ผู้เขียน หัวข้อ: ประหยัดเงินบริหารกองทุน 30 บาท  (อ่าน 2366 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
ประหยัดเงินบริหารกองทุน 30 บาท
« เมื่อ: 01 ตุลาคม 2012, 21:09:29 »
จากเอกสารอ้างอิง(1) มีข่าวว่า ทีดีอาร์ไอหนุนรวมกองทุนสุขภาพจะประหยัดเงินได้ทันทีหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งผู้เขียนขอสนับสนุนแนวคิดในการประหยัดเงินบริหารกองทุน แต่ไม่เห็นด้วยกับการรวมกองทุนสุขภาพ

ในบทความจากเอกสารอ้างอิงหมายเลข 1นั้น มีความสำคัญเกี่ยวโยงไปถึงเอกสารอ้างอิงหมายเลข (2) ที่อ้างว่าแพทย์ 2 กลุ่มคือกลุ่มชมรมแพทย์ชนบท และกลุ่มแพทย์โรงพยาบาลภาครัฐ ในกระทรวงสาธารณสุขเปิดศึกแย่งชิงเงินประกันสุขภาพ 2.3 แสนล้านบาท ในบทความตามเอกสารอ้างอิงงหมายเลข 2 นั้น มีข้อมูลที่ตรงกับข้อเท็จจริงอยู่หลายประเด็น ได้แก่กลุ่มชมรมแพทย์ชนบทเป็นกลุ่มที่เสนอโครงการ30 บาทให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้วได้รับการอนุมัติ และมีอำนาจในการบริหารงบประมาณในการบริหารจัดการสาธารณะด้านสาธารณสุขแทนกระทรวงสาธารณสุข และสปสช.มีเป้าหมายที่เขียนไว้แล้วตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องการจะรวมกองทุนสุขภาพทั้งหมดเข้ามาบริหารจัดการเอง

ผู้เขียนขอเสนอมุมมองที่แตกต่างจากทีดีอาร์ไอว่า ยังไม่ควรสรุปให้ “มีการรวมกองทุนสุขภาพ แต่ควรแก้ปัญหาหารบริการสาธารณสุขและการประกันสุขภาพให้ครบวงจร”ดังเหตุผลที่ผู้เขียนจะอธิบายต่อไปดังนี้คือ การตั้งเป้าหมายในการรวบอำนาจในการ”ควบคุมการบริหารระบบสาธารณสุขของชมรมแพทย์ชนบท จนทำให้เกิดปัญหามากมายในระบบบริการสาธารณสุขและการประกันสุขภาพ ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ในการจะแก้ปัญหาใดๆนั้น ควรจะได้เรียนรู้ว่าอะไรคือต้นกำเนิดของปัญหา จึงจะสามารถแก้ปัญหาและยุติปัญหาได้ ผู้เขียนจะพยายามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบบริการสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองดังนี้

กลุ่มชมรมแพทย์ชนบทรุกคืบในการ “คุมอำนาจหรือกุมบังเหียน”การบริหารสาธารณสุข”

โดยพ.ร.บ.กระทรวง ทบวงกรม ได้กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขมีภาระหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการทางด้านสาธารณสุขสำหรับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข การควบคุมป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพ และการจัดการด้านสุขอนามัยทั้งปวง แต่แพทย์ในกลุ่มชมรมแพทย์ชนบทได้มองเห็นว่ามีประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะประชาชนที่ยากจนในชนบทที่ห่างไกล ยังไม่สามารถ “เข้าถึงบริการสาธารณสุข” จึงได้พยายามที่จะ “พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขและช่วยให้ประชาชนที่ยากจนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง

ซึ่งชมรมแพทย์ชนบท มีแนวคิดที่น่าชื่นชมในการที่จะช่วยให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุข “อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย”

  แต่เมื่อชมรมแพทย์ชนบทได้มี บทบาทในการจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว ได้ “เหลิงอำนาจ”จนไม่รับฟังข้อเสนอแนะ การวิพากษ์วิจารณ์ในปัญหาอุปสรรคของการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข และไม่ปฏิบีติตรมกฎหมายพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545  ทำให้เกิด “มหันตภัยแก่ระบบบริการสาธารณสุข”(3)

จะเห็นได้ว่าชมรมแพทย์ชนบทมีเป้าหมายสำคัญคือการที่จะ “ปฏิรูประบบสาธารณสุข” มาตลอด โดยมีผู้นำหรือปรมาจารย์คนสำคัญคือนพ.ประเวศ วะสี ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นให้สังคมคล้อยตามและ”เข้าหาผู้บริหารประเทศ” เพื่อให้สามารถดำเนินการออกกฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มชมรมแพทย์ชนบท สามารถดำเนินการตามเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ โดยเริ่มจากการออกพ.ร.บ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขพ.ศ. 2535(สวรส.)

ออก พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2544 (สสส.)

ออกพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545(สปสช.)

และออกพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2550

โดยกลุ่มชมรมแพทย์ชนบทได้เข้ามากุมอำนาจการบริหารในองค์กรที่ตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.เหล่านี้ทั้งหมด และทำงานร่วมกันในการที่จะ “ครองอำนาจ” ในการบริหารจัดการระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขทั้งหมด

   เพื่อเป้าหมายสำคัญคือการกุมอำนาจในการวางแผนและนโยบาย การบริหารงบประมาณกองทุนสุขภาพทั้งหมด และการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการบุคคล และการควบคุมคุณภาพการรักษาผู้ป่วยทั้งหมด โดยการพยายามควบคุมการใช้ยาและวิธีการรักษาผู้ป่วยของแพทย์

   ซึ่งกลุ่มชมรมแพทย์ชนบทวางแผนการมายาวนาน และพยายามที่จะ “ขับเคลื่อนให้กลุ่ม” สามารถคุมอำนาจทั้งหมดในระบบสาธารณสุขให้ได้ตลอดมา ไม่เคยหยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายผ่านทางสช. การบริหารงบประมาณและการพยายามรวมกองทุนโดยสวรส.และสปสช. และการออกมา”อ้างผลงานวิจัยของสวรส.” และการสนับสนุนงบประมาณพิเศษ จากสสส.

กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้โรงพยาบาลไม่มีเงินเพียงพอในการให้บริการรักษาประชาชน

   เมื่อนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ แกนนำคนสำคัญคนหนึ่งของกลุ่มชมรมแพทย์ชนบท ได้รับการสนับสนุนจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ดำเนินการตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 โดยที่โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีความพร้อมในการที่จะ “รับมือ” กับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลได้ และงบประมาณที่จัดส่งให้โรงพยาบาลก็ไม่เพียงพอกับปริมาณผู้ป่วยที่มากขึ้น และการจ่ายเงินให้แก่รพ..ตาม “จำรวนหัวของประชาชน” ทำให้โรงพยาบาลมีปัญหาในการไม่มีงบประมาณเหมาะสมและเพียงพอในการให้บริการประชาชน โรงพยาบาลไม่มีงบประมาณซ่อมแซมและพัฒนาโรงพยาบาล ทำให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “รวบอำนาจการจ่ายเงินค่าบริการสาธารณสุข” ไปบริหารจัดการเอง โดยไม่ยอม “รับฟังเสียงของผู้บริหารฝ่ายข้าราชการประจำของกระทรวงสาธารณสุขเลย”

กลุ่มชมรมแพทย์ชนบทก็ได้เข้ามาเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถ “กุมบังเหียนการบริหารสปสช.” มาตลอดเวลา 10ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนเหล่านี้ทำงานตามเครือข่ายที่ได้อิงผู้มีอำนาจในการบีริหารประเทศ ตั้งองค์กรต่างๆที่มี “อำนาจตามกฎหมายเฉพาะ”ที่พวกตนได้อาศัยนักการเมืองบัญญัติกฎหมายนั้นๆขึ้นมา

กระทรวงสาธารณสุขหาทางแก้ปัญหาไม่มีเงินพอจะรักษาผู้ป่วย โดยการ “ขึ้นราคาค่าบริการทุกชนิด”

 เมื่อไม่มีเงินทำงาน แต่ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องหาทางแก้ไข เพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายในการให้บริการตรวจรักษาประชาชน โดยการ “เพิ่มอัตราค่าบริการทั้งหมด”ที่จะเรียกเก็บจาก “ผู้จ่ายเงิน” โดยเพิ่มอัตราค่าตรวจโรค ค่าตรวจทางห้องทดลอง (lab.) และค่าตรวจพิเศษต่างๆเช่นการเอ๊กซเรย์ หรือการตรวจพิเศษอื่นๆ ค่าห้องค่ายา คารักษาทุกชนิด เช่นการคลอด การผ่าตัด การทำกายภาพบำบัด”

