ผู้เขียน หัวข้อ: เฟซบุ๊กไม่ใช่ดาวเคราะห์ แต่หลายคนนิยามว่ามันคือโลกอีกใบ  (อ่าน 1292 ครั้ง)

single

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 17
    • ดูรายละเอียด
         มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ในฐานะผู้ก่อตั้ง ได้รับการสถาปนาจากสื่อมวลชนบางกระแสให้เป็นพระเจ้าแห่งโลกใบนี้

         4 กุมภาพันธ์ 2004 มาร์ก ซักเกอร์เบิร์กและผองเพื่อนนักเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เปิดประตูให้ผู้คนเข้าไปสัมผัสโลกที่พวกเขาสร้าง

         จากฮาร์วาร์ด เครือข่ายสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ ‘เฟซบุ๊ก’ เริ่มขยายอาณาเขตสู่มหาวิทยาลัยแห่งอื่นๆ ในอเมริกา

         11 กันยายน 2006 อาณาเขต ‘เฟซบุ๊ก’ ได้แผ่ขยายไปยังประเทศต่างๆ ผู้คนในโลกรับรู้การมีอยู่ของโลกใบนี้

         หลายคนที่ก้าวเข้าไปทำความรู้จัก วันนี้พวกเขาได้สมาทาน ‘เฟซบุ๊ก’ เป็นโลกอีกใบด้วยสาเหตุต่างๆ กันไป

         แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนล้วนติดใจในความเป็นไปของโลกชื่อเฟซบุ๊ก คือการได้แชร์ความรู้สึกและเรื่องราวต่างๆ ร่วมกันกับคนใกล้และคนไกล

    *684,367,360 คือจำนวนสมาชิกผู้ใช้เฟซบุ๊กทั่วโลก
     
    *ประเทศที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในโลกคืออเมริกา (155,348,540 users)
     
    *ส่วนประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กเป็นอันดับสอง ไม่ใช่จีน อินเดียหรือประเทศในทวีปยุโรป แต่คือประเทศในกลุ่มอาเซียน ชื่ออินโดนีเซีย (36,586,820 users)
     
    *นครรัฐวาติกันมีจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กน้อยที่สุดในโลก (80 users)
     
    *9,397,940 คือจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทย
     
    ในเมืองไทย กลุ่มคนที่เล่นเฟซบุ๊กมากที่สุด มีอายุระหว่าง 25-34 ปี เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
     
    หนุ่มสาวออฟฟิซส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ ทันทีที่นั่งโต๊ะทำงานแล้วเปิดคอมพิวเตอร์ พวกเขาจะเข้าเฟซบุ๊กเป็นเว็บไซต์แรกของวัน
     
    ระหว่างทำงาน คนนิยมเปิดหน้าเพจเฟซบุ๊กทิ้งไว้ หรือไม่ก็เข้าไปเช็กความเคลื่อนไหวของสถานะตัวเองและคนอื่นเป็นระยะๆ
     
    3.5 วินาที คือเวลาโดยเฉลี่ยที่คนใช้พิมพ์คำว่า www.facebook.com
     
    แต่คนที่เล่นเฟซบุ๊กบ่อยๆ มักนิยมพิมพ์แค่อักษร ‘f’ กับ ‘a’ แล้วกดเข้าเว็บไซต์ทันที เนื่องจากโปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์สมัยนี้จะจำชื่อเว็บไซต์ที่ผู้ใช้เข้าเป็นประจำ
     
    www.thefacebook.com คือชื่อเริ่มต้นของเว็บไซต์เฟซบุ๊ก มีที่มาจากชื่อเรียกหนังสือรวบรวมรายชื่อ ข้อมูลนักศึกษา และทีมงานในฮาร์วาร์ด
     
    สีสัญลักษณ์ของเฟซบุ๊กเป็น ‘สีฟ้า’ เพราะว่ามาร์ก ซักเกอร์เบิร์กเป็นคนตาบอดสีแดงและเขียว “ผมเห็นสีฟ้าได้ทุกๆ เฉด”
     
    **Abhisit Vejjajiva คือหน้าเพจเฟซบุ๊กนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นหน้าเพจที่มีคนติดตามมากที่สุด จำนวน 615,904 คน
     
    **ดาราสาวที่มีคนกด ‘Like’ ในหน้าเพจมากที่สุด คือเต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ
     
    คนทั่วไปมักเลือกภาพถ่ายที่คิดว่าตัวเองดูดีที่สุดเป็นภาพโปรไฟล์ ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่ใช่ภาพถ่ายหน้าตรง!
     
