ผู้เขียน หัวข้อ: หวนคืนสู่ ไททานิก 100 ปีโศกนาฏกรรมโลกไม่ลืม(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 3540 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ซากเรือนอนสงบนิ่งในความมืดมิด       เศษโลหะผุกร่อนกระจัดกระจายกินอาณาบริเวณสี่ตารางกิโลเมตรของก้นมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ รอเวลาให้เชื้อรากัดกิน นับตั้งแต่การค้นพบซากเรือเมื่อปี1985 โดยโรเบิร์ต           บัลลาร์ด นักสำรวจประจำสมาคมเนชั่นแล จีโอกราฟฟิก  และชอง-หลุย มีเชล  นานๆทีจะมีหุ่นยนต์หรือยานดำน้ำที่มีมนุษย์ควบคุมลงไปโฉบเหนือพื้นผิวดำทะมึนของ ไททานิก 

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นักสำรวจอย่างเจมส์ แคเมรอน และปอล-อองรี นาชีโอเล ได้นำภาพถ่ายซากเรือที่ละเอียดชัดเจนขึ้นเรื่อยๆกลับขึ้นมา แต่โดยรวมแล้วเรายังเห็นรายละเอียดของจุดอับปางได้ไม่ชัดนัก และเราก็ยังไม่เคยเห็นภาพรวมของพื้นที่ที่เรืออับปางอย่างสมบูรณ์เลย

กระทั่งบัดนี้  ในรถเทรลเลอร์ที่เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ไฮเทค    จอดอยู่หลังสถาบันสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล (Woods Hole Oceanographic Institution: WHOI)  วิลเลียม แลงก์ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการทางการประมวลผลภาพและการสร้างภาพขั้นสูงของสถาบันสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล  ยืนอยู่เหนือแผนที่สำรวจด้วยระบบโซนาร์ของจุดที่ ไททานิก อับปาง ซึ่งเป็นภาพโมเสกที่ประกอบขึ้นจากภาพขนาดเล็กจำนวนมากและใช้เวลาทำนานหลายเดือน  ครั้นพินิจพิจารณาใกล้ๆ  เราจึงเห็นว่าจุดอับปางนั้นระเกะระกะไปด้วยเศษซากวัสดุที่เกิดจากฝีมือมนุษย์  แลงก์ชี้ไปที่ส่วนหนึ่งของแผนที่ เขาขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น  ตอนนี้เราเห็นส่วนหัวของเรือ ไททานิก  ชัดพอจนดูออกบ้างแล้ว  เห็นช่องโหว่สีดำตรงที่ครั้งหนึ่งเคยมีปล่องควันด้านหน้าตั้งอยู่  ฝาปิดระวางบานหนึ่งที่หลุดกระเด็นออกมาจมอยู่ในโคลนห่างออกไปทางเหนือหลายร้อยเมตร

เพียงลากเม้าส์คอมพิวเตอร์  เราก็เห็นซากเรือ ไททานิก ทั้งลำ ไม่ว่าจะเป็นพุกผูกเรือ (bollard) เสาเดวิต (davit) หรือหม้อไอน้ำ (boiler)  กองเศษซากซึ่งครั้งหนึ่งเคยแยกแยะไม่ออก  กลายเป็นภาพถ่ายความละเอียดสูงของจุดเกิดเหตุ “ตอนนี้เรารู้แล้วว่าอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง หนึ่งร้อยปีผ่านไป ในที่สุดไฟก็สว่างครับ” แลงก์บอก    เขาเป็นส่วนหนึ่งในทีมสำรวจชุดแรกของบัลลาร์ดที่ค้นพบซากเรือ และยังคงถ่ายภาพบริเวณอับปางด้วยกล้องที่มีศักยภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่นั้นมา

