ผู้เขียน หัวข้อ: เหตุผลที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ให้บริการสาธารณสุข  (อ่าน 1818 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด

 การเกิดผลที่ไม่คาดหวังจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งมักจะหมายถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นที่เป็นเหตุให้ เกิดความพิการ หรือเสียชีวิต ซึ่งการให้บริการทางการแพทย์คือการบริการสาธารณสุขแบบหนึ่งมี คำกล่าวว่าการรักษาทางการแพทย์นั้นเป็นศาสตร์แห่งความน่าจะเป็น และเป็นศิลป์แห่งความไม่แน่นอนนั่นคือการรักษาทุกชนิดแม้ให้การรักษาที่ไม่ มีข้อผิดพลาดใดๆก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการได้ผลที่ไม่คาดหวังได้เสมอมากน้อยตามเหตุ และปัจจัยของแต่ละราย

อย่างเช่นการคลอดบุตรมีโอกาสเสียชีวิตของมารดาได้ในอัตราประมาณ 20 ต่อแสนของหญิงที่ตั้งครรภ์ การผ่าตัดหลอดเลือดในสมองโป่งพองและแตกแล้วที่หยุดชั่วคราว ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงและรู้ตัวดี เมื่อตรวจพบตำแหน่งแล้วก็ต้องผ่าตัดหนีบหลอดเลือดด้วยคลิปที่ทำด้วยโลหะไททาเนียม แม้การผ่าตัดจะเรียบร้อยดีก็อาจเกิดภาวะหลอดเลือดตีบจากปฏิกิริยาของเลือดที่เคยออกมาก่อน ซึ่งอาจพิการหรือเสียชีวิตได้ในอัตราร้อยละ 5 นั่นคือในสภาวการณ์ที่พร้อมที่สุดแล้วสำหรับการรักษาโรคนี้ แต่ในความเข้าใจของสาธารณชนกลับเห็นว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการรักษาเพราะก่อนการรักษาผู้ป่วยยังดี ไม่คิดถึงเหตุปัจจัยที่แท้จริงว่าโรคนั้นๆมีความเสี่ยงตามธรรมชาติของโรคเอง หรือหากไม่รักษาตายแน่นอน แต่เมื่อรักษาโดยผู้ทีชำนาญแล้วซึ่งใช้วิธีการเดียวกันรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่หายดี แต่มีส่วนน้อยนั้นไม่ได้ผลดี ทางการแพทย์เห็นว่าผลการรักษานั้นเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานแล้ว

ด้วยเหตุนี้จึงมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมาตรา 80 (2) กำหนดว่ารัฐต้องส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพอันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน รวมทั้งจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เอกชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการสาธารณสุข โดยผู้มีหน้าที่ให้บริการดังกล่าวให้บริการซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรม ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

ด้วยเหตุนี้ในโอกาสที่กลุ่มแพทย์ที่ห่างเหินการปฏิบัติงานร่วมกับกลุ่มเครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์ (ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการดำเนินของโรคที่เกิดขึ้นได้)ได้ผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข ซึ่งในฐานะที่เป็นแพทย์ผู้ปฏิบัติงานและเผชิญต่อผลที่ไม่คาดหวังได้สูง(ผู้เขียนเป็นประสาทศัลยแพทย์) มีความเห็นว่าผลที่ไม่คาดหวังหรือความเสียหายที่เกิดต่อผู้ป่วยนั้นไม่ เพียงมีผลต่อผู้ป่วยเท่านั้น

ตัวแพทย์ผู้รักษาก็ได้รับผลกระทบโดยที่แม้ญาติและผู้ป่วยจะเข้าใจเป็นอย่างดีต่อความเสี่ยงที่แจ้งให้ทราบก่อนแล้ว(กรณีที่ไม่ใช่ภาวะเร่งด่วน) แต่ตัวแพทย์ก็ผิดหวังและเสียใจเช่นกัน หากถูกกดดันจากความไม่เข้าใจของญาติที่เรียกร้องความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นอีกยิ่งกระทบกระเทือนจิตใจเป็นอย่างสูง หลายรายที่ทำใจไม่ได้ก็หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปเลย แต่สำหรับผู้เขียนและแพทย์ส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยต่อกฎหมายที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้นั้น ยอมไม่ได้ที่จะเสียโอกาสในการช่วยเพื่อนมนุษย์จากความรู้ที่สั่งสมมาจากผู้ป่วยจำนวนมากที่ไว้วางใจให้เรารักษา ซึ่งเราถือว่าผู้ป่วยก็คือครูของพวกเราเช่นกัน จึงขอเสนอให้ปรับปรุงในประเด็นหลักดังนี้

1.ชื่อของพรบ.ขอเปลี่ยนจาก “ความเสียหาย“ เป็นคำว่า “ผลกระทบ” จะได้ดูแลทั้งสองฝ่ายที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เป็นดังนี้ ร่างพรบ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ.....

2.เมื่อได้รับการชดเชยแล้วให้คดีความแพ่ง คดีความอาญา เป็นอันยุติ สำหรับข้อนี้มีนักกฎหมายแย้งว่าวิชาชีพแพทย์จะมีอภิสิทธิ์เหนือวิชาชีพอื่น เช่นวิศวกรที่ต้องรับโทษเมื่อออกแบบผิดทำให้ตึกถล่มต้องติดคุก หรือจะเหนือกว่าคนขับรถชนคนได้อย่างไร ความจริงแล้วที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้นั้นเพราะวิชาชีพแพทย์มีความไม่แน่นอนดัง กล่าวข้างต้นแล้ว แต่สำหรับวิชาชีพวิศวกรนั้นถ้าทำตามแบบแล้วแน่นอนว่าไม่เกิดความเสียหายแน่ คนขับรถถ้าปฏิบัติตามกฎจราจรก็ไม่เป็นตัวต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุแน่ แต่แพทย์นั้นแม้ทำอย่างถูกต้องแล้วก็อาจได้ผลไม่ดีได้

3.ผู้ ที่ควรได้รับการชดเชยควรได้แก่กรณีที่เกิดจากข้อผิดพลาดของระบบบริการเช่น รักษาล่าช้าเพราะไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำให้ต้องส่งต่อไปอีกแห่งหนึ่ง กรณีเหตุสุดวิสัยเช่นภาวะน้ำคร่ำรั่วเข้าสู่กระแสเลือดทำให้หญิงตั้งครรภ์ เสียชีวิต การเกิดผลที่ไม่ได้คาดหมายไว้ว่าจะเกิดได้เป็นต้น

4.ควรมีบทกำหนดโทษต่อคณะอนุกรรมการที่ให้จ่ายเงินชดเชย โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

                                                               ด้วยความปรารถนาดีจาก

                                                           นายแพทย์สุกิจ  ทัศนสุนทรวงศ์

                                                              ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา