั้งลาวและกัมพูชา แม้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวประชากร (GDP per Capital) ไทยสูงเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มอาเซียนก็ตาม ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่ยากจนสามารถจัดการศึกษาได้ดีกว่า (จากตารางเปรียบเทียบดัชนีคุณภาพการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน)
 
ขณะที่ประเทศไทยใช้งบประมาณทุ่มในระบบการศึกษาอย่างมหาศาล  ด้วยงบการศึกษาที่สูงถึง 5 แสนล้านบาท/ปีสูงมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศกานา ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่ตกไปอยู่กับค่าจ้างบุคลากร ดังนั้นทำให้ผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียนมีน้อย เป็นการลงทุนมาก แต่ได้ผลน้อย เนื่องจากงบประมาณดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้อย่างตรงจุด
 
ปัญหาครูไม่พัฒนาตัวเอง แม้จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครู แต่ไม่มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็ก ปัญหาการเมืองที่ลากยาวมานาน และรวมถึงการผันผวนและความไม่นิ่งของการเปลี่ยนรัฐบาลและปรับคณะรัฐมนตรีบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะต่างรัฐบาลหรือรัฐบาลเดียวกัน ทำให้ความต่อเนื่องของนโยบายการศึกษาชะงักงันและไม่ต่อเนื่อง ทำให้ระบบการศึกษาไทย “ถอยหลัง” ลงเรื่อยๆ
 
อีกทั้งหลักสูตรและตำราเรียนของไทยยังไม่สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) ซึ่งมีผลทำให้การเรียนการสอน ตลอดจนการสอบ ยังคงเน้นการจดจำเนื้อหามากกว่าการเรียนเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง
 
สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นมูลเหตุหนึ่ง ที่ว่าทำไมการศึกษาไทยถึงล้มเหลว…
 
ในขณะที่เปิดศักราชใหม่ 2558 นี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คงต้องรับงานหนัก โดยเฉพาะงาน “ปฏิรูปการศึกษา” ซึ่งการปฏิรูปครั้งนี้นับว่าเป็นการปฏิรูปที่ใหญ่กว่าที่เคยทำมา เพราะต้องทำควบคู่ไปกับการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ที่ใช้ในการปกครองประเทศ ส่งผลให้การปฏิรูปศึกษาถูกพูดถึงในมุมมองใหม่และกว้างขึ้น นั้นคือ “ปฏิรูปเพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ”
 
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการในฐานะหน่วยงานด้านนโยบาย ประกาศร่างโรดแมป ปฏิรูปการศึกษา ปี 2558-2562 หลังหารือร่วมกับฝ่ายสังคมและจิตวิทยา คสช. สาระสำคัญ 6 ประเด็นของโรดแมป คือ การปฏิรูปครู, รื้อระบบบริหารบุคคล, กระจายโอกาสทางการศึกษา ปฏิรูประบบบริหารจัดการ, พัฒนาระบบผลิตกำลังคน ตามความต้องการแรงงานของประเทศ, ปฏิรูประบบการเรียนรู้, พัฒนาแหล่งเรียนรู้ใหม่ และปรับระบบการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
 
และงานชิ้นใหญ่ที่เรียกว่า งานช้าง ที่จะเกิดกับการศึกษาของปี 2558-2559 นี้ ซึ่งเป็นแผนการเร่งด่วนที่ต้องขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม 9 เรื่องได้แก่ 1. ปรับหลักสูตรปรับกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิต ลดเวลาเรียนที่ซ้ำซ้อน ลดปัญหากวดวิชา 2. ปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาให้ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศจูงใจสร้างค่านิยม ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับคนเรียนอาชีวะ 3. ปรับโครงสร้าง ศธ. ให้สอดคล้องกับการกระจายอำนาจ โดยให้ส่วนกลางดูแลนโยบาย และแผนมาตรฐานการติดตามประเมินผล โดยให้สถานศึกษาบริหารแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมากขึ้น
 
นอกจากนี้จะขอให้มีการแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกจาก ศธ. เพื่อให้การบริหารงานมีความคล่องตัว 4. พัฒนาครูดี ครูเก่ง 5. กระบวนการได้มาของผู้แทนและองค์กรครูต่างๆ 6. ระบบการเข้าศึกษาต่อต้องสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย  7. ส่งเสริมการเรียนการสอนทางไกล 8. ปรับระบบอุดหนุนรายหัวทุกระดับ ทุกประเภทให้เป็นธรรมมากขึ้น และ 9. จัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของประเทศ
 
การปฏิรูปการศึกษานี้จะประสบผลสำเร็จเช่นไร ภายใต้แผนเร่งด่วนภายในหนึ่งปี จะสามารถสางปมปัญหาและยกระดับการศึกษาขึ้นได้หรือไม่ อีกทั้งการเตรียมตัวเเข้าสู่ AEC ในปลายปีนี้ จะออกมาในรูปแบบใด คงต้องรอดู




Submitted by Wallapa Sanoachitt on Wed, 01/14/2015
http://www.gotomanager.com/content/%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%A4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%8B%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%81

