ผู้เขียน หัวข้อ: เบตง เมืองเย็นในแดนเดือด-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 3324 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ท่ามกลางไฟร้อนที่แผดเผาแดนใต้ของแผ่นดินไทย เมืองเล็กๆแห่งหนึ่งซ่อนอยู่กลางเทือกเขาสลับซับซ้อนที่โอบล้อมชาวบ้านหลาย เชื้อชาติศาสนา ให้อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุขจนน่าประหลาดใจว่า เมืองนี้มีเวทมนตร์ใดช่วยสกัดเหตุร้ายที่รายล้อมไว้ได้

        ถึงแม้จะล่วงเลยเวลาเที่ยงวันมานานแล้ว สายฝนเม็ดใหญ่ที่กระหน่ำลงมาอข่างหนักตั้งแต่เช้าก็ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงง่ายๆ ยังผลให้วิถีชีวิตกลางแจ้งในเมืองเบตงระหว่างฤดูมรสุมไม่คึกคักเท่าที่ควร แต่เสียงเพลงจากร้านคาราโอเกะที่ฝังตัวอยู่ตามห้องแถวยังคงดังแข่งกับเสียงเรียกเชื้อเชิญลูกค้าของบรรดาบริกรสาวหน้าร้าน ผมเฝ้ามองความเคลื่อนไหวของผู้คน และความเป็นไปของสรรพสิ่งตลอดสองฝั่งถนนอย่างใคร่รู้ว่า เหตุใดเมืองเล็กๆบนที่ราบใจกลางขุนเขาน้อยใหญ่ห่างไกลผู้คนแห่งนี้ สามารถดำรงอยู่อย่างสงบร่มเย็นท่ามกลางไฟใต้อันร้อนระอุได้อย่างน่าอัศจรรย์
        หลังฝนซา ภาพของเมืองชายแดนขนาดกะทัดรัดที่มีวัดวาอาราม ศาลเจ้า มัสยิด และโบสถ์คริสต์วางตัวอยู่ไม่ห่างไกลกัน อีกทั้งร้านค้าไปจนถึงตลาดสดเทศบาลซึ่งรวบรวมคนจีน คนมุสลิม และคนไทยต่างถิ่นที่เข้ามาประกอบสัมมาอาชีพไว้ด้วยกันโดยไม่สร้าง ความแปลกแยกเริ่มปรากฏชัดเจนต่อสายตาขึ้นมาทันที
        แม้ชาวเบตงจะมีความหลากหลาย แต่ความแตกต่างดังกล่าวกลับไม่ได้สร้างปัญหาใดๆ ทั้งยังเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตจนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขเรื่อยมา จากคำบอกเล่าของตาโต๊ะคุณวุฒิ มงคลประจักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองเบตง ยืนยันถึงสันติสุขที่มีมานานว่าเกิดจากการร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวของบรรดาพี่น้องชาวไทยทั้งเชื้อสายจีน และมุสลิม ที่เคยร่วมกันสร้างบ้านแปงเมืองกันมานับร้อยปี จวบจนปัจจุบันคนในเบตงยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันหลากหลายของทั้งสองฝ่ายโดยไม่มีการแบ่งแยก เรียกได้ว่ากลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวมาตลอด จะไม่เกิดประเด็นความขัดแย้งของเชื้อชาติและศาสนาในเมืองเบตง นั่นคือสิ่งที่คนในชุมชนพยายามรักษาเอาไว้
        สาเหตุที่เบตงมีความหลากหลายเช่นนี้ก็เนื่องมาจาก ในยุคแรกเริ่มบริเวณนี้มีเพียงกลุ่มคนที่พูดภาษายาวีหรือมลายู และมีความสัมพันธ์กับชาวมาเลเซีย กระทั่งราวปี พ.ศ. 2343 ได้มีหนุ่มสาวจากประเทศจีนเดินทางโดยเรือมาขึ้นฝั่งที่ประเทศมาเลเซียแล้วเดินเท้า หรือนั่งเกวียนต่อมายังที่นี่ ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียบป่าทึบที่เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด เพื่อเข้ามาตั้งรกราก และทำการค้า หลังจากนั้นกิจการได้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับจำนวนชาวจีนที่เดินทางเข้ามาอย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่ปีฝืนป่าอันกว้างใหญ่ได้รับการแปรสภาพเป็นสวนยางพารา และกลายเป็นเมืองที่มีความเจริญกลางหุบเขาน้อยใหญ่ในที่สุด
        นอกจากนี้แล้ว พื้นที่อำเภอเบตงยังเคยเป็นฐานปฏิบัติของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) เมื่อครั้งสหพันธรัฐมลายูยังอยู่ภายใต้อาณานิคมของสหราชอาณาจักร และหลังจาก จคม. ได้มอบตัวเพื่อเข้าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2530 จึกเกิดหมู่บ้านชาวจีนชื่อว่าบ้านปิยะมิตรในเขตตำบลตาเนาะแมเราะ ซึ่งอยู่รอบนอกเมืองเบตงเพิ่มขึ้นมา โดยทุกวันนี้สมรภูมิดังกล่าวกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ที่ดึงดูดชาวไทย และเพื่อนบ้านให้เข้ามาเยี่ยมชมแหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์ได้ปีละจำนวนไม่น้อย
เรื่องโดย กษิดิศ รัตนโอภาส
ธันวาคม 2548