ผู้เขียน หัวข้อ: มาร์แซย์ นครหลากวัฒนธรรม(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1374 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ประโยคที่ว่าไม่มีกฎหมายข้อใดของฝรั่งเศสที่รอดพ้นจากการถูกท้าทายในมาร์แซย์นั้นดูท่าจะเป็นเรื่องจริง เพราะเมืองหลวงของแคว้นโปรวองซ์แห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นแดนเถื่อนและไร้ระเบียบ เป็นเมืองท่าที่ดึงดูดสิ่งผิดกฎหมายทุกชนิดและคนทุกประเภทซึ่งบางกลุ่มก็ผิดกฎหมายจริงๆเสียด้วย  ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ผู้คนส่วนใหญ่เหล่านี้อพยพเข้ามาทางทะเล โดยคบค้าสมาคม ทะเลาะวิวาท จับคู่  สังสรรค์ และดื่มกินกันอย่างไม่ละอายหรือเกรงใจใคร เมืองนี้เป็นเสมือนแหล่งพักพิงของผู้คนที่หลบหนีจากการถูกเบียดเบียนบีฑา โรคระบาด และความยากจน เมื่อไม่นานมานี้ คลื่นผู้อพยพ ส่วนใหญ่ที่ไหลทะลักเข้ามาเป็นชาวมุสลิม     และทุกวันนี้ยามที่มองหาดทรายสักแห่งจากที่มีอยู่มากมายในมาร์แซย์ข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังชายฝั่งแอฟริกาเหนือที่อยู่ไกลลิบ  คุณอาจนึกเห็นภาพภาพคลื่นมนุษย์ระลอกใหม่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามา อันเป็นผลมาจากความระส่ำระสายทางการเมืองในโลกอาหรับที่กำลังลุกลามขยายตัวและผลักดันผู้อพยพตลอดจนผู้แสวงหางานให้ข้ามน้ำข้ามทะเลมายังชายฝั่งยุโรป

หากคุณฟังคำพูดกรอกหูของพวกนักการเมืองขวาจัดก็อาจพาลคิดไปว่าคลื่นผู้อพยพเหล่านี้หมายถึงการรุกคืบคุกคามของของศาสนาอิสลามซึ่งท้าทายวิถีแบบยุโรป  และลงเอยด้วยการบังคับกะเกณฑ์ให้ผู้หญิงทุกคนต้องแต่งกายมิดชิดราวเจ้าสาวตอลิบาน   แต่แล้วคุณก็ตระหนักว่าหญิงชายที่กระโดดโลดเต้นรายรอบตัวคุณบนหาดทรายในมาร์แซย์นั้น ล้วนแต่มีพื้นเพมาจากแอฟริกาและอาหรับ  อีกทั้งบรรดาสาวรุ่นก็ใส่บิกินี่เฉิดฉายไม่ใช่ชุดคลุมศีรษะ

ตลอดหลายเดือนในแต่ละปีผู้คนทั้งยากดีมีจน ผิวขาวและผิวสี แอฟริกันและอาหรับ ทั้งมุสลิม คริสต์ และยิวต่างพากันจับจองที่นั่งบนหาดทราย  ปลดเปลื้องเสื้อผ้าจนเหลือเพียงน้อยชิ้น  และจับกลุ่มพูดคุยพบปะสังสรรค์ใต้แสงแดดร้อนระอุแห่งโปรวองซ์ ลองถามพวกเขาว่ามาจากไหนดูสิ รับรองว่าคุณจะไม่ได้ยินคำว่า แอลจีเรีย หรือโมร็อกโก หมู่เกาะคอโมโรส หรือแม้แต่ฝรั่งเศส  เพราะพวกเขามักตอบสั้นๆว่ามาจากมาร์แซย์

