ผู้เขียน หัวข้อ: ระบบนิเวศเขตเมือง โลกอีกใบแค่ปลายจมูก(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1517 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
สรรพชีวิตล้วนพึ่งพาอาศัยกัน อีกทั้งสายสัมพันธ์ในห่วงโซ่ชีวิตก็ซับซ้อนน่าพิศวง แม้ว่าชีวิตในเมืองใหญ่อาจเป็นแดนทรหดสำหรับมนุษย์หลายคน แต่บางครั้งอาจเป็นสรวงสวรรค์สำหรับพืชพรรณและส่ำสัตว์บางชนิด “ระบบนิเวศเขตเมือง” (Urban Ecology)   เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น
                นักนิเวศวิทยาเชื่อว่า “การปรับตัว” คือกลยุทธ์การอยู่รอดอันเก่าแก่ เมื่อสิ่งมีชีวิตบางชนิดสามารถปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ดี     (ทำนองกินง่ายอยู่ง่าย)      และทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากธรรมชาติดั้งเดิม พวกมันไม่เพียงดำรงชีพได้ดี แต่ยังสามารถสืบทอดวงศ์วานจนยึดครองถิ่นอาศัยนั้นๆ  เช่น นกพิราบที่ยึดครองน่านฟ้าและบาทวิถี อาศัยหลืบอาคารสูงในเมืองเป็นแหล่งทำรัง อีกทั้งนิสัยกินง่ายอยู่ง่ายยังเอื้อต่อการดำรงชีพจนขยายพันธุ์กลายเป็นนกที่มีจำนวนมากในเขตเมืองทั่วโลก

ทว่าเรื่องราวกลับแตกต่างออกไปสำหรับแร้งประจำถิ่น ซึ่งเคยมีอยู่มากในเขตกรุงเทพฯ และทุ่งโล่งโดยรอบ ในอดีต การสาธารณสุขที่ดีขึ้นได้พรากพวกมันจนอันตรธานไปจากหลืบเมฆ เมื่อแหล่งอาหารอันได้แก่ซากศพเน่าเปื่อย ไม่มีให้พบเห็นอีกต่อไป “ถ้าสิ่งมีชีวิตสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ พวกมันจะอยู่รอดต่อไป ส่วนพวกที่ปรับตัวไม่ได้จะค่อยๆหมดไปครับ“ วัชระ สงวนสมบัติ นักปักษีวิทยา จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ อธิบาย   

กิจกรรมของมนุษย์ในเขตเมืองยังส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ถนนลาดยางมะตอยและอาคารคอนกรีตเป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Heat Island Effect) ซึ่งสะสมความร้อนในช่วงกลางวันและเก็บไว้จนอุณหภูมิสูงขึ้นในยามค่ำคืน    อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ส่งผลดีต่อยุงที่สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว นี่อาจเป็นคำตอบว่า เพราะเหตุใดภาวะโลกร้อนจึงส่งผลให้โรคมรณะหลายชนิดที่มียุงเป็นพาหะพบบ่อยขึ้น ขณะที่แสงไฟในยามค่ำคืนของเราทำให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดต้องปรับตัวโดยฉวยโอกาสเพื่อประโยชน์แก่เผ่าพันธุ์ เช่น นกเค้าหลายชนิดที่เฝ้ารอจับแมลงตามโคมไฟ หรือนกอีแพรดที่เปลี่ยนพฤติกรรมจากการหากินกลางวันมา “ทำโอที” และ “เลิกงาน” ดึกขึ้น เป็นต้น   ทว่าในบางกรณี  ระบบนิเวศเขตเมืองเหล่านี้ก็อาจคุกคามและสร้างความรำคาญให้แก่เรา ในค่ำคืนหนึ่ง แถวตลาดสดย่านนนทบุรี  ชายชุดขาวคนหนึ่งเดินฝ่าความมืดพร้อมถังสแตนเลสสีเงินแวววาว ในถังนั้นบรรจุของเหลวสรรพคุณร้ายกาจ “ยานี้จะทำให้พวกมันเป็นอัมพาตชั่วคราวครับ พวกมันจะตกใจแล้วก็ปีนขึ้นมานอนหงายท้อง จากนั้นรมควันยาอีกรอบ ก็เรียบร้อย” เขาบอกระหว่างฉีดพ่นของเหลวนั้นลงตามหลืบท่อระบายน้ำ ไม่นานนัก หนวดเล็กเรียวของแมลงสาบอเมริกันตัวใหญ่ก็กวัดแกว่งขึ้นมา พวกมันดิ้นพล่าน แล้วกรูออกมากราวกับผึ้งแตกรัง