กองทุนประกันสังคมมีงบประมาณให้รพ.มากกว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพ

 ถ้ามาดูอัตราเหมาจ่ายรายหัวจากกองทุนประกันสังคม พบว่าจ่ายมากกว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพ  และเงินเหมาจ่ายรายหัวของกองทุนประกันสังคม ไม่ต้อง”หักเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ออก” ทำให้รพ.ได้รับเงินไปทำงานเต็มจำนวน และกลุ่มผู้ประกันตนเป็นผู้อยู่ในวัยทำงานเท่านั้น จึงป่วยน้อยกว่าประชาชนในกลุ่ม 30 บาท ทำให้โรงพยาบาลที่รับให้บริการผู้ป่วยประกันสังคมมีเงินเหลือจากการรับรักษาผู้ป่วยประกันสังคม ทำให้รพ.ที่รับรักษาผู้ป่วยประกันสังคม ไม่ขาดทุนจากการทำงาน

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า โรงพยาบาลเอกชน จะชอบที่จะรับรักษาผู้ป่วยในระบบประกันสังคมมากกว่าที่จะรับรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท ไปนับจำนวนรพ.เอกชนที่รับรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาทแทบจะไม่มีเลย รพ.เอกชนที่เคย “หลงทาง” มารับรักษาผู้ป่วย 30 บาท ต่างก็ทยอยถอนตัวออกจากระบบ 30 บาท

 ท่านผู้อ่านก็คงเข้าใจได้ไม่ยากว่า เอกชนคงไม่อยากทำงานโดยได้รับเงินน้อยกว่าต้นทุนอย่างแน่นอน เพราะเสี่ยงต่อการล้มละลายในไม่ช้า

เมื่อรพ.รัฐ “ขึ้นราคาค่าบริการ” ทำให้งบประมาณสวัสดิการข้าราชการเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็วและเห็นได้ชัด

 เมื่อรพ.รัฐได้ปรับ “ขึ้นนราคาค่าบริการผู้ป่วย” ก็ประกาศให้ทราบเป็นการภายในให้แก่เจ้าหน้าที่รพ.ทราบ เพื่อจะได้เก็บเงินค่าบริการผู้ป่วยให้  “คุ้มกับต้นทุนการทำงาน” เพื่อให้รพ.ยังสามารถทำงานรักษาประชาชนต่อไปได้ ซึ่งรพ.ก็สามารถเก็บเงินค่าบริการได้เพิ่มขึ้นจากระบบประกันสังคมและระบบสวัสดิการข้าราชการและจากผู้ป่วยที่จ่ายเงินเองเท่านั้น  แต่ไม่สามารถเก็บเพิ่มได้จากระบบ 30 บาท  เพราะสปสช.จะบอกว่ามีเงินให้แค่นั้นแหละไม่มีให้มากกว่านั้นอีกแล้ว

  จึงทำให้เห็นว่าระบบสวัสดิการข้าราชการมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมากที่สุด

เมื่อระบบสวัสดิการข้าราชการมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น สปสช.ก็แนะนำให้กรมบัญชีกลางหาทาง “ลดรายจ่าย”

เมื่อปรากฏว่าระบบสวัสดิการข้าราชการมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้นกว่าระบบอื่นๆ สปสช.ก็ได้เสนอทางแก้ให้แก่กรมบัญชีกลางดังนี้คือ

1.ให้ลดค่า “DRG” ของระบบสวัสดิการข้าราชการลงให้เหลือเท่าของระบบ 30 บาท

2.ให้ประกาศห้ามแพทย์จ่ายยา 9 ชนิด

 ในข้อที่ 1 นั้นเมื่อระบบสวัสดิการข้าราชการหันมาใช้ระบบจ่ายเงินของผู้ป่วยในแบบ DRG เหมือนสปสช.ทำให้รพ.รสธ.ขาดทุนเพิ่มเป็นจำนวนหลายร้อย(3) เนื่องจากเงินที่เคยได้จากระบบสวัสดิการลดลงทันที ทำให้การขาดทุนจาก 30 บาทปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ในข้อที่ 2 นั้น มีการ “กล่าวหา”โดยทั่วไปและจากบทความในเอกสารอ้างอิง (2) ว่าเงินจากกองทุนสวัสดิการข้าราชการหมอถือว่าเป็น”รายได้สำคัญของรพ.ของรัฐ”