23
สพฉ.ห่วงอุบัติเหตุปีใหม่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ชี้สถิติเพิ่มขึ้น 12% หรือเกิด 100 ครั้ง มีคนเสียชีวิต 12 คน เตือนเส้นทางเสี่ยง สายอีสาน ให้ขับขี่ระวังบริเวณทางหลวงเส้นที่ 1 กม. 70 และทางขึ้นเขาแก่งคอย จ.สระบุรี เหตุเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
    ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดเสวนาเรื่อง “เปิดจุดเสี่ยง ปิดรอยโหว่ ลดสูญเสียอุบัติเหตุบนท้องถนน สัญจรปีใหม่ไปกลับปลอดภัย” นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นเป็น 2 เท่า โดยในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค.2556-2 ม.ค.2557 มีการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินรวม 25,959 ราย จังหวัดที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ จ.นครราชสีมา รองลงมาคือ เชียงใหม่ ชลบุรี บุรีรัมย์ และขอนแก่น ตามลำดับ ซึ่งจากการวิเคราะห์สาเหตุพบว่ามี 3 ปัจจัย คือ 1.เกิดขับขี่รถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร หรือมีอาการอ่อนล้า หลับใน 2.สภาพรถไม่พร้อมต่อการเดินทาง และ 3.ปัจจัยด้านถนนและสิ่งแวดล้อม ทางโค้ง ทางลาด ทางแยก สำหรับการรับมือเพื่อลดอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่ สพฉ.ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข การประสานระหว่างศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทางการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ 78 ศูนย์ สายด่วน 1669 พร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง และจัดเรือ อากาศยานไว้พร้อมรับผู้ป่วยฉุกเฉินกรณีเร่งด่วน
    ด้าน ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย AIT กล่าวว่า การเกิดอุบัติในช่วงเทศกาลปีใหม่มีปัจจัยแตกต่างกันออกไป ซึ่งในช่วงที่ต้องเฝ้าระวัง 7 วันอันตราย แบ่งเป็นลักษณะของการเกิดเหตุ ในช่วงวันที่ 1-2 และวันที่ 6-7 ลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุช่วงวันที่ 1-2 เกิดขึ้นที่ถนนสายหลัก สาเหตุหลักมาจากการขับรถเร็ว ส่วนวันที่ 3-5 จะเกิดที่ถนนสายรอง และสาเหตุมาจากเมาแล้วขับ ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย พบว่า 80% ของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในปีที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นกับรถมอเตอร์ไซค์ สาเหตุหลักคือเมาแล้วขับ และ 10-15% เกิดขึ้นกับรถปิกอัพ สาเหตุคือการขับรถเร็ว
    นอกจากนี้ยังมีสถิติที่น่าตกใจคือ ในการเกิดอุบัติเหตุตั้งแต่ปี พ.ศ.2551-2557 ความรุนแรงในการเกิดเหตุเพิ่มมากขึ้นถึง 12% ซึ่งหมายความว่าในการเกิดอุบัติเหตุ 100 ครั้งจะมีคนเสียชีวิต 12 คน สาเหตุหลักการสูญเสียมาจาก 3 ส่ว อาทิ การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย การขับรถด้วยความเร็วสูง และอันตรายจากสิ่งกีดขวางข้างทาง อาทิ ป้าย ต้นไม้ เกาะกลาง หรือคูไหล่ทาง เป็นต้น
    ดร.กัณวีร์กล่าวต่อว่า อยากฝากให้ระวังเส้นทางที่ประชาชนจะต้องสัญจรในแต่ละภูมิภาคว่าที่มีหลายจุด ดังนี้ เส้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ ทางหลวงเส้นที่ 1 เส้นวังน้อยอยุธยา กิโลเมตรที่ 70 และเส้นที่ 2 คือทางขึ้นเขาแก่งคอยสระบุรี ซึ่งถนนช่วงนี้จะเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างบ่อย ส่วนขากลับภาคใต้ คือ ถนนทางหลวงหมายเลขที่ 35 เส้นพระราม 2 เพราะถนนเส้นนี้ประชาชนจะใช้ความเร็วในการขับรถค่อนข้างมาก จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุชนท้ายหรือรถตกข้างทางเป็นจำนวนมาก
    นอกจากนี้แล้วยังมีถนนทางหลวงหมายเลขที่ 41 เส้นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดชุมพร ซึ่งลักษณะเส้นทางเป็นภูเขาและโค้งที่เยอะจนทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้งนั้นก็สร้างการสูญเสียที่ค่อนข้างรุนแรง ส่วนประชาชนที่จะเดินทางไปภาคเหนือ ถนนที่ประชาชนจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ ถนนทางหลวงหมายเลขที่ 32 ที่จะผ่านทางจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อขึ้นไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยถนนเส้นนี้จะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ดังนั้นผู้ใช้รถใช้ถนนควรศึกษาการเดินทางให้ละเอียดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นด้วย
    นายธรรมรัตน์ อาจวารินทร์ เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยกู้ภัย มูลนิธิธรรมรัศมีมณีรัตน์ จ.ชลบุรี กล่าวว่า จังหวัดชลบุรีถือเป็นเส้นทางไปสู่ภาคตะวันออก ทำให้ช่วงวันหยุดยาวมีรถสัญจรค่อนข้างมาก โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีจุดเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ 3 จุด คือ 1.ถนนทางเบี่ยงเข้าถนนเลี่ยงเมืองใกล้เคียงกับทางเข้านิคมอมตะนคร มีสภาพถนนสร้างความสับสนให้กับประชาชน จึงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง 2.ถนนสาย 344 ที่เป็นทางลัดไปสู่จังหวัดระยอง ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้รถที่มาเร็วเสียหลัก และ 3.ถนนมอเตอร์เวย์ กิโลเมตรที่ 53 บริเวณเขาเขียว ซึ่งจุดนี้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเฉพาะรถตู้โดยสาร เนื่องจากขับด้วยความเร็วสูง
    ด้านนายธีรยุทธ มังกรสุวรรณ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยุหน่วยกู้ภัยสว่างบริบูรณ์ฯ พัทยา และนักสื่อสารกู้ชีพ สพฉ. ประจำภาคตะวันออก กล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นที่พื้นที่พัทยาส่วนใหญ่จะเกิดจากการขับรถเร็ว และผู้ขับขี่เมาสุรา โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ จุดเสี่ยงอุบัติเหตุต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ บริเวณถนนสาย 36 ตรงข้ามสนามพีระเซอร์กิต สายกระทิงลาย-ระยอง  โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน
    นอกจากนี้ นายธีระ กุ๋ยเอี๊ยบ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสว่างบริบูรณ์ฯ พัทยา และนักสื่อสารกู้ชีพ สพฉ. ประจำภาคตะวันออก กล่าวเสริมอีกว่า การเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ในพื้นที่พัทยา จุดที่มีความเสี่ยงมากและมักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง คือบริเวณจุดยูเทิร์นต่างๆ อาทิ จุดยูเทิร์นหน้าโรงแรมเวฟอินทร์ จุดยูเทิร์นหน้าวัดบางละมุง จุดยูเทิร์นหน้าปั๊มน้ำมัน ปตท.ศูนย์พระเทพ และจุดยูเทิร์นบ้านพักคนชรา เนื่องจากจุดดังกล่าวไม่มีป้ายบอกทางที่ชัดเจน อีกทั้งไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ.

ไทยโพสต์
26 December, 2014

24
สมัยนี้พนักงานเป็นใหญ่ค่ะ ผู้ที่เป็นผู้บังคับบัญชาหรือที่เรานิยมเรียกสั้นๆ ว่า “นาย” (Boss) ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องการบริหารบังคับบัญชาลูกน้อง เพราะถ้าเขาไม่พอใจ เขาก็สามารถลาออกไปทำงานกับองค์กรอื่นได้ง่ายๆ ปลายปีอย่างนี้ยิ่งต้องร

หนึ่งในปัจจัยลำดับต้นๆ ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่จะอยู่หรือจะไปของพนักงานก็คือความประพฤติของ “นาย” เอง ผู้บริหารระดับสูง และเจ้าของกิจการควรใช้เวลาช่วงปลายปีประเมินพฤติกรรมของตนเองและผู้บริหารทุกระดับว่าทำตัวเป็นนายได้เหมาะสมมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะเรื่องความสามารถในการจูงใจพนักงานให้มีความกระตือรือร้น สนุกกับการทำงาน และมีความคิดสร้างสรรค์ดีๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

คนทำงานยุคใหม่นี้เป็นคนรุ่น Generation Y และบางตำราก็เรียกว่าเป็นพวก Millennial จะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ สิ่งหนึ่งที่นายทั้งหลายที่อาวุโสกว่าพึงระลึกไว้คือ คนรุ่นนี้ต้องการทำงานที่มีความหมาย งานที่ท้าทาย และมีนายที่สนใจรับฟังความเห็นของเขา สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวในอาวุโส นอกจากนี้เขายังอยากได้นายที่ทำตัวเหมือนเป็นพี่ที่มีความรู้และประสบการณ์สามารถให้คำแนะนำและโค้ชพวกเขาให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นได้ว่าบทบาทของนายมีความสำคัญในการจูงใจพนักงานให้มีความผูกพันกับงานและองค์กรมากทีเดียว

มาเรียนรู้กันดีไหมคะว่าพฤติกรรมอะไรบ้างที่นายทั้งหลายสามารถพิฆาตแรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน?

เริ่มจากการบริหารแบบที่เรียกว่า “Micromanage” หรือที่บางท่านแปลว่า “บริหารแบบจุลภาค” หมายถึงนายที่มักเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองมากกว่าลูกน้อง และเพราะความที่ไม่วางใจในความสามารถของลูกน้องทำให้นายประเภทนี้ชอบจับตาดูการทำงานของลูกน้องแทบทุกย่างก้าวที่เขาขยับจะทำงาน คอยตรวจสอบประเมินซักไซ้บ่อยมากจนพนักงานอึดอัดระอาใจ นายประเภทนี้จะสั่งงานอย่างละเอียดทุกขั้นตอนแทบไม่เหลือโอกาสให้เขาได้ใช้ความคิดของตนเองในการทำงานเลย มีแต่รับคำสั่งอย่างเดียว แล้วก็ต้องอดทนกับการที่นายจะโผล่หน้ามาเฝ้าดูการทำงานหรือเรียกให้รายงานให้นายฟังอย่างถี่ยิบ นายประเภทนี้มักไม่ชอบกระจายอำนาจ (Delegate) แต่ชอบรวบอำนาจมาไว้ที่ตัวเองคนเดียว มีแต่ตัวเองเท่านั้นที่มีอำนาจตัดสินใจ และความที่จู้จี้จุกจิกในเรื่องฝอยๆ ทำให้นายมักลืมมองภาพใหญ่ ใครที่มีนายแบบนี้จะไม่มีโอกาสได้พัฒนาตนเองให้เติบโตมีภาวะผู้นำที่ดีขึ้น เพราะนายไม่เคยให้โอกาส ไม่ต้องคิดนอกกรอบเพราะนายไม่ไว้ใจให้คิด นายแบบนี้ใครอยากได้? ยกให้เลยค่ะ