    ผิดกับคน ‘แนวๆ’ หรือคิดว่าตัวเอง ‘แนว’ ที่จะใช้ภาพโปรไฟล์ซึ่งแสดงถึงความเท่ เก๋ มีสไตล์ ภาพที่ใช้อาจเป็นใบหน้าตัวเอง สิ่งของ งานศิลปะ ฯลฯ ตามแต่รสนิยมและอารมณ์ในช่วงนั้นๆ
     
    หากคุณอยากรู้หน้าตาที่เป็นความจริงของเจ้าของหน้าเพจเฟซบุ๊กแนะนำให้ดูภาพที่ถูก ‘Tag’
     
    ใครที่ถูก 'Tag' ในภาพใดก็ตาม แสดงว่าคุณมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาพนั้น หรือเจ้าของภาพอยากให้คุณได้เห็นภาพดังกล่าว
     
    หลายคนพูดคำว่า ‘แท็ก’ จนเคยปาก แต่บางคนอาจไม่รู้ว่า Tag หมายถึง ติดป้าย, ติดฉลาก
     
    รูปสาวสวย เซ็กซี่ น่ารัก ขาวโบ๊ะเกินจริงที่เห็นในเฟซบุ๊ก มักมาพร้อมกับข้อความโฆษณาชักชวนทำงานบนอินเทอร์เน็ต หรือไม่ก็อาชีพขายตรง
     
    ผู้หญิงส่วนใหญ่มักไม่แสดงปีเกิดของตัวเองในหน้าเพจแสดงข้อมูลส่วนตัว
     
    เวลาที่ไม่มีอะไรทำ คนมักใช้เวลาไปกับการนั่งอ่านสถานะและดูรูป ‘เพื่อน’ ในเฟซบุ๊กไปเรื่อยเปื่อย
     
    เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือหนึ่งที่คนยุคโซเชียลเน็ตเวิร์กใช้ฆ่าเวลา
     
    คำว่า ‘เพื่อน’ ในเฟซบุ๊กมีทั้งที่เป็นเพื่อนจริงๆ เพื่อนของเพื่อน คนรู้จัก แฟน หลาน ญาติผู้ใหญ่ ครู-อาจารย์ หัวหน้า ลูกน้อง กิ๊ก ฯลฯ
     
    คนหน้าตาดีมักมีคนเข้ามาขอเป็น ‘เพื่อน’ เยอะกว่าคนหน้าตาธรรมดาแต่ถ้าคนหน้าตาธรรมดาคนนั้นมีชื่อเสียงถือเป็นข้อยกเว้น
     
    การเล่นเกมในเฟซบุ๊กเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ใช้ฆ่าเวลาได้อย่างเพลิดเพลินเป็นอันดับต้นๆ ของคนเล่นเฟซบุ๊กคอเกมเฟซบุ๊กคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเล่นเกมในเฟซบุ๊กจนถึงระดับหนึ่งอาจทำให้เกิดอาการ ‘ติด’ เกมคนที่ ‘ติด’ เกมเฟซบุ๊กส่วนใหญ่เป็นหนุ่ม-สาววัยทำงาน
     
    หลายคนยอมรับว่าการเล่นเกมเฟซบุ๊กทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
     
    ยามใดที่มี ‘การแจ้งเตือน’ ใหม่ๆ เข้ามา คนเล่นเฟซบุ๊กจะมีโรคเดียวกัน คือรีบไปกดดูด้วยความอยากรู้ทันที
     
    ผู้ชายบางคนนิยมนั่งดูรูปผู้หญิงสวยๆ (ที่ไม่ใช่แฟนของตัวเอง) ระหว่างการเล่นเฟซบุ๊ก
     
