ผู้เขียน หัวข้อ: หมู่ตึกภูตพราย ในระบบสาธารณสุขไทย  (อ่าน 2415 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด

อ่านบทความนี้แล้่วลองเปรีัยบเทียบกับระบบสาธารณสุขของเราดูว่า มีอะไรๆคล้ายๆกันอยู่
มีปริศนาที่สำคัญคือ หมู่ตึกภูตพราย บักเต้าหยิน และจุดจบของอธรรม

กรรมติดกระบี่ : เล็กเซี่ยวหงส์ ตอนหมู่ตึกภูตพราย

      
       นักอ่านผู้หลงใหลในนิยายยุทธจักรจีนกำลังภายในหลายคน กล่าวถึงความชอบของการอ่านด้านนี้ของพวกเขาว่า นิยายจีนกำลังภายในนั้นมีดีตรงการให้ข้อคิดสอนใจ
      
       ที่พวกเขาเหล่านั้นกล่าวเช่นนี้ ก็อาจเพราะ นิยายจีนกำลังภายในส่วนใหญ่ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าแทบทั้งหมด จะเป็นเรื่องสะท้อนอุดมคติที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือเรื่องของ “คุณธรรม” หรือจะพูดให้ชัดเจนกว่านั้น ก็คือการสะท้อนแนวคิดเชิงปรัชญาที่กล่าวถึงเรื่องราวของ “ธรรมย่อมชนะอธรรม”
      
       นิยายจีนกำลังภายในเดินแนวทางดังกล่าวเป็นแก่น จากนั้นก็สร้างพล็อตเรื่องตื่นเต้นเร้าใจ เติมสีสันรายละเอียดของตัวละครหลากหลาย พร้อมทั้งสร้างสรรค์วิทยายุทธล้ำลึกพราวแพรว จากนั้นก็แต่งแต้มจินตนาการไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของสุดยอดคัมภีร์ยุทธ ของวิเศษล้ำค่า สถานที่ลึกลับ มหันตภัยร้ายแรงของยุทธภพ การต่อสู้เชิงยุทธครั้งยิ่งใหญ่ การเดินทางของวีรบุรุษ แพรพรรณและหญิงงาม การแย่งชิงดีเด่นของค่ายสำนัก ไปจนถึงปริศนาเชื่อมคล้องกับประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมประเพณี และที่ผมชอบมากและคิดว่าหลายท่านก็ซาบซึ้งกินใจกับการให้ความสำคัญกับเรื่อง ของ “คุณธรรมน้ำมิตร”
      
       เรื่องของจอมยุทธสี่คิ้ว (เพราะมีหนวด) นาม “เล็กเซี่ยวหงส์” เจ้าของสุดยอดวิชาอันมีชื่ออันไพเราะว่า “ดรรชนีสัมพันธ์จิตใจ” เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมชมชอบในประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น หลักใหญ่ใจความของเล็กเซี่ยวหงส์นั้น สะท้อนชัดเจนในเรื่องของ “ธรรมย่อมชนะอธรรม” และยังซาบซึ้งกินใจในเรื่องราวของ “คุณธรรมน้ำมิตร” เป็นอย่างยิ่ง
      
        “เล็กเซี่ยวหงส์” บทประพันธ์โดย “โกวเล้ง” เรื่องนี้ ใช้วิธีแบ่งเรื่องเป็นตอนๆ จำนวน 7 ตอน แต่ละเรื่องมีพล็อตในตัวเอง แต่ละตอนมีความสัมพันธ์กันไม่มากนัก เพียงมีตัวเอกคนเดียวกันคือ “เล็กเซี่ยวหงส์” ส่วนการเชื่อมโยงระหว่าง 7 ตอนนั้น มีเพียงนิดหน่อย โดยมีตัวละครอื่นๆ ที่เป็นเหล่าสหายของเล็กเซี่ยวหงส์ เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นบางคนในบางจุดบางท่วงทำนองของท้องเรื่อง
      
        “เล็กเซี่ยวหงส์” บุรุษหนุ่มผู้ใช้ชีวิตอย่างมีรสนิยม มีวิทยายุทธสูงล้ำ ร่ำรวยเงินทอง งามสง่าเป็นที่พึงใจของหญิงงาม เฉลียวฉลาดและเฉียบคมด้วยไหวพริบ มากมายด้วยมิตรสหาย ฟังดูแล้วเป็นจอมยุทธผู้ครบเครื่อง แต่ข้อด้อยของเล็กเซี่ยวหงส์ที่เห็นได้เพียงอย่างเดียวก็คือ “ชอบยุ่งเกี่ยวเรื่องคนอื่น” และด้วยจุดนี้เอง เล็กเซี่ยวหงส์มักพาตัวเองเข้าไปอยู่ในใจกลางของภยันอันตรายครั้งใหญ่ในยุทธ จักรอยู่บ่อยครั้ง แต่ “เล็กเซี่ยวหงส์” คนนี้ ก็มักคลี่คลายคดีลึกลับซ่อนเงื่อนได้อย่างยอดเยี่ยมแยบยล
      
