ผู้เขียน หัวข้อ: "อภัยธรรม"...และแนวคิด ออง ซาน ซูจี  (อ่าน 3250 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
"อภัยธรรม"...และแนวคิด ออง ซาน ซูจี
« เมื่อ: 23 ธันวาคม 2011, 21:18:56 »
น้ำลดไม่ทันแห้งดี ข่าวคราวก็กลับมารุกเร้าร้อนแรง ฝ่ายต่าง ๆ ทำท่าขมีขมัน กระเหี้ยนกระหือรือจะห้ำหั่นตัดตอนสิทธิเสรีภาพทางความคิดความเห็นกันวุ่นวายอีก เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศตึงเครียด ผมจึงอยากหันมาชวนคิดอ่านเรื่องอะไรที่มันหน่อมแน้มนุ่มนวลไม่รุนแรงบ้าง

เผื่อจะช่วยส่งเสริมบรรยากาศรักสามัคคี มีน้ำใจ (คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเห็นฝรั่งสมัยรัชกาลที่ 4 แปลตรงตัวจับใจว่า water from the heart เรื่อยไหลใสเย็นชุ่มฉ่ำอะไรทำนองนั้น) เมตตา โอนอ่อนผ่อนปรนต่อกันตามแบบฉบับไทยๆ เรา

ผมไปร้านหนังสือเมื่อวาน เห็นหนังสือภาพ Abhaya: Burma"s Fearlessness ของ James Mackay ช่างภาพชาวอังกฤษซึ่งรวมภาพถ่ายและเรื่องราวนักโทษการเมืองในพม่า ตั้งเด่นอยู่หน้าร้าน ปกหนังสือแสดงภาพนางออง ซาน ซูจี แกนนำการต่อสู้เพื่อเสรีประชาธิปไตยของพม่า ยกมือข้างขวาที่ในอุ้งมือเขียนชื่อนักโทษการเมืองพม่าคนหนึ่งไว้แบออกด้านหน้า กึ่งเลียนท่าพระพุทธรูปปางประทานอภัย (ที่ว่ากึ่งก็เพราะปกติพระพุทธรูปปางนั้นจะ "ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองเบนไปข้างหน้าเล็กน้อย" ส่วนในภาพ เธอยกมือขวาข้างเดียว ดู www.dhammathai.org/pang/pang12.php?#58) เพื่อร่วมรณรงค์เรียกร้องให้ทางการพม่าปล่อยตัวบรรดานักโทษการเมืองทั้งหลายเป็นอิสระ

ประจวบกับปรากฏรายงานข่าวการเดินขบวน "อภยยาตรา" (Fearlessness Walk) รณรงค์ให้สังคมรับรู้ปัญหาคดี "อากงส่งเอสเอ็มเอส" เมื่อวันรัฐธรรมนูญที่ 10 ธันวาคมศกนี้  และเปิดตัวสมุดภาพ "ก้าวข้ามความกลัว" (Thailand"s Fearlessness: Free Akong) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในเวลาต่อมา  ตามที่ปรากฏในมติชนออนไลน์เองด้วย

จึงเป็นจังหวะดีที่จะลองหยิบความหมายนัยเชิงลึกของแนวคิด "อภัย" แบบที่ออง ซาน ซูจี นำไปตีความใช้ในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในพม่ามาทบทวนเป็นอนุสติสักเล็กน้อย ประกอบการคลี่คลายหาทางออกจากความแตกต่างขัดแย้งในบ้านเรา

ออง ซาน ซูจีอธิบายแนวคิดเรื่อง "อภัย" ซึ่งอิงพุทธธรรมของเธอไว้ในบทความชื่อ "Freedom from Fear" (อิสรภาพจากความกลัว ดู en.wikiquote.org/wiki/Aung_San_Suu_Kyi#Freedom_from_Fear_.281991.2) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1991 ในโอกาสที่สภายุโรปมอบ "รางวัลซาคารอฟเพื่อเสรีภาพทางความคิด" ให้แก่เธอโดยลูกชายคนรองเป็นผู้รับแทนแม่ เนื่องจากเจ้าตัวถูกรัฐบาลทหารชายอกสามศอกของพม่ากักขังไว้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ.1989

