ผู้เขียน หัวข้อ: แนะทุกบ้านกินอย่างไรไม่ให้ "ไมเกรน" ถามหา  (อ่าน 1202 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด
เชื่อว่า หลาย ๆ ท่านที่กำลังอ่านอยู่นี้ เคยมีอาการปวดหัวข้างเดียว หรือไม่ก็รู้จักกับอาการที่เรียกว่า "ไมเกรน" กันเป็นอย่างดี เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศและทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวคนทำงาน ซึ่งอาการเหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้จากสิ่งกระตุ้นชนิดต่าง ๆ จากทั้งภายในและภายนอกร่างกาย การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเป็นการรักษาวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้เอง โดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่มีผลแทรกซ้อน
       
       เกี่ยวกับเรื่องนี้ เรืออากาศโท นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์สมอง และระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ความรู้ว่า สิ่งกระตุ้นในกลุ่มของอาหาร และเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ เป็นสิ่งกระตุ้นที่พบได้บ่อย การสังเกตประเภทของอาหารและเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และมีผลทำให้อาการปวดศีรษะลดน้อยลง
       
       "อาหาร และเครื่องดื่มส่วนมาก จะออกฤทธิ์กระตุ้นอาการปวดศีรษะที่บริเวณเส้นเลือดของเยื่อหุ้มสมองส่วนนอก หรือที่เส้นประสาทคู่ที่ 5 ส่วนปลาย อาจมีสารในอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิดที่ซึมผ่านเข้าไปออกฤทธิ์กระตุ้นอาการปวดศีรษะในสมองได้โดยตรง"
       
       นอกจากนั้น อายุรแพทย์สมอง และระบบประสาท บอกด้วยว่า การรับประทานอาหารให้ตรงเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการอดอาหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ จากการศึกษาพบว่าการอดอาหารเป็นตัวกระตุ้นไมเกรนได้ 40-57 เปอร์เซ็นต์
       
       สำหรับบ้านใดที่ไม่อยากให้ไมเกรนแผลงฤทธิ์ การทราบถึงอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะมีความสำคัญ เนื่องจากจะช่วยให้หลีกเลี่ยงสิ่งเหนี่ยวนำที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ อาหารที่พบว่าเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะในผู้ป่วยไมเกรน เช่น แอลกอฮอล์ (29-35 เปอร์เซ็นต์) คาเฟอีน (14 เปอร์เซ็นต์) ชีส (9-18 เปอร์เซ็นต์) ผงชูรส (12 เปอร์เซ็นต์) เป็นต้น
       
       1. สารไทรามีน
       
       เป็นองค์ประกอบธรรมชาติในอาหาร เช่น เนยแข็งที่บ่ม ปลารมควัน เนื้อสัตว์ที่ผ่านกรรมวิธียืดอายุ ของหมักดอง อาหารที่มีส่วนประกอบของยีสต์ เบียร์ เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีความไวต่อสารไทรามีน เมื่อรับประทานอาหารเหล่านี้เข้าไปจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง

       2. สารแอสปาแตม
       
       เป็นสารให้ความหวานซึ่งหวานกว่าน้ำตาลปกติ 180-200 เท่า ถึงแม้จะไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการว่าเป็นสารที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน แต่ก็พบว่าในผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดศีรษะหลังรับประทานสารตัวนี้
       
       3. ผงชูรส
       
       เป็นสารปรุงแต่งรสชาติอาหารที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง มักถูกใช้สำหรับปรุงรสชาติอาหารให้อร่อย ใช้ในอาหารกระป๋อง และอาหารพร้อมรับประทาน กลไกการกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะอาจมาจากการกระตุ้นให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทบางชนิด หรือไปกระตุ้นให้เซลล์ของผนังหลอดเลือดหลั่งสารไนตริกออกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว นำไปสู่อาการปวดศีรษะในที่สุด
       
       4. ไนเตรต และไนไตรท์
       
       เป็นสารกันบูดที่ใช้ในการถนอมอาหาร อาหารหมักดอง หรืออาหารรมควัน เช่น ไส้กรอก เนื้อรมควัน หรือปลารมควัน หลังจากรับประทานอาหารที่มีสารดังกล่าวอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะในทันที หรืออาจจะใช้เวลานานกว่านั้น เป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมงก็ได้ กลไกการกระตุ้นให้ปวดศีรษะอาจเกิดจากสารดังกล่าวไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารไนตริกออกไซด์หรือสารที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัวชนิดอื่นๆ ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ผู้ป่วยที่มีความไวต่อสารนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมไนไตรท์ โซเดียมไนเตรต โพแทสเซียม ไนไตรท์ และโพแทสเซียม ไนเตรต

