ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไมจึงมีมนุษย์เหลือรอดแค่ “สปีชีส์” เดียว?  (อ่าน 1801 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด
เมื่อ 100,000 ปีก่อนไม่ได้มีมนุษย์แค่สายพันธุ์เดียวอย่างปัจจุบัน แต่เรายังแชร์พื้นที่โลกให้แก่มนุษย์อื่นอีกหลายสปีชีส์ พวกเขาเหล่านั้นฉลาดและเป็นสุดยอดนักล่า แต่เหตุใดจึงมีแค่ “เรา” ที่เหลือรอดบนดาวเคราะห์ดวงนี้ มาร่วมกันวิเคราะห์และหาคำตอบนี้
       
       ขณะที่ประเด็นเรื่องกำเนิดมนุษย์เป็นที่ถกเถียงอย่างร้อนระอุ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็เห็นพ้องต้องกันว่าสายพันธุ์หรือสปีชีส์ของมนุษย์ทั้งหลายนั้น ล้วนสืบทอดมาจากสิ่งมีชีวิตคล้ายลิงที่เดินหลังตรงและอาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกาเมื่อ 6 ล้านปีก่อน ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นมีลูกหลานสืบทอดหลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ส่วนใหญ่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว หากแต่สิ่งชีวิตชนิดแรกที่เราจำแนกว่าเป็นมนุษย์สายพันธุ์แรกนั้นปรากฏในแอฟริกาเมื่อ 2 ล้านปีก่อน
       
       จากบทความของบีบีซีที่วิเคราะห์ถึงสาเหตุการเหลือรอดของมนุษย์สายพันธุ์เดียวในปัจจุบันกล่าวถึง โฮโม เออร์กัสเตอร์ (Homo ergaster) ว่าเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่อพยพออกจากแอฟริกา แล้วไปสร้างอาณานิคมในเอชีย ทั้งนี้ พวกเขาเป็นมนุษย์ที่ผลิตเครื่องไม้เครื่องมือใช้เองได้ และยังเป็นนักล่าที่มีความช่ำชอง โดยกระดูกของมนุษย์สายพันธุ์นี้บ่งชี้ว่าพวกเขาเป็นนักวิ่งลมกรด ความเร็วในการวิ่งของพวกเขาแข่งกับนักวิ่งโอลิมปิกได้สบายๆ
       
       คล้ายว่าโฮโม เออร์กัสเตอร์มีวิวัฒนาการระหว่างช่วงเวลาอันยาวนานของภัยแล้งอันทารุณ ที่ได้ทำให้พืชพันธุ์ของป่าฝนเขตร้อนแห้งตาย และทำให้เกิดทะเลทรายผืนมหึมา แต่มนุษย์สปีชีส์นี้ก็ได้รับสมดุลต่อการจัดการกับความร้อน ซึ่งเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจะมีร่างกายที่ขับเหงื่อได้ค่อนข้างดี และพวกเขายังเดินทางและออกล่าในเวลากลางวันซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สัตว์ส่วนใหญ่พักผ่อน
       
       เรารู้ว่าโฮโม เออร์กัสเตอร์เดินทางไกลแสนไกล เพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในแอฟริกา และนักล่ากินเนื้อผู้หิวโหยก็เดินทางสู่ดินแดนใหม่ และเมื่อได้พบกับสภาพแวดล้อมใหม่ที่เขียวชอุ่ม พวกเขาจึงมีวิวัฒนาการและกลายเป็นสปีชีส์ใหม่ที่ชื่อ “โฮโม อิเร็กตัส” (Homo erectus) ซึ่งข้อมูลทางโบราณคดีบอกเราว่าพวกเขากระจายตัวครอบคลุมพื้นที่จากตุรกีไปถึงจีน แต่ประชากรไม่ได้มากมายไปตามขนาดพื้นที่
       
       ในส่วนของโฮโม ซาเปียนส์ (Homo sapiens) ซึ่งเป็นมนุษย์สปีชีส์เดียวที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน บีบีซีระบุว่ามีรายงานการอพยพออกจากแอฟริกาของมนุษย์สายพันธุ์นี้เมื่อประมาณ 120,000 ปีก่อน ในตอนนั้นมนุษย์สายพันธุ์เดียวกับเราได้เดินทางออกมาเป็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งอาจจะไม่เกิน 100 คน จากนั้นเราได้กระจายตัวออก ซึ่งส่วนหนึ่งได้เข้าไปถึงทวีปยุโรป และอีกส่วนหนึ่งไปเคลื่อนมาทางตะวันออกจนมาถึงอินเดีย ซึ่งมีหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งชี้ว่าพวกเขามาถึงก่อนเกิดเหตุหายนะครั้งใหญ่ได้ไม่นาน
       
       เมื่อประมาณ 74,000 ปีก่อนภูเขาไฟเมาท์โทบา (Mount Toba) ในเอเชียใต้ได้ปะทุขึ้น และได้เกิดระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ล้านปี ซึ่งความรุนแรงถูกจัดไว้ระดับเดียวกับการระเบิดของภูเขาไฟยักษ์หรือ "ซูเปอร์โวคาโน" (Supervocano) โดยครั้งนั้นภูเขาไฟได้พ่นซัลเฟอร์ออกมามากพอที่จะทำให้อุณหภูมิโลกลดลงหลายองศา และยังรุนแรงในระดับที่พ่นลาวาออกมาปกคลุมพื้นที่ขนาดประเทศอังกฤษและหนาถึง 10 เมตร นอกจากนี้ยังมีเถ้าภูเขาไฟอีกมหาศาลที่ถูกลมพัดพาไปปกคลุมเอเชีย โดยเฉพาะในทวีปแถบอินเดีย ซึ่งเรายังพบเห็นเถ้าเหล่านั้นได้ในปัจจุบัน
       