 ซึ่งผู้เขียนก็ขอรับรองว่าเป็นเรื่องจริง เนื่องจากข้าราชการมี”สิทธิเบิกค่าห้องพิเศษ”ได้ ซึ่งเป็น “รายได้จำนวนมากของโรงพยาบาลคือค่าห้องพิเศษ” (เป็นรายได้เต็มๆ จากการลงทุนครั้งแรกครั้งเดียว) จะเห็นได้ว่ารพ.รัฐบาลต้องหารเงินบริจาคมาสร้างตึกผู้ป่วยพิเศษ ซึ่งจะช่วยทำ”รายได้”ให้แก่รพ.และรายได้เหล่านี้ ไม่ได้เอาเข้าพกเข้าห่อแพทย์หรือผู้บริหารใดๆเป็นการเฉพาะ “แต่เป็นการหารายได้มาจุนเจือให้รพ.มีเงินทุนมาจัดบริการแก่ประชาชนในระบบ 30 บาทเพื่อชดเชยการที่รพ.ได้รับเงินจากสปสช.ไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชนนั่นเอง

 ในข้อที่ 2 บทความในเอกสารอ้างอิง (2) กล่าวว่า “แพทย์จะจ่ายยาแพงเพื่อทำกำไรไม่ได้อีกแล้ว” เป็นการกล่าวที่ไม่ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง เพราะดร.เดือนเด่น จากทีดีอาร์ไอ คงเข้าใจแบบที่กลุ่มสปสช.ต้องการ “ป้ายสีแพทย์ในรพ.ศูนย์การแพทย์และรพ.ทั่วไปว่า แพทย์ชอบสั่งยาแพงเพราะได้ผลประโยชน์กับบริษัทยา”

  แต่ข้อเท็จจริงก็คือ รพ.ในระดับสูงที่รักษาผู้ป่วยที่อาการหนักหรือเป็นโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนนั้น เลือกใช้ยานวัตกรรมใหม่เพื่อให้รักษาอาการป่วยหนัก ยุ่งยากซับซ้อนหรือโรคอุบัติใหม่ให้ได้ผลดี ป้องกันการดื้อยาหรือรักษษไม่ได้ผลอันจะเป็นผลเสียต่อผู้ป่วย แพทย์เหล่านี้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค สั่งยาใหม่เพื่อให้คุณภาพการรักษาและคุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น แต่ในระบบ 30 บาท แพทย์ไม่สามารรถสั่งใช้ยาเหล่านี้ได้ (ทั้งๆที่แพทย์ผู้รักษาก็เศร้าใจที่ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยให้ดีได้ แต่กทำอะไรไม่ได้เนื่องจากถูกบังคับด้วยกฎเหล็กของสปสช.) แต่แพทย์สามารถสั่งยาเหล่านี้สำหรับผู้ป่วยที่จ่ายเงินเองและผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการได้

   ผู้เขียนอยากจะกราบเรียนพี่น้องประชาชนว่า การที่หมอสั่งใช้ยาราคาสูงหรือชอบเรียกกันว่าราดาแพงนั้น มีประโยชน์ต่อ “คุณภาพการรักษาต่างกันมาก” ไม่เหมือนการซื้อรถราคาแพงและราคาถูก ที่สามารถพาผู้โดยสารไปถึงที่หมายได้เหมือนกัน   แต่การใช้ยาราคาแพงจะทำให้ผู้ป่วยหายป่วยหรือมีคุณภาพการรักษาดีขึ้น

ผู้ป่วยขอยกตัวอย่างเมื่อนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ป่วยเป็นมะเร็ง เขาต้องไปซื้อยารักษามะเร็งสำหรับเลขาธิการสปสช.โดยเฉพาะ ไม่ได้ใช้ยารักษามะเร็ง “เท่าที่มีอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ”แต่ประการใด

  และทำให้เกิด”โครงการรักษาโรคร้ายแรง”เพิ่มขึ้นในระบบ 30 บาท มาจนปัจจุบัน

   แต่สปสช.ก็กลับตั้ง “กฎเหล็ก”ให้แพทย์สั่งใช้ยาได้เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาต่อคุณภาพการรักษาผู้ป่วย และเป็นภัยต่อระบบการใช้ยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ (4)

 ความขัดแย้งระหว่าสปสช.กับกระทรวงสธ.

  ในบทความตามเอกสารอ้างอิง (2) กล่าวว่า แพทย์ในกระทรวงสธ.และแพทย์ในสปสช.ขัดแย้งกันเองเพียงเพื่อต้อองการ “มีอำนาจบริหารกองทุนสุขภาพ 2.3 แสนล้าน”นั้น จึงมีมูลความจริงเพียงครึ่งเดียว กล่าวคือ กลุ่มชมรมแพทย์ชนบทต้องการ “กุมอำนาจการบริหารกองทุน”

แต่แพทย์ในการทรวงสาธารณสุขที่ขัดแย้งกับสปสช.เพราะว่าสปสช.ไม่จ่ายเงินรายหัวในการรักษาผู้ป่วยให้แก่รพ.เต็มจำนวนและตรงเวลา จึงออกมาเรียกร้องให้สปสช.จ่ายเงินให้แก่รพ. “เต็มจำนวนที่สปสช.รับงบเหมาจ่ายรายหัวมาจากสำนักงบประมาณ” เพื่อให้โรงพยาบาล มีเงินเพียงพอในการจัดหาสิ่งของ (ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เทคโนโลยี อาตาคารสถานที่ ซ่อมแซมฯลฯ) เพื่อให้สามารถรองรับภาระงานให้บริการประชาชนได้อย่างดีมีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการสธ.และปลัดกระทรวงสาธาสรณสุขในฐานะผู้บริหารสูงสุดของสธ.ที่จะต้องดำเนินการ

 แต่รัฐมนตรีก็ไม่ตระหนักถึงภาระหน้าที่ความรับผิดชอบนี้ ในขณะที่ปลัดกระทรวงสธ.ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ทำหน้าที่ อันสำคัญนี้ให้เป็นผลสำเร็จ ปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรังมา 10กว่าปี

เรียกว่า “หัวไม่ส่าย จนหางทนไม่ได้ต้องออกมากระดิกแทน” กล่าวคือ ภาวะการที่รพ.ขาดเงินในการทำงานทำให้หมอที่ทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยอดรนทนไม่ได้ ต้องรวมกลุ่มกันมาเปิดเผยความจริงอันเลวร้ายนี้ เพื่อให้สังคมรับรู้ถึงปัญหาและต้องการให้แก้ไข ทั้งนี้เพื่อให้มีการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ “คุณภาพการรักษาและสุขภาพของประชาชนดีขึ้น”

การรวมตัวบุคลากรแพทย์เพื่อตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 เมื่อบุคลากรสาธารณสุขทนเห็นความ “ไม่เอาไหน” ของรัฐมนตรีและปลัดสธ.มากขึ้น และทนเห็นการบริหารงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสปสชที่ทำงาน “ตามอำเภอใจ” ไม่ถูกต้องตามกฎหมายพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงได้ไปร้องขอให้ปปช.และสตง.ตรวขสอบสปสช.  ซึ่งปปช.ได้ตอบว่าสปสช.ไม่ผิด แต่สตงได้ชี้ความผิดถึง 7 ประเด็น  ซึ่งรมว.สธ.ผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมิได้แก้ไขหรือลงโทษ แต่กลับคัดเลือกให้เป็นเลขาธิการสปสช.ต่อไปอีก ทั้งๆที่กลุ่มสมาพันธ์แพทย์รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป(สพศท.)และสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ได้คัดค้านอย่างเปิดเผยตลอดมา ทั้งนี้การคัดค้านการเลือกเลขาธิการสปสช.คนเดิมไม่ให้กลับมาเป็นเลขาธิการคนใหม่ก็เพราะต้องการให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ปรับปรุงแก้ไขการบริหารงานที่ผิดพลาดของเลขาธิการสปสช.ตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ชี้มูลความผิดมาถึง 7 ประเด็น ซึ่งล้วนก่อให้เกิดความเสียหายต่อกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

และยังมีประเด็นการบริหารงานที่ผิดพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 อีกหลายประเด็นตามที่ผู้เขียนได้เขียนไว้แล้วในเรื่อง “มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรคตอน  “ภัยต่อระบบธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี”  (5)

 จนมีผู้นำไปฟ้องศาลกล่าวหาว่ารมว.สธ.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการคัดเลือกเลขาธิการสปสช.ในครั้งนี้

 ไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้รวมกองทุน

จากเอกสารอ้างอิงหมายเลข 1  ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของสปสช.ที่จะรวมกองทุนสุขภาพและทีดีอาร์ไอเองก็เสนอว่า ควรจะมีการรวม 3 กองทุนเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้บริหารกองทุนแทน สปสช.นั้น ผู้เขียนยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้รวมกองทุนสุขภาพ ทั้งนี้เนื่องจากกองทุนทั้ง 3 นี้ มีวัตถุประสงค์และแหล่งที่มาของเงินไม่เหมือนกัน กล่าวคือ

1.เงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการช่วยเหลือข้าราชการและครอบครัวในเวลาเจ็บป่วย เนื่องจากข้าราชการต้องเสียสละเวลาอุทิศตนให้กับราชการ ต้องทำตามระเบียบวินัยและคำสั่งของผู้บังคับบัญชา โดยได้รับเงินเดือนต่ำกว่าทำงานเอกชน การให้เงินสวัสดิการเพื่อเป็นการช่วยเหลือและตอบแทนการมาสมัครทำงานราชการ และเพื่อ “จูงใจให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานให้แก่บ้านเมืองและประชาชน

2.กองทุนประกันสังคม เกิดขึ้นตามพ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ. 2533 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ”ลูกจ้าง” ให้ได้รับการช่วยเหลือในกรณีต่างๆ 8 กรณี รวมทั้งช่วยใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย โดยมีผู้จ่ายเงินคือนายจ้าง ลูกจ้าง ในจำนวนเท่ากัน ทั้งนี้รัฐบาลจ่ายสมทบอีก 2.75%เข้าในกองทุนประกันสังคม

3.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เกิดขึ้นตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 โดยเงินที่จ่ายเข้ากองทุนนี้ มาจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น แต่ให้การคุ้มครองประชาชนเพียง 48 ล้านคนให้ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย โดยไม่ต้องจ่ายเงินของตนเองในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองเลย

  จึงนับได้ว่าประชาชน 48 ล้านคนในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้ที่ได้รับ “สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล “เหนือกว่าประชาชนในกองทุนสุขภาพอื่นๆทั้งหมด เนื่องจากไม่ต้อง “มีภาระรับผิดชอบด้านใดๆทั้งสิ้นในการรักษาสุขภาพ”

   ฉะนั้น การจะทำให้เกิดความเป็นธรรมปราศจากความเหลื่อมล้ำก็คือ ขจัด”สิทธิพิเศษของประชาชนในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ให้มามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลรักษาสุขภาพตนเองและครอบครัว ด้วยการ “ร่วมจ่ายในการได้รับความคุ้มครองจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดยการดูแลสร้างเสริมสุขภาพของตนเองและครอบครัวเพื่อให้มีการป่วยน้อยลง และควรต้อง “ร่วมจ่ายเงิน”เข้ากองทุนในการไปรับบริการสาธารณสุข ยกเว้นผู้ยากไร้เท่านั้นที่ควรจะได้รับบริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องจ่ายเงิน จึงจะเกิดความเป็นธรรม

เนื่องจากประชาชนในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น มีทั้งผู้ยากไร้และไม่ยากไร้ จึงควรต้องพิจารณาให้เกิด “ความเป็นธรรม” แก่ประชาชนทุกคน คนที่มีเงินก็ควรต้องร่วมจ่ายเพื่อให้สามารถรักษาคุณภาพมาตรฐานการบริการสาธารณสุขไว้ได้ (6,7)

ถ้าไม่ต้องการให้ประชาชนร่วมจ่ายเงินเข้ากองทุน 30 บาท ก็ต้องเลือกว่า จะทำแบบเดิมคือ “จำกัดขอบเขตการรักษา การใช้ยา เครื่องมือแพทย์แบบเดิม” ที่ไม่สามารถรักษาคุณภาพมาตรฐานที่ดีที่สุด ประชาชนเสี่ยงอันตรายจากการไปรักษาเมื่อเจ็บป่วย แม้เจ้าพนักงานของสปสช.เองเช่น อดีตเลขาธิการสปสช.และพนักงานคนอื่นๆเวลาป่วยก็ไปขอใช้สิทธิในการรักษา(8)จากสวัสดิการข้าราชการ

  แม้แต่สส. สว. และรัฐมนตรี ก็ยังไม่ยอมใช้บริการในระบบ 30 บาท ยังต้องไปทำโครงการพิเศษ สำหรับพวกตนเวลาเจ็บป่วย           

ถ้าประชาชนต้องการคุณภาพมาตรฐานที่ดี มีความปลอดภัย(9) และไม่ต้องการจ่ายเงินในระบบ 30 บาท ก็ต้องไปบอกสส.ของพวกท่านว่า รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน 30 บาทมากกว่าปัจจุบันอีกมากๆ

การประหยัดเงิน “ค่าบริหารกองทุน”

การจะรวมกองทุนสุขภาพเพื่อประหยัดเงินในการบริหารนั้น อาจจะยังไม่เหมาะสมในขณะนี้ เนื่องจากประชาชนในอีก 2 ระบบที่ต้อง “จ่ายโดยตรง”ได้แก่ผู้ประกันตน และ” จ่ายเงินทางอ้อม”ได้แก่ข้าราชการคงไม่ยินยอม

แต่ผู้เขียนเรื่องนี้เห็นด้วยกับข้อเสนอของดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ที่ว่าควรจะต้องเริ่มประหยัดเงินในการบริหารกองทุน 30 บาทนั้นควรทำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ทำให้มีการตั้งหน่วยงานทับซ้อนกับภารกิจและหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข แต่ต้อง “จ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทน” ให้แก่กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและเจ้าพนักงานในสปสช.ในอัตราที่สูงมาก ถ้าแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545(7) (ซึ่งรัฐบาลเสียงข้างมากสามารถทำได้ทันที) และโอนการบริหารกองทุนไปให้กระทรวงสาธารณสุขรับภาระดำเนินการ จะประหยัดเงินค่าบริหารไปได้อีกปีละหลายมื่นล้านบาทตามที่ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ แห่งทีดีอาร์ไอเสนอไว้ (2)

เอกสารอ้างอิง

1.ทีดีอาร์ไอหนุนรวมกองทุนสุขภาพ
https://mail.google.com/mail/u/0/images/cleardot.gif
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000118587

2. แพทย์เปิดศึกชิงเงินประกันสุขภาพ 2.3 แสนล้านบาท
https://mail.google.com/mail/u/0/images/cleardot.gif
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000118587

3. รายงานสถานะการเงินหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ISBN 978-616-11-0439-9ซ กลุมประกันสุขภาพ แผนพัฒนาการคลังและเศรษฐกิจสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

4. มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรคตอนภัยต่อระบบการใช้ยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์
http://www.thaitrl.org/index.php?option=com_content&task=view&id=2658&Itemid=45

5.มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรคตอนภัยต่อระบบธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
http://www.thaitrl.org/index.php?option=com_content&task=view&id=2662&Itemid=45

6. มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรค ตอนภัยต่อคุณภาพมาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุข
http://www.thaitrl.org/index.php?option=com_frontpage&Itemid=1&limit=34&limitstart=34

7.มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรคตอนที่ 10 “สรุปปัญหามหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรคและข้อเสนอในการแก้ปัญหา”
http://www.thaitrl.org/index.php?option=com_content&task=view&id=2668&Itemid=56

8. http://www.thaiclinic.com/cgi-bin/wb_xp/YaBB.pl?board=doctorroom;action=display;num=1342925210
มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์เรื่อง 30 บาท

9. http://www.thaiclinic.com/cgi-bin/wb_xp/YaBB.pl?board=doctorroom;action=display;num=1345041135.
มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรค ตอนภัยต่อประชาชน

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้ารการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
30 ก.ย. 55

thailand

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 25
    • ดูรายละเอียด
Re: ประหยัดเงินบริหารกองทุน 30 บาท
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 19 ตุลาคม 2012, 14:05:17 »
กรมบัญชีกลางจะตัดสิทธิ์ จนพวกเราคนธรรมดาจะไม่มีสิทธิ์แล้ว ยังมาเข้มงวดในการใช้ยา ในการรักษาของแพทย์อีก

ถ้าเราไม่ช่วยเหลือกัน แล้วใครเล่าจะช่วยเหลือเรา

แพทย์ ข้าราชการ ประชาชน  เราต้องรวมตัวกันซะที เพื่อแสดงจุดยืนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ที่.....


https://www.facebook.com/pages/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87-%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%99/252362108219014