ผู้เขียน หัวข้อ: หยุดกรองคนดีออกจากระบบ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา  (อ่าน 5128 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
ดีท็อกซ์ประเทศไทยดีไหม?  ตอน 2 : หยุดกรองคนดีออกจากระบบ

เป็นครั้งแรกที่หมอได้รับอีเมลล์ จดหมาย ข้อความหลังกล่องใน Facebook โทรศัพท์ ให้ความเห็นในเรื่องดีท็อกซ์อย่างล้นหลาม ที่สำคัญคือผู้ที่ติดต่อมาให้ชื่อนามสกุล ที่ทำงานไว้เรียบร้อยไม่ใช่กระมิดกระเมี้ยนเป็นแบบบัตรสนเท่ท์ อย่างน้อยมีจดหมาย 2 ฉบับแนบหลักฐานการซูเอี๋ยกับบริษัทขายอาหารเสริม การรักษาแหวกแนวให้เข้ามาในโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ ในฉากของวิชาการบังหน้า และยังมีที่แนบหลักฐานการทุจริตของโรงพยาบาลรัฐกับบริษัทเอกชนในการส่งตรวจ ผู้ป่วย หมอขออนุญาตไม่ตีพิมพ์เอกสารเหล่านี้นะครับ แต่ท่านที่ส่งมา กรุณาเก็บหลักฐานเหล่านี้ไว้ คงไม่ช้าไม่นานที่ประเทศไทยจะได้มีการดีท็อกซ์กันจริงจัง

            ดีท็อกซ์ประเทศไทยในตอน 2 นี้ อยากเสนอในเรื่องของการแบ่งปัน ที่สำคัญคือ แบ่งปันความรู้สึกของคนอื่น ใจเขาใจเรา เพียงแค่นี้ก็ดีเหลือหลายแล้วครับ  ในทุกกรณีของ “มึงผิด....ข้าถูก” ลองหาสาเหตุสักนิดได้ไหมครับว่าทำไมเขาถึงผิด จริงอยู่ถ้าดูตามกระบวนเนื้อผ้าอาจจะตรงไปตรงมาว่าอย่างนี้ผิดแน่ แต่การที่จะแก้ให้สถานการณ์ดีขึ้นไม่ผิดซ้ำซาก น่าจะดูที่สาเหตุ วิเคราะห์ต้นเหตุและพยายามเข้าใจเพื่อนำสู่การแก้ที่รากเหง้าของปัญหา

            ในส่วนที่เกี่ยวกับการแพทย์ สาธารณสุข แม้แต่ปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้นในส่วนของ พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ หมอได้มีโอกาสพบปะคุยกับแพทย์รุ่นน้องหลายคน (ความจริงระดับหลานๆทั้งนั้น แต่ในสังคมแพทย์มีแต่พี่น้องไม่มีใครแก่ไปหรือเด็กไป เพราะฉะนั้นถ้าเจอหน้ากันเรียกพี่ก็ได้นะครับ) ขณะที่เล่าไปทุกคนหน้าตาหม่นหมอง บางคนน้ำตาซึม ซึ่งหมอคิดว่าจำเป็นที่ต้องแจกแจงสภาพของการทำงานของแพทย์ให้พวกเราที่ไม่ ใช่แพทย์ได้รับรู้ การที่จะฟ้อง จะด่าว่าหรือเรียกค่าเสียหาย ถ้าจะถามว่ามีสิทธิ์ไหม คงไม่มีใครเถียงครับ แต่อยากให้ทราบสถานการณ์ สภาพการทำงานของแพทย์ขณะนี้บ้าง