ภาพโมเสกขนาดใหญ่ของซากเรือซึ่งเป็นผลจากการสำรวจครั้งใหญ่มูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ปี 2010  ถ่ายภาพโดยหุ่นยนต์หรือยานล้ำยุคสามลำซึ่ง “บิน” อยู่เหนือพื้นก้นสมุทร ณ ระดับความสูงแตกต่างกัน ยานที่เพียบพร้อมไปด้วยเครื่องโซนาร์แบบสแกนข้างชนิดหลายลำคลื่น และกล้องบันทึกภาพความละเอียดสูงที่ถ่ายภาพได้หลายร้อยภาพต่อวินาที  ปฏิบัติงานโดยวิธี “ไถสนาม” ซึ่งเป็นศัพท์เรียกเทคนิคดังกล่าว ยานทั้งสามวิ่งกลับไปกลับมาตัดบริเวณก้นสมุทรเป้าหมายเป็นพื้นที่ห้าคูณแปดกิโลเมตร แล้วจึงนำข้อมูลแต่ละแถบมาเชื่อมต่อกันด้วยระบบดิจิทัล เพื่อประกอบเป็นภาพความละเอียดสูงขนาดมหึมาหนึ่งภาพ ซึ่งทุกส่วนมีการทำแผนที่อย่างละเอียดและถูกต้องตามตำแหน่งอ้างอิงทางภูมิศาสตร์

 

ซากเรือ อาร์เอ็มเอส ไททานิก มีอะไรน่าดึงดูดนัก หนึ่งร้อยปีผ่านไป เหตุใดผู้คนจึงยังทุ่มเทกำลังสมองและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมหาศาลให้กับสุสานโลหะที่จมอยู่ใต้พื้นสมุทรลึกลงไปราวสี่กิโลเมตร

สำหรับบางคน  เสน่ห์ชวนดึงดูดของ ไททานิก  อยู่ที่อวสานอันยิ่งใหญ่ของมันนั่นเอง  นี่คือเรื่องราวของความเป็นที่สุด  นั่นคือเรือเดินสมุทรที่แข็งแกร่งและยิ่งใหญ่ที่สุด อับปางลงในน่านน้ำสุดลึกล้ำและแสนเยียบเย็น แต่สำหรับอีกหลายๆคน ความน่าหลงใหลของ ไททานิก เริ่มต้นและจบลงด้วยเรื่องราวผู้คนบนเรือ กว่าที่ ไททานิก จะจมลงสู่ก้นสมุทร ก็กินเวลานานถึงสองชั่วโมงสี่สิบนาที       เนิ่นนานพอที่จะทำให้เรื่องราวโศกนาฏกรรมขั้นมหากาพย์ 2,208 เรื่องได้โลดแล่นบนเวที  นาทีสุดท้ายของชีวิตผู้คนที่อยู่บนเรือเป็นเช่นไร  เป็นเรื่องที่คนทั้งโลกสงสัยใคร่รู้

ปลายเดือนตุลาคม ผมเดินทางไปยังหาดแมนแฮตตัน รัฐแคลิฟอร์เนีย และเข้าไปในโรงถ่ายภาพยนตร์ขนาดเท่า โรงเก็บเครื่องบิน  เจมส์ แคเมรอน ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ซึ่งอยู่ท่ามกลางแบบจำลองและของประกอบฉากชวนตื่นตะลึงจากภาพยนตร์เรื่อง ไททานิก  (1997) เชิญผู้รอบรู้ด้านการเดินเรือระดับแนวหน้าของโลกกลุ่มหนึ่งมาประชุมกัน นอกจากแคเมรอน, บิล ซอเดอร์ ผู้อำนวยกรการศึกษาวิจัยเรือ ไททานิก   และปอล-อองรี          นาชีโอเล นักสำรวจจากอาร์เอ็มเอสที (RMS Titanic Inc. – ผู้มีสิทธิกู้ศิลปวัตถุจากซากเรือ    ไททานิก    อย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียวมาตั้งแต่ปี 1994) แล้วยังมีดอน ลินช์ นักประวัติศาสตร์  เคน มาร์แชลล์ ศิลปินภาพวาด ไททานิก ผู้โด่งดัง วิศวกรเรือหนึ่งนาย นักสมุทรศาสตร์จากสถาบันวูดส์โฮลหนึ่งราย และสถาปนิกสังกัดกองทัพเรือสหรัฐฯอีกสองคน