    ขณะที่ผู้หญิงเกือบทุกคนชอบแอบเข้าไปดูเฟซบุ๊กของแฟน เพื่อตรวจสอบความประพฤติอันล่อแหลมด้านความสัมพันธ์กับผู้หญิงคนอื่น
     
    เฟซบุ๊กทำให้คนเลิกกันและรักกันได้
     
    หลายคนมีแฟนจากการเล่นเฟซบุ๊ก
     
    นอกจากการได้พบเจอเพื่อนเก่าและคนที่ห่างหายกันไปนาน ฯลฯ คุณประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของเฟซบุ๊กคือการสนองตอบความอยากรู้อยากเห็นเรื่องชาวบ้านของมนุษย์
     
    ความสนใจและตัวตนของคนคนหนึ่ง สามารถประเมินได้จากสถานะและรูปที่โพสต์บนเฟซบุ๊ก
     
    หากเข้าไปดูหน้าเพจของบก.หนวด ที่มีชื่อว่า Petch Samudavanijaแล้วอ่านข้อความที่โพสต์แต่ละวันในรอบอาทิตย์ที่ผ่านมา จะพบว่าบก.หนวดเป็นคนที่สนใจเรื่องการเมือง (ฝักใฝ่ฝ่ายไหนคงต้องถามกันเอาเอง) นิยายจีนกำลังภายใน กล้องถ่ายรูป เทคโนโลยี เครื่องเสียงวินเทจและเป็นแฟนบอลทีมลิเวอร์พูล
     
    ฟุตบอลคือประเด็นยอดฮิตที่ผู้ชายนิยมโพสต์ใน ‘วอลล์’
     
    กด ‘Like’ หรือ ‘ถูกใจ’ บางครั้งคนที่กดก็ไม่ได้ถูกใจจริงๆ แต่อาจกดในกรณีที่ขี้เกียจคอมเมนต์ หรือไม่รู้ว่าจะโต้ตอบด้วยการคอมเมนต์อะไรดี
     
    เมื่อโพสต์ข้อความบน ‘วอลล์’ เรามักคาดหวังถึงการได้รับฟีดแบ็กจากใครบางคนเสมอ
     
    ในชีวิตการเล่นเฟซบุ๊ก ทุกคนเคยโพสต์คำคมๆ อย่างน้อยที่สุด 1ข้อความ
     
    โสดให้จริง แล้วค่อยมา ‘ฟีเจอริ่ง’ กัน เป็นข้อความบน ‘วอลล์’ ของหนุ่มนักรักคนหนึ่ง ที่ผู้เขียนกด ‘ถูกใจ’ ครั้งล่าสุด
     
    สถานะในเฟซบุ๊ก แต่ละวันมีข้อความที่แสดงถึงความรู้สึกมากมายทั้งสุข เศร้า เหงา ดีใจ เสียใจ หงุดหงิด เบื่อ นอยด์ รัก เลิก ฯลฯ
     
    สิ่งที่เกิดขึ้นและข้อความต่างๆ ในเฟซบุ๊ก นอกจากความสนุกเพลิดเพลิน พูดคุย สนทนา โพสต์รูปภาพ เขียนบันทึก แชร์ประสบการณ์ ฯลฯ ยังแสดงถึงสัจธรรมอันไม่จีรังในชีวิตมนุษย์ที่ว่า ใครๆ ในโลกไม่ว่ารวย จน สวย ขี้เหร่ มีชื่อเสียงหรือมีชื่อเสีย ล้วนมีทั้งความสุขและความทุกข์ใจ
     
    เกือบร้อยทั้งร้อยของคนเล่นเฟซบุ๊กมักไม่นิยม Sign out ออกจาก Account ของตัวเองหลังเลิกเล่น เพราะทุกคนต่างรู้ว่าตัวเองจะต้องกลับเข้ามาสู่โลกใบนี้ใหม่ในวันถัดไป

*ข้อมูลจาก www.socialbakers.com
**ข้อมูลจาก www.marketingbyte.com
Mars Magazine No.104