จับผิดเก่ง เห็นแต่ความผิดของลูกน้อง คนเรามีทั้งด้านดีและไม่ดี ทำผิดได้ก็ทำถูกได้ มีมืดก็มีสว่าง แต่นายบางคนมีสายตามองเห็นแต่ความผิดที่ลูกน้องทำ จับผิดแต่ไม่รู้จักจับถูกมั่ง แบบนี้ลูกน้องที่พยายามจะทำความดีแก้ไขข้อผิดพลาดคงยกธงขาวขอถอยจากการทำความดีที่นายไม่เคยมองเห็น อย่าเป็นคนที่มองเห็นแต่โทษของลูกน้องอย่างเดียวเพราะมันทำให้เขาหมดกำลังใจและแรงจูงใจที่จะทำงาน เลิกพูดตอกย้ำความผิดแต่หนก่อนของลูกน้อง มองไปในอนาคตแล้วร่วมกันคิดว่าจะช่วยกันทำงานชิ้นต่อไปให้ดีขึ้นได้อย่างไรน่าจะสร้างสรรค์กว่า

ปิดกั้นไม่ฟังความเห็นของลูกน้อง (Dismiss ideas of your subordinates) แม้ว่าลูกน้องบางคนจะไม่เคยมีความเห็นที่เฉียบคม แต่นายที่ดีย่อมมีมารยาทที่จะรับฟังความคิดของพวกเขา และชี้แนะว่าจุดไหนเป็นจุดที่ลูกน้องควรปรับปรุงเพื่อที่ความเห็นของเขาจะมีคุณภาพดีขึ้น นายหลายคนเชื่อว่าตัวเองรู้ดีกว่าลูกน้อง และหลายครั้งนึกว่าตัวเองเข้าใจหรืออ่านความคิดลูกน้องได้ทะลุปรุโปร่งโดยที่ไม่จำเป็นต้องฟังลูกน้องพูดให้จบ ระวังนิสัยนี้ให้ดีเพราะมันทำให้นายไม่ได้รับฟังเรื่องที่ควรฟังหลายเรื่อง ที่สำคัญคือ มันทำให้ลูกน้องที่ฉลาดและรู้ทันความคิด (ผิดๆ) ของนายเลิกสื่อสารกับนายแล้วแอบไปทำอะไรตามความเชื่อของตนเองโดยที่นายไม่รู้ ลูกน้องเก่งๆ อาจนำไอเดียดีๆ ของเขาไปเล่าให้ผู้บริหารคนอื่นฟัง แล้วอาจขอย้ายแผนกไปทำงานกับนายคนอื่นที่ฟังเขา หรือไปทำกับคนอื่นนอกบริษัทก็ได้ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวว่า “ถ้าในตอนแรกความคิด (ใหม่) มันไม่ฟังดูพิลึก นั่นอาจหมายความว่าไม่มีความหวังสำหรับมัน” ดังนั้นอย่าเพิ่งรีบตัดสินความคิดที่ฟังแล้วดูแปลกๆ ของลูกน้อง เพราะมันอาจเป็นความคิดที่เยี่ยมยอดก็ได้

ไม่รักษาคำพูด เรื่องนี้สำคัญมากค่ะ ลองคนเราไม่ทำในสิ่งที่พูดไว้หรือให้สัญญากับใครไว้ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม ไม่มีใครอยากคบด้วย และเมื่อเป็นนายที่ไม่รักษาคำพูด ไม่นานลูกน้องก็จะไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อถือ และไม่ต้องการทำงานด้วย ทำให้ลูกน้องฝันค้าง คล้ายๆ กับการไม่รักษาคำพูด แต่กวนอารมณ์ยิ่งกว่าเพราะนายประเภทนี้ชอบวาดฝันให้ลูกน้องฝันหวาน แต่พอถึงเวลาก็ไม่สามารถทำฝันนั้นให้เป็นจริง ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพราะนายไม่รักษาคำพูด นายอาจจะอยากรักษาคำพูดก็ได้ แต่นายไม่มีความสามารถทำให้ฝันของพนักงานที่ตนเองเป็นคนไปจุดประกายให้เป็นความจริงได้ เจอฝันค้างบ่อยๆ ลูกน้องก็จะเลิกเชื่อถือในตัวนาย และเขาก็จะเลือนหายไปจากนายในที่สุด ปล่อยนายให้ฝันร้ายคนเดียวแทน

ชอบเรียกประชุมโดยไร้สาระ นายหลายคนเอะอะอะไรก็ชอบเรียกประชุมเพื่อปรึกษาหารือโดยที่หลายครั้งไม่จำเป็น แค่ยกหูโทรศัพท์พูดกับคนสองคน หรืออีเมลหาคนบางคนก็น่าจะได้ข้อสรุปแล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียกคนมากมายมาประชุมให้เสียเวลา ลูกน้องเขาจะได้มีเวลานั่งคิดนั่งทำงานให้รอบคอบอย่างต่อเนื่อง บางวันต้องประชุมทั้งวันจนไม่มีเวลาทำงาน ต้องเอางานมาทำที่บ้านแทน หรือไม่ก็ต้องทำงานจนดึกดื่น มันเป็นชีวิตการทำงานที่น่าเบื่อถ้าวันๆ ต้องนั่งประชุมในเรื่องที่ไม่มีสาระเท่าที่ควร คนเป็นนายต้องสังวรเรื่องประชุมให้ดี อย่าเรียกประชุมพร่ำเพรื่อ มันทำให้คนหมดความกระตือรือร้นที่จะทำงานค่ะ

ประเมินผลงานผิดพลาด ความผิดข้อนี้ของนายเป็นข้อหาอุกฉกรรจ์เลยค่ะ ไม่มีอะไรที่ทำร้ายจิตใจและทำลายกำลังใจของคนที่ทุ่มเททำผลงานได้แย่เท่ากับการที่นายประเมินผลงานของเราผิด นี่เป็นเหตุผลลำดับต้นๆ ที่ทำให้คนเก่งลาออกจากงานเพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม นายที่ดีทุกคนต้องใช้วิจารณญาณที่รอบคอบและมีทั้งเครื่องมือและกระบวนการประเมินผลงานของลูกน้องทุกคนที่เที่ยงตรงและเที่ยงธรรม อย่าได้เล่นพรรคเล่นพวก เพราะในอนาคตอันใกล้ที่ทรัพยากรคนเก่งหายากขึ้นทุกทีๆ องค์กรไม่สามารถอยู่ได้ถ้ามีแต่ลูกท่านหลานเธอที่ทำงานไม่ได้เรื่อง องค์กรจะอยู่ได้เพราะมีพนักงานคนเก่งคนดีที่ไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมากแต่มีคุณภาพคับแก้วค่ะ

และสุดท้ายก็คือ การเร่งงานให้เสร็จเร็วเกินไป นายแทบทุกคนอยากเห็นผลงานเสร็จเร็วๆ แต่ต้องไม่ลืมให้เวลาในการทำงานที่เพียงพอแก่ลูกน้องด้วย งานบางอย่างถ้าเร่งเกินไป (โดยที่ไม่จำเป็นต้องเร่งขนาดนั้น) ก็จะไม่ได้ผลดีพอ การที่เร่งลูกน้องให้ทำงานทุกชิ้นให้เสร็จเร็วที่สุดเป็นเวลาต่อเนื่องกันนานๆ ทำให้พนักงานอ่อนล้า เหมือนขุนศึกที่แม้มีม้าฝีเท้าดี แต่ถ้าเฆี่ยนให้ม้าต้องเร่งฝีเท้าโดยไม่มีหยุดหย่อน ม้าก็คงทรุด และสำหรับพนักงานที่เป็นคนที่เหนื่อยเป็น เขาอาจล้าและย่อท้อเบื่องานแบบกู่ไม่กลับแบบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Burn out” (มอดไหม้จนหมดไฟ) นั่นเลย

นี่คือพฤติกรรมแปดประการที่ทำให้นายกลายเป็นมือสังหารแรงจูงใจพนักงานให้มอดสลายได้อย่างรวดเร็ว ต้องรีบกำจัดจุดอ่อนเหล่านี้ก่อนลูกน้องเลือนหายไปนะคะ

22 ธันวาคม 2557
โพสต์ทูเดย์

25
นายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในการประชุมผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อมและหัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ 50 สำนักงานเขต ถึงปัญหาความเค็มของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจากการขึ้นลงของน้ำทะเล