       แต่ละตอนของ “เล็กเซี่ยวหงส์” มีโครงหลักคือ การไขคดีลึกลับโดยตัวเอกคือ “เล็กเซี่ยวหงส์” โดยความร่วมมือร่วมใจของเหล่ามิตรสหายของเขา ผ่านการเดินเรื่องที่สนุกสนาน ตื่นเต้น ซ่อนเงื่อนและหักมุม ถือเป็นนิยายจีนกำลังภายในที่มีลีลาไม่แพ้นิยายสืบสวนสอบสวนสายตะวันตก
      
       ดรรชนีสัมพันธ์จิตใจของ “เล็กเซี่ยวหงส์” ไม่ได้รับการบรรยายมากมายในรายละเอียดให้มีความเลิศเลอเชิงวรยุทธแต่อย่างใด หากแต่บ่งบอกเพียงความเรียบง่ายที่ว่า สองนิ้วของเล็กเซี่ยวหงส์สามารถคืบจับอาวุธได้แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะยามศัตราวุธที่อยู่ในมือของฝ่ายตรงข้ามแหวกเข้ามาหมายจะทะลวงขั้ว หัวใจของเขา แค่นี้ก็พอแล้ว สำหรับวรยุทธที่สามารถโลดแล่นไปทั่วยุทธภพ
      
       ผมชอบ “เล็กเซี่ยวหงส์” ตรงที่คอนเซปต์ใหญ่ในการเดินเรื่องง่ายๆ ตามแนว “พิชิตคนพาล อภิบาลคนดี” เป็นเรื่องของตัวเอกเดินหน้าปราบคนชั่วร้าย นอกจากนี้เพื่อนน้ำมิตรคนสำคัญ อย่าง “ไซมึ้งชวยเซาะ” ก็ยึดแนวทางนี้เช่นกัน “เล็กเซี่ยวหงส์” และ “ไซมึ้งชวยเซาะ” ถือว่าเป็นมิตรสหายที่ตายแทนกันได้ สองคนนี้มีบุคลิกที่แตกต่าง แต่ยึดมั่นเหมือนกันในคุณธรรมมุ่งหน้าปราบคนชั่วร้ายให้กับยุทธภพ จากแนวทางเดินเรื่องด้วยโครงที่เรียบง่าย แล้วโกวเล้ง ก็ไปสร้างสีสันในรายละเอียด ให้มีคดีลึกลับอันซับซ้อน จากนั้นก็ให้ “เล็กเซี่ยวหงส์” เป็นตัวละครเดินเกมคลี่คลาย
      
       ความสนุกสนานของการอ่าน “เล็กเซี่ยวหงส์” มีอีกอย่าง ก็คือการเพลินเพลินในเรื่องการร่วมมือร่วมใจสอดประสานของขบวนการ “เพื่อนน้ำมิตร” ที่ ล้วนแต่มีบุคลิกแตกต่าง วิทยายุทธล้ำเลิศหลากแนวทาง นิสัยใจคอหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ไซมึ้งชวยเซาะ ฮวยมั่วเล้า ซีคงเตี๊ยะแช หลวงจีนสัตย์ซื่อ และอื่นๆ อีกมากมาย
      
       ทั้ง 7 ตอนของ “เล็กเซี่ยวหงส์” ที่ผมชอบที่สุดคือ “หมู่ตึกภูตพราย” สำหรับผม หมู่ตึกภูตพรายเป็นเรื่องที่อยู่ในช่วงกลางของ 7 ตอน เมื่อผมอ่านรวดเดียว 7 เล่ม ผมคิดว่าเรื่อง “เล็กเซี่ยวหงส์” นี้ เพิ่มดีกรีความสนุกสนานตื่นเต้น และเพิ่มระดับในแง่มุมลูกเล่นของความสลับซับซ้อนในคดีปัญหาไปเรื่อยๆ จุดพีคที่สุดน่าจะอยู่ที่ตอน “หมู่ตึกภูตพราย” หลังจากนั้น ผมรู้สึกเหมือน “โกวเล้ง” ไต่ความสนุกไปถึงจุดยอดสูงสุดของซีรีส์นิยายกำลังภายในเรื่องเล็กเซี่ยวหงส์นี้ไปเรียบร้อยแล้ว สองตอนสุดท้าย โดยเฉพาะตอนสุดท้ายคือ “กระบี่พิโรธ” หากไม่นับว่าเป็นเรื่องที่โกวเล้งพยายามจะบอกลาให้เป็นตอนจบของซีรีส์ เรื่องนี้ถือว่าสนุกน้อยที่สุดในความเห็นของผม
      
       หมู่ตึกภูตพรายเป็นเรื่องราวของการพรางตัวของ “เล็กเซี่ยวหงส์” เพื่อเข้าไปคลี่คลายมหันตภัยร้ายที่ขบวนการลึกลับอันถูกเรียกขานว่า “หมู่ตึกภูตพราย” กำลังก่อหวอดเพื่อจะทำเรื่องราวร้ายกาจที่จะสะเทือนลั่นไปทั่วยุทธจักร
      