ขณะที่หลายประเทศในยุโรปกลายเป็นประเทศของผู้อพยพ   มาร์แซย์อาจเป็นตัวแทนวิสัยทัศน์แห่งอนาคต หรือแม้แต่ต้นแบบของความหลากหลายทางวัฒนธรรม (multiculturalism) แต่ใช่ว่าการรักษาสมดุลหรือความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางสังคมจะทำได้โดยง่าย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งที่ยังดำเนินอยู่ในตะวันออกกลางมักส่งแรงกระเพื่อมแห่งความกลัวมาถึงเมืองในฝรั่งเศสแห่งนี้เป็นระลอกๆ  มิเชล เตอบูล        ประธานองค์กรผู้แทนชาวยิวแห่งฝรั่งเศส หรือซีอาร์ไอเอฟ (CRIF) สาขาโปรวองซ์เล่าว่า “ระหว่างสงครามอิรักเมื่อปี 1991 ฉันบอกตัวเองว่าเหตุการณ์ต้องปะทุขึ้นในมาร์แซย์แน่ๆ    เพราะภาพต่างๆที่ตรงมาถึงห้องนั่งเล่นของชาวมุสลิมผ่านทางจานดาวเทียม เราพูดกันว่าถ้ามันไม่เกิดอะไรขึ้นตอนนี้ ก็คงไม่มีวันเกิดขึ้นอีกแล้วล่ะ” และก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริงๆ เหล่าผู้นำมุสลิมในท้องถิ่นสามารถสยบความเคลื่อนไหวต่างๆได้ด้วยการทำงานร่วมกับผู้นำศาสนาอื่นๆ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2005   ขณะที่เพลิงความขัดแย้งจากเหตุจลาจลปะทุขึ้นในย่านผู้อพยพแทบทุกเมืองใหญ่ในฝรั่งเศส แต่ชาวมุสลิมในมาร์แซย์ยังคงสงบอยู่

ชาวบ้านในท้องถิ่นบางส่วนเชื่ออย่างมีเหตุผลว่า  ความสงบสุขทางสังคมอันน่าอัศจรรย์ของมาร์แซย์นั้นหลักๆน่าจะมาจากหาดทรายต่างๆ ซึ่งเป็นเหมือนเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมชั้นดี ฟารูก ยูซูฟา วัย 25 พบกับมีนา ภรรยาวัย 20 ที่ชายหาดกอร์บีแยร์  ยูซูฟาเกิดบนเกาะอาณานิคมของฝรั่งเศสในกลุ่มเกาะคอโมโรสที่อยู่ระหว่างแทนซาเนียกับมาดากัสการ์และมีผิวดำคล้ำไม่ผิดแผกไปจากชาวแอฟริกันคนอื่นๆ ส่วนมีนาที่เกิดในฝรั่งเศสมีผิวขาวและเป็นบุตรของผู้อพยพชาวแอลจีเรีย ยูซูฟาทำงานกับเด็กชายและเด็กหญิงเกือบทุกสีผิวและเชื้อชาติเท่าที่คุณพอจะนึกได้ที่ศูนย์วัฒนธรรมในย่านคนจนแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของมาร์แซย์ เขาบอกผมว่า “คนรุ่นใหม่ๆส่วนใหญ่เป็นลูกผสมทั้งนั้นครับ” โดยเฉพาะตามชายหาด “มีชุมชนหลากหลายมาผสมปนเปและคบค้าสมาคมกันนั่นไงล่ะ! เมื่อเวลาผ่านไป เราก็เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันครับ”

แต่ “นั่นแหละ” คำพูดติดปากในบทสนทนาของชาวมาร์แซย์ไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดได้      มนตราแห่งแสงอาทิตย์และหาดทรายไม่อาจแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของชีวิตชาวเมืองได้ ทันทีที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเหนือชายหาด อคติประดามีก็อาจเผยโฉม  มีนาบอกว่าการเหยียดเชื้อชาติยังมีอยู่มากในมาร์แซย์ซึ่งรวมทั้งระหว่างตระกูลมุสลิมที่ขัดแย้งกัน เธอเล่าว่า “เวลาอยู่ในที่ที่คนพลุกพล่านก็ไม่มีปัญหาหรอกค่ะ แต่เวลาก้าวเข้าไปในย่านชาวอาหรับ พอเราสองคนเดินผ่าน มีแต่คนจ้องมอง บางทีก็พูดจาดูถูกฉันด้วย”

ถ้าเช่นนั้น อนาคตของมาร์แซย์จะเป็นเช่นไร บางทีอาจเป็นเมืองในยุโรปตะวันตกเมืองแรกที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เมืองใหญ่อื่นๆคงมีประชากรมุสลิมใกล้เคียงกับที่มาร์แซย์ในขณะนี้   และส่วนมากคงมีประสบการณ์ลองผิดลองถูกกับการผสมผสาน แต่คงยากที่เราจะนึกภาพชายหาดต่างๆบนชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนแห่งนี้จะมีผู้คนบางตากว่าที่เป็นอยู่ หรือผู้คนตามชายหาดจะบอกคุณว่าพวกเขาเป็นอะไรอย่างอื่น      นอกจากชาวมาร์แซย์

เมษายน 2555