ซึ่งส่งผลกระทบต่อการนำน้ำมาใช้ในการรดน้ำต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพฯและสวนสาธารณะ โดยปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 มีการระบายน้ำจากเขื่อนลงมาในปริมาณน้อย เนื่องจากพื้นที่ป่าต้นน้ำ 25 ลุ่มน้ำภาคกลางตอนบนและอีสานถูกทำลายเป็นอย่างมาก อีกทั้งต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในภาคการเกษตรทำให้ปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมาไม่สามารถผลักน้ำเค็มสู่ทะเลได้ ซึ่งขณะนี้กทม.แก้ปัญหาด้วยการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงบำบัดน้ำเสียทั้ง 7 แห่งในกรุงเทพมหานครมาใช้รดน้ำต้นไม้แทน โดยบริหารเส้นทางการลำเลียงน้ำจากโรงบำบัดน้ำเสียไปยังพื้นที่เขตใกล้เคียง รวมถึงปริมาณน้ำที่จะสามารถใช้ได้ต่อวันให้เพียงพอกับความต้องการในแต่ละพื้นที่เขต พร้อมทั้งทำหนังสือเตือนสำนักงานเขตถึงค่าความเค็มของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันไม่ให้นำน้ำมาใช้รดต้นไม้

ทั้งนี้รองผู้ว่าฯกทม.ได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมประสานสำนักการระบายน้ำเพื่อตรวจสอบความเค็มและคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงคุณภาพน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงบำบัดน้ำเสียด้วยว่าอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อต้นไม้หรือไม่ พร้อมทั้งแจ้งให้ฝ่ายรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม 50 สำนักงานเขตทราบเพื่อป้องกันไม่ให้นำน้ำเค็มมาใช้รดน้ำต้นไม้จนส่งผลให้กล้าไม้และต้นไม้ตายลง

อนึ่งจากรายงานสถานการณ์ความเค็มของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาของสำนักการระบายน้ำทางเว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th แจ้งค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งตรวจวัดเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.57 บริเวณจุดวัดตัวอย่างน้ำสะพานพระราม 7 ถึงพระประแดง มีค่าความเค็ม 1.9 -16.6 กรัมต่อลิตร ซึ่งสูงเกินค่ามาตรฐาน 1.5  กรัมต่อลิตร พร้อมทั้งระบุว่ามีผลต่อพืชทั่วไป ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้เพื่อการชลประทาน

25 ธันวาคม 2557
โพสต์ทูเดย์

26


ขอร้องข้าราชการบางคนที่ทำงานแบบรอเวลา ไม่ยอมทำอะไรเพราะคิดว่าอีกไม่นานรัฐบาลนี้ก็ไปแล้ว เดี๋ยวผมจะมีวิธีการตรวจสอบ วันนี้ขอร้องว่าอย่ารอเวลา เพราะเวลาเราใกล้จะหมดแล้วในเวทีโลก ถ้าเราปล่อยเวลาอีกต่อไปไทยจะกลายเป็นประเทศที่ล้มเหลวดังนั้น ใครที่ยังเฉื่อยแฉะรอเวลา ผมจะไม่ปล่อย การทุจริตผิดกฎหมายจะต้องถูกดำเนินการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวระหว่างแถลงผลงานของรัฐบาล รอบ 3 เดือน เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 57

26 ธันวาคม 2557
โพสต์ทูเดย์

27
 วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือปฏิบัติกันมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี พ.ศ.2475

คนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากมักจะรู้เพียงว่าในปีดังกล่าว คือเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นั้น มีการปฏิวัติของคณะทหารพวกหนึ่งซึ่งมีพลเรือนร่วมอยู่ด้วยจำนวนหนึ่งภายใต้ชื่อที่เรียกว่า “คณะราษฎร” ได้กระทำการยึดอำนาจการปกครองจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มาทำการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่จัดทำขึ้น ซึ่ง “คณะราษฎร” เป็นผู้ร่างขึ้นเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ต่อไป

แต่คนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากดังกล่าวนี้ ไม่รู้ดอกว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยมีพระราชบันทึกความเห็นของพระองค์ท่านเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ส่งไปยังคณะรัฐบาลของคณะทหารผู้ทำการปฏิวัติครั้งนั้นว่าอย่างไรบ้าง ลองหาอ่านกันดูที่กองจดหมายเหตุแห่งชาติบ้างก็ดี

แม้กระทั่งพระราชบันทึกของพระองค์ท่านในการสละราชสมบัติ เพราะอะไรนั้น คนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากเหล่านี้ก็ไม่ค่อยจะรู้อย่างละเอียดลึกซึ้งว่าทรงมีเหตุผลสำคัญต่างๆ อย่างไร เพราะไม่เคยอ่านกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ขอนำพระราชบันทึกทั้ง 2 ฉบับมาพูดให้ฟังในสาระสำคัญๆ บางประการ เพราะเป็นพระราชบันทึกที่ค่อนข้างจะยาวมาก

พระราชบันทึกเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ

1.ก่อนอื่นหมดข้าพเจ้าขอชี้แจงไว้เสียชัดเจนว่า เมื่อพระยาพหลฯและผู้ก่อการ ร้องขอให้ข้าพเจ้าอยู่ครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ข้าพเจ้าได้ยินดีรับรองก็เพราะเข้าใจและเชื่อมั่นว่าคณะผู้ก่อการฯต้องการจะสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือตามแบบอย่างของประเทศอังกฤษและประเทศอื่นๆ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้อำนาจอันจำกัด โดยรัฐธรรมนูญและรัฐสภาซึ่งประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งโดยแท้ ข้าพเจ้าเองก็ได้เล็งเห็นอยู่นานแล้วว่า เมื่อประเทศสยามได้มีการศึกษาเจริญขึ้นมากแล้ว ประชาชนคงจะประสงค์ที่จะให้เปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมืองแบบนี้

และตั้งแต่ข้าพเจ้าได้รับสืบราชสมบัติจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ข้าพเจ้าก็ได้คิดการที่บันดาลให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นไปได้ และได้กล่าวถึงความประสงค์นั้นหลายครั้งหลายหนโดยเปิดเผย โดยเหตุนี้เมื่อคณะผู้ก่อการฯ ขอร้องให้ข้าพเจ้าเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้ารับรองได้ทันทีโดยไม่มีเหตุขัดข้องใจอย่างไรเลย

ครั้นเมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปกรุงเทพฯแล้ว ได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่หลวงประดิษฐ์ฯได้นำมาให้ข้าพเจ้าลงนาม ข้าพเจ้ารู้สึกทันทีว่า หลักการของคณะผู้ก่อการฯกับหลักการของข้าพเจ้าไม่พ้องกันเสียแล้ว เพราะผู้ก่อการฯมิได้มีความประสงค์ที่จะให้เสรีภาพในการเมืองโดยสมบูรณ์ แต่หากต้องการให้มีคณะการเมืองได้แต่คณะเดียว ข้าพเจ้าเห็นว่าเวลานั้นเป็นเวลาฉุกเฉินและสมควรจะรักษาความสงบไว้ก่อนเพื่อหาโอกาสผ่อนผันภายหลัง และเพื่อมีเวลาสำเหนียกฟังความเห็นของประชาชนก่อน ข้าพเจ้าจึงได้ยอมผ่อนผันไปตามความประสงค์ของคณะผู้ก่อการในครั้งนั้น ทั้งที่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับหลักการเหล่านั้นเลย

ครั้งต่อมาในระหว่างที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่ ข้าพเจ้าก็ได้พยายามตักเตือนและได้โต้เถียงกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลาว่า ควรยึดถือหลัก “ประชาธิปไตย” อันแท้จริง มิฉะนั้นก็เป็นการเสียเวลาและเป็นการเสี่ยงภัยให้แก่ประเทศโดยใช่ที่ ในเวลาที่ฐานะของบ้านเมืองตกอยู่ในขีดคับขันและยากจน

นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังได้กล่าวความเห็นของข้าพเจ้าในข้อนี้โดยเปิดเผยเมื่อข้าพเจ้าไปให้รางวัลแก่นักเรียนโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ข้าพเจ้าเคยตักเตือนพระยามโนฯไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้เสนอคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า การที่จะให้สมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งคณะรัฐบาลเป็นผู้เลือกตั้งเองนั้น จะเป็นเหตุทำความไม่พอใจให้เกิดขึ้นได้ และเป็นอันตรายแก่วิธีการปกครองแบบใหม่ที่กำลังจะสถาปนาขึ้น โดยหวังว่าจะเป็นการถาวรและจะนำความสุขความเจริญมาสู่บ้านเมืองของเรา

ความตักเตือนของข้าพเจ้าเหล่านี้ไร้ผล เพราะคณะผู้ก่อการฯยืนยันในความประสงค์ที่จะยึดอำนาจไว้ในมือของคณะของตนให้จงได้อย่างน้อยเป็นเวลา 10 ปี ข้าพเจ้ารู้สึกในขณะนี้ว่า ถ้าจะโต้เถียงกันต่อไป การร่างรัฐธรรมนูญก็จะชักช้าไม่รู้จักแล้ว และอาจเป็นการแตกหักร้ายแรงเสียกว่าจะยอมที่ให้เป็นไปตามนั้น

ต่อมาข้าพเจ้าก็ได้ยินคำติเตียนหลักการอันนั้นในรัฐธรรมนูญมากขึ้นทุกที และหลักการอันนี้เป็นเหตุให้มีคนไม่พอใจในคณะรัฐบาลเป็นจำนวนมาก จนมีการเริ่มคิดที่จะล้มรัฐบาลเสียโดยพละการ เพื่อแก้ไขหลักการข้อนี้ตั้งแต่ก่อนจะทำพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ และยังมีอยู่เนืองๆ

ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าตราบใดยังมิได้แก้หลักการอันไม่พึงประสงค์นี้เสีย ความสงบราบคาบอันแท้จริงจะมีไม่ได้เลย รัฐบาลจะต้องใช้วิธีการประหัตประหารและปราบปรามอย่างรุนแรงอยู่เรื่อยไป

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ
...
เหตุสำคัญของการสละราชสมบัติของ ร.7 (2)

ในตอนที่ผ่านมา ได้นำพระราชบันทึกของล้นเกล้าฯ ร.7 เกี่ยวกับเรื่องที่ทรงไม่เห็นด้วยกับบทบัญญัติบางข้อของรัฐธรรมนูญที่คณะทหารที่ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเสนอมาเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ โดยในพระราชบันทึกดังกล่าวมีอยู่ด้วยกันหลายข้อนั้น วันนี้มาว่ากันต่อไปในข้อที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับนั้น

2. การที่ข้าพเจ้าขอร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เพราะข้าพเจ้าต้องการอำนาจ ข้าพเจ้าเบื่อหน่ายการเมืองเต็มที่ แต่เป็นเพราะข้อที่ข้าพเจ้าขอร้องดังที่ได้กล่าวมานั้นเป็นข้อที่ที่ทำให้คนไม่พอใจในรัฐธรรมนูญ จะทำให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่จะต้องรับบาปความซัดทอดและรับผิดชอบโดยไม่มีอำนาจเลย จะเหนี่ยวรั้งการกระทำของรัฐบาลหรือสภาฯมิได้เลย ถ้ารัฐบาลทำอะไรที่ไม่ถูกใจประชาชน ข้าพเจ้าก็ถูกติเตียนว่า “ทำไมปล่อยให้ทำไปได้ ทำไมไม่ห้าม” ซึ่งเป็นของที่น่ารำคาญเต็มทน และบางครั้งหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนรัฐบาลก็ชอบพูดซัดทอดด้วย เช่น “ทรงเห็นด้วยและทรงยอมแล้ว” ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ย่อมมีเสียงอยู่ได้เสมอว่าการปกครองที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้เป็นเผด็จการทางอ้อมไม่ใช่ “ประชาธิปไตย” จริงๆ เลย

3.ข้าพเจ้ายินยอมลงนามในรัฐธรรมนูญตามที่เสนอมานั้น แท้จริงข้าพเจ้าไม่ได้เห็นด้วยมาแต่ต้นและได้คัดค้านอยู่ตลอดเวลาแต่ไม่เป็นผลจึงได้จำใจยอมไป ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่ควรทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ การกระทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ข้าพเจ้าไม่ชอบ ต่อไปนี้ข้าพเจ้าขอให้รัฐบาลทำการตามหลักการของรัฐธรรมนูญจริงๆ คือ

ก.ให้เสรีภาพในการพูด การเขียน การโฆษณาจริงๆ แต่ที่เป็นมาแล้ว หนังสือพิมพ์ที่พูดอะไรไม่เป็นที่พอใจของรัฐบาลก็ถูกปิด หนังสือพิมพ์ที่คัดค้านนโยบายของรัฐบาลต้องเลิกล้ม เช่น หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ เป็นต้น ต่อไปขอให้อนุญาตให้หนังสือพิมพ์ออกความเห็นได้จริงๆ และให้ติชมนโยบายของรัฐบาลได้จริงๆ จะถูกปิดต่อเมื่อยุยงให้เกิดการจลาจลอย่างชัดๆ เท่านั้น เมื่อก่อนมีรัฐธรรมนูญนั้นหนังสือพิมพ์มีเสรีภาพกว่าเดี๋ยวนี้เป็นอันมาก ขอให้เลิกจับกุมราษฎรโดยหาว่า “กล่าวร้ายรัฐบาล”

ข.ให้เสรีภาพในการประชุมโดยเปิดเผยและการตั้งสมาคม เวลานี้ยังตั้งสมาคมการเมืองไม่ได้ ควรอนุญาตให้ตั้งได้ถ้าวัตถุประสงค์ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และต้องไม่ไห้ทหารบก ทหารเรือ และตำรวจประจำการเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง การประชุมนั้นเคยมีเรื่องแปลกๆ เช่น บุคคลบางจำพวกจะชวนเพื่อนฝูงไปเลี้ยงกัน ก็ถูกตำรวจฟ้องและถูกห้ามจนเป็นการเกรงกลัวกันมาก เป็นการตัดเสรีภาพและตัดความสุขของประชาชน เห็นควรเลิกกระทำชนิดนี้

4.ขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญ เพราะพระราชบัญญัตินี้มีวิธีการที่ขัดกับหลักเสรีภาพในร่างกายของประชาชน เช่น บุคคลอาจถูกจับกุมเพราะมีข้อคิดว่า คิดจะทำลายรัฐธรรมนูญ แล้วถูกนำตัวขึ้นให้คณะกรรมการที่ไม่ใช่ศาลพิจารณา และคณะกรรมการนั้นอาจสั่งให้เนรเทศบุคคลเหล่านั้นไปอยู่ในที่มีเขตจำกัด การกระทำเช่นนี้เป็นการตัดสิทธิ์ของพลเมืองในการที่จะต่อสู้ข้อหาของเจ้าหน้าที่ ถ้ามีเหตุที่ต้องจะชำระ ควรชำระโดยเปิดเผยในศาลหลวง ให้โอกาสจำเลยมีทนายว่าความและต่อสู้ความได้เต็มที่ ไม่ใช่ตัดสินกันอย่างงุบงิบ ซึ่งทำให้เห็นว่ารัฐบาลอาจขาดความยุติธรรม

5.ข้าพเจ้าเชื่อว่าความสงบราบคาบในบ้านเมืองจะมีมากขึ้น ถ้าหากได้มีการให้อภัยแก่นักโทษการเมืองที่ต้องถูกกักขังจำจอง หรือถูกลงโทษด้วยวิธีอื่นๆ อยู่ในเวลานี้ ถ้ายังไม่ปล่อยนักโทษการเมืองกันเสียบ้าง คงจะมีผู้ที่คิดจะยึดอำนาจเพื่อให้พวกนักโทษเหล่านั้นได้พ้นจากทุกข์เวทนา ยิ่งทิ้งไว้บานไปก็จะต้องจับขังกันเป็นจำนวนมากขึ้นทุกที เพราะฉะนั้นขอให้มีการให้อภัยโทษแก่นักโทษการเมืองดังต่อไปนี้

ก.นักโทษประหารชีวิต ให้เปลี่ยนโทษเป็นเนรเทศไปอยู่ที่จำกัดตามแต่จะกำหนดเป็นเวลา 10 ปี (เอาบุตรภรรยาไปอยู่ด้วยก็ได้)