            ยกตัวอย่าง ลูกศิษย์ที่จบไปทำงานอยู่ ที่โรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข เขาจบไปไม่กี่ปี ไฟแรง ขยันทำงาน ไม่เคยคิดหาประโยชน์จากคนไข้  โรงพยาบาลนี้เป็นทั้ง โรงพยาบาลประจำจังหวัดระดับโรงพยาบาลศูนย์ที่ต้องรับส่งต่อผู้ป่วยจาก โรงพยาบาลชุมชน 8แห่งในจังหวัด นอกจากนั้นยังรับส่งต่อผู้ป่วยจากจังหวัดใกล้เคียงอีก 3 จังหวัด ในฐานะที่เป็น โรงพยาบาลศูนย์ เฉพาะประชากรที่ต้องดูแลในจังหวัดตนเองก็ประมาณ 860,246 คนเข้าไปแล้ว      โรงพยาบาลแห่งนี้มีอายุรแพทย์ คือ แพทย์ที่เชี่ยวชาญรักษาทางยา ไม่ได้ผ่าตัด ที่ดูแลโรคนับสิบระบบตั้งแต่ ไข้หวัด ปวดหัวตัวร้อน ไอ จาม ปอดบวมโรคผิวหนัง เบาหวาน ความดันสูง โรคไต จนถึงอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ และรับผิดชอบการตรวจพิเศษที่ต้องใช้เครื่องมือ เช่น การส่องกล้องดูกระเพาะ หลอดอาหาร ส่องกล้องดูหลอดลมในปอด ตรวจทางหัวใจและอื่น ๆ   น้องเล่าว่าที่นี่มีอายุรแพทย์ 11 คน นอกจากที่ต้องดูแลผู้ป่วยนอก OPD (Out-patient Department) ยังต้องตรวจรักษาคนไข้หนักกว่าที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลที่เราเรียกว่า คนไข้ใน IPD (In-patient Department) ที่สำหรับโรงพยาบาลระดับโรงพยาบาลศูนย์จะมีโรค อาการ ที่รุนแรงหรือซับซ้อนกว่าโรงพยาบาลระดับอื่นมาก อันหมายถึงเวลาที่ให้เพื่อคนไข้กลุ่มนี้จะต้องมากตามไปด้วย นี่ยังไม่รวมถึงคนไข้อาการหนักซึ่งมีภาวะช็อค ไม่รู้สึกตัว ติดเชื้อรุนแรง ใส่เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้นในไอซียูที่หมอกลุ่มเดียวกันนี้ต้องดูแล (ICU-Intensive Care Unit)

            จากข้อมูลที่ปรากฏ ผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลเพิ่มจากประมาณ วันละ 1,600รายในปี 2549เป็น3,300ในปี 2553 (ซึ่งในปี 2554 นี้สถานการณ์ยิ่งหนัก) ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยนอกอายุรกรรมเฉลี่ย 276  ราย/วัน แต่ขณะที่ตรวจผู้ป่วยตามปกติจะมีผู้ป่วยที่อยู่กับแผนกอื่นๆ เช่น แผนกผ่าตัดหรือศัลยกรรม จิปาถะส่งมาปรึกษาทางอายุรกรรม   อีก 4,689 รายต่อปี ต้องตรวจรักษาผู้ป่วยในอีก เฉลี่ย 314 ราย/วัน (สูงสุด 349 ราย/วัน) ยังไม่รวมการดูแลผู้ป่วยที่มาฟอกเลือดล้างไต 3,972 ครั้ง/ปี และส่องกล้องกระเพาะและปอดหลอดลมอีก 3,962 ครั้ง/ปี เป็นต้น กล่าวโดยสรุปคือ ต้องดูพร้อมๆกันทั้งคนไข้นอกและคนไข้ใน  รวมแล้วต้องรับผิดชอบผู้ป่วยเฉลี่ย 276+314 = 590 คน/วัน ทั้งนี้ไม่รวมทั้งไอซียู ถ้าโชคร้ายขณะนั่งตรวจคนไข้นอก เกิดมีเหตุด่วนถูกตามก็ต้องวิ่งเข้าไปดูคนไข้ในที่อาการแย่ลง คนไข้นอกยิ่งรอนานมากขึ้นและเวลาที่ใช้ในการตรวจที่สั้นอยู่แล้วก็ยิ่งสั้น ลงไปอีก จะบอกคนไข้ที่รอตรวจที่ OPD ว่าต้องไปปั้มหัวใจช่วยชีวิตคนไข้ในก็ไม่มีเวลา หรือไม่มีใครเห็นใจ ต้องถูกต่อว่า ทั้งหมดนี้มีแพทย์อายุรกรรม 11 คนนะครับ ที่ต้องเรียนว่ายังมีช่วงที่แพทย์แต่ละท่านต้องมีภารกิจอื่น ๆ ที่จำเป็นทางราชการ เช่น การทำผลงานทางวิชาการ การไปอบรมเพิ่มเติม การพัฒนาคุณภาพ เป็นต้น

