ผู้เขียน หัวข้อ: ตั้งศูนย์เยียวยาใจตำบล หวังเสริมใจให้แข็งแกร่งช่วยเหยื่อน้ำท่วม  (อ่าน 952 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
 สธ.ตั้งศูนย์เยียวยาใจผู้ประสบภัยประจำตำบลหลังน้ำลด หลังพบพิษน้ำท่วม ทำซึมเศร้า กว่า 8,000 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 1,521 ราย
       
       นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่วัดบ้านท่ากลาง ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำลดลงทั้งหมด อยู่ระหว่างการฟื้นฟูให้กลับมาสู่ภาวะปกติ โดยได้เยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และมอบยาชุดน้ำท่วม จำนวน 1,000 ชุดให้แก่ผู้ประสบภัย เพื่อใช้ดูแลการเจ็บป่วยเบื้องต้นภายในครัวเรือน
       
       รมช.สธ.กล่าวต่อว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่กว่า 70% ระดับน้ำลดลง ยังเหลืออีก 17จังหวัดรวมทั้ง กทม.ที่ยังคงมีน้ำท่วม แต่แนวโน้มน้ำลดลงเรื่อยๆ โดยหลังน้ำลด สธ.ได้เตรียมแผนฟื้นฟูไว้ทั้งหมดแล้ว และเริ่มทยอยไปหลายพื้นที่ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน ป้องกันไม่ให้มีโรคระบาด และป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายหลังเกิดปัญหาน้ำท่วม
       
       โดยดำเนินการทุกตำบลเป็นมาตรฐานเดียวกันใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การบริการรักษาพยาบาล 2.การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค 3.การบริการฟื้นฟูสุขภาพจิต 4.การจัดการด้านสุขาภิบาลให้สะอาด ปราศจากขยะ สิ่งปฏิกูล น้ำเน่าเสีย และ 5.การคุ้มครองผู้บริโภค ควบคุมความปลอดภัยอาหารและน้ำดื่ม น้ำแข็ง
       
       สำหรับการดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัยจะต้องเร่งสลายความเครียดที่เกิดขึ้น ป้องกันไม่ให้สะสมจนป่วยเป็นโรคทางจิต ที่รุนแรงน่าห่วงที่สุดคือการฆ่าตัวตาย ตามแผนการฟื้นฟูสุขด้านจิตใจ
       
       กระทรวงฯ จะจัดตั้งศูนย์เยียวยาประจำตำบลขึ้น โดยให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาดำเนินการช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ โดยทำร่วมไปกับปัญหาสุขภาพทางกาย โดยได้ตั้งงบประมาณดำเนินการไว้ทั้งหมด 72 ล้านกว่าบาท ขณะนี้ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว 34 ล้านกว่าบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการเยียวยาอีกประมาณ 38 ล้านบาท
       
       นายต่อพงษ์กล่าวต่อว่า ผลการตรวจประเมินสุขภาพจิตหลังน้ำท่วมใน 64 จังหวัด พบผู้ประสบภัยมีความเครียดสูง 6,956 ราย มีอาการซึมเศร้า เบื่อหน่ายกว่า 8,000 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 1,521 ราย และต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 2,457 ราย จนถึงขณะนี้มีผู้ประสบภัยที่ต้องรักษาด้วยยาคลายเครียดจำนวน 7,282 ราย โดยกระทรวงสาธารณสุขจะติดตามประเมินผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่องทุก 3 เดือน 6 เดือน จนกว่าจะปกติ
       
       นพ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า โดยทั่วไปปัญหาสุขภาพจิต เช่น นอนไม่หลับ ซึมเศร้า วิตกกังวล หรือการฆ่าตัวตาย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ผู้ประสบภัยจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาเนื่องจากตกอยู่ในภาวะเครียดและวิตกกังวลต่ออนาคตข้างหน้า อาการหรือความผิดปกติที่เป็นสัญญาณเตือนว่าผู้ประสบภัยกำลังประสบปัญหาสุขภาพจิต จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้น ได้แก่ 1.อาการนอนไม่หลับ 2.อาการเครียดและวิตกกังวลบ่อยๆ 3.บ่นท้อแท้ แยกตัว 4.หงุดหงิดง่าย 5.มีการใช้สารเสพติดหรือใช้เพิ่มขึ้นจากที่เคยใช้ในช่วงปกติ หากพบว่ามีผู้ประสบภัยมีอาการที่กล่าวมา ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรืออสม.ที่อยู่ในหมู่บ้าน เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป

ASTVผู้จัดการออนไลน์    24 พฤศจิกายน 2554