ทว่าเราจะชนะสงครามกับเหล่าแมลงได้จริงหรือความทนทานต่อสารเคมีของแมลงสาบนั้นเป็นที่เลื่องลือ แมลงสาบอเมริกันตัวใหญ่ โผงผาง จึงมักพลาดท่าเสียที แต่แมลงสาบเยอรมันตัวเล็กจ้อย และแอบซ่อนอยู่ตามซอกหลืบ ขณะที่เพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์อีกชนิดกรูกันออกไปจนพบจุดจบ ความสามารถในการดื้อยานับเป็นกระบวนการปรับตัวที่น่ายกย่อง แมลงใช้ข้อได้เปรียบด้านวงจรชีวิตที่สั้น และจำนวนประชากรที่มีมากมายเหลือคณนา วิวัฒน์ร่างกายจนต้านทานยาฆ่าแมลงได้อย่างวิเศษ  ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา นักเคมีจึงมีงานให้ทำกันไม่หยุด     
                กระนั้น แมลงบางชนิดกลับเลือกที่จะบอบบางและก้าวไปไกลกว่านั้น พวกมันใช้ข้อได้เปรียบด้านจำนวนเป็นต้นทุนการอยู่รอดของชีวิตประจักษ์พยานในสนามหลังบ้านของเราคือประชากรมดและปลวกจำนวนมหาศาล นางพญาผู้ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยกับการคลอดได้รับการปกป้องและปรนเปรอจากเหล่าทหารและบริวาร นักชีววิทยาพบว่าการดำรงเผ่าพันธุ์ด้วยวิธีนี้ช่วยให้เหล่าแมลงครองโลกมายาวนาน และไม่ยี่หระต่อการคุกคามของมนุษย์ “แมลงพวกนี้ขยายพันธุ์เร็วและเก่งมากครับ อย่างน้ำท่วมที่ผ่านมา ผมต่อให้น้ำท่วมอีกหลายเดือน พนันกับผมได้เลยว่า พอน้ำลง เดี๋ยวมดก็กลับมาเพียบเหมือนเดิม” ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านมด จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอก             
การขยายตัวของเมืองส่งผลต่อการขยายถิ่นหากินของสัตว์บางชนิดเช่นกัน องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 ประชากรโลกร้อยละ 60 จะอาศัยในเขตเมือง    ขณะที่พื้นที่ป่าหดหายลงทุกวัน     แม้ส่ำสัตว์ในพงไพรอาจขวัญผวากับกระแสการพัฒนา โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาแถบเอเชีย แต่ผู้ที่ปรับตัวได้ก่อนก็จะยึดครองและอยู่รอดต่อไป             
                ย้อนหลังไปเพียงสิบกว่าปีก่อน บรรดานักดูนกพากันตื่นเต้นกับฝูงนกกระจอกใหญ่ นกจับคอนหาดูยากที่มีต้นกำเนิดไกลถึงแถบเมดิเตอร์เรเนียน หลายปีต่อมา มีรายงานพบนกกระจอกใหญ่เริ่มเดินทางลงใต้  โดยพบพวกมันทำรังในกรุงเทพฯ และขยายไปจนถึงประจวบคีรีขันธ์และชุมพร ลักษณะทางธรรมชาติวิทยาของมันต้องอาศัยพื้นที่โล่งสำหรับการหากิน การขยายตัวของเมืองกลายเป็นสะพานสำหรับการเดินทางลงสู่เขตที่อบอุ่นกว่า พวกมันเดินทางไม่ไกลนักจึงพบลานโล่ง หยุดพักกินอาหาร ก่อนผจญภัยต่อด้วยปีกเล็กทว่าทรหด                       
                การขยายตัวของเมืองชักนำการผลิตอาหารและโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาเยือน ผลพวงจากปุ๋ยและสารเคมีเกษตรฯ อาจส่งผลดีต่อผักตบชวา ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (invasive species) ผู้ยืนยงก็จริง แต่บรรดาแพลงก์ตอนพืชในน้ำทะเลกลับปฏิเสธสารเคมีด้วยการสร้างปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี ราวกับประท้วงสิ่งแปลกปลอมจากการกระทำของมนุษย์ ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมปากอ่าวไทย ก็เป็นต้นตอสำคัญของโลหะหนักที่เจือปนตามเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตหน้าดิน นักวิจัยพบว่า นอกจากจะตกค้างตามหน้าดินบริเวณอ่าวไทยแล้ว กระแสน้ำและลมมรสุมยังพัดพาแคดเมียม ตะกั่ว และสังกะสี ไปสะสมอยู่บริเวณดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม และดินเลนชายทะเล จังหวัดเพชรบุรี ทั้งๆที่พื้นที่เหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวการ           
                อย่างไรก็ตาม การใช้ระบบนิเวศเป็นดัชนีชี้วัดความสะอาดของสิ่งแวดล้อม นับเป็นประโยชน์ที่น่าสนใจ เช่น การใช้ไลเคนสำหรับชี้วัดมลภาวะทางอากาศ หรือการใช้หิ่งห้อยเพื่อเป็นดัชนีชี้วัดความสะอาดแหล่งน้ำ เช่นเดียวกับ “บริการทางระบบนิเวศ” (ecosystem service) หลายชนิด ที่มีประโยชน์กับวิถีชีวิตมนุษย์ในเมืองใหญ่ อาทิ การปลูกต้นไม้ผสมผสานหลายชนิดสามารถกรองมลพิษทางอากาศได้ดีกว่าการปลูกต้นไม้ชนิดเดียว การกักเก็บน้ำฝนโดยพื้นที่สีเขียวอ่อนนุ่มช่วยเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน และเป็นพื้นที่รับน้ำในยามเกิดอุทกภัย
                ส่วนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ซึ่งเป็นนโยบายของกรุงเทพฯและอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก ไม่เพียงเป็นการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น แต่ยังประโยชน์ให้กับมนุษย์ได้เกื้อกูลกับธรรมชาติ “ความสุขของคนเราไม่ได้อยู่ที่ความสะดวกสบายในชีวิตอย่างเดียวครับ ผมคิดว่าธรรมชาติในเมืองเป็นอีกทางที่ช่วยเสริมให้ชีวิตเรามีความสุขมากขึ้น ความสัมพันธ์ของเมืองและธรรมชาติ เราคงปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เราควรวางแผนหรือคิดสักนิดก่อนดีไหมครับว่าเราจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้ทุกอย่างสมดุลกัน” วัชระ นักดูนก ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิด

 เมษายน 2555