ข.นักโทษจำคุกตลอดชีวิตให้ลดโทษเป็นอย่างเดียวกับข้างบนนี้ แต่ให้มีกำหนดเพียง 5 ปี

ทั้งสองประเภทนี้ ถ้าผู้ใดเจ็บป่วยและแพทย์อันมีชื่อเสียงแนะนำให้รักษาตัว ณ ที่ใดแล้ว ขอให้ผ่อนผันให้รักษาตัวได้ตามคำแนะนำแพทย์

ค.นักโทษอื่นๆ ที่มีโทษต่ำกว่าที่กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าประเภทใดและไม่ว่าถูกจับกุมไปในคราวใด ถ้าเนื่องจากโทษการเมืองให้พ้นโทษไปสิ้น

6.ข้าราชการที่ถูกปลดจากราชการโดยฐานถูกสงสัยว่าจะมีความผิดทางการเมืองก็ดี หรือที่ถูกกล่าวหาว่า “กล่าวร้ายรัฐบาล” และถูกลงโทษไปแล้วก็ดี แต่ถูกตัดสิทธิ์ในการรับเบี้ยบำเหน็จบำนาญ ขอให้เขาได้กลับได้รับบำเหน็จบำนาญตามที่เขามีเกณฑ์จะได้ในวันที่ถูกปลดนั้น

7.ข้าราชการที่ยังถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกบฏครั้งใดๆ ก็ตาม และที่กำลังจะฟ้องหรือดำริจะฟ้อง ขอให้งดการฟ้องร้องจับกุมนั้นเสีย

8.ขอให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรให้คำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ข้าพเจ้าว่า จะไม่ตัดกำลังและตัดงบประมาณของทหารรักษาวังให้น้อยกว่าเท่าที่มีอยู่ในเวลานี้ เว้นแต่ข้าพเจ้าจะขอร้องเอง และจะคงให้ทหารรักษาวังอยู่ในฐานะที่เป็นอยู่ ณ บัดนี้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

พระราชบันทึกของล้นเกล้าฯ ร.7 ดังกล่าวนี้ได้ส่งให้รัฐบาลในขณะนั้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2477 พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีได้นำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2477 (สมัยนั้นยังใช้วันปีใหม่ไทยเป็นเดือนเมษายน) ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม มีสมาชิกสภาเข้าประชุม 140 คน มีการอภิปรายถกเถียงกันจนถึงเวลา 23.30 น. ก็ปิดอภิปรายและลงมติ

ผลการลงมติปรากฏว่า “ไม่เห็นชอบ 96 เสียง” และ “เห็นชอบ 8 เสียง” ซึ่งเป็นอันว่าพระราชบันทึกความประสงค์ของ ล้นเกล้าฯ ร.7 ดังกล่าวต้องตกไป เป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าเกลียวสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นได้ขาดสะบั้นลงแล้ว
...
 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรในกรุงเทพฯลงมติด้วยเสียงข้างมาก 96 ต่อ 8 เสียง ไม่ยอมรับพระราชวินิจฉัยของพระองค์ท่านดังรายละเอียดที่นำมาลงให้ทราบในตอนที่ผ่านมา ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 พระองค์ท่านก็ได้แจ้งแก่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ ผู้แทนรัฐบาลไทยในสมัยนั้นที่ไปเข้าเฝ้าว่าทรงขอสละราชสมบัติ พร้อมกับเอกสารที่เป็นลายพระหัตถ์เพื่อนำไปแจ้งให้รัฐบาลทราบต่อไป

หนังสือพิมพ์และวิทยุในกรุงลอนดอนได้กระจายข่าวดังกล่าวก้องไปทั่วโลก พร้อมพระราชบันทึกฉบับสุดท้ายที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งอธิบายเหตุผลสำคัญในการสละราชสมบัติของพระองค์ท่านครั้งนี้ มีความสำคัญดังต่อไปนี้

“เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนากับพวกได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง โดยใช้กำลังทหารในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 แล้วได้มีหนังสือมาอัญเชิญข้าพเจ้าให้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้นเพราะเข้าใจว่า พระยาพหลฯและพวกจะสถาปนารัฐธรรมนูญตามแบบอย่างประเทศทั้งหลายซึ่งใช้การปกครองตามหลักนั้น เพื่อให้ประชาราษฎรได้มีสิทธิ์ที่จะออกเสียงในวิธีดำเนินการปกครองประเทศ และนโยบายต่างๆ อันที่จะเป็นผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไป

ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสในวิธีการเช่นนั้นอยู่แล้ว และกำลังดำริจะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามให้เป็นไปตามรูปนั้น โดยมิมีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง เมื่อมามีเหตุรุนแรงขึ้นเสียแล้วและเมื่อผู้ก่อการรุนแรงนั้นอ้างว่ามีความประสงค์จะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น ก็เป็นอันไม่ผิดหลักการที่ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงเห็นควรโน้มตามความประสงค์ของผู้ก่อการยึดอำนาจนั้นได้ เพื่อหวังความสงบราบคาบในประเทศ

ข้าพเจ้าได้พยายามช่วยเหลือในการรักษาความสงบราบคาบ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญนั้นเป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นได้ แต่ความพยายามของข้าพเจ้าก็ไร้ผล โดยเหตุที่ผู้ก่อการปกครองหาได้กระทำให้บังเกิดความมีเสรีภาพในการเมืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นไม่ และมิได้ฟังความคิดเห็นของราษฎรโดยแท้จริง และจากรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับจะพึงเห็นได้ว่า อำนาจที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ นั้น จะตกอยู่แก่คณะผู้ก่อการและผู้ที่สนับสนุนเป็นพวกเท่านั้น มิได้ตกอยู่แก่ผู้แทนซึ่งราษฎรได้เป็นผู้เลือก

เช่นฉบับชั่วคราวแสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้ใดไม่ได้รับความเห็นชอบของผู้ก่อการ จะไม่ให้เป็นผู้แทนราษฎรเลย

ฉบับถาวรได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นตามคำร้องของข้าพเจ้า แต่ก็ยังมีสมาชิกซึ่งตนเลือกเองเข้ากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครึ่งหนึ่ง การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก 2 ประเภท ก็หวังว่าสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน และชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองโดยทั่วไป ไม่จำกัดว่าเป็นพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ

นอกจากนี้ คณะผู้ก่อการบางส่วนได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงการเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง จึงเกิดแตกร้าวกันขึ้นเองในคณะผู้ก่อการและพวกพ้อง จนต้องมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยคำแนะนำของคณะรัฐบาล ซึ่งถือตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น ทั้งนี้เป็นเหตุให้มีการปั่นป่วนในการเมือง

ต่อมาพระยาพหลฯกับพวกก็กลับเข้าทำการยึดอำนาจโดยกำลังทหารเป็นครั้งที่ 2 และแต่นั้นมาความหวังที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างราบรื่นนั้น ก็ลดน้อยลง

เนื่องจากเหตุที่คณะผู้ก่อการมิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองอันแท้จริง และประชาชนไม่ได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะดำเนินนโยบายอันสำคัญต่างๆ จึงเป็นเหตุให้มีการกบฏขึ้น ถึงกับต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเองระหว่างคนไทย

เมื่อข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเสียให้เข้ารูปเข้ารอยประชาธิปไตยอันแท้จริง เพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ประชาชน คณะรัฐบาลและพวกซึ่งกุมอำนาจอยู่บริบูรณ์ในเวลานี้ก็ไม่ยินยอม

ข้าพเจ้าเห็นว่า คณะรัฐบาลและพวกพ้องใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้อง ตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถจะยินยอมให้ผู้ใด คณะใด ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

นี่คือพระราชบันทึกฉบับสุดท้ายของ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 เกี่ยวกับการสละราชสมบัติของพระองค์ท่าน เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ
แนวหน้า 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557

28
 ประเทศไทยหลังการรัฐประหารครั้งนี้ ได้เกิดแม่น้ำขึ้น 5 สาย (ตามคำเปรียบเทียบของคณะรัฐประหารเอง) ประกอบด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแต่ละคณะมีอำนาจหน้าที่ในการทำงานตามที่กำหนดไว้ในขอบเขตของตน เป็นระยะเวลาประมาณหนึ่งปี

