ผู้เขียน หัวข้อ: สมบูรณ์แบบแต่ล้มเหลว  (อ่าน 1598 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สมบูรณ์แบบแต่ล้มเหลว
« เมื่อ: 09 เมษายน 2012, 23:14:34 »
ใครๆ ก็อยากเห็นผลงานที่สมบูรณ์แบบกันทั้งนั้น แต่กลับพบกันอยู่เป็นประจำว่าผลงานที่ทุ่มเททั้งแรงงาน ทั้งเวลาไปมากมายนั้น นำมาซึ่งความล้มเหลวนานาประการ

คนเก่งหลายคนที่มุ่งมั่นสร้างความสมบูรณ์แบบลงเอย ด้วยผลงานที่แทบไม่ต่างไปจากผลงานของคนที่ทำงานแบบทำอย่างไรก็ได้ขอให้งานเสร็จๆ ไปเท่านั้น สมบูรณ์แบบกับขอไปทีใกล้เคียงกันได้อย่างไม่น่าเชื่อในการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อม การทำงานแบบใดจึงเป็นคำถามที่ผู้บริหารหลายคนอยากได้คำตอบ

มีงานวิจัยหลายงานบอกไว้ว่าต้น เหตุสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารล้มเหลวมีอยู่สามประการ ประการแรก คือ ตัดสินใจล่าช้า ประการที่สอง คือ ไม่ยืดหยุ่นในการทำงานหรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และประการที่สาม คือ ไม่มีทักษะการติดต่อสื่อสารหรือทำงานร่วมกับคนอื่น ซึ่งสาเหตุสำคัญสองประการแรกนั้นเกี่ยวข้องกับการทำงานแบบมุ่งหวังความสมบูรณ์แบบ กล่าวคือ การพยายามทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จลงได้อย่างไร้ที่ตินั้นอาจทำให้การตัดสินใจในทุกขั้นตอนล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ยิ่งงานมีมากขั้นตอน ความล่าช้าในการตัดสินใจก็สะสมมากขึ้นตามลำดับ คนที่มุ่งหวังความสมบูรณ์แบบอย่างสุดขั้ว จึงกลายเป็นคนที่ตัดสินใจล่าช้าไปในแทบทุกเรื่อง การกลัวคำวิจารณ์มากจนเกินควรทำให้ไม่ยอมปรับเปลี่ยนวิธีทำงานด้วยคิดว่าวิธีที่เคยทำอยู่นั้นจะนำไปสู่ผลงานที่ไร้ที่ติ ไม่กล้าออกนอกกรอบเพราะกลัวว่าจะมีจุดใหม่ให้ติเตียนได้ สุดท้ายจึงกลายเป็นคนที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทั้งปวง เพราะการเปลี่ยนแปลงหมายถึงคำวิจารณ์ใหม่ๆ ที่จะตามมา ผู้บริหารหลายคนที่เริ่มต้นด้วยความตั้งใจดีที่มุ่งหวังความสมบูรณ์แบบจึงกลับลงท้ายด้วยการกลายเป็นผู้บริหารที่ล้มเหลว

สภาพการทำงานที่ทำให้ความสมบูรณ์แบบจบลงด้วยความล้มเหลวนั้น เริ่มต้นจากการสร้างความเกรงกลัวต่อความผิดพลาดมากจนเกินสมควร งานง่ายๆ จะกลายเป็นงานยากเย็นทันทีที่หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นแล้วมีผลตามมาที่เสียหายรุนแรง ถ้าให้เดินบนกระดานกว้างเมตรครึ่งที่วางอยู่บนพื้น ใครๆ ก็เดินได้ แต่ถ้าวางไม้แผ่นเดียวกันนั้นไว้บนที่สูงจนตกลงมาแล้วบาดเจ็บ จะมีแค่บางคนที่ไม่กลัวตกเท่านั้นที่เดินได้ สภาพการทำงานที่ทำให้เกิดความเกรงกลัวความผิดพลาดจนเกินสมควรส่งเสริมให้ต้องทำงานแบบสมบูรณ์แบบจนเกินสมควรตามไปด้วย การทำงานชุ่ยๆ ไม่สมควรเกิดขึ้นเท่าๆ กับการที่กำหนดให้ต้องทำงานทุกขั้นตอนโดยไม่ให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นเลย เพราะทั้งสองแบบนำไปสู่ความล้มเหลวได้เท่าๆ กัน ถ้าเข้มงวดกับความผิดพลาดมากเกินไป ผลที่ได้คือความล้มเหลวเท่าๆ กับที่ปล่อยให้มีการทำงานอย่างชุ่ยๆ ดังนั้น ต้องยอมให้ผิดพลาดได้บ้าง แต่ต้องกำกับให้มีการแก้ไขความผิดพลาดนั้นจนกว่าจะบรรลุผลตามความสำเร็จตามที่มุ่งหมายไว้ ผิดพลาดแล้วแก้ไข ผิดพลาดแล้วเรียนรู้ สามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้มากกว่าที่จะกำหนดให้ความผิดพลาดเป็นเรื่องใหญ่หลวง ที่ไม่สามารถให้อภัยกันได้เลย
 