            ยังไม่จบ เพราะอยากให้เห็นภาพร่วมกันหน่อยหนึ่ง ในช่วงบ่ายแพทย์จะออกตรวจผู้ป่วยนอกอีกกลุ่มที่มาตรวจเฉพาะเจาะจงโรคที่ เรียกว่าคลินิกเฉพาะโรค (Specialty clinic) ซึ่งความจริงก็คือ แพทย์กลุ่มเดิมที่ถนัดเชี่ยวชาญต่างกันเช่น ชำนาญ ทางหัวใจหลอดเลือด หรือระบบประสาท หรือไต อะไรเหล่านี้ ที่ผลัดเปลี่ยนกันออกตรวจผู้ป่วยทั่วไปช่วงเช้าแล้ว แต่มีทักษะความสามารถเฉพาะเรื่องเพิ่มเติมก็จะออกตรวจเฉพาะอีกตอนบ่าย และในแต่ละวันจะมีการรับผู้ป่วยใหม่ที่อาการเริ่มหนัก เริ่มซับซ้อนเข้ารักษาในโรงพยาบาล ก็จะเป็นแพทย์กลุ่มเดิมอีกที่มารับคนไข้ใหม่ ดังนั้นแพทย์ทางอายุรกรรมกลุ่มนี้ต้องทำงานทุกวันไม่เว้นวันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ แม้ไม่ได้อยู่เวร อย่าลืมว่าโรงพยาบาลเปิด 24ชั่วโมง ต้องมีแพทย์เวรสำหรับตอนกลางคืน ก็จะเป็นแพทย์กลุ่มเดิมที่ต้องผลัดเปลี่ยนอยู่เวรกันอีก ผลคือแพทย์ทุกคนของโรงพยาบาลนี้ต้องทำงานทุกวันไม่มีวันหยุดตลอด 5 เดือน จึงจะได้พักเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ เพื่อช่วยกันรองรับและรักษาผู้ป่วยหลากหลายให้มีความปลอดภัยเท่าที่จะทำได้ แต่แพทย์ก็เป็นคนนะครับ

            เหตุการณ์เหล่านี้ผ่านไปวันแล้ววันเล่า รักษาดีคนไข้ยิ่งมากขึ้น ยิ่งหนักขึ้น  ราวกับแพทย์เป็นเครื่องจักร แทนที่จะมีคำชมกลับเป็นคำบ่น เพราะการบริการคนไข้ที่มากขึ้นก็จะมีการร้องเรียนเกี่ยวกับรอนาน รักษาช้า ที่เคราะห์ร้ายคือบางรายต้องพิการ หรือเสียชีวิต   ก็จะถูกญาติเพ่งเล็งว่าหมอหรือโรงพยาบาล ผิดพลาดตรงไหน จะได้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ตามกระแสข่าวหรือการยุยง หรือความระแวงที่ได้ยินกันมา

            ที่สำคัญ จำนวนแพทย์ที่ว่านี้ เปลี่ยนแปลงไปในทางลดลง ถ้าอายุรกรรมแพทย์ 2 คนใช้ทุนราชการครบและอาจจะออกไปอีกทำเอกชนที่สบายกว่า ผลตอบแทนดีกว่า หรือท่านที่มีอยู่ คนที่เหลืออยู่เพราะเห็นแก่โรงพยาบาลหรือคนไข้เกิดหมดแรงเพราะภาระเพิ่มขึ้น อีกจากคนที่ขาดไปอาจจะออกไปอีก ความผิดพลาดอ่อนล้าจะเกิดขึ้นอีกมากน้อยแค่ไหน ยังไม่นับการขาดแคลนและภาระงานล้นของพยาบาลหรือบุคลากรของโรงพยาบาลที่หน่วย งานอื่น ๆ   