การไหลมาของน้ำในแม่น้ำแต่ละสายดังกล่าวไม่ได้ไหลมาจากน้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเหมือนแม่น้ำทั้งหลาย ที่เป็น “ของฟรี” ซึ่งชาวบ้านทั้งหลายต่างก็ได้ประโยชน์ลูกเดียวจากน้ำในแม่น้ำนั้น แต่สำหรับแม่น้ำ 5 สายที่เกิดจากการรัฐประหารดังกล่าวนี้ ชาวบ้านทั้งหลายต้องเสียเงินในการไหลของน้ำแต่ละสาย ผ่านภาษีของตนในการไหลของน้ำ ไม่ใช่ได้น้ำมาใช้อย่างฟรีๆตามธรรมชาติเหมือนแม่น้ำอื่นๆ

เปิดหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนที่ 75 ก. หน้า 13-17 ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2557 ดูก็ได้จะรู้รายละเอียดทั้งหมดว่า “ภาษีของชาวบ้าน” ต้องจ่ายให้กับแม่น้ำแต่ละสายทั้ง 5 สาย เป็นจำนวนเงินเดือนละเท่าไร

ราชกิจจานุเบกษาฉบับดังกล่าวตีพิมพ์แจกแจงรายละเอียดของ พระราชกฤษฎีกา เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นต่างๆ ของผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไว้อย่างครบถ้วน

ส่วนของคณะรัฐบาลนั้นคงเป็นไปตามเดิมเหมือนที่ผ่านๆมา ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นๆในคณะรัฐมนตรี

พูดได้ว่าขับเคลื่อนด้วยภาษีชาวบ้านทั้งสิ้น

พระราชกฤษฎีกาที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับดังกล่าว มีทั้งหมด 11 มาตรา จะขอยกบางมาตราที่สำคัญๆซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งในคณะต่างๆมาบอกกล่าวให้ทราบ ว่าแต่ละเดือน แต่ละครั้งของการประชุมนั้น ภาษีชาวบ้านหมดไปเท่าไร

มาตรา 3 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินที่เพิ่มเป็นรายเดือน ตามบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ นับตั้งแต่วันดำรงตำแหน่ง แต่ไม่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ

ให้ผู้ดำรงตำแหน่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือน ตามบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ นับตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง แต่สมาชิกผู้ใดไม่มาประชุมเกินกึ่งหนึ่งของกำหนดนัดประชุมในแต่ละเดือน ไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มเป็นรายเดือนสำหรับเดือนนั้น เว้นแต่กรณีไม่มาประชุมเพราะเหตุไปราชการของสภา โดยได้รับอนุญาตจากประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกอยู่

ผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นข้าราชการ และมีเงินเดือนประจำอยู่แล้ว ถ้าไปดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองด้วย ผู้นั้นไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนในตำแหน่งข้าราชการการเมืองอีก

มาตรา 4 ให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ครั้งละหกพันบาท สำหรับผู้ทำหน้าที่ประธานให้ได้รับเบี้ยประชุมเพิ่มขึ้นอีกสามพันบาท วันใดมีการประชุมหลายครั้งให้ได้รับเบี้ยประชุมเพียงครั้งเดียว

กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือผู้ทำหน้าที่ประธาน ซึ่งมิได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละห้าสิบของค่าตอบแทนที่พึงได้ตามวรรคหนึ่ง

มาตรา 5 ให้กรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ครั้งละหนึ่งพันห้าร้อยบาท และให้อนุกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ และอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ครั้งละแปดร้อยบาท

สำหรับอัตราเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ สภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น ได้กำหนดไว้ต่อท้ายพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ (ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 3) ดังนี้

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 75,590 บาท/เดือน และเงินเพิ่ม 50,000 บาท/เดือน

ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในคณะรักษาความสงบแห่งชาติและประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 74,420 บาท/เดือน และเงินเพิ่ม 45,500 บาท/เดือน

รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 73,240 บาท/เดือน และเงินเพิ่ม 42,500 บาท/เดือน

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท/เดือน และเงินเพิ่ม 42,330 บาท/เดือน

ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมาข้างต้นนี้ ยังไม่ได้หยิบยกผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆของคนที่ดำรงตำแหน่งต่างๆดังกล่าว ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มากล่าวให้ทราบเพราะเนื้อที่จำกัด ขอให้ไปหาอ่านกันเองก็แล้วกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเดินทางในประเทศ หรือต่างประเทศ ซึ่งใช้อัตราเดียวกันกับปลัดกระทรวง

เพราะฉะนั้น ขอให้แม่น้ำแต่ละสายทั้ง 5 สายดังกล่าวนี้ ได้พัดพาน้ำอันบริสุทธิ์มาให้ชาวบ้านผู้เสียภาษีเป็นเงินมาให้ใช้จ่ายกันในการทำงานดังกล่าว ได้ดื่มได้ใช้กันจริงๆ

อย่ามัวเพ้อเจ้อพล่ามโน่นพล่ามนี่ไม่เป็นเรื่องเป็นราว ให้รกหูรกตา อย่างที่ชาวบ้านกำลังอึดอัดใจกันอยู่ในขณะนี้เลย เดี๋ยวจะเกิดเรื่องอีก

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ
แนวหน้า  29 ธันวาคม พ.ศ. 2557

29
 ในฐานะประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน ประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์สูงมากจากราคาน้ำมันที่ต่ำลง

ถ้าน้ำมันดิบอยู่ในระดับราคาประมาณ 60 เหรียญต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในเมืองไทยน่าจะทยอยลดราคาลงไม่ต่ำกว่า 30% จากจุดสูงสุด

แต่ปรากฏว่าช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันที่ดิ่งเหวกลับกลายเป็นข่าวในทางลบสำหรับเศรษฐกิจไทย

"หุ้นตก" ก็บอกว่ามาจากน้ำมันลด

ทั้งที่น่าจะมีผลจากข่าวลืออัปมงคลมากกว่า

ในมุมของภาคธุรกิจ ราคาน้ำมันที่ลดลงครั้งนี้น่าจะเป็นผลดีระดับ A+

เป็น "ข่าวดี" ที่สุดสำหรับเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่เห็นวี่แววจะฟื้นตัว

คำถามก็คือเราจะรับ "ข่าวดี" นี้อย่างไร

หรือจะใช้ "โอกาส" นี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร

"เก่ง" หรือ "ไม่เก่ง" บางทีก็วัดกันตอน "โอกาส" หล่นทับ และตอนที่เผชิญ "วิกฤต"

จะทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด หรือเสียหายต่ำสุด

"ฝีมือ" วัดกันตอนนี้

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากเล่าให้ฟัง เป็นผลพวงจากการ "คิดต่อ" เรื่องกลยุทธ์การส่งออกของ "คาราบาวแดง"

พี่เสถียร เศรษฐสิทธิ์ เคยบอกว่าเขาเลือกบุกกัมพูชาเป็นหลัก คิดแบบละเอียดว่าจะลุยตลาดแบบไหน

ไม่ได้คิดเพียงแค่ตั้งเอเย่นต์แล้วปล่อยไปตามชะตากรรม

แต่เข้าไปช่วยอย่างจริงจัง เข้าไปช่วยกระจายสินค้าไปต่างจังหวัด

จัดคอนเสิร์ตศิลปินกัมพูชาในพื้นที่ ทำแคมเปญชิงโชค ฯลฯ

ตั้งเป้า "คาราบาวแดง" ต้องเป็นที่ 1 ที่กัมพูชา

ผมนึกถึงผลวิจัยทางประวัติศาสตร์การเมืองเรื่อง "แผนที่"

เพราะเส้นแบ่งเขตแดนทำให้เราคิดว่าเราเป็นคนของประเทศไหน

ทั้งที่ในพื้นที่ชายแดนคนหนองคายกับคนเวียงจันทน์จะคุ้นเคยกันกว่าคนหนองคายกับกรุงเทพฯ

คนบุรีรัมย์กับคนกัมพูชาจะสนิทสนมกันกว่าคนบุรีรัมย์กับคนยะลา

ครับ ถ้าเราลบเส้นแผนที่ออกไป ก็จะเหลือแต่ความสัมพันธ์ที่เป็นจริง

คิดแบบนี้เมืองไทยก็ไม่ได้มี 77 จังหวัด

เราสามารถคิดกับเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ติดชายแดนไทยให้เสมือนเป็น 1 จังหวัดของไทยก็ได้