ผู้บริหารที่มีชอบตั้งเป้าหมายในการทำงานเกินกว่าขีดความสามารถของคนทำงาน มีส่วนส่งเสริมให้เกิดการทำงานแบบมุ่งมั่นความสมบูรณ์แบบในแต่ละขั้นตอนการทำงานมากจนเกินควร งานที่ควรจะทำเสร็จในวันเดียวก็กลายเป็นสามสี่วัน เพราะหนทางหนึ่งที่จะรอดตัวได้ในการทำงานที่ยากจนไม่รู้ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ คือ ใช้เวลากับแต่ละขั้นตอนให้มากที่สุด เมื่อใช้เวลามากก็ต้องมีคำแก้ตัวที่ดี ซึ่งก็คือการทำงานในขั้นตอนนั้นจะต้องสมบูรณ์แบบที่สุด กลัวงานส่วนที่ยากก็เลยประณีตอยู่กับงานง่าย  เราพบเสมอว่าคนทำงานเสียเวลาอยู่กับขั้นตอนการทำงานบางขั้นตอนมากเกินกว่าที่ควร เพราะงานในขั้นตอนต่อไปนั้นตนเองทำไม่ได้  ช่างก่ออิฐฉาบปูนผนังอย่างไร้ที่ติอยู่เป็นวันๆ เพราะติดตั้งประตูหน้าต่างไม่เป็น กว่าบ้านจะเสร็จเลยต้องใช้เวลานานนับปีแทนที่จะเป็นเพียงไม่กี่เดือน  ดังนั้น จะตั้งเป้าหมายการงานให้ใครทำ ให้ดูเพดานขีดความสามารถของคนนั้นไว้ให้ดีเสียก่อน
 
ผู้บริหารที่ชอบเยินยอ ยกย่องคนทำงานเกินความจริง ยกย่องว่าเก่งสารพัด ทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็ชื่นชมกันอีกแล้วจะสร้างสภาพการทำงานที่กดดันให้คนทำงานคนนั้นมุ่งมั่นความสมบูรณ์แบบจนเกินสมควร เลยกลายเป็นทำอะไรต้องกลายเป็นแบบอย่างไปหมด  จนกลัวที่จะทำงานที่ไม่เคยทำมาก่อน ติดอยู่กับเรื่องเดิมๆ ทำงานใหม่ไม่ได้เพราะกลัวไม่ได้รับการยกย่องอย่างที่เคยได้รับมาก่อน การยืดหยุ่นเลยหายไปหมด การสร้างสรรค์ก็หดหายไปด้วยเพราะใช้แต่แบบเดิมๆ ตามที่เคยได้รับการยกย่อง ดังนั้น จะเยินยอใครให้ดูให้ชัดๆ ว่าได้สร้างผลงานอะไรมาบ้าง อย่ายอส่งเดช เพราะจะกลายเป็นอุปสรรคมากกว่าที่จะเป็นขวัญและกำลังใจไปสู่ความสำเร็จ ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ หลายคนที่มีนิสัยมุ่งมั่นความสมบูรณ์แบบมากเกินไปมักมาจากครอบครัวที่ชอบเยินยอบุตรหลานจนเกินเลยความจริงกันอยู่เป็นประจำ ถ้าเยินยอกันแต่พองามจะสร้างกำลังใจ เยินยอมากเกินจริงจะสร้างความล้มเหลวที่ขึ้นต้นมาด้วยความสมบูรณ์แบบ ในทางตรงข้าม การวิจารณ์ติเตียนกันรุนแรงเกินสมควรก็ส่งเสริมสภาพการทำงานที่ขึ้นต้นด้วยความสมบูรณ์แบบแต่ลงท้ายด้วยความล้มเหลวเช่นเดียวกัน เราพบเห็นกันอยู่เสมอว่าคนที่ทำงานอยู่กับผู้บริหารที่ติไปหมดทุกเรื่อง โดนวิจารณ์อยู่เป็นประจำ จะทำงานเสร็จช้ากว่าคนที่ทำงานกับผู้บริหารที่ติเตียนเฉพาะที่จำเป็น ติเตียนกันมากเกินไปก็เหมือนคอยจับผิด ถ้าต้องแต่งตัวในที่สาธารณะย่อมช้ากว่าแต่งตัวในที่ส่วนตัว ติเตียนตามที่ควรจะเป็นงานก็ดีขึ้น ติมากเกินไป บางส่วนของงานอาจจะสมบูรณ์แบบ แต่งานนั้นจะไม่เสร็จ

เล่ากันว่าบ้านเมืองหนึ่งมีกฎกติกาเกี่ยวกับการกำกับกิจการโทรคมนาคมที่คุยกันหนักหนาว่าจัดทำขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบจน ไม่มีข้อบกพร่องใดๆ หลงเหลืออยู่  แต่กลับกลายเป็นว่ากิจการโทรคมนาคมของบ้านเมืองนั้นล้าหลังจนกระทั่งหลุดไปอยู่ในกลุ่มเดียวกับบ้านเมืองที่ด้อยพัฒนาได้ภายในเวลาไม่ถึงสิบปี กฎกติกาที่สมบูรณ์แบบนั้นได้กลายเป็นกฎกติกาที่ทำให้ผู้ประกอบการทุกรายในบ้านเมืองนั้นมัวแต่มุ่งหวังความสมบูรณ์แบบไปหมดทุกเรื่องจนขยายบริการอะไรใหม่ไม่ได้  รายใดไม่สมบูรณ์แบบตรงไหน ถูกเล่นงานอย่างรุนแรงตรงนั้นทันที ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่บอกให้ทราบว่าความสมบูรณ์แบบในการทำงานนั้นหากใช้ถูกที่ถูกเวลาถูกวัตถุประสงค์ย่อมได้ผลดีกันทั่วหน้า แต่ถ้าใช้ความสมบูรณ์แบบเป็นเครื่องมือในการเล่นงานกันและกัน สิ่งที่ได้มาไม่มีอย่างอื่นอีกแล้วนอกจากความล้มเหลวด้วยกันโดยทั่วหน้าเช่นกัน

กรุงเทพธุรกิจ  9 เมษายน 2555