ผู้เขียน หัวข้อ: “หมอพร้อม-ครูพร้อม-นนท์พร้อม” ยิ่งหลายแอปฯ ยิ่งไม่พร้อม แพทย์ฉะ “วิกฤตมาก  (อ่าน 345 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
หมอถามแทนใจประชาชน จะฉีดวัคซีนแต่ยุ่งยาก ลงทะเบียนหลายช่องทาง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทั้งเรื่องการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาฉีด แต่เมื่อออกมาแล้ว กลับไม่ได้ฉีด สะท้อนการบริหารจัดการท่ามกลางสถานการณ์โควิด ที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่

ทำงานซ้ำซ้อน ทำประชาชนสับสน

ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “วัคซีน”

ทำให้ช่วงนี้กระแสการลงทะเบียนฉีดวัคซีนกำลังมาแรงเลยทีเดียว ซึ่งสามารถจองคิวฉีดวัคซีนได้ผ่านแอปฯ “หมอพร้อม”
อย่างไรก็ตาม บางสาขาอาชีพก็จะมีแอปฯ จองฉีดวัคซีนอีกตัว อย่างอาชีพครู ก็มี “ครูพร้อม” ส่วนบางจังหวัดก็มีแอปฯ เป็นของตัวเอง เช่น จ.นนทบุรี ก็มี “นนท์พร้อม” ซึ่งเรื่องนี้ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีความยุ่งยาก และสับสนในการลงทะเบียน เพราะมีหลายแอปฯ เต็มไปหมด น่าจะรวมเป็นแอปฯ เดียว

ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะ​แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “Thiravat Hemachudha” ถามแทนใจประชาชน ถึงมาตรการการฉีดวัคซีนที่ดูยุ่งยาก มีการลงทะเบียนกระจัดกระจายหลายช่องทาง ทำให้เกิดความสับสน

นอกจากปัญหาประชาชนเกิดความสับสนเรื่องแอปฯ หลายตัวแล้ว ยังเจอเคสอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ ท่านนายกรัฐมนตรี ประกาศให้สามารถ Walk-in จนในที่สุดก็ประกาศยกเลิกไปอีกครั้ง พร้อมย้ำว่า ระบบหลักคือลงทะเบียนผ่าน “หมอพร้อม”

ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยังคุณหมอท่านนี้ ให้ช่วยสะท้อนเพิ่มเติมถึงปัญหาดังกล่าว ซึ่งคุณหมอก็บอกว่า รัฐมีการจัดการค่อนข้างสับสน ควรจะมีการประกาศที่ชัดเจน และต้องรีบคุมการระบาดในครั้งนี้ให้ได้เร็วที่สุด

ไม่เพียงเท่านี้ คุณหมอยังสะท้อนอีกว่า ในการปฏิบัติหน้างานจริงๆ ก็มีปัญหา เช่น กรณีเขตคลองเตยระบาด มีการส่งวัคซีนไปฉีด แต่พอคนไปรอฉีด กลับไม่มีให้ฉีด

“ประเด็นเรื่องของการจัดการ ดูเหมือนกับไม่ใช่เป็น Single Command ลักษณะค่อนข้างแยกส่วน ก็จะมีแอปฯ ไทยชนะบ้าง แอปฯ หมอพร้อมบ้าง หรือว่าแอปฯ ของจังหวัดต่างๆ ที่ออกมา

ในขณะเดียวกัน ก็จะมีลักษณะของวัคซีนที่ค่อนข้างสับสน ไม่ว่าจะเป็นการที่บอกให้ Walk-in หรืออะไรต่างๆ ตรงนี้เองสิ่งที่กังวล ประชาชนจริงๆ ก็อยากได้วัคซีน แต่ว่าไม่รู้จะไปรับที่ไหน หรือว่าเมื่อไปยืนเข้าแถวแล้วก็ไม่ได้

ประชาชนจะ Walk-in เข้าไปเพื่อหวังว่าจะได้รับวัคซีนแต่ละแห่งที่เคยประกาศ หรือเข้าใจว่าประกาศแล้วยกเลิก ความเสี่ยงตรงนั้นอยู่ในขณะที่เดินทางโดยรถโดยสาร หรือว่าการขนส่งสาธารณะ และก็ยังมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นขณะไปยืนเข้าแถว”

[ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา]
[ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา]

คุณหมอยังช่วยสะท้อนอีกว่า ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ไม่ควรทำงานซ้ำซ้อน เพราะยิ่งจะทำให้เกิดการสับสนในการสื่อสาร หากเป็นไปได้ แนะว่า ควรจะมีแอปฯ เดียวครอบคลุมทุกอย่าง

“ถ้ามีวัคซีนพอตามที่คุย ไม่รู้ว่ามีพอจริงหรือเปล่า หรือกระบวนการฉีดต่างๆ เรื่องพัฒนาแอปฯ ตรงนั้นไม่ได้มีความหมายเท่าไหร่นัก ถ้าหากจัดระบบการจัดการได้ไม่ดี มันทำให้เกิดการสับสน เพราะฉะนั้นจะมีแอปฯ เดียวก็ได้

วิธีการประกาศของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะของกรรมการชุดเล็ก ชุดใหญ่ กรรมการที่ปรึกษา รัฐมนตรี ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา) ชุดเล็ก ชุดใหญ่ และมานายกฯอีก ถ้ายังไม่สรุปไม่ต้องประกาศ ไม่ต้องหิวแสงออกทีวี ก็ประกาศครั้งเดียวจบ

หรือแม้กระทั่งว่าอยากเปิดร้านอาหาร ได้หรือไม่ได้ยังไง ก็ประกาศไปล่วงหน้าก่อนสักอาทิตย์ พอเสร็จเรียบร้อย ชาวบ้านเตรียมจะขายของ ก็บอกว่าขายได้บ้าง-ไม่ได้บ้าง เป็นการทำงานซ้ำซ้อน ไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดความสับสนของคนไทยทั้งหมด

ไม่ใช่แค่สื่อสับสน คนไทยทุกคนก็สับสน ครอบครัวผมเองที่ไม่ใช่หมอ ยังหาที่ฉีดไม่ได้เลย ลงทะเบียนกันทุกแห่งเลย ที่ไหนมาก่อน เหลือว่าที่ไหนที่เขาเหลือๆ ก็ไปฉีด ก็ยังหากันอยู่ มันแย่มาก วิกฤตมากถ้าทำงานกันแบบนี้”

คุมการระบาดให้ไว ฉีดให้เร็ว

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาชนสับสนว่ากลุ่มใดควรได้รับวัคซีนก่อน ซึ่งคุณหมอมองว่า จริงๆ แล้วทุกคนควรได้รับวัคซีน และวัคซีนต้องมาให้ครบ พร้อมฉีดให้เร็วที่สุด

“ที่บอกว่าให้ฉีดเร็วที่สุด ตรงนี้มีความหมายมาก ตอนนี้ฉีดไปได้ประมาณ 2 ล้านคน เข็มแรก ถ้าหากว่าเราฉีดได้ไม่ครบ 60 ล้านคน ภายในระยะเวลาอันใกล้ ต่อไปถ้ามีการแพร่กระจายไปเรื่อยๆ อย่างนี้ จะมีการกลายพันธุ์ในประเทศไทยเอง”

ส่วนประเด็นที่ก่อนหน้านี้ รัฐประกาศว่าจะฉีดให้ครบ 150 ล้านโดส ภายในปีนี้ ด้านคุณหมอเองก็มองว่า ภายในปีนี้ไม่ทันแน่นอน และต้องรีบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดให้สงบลงให้ได้ภายใน 3 เดือน หลังจากนี้

“สิ้นปีนี้ไม่ทัน เพราะตอนนี้อย่างที่เราเห็น ในต่างประเทศอย่างที่เคยฉีดได้ครบสำเร็จดี ตอนนี้ก็เริ่มมีปะทุขึ้นมาใหม่ ตัวที่ปะทุขึ้นมาใหม่ ก็เกิดจากการเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาของไวรัส ซึ่งก็จะหนีต่อภูมิคุ้มกันเดิมที่ได้จากวัคซีน หนีจากภูมิคุ้มกันเดิมที่ได้จากการติดเชื้อ โดยธรรมชาติของเขาเอง ก็จะมีตัวใหม่เข้ามา

ถ้าเราไม่สามารถสงบการระบาดภายใน 2-3 เดือน ที่เกิดขึ้นจากสายพันธุ์บ้านๆ ซึ่งก็คือ สายพันธุ์ที่กระจอกที่สุดแล้ว ต่อไปก็จะมีตัวใหม่เข้ามา วัคซีนตัวที่ใช้อยู่ปัจจุบันก็เอาไม่อยู่ มันก็จะทับถมกับสายพันธุ์ดุร้ายที่เข้ามา จนเละเทะกันไปหมด

ถ้าจะสงบต้องสงบให้ได้เด็ดขาดในสายพันธุ์บ้านๆ ไม่อย่างนั้นภายในสองเดือนครึ่ง หรือไตรมาส 3-4 ตรงนี้ ถ้ามีตัวใหม่เข้ามา อาจจะเล็ดลอดมาจากประเทศนอก หรือเกิดขึ้นในประเทศเอง เพราะว่ามีการระบาดเยอะโดยที่เราควบคุมไม่ได้เอง”

นอกจากนี้ คุณหมอยังย้ำถึงการบริหารจัดการวัคซีน ว่า อยากให้รัฐทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมฝากบอกให้ประชาชนรักษาตัวเองด้วยการมีวินัยต่อไป

“ถ้ามีวัคซีน มีการบริหารจัดการที่ดี ประชาชนเรารักษาตัวเองให้รอดด้วยการมีวินัย รักษาระยะห่าง แต่สิ่งที่นอกเหนือจากนี้ไป เป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยทำไม่ได้แล้ว ต้องเป็นสิ่งที่รัฐต้องทำงาน เพื่อให้ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะว่าคนไทยขณะนี้ทำได้เท่านี้ ซึ่งเศรษฐกิจก็ย่อยยับไปแล้ว เหลืออยู่แค่ว่าทางการจะทำยังไง เพื่อให้ประสานกับคนไทยแต่ละคน เพื่อให้อยู่รอดไปด้วยกัน”

20 พ.ค. 2564 ผู้จัดการออนไลน์