พอเราคิดว่าเป็นจังหวัดของไทย

เราจะคิดการทำตลาดแตกต่างจากที่ทำอยู่ตอนนี้

เพราะตอนนี้เราคิดว่าเป็นเมืองหนึ่งในลาว พม่า กัมพูชา เราก็จะแค่ส่งสินค้าให้เอเย่นต์ในเมืองนั้นดำเนินการ

ไม่เข้าไปลงแรงเหมือนกับการทำตลาดในต่างจังหวัด

แต่ถ้าเราไม่ยึดติดกับเส้นเขตแดน คิดว่าเมืองท่าขี้เหล็กที่อยู่ติดกับเชียงรายมีประชากร 1 ล้านคนของพม่าเป็นจังหวัดหนึ่งของไทย เพียงแต่พูดคนละภาษากัน

คล้าย ๆ กับ "แม่สอด" ที่คนพม่าเต็มเมือง หรือคนไทยพูดพม่าได้

คล้ายกับ "บุรีรัมย์" ที่คนไทยพูดภาษาเขมรได้

เพียงแค่มุมคิดเปลี่ยน ตลาดเปลี่ยนเลยนะครับ

กลายเป็นว่าเรามีจังหวัดใหม่อีกกว่า 10 จังหวัดที่เรายังไม่ได้ทำตลาดอย่างจริงจัง

ถ้าตั้งทีมการตลาดซึ่งอาจเป็นคนพื้นที่ทำกิจกรรมการตลาดเหมือนเป็นจังหวัดหนึ่งของเรา

เครื่องดื่มก็มีทีมเข้าถึงตู้แช่ ถ้าเป็นสินค้า

ทั่วไปก็บุกเข้าร้านโชห่วย

ยิ่งได้ปัจจัยเสริมจาก 2 เรื่อง คือ "ราคาน้ำมัน" ที่ลดลง กับ AEC

ราคาน้ำมันลด ค่าขนส่งก็ลดลง

เพราะการที่ไปส่งสินค้าที่หนองคายกับไปเวียงจันทน์ ต้นทุนก็เพิ่มนิดเดียว

จะทะลุทะลวงต่อแบบ "คาราบาวแดง" ก็ได้

หรือเรื่อง AEC ยิ่งถือเป็น "โอกาส" เพราะทำให้การส่งออกง่ายขึ้น

ในทางธุรกิจเราก็สามารถคิดแบบนี้ได้ เหมือนกับที่ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัว

ซีพี จะบอกว่าทรัพยากรทั้งโลกเป็นของซีพี คนทั้งโลกเป็นของซีพี ตลาดทั้งโลกเป็นของซีพี

ไม่ได้จำกัดกรอบว่าจะต้องอยู่ในเมืองไทย

"โอกาส" ในโลกนี้มีทั้ง "โอกาส" ที่ลอยลงมาจากฟ้า

คนอื่นประทานให้

และ "โอกาส" ที่เราสร้างขึ้นเอง

แค่เปลี่ยนกรอบความคิด ไม่ติดกับเส้นแผนที่

"โอกาสใหม่" ก็เกิดขึ้นครับ


 24 ธ.ค. 2557
คอลัมน์ Market-Think โดย สรกล อดุลยานนท์
ประชาชาติธุรกิจ

30
สำนวนเศรษฐศาสตร์ที่ว่า “No free lunch” หรือแปลเป็นแบบไทยๆ ที่กว้างยิ่งกว่าว่า “โลกนี้ไม่มีของฟรี” ยังใช้ได้อยู่เสมอ
    เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว อาจารย์โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2558จะขยายตัวได้ประมาณ 3-4 % ซึ่งถือเป็นอัตราที่ตํ่ากว่าศักยภาพของไทย เป็นผลกระทบจากโครงการประชานิยม ที่ยังคงกดดันการบริโภคและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน เนื่องจากหนี้ภาคครัวเรือนสูง
    แต่ผลกระทบจากโครงการประชานิยมในช่วงปี 2558-2559 จะทยอยเริ่มลดลง หลังจากนั้นคงใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจึงจะกลับมาปกติ
    ส่วนที่มีผู้เสนอให้กนง.หรือคณะกรรมการนโยบายการเงิน ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น อาจารย์โฆสิตมีมุมมองว่า แม้อัตราดอกเบี้ยจะลดลง แต่คงไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะการบริโภคถูกกดดันจากนโยบายประชานิยม และแนะว่าควรใช้นโยบายการคลังดูแลเศรษฐกิจมากกว่า
    เพราะถ้าลดดอกเบี้ยลงตํ่าเกินไป จะส่งผลให้คนไม่ออมเงิน และทำให้ปริมาณเงินออมในระบบลดลง
    คำว่า “โลกนี้ไม่มีของฟรี” ของนักเศรษฐศาสตร์จึงหมายความว่า ของที่บอกว่าฟรีที่ให้ใครบางคนไปนั้น เมื่อไล่ดูอย่างถี่ถ้วนท้ายที่สุดแล้ว ต้องมีใครสักคนเป็นคนจ่าย หรือรับภาระ
    เช่นเดียวกับการโหมกระตุ้นให้คนบริโภคในยุคก่อนหน้า เพื่อเป่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้โตไม่หยุด ถึงขั้นหนึ่งโตเกินศักยภาพเกิดเป็นฟองสบู่เพื่อรอวันแตกดับ หรือเป็นการโตโดยไม่มีพื้นฐานรองรับ
    วันนี้เมื่อหนี้ท่วมหัว ถึงจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบหวังกระตุ้นก็ไม่เป็นผล เศรษฐกิจที่ควรจะขยายได้ 5-6% ก็ไปไม่ถึง ต้องติดกับดักโตไม่เต็มศักยภาพเรื้อรังจนกว่าจะ “ใช้หนี้” กันหมด
    วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ประเด็นหลักยังเป็นเรื่องการสะสางปัญหาข้าวโครงการรับจำนำ ที่ยังแบกสต๊อกบานเบอะ 17ล้านตัน และกดดันราคาข้าวตลาดโลกไม่ให้โงหัว
    จึงต้องเร่งอนุมัติระบายข้าวในโกดัง ที่เวลานี้แบ่ง 4 เกรด คือ ข้าวผ่านมาตรฐาน ข้าวเสื่อมสภาพผิดมาตรฐาน ข้าวปรับปรุงได้ และผิดชนิดข้าวโดยดำเนินการ 3 แนวทาง เอ ขายตามมาตรฐาน บี ปรับปรุงข้าว และซี แจ้งความดำเนินคดี
    โดยจะดำเนินการทั้งทางอาญาและทางแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหาย ซึ่งทั้งหมดส่งไปยังกระบวนการยุติธรรมแล้ว ทั้งนี้ ผลการปิดบัญชีข้าวพบว่า มีตัวเลขขาดทุนโดยประมาณ 6.8 แสนล้านบาท
    กรณีโครงการรับจำนำข้าวก็เช่นกัน วันนี้ชัดแล้วว่า “คนที่ต้องจ่าย”คือ คนไทยทั้งประเทศที่ต้องร่วมรับภาระหนี้การขาดทุนโครงการมหาประชานิยมดังกล่าว และอาจต้องจ่ายกันไปเป็น 20-30 ปี จนกว่าจะเคลียร์หนี้หมด
    หรือกรณีรถคันแรก ที่เป็นการเร่งดึง “ความต้องการในอนาคต” มาใช้ก่อนให้ทันกรอบเวลาโครงการ ไม่เพียงดูดคนตกบ่วงหนี้โดยไม่พร้อม ยังกระทบไปถึงโครงสร้างการผลิต-การตลาดรถยนต์ต่อเนื่อง วงการเพิ่งวางใจว่า อุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มกลับสู่พื้นฐานปกติในปีหน้าเป็นต้นไป

อะไรที่เกินจริงมีค่าใช้จ่ายเสมอ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 3,011  วันที่  21 - 24 ธันวาคม  พ.ศ. 2557
 

หน้า: 1 [2] 3 4 ... 12