แคเมรอนเป็นผู้นำการสำรวจเรือ ไททานิก มาแล้วสามครั้ง เขาเป็นผู้พัฒนาและควบคุมยานหรือหุ่นยนต์สำรวจตระกูลใหม่ที่ว่องไวปราดเปรียว  ซึ่งดำลงไปถ่ายภาพด้านในของเรือที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน ซึ่งรวมถึงห้องอาบน้ำตุรกีอันหรูหรา  อีกทั้งห้องพักส่วนตัวชั้นหนึ่งอีกจำนวนหนึ่ง (ชมภาพและอ่านเรื่อง “ถอดวิญญาณเดินชม ไททานิก” ของเจมส์ แคเมรอน ได้ในเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดียวกันนี้)

ตามคำขอของแคเมรอน การประชุมซึ่งมีกำหนดสองวันจะมุ่งเน้นไปที่นิติวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว  เป็นต้นว่า  เพราะเหตุใด ไททานิก จึงหักสองท่อนอย่างที่เห็น ลำเรือฉีกขาดตรงไหนแน่  ส่วนประกอบมากมายมหาศาลของเรือตกกระแทกพื้นทะเลที่มุมกี่องศา จะว่าไปก็คงไม่ต่างจากการสอบสวนคดีเกือบ 100 ปีหลังเกิดเหตุ

“ที่คุณเห็นคือสถานที่เกิดเหตุครับ” แคเมรอนบอก “ถ้าเข้าใจแบบนั้นแล้ว     คุณจะอยากรู้ที่มาที่ไปของสิ่งต่างๆ   เช่น ทำไมมีดถึงมาอยู่ตรงนี้ แล้วปืนไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร”

แล้วก็เป็นไปตามคาด  การประชุมเปิดฉากด้วยการถกเถียงเรื่องเทคนิคที่เข้าใจยากล้วนๆ   ทั้งเรื่องอัตราการแล่น  แรงเฉือน และการวิเคราะห์ค่าความขุ่น  กระนั้น  แม้แต่ผู้ฟังที่ไม่ได้มีความรู้เชิงวิศวกรรมก็ยังจับข้อสรุปชัดเจนข้อหนึ่งได้ว่า นาทีสุดท้ายของ ไททานิก นั้นรุนแรงน่าขนพองสยองเกล้าอย่างยิ่ง  เรื่องเล่าจากหลายกระแสให้ภาพว่า  เรือ “ค่อยๆจมหายไปกับคลื่นมหาสมุทร”     ราวกับจมสู่นิทรารมณ์อย่างสงบ       แต่เรื่องจริงกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง  ผู้เชี่ยวชาญบรรยายฉากสุดท้ายของ ไททานิก ว่าเกิดขึ้นอย่างรุนแรงน่าสยดสยอง   โดยอาศัยผลการวิเคราะห์ซากเรืออย่างละเอียดตลอดระยะเวลาหลายปี    แบบจำลองการไหลเข้าท่วมของน้ำที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุด  ตลอดจนการสร้างภาพจำลองโดย “วิธีวิเคราะห์โครงสร้างทุกมิติ” ที่ใช้กันในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางเรือยุคใหม่

เรือชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งตรงด้านข้างเมื่อเวลา 23.40 น. สร้างความเสียหายให้กราบเรือด้านขวาเป็นแนวยาว 90 เมตร และเกิดรอยรั่วในห้องผนึกน้ำหกห้องด้านหน้า  ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป  เรือต้องอับปางลงอย่างแน่นอน  แต่อวสานอาจมาถึงเร็วขึ้นเมื่อลูกเรือเปิดประตูสะพานลงเรือทางกราบซ้ายบานหนึ่งออก  เพราะพยายามส่งผู้โดยสารลงเรือชูชีพจากชั้นที่อยู่ลงไป แต่ไม่สำเร็จ ขณะนั้นเรือเริ่มเอียงไปทางกราบซ้ายแล้ว ลูกเรือจึงไม่สามารถต้านแรงโน้มถ่วงเพื่อดึงประตูบานมหึมาให้กลับเข้ามาปิดได้ดังเดิม  และพอถึงเวลา 01.50 น. หัวเรือก็จมลงมากพอจนน้ำทะเลไหลทะลักเข้าทางสะพานลงเรือดังกล่าว

พอถึงเวลา 02.18 น. หลังจากเรือชูชีพลำสุดท้ายแล่นออกไปเมื่อ 13 นาทีก่อน หัวเรือก็ถูกน้ำท่วมมิด ท้ายเรือยกลอยสูงขึ้นกลางอากาศจนเห็นใบพัด ส่งให้เกิดแรงเครียดมหาศาลที่กึ่งกลางลำเรือ แล้ว ไททานิก ก็หักกลางเป็นสองท่อน

พอหลุดจากส่วนท้ายเรือ  หัวเรือก็ดิ่งลงสู่ก้นทะเลโดยทำมุมเกือบตั้งฉาก ความเร็วที่เพิ่มขึ้นขณะจมทำให้ส่วนประกอบต่างๆเริ่มหลุดออกจากหัวเรือ ปล่องไฟหักแยกออกมา ห้องถือท้ายแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย   หลังจากห้านาทีของการดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง  หัวเรือก็ปักลงไปในโคลนด้วยแรงมหาศาล จนหลุมลึก (ejecta pattern) ซึ่งเนินดินรอบหลุมยังปรากฏให้เห็นบนพื้นสมุทรถึงทุกวันนี้

ท้ายเรือซึ่งไม่มีปลายตัดน้ำเหมือนส่วนหัวเรือ  จมลงอย่าง “ทุรนทุราย” ยิ่งกว่า ทั้งตีลังกาและควงสว่านไปด้วย ส่วนหน้าขนาดใหญ่ซึ่งเปราะบางลงอยู่แล้วจากการร้าวหักที่ผิวน้ำ  แตกเป็นชิ้นเล็กเศษน้อย ส่งชิ้นส่วนกระจัดกระจายลงสู่ก้นบึ้งมหาสมุทร  ห้องผนึกน้ำระเบิด  ดาดฟ้ายุบลงมาประกบกัน  แผ่นเหล็กตามลำเรือฉีกขาด บรรดาชิ้นส่วนที่หนักกว่าอย่างหม้อไอน้ำจมดิ่งลง ขณะที่ชิ้นส่วนอื่นๆพุ่งกระจายออกเหมือน “จานร่อน”  ท้ายเรือดิ่งลงอย่างทุลักทุเลเป็นระยะทางกว่าสี่กิโลเมตร  ทั้งฉีกขาด บิดงอ อัดบีบ และหลุดออกจากกันทีละน้อย  ครั้นกระแทกกับพื้นสมุทร ส่วนท้ายเรือก็แหลกเหลวจนจำสภาพไม่ได้

พอถึงตอนนี้ แคเมรอนก็พูดขึ้นว่า “เราไม่อยากให้ ไททานิก หักและแตกออกเป็นเสี่ยงๆแบบนี้หรอกครับ เราอยากให้มันจมลงในสภาพสมบูรณ์เหมือนตอนที่ลอยลำอยู่ยังไงยังงั้น”

ขณะนั่งฟังอยู่นั้น ผมนึกสงสัยตลอดว่า    เกิดอะไรขึ้นกับผู้คนที่ยังอยู่บนเรือขณะที่มันจมลง   ในบรรดาผู้เคราะห์ร้าย 1,496 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากภาวะตัวเย็นเกิน (hypothermia) ที่ผิวน้ำระหว่างลอยตัวเกาะกันเป็นแพด้วยเสื้อชูชีพบุไม้คอร์กข้างใน แต่อีกหลายร้อยคนอาจยังมีชีวิตอยู่ในเรือ  ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวผู้อพยพในกลุ่มผู้โดยสารชั้นสามซึ่งหวังจะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอเมริกา  พวกเขาจะสัมผัสได้ถึงโลหะที่บิดเบี้ยวและสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงขนาดไหนกัน จะได้ยินเสียงอะไรบ้างและรู้สึกอย่างไร  ช่างเป็นประสบการณ์อันแสนโหดร้ายจนไม่อยากแม้แต่จะคิด  ทั้งๆที่เวลาจะล่วงเลยมาถึง 100 ปีแล้วก็ตาม

 เมษายน 2555