ออง ซาน ซูจีเริ่มต้นบทความของเธอว่า: -

"อำนาจไม่ใช่ตัวการทำให้คนเราเสื่อมดอก แต่ความกลัวต่างหากที่ทำให้เราเสื่อม ความกลัวเสียอำนาจทำให้คนกุมอำนาจเสื่อม และความกลัวโทษทัณฑ์จากอำนาจก็ทำให้บรรดาผู้ที่ตกอยู่ใต้อำนาจเสื่อมเช่นกัน

"ชาวพม่าส่วนใหญ่คุ้นกับอคติทั้งสี่ หรือความเสื่อมทั้งสี่ประการ คือ

"ฉันทาคติหรือความเสื่อมอันเกิดแต่กิเลสตัณหา หมายถึงการเบี่ยงเบนออกไปจากที่ชอบที่ควร เพื่อหาสินบนหรือเพื่อคนที่ตนรัก

"โทสาคติหมายถึงการประพฤติผิดเพื่อเล่นงานผู้ที่ตนถือโทษโกรธเคือง

"และโมหาคติคือการผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนไปเนื่องจากอวิชชา

"แต่ที่ร้ายที่สุดในอคติทั้งสี่น่าจะได้แก่ภยาคติเพราะไม่แต่ภยาหรือความกลัวจะบีบคั้นและค่อยๆ กัดกร่อนทำลายสำนึกผิดชอบชั่วดีให้หมดสิ้นไปเท่านั้น มันยังมักจะเป็นรากเหง้าของความเสื่อมสามประเภทแรกที่กล่าวมาแล้วด้วย

"ดังที่ฉันทาคติในยามที่มันไม่ใช่เป็นผลจากความโลภโมโทสันล้วนๆ ก็อาจเกิดจากความกลัวว่าตัวเองจะขาดแคลน หรือกลัวจะสูญเสียความปรารถนาดีของผู้ที่ตนรักไปฉันใด ความกลัวจะถูกแซงหน้า, เสียหน้าหรือเจ็บช้ำก็อาจกระตุ้นให้เกิดโทสะประสงค์ร้ายขึ้นมาในบางลักษณะได้ฉันนั้น และคงเป็นการยากยิ่งที่จะขจัดปัดเป่าโมหะอวิชชาไปได้ เว้นเสียแต่มีเสรีภาพที่จะแสวงหาสัจธรรมโดยไม่ถูกความกลัวเหนี่ยวรั้ง

"เมื่อความกลัวกับความเสื่อมสัมพันธ์กันแนบชิดเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ในสังคมใด หากเต็มไปด้วยความกลัวแล้ว ความเสื่อมในทุกรูปแบบย่อมฝังตัวหยั่งลึกยิ่ง"

น่าสังเกตว่าซูจีชี้ว่าความกลัวทำให้เกิดความเสื่อมหรือภยาคติขึ้น 2 ด้าน ได้แก่ 1) ความเสื่อมหรือภยาคติของผู้กุมอำนาจ และ 2) ความเสื่อมหรือภยาคติของผู้ตกอยู่ใต้อำนาจ ในแง่หลัง เธออธิบายต่อว่า: -

"ในระบบที่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนั้น ความกลัวเป็นเรื่องปกติวิสัยประจำวัน มีตั้งแต่กลัวถูกคุมขัง กลัวถูกทรมาน กลัวตาย กลัวเสียเพื่อน เสียครอบครัว เสียทรัพย์ หรือเสียชีวปัจจัย ไปจนถึงกลัวจน กลัวโดดเดี่ยว กลัวล้มเหลว

"แต่ความกลัวแบบที่มีพิษร้ายที่สุด ได้แก่ แบบที่เที่ยวโพนทะนาตัวเองว่าเป็นสามัญสำนึก หรือกระทั่งภูมิปัญญา และกลับประณามการกระทำอันกล้าหาญเล็กๆ น้อยๆ ทุกเมื่อเชื่อวันของผู้อื่น ซึ่งช่วยรักษาความเคารพตัวเองและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนเราเอาไว้ว่าเป็นความโง่เขลาบ้าง สุ่มเสี่ยงบ้าง ไม่สลักสำคัญอะไรบ้าง หรือเปล่าประโยชน์บ้าง....."