       หมู่ตึกภูตพรายเป็นขบวนการร้ายที่รวมตัวโดยเหล่าร้ายที่สาบสูญ แสร้งตายไปแอบซ่อนอยู่ในสถานที่ลึกลับ คนเหล่านี้ล้วนโฉดชั่วสามานย์ บริหารงานหมู่ตึกโดยบุคคลลึกลับที่มีนามว่า “เจ้าพ่อดาบเก่า” ซึ่งมีวรยุทธสูงเยี่ยมเลิศล้ำ “เล็กเซี่ยวหงส์” ก็ แฝงตัวเข้าหมู่ตึกภูติพรายเพื่อไปสืบความลับเพื่อต้องการคลี่คลายคดีร้ายของยุทธภพ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาทุกข์ระทมของพ่อหนุ่มสี่คิ้วเลยที่เดียว มีบางฉากบางตอนที่สะท้อนภาพความเดียวดายเปลี่ยวเหงาเพราะขาดเพื่อนฝูง อ่านแล้วจับใจเห็นจริงตามไปด้วย
      
       ในที่สุดจึงทราบแผนการร้ายของ “เจ้าพ่อดาบเก่า” ซึ่งก็คือ “บักเต้าหยิน” ที่เป็นหนึ่งในหมู่มิตรสหายของ “เล็กเซี่ยวหงส์” นั่นเอง “บักเต้าหยิน” เป็นคนสองโลก ใช้ชีวิตฉากหน้าธรรมมะ แต่อีกฉากหนึ่งนั้นดำรงอยู่ใน “หมู่ตึกภูตพราย” มีชีวิต มีบริวาร มีครอบครัว มีลูก และมีแผนการที่จะยึดครองค่ายสำนักเที่ยงธรรม “บุ๊ตึ๊ง”
      
       ถึงสุดท้าย แม้ “เล็กเซี่ยวหงส์” จะคลี่คลายความลับได้ แต่ด้วยความเยี่ยมยุทธและแยบยลในเล่ห์ร้ายของ “บักเต้าหยิน” เขาก็ไม่สามารถทำลายแผนการอันชั่วร้ายได้
      
        “บักเต้าหยิน” ที่ปลดหน้ากาก “เจ้าพ่อดาบเก่า” กลับมาสวมหน้ากาก “บักเต้าหยิน” สามารถก้าวสู่ความเป็นเจ้าสำนักบู๊ตึ๊งได้สำเร็จ
      
       แต่ในที่สุดของสุดท้าย ธรรมมะก็จัดระเบียบ กลายเป็นว่า “ชั่วร้ายแพ้ภัยตัวเอง” แม้วรยุทธจะสูงเยี่ยมแค่ไหน แต่เมื่อกระบี่ของ “เอี๊ยบเซาะ” ในชุดไว้ทุกข์ ปักทะลวงเข้าขั้วหัวใจของ “บักเต้าหยิน” เพื่อต้องการล้างแค้นให้กับพ่อ ก็คือ “เจ้าพ่อดาบเก่า” ที่โดน “บักเต้าหยิน” ฆ่าทิ้ง (โดยการเล่นละครเปลี่ยนหน้ากากที่ไม่มีผู้ใดล่วงรู้ ยกเว้นตัว “บักเต้าหยิน” เอง และ “เล็กเซี่ยวหงส์” ผู้ที่ทราบความนัย แต่จะบอกออกไปก็ไม่มีใครเชื่อ) โดยที่มารร้ายผู้นี้ไม่อาจโต้ตอบและปิดป้อง เนื่องจาก “เอี๊ยบเซาะ” นั้นก็คือ ลูกสาวของตัวเอง
      
       โกวเล้งได้บรรยายช่วงนี้ไว้ว่า “กฎแห่งกรรมเวียนสนอง ไม่ผิดพลาดเด็ดขาด ในขุมนรกนั้น คล้ายมีพลังลี้ลับชนิดหนึ่ง คอยกำหนดชะตาชีวิตของมนุษยชาติ ไม่เคยมีบุคคลที่สมควรได้รับโทษ หลีกหนีรอดจากการพิพากษาของมันมาก่อน พลังขุมนี้แม้มองไม่เห็น ไม่อาจไขว่ขว้าได้ แต่ทุกผู้คนรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของมัน
      
       พริบตาที่กระบี่ของ “เอี๊ยบเซาะ” ปักทะลวงเข้าหัวใจของ “บักเต้าหยิน” ผมอดนึกไม่ได้ที่จะอธิบายถึงเรื่องนี้เป็นประโยคที่ว่า...
      
       กรรมติดกระบี่

ASTVผู้จัดการรายวัน     17 กันยายน 2553

คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
       โดย : พชร สมุทวณิช
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 กันยายน 2010, 08:20:24 โดย seeat »