            ที่เขียนมานี้เป็นส่วนน้อยตัดมาจากข้อมูล ตัวเลข และคำบรรยายหลายหน้ากระดาษที่ลูกศิษย์รุ่นน้องส่งมาให้ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาระงานที่ต้องแบกนี้มีประมาณขนาดไหน จากความซับซ้อนของตัวโรค ความคาดหวังของผู้ป่วย ความขาดแคลนบุคลากรแพทย์ ขาดเวลาที่จะเอาใจใส่ได้ทั่วถึง ถูกทับถมด้วยการบ่นว่าจากคนไข้ ถ้าจะเกิดความผิดพลาด เช่น รักษาช้า ให้ยาได้ไม่ตามกรอบที่กำหนดและอื่นๆ เวลาที่ถูกสอบสวนก็จะพบว่าผิดเต็มประตู แต่เคยมีใครพินิจพิเคราะห์หรือไม่ครับ และบอกกับสังคมหรือไม่ว่าในขณะนั้นแพทย์มีภาวะรับผิดชอบกับผู้ป่วยอื่น ๆ อีกมากขนาดไหน ผลการรักษาที่ถูกตำหนิหรือถูกขึ้นโรงขึ้นศาลอาจจะ 1 ราย แต่มีคนไข้อื่นๆที่ดีขึ้นหรือรอดชีวิตกี่รายที่แพทย์ท่านนั้นได้ช่วยไว้

            ถึงตรงนี้หมอเองซึ่งทำงานในโรงเรียนแพทย์รู้สึกว่าเหมือนอยู่ในสวรรค์ ทั้งนี้ภาระงานต่างกันมหาศาล เพราะเรามีแพทย์ประจำบ้านเป็นตัวช่วย โดยที่มีส่วนทดแทนด้วยด้านวิชาการ การสอนหรือการวิจัย ทำอย่างไรครับที่เราจะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้ดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่อยากเห็นแพทย์ที่ยังทนอยู่ในราชการได้ก็จะทำไปโดยหน้าที่   ไม่มีหัวใจ  ขาดความกระตือรือล้น   ทำไปวันๆ ที่มีโอกาสมีทางออกก็เปลี่ยนอาชีพหรือทำงานกับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งงานเบากว่า และมีค่าตอบแทนสูงกว่าลิบลับ เพราะฉะนั้นที่ปรากฎอยู่ขณะนี้จะเป็นการกรองคนดีออกจากระบบหรือเปล่า

            ไม่ปฏิเสธหรอกครับ เราก็มีแพทย์พาณิชย์ หน้าเลือด คดโกงเพื่อหวังร่ำรวย แต่จริงหรือที่แพทย์  ทั้งประเทศจะเป็นเช่นนั้น การตัดสินจ้องจับผิดเป็นเรื่องไม่ยากหรอกครับ ทำอย่างไรเราจะช่วยกันไม่ให้เกิดความผิดซ้ำซาก ทั้งๆที่ไม่มีแพทย์คนใดอยากให้เกิดเหตุเช่นนั้น จะถึงเมื่อใดที่แพทย์และผู้สนับสนุนให้มี พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ มานั่งคุยกันถึงระบบที่มีอยู่ขณะนี้ ว่าจะมีโอกาสช่วยกันเพื่อแก้ปัญหาในอนาคต มีโอกาสหรือไม่ที่จะให้อัยการ  ผู้พิพากษาเข้าใจความยากลำบากซับซ้อนของการรักษาโรค และสำคัญที่สุดถึงเวลาหรือยังครับที่นักการเมือง รัฐบาลไม่ว่ายุคไหนก็ตาม  เลิก “ประชานิยม” ผลักภาระให้แพทย์ที่อยู่แนวหน้า โดยอ้างว่าได้สร้างระบบที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในโลก เมื่อมีข้อบกพร่องก็เป็นความผิดของผู้รักษาอย่างเดียว    วิธีดีท็อกซ์สำหรับตอนนี้คือ เราจะปันหัวใจ ปันความรู้สึกที่ดีต่อกันได้ไหมครับ อย่าคิดถึงตนเองเป็นใหญ่

            จำได้ว่าเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว เคยอภิปรายในงานวิชาการประจำปีของท่านอัยการ ผู้พิพากษา เคยเสนอท่านว่าน่าจะมีตัวแทนของฝ่ายกฏหมายเข้ามาใช้ชีวิตในโรงพยาบาลอย่าง น้อย 2-3 สัปดาห์ เพื่อเข้าใจชีวิตของแพทย์ที่มีงานหนัก และมีปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขอย่างปัจจุบันทันด่วนด้วยอยู่เสมอ และต้องอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือมีแต่อาจยังขาดประสบการณ์ในการใช้  รวมทั้งอยู่ในสภาพที่ต้องตื่นตัวรับวิชาการแขนงใหม่ๆอยู่ตลอด คงจะมีตอนต่อไปเรื่อยๆของดีท็อกซ์ครับ

15 มีนาคม 2011