ออง ซาน ซูจีอ้างคำกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรีเนห์รูผู้ล่วงลับของอินเดียว่า: -

"พรสวรรค์อันยิ่งใหญ่ที่สุดของบุคคลคนหนึ่งหรือชาติหนึ่ง...ได้แก่ ′อภัย′ หรือความไม่กลัว ซึ่งมิได้หมายถึงเพียงกายที่กล้าหาญเท่านั้น แต่รวมถึงจิตใจที่ปราศจากความกลัวด้วย"

เธอเสริมว่า: "ประชาชนผู้จะสร้างชาติให้มีสถาบันประชาธิปไตยเข้มแข็งมั่นคงไว้เป็นหลักประกันต้านทานอำนาจอันมาจากฝ่ายรัฐนั้น ต้องเริ่มด้วยการเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยจิตใจตนเองให้เป็นอิสระจากความเฉื่อยชาและความกลัวเสียก่อน"

ในทางกลับกัน - โดยอิงการตีความของมหาตมะ คานธี - อภัยธรรมก็มีด้านที่มุ่งหมายช่วยขจัดปัดเป่าความกลัวหรือภยาคติ ที่คอยสิงสู่หลอกหลอนพันธนาการจิตใจของผู้กุมอำนาจด้วย

คำว่า "อภัย" ในแง่นี้จึงมุ่งหมายจะบอกกล่าวแก่ผู้กุมอำนาจว่า "อย่ากลัวเลย" หรือ "ไม่ต้องกลัว" เป็นการสื่อสารถึงฝ่ายผู้กุมอำนาจที่อาจกลัวประชาชนผู้ตกอยู่ใต้อำนาจจะทำร้ายหรือล้มล้าง เอา จนลงมือทำร้ายประชาชนก่อนว่า ไม่ต้องกลัวประชาชน ประชาชนจะไม่ทำร้ายหรือล้มล้างคุณหรอก

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะพูดให้ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่จะเอาชนะและเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กุมอำนาจ ก็คือมโนธรรมสำนึกในใจผู้กุมอำนาจเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งซึ่งย่อมมีธาตุดีอยู่ข้างใน เพียงแต่ ธาตุดี (สติ ปัญญา เหตุผล) ของผู้กุมอำนาจนั้น ได้ถูกความกลัวจะเสียอำนาจ หรือหวาดกลัวผู้ตกอยู่ใต้อำนาจ มากลบเกลื่อนไปเสีย จนพวกเขาหันไปใช้ความรุนแรงทำร้ายประชาชนผู้อยู่ใต้อำนาจก่อน

การบอกกล่าวแก่ผู้กุมอำนาจว่า "ไม่ต้องกลัว" ก็คือการเปิดช่องเปิดโอกาสให้สติ ปัญญา เหตุผล (วิชชา) ของพวกเขาขึ้นมาเอาชนะภยาคติ (อคติอันเกิดจากความกลัว) ในใจของพวกเขา เพื่อเขาจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้นั่นเอง

นี่แหละคือแก่นแท้เคล็ดวิชาหรือวิญญาณของกระบวนท่าอารยะขัดขืนตามแนวทางอหิงสา

พลังของอภัยธรรมในการขจัดภยาคติหรือความเสื่อมอันเกิดจากความกลัว จึงมีทั้งด้านที่ 1) เราไม่กลัวท่าน และ 2) ท่านก็ไม่ต้องกลัวเราด้วย ในสังคมอนาคตข้างหน้านั้นจะมีทั้งเรากับท่านอยู่ด้วยกันร่วมกันในสังคมเดียวกัน จากนี้ก็จะได้เปิดปล่อยพลังแห่งสติ ปัญญา เหตุผลในหมู่ประชาชน และผู้ปกครองให้ขึ้นมาเป็นเจ้าเรือนแทน กำกับชักนำสังคมไปสู่เส้นทางแห่งสัจธรรมและศานติธรรมร่วมกัน

แทนที่จะปล่อยให้ความกลัว หวาดระแวง ไม่ไว้วางใจกันและกัน กดดันชักจูงทั้งสังคมไปสู่ อสัตย์อธรรม ความขัดแย้งกล่าวหาให้ร้ายรังแกกดขี่ข่มเหงกันและกันไม่รู้จบและหายนะอันมืดมิด

โดย เกษียร เตชะพีระ
(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2554)
มติชนออนไลน์ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554