       หากแต่การระเบิดของภูเขาก็ทำให้โฮโม อิเร็กตัสมีช่วงเวลาที่รุ่งเรืองในการครอบครองเอเชีย จนกระทั่ง 40,000 ปีถัดมาพวกเขาค่อยๆ ถูกขับไล่ออกไป ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุรวมกัน ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและไม่สามารถแข่งขันกับมนุษย์ยุคใหม่ในการแย่งชิงอาหารได้ แต่ก็เป็นที่สงสัยว่าเหตุใดพวกเขาซึ่งมีขนาดใหญ่และแข็งแรงกว่าโฮโม ซาเปียนส์อย่างเราจึงไม่เหลือรอดมาได้ และคำตอบที่เข้าใจง่ายที่สุดคือเรามีสมองที่ใหญ่กว่า แต่ไม่ได้หมายถึงสมองทั้งหมด แต่หมายถึงบางตำแหน่งของสมองเราที่ใหญ่กว่า
       
       “สมองของโฮโม อิเร็กตัสไม่ได้มีพื้นที่สำหรับเนื้อสมองส่วนควบคุมภาษาและการพูดมากนัก หนึ่งในสิ่งสำคัญต่อการปรับตัวของโฮโม ซาเปียนส์คือการผสานการวางแผนที่ซับซ้อนระหว่างการใช้ภาษาและความสามารถในการถ่ายทอดความคิดใหม่จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ซึ่งการวางแผนดังกล่าวพัฒนาอยู่ในสมองส่วนหน้า ทั้งนี้ การวางแผน การสื่อสาร หรือแม้แต่การแลกเปลี่ยนสิ่งของ นำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือและอาวุธที่ดีกว่า ซึ่งแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหมู่ประชากร” จอห์น เชีย (John Shea) ศาสตราจารย์ด้านบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยสโตนีบรูค (Stony Brook University) ในนิวยอร์ก สหรัฐฯ อธิบาย
       
       นอกจากนี้ ข้อมูลฟอสซิลยังบ่งชี้ว่า โฮโม อิเร็กตัสได้ทำขวานสำหรับถืออย่างง่ายๆ แบบเดียวกับที่ใช้เมื่อล้านปีก่อน ในขณะที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างเครื่องที่เล็กกว่าและซับซ้อนกว่าอย่าง “หอก” ที่สามารถใช้ขว้างได้ และมีความเหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด เมื่อนำมาใช้ในการล่าสัตว์และต่อสู้ และความเหนือกว่านี้ได้ช่วยให้โฮโมซาเปียนส์เอาชนะมนุษย์สายพันธุ์อื่นที่เป็นศัตรูได้ โดยเราได้เอาชนะนีแอนเดอร์ทัล (Neanderthal) มนุษย์โบราณที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 30,000 ปีก่อนในยุคน้ำแข็ง (Ice Age) เนื่องจากขาดแคลนอาหาร
       
       “แม้กระทั่งเมื่อ 100,000 ปีก่อน เรายังคงมีมนุษย์หลายสายพันธุ์บนโลกและเขาเหล่านั้นก็แปลกสำหรับเรา แต่เราเป็นผู้รอดเพียงสายพันธุ์เดียวท่ามกลางการทดลองแห่งวิวัฒนาการเพื่อจะเป็นมนุษย์” ศ.คริส สตริงเกอร์ (Prof.Cris Stringer) นักมานุษวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Natural History Museum) ในลอนดอน อังกฤษกล่าว
       
       โฮโม อิเร็กตัสคงอยู่ในเอเชียจนกระทั่งถึงเมื่อ 30,000 ปีก่อน แม้พวกเขาจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ยังคงมีมนุษย์ที่สืบสายพันธุ์มาจากพวกเขาอยู่ที่เกาะฟลอเรสในอินโดนีเซีย มนุษย์เหล่านี้คือ โฮโม ฟลอเรเซียนซิส (Homo floresiensis) หรือที่รู้จักกันว่า “ฮอบบิต” (Hobbit) ซึ่งมีชีวิตอยู่จนถึงเมื่อราว 12,000 ปีก่อน แล้วพวกเขาก็สูญพันธุ์ไป ทิ้งให้เราเป็นมนุษย์สปีชีส์สุดท้ายที่เหลืออยู่บนโลกใบนี้
       
       “มีช่องว่างมหาศาลระหวางเราและญาติไพรเมทที่ใกล้ชิดกับเราที่สุดอย่างกอริลลา ชิมแปนซีและลิงโบโนโบ แต่หากช่องว่างนั้นเติมเต็มโดยมนุษย์สายพันธุ์อื่น เราอาจจะไม่เห็นช่องว่างกว้างขนาดนี้และเป็นระยะห่างเพียงแค่ก้าวเดียว เราอาจจะคิดว่าตัวเรานั้นแสนพิเศษ แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้พิเศษขนาดนั้น การถ่อมตัวเพียงเล็กน้อยไม่ได้ทำให้เจ็บปวดนัก” ดร.เชียให้ความเห็น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    28 มิถุนายน 2554