   
       5. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
       
       เป็นอีกหนึ่งตัวที่พบว่า เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนได้บ่อย โดยเฉพาะในไวน์แดง ทำให้มีอาการปวดศีรษะภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากดื่ม หรือเกิดตามมาในช่วงท้ายก็ได้ สาเหตุเกิดจากไวน์มีส่วนประกอบของไทรามีน ซัลไฟท์ ฮีสตามีน และฟลาโวนอย ซึ่งสารเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
       
       "อาการปวดศีรษะหลังรับประทานแอลกอฮอลล์ สามารถเกิดได้บ่อย ซึ่งอาจรวมถึงอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ใจสั่น หงุดหงิด สมาธิแย่ลง อาการปวดศีรษะดังกล่าวมักจะเกิดในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากการรับประทานแอลกอฮอล์เมื่อร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดลดลงและสามารถมีอาการดังกล่าวยาวนานถึง 24 ชั่วโมงจนกว่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะหมดไป" อายุรแพทย์สมองและระบบประสาทเผย
       
       6. คาเฟอีน
       
       เป็นสารที่พบได้ในกาแฟ ชา โซดา และช็อกโกแลต ซึ่งรวมถึงยาแก้ปวดศีรษะที่มีส่วนผสมของสารนี้ คาเฟอีนจะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางขึ้นกับขนาดที่รับประทานเข้าไป โดยปกติจะพบในน้ำอัดลม 115 มิลลิกรัม คาเฟอีนในขนาด 50-300 มิลลิกรัมมีผลทำให้ร่างกายตื่นตัว หากมากว่า 300 มิลลิกรัมจะทำให้เกิดอาการวิตกกังวล กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ หงุดหงิด คาเฟอีนสามารถกระตุ้นให้ปวดศีรษะและยังสามารถช่วยลดอาการปวดศีรษะได้ ขึ้นอยู่กับขนาดและความถี่ของการใช้ หากใครที่มีอาการปวดศีรษะบ่อย ๆ แนะนำให้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม อาหาร หรือยาที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน
       
       ท้ายนี้ อายุรแพทย์สมอง และระบบประสาท ให้คำแนะนำทุก ๆ บ้านว่า การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากอาการปวดศีรษะ สามารถทำได้ไม่ยาก อย่างแรกควรสังเกต และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และตรงตามเวลาทุกวัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมจนเกินไป งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และถ้าอาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้น หรือมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป ควรปรึกษาแพทย์ทันที
       
       เพียงเท่านี้ก็สามารถบอกลาไมเกรนตัวร้ายกันได้แล้วครับ

ข้อมูลประกอบข่าว
       
       "ไมเกรน" เป็นโรคที่เกิดจากความไวของสมองมีมากกว่าปกติ เกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าที่ผิวสมอง ทำให้สมองเกิดการกระตุ้นได้ง่ายและไวกว่าคนปกติ หลังจากสมองถูกกระตุ้นแล้ว จะเกิดกระแสไฟฟ้าวิ่งไปตามผิวของสมองอย่างช้าๆ (ทำเกิดอาการการเตือนขึ้นมา) กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้ทำให้การไหลเวียนของเลือดในสมองเปลี่ยนแปลงไป และยังไปกระตุ้นเส้นประสาทสมอง ทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทบางชนิด มีผลทำให้หลอดเลือดสมองเกิดการขยายตัวและเกิดการอักเสบขึ้น เป็นผลทำให้มีอาการปวดศีรษะในที่สุด
       
       สำหรับอาการปวดศีรษะไมเกรนสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือน และไมเกรนที่มีอาการเตือน ซึ่งอาการเตือนที่พบบ่อย ๆ นั้น ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ โดยจะเห็นแสงเป็นเส้นซิกแซกคล้ายฟันเลื่อย อาจจะมีหรือไม่มีสี หรือเห็นภาพมืดไปเป็นบางส่วน หรือมองเห็นภาพไม่ชัด หลับตาแล้วยังเห็นได้อยู่ หรือเห็นภาพบิดเบี้ยว ซึ่งอาการผิดปกติของการมองเห็นจะเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ อาการเตือนอื่นๆ เช่น อาการชาที่มือ-แขน หรือชารอบปาก ไม่สามารถพูดได้ชั่วคราวหรือนึกชื่อไม่ออก หรือมีอาการอ่อนแรงของแขน-ขาซีกหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น
       
       นอกเหนือจากอาหารในข้างต้นแล้ว ยังมีสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนขึ้นมาได้ เช่น ภาวะเครียด การอดนอน การนอนและตื่นที่ไม่เป็นเวลา ช่วงที่เป็นประจำเดือน กลิ่นหรือควัน การเปลี่ยนแปลงของอากาศ หรือความร้อน แสงแดด เป็นต้น


ASTVผู้จัดการออนไลน์